ประชุมนานาชาติ "ซีแอล" เครือข่ายทั่วโลกหนุนไทย อย่าสนโฆษณาโจมตีของบริษัทยา

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.50  วันสุดท้ายของการประชุมนานาชาติ เรื่อง มาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) : นวัตกรรมและสิทธิในการเข้าถึงยา (21-23 พ.ย.) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การการใช้ซีแอลในประเทศต่างๆ และสร้างเครือข่ายรวมถึงนโยบายทางเลือกในการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน มีตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง และยังมีตัวแทนจากหลายประเทศเข้าร่วม เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล แคนาดา สหรัฐอเมริกา


 

นอกจากนี้ยังมีการร่วมกันแถลงข่าว โดย บรูก เบเกอร์  ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนอธส์เทิร์น สหรัฐอเมริกา กล่าวชื่นชมประเทศไทยที่ประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ไปเมื่อต้นปีนี้ โดยย้ำว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมาย ข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้ทำให้เห็นว่าทุกประเทศมีสิทธิประกาศซีแอลในทุกโรคที่มีความจำเป็น ไม่เฉพาะโรคเอดส์

 

ศ.บรูกยังกล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกล้างแค้นโดยบริษัทยาข้ามชาติอย่างแอ็บบ็อตที่ถอนการขึ้นทะเบียนยาตอบโต้การประกาศซีแอล โดยระบุว่าสิ่งที่แอ๊บบ็อตทำผิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ส่วนกรณีที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ตอบโต้ไทยโดยจัดไทยไว้ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้น ตามกฎหมายของสหรัฐแล้วยูเอสทีอาร์ก็ต้องทำตามข้อตกลงทริปส์ซึ่งเปิดให้มีมาตรการยืดหยุ่นอย่างซีแอล

 

"สิ่งที่ไทยทำนั้นสร้างตัวอย่างระดับโลกในความกล้าหาญ ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อให้มีการประกาศซีแอลในยาที่จำเป็นต่อไป เรื่องนี้เป็นก้าวในทางบวกต่อสถานการณ์ระดับโลก ซึ่งควรได้รับการชื่นชมและทำตามอย่างในประเทศกำลังพัฒนาด้วย" ศ.บรูกกล่าว

 

ศ.บรูก ยังกล่าวถึงโฆษณาของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีมา) ซึ่งได้ซื้อพื้นที่ในหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยไทยและอังกฤษในวันที่ 23 พ.ย.และคาดว่าจะลงต่อเนื่องไปอีกหลายวันว่า ที่ผ่านมาไทยต้องทุกข์ทรมานที่ถูกแก้แค้นโดยบริษัทยาที่พยายามป้อนข้อมูลผิดๆ ว่าไทยไม่มีสิทธิใช้ซีแอล และการประกาศซีแอลทำให้การวิจัยและพัฒนาถูกทำลายเนื่องจากไม่ยอมจ่ายตามราคาที่ตั้งไว้

 

"จริงๆ แล้วไทยมีสิทธิทำเต็มที่ และตลาดไทยเล็กมากๆ ไม่ได้สร้างผลกระทบกับกำไรของบริษัทประมาณร้อยละ 0.05 ของตลาดโลกเท่านั้น" ศ.บรูก กล่าว

 

คารอส พาสซาเรลลี ข้าราชการจากกระทรวงสาธารณสุข ประเทศบราซิล กล่าวว่า การที่ไทยประกาศซีแอลก็นับเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากให้กับบราซิล เพราะหากไทยไม่เดินหน้า หรือมีบทบาทนำ บราซิลคงทำได้ลำบากมาก ทั้งนี้ บราซิลได้ประกาศซีแอลกับยาต้านไวรัสแอฟาไวแลนซ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และบราซิลก็มีโครงการหลักประกันถ้วนหน้าสำหรับยาต้านไวรัสให้กับผู้ติดเชื้อทุกคนมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ซึ่งต้องแบกภาระยาราคาสูงมาโดยตลอด แม้ว่าภายในประเทศจะผลิตได้เองบางตัว ทำให้การทำซีแอลของบราซิลมีความสำคัญมากเช่นกัน

 

โรเบิร์ต ไวส์แมน  ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งจากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การประกาศซีแอลของไทยสำคัญมาก เพราะทำซีแอลกับยาต้านไวรัสรุ่นสองและยาที่ไม่ใช่ยาต้านเป็นครั้งแรกๆ ทำให้เห็นว่าควรมีการทำซีแอลในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศในแอฟริกา เป็นกิจวัตรเพื่อลดราคายา ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นได้

 

นอกจากนี้ในการสัมมนาครั้งนี้ก็ยังทำให้เห็นว่าไม่เฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เดินหน้าทำซีแอล แต่ประเทศพัฒนาแล้วก็ใช้มาตรการนี้เป็นประจำ โดยเฉพาะสหรัฐ การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐเป็นไปอย่างก้าวหน้า ไม่เพียงยาแต่มีการทำซีแอลในทุกผลิตภัณฑ์ โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการพิจารณาก่อน หน่วยงานรัฐทั้งหมดสามารถประกาศซีแอลได้ ทางสหภาพยุโรปก็ใช้มาตรการเป็นปกติ

 

"ประเทศยากจน ประเทศกำลังพัฒนาควรทำตามอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ใช่ทำตามสิ่งที่เขาสั่งให้ทำ" ไวส์แมนกล่าว

 

เจมส์  เลิฟ  ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศด้านองค์ความรู้นิเวศวิทยา กล่าวว่า ความคิดหนึ่งที่คุยกันมากในการประชุมนานาชาติครั้งนี้คือ ปัญหาการเข้าถึงยากับค่าใช้จ่ายในการสร้างนวัตกรรม โดยความพยายามจะสร้างทั้งสองอย่างขึ้นมานั้นทำให้มีระบบให้สิทธิผูกขาดกับยา แต่การให้สิทธิผูกขาดนี้กลับสร้างปัญหามากขึ้น ทำให้ยาราคาแพง เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง การลงทุนวิจัยและพัฒนาก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะการละเลยโรคในประเทศเขตร้อน จึงมีการพูดถึงความคิดใหม่ๆ ที่จะสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมโดยเชื่อมโยงกับการเข้าถึงยาของทุกคน มีการคิดถึงการให้รางวัลเป็นเงินโดยคำนึงถึงผลดีในการพัฒนายา และยกเลิกการผูกขาด เกิดการเข้าถึงอย่างเป็นอิสระ ในทางหนึ่งมันจะทำให้เกิดยาชื่อสามัญมากขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นบริษัทในการสร้างนวัตกรรมโดยตรง

 

"ในที่นี้ยังมีการคิดถึงเรื่องสนธิสัญญาว่าด้วยการพัฒนาด้านชีวเคมี เราสนับสนุนเรื่องนี้และหวังว่ามันจะมาแทนระบบที่ผูกขาดอยู่ในปัจจุบัน" เลิฟ กล่าว

 

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กลุ่มคนทำงานเรื่องนี้เชื่อว่าซีแอลไม่ใช่หนทางเดียวในการเข้าถึงการรักษา แต่ซีแอลเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดในเวลานี้ที่ทำให้คนได้รับยา และมีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดการกับการผูกขาด ปัจจุบันหลังจากไทยทำซีแอล ได้มีการพัฒนาระบบการรักษา ซึ่งช่วยให้ผู้ติดเชื้อได้รับยาสูตรพื้นฐานแล้วมากกว่า 140,000 คน จากเดิมที่ได้รับยาเพียง 80,000 คนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนคนที่รอปรับเปลี่ยนสูตรพื้นฐานไปสู่สูตรดื้อยามีประมาณ 10,000 คนต่อปี พวกเขาก็รออย่างมีความหวังมากขึ้น เพราะรู้แล้วว่ามียา

 

นอกจากนี้การประกาศซีแอลยังทำให้เครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น มะเร็ง โรคไต จิตเวช ตื่นตัวและลุกขึ้นมาเรียกร้องการเข้าถึงยา เพราะพวกเขาก็ประสบกับภาวะเข้าไม่ถึงยา เพราะมีราคาแพงเช่นเดียวกัน

 

ในตอนท้ายของการแถลงข่าวมีการประกาศคำมั่นสัญญาของการประชุมครั้งนี้ "เราจะสร้างเครือข่ายระดับโลก เพื่อการเข้าถึงยาของประชาชน ทั้งนักกิจกรรม นักวิชาการ เครือข่ายผู้ป่วย ฯลฯ เพื่อให้มียาที่ไม่แพงสำหรับทุกคน"

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท