Skip to main content
sharethis


เก่งกิจ กิติเรียงลาภ


นิสิตปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


พรรคแนวร่วมภาคประชาชน


 


 


 


1. เป็นเรื่องน่ายินดีที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมาคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกครั้ง ซึ่งการพยายามนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดท่ามกลางการผลักดันแนวคิดทุนนิยมกลไกตลาด หรือ เสรีนิยมใหม่ ของชนชั้นนำ และรัฐไทย อาจกล่าวได้ว่า วิธีคิดเรื่องการแปรรูป การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การเปิดเสรีต่างๆนานานั้น มีความชัดเจนมากที่สุดตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน (2534-2535) ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารของ รสช.ในปี 2534 สิ่งที่รัฐบาลอานันท์พยายามทำควบคู่กับการเปิดเสรีทางการค้า การเงิน ก็คือ การทำลายสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และการรวมตัวของแรงงานผ่าน พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ปี 2534 เป็นต้น


 


2. มาในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่เข้ามาในปี 2540 ภายใต้สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลประชาธิปัตย์พยายามที่จะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีกครั้งตามคำแนะนำของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย โดยทำสำเร็จในช่วงเวลานั้น 1 มหาวิทยาลัย คือ พระจอมเกล้าธนบุรี และสามารถตั้งมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบแต่ต้นได้สำเร็จ คือ สุรนารี พร้อมกันนั้น รัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นรัฐบาลนายทุน (และทุกวันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นรัฐบาลที่แอบอิงกับศักดินา) ได้พยายามผลักดันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ส่งผลให้มีการออกมาคัดค้านของขบวนการแรงงานจำนวนมาก ทำให้การแปรรูปไม่สามารถทำได้จนสำเร็จ


 


3. มาในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เอฟทีเอก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการต่อต้านคัดค้านหลายครั้ง จนสามารถชะลอการแนวทางเช่นนี้ได้หลายวาระ ไม่ว่าจะเป็น กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่มีการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานและภาคประชาชนหลายฝ่ายเข้ามาร่วมกันคัดค้าน กรณีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็มีการชุมนุมของนักศึกษาหลายครั้งหน้ารัฐสภา และกรณีเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ขบวนการภาคประชาชนจำนวนมากร่วมกันประท้วงเพื่อล้มการประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐที่เชียงใหม่ จนไม่สามารถมีข้อตกลงอะไรได้ (ซึ่งเป้นเช่นเดียวกับการต่อสู้กับแนวเสรีนิยมทั่วโลก) ความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการพยายามผลักดันแนวทุนนิยมกลไกตลาด ที่ภาคประชาชน คนจน เกษตรกร แรงงาน และนักศึกษา ออกมาคัดค้านส่งผลให้รัฐบาลทักษิณไม่กล้านำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แปรรูปรัฐวิสาหกิจต่อ --- และนี่คือ ผลของการต่อสู้อย่างแท้จริง 


 


4. หลักการโดยทั่วไปของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การค้าเสรีนั้น มีที่มาจากหลักการอันเดียวกันคือ กลไกตลาดเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง รัฐจะลดบทบาทของตัวเองลงให้มากที่สุด นี่คือหลักเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า นีโอคลาสลิค ก็คือ ความคิดที่เชื่อมั่นใน "มือที่มองไม่เห็น-กลไกตลาด" ว่าจะเป็นตัวจัดสรรทรัพยากรที่ดีที่สุด นั่นหมายความว่า เมื่อตลาดเข้ามาจัดการ รัฐจะต้องถอยออกไป สวัสดิการทางสังคมที่เป็น "หน้าที่และความรับผิดชอบ" ของรัฐที่ต้องจัดให้ประชาชนจึงถูกโอนย้ายไปอยู่ในมือของธุรกิจเอกชนและชนชั้นนายทุน (ในหลายประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์นั้น สถาบันกษัตริย์ก็มีส่วนในการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปไปแล้วเหล่านี้ด้วย)


 


5. แนวคิดเสรีนิยมใหม่เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะที่เกิดกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเรื่องสากลที่ผลประโยชน์ของชนชั้นนำและคนร่ำรวยทั่วโลกในทุกวันนี้เกาะเกี่ยวอยู่กับการผลักดันระบบทุนนิยมกลไกตลาด ซึ่งคนยากจน คนชั้นกลาง เกษตรกร ชาวนา แรงงาน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ต่างก็ออกมาคัดค้านแนวทางเช่นนี้ ซึ่งเราจะเห็นจากหลายๆกรณี เช่น ฝรั่งเศส กรีซ เยอรมัน เกาหลีใต้ อินเดีย ลาตินอเมริกา และทุกประเทศทั่วโลก - นี่คือ สงครามระหว่างคนรวยกับคนจน หรือ ที่เรียกว่า สงครามระหว่างชนชั้นโดยแท้จริง - ที่คนรวยซึ่งควบคุมอำนาจรัฐอยู่ในมือไม่ต้องการจะควักเงินในกระเป๋าของรัฐบาลซึ่งมาจากภาษีของคนจน ไปจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้คนจนอีกต่อไป


 


6. ยกตัวอย่าง ผลกระทบของการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบในไทยก็เช่นเดียวกับในหลายประเทศ คือ ค่าเทอมสูงขึ้น ลองดูค่าเทอมของมหาวิทยาลัยสุรนารี และพระจอมเกล้าธนบุรี ค่าเทอมแพงกว่ามหาวิทยาลัยรัฐเกือบเท่าตัว หรือ ไม่ก็มีใช้วิธีการแบ่งภาคการศึกษาออกเป็น 3 ภาคเพื่อเก็บค่าเทอมเพิ่มแทนการขึ้นค่าเล่าเรียนรายเทอม ซึ่งก็ยังเท่ากับว่า ในหนึ่งปีการศึกษานั้น นักศึกษาต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเท่ากับที่ใช้ระบบสองเทอมและขึ้นค่าเทอมอยู่ดี เป็นต้น - นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้คนจนจะไม่มีสิทธิ์เรียนในมหาวิทยาลัย - ทั้งๆที่การศึกษาเป็นเรื่องของสวัสดิการสังคมที่รัฐมี "หน้าที่และความรับผิดชอบ" จะต้องทำ เช่นเดียวกับ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ สาธารณสุข ขนส่งมวลชน และอื่นๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตพื้นฐาน


 


7. หลายปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น มีคนจำนวนหนึ่งที่หวังดีกับการต่อสู้ของเราเสนอเรื่อง "การถวายฎีกา" มาตลอดว่า ทางเลือกสุดท้ายบ้าง มหาวิทยาลัยเป็นของพระองค์ท่านบ้าง ในปี 2543 (ดู http://www.hunsa.com/2005/view.php?cid=34538&catid=87) ในปี 2546 (ดู http://db.onec.go.th/thaied_news/index1.php?id=4373) ตัวอย่างอันนี้ทำให้เราเห็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่และเกิดขึ้นอย่างเนืองๆที่ใครๆก็หวังพึ่งพระบารมีทั้งสิ้น ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดคือ ต้นปีที่ผ่านมาที่เราคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีความปรารถนาดีได้เข้าพบและยื่นหนังสือคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ของประธานองคมนตรี และมีการเข้ายื่นฎีกาที่สำนักราชเลขาธิการด้วยในเวลาต่อมา (ดู http://www.pnac-2001.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=379585&Ntype=2) และล่าสุดสดๆร้อนๆ (ดู http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000140281)  


 -- สิ่งที่อยากชวนให้คิดคือ ถ้าวิธีการนี้ได้ผลจริง เป็นทางเลือกสุดท้ายได้จริง ทำไมเรายังต้องทำอะไรที่ซ้ำๆซากๆทุกปี ทุกรัฐบาลมาตลอด  


 


8. ประเด็นที่เราต้องคิดก็คือ มีครั้งใดบ้างที่ชัยชนะของเราจบลงได้ด้วยการถวายฎีกา และการมอบให้จากเบื้องสูง - แม้แต่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารที่อ้างว่า "ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" และชอบอ้างเศรษฐกิจพอเพียง เช่น รัฐบาลปัจจุบันยังเร่งรัดผลักดัน การแปรรูปฯ การเจรจาเอฟทีเอ และการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอยู่ พร้อมๆกับที่จำกัดสิทธิประชาชน คนจน แรงงาน มากกว่าเดิมเสียอีก - ทำไมรัฐบาลที่อ้างเศรษฐกิจพอเพียงกลับทำลายผลประโยชน์ของคนจน เช่นเดียวกับและมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาทั้งหมด - หรือว่า คนจนต้องพอเพียง คือ อยู่แบบไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่แบบคนไร้บ้าน คนไม่มีการศึกษา คนที่ป่วยแต่ไม่รู้จะหาหมอยังไงเพราะไม่มีเงิน ค่ารถเมล์ขึ้นแต่ละทีเดือดร้อนชิบ!!! เป็นต้น -- แต่คนรวยไม่ต้องพอก็ได้ - คำถามเหล่านี้ก็เถียงกันได้ต่อไป ตามแต่จุดยืนทางชนชั้นที่เรามี


 


9. สิ่งที่เราต้องคิดในการต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ณ วันนี้ มีหลายประการ หนึ่ง การต้านม.นอกระบบด้วยเหตุผลการไม่มีส่วนร่วมนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่พอ การต่อสู้ของเราสำเร็จไม่ได้ ถ้าเราพูดแค่ประเด็นการมีส่วนร่วม "ภายใน" องค์กร แต่เราต้องอธิบายให้กับสังคมได้ว่า การนำ ม.ออกนอกระบบ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มันเกี่ยวพันกับผลประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอย่างไร และ รัฐ หรือ รัฐบาล มี "หน้าที่และความรับผิดชอบ" อะไรบ้าง ถ้าหน้าที่ของรัฐบาลคือ การดูแลประชาชน ก็ต้องทำหน้าที่จัดสวัสดิการให้ประชาชน เงินไม่พอก็เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ภาษีที่ดินจากคนที่มีที่ดินเยอะ ภาษีมรดกสำหรับคนที่มรดกล้นฟ้าเกิดมารวยเลย โดยไม่มีข้ออ้าง


 


10. สอง พลังของเราอยู่ตรงไหน ระหว่างการพึ่งอำนาจข้างบน กับ พลังนักศึกษาประชาชน ข้อพิสูจน์ของประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งของไทยและสากลมันตอบคำถามอยู่แล้วในตัวเองว่า พลังประชาชนและพลังคนรุ่นใหม่ คือ คำตอบ การคัดค้านแนวเสรีนิยมกลไกตลาดของภาคประชาชนตลอดที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากการถวายฎีกาหรือพึ่งพาอำนาจอะไร แต่มาจากอำนาจประชาชน ไม่มีผู้วิเศษมาปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา แทนเรา แต่คือ พลังประชาชนที่ทำเช่นนั้น


 


11. และสาม อาจมีคนถามเราตลอดว่า ถ้าไม่เอา ม.นอกระบบ แล้วเราเสนออะไร จำเป็นไหมที่เราต้องมีข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษา ในสถานการณ์ที่การศึกษามันห่วยแตกสิ้นดี และรัฐที่ควบคุมโดยคนร่ำรวยอ้างว่า ต้องปฏิรูป (ด้วยการเอาออกนอกระบบซะ) - เราควรจะลองคิดถึงตัวแบบของการศึกษาที่มีคุณภาพในต่างประเทศ การศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น ในแถบประเทศสแกนดิเนเวีย หรือในยุโรป ที่มี "รัฐสวัสดิการ" ที่รัฐ "หน้าที่และรับผิดชอบ" ต่อคนในสังคม ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขฟรี การศึกษาถูกที่สุด ขนส่งมวลชนราคาถูกหรือฟรี โดยที่รัฐเป็นเจ้าของและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ใช่ รัฐปัดภาระ แล้วบอกให้นายทุนมาทำแทน โดยประชาชนเป็นอย่างไรช่างหัวมัน


 


12. เราไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยมและล้าหลัง ที่ไม่ยอมรับการปฏิรูป แต่การปฏิรูปต้องตอบโจทย์ 2 ประการ คือ หนึ่ง ประชาชน คนธรรมดา คนที่ทำงานในองค์กร เป็นผู้ตัดสินใจรึเปล่า หรือเป็นการตัดสินใจของ หัวหน้างาน อธิการบดี รัฐบาล (โดยเฉพาะที่มาจากอำนาจกระบอกปืน) เท่านั้น และ สอง ทิศทางของการปฏิรูปมันเป็นไปเพื่อลดช่องว่างทางสังคม สนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนธรรมดาๆ เช่น พวกเรามากน้อยแค่ไหน หรือว่า ยิ่งปฏิรูป ค่าเทอมยิ่งแพง น้ำไฟแพง ค่าโทรศัพท์แพง แม้บริการจะดีขึ้นจากการจ่ายแพง แต่ก็หมายความว่า คนจ่ายแพงซึ่งเป็นคนมีเงินเยอะเท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้บริการดี ส่วนคนที่จนก็รับบริการห่วยๆ หรือ ไม่ได้รับบริการต่อไป


 


 


 


หมายเหตุ


ขอขอบคุณ ดาวในน้ำ ที่ช่วยเหลือในการหาข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องการถวายฎีกา


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550


สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550


นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม, ประชาไท, 24 พ.ย. 2550


สภา อ.จุฬาฯ พิพากษา ม.นอกระบบวันนี้ - ส่วนพุธนี้คิวผู้บริหาร มช.เปิดเวทีชี้แจง, ประชาไท, 27 พ.ย. 2550


นศ.มช.เดินสายตามหอพักกระตุ้นการรับรู้เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


ผู้บริหาร มช. เตรียมเชิญ "ชัยอนันต์ สมุทวนิช" แจงเรื่อง ม.นอกระบบ , ประชาไท, 29 พ.ย. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net