Skip to main content
sharethis

5 ธ.ค.50       คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โดยการสนับสนุนของมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ กรุงเทพฯ จัดอภิปรายทางการเมืองเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย เรื่อง "ทิศทางการเมืองไทย ก่อนและหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550" เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.50 ณ โรงแรมเนเวด้า แกรนด์ จ.อุบลราชธานี


 


ผู้เข้าร่วมการอภิปรายประกอบด้วย จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ, ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์ศานต์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย การอภิปรายโดยสรุปมีดังนี้


 


รศ.ใจ กล่าวว่า การเมืองไทยขณะนี้กลับสู่ระบบซื้อขายเสียงเต็มที่ เพราะประชาชนไม่มีทางเลือกทางนโยบาย สาเหตุมาจากการยุบพรรคไทยรักไทยที่มีนโยบายประชานิยมเป็นประโยชน์ต่อคนจน และการที่รัฐธรรมนูญกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจไว้แล้ว และทหารกำลังจะสืบทอดอำนาจผ่าน พ.ร.บ.ความมั่นคง ดังนั้นจึงขอเสนอให้ทุกคนร่วมกันรณรงค์สนับสนุน "รัฐสวัสดิการ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีกว่านโยบายประชานิยม ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้า โดยตรวจสอบพรรคการเมืองว่าพรรคไหนมีนโยบายในเรื่องดังกล่าว และนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนจน, ลดบทบาททหารไม่ให้เข้ามาแทรกแซงสังคมหรือการเมืองอีก  และภาคประชาชนอิสระควรสร้างพรรคการเมืองของตนเอง เพื่อให้มีอำนาจสร้างความเท่าเทียมในสังคม  


 


จาตุรนต์ ฉายแสง ชี้ให้เห็นว่า สภาพการเมืองไทยก่อนและหลังการเลือกตั้งมีการครอบงำ กำหนดจากผู้มีอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร ทั้งโดยการวางระบบและการแทรกแซงการเมือง  ต่อไปจะเป็นการสู้กันระหว่างการครอบงำและประชาชนที่ไม่ยอมให้ครอบงำ โดยการแสดงความคิดเห็น และการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ข้อเสนอในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นธรรม ช่วยกันผลักดันไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจจากการรัฐประหารกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และหลังการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง นองเลือด และการยึดอำนาจอีกโดยเด็ดขาด  


 


ดร.ปรีชา กล่าวถึงภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และปีหน้าจากภาวะชะงักงันจนถึงติดลบ  ความไม่เชื่อมั่น ราคาน้ำมันที่สูงโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลด และภาวะเงินเฟ้อในอัตรารุนแรง ส่งผลกระทบต่อคนจน จะมีพรรคการเมืองไหนบ้างที่จะเสนออย่างเป็นรูปธรรมว่า จะยุติภาวะวิกฤติได้อย่างไร และในระยะยาวพรรคการเมืองน่าจะเสนอการปลดหนี้ชาวนาชาวไร่อย่างเป็นรูปธรรม มีขั้นตอนชัดเจน


 


000


 


รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ :     การทำรัฐประหารคือการนำการเมืองไทยกลับสู่ระบบซื้อขายเสียง ระบบอุปถัมภ์ เพราะมีการตัดทางเลือกทางการเมือง และขยายอำนาจของทหาร สาเหตุของการทำรัฐประหารมาจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับทักษิณไม่พร้อมจะแข่งแนวกับไทยรักไทย โดยเสนออะไรที่ดีกว่าให้คนจน คนเหล่านี้ซึ่งได้แก่ ทหาร นายทุนนอกเครือข่ายไทยรักไทย คนชั้นกลาง พรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ ข้าราชการอนุรักษ์นิยม เคยชินกับนโยบายที่ให้ประโยชน์กับอภิสิทธิ์ชน เมื่อรัฐบาลไทยรักไทยเอาทรัพยากรของประเทศชาติมาสร้างสวัสดิการให้คนจนระดับหนึ่ง นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์และนักวิชาการบอกว่าขาดวินัยทางการเงิน นี่เป็นกฎเหล็กของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมที่ชื่นชมกลไกตลาด แต่ถ้าเอาไปอุ้มสถาบันการเงิน,สร้างกองทัพ ไม่เป็นไร 


 


เมื่อคนจนใช้ประชาธิปไตยลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาให้ตัวเอง เลือกพรรคการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อเขาก็จะบอกว่าคนจนโง่ ถูกซื้อ อยู่ในระบบอุปถัมภ์ ดังนั้นจึงต้องทำรัฐประหาร และเขียนรัฐธรรมนูญที่มีเป้าหมายเพื่อกีดกันพรรคไทยรักไทยและลดอำนาจของคนจน มีการลดสิทธิ์การเลือกตั้ง โดยครึ่งหนึ่งของ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของพวกเขา เพิ่มอำนาจข้าราชการ เชิดชูการทำรัฐประหาร (มาตรา 309 ให้อภัยการทำรัฐประหาร) เพิ่มงบฯ ทหารทุกปีอย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญทหารกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของบ้านเมืองไว้แล้วว่าต้องเป็นระบบเสรีนิยมกลไกตลาด และเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น  ซึ่งแสดงว่า 2 สิ่งนี้ไปด้วยกัน แต่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้พูดถึงจุดยืนต่อรัฐ ต่อตลาด ฉะนั้น เวลาเราไปเลือกตั้ง เราก็ไม่สามารถเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน


 


การซื้อขายเสียงมาจากไหน ก็มาจากการที่ประชาชนไม่ค่อยมีทางเลือกทางนโยบาย การที่ไทยรักไทยเสนอนโยบายทางการเมือง ทำให้การซื้อขายเสียงมีความสำคัญน้อยลง ประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทย เพราะมีการคำนวณดูว่าเป็นประโยชน์ต่อเขาหรือไม่


 


ตอนนี้มีการทำรัฐประหาร ยุบพรรคไทยรักไทย การเมืองก็กลับสู่ระบบซื้อขายเสียงเต็มที่  แต่นโยบายประชานิยมก็ไม่ใช่การริเริ่มใหม่ของทักษิณ แต่เป็นการใช้นโยบายที่มีอยู่ในระดับสากล เป็นนโยบายคู่ขนาน คือใช้เศรษฐศาสตร์เคนส์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ส่วนเบื้องบนใช้เศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาด อเมริกาก็ใช้นโยบายนี้หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 1930  สิ่งที่ดีกว่านโยบายประชานิยมคือรัฐสวัสดิการ เพราะไม่ได้ทำเพื่อนายทุน และมีการเก็บภาษีก้าวหน้า


 


ตอนนี้เรามีอีกปัญหาหนึ่ง คือ ทหารกำลังจะสืบทอดอำนาจผ่านกฎหมายความมั่นคงฯ ไม่ใช่ความมั่นคงของคนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิต เช่น จะส่งลูกเรียนหนังสือ หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ไหม แต่เป็นความมั่นคงของผู้มีอภิสิทธิ์/ทหาร ที่จะมีบทบาทในสังคมต่อไป


 


สาเหตุอีกประการหนึ่งในการทำรัฐประหาร คือ ภาคประชาชนไม่ยอมสร้างพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา  ซีกขวาของภาคประชาชน คือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไปชวนให้ทหารมาทำรัฐประหาร  ภาคประชาชนจำเป็นต้องมีบทเรียนจากการทำรัฐประหาร เราไม่จำเป็นต้องเป็นกบขอนายใหม่ ทางเลือกคือภาคประชาชนอิสระสร้างพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา เพื่อแก้วิกฤติการณ์ที่สำคัญๆ ในสังคมไทย เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความรุนแรงในภาคใต้


 


ข้อเสนอในการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.นี้ คือ ควรตรวจสอบพรรคการเมืองทุกพรรค มีพรรคไหนที่เสนอว่าจะเก็บภาษีก้าวหน้า หรือสร้างรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร, ถอนทหาร ตำรวจออกจากภาคใต้ , คัดค้านกลไกตลาด การเซ็นสัญญา FTA ทุกชนิด อย่างเป็นระบบ, คัดค้านการรัฐประหาร, สนับสนุนสิทธิเสรีภาพทางเพศ, ลดเรื่องชาตินิยม เพื่อเคารพชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคม


 


เราจะต้องปฏิรูปสังคมไทย ไม่ให้ทหารเข้ามาบทบาทแทรกแซงการเมือง สังคมอีก  และภาคประชาชนอิสระควรสนใจการสร้างพรรคการเมืองของตนเอง เพื่อจะมีอำนาจสร้างความเท่าเทียมในสังคม และเมื่อไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอประโยชน์ให้คนชั้นล่าง เช่น รัฐสวัสดิการ เก็บภาษีก้าวหน้า ไม่มีพรรคไหนเป็นของประชาชน ก็ขอชักชวนให้คนที่เห็นด้วยไปใช้สิทธิกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน เพราะไม่มีอะไรจะให้เลือก


 


 


จาตุรนต์ ฉายแสง :     ทิศทางการเมืองก่อนและหลังการเลือกตั้งอยู่ที่ว่าเราเชื่อในระบอบประชาธิปไตย ระบอบรัฐธรรมนูญไหม คือมีกฎหมายสูงสุด ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกันหมด มีการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบโดยประชาชน เปลี่ยนผู้บริหารได้โดยการอภิปรายในสภา หรือกลไกตรวจสอบอื่นๆ หรือเมื่อหมดวาระ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ที่มีการยึดอำนาจกันมาหลายครั้งเพราะไม่ยอมรับในระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าประชาชนฉลาดพอที่จะเลือกผู้บริหารประเทศได้ เมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหาก็ยอมไม่ได้ แม้จะต้องทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไร เสียหายบ้างก็ไม่เป็นไร แต่เอาเข้าจริงเป็นความเสียหายใหญ่หลวงและต่อเนื่องตลอดมา


 


การเมืองหลังรัฐประหารจนถึงก่อนและหลังการเลือกตั้ง เป็นการสู้กันระหว่างการครอบงำของผู้ที่ยึดอำนาจที่ต้องการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองต่อไป ทั้งวางระบบและแทรกแซงการเมือง กับคนที่ไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจที่มาจากการยึดอำนาจครอบงำ แทรกแซง กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ส่วนวิธีการต่อสู้ นอกจากการแสดงความคิดเห็นแล้วก็คือการลงคะแนนเสียง


 


การกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองของผู้มีอำนาจจากการรัฐประหาร เห็นได้จากรัฐธรรมนูญที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย เขียนให้พรรคการเมือง รัฐบาลอ่อนแอ ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ภายใต้อำนาจถอดถอนของผู้ที่มาจากการแต่งตั้ง,  บันได 5-6 ขั้น ของอดีตประธาน คมช., การออก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารที่ถูกชักใย หรือถูกกำหนดโดยกองทัพ มีอำนาจเหนือประชาชน ลิดรอนสิทธิของประชาชนได้อย่างมาก, การเปิดเผยเอกสารลับที่เป็นคำสั่งให้สกัดกั้นพรรคการเมืองบางพรรค ซึ่ง คมช.ออกมายอมรับว่าไม่เป็นกลางจริงๆ แต่ทำไปเพราะต้องการทำตามเจตนารมณ์ของการยึดอำนาจให้เสร็จสิ้น และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 309, การแต่งตั้งให้ เลขาฯ กกต.เข้าไปเป็นกรรมการ ครส. ซึ่ง 2 กรณีหลังแสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นอิสระ ปลอดจากการครอบงำ ไม่ใช่การเลือกตั้งที่จะให้ประชาชนตัดสิน


 


นี่คือสภาพการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เห็นได้ชัดว่า มีการครอบงำ กำหนดกันหมด แล้วหลังเลือกตั้งก็ยังทำต่ออีก ถ้าไม่มีพรรคไหนชนะเด็ดขาด ประเทศไทยก็จะมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอไม่สามารถมีนโยบายอะไรได้ และอยู่ใต้การกำกับของผู้มีอำนาจจากการรัฐประหาร โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ถ้าอีกพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากก็เสี่ยงต่อการยึดอำนาจและขู่ว่านองเลือด


 


 


ดังนั้น เรื่องใหญ่ของประเทศตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นธรรม เรายังต้องพูดกันอีกทุกวันๆ ไป เราต้องช่วยกันผลักดันไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจจากการรัฐประหารกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง หลังการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายต้องบอกว่าไม่ว่าฝ่ายไหนชนะ จะช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง นองเลือด และการยึดอำนาจอีกโดยเด็ดขาด  ประเทศไทยจึงจะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบอบรัฐธรรมนูญ ทุกคนทุกพรรคเท่าเทียมกัน เมื่อประชาชนตัดสินแล้วก็ต้องยอมรับ  นโยบายของพรรคการเมืองก็จะได้พัฒนาต่อไป ประชาชนก็จะได้เรียนรู้ ถ้านโยบายปฏิบัติไม่ได้หรือไม่ดี เลือกตั้งคราวต่อไปประชาชนก็ไม่เลือก ถ้าไม่พอใจก็ผลักดันต่อไปตามวิถีทางประชาธิปไตย บ้านเมืองและประชาธิปไตยก็จะพัฒนาไปได้


 


 


ดร.ปรีชา เปี่ยมพงษ์ศานต์ : เศรษฐกิจไทยวันนี้และหลังเลือกตั้ง มีปัญหาใหญ่ 4-5 ข้อ คือ  มีแนวโน้มว่า เศรษฐกิจระดับมหภาคจะพบกับวิกฤติ ชะงักงัน ซึ่งที่จริงชะงักงันมาตั้งแต่เคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณ แต่ผลกระทบจะมองเห็นชัดเจนในปีหน้า, ความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจและฝีมือของรัฐบาล, ราคาน้ำมัน ซึ่งปีหน้าอาจขึ้นเป็น 100-110 เหรียญ/บาร์เรล และไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ผลกระทบคือต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น, ภาวะเงินเฟ้อมีความรุนแรงขึ้นในปีนี้และปีหน้า  กดดันเรื่องปัญหาการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะประชาชนที่ยากจน ในระบบการผลิตทั่วไปจะลดการผลิต ลดการจ้างงาน คนตกงาน ล้มละลายมากขึ้นและจะวิกฤติหนักขึ้น ถ้าเศรษฐกิจทั่วไปตกต่ำ ติดลบ พร้อมกับค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง เศรษฐกิจโลกก็มีปัญหาแต่ไม่มาก ในเอเชียก็พอไปได้  ดีที่สุดคือเวียดนาม เพราะเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยม มีพรรคเดียว ไม่มีฝ่ายค้าน


 


ปัญหาที่รุนแรงที่สุดที่รัฐบาลใหม่ต้องหาทางแก้ไข คือ อัตราเงินเฟ้อที่จะขึ้นถึง 4% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่รุนแรง ส่งผลกระทบถึงคนยากจน จะมีพรรคการเมืองไหนบ้างที่จะเสนออย่างเป็นรูปธรรมว่า จะยุติภาวะวิกฤติได้อย่างไร หรืออย่างน้อยลดผลกระทบที่รุนแรง นี่เป็นปัญหาระยะสั้น  แต่ในระยะยาว สังคม เศรษฐกิจไทยยังมีปัญหาอีกมากมาย ความยากจน ช่องว่างคนจน/คนรวย การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม การถือครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การล้มละลาย ของชาวนา ชาวไร่ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ พรรคการเมืองน่าจะเสนอการปลดหนี้ชาวนาชาวไร่อย่างเป็นรูปธรรม มีขั้นตอนชัดเจน


 


ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ถูกนำมาเสนอเพื่อแก้ไขวิกฤติสังคม แต่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงในสังคมไทย คนจนไม่มีอันจะกิน รัฐสวัสดิการมีขีดจำกัดบางอย่าง การเก็บภาษีก้าวหน้า จะทำอย่างถ้วนหน้าไม่ละเว้นชนชั้นนำบางกลุ่มได้หรือเปล่า


 


สำหรับการจัดเสวนาครั้งต่อไป จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค. 50) เวลา 12.30 น. - 16.30 น. ที่ จ.เชียงใหม่ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นการอภิปรายในหัวข้อ "รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กับความหวังของประชาชน"


 


มีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มช. จินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บ้านกรูด ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ สุนันท์ ศรีจันทรา ผู้สื่อข่าวอาวุโสด้านเศรษฐกิจ ดำเนินรายการโดย ธเนศวร์ เจริญเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net