ว่าที่เลขาฯ อาเซียน หนุนประชาชนอาเซียนมีส่วนร่วมมากขึ้น

ในการสัมมนาเรื่อง ทิศทางและแนวโน้มในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานในบริบทของอาเซียน จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะว่าที่เลขาธิการอาเซียน กล่าวปาฐกถาเรื่อง การสร้างดุลยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมข้อท้าทายต่ออาเซียนว่า อาเซียนกำลังมีวาระใหม่ ที่เรียกว่า วาระของการสร้างประชาคม เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา เรามารวมตัวโดยไม่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ไม่เป็นทางการ จนถึงขั้นที่ประธานกรรมการยกร่างกฎบัตรอาเซียนเคยบอกว่า จากข้อตกลงทั้งหมดที่เรายึดเป็นพันธกิจร่วมกัน มีเพียง 30% เท่านั้นที่เราปฏิบัติตาม


 

ในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา อาเซียนเป็นห้วงความคิดที่ไม่เป็นรูปธรรมของผู้นำ ชนชั้นสูง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือคนจากภาคการเมือง ซึ่งก็ยอมรับว่ายังมีข้ออ่อนด้อย ซึ่งคือการที่อาเซียนยังห่างไกลจากประชาชนอาเซียนมากเกินไป

 

ที่ผ่านมา ในด้านเศรษฐกิจ มีทั้งกลไก สถาบันต่างๆ จำนวนมาก ทั้งภาคของนายจ้าง ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชย์ ภาคส่งออก ภาคบริการ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากกับประชาคมเศรษฐกิจ ทว่า ประชาชน เอ็นจีโอ ประชาสังคม สหภาพแรงงาน ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในกระบวนของอาเซียน

 

นักหนังสือพิมพ์ในสิงคโปร์ เคยถามเขาว่า มีความแตกต่างอย่างไรระหว่างเลขาธิการอาเซียนคนเก่าที่มาจากภาคราชการ และเขาที่มาจากภาคการเมือง เขาจึงตอบว่า นักการเมืองสามารถสื่อสารกับประชาชน และเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงได้ เช่นนั้นแล้ว ทุกคนก็จะเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของกระบวนการได้

 

สุรินทร์เล่าว่า ที่ผ่านมา เมื่ออาเซียนมีข้อตกลงต่างๆ ร่วมกัน กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่เคยบอกประชาชนเลยว่า อะไรคือข้อตกลงของอาเซียน ทำให้แม้ว่าหน่วยงานนั้นๆ จะไม่ได้ทำตามข้อตกลงของอาเซียน ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะประชาชนไม่รู้ว่ามีการตกลงกันอย่างไร หรือจะมีส่วนร่วมอย่างไร ดังนั้น สุรินทร์ สรุปว่า ทุกคนจะต้องติดตามตรวจสอบ เรียกร้อง กดดัน ร่วมกระบวนการของอาเซียนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

สุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาได้แล้ว แต่ถ้าถามว่า สังคมมีความเป็นธรรม รักกันมากขึ้นไหม คิดถึงคนอื่นบ้างไหม เท่าเทียมกันมากขึ้นไหม คำตอบคือ ยัง แต่กำลังพยายามอยู่ เพราะฉะนั้น เขาจึงหวังว่า ทุกคนจะกดดัน ตั้งคำถาม ให้คำแนะนำกับนาวาของอาเซียนที่จะสร้างชุมชนให้เป็นธรรมมากขึ้น

 

สำหรับการแข่งขันที่รุนแรงในด้านเศรษฐกิจนั้น สุรินทร์ แสดงความเห็นว่า เกิดจากการถูกบีบโดยยักษ์ใหญ่อย่าง จีน และอินเดีย ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการขาดทุน โดยจะเห็นว่าคนที่ยากจนที่สุด มีรายได้ต่อหัว 209 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ต่อปีต่อคน ส่วนคนรวยที่สุด มีรายได้มากกว่า 30,000 หมื่นดอลลาร์ต่อปี จะเห็นว่ามีช่องว่าง และไม่มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าคนร่ำรวย จะได้โอกาส ได้เปรียบในระบบเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มจะเอาเปรียบกันเอง ขอให้ราคาถูกไว้ก่อน แม้กระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ก็ตาม นี่คือสิ่งที่ท้าทาย และหวังว่า เราจะร่วมแก้ปัญหาสังคมวัฒนธรรมร่วมกัน และคงจะเป็นการเดินทางไกลสำหรับทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันอาเซียนให้เป็นองค์กรที่มีความอาทร มีส่วนร่วมจากประชาชนมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม สุรินทร์ ชี้ให้เห็นว่า โลกาภิวัตน์ช่วยให้จำนวนคนจนลดลง จึงมีข้อดีอยู่ แต่สิ่งที่ต้องทำคือทำอย่างไรให้โลกาภิวัตน์เป็นธรรมมากขึ้น และอาเซียนต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและสังคมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อร่วมกันแล้วสามารถสร้างชุมชนที่อาทรมากขึ้นได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท