ชัยอนันต์ขึ้นเหนือกล่อม 4 ข้อดี ม.นอกระบบ

 

 

 

วันที่ 4 ธ.ค.50   กลุ่มผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชิญ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นผู้บรรยายในการรับฟังและชี้แจงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากมีการคัดค้านของนักศึกษาอย่างหนักเมื่อเร็วๆ นี้

 

โดย ศ.ดร.ชัยอนันต์ ได้กล่าวถึงหลักการ 4 อย่างกับการที่มหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ดังนี้ คือ

 

ประการแรกคือ หลักของความเป็นอิสระที่มีมากขึ้น เช่น อิสระในการดำเนินการกิจการต่างๆ ความเป็นอิสระในการติดต่อร่วมมือกับองค์การของรัฐหรือของเอกชน องค์การของต่างประเทศ ความเป็นอิสระในการที่มหาวิทยาลัยจะมีการพิจารณาเรื่องตำแหน่งทางวิชาการ มีระเบียบการบริหารงานบุคคลเป็นของตนเอง อิสระในการกำหนดเงินเดือนค่าจ้างต่าง ๆ

 

ประการที่สองคือ หลักของการมีส่วนร่วม สังเกตเห็นได้ว่าสภามหาวิทยาลัยก็จะมีตัวแทนของคณาจารย์ที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนของนักศึกษาเก่าก็ยังมีส่วนร่วมในสภามหาวิทยาลัยด้วย การมีส่วนร่วมนี้รวมไปถึงการที่จะมีองค์กรใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น สภาวิชาการ ซึ่งเป็นสภาที่จะดำเนินการทางวิชาการ ทำการอนุมัติหลักสูตรรวมไปถึงการที่จะแต่งตั้งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นอกนั้นก็มีสภาพนักงานที่จะให้คำปรึกษาแก่อธิการบดี  

 

ประการที่สามคือ หลักของประสิทธิภาพในการบริหารงานก็จะมีการตรวจสอบและประเมินส่วนงาน อีกทั้งต้องมีรายงานประจำปี มีการตรวจสอบ เป็นการตรวจสอบในวงกว้าง ซึ่งนี่เป็นหลักของประสิทธิภาพ

 

ประการสุดท้ายคือ เรื่องของการประกันคุณภาพ หากพิจารณาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกนอกระบบแล้วจะเห็นว่า หมวดการประกันคุณภาพโดยมีการประเมินพนักงานเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด แต่การประกันคุณภาพนี้ก็ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าจะต้องทำย่างเป็นธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้รับการประเมินนั้น มีการอุทธรณ์ด้วย

 

นอกเหนือจากหลัก 4 ประการแล้วก็ยังมีหลักประกันในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาโดยระบุไว้ในมาตรา 16/1 ว่าจะต้องมีหลักประกันว่า นักศึกษาผู้ขาดแคลนคุณทรัพย์นั้นสามารถที่จะเรียนได้จนจบ ก็เหมือนการให้การช่วยเหลือ ตรงนี้ก็มาจากข้อกังวลว่า ถ้ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้วจะมีผู้ที่ไม่สามารถที่จะเรียนได้ อาจจะมีการขึ้นค่าเล่าเรียนอะไรต่างๆ นานา ซึ่งสิ่งนี้เป็นการวางหลักประกันเอาไว้

 

ศ.ดร. ชัยอนันต์ ได้เน้นย้ำอีกว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้แม้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ แต่การออกนอกระบบนั้นคือออกนอกระบบราชการ แต่เข้าไปอยู่ในระบบที่มีการวางหลัก 4 หลัก ดังที่กล่าวไป ซึ่งระบบราชการไม่สามารถที่จะให้ได้ แต่ความเป็นอิสระนั้นก็จะมีการดำเนินการไปโดยมีส่วนร่วม

 

ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็น อาจารย์สมบัติ เชาวพูนผล จากคณะเภสัชศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อคิดเห็นและตั้งคำถามต่อฝ่ายผู้บริหารในประเด็นต่างๆ คือ 1. เสนอให้ พ.ร.บ. ระบุข้อบังคับชัดเจนในเรื่องของค่าหน่วยกิตนักศึกษา เพราะการที่ไม่ระบุอย่างชัดเจนในกฎหมายก็เหมือนเป็นการให้อำนาจผู้บริหารในการเพิ่มค่าหน่วยกิต

 

2.คำถามถึงกรณีที่หน่วยงานที่ไม่สร้างรายได้มีแนวโน้มว่าจะถูกยุบเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว จึงอยากให้พิจารณาว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้นักศึกษามีอิสระในการที่จะเลือกวิชาเรียนอยู่  3.เรื่องเงินเดือนของบุคลากร ยอมรับว่าผู้บริหารออกมาชี้แจง แต่เป็นการชี้แจงในเชิงที่ว่า "คุณต้องทำนะ" แต่ไม่ได้บอกว่าเราจะมาช่วยกันอย่างไร ตัวเลขต่าง ๆ ก็ไม่มีการเขียนไว้ชัดเจน

 

4. เรื่องการเขียนกฎหมายให้มีการตรวจสอบบุคลากรเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่มีใครมีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจผู้บริหาร  5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นโดยประชาชน แต่เรื่องสำคัญอย่างการที่มหาวิทยาลัยจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้นกลับไม่มีการออกมาถามประชาชนเลย

 

โดยทางผู้บริหารได้ออกมาชี้แจงเพียงประเด็นที่ 1,2 และ 4 เท่านั้น ในส่วนของประเด็นที่ 3 ทางกลุ่มผู้บริหารกล่าวว่ายังเป็นเรื่องที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ และไม่ได้ตอบคำถามของประเด็นสุดท้ายเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในประเด็นแรกเรื่องค่าหน่วยกิต ผู้บริหารกล่าวว่า เป็นเรื่องของการบริหารในการที่จะขึ้นค่าเล่าเรียนไม่เกี่ยวกับการออกนอกระบบ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งผลิตนักศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดวิชาการ ขณะที่ประเด็นที่สองเกี่ยวกับการยุบหน่วยงานที่ไม่สร้างรายได้นั้น ทางตัวแทนผู้บริหารระบุว่า หากยังคงมีงบในการบริหารก็จะยังคงไม่มีการยุบหน่วยงาน ยิ่งถ้าเพิ่มค่าเล่าเรียนจะสามารถเปิดสาขาใหม่ได้ด้วยซ้ำ สำหรับสาขาวิชาที่ไม่มีเงินอุดหนุนก็จะต้องเป็น Self-Sustain คือดูแลตัวเอง

 

ในประเด็นเรื่องที่เกี่ยวกับการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายผู้บริหาร ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยตอบว่า แม้แต่ในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระบบราชการ ก็มีการดูแลตรวจสอบจากฝ่ายเดียวเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อออกนอกระบบไปแล้ว เราจึงควรช่วยกันแก้ไขในเรื่องนี้ โดยทางตัวแทนผู้บริหารได้ยก มาตรา 46 ที่ระบุว่า ให้บุคลากรสามารถร้องทุกข์ได้ และใน มาตรา 24 (14) ที่ระบุว่าให้อำนาจขอสภาตรวจสอบฝ่ายบริหารได้

 

ด้าน ผศ.พีรพล คดบัว อาจารย์จากภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ ได้ออกมากล่าวว่า พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเขียนด้วยภาษากฎหมาย มีความยากในการตีความ โดยเฉพาะมาตราที่ 44 เรื่องที่บุคลากรของมหาวิทยาลัยจะไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายสหภาพแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้ว แต่กฎหมายได้ให้ความหมายของการคุ้มครองแรงงานว่า เกี่ยวกับการคุ้มครองการเลือกปฏิบัติ ชาย-หญิง คุ้มครองเรื่องไม่ให้เสี่ยงไปทำงานหนัก งานอันตราย ถ้าหากกฎหมายบัญญัติไว้ก็จะมีการบังคับใช้

 

ผศ.พีรพล ยังได้กล่าวต่อที่ประชุมอีกว่า มาตราหลายๆ มาตราเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้บริหาร ในอดีตสภามหาวิทยาลัยมีตัวแทนอาจารย์เข้าไปเป็นสมาชิก ขณะที่ตอนนี้มีตัวแทนน้อยลง สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมากขึ้นและดำรงตำแหน่งจาก 2 ปีเป็น 3 ปี ตรงนี้อันตรายเพราะไม่มีตัวแทนที่หลากหลายเพียงพอจะเข้าไปดูแลตรวจสอบ เรื่องการถอดถอนสภามหาวิทยาลัยก็มีอำนาจสั่งถอดถอนใครก็ได้

 

ผศ.พีรพล ยังได้แสดงความเห็นต่อกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ว่า การจะออกนอกระบบนั้นหากประชาคมไม่พร้อมก็ยังไม่จำเป็น ไม่ได้หมายความว่าไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงได้ แต่ควรกำหนด พูดคุย ทำความเข้าใจให้ชัดเจน ครบถ้วน ใน พ.รบ. ก็ระบุให้ชัดเจนเลยเรื่องค่าเล่าเรียนดังเช่นประเทศญี่ปุ่น

 

"ทำไมท่านไม่กำหนดเลยว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนมหาวิทยาลัย ไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนเกิน 10% มหาวิทยาลัยได้รับเงินอุดหนุนเพียงพอ ถ้าท่านแน่ใจก็เขียนไปเลย นักศึกษาจะได้สบายใจ"

 

"อาจารย์ในสภาพของพนักงานนั้น เรียกได้ว่าเป็นมนุษย์รู พอจะสอนก็ออกจากรูมา พอสอนเสร็จก็กลับเข้ารู คือกลัว อาจจะกลัวเพราะความที่รู้ไม่เท่าทันผู้บริหารก็ได้"

 

ขณะเดียวกัน น.ส.เนตรชนก แดงชาติ นักศึกษาที่เข้าร่วมรับฟังได้แสดงความเห็นว่า จากที่ได้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามหาวิทยาลัย มาจนถึงตอนนี้อยู่ปี 4 แล้ว ไม่แปลกใจว่าทำไมวันนี้นักศึกษาถึงเข้ามาฟังน้อย เพราะว่า ไม่มีการประชาสัมพันธ์และไม่มีการหยุดเรียนให้นักศึกษามีโอกาสมารับฟัง จากนั้นจึงได้ฝากถาม ศ.ดร. ชัยอนันต์ ว่าทำไมต้องเร่งออก พ.ร.บ. มช. ซึ่งเป็น 1 ในกฎหมาย 66 ฉบับ ที่สนช. ชุดนี้จะออก ทั้งที่เหลือเวลาอีกเพียงไม่ถึงสามสัปดาห์

 

"ท่านคิดว่าระยะเวลาเท่านี้จะสามารถออกกฎหมายได้อย่างถูกต้องเป็นธรรม และส่งผลดีต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างไร" เนตรชนกกล่าว

 

น.ส.เนตรชนก ยังระบุว่า กฎหมายดังกล่าวมี 82 มาตรา 8 หมวด กับอีกหนึ่งบทเฉพาะกาล ทั้งหมดนี้ไม่มีหมวดไหนเลยที่พูดเกี่ยวกับนักศึกษา สิทธินักศึกษาอยู่ที่ไหน นักศึกษาจะทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าหากกฎหมายแม่ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับนักศึกษาเลย จะให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับกฎหมายลูกได้อย่างไร

 

น.ส.เนตรชนก ยังได้ตั้งข้อสงสัยอีกว่า จากที่ขอดูใบเสร็จของเพื่อนซึ่งอยู่ในคณะที่ออกนอกระบบไปแล้ว พบว่าค่าเทอมเป็นตัวเลขแบบเหมาจ่าย ขณะที่ของคณะที่ยังอยู่ในระบบตอนนี้จะมีรายละเอียดชี้แจงว่ามีค่าอะไรบ้าง แล้วในรายละเอียดประเภทต่างๆ ที่ต้องจ่าย มันมีค่าธรรมเนียม 1,000 บาทเป็นค่ารถโดยสารภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งคนที่อยู่หอนอก หรือหอในก็ต้องจ่ายเท่ากัน โดยสวัสดิการก็ยังไม่เพิ่มขึ้น นักศึกษาหอนอกที่ไม่มีรถอย่างดิฉันต้องเดินจากหอนอกมเรียนทุกวัน

 

สุดท้าย น.ส.เนตรชนก ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ ในมาตรา 15 (10) การจัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล ร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลใดในกิจการที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวกับกิจการของมหาวิทยาลัย โดยนำผลการวิจัย ไปเผแพร่หรือหาประโยชน์เพื่อรายได้ของมหาวิทยาลัย

 

"หัวใจของการวิจัย จากที่เรียนมาทางสังคมวิทยา ก็ได้เรียนรู้ว่า หัวใจของงานวิจัยทำเพื่อใคร ผลมันก็จะมาเพื่อสิ่งนั้น แล้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยของคนภาคเหนือ มหาวิทยาลัยของส่วนภูมิภาค หลังจาก พ.ร.บ. นี้ผ่านร่างแล้ว งานวิจัยเหล่านี้จะทำเพื่อใคร เพื่อนายทุนหรือเปล่า เอกชนหรือเปล่า แล้วประชาชนจริงๆ ที่เป็นคนจน คนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาสจะมีโอกาสไหม พอมาดูรายชื่อของคนที่มีส่วนร่วมในการร่าง หรือสภามหาวิทยาลัยเอง มีแต่ท่านที่มาจากการแต่งตั้ง ชนชั้นสูง ชนชั้นนำในสังคมต่างๆ แล้วประชาชนทั่วไปไปอยู่ไหน หรือยังคิดว่าชาวบ้านเป็นคนที่ โง่ จน เจ็บ" น.ส.เนตรชนกกล่าว

 

ท้ายที่สุด ศ.ดร.ชัยอนันต์ ได้ตอบคำถามผู้แสดงความเห็นใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือความเร่งรีบผ่าน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยืนยันว่าไม่ได้รีบ แต่ใช้เวลาทำมาแล้วเกือบ 5 ปี แล้วตั้งแต่ปี 2546 มีการนำร่างเข้าสภาไปเมื่อปีที่แล้ว แต่มีการยุบสภาไปก่อน พอมาตอนนี้ก็ทำแบบปีที่แล้ว สภามหาวิทยาลัยยืนยันกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แล้วก็ค่อยๆ ทำมาอีกสิบเดือน

 

ประเด็นที่สองคือเรื่อง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีอะไรเกี่ยวกับนักศึกษาหรือไม่ ศ.ดร. ชัยอนันต์ ตอบว่า มี ในมาตราที่ 16 ข้อ 1 เรื่องของนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์  มหาวิทยาลัยต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุน

 

จากนั้นจึงได้มีตัวแทนนักศึกษาจากคณะการสื่อสารมวลชนอีกคนหนึ่งเสนอแนะเพิ่มเติมในส่วนการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าเล่าเรียน ด้วยการให้มีการตรวจสอบว่ามีทุนการศึกษาถึงมือนักศึกษาจริงหรือเปล่า เพียงพอหรือไม่ และให้มีการสำรวจว่า สถานภาพทางการเงินของผู้ปกครองนักศึกษาว่า มีนักศึกษาที่เป็นคนจนกี่คน คนรวยกี่คน อีกทั้งควรการระบุเรื่องการส่งเสริมการศึกษาจนจบให้มีความชัดเจนกว่านี้

 

ทางตัวแทนของฝ่ายบริหารได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่เคยมีมหาวิทยาลัยไหนที่เคยทำสำรวจเรื่องรายได้ของผู้ปกครองนักศึกษามาก่อน จะสำรวจไปทำไม และเขาก็คัดค้านประชานิยม สวัสดิการจากรัฐ เช่นที่พรรคการเมืองหลายพรรคเสนอว่าจะให้ทุกคนเรียนจนจบปริญญาตรี เพราะนโยบายเช่นนี้ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างทางสติปัญญาของมนุษย์ ซึ่งเปรียบเหมือนบัวสี่เหล่า พวกบัวใต้ตมไม่มีทางเรียนถึงปริญญาตรี

 

ในส่วนของ นายอาณัติ แสนจู นักศึกษาผู้เข้าร่วมรับฟัง แสดงความเห็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ ร่าง พ.ร.บ. นี้ โดยระบุว่า ทางฝ่ายผู้บริหารไม่ทำการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง เคยสัญญาว่าจะหยุดเรียนในวันนี้เพื่อให้นักศึกษาได้มาฟัง ก็ไม่ทำตามสัญญา ด้านผู้บริหารอ้างว่า ได้ส่งข้อมูลไว้ในกล่องของแต่ละคณะ ขณะเดียวกันก็ให้นายกสโมสรนักศึกษาและสภานักศึกษาชุดปัจจุบันช่วยประชาสัมพันธ์แล้ว

 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง

สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550

สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550

นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม, ประชาไท, 24 พ.ย. 2550

สภา อ.จุฬาฯ พิพากษา ม.นอกระบบวันนี้ - ส่วนพุธนี้คิวผู้บริหาร มช.เปิดเวทีชี้แจง, ประชาไท, 27 พ.ย. 2550

นศ.มช.เดินสายตามหอพักกระตุ้นการรับรู้เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550

นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


ผู้บริหาร มช. เตรียมเชิญ "ชัยอนันต์ สมุทวนิช" แจงเรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 29 พ.ย. 50


บทความ: สรุปบทเรียนการต่อสู้คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา, โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ประชาไท, 29 พ.ย. 2550

"คุณตอบไม่ตรงคำถามเรา หรือเราถามไม่ตรงคำตอบคุณ" เสียง นศ. มช. ถึงเวทีผู้บริหาร เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 30 พ.ย. 2550

อ่านเอกสารที่ ศธ 0515(1) 9658 อ่านความคิดผลักดัน มช.ออกนอกระบบของ นายกสภา มช.และคณะ, ประชาไท, 3 ธ.ค. 2550

ชัยอนันต์ขึ้นเหนือกล่อม 4 ข้อดี ม.นอกระบบ, ประชาไท, 6 ธ.ค. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท