Skip to main content
sharethis

จากที่เครือข่ายภาคประชาชนทั่วไปประเทศรวมตัวกันเพื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2534 และมีการเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน โดยหวังจะสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกันระหว่าง รัฐ ประชาชน และคนในสังคม อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการที่สร้างการมีส่วนร่วม มีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น


 


และจากที่ล่าสุด กฎหมายป่าชุมชนเพิ่งผ่านการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว แต่ผลปรากฏว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเปลี่ยนแปลงเนื้อความในมาตรา 25 และ 34 เรื่องการขอจัดตั้งและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นหัวใจและสาระสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในมาตรา 66 และ 67 ซึ่งทำให้สิทธิชุมชนท้องถิ่นได้ถูกละเมิดในกฎหมายป่าชุมชนฉบับนี้


 


ทางเครือข่ายภาคประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายป่าชุมชน ย้ำในจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ โดยมีเหตุผลประกอบดังต่อไปนี้


 


 


มาตรา 25



 


1)      ความในวรรค 2 ของมาตรา 25 เป็นการเพิ่มการกีดกันโอกาสและสิทธิของชุมชนในการขอจัดตั้งป่าของชุมชนมากขึ้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มีชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่มีการดูแลจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นระยะเวลายาวนาน แต่อยู่นอกเขตอนุรักษ์จะต้องเสียสิทธิในการจัดการป่าชุมชนจากกฎหมายฉบับนี้มากกว่า 1,000 ชุมชน


 


2)      เป็นการละเมิดสิทธิ ลิดรอนสิทธิอันชอบธรรมจากรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ มีเพียงสิทธิในการเสนอเพื่อขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชนเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม แม้ชุมชนนั้นจะมีการรักษาป่าและใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานก็ตาม


 


3)      ป่าไม่เคยมีพรมแดน เพียงแต่รัฐประกาศให้ป่าผืนเดียวกัน มีสภาพตามกฎหมายที่แตกต่างกัน แยกป่าผืนเดียวกันให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่สภาพข้อเท็จจริง มีชุมชนที่ดูแลจัดการป่าจำนวนมากที่ดูแลจัดการตามสภาพข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอันหลากหลายของท้องถิ่น เช่น กำหนดเป็นเขตฟื้นป่า เป็นเขตใช้สอย เป็นเขตอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ บางชุมชนโชคดีที่ป่าบริเวณนั้นยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แต่หลายชุมชนโชคร้ายที่พื้นที่ป่าชุมชนที่ดูแลกันมานั้นถูกครอบและควบคุมทั้งป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ภายใต้การดูแลของชุมชน


 


4)      การแบ่งกรมออกเป็น 2 กรม คือกรมป่าไม้ กับกรมอุทยาน พื้นที่ใครพื้นที่มัน ใครอย่าแตะ การอนุญาตการควบคุม เป็นหน้าที่โดยตรงของแต่ละหน่วยงาน การกำหนดข้อความในมาตรา 25 จึงสะท้อนเพียงการแบ่งความรับผิดชอบพื้นที่ตามหน่วยงานเท่านั้น ไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงของพื้นที่


 


5)      สังคมไทยไม่เคยมีกฎหมายป่าชุมชนมาก่อนในประวัติศาสตร์ การกำหนดให้ชุมชนต้องดูแลรักษาป่าเป็นเวลา 10 ปี ก่อนมีกฎหมาย จึงจะสามารถดูแลจัดการป่าชุมชนได้ ไม่มีความชัดเจน เพราะหากสามารถทำได้ก็เท่ากับชุมชนดังกล่าวอยู่เหนืออำนาจรัฐมาก่อน ในกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลกำหนดไว้เพียง 5 ปี แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับเพิ่มขึ้นอีก 10 ปี ยิ่งสะท้อนว่าเพิ่มการกีดกันชุมชนออกจากการจัดการป่ามากขึ้นตามกฎหมายฉบับนี้


 


6)      มีป่าจำนวนมากที่เข้าเกณฑ์การจัดตั้งป่าชุมชน หากกีดกันชุมชนก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้นายทุนเช่าทำรีสอร์ท ทำการท่องเที่ยว โดยใช้ข้ออ้างหรือเหตุผลความเปราะบางของระบบนิเวศน์เพื่อดึงอำนาจกลับมายังเจ้าหน้าที่รัฐไว้ก่อน แล้วจึงเอื้ออำนวยให้บรรดาธุรกิจการท่องเที่ยวต่างๆ ในภายหลัง


 


7)      นอกจากนั้น ในมาตรา 26 ยังมีความพยายามเพิ่มอำนาจให้กับอธิบดีเป็นอย่างมาก โดยการเพิ่มอำนาจเชิงเดี่ยวแทนอำนาจของผู้ว่าและระบบคณะกรรมการร่วมระดับจังหวัด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ต้องมีคณะกรรมการระดับจังหวัดเลยก็ได้ มีไว้ทำไมเมื่อให้อำนาจอธิบดี มากเกินความพอดีเช่นนี้


 


มาตรา 34



 


8)      การใช้ประโยชน์จากไม้ ในเขตป่าอนุรักษ์ที่ห้ามโดยเด็ดขาด ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของสังคมไทย เพราะโดยส่วนใหญ่ชุมชนที่อยู่ในเขตป่าอุทยาน จำเป็นต้องนำไม้จากป่ามาสร้างบ้านเรือน เนื่องจากไม่สามารถสั่งไม้จากโรงเลื่อยได้ เพราะความยากจน


 


9)      การใช้ประโยชน์ดังกล่าว (ข้อ 8) ในบางชุมชนอาจยังไม่มีระเบียบควบคุมที่ชัดเจน ทำให้มีการใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นในหลายๆ กรณี หรือมีการใช้ไม้โดยไม่คำนึงถึงหลักความเหมาะสมทางนิเวศวิทยา ดังนั้นจึงต้องคิดออกแบบการใช้ใหม่ให้เหมาะสม ไม่ใช่การคิดแบบขาวดำที่ตัดสิทธิของชุมชนเรื่องการใช้ไม้ในทุกกรณี


 


10)   เป็นการมอบและรักษาอำนาจมืดให้เจ้าพนักงานเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ หรือจับกุมชาวบ้านต่อไป ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่สะสมมานับร้อยปีลงไปได้ และกลับจะยิ่งเพิ่มความขัดแย้งยิ่งขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน


 


11)   เนื้อหาของกฎหมายในมาตรา 34 ขัดแย้งกับความเป็นจริงในการใช้ชีวิตและพึ่งพาทรัพยากรของสังคมไทย เป็นมาตราที่รักษาและขยายความขัดแย้งในสังคมไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป


 


12)   การกล่าวอ้างเรื่องการเก็บหาของป่าที่ปรากฏอยู่ในวรรค 3 ของมาตรานี้ เป็นการใช้ประโยชน์เพื่อการใช้สอยทั่วไปในปริมาณที่เหมาะสมได้รับการยกเว้นอยู่แล้วตามกฎหมายที่มีอยู่


 


13)   ชาวบ้านจะไม่กล้าขอจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ เนื่องจากการเขียนกฎหมายในลักษณะเช่นนี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ยังคงผูกขาดอำนาจไว้ที่กรมอุทยานต่อไป หากจัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ก็ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ติดคุก ปรับลงโทษ ที่มากขึ้นกว่ากฎหมายเดิม (โปรดดูหมวดการลงโทษที่รุนแรงมากกว่ากฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่เดิม ปรากฏอยู่จำนวนมาก )


 


14)   การเขียนกฎหมายป่าชุมชนที่ไม่เอื้อประโยชน์ และส่งเสริมชุมชนในการจัดการป่า ก็ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะยิ่งสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้นในสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net