Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ รศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  


รองหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา


12 พฤศจิกายน 2550


----------------------------------


เรื่อง/ภาพ :  ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง


 


 



 




 


เราตั้งใจที่จะขาดดุลการคลังและสัญญาไว้ด้วยว่าในเวลา 3 ปี ดุลการคลังจะต้องกลับคืนมาสู่สมดุล หมายความว่าจะใช้เงิน 900,000,000,000 บาท


ถามว่าเราอยู่ในวิสัยที่จะขาดดุลการคลังขนาดนี้ได้หรือไม่...ได้ครับ


เป็นการขาดดุลการคลังที่ไม่เสียวินัยการคลัง



ผมเป็นคนแรกๆที่พูดว่า ถ้าเราไม่เป็นประชานิยม เราไม่สามารถกลับไปสู่เสรีนิยมได้


เพราะไม่สอดคล้องกับสังคมไทย


มันต้องเป็นสวัสดิการก้าวหน้า


แต่จะพูดอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่าสวัสดิการก้าวหน้าคืออะไร


มันต้องผูกโยงไปเรื่องภาษีอากรและความรับผิดชอบรัฐบาล



ต้องทำอะไรที่ประชาชนนิยม ใช้ประชานิยมในความหมายดีคงจะใช้ได้


แต่สำหรับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา


คิดศัพท์ขึ้นมาคำหนึ่งที่ใช้เรียกประชานิยมในด้านที่ดี


ที่คำนึงถึงรัฐสวัสดิการและความรอบคอบระมัดระวังว่า "ประชาสมคิด"



แนวคิดเศรษฐกิจของเราหวังพึ่งรายจ่ายจากประชาชนคนชั้นล่างสูง


หลักคิดคือมอบให้แก่เศรษฐกิจจากคนจำนวนมากมหาศาลโดยที่แต่ละคนให้ไม่ต้องมากนัก



เรื่องประชานิยม ถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่นายกทักษิณทำ


ก็อาจจะเห็นว่ามันคือการโฆษณาขายกอเอี๊ยะ


ให้พวกหนึ่งได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเอาประเทศไปทางไหนก็ไม่รู้


หรือพอได้ประเทศมาแล้วก็เอาไปทำประโยชน์เพื่อธุรกิจของตนเอง



สันติภาพคืออะไร


คือการที่เราต้องคิดในบางอย่างที่ไม่เคยคิด ทำในบางอย่างที่ไม่เคยทำ


และไปสร้างพันธมิตรในคนที่ไม่เคยสนใจสร้าง


            


พอรัฐบาลของไทยรักไทยเป็น 2 สมัย แล้วหัวหน้าพรรคพูดเสมอว่าจะเป็นหลายสมัย


ราชการก็กลัวและเสียความเป็นกลาง สื่อมวลชนก็เริ่มผวา


เพราะเป็นรัฐบาลกุมงบประมาณประชาสัมพันธ์และรัฐวิสาหกิจได้เยอะ


ถ้าหากขัดรัฐบาลมากๆก็ลำบากเหมือนกัน สถาบันอื่นๆก็หวั่นไหวทั้งนั้น



ผมคิดว่ารัฐบาลผสมเหมาะกับสังคมไทย และสังคมไทยเป็นสังคมที่ควรจะรับฟังกันให้มากที่สุด


ฝ่ายที่มีอำนาจต้องถูกดุลถูกคาน


ถ้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาได้เป็นรัฐบาล


ก็ไม่ปรารถนาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว


 


 


0 0 0


 


 


ใกล้เลือกตั้งเข้าไปทุกที แต่การถือกำเนิดพรรคเลือดใหม่อย่าง "รวมใจไทยชาติพัฒนา" ภายใต้การจับขั้วทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นเก๋าทั้งในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และก่อนหน้านั้น รวมถึงชื่อชั้นของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำให้กลายเป็นพรรคที่น่าจับตาอีกพรรค


 


อย่างไรก็ตาม พรรคที่ถือกำเนิดใหม่ในภาวะการเมืองที่ไม่ค่อยปกติเช่นนี้ จะมีแนวทางใดมานำเสนอต่อประชาชน "ประชาไท" พาไปคุยกับ "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" รองหัวหน้าพรรคคนสำคัญที่มีทั้งภาพลักษณ์นักวิชาการและนักการเมือง ถึงทุกแง่มุมความเป็น "รวมใจไทยชาติพัฒนา" ที่เสนอตัวเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งสำคัญอันใกล้นี้


 


 


0 0 0


 


 


อยากถามข้อเด่นหรือจุดขายของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ว่าอยู่ที่ "คน" "นโยบาย" หรือ "การเข้ากันได้" กับทุกพรรค


ในส่วนนโยบายของพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาไม่ได้เริ่มจากการคิดว่านโยบายเท่านั้นที่สำคัญ คำถามที่ว่าจะขายอะไรมันเป็นสิ่งที่ผมเองก็ไม่อยากจะใช้ แต่คนใช้กันมาจนติด การเมืองไทย 5 ปีมานี้ก็กำหนดไปอย่างนี้ว่านโยบายมีไว้เพื่อขายประชาชน สำหรับผมแล้วนโยบายมีเอาไว้แก้ปัญหาของประเทศ เศรษฐกิจ และสังคม อันนี้ที่สำคัญที่สุด


 


พรรคจึงคิดนโยบายมาเพื่อแก้ปัญหาให้ประเทศ เราเห็นว่า เวลานี้มีปัญหา 4 อย่างด้วยกัน คือไทยเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำ เป็นมาสัก 40-50 ปีแล้วอย่างเห็นได้ชัด แล้วมาผสมกับความสับสนของ 2 ปีที่ผ่านมาหยกๆ ทำให้เกิดเป็นสังคมที่แตกแยกมากว่าปีเศษ นำไปสู่สังคมที่เริ่มจะถดถอย และถ้าไม่แก้ไขก็จะถดถอยยิ่งขึ้น ในที่สุดจะถดถอยจนฟื้นตัวกลับได้ยากที่สุด


 


เราคิดนโยบายขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่เนื่องจากเราปกครองแบบประชาธิปไตย จึงต้องอาศัยเสียงของประชาชน แต่ถ้าเราเขียนนโยบายให้ดีแสนดีอย่างที่นักวิชาการต้องการก็ไม่ได้คะแนนเสียง จะได้แต่การยกย่องสรรเสริญ  ดังนั้นจะทำอย่างไรให้นโยบายที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง เศรษฐกิจ และสังคมซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก มาเชื่อมกับความต้องการและการเข้าใจปัญหาของประชาชนได้ด้วย ก็ต้องคิดออกมาเป็นโครงการที่พี่น้องรู้สึกว่าจับต้องได้ เป็นสิ่งที่เขาอยากจะได้ เป็นสิ่งที่ได้ก็คงจะดีกับชีวิตน้อยๆ ของเขาแต่ละคน แต่ละกลุ่ม รวมกันแล้ว มันต้องมาเกิดเป็นเสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนมากพอสมควรและประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐบาล และรัฐบาลจึงเอานโยบายนี้ไปแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ แก้ปัญหาให้ชาติบ้านเมืองด้วย


 


สำหรับผม การเลือกตั้งเที่ยวนี้ นอกจากเราไม่ควรจะขายนโยบายด้วยเหตุผลที่คำว่า "ขาย" ไม่เหมาะ เพราะมันเป็นภาษาของธุรกิจ บวกกับเราควรช่วยกันคิดว่า การเลือกตั้งเที่ยวนี้จะเอาประเทศให้พ้นไปจากภัยของ 4 สังคมที่พูดอย่างไร


 


ลองคิดว่า ถ้าสังคมเรายังแตกแยก ยังถดถอยไปเรื่อยๆ โครงการต่างๆ ที่ฟังแล้วชื่นใจ มันก็ไม่ได้ทำ หรือทำได้นิดเดียว มันไม่มีเงินทำ ประเทศจะเสื่อมถอยไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเที่ยวนี้อยากให้พี่น้องประชาชนคิดให้ลึกซึ้งกว้างขวางรอบด้านว่า นโยบายของพรรคต่างๆ พรรคไหนที่แก้ปัญหาให้ชาติบ้านเมืองแถมด้วยปัญหาของเราได้ อย่าไปเริ่มต้นคิดว่า เราจะได้อะไรในส่วนของเราเองก่อนแล้วประเทศชาติจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น ควรคิดว่าการเมืองไทยโดยเฉพาะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และ 2 ปีมานี้ สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ


 


 


เมื่อเริ่มต้นปัญหาที่สังคมมีความเหลื่อมล้ำกันมากแล้ว อธิบายนโยบายแก้ไขให้ชัดขึ้นได้ไหม


เราคิดถึงปัญหาที่ค่อนข้างจะเฉพาะหน้าก่อน ตอนนี้เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี คงไม่มีใครเถียง คนว่างงานก็มากขึ้นเรื่อยๆ โรงงานปิดตัวลง โดยเฉพาะที่ทำส่งออกและปลดคนงานออกหลายแห่งทั่วประเทศ ร้านอาหารก็ขายไม่ได้ โรงแรมก็ไม่มีคนไปพัก ในปีนี้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ ค่าเงินบาทก็สูงถึง 33-34 บาทต่อดอลลาร์ มีผลทำให้สินค้านำเข้าเข้ามาเต็มไปหมดส่วนสินค้าส่งออกก็สะดุดชะงัก


 


เรามีแผนแก้ปัญหาด้วยการทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เราไม่ได้เน้นแต่การเติบโตอย่างเดียวแน่ๆ แต่มันเหมือนกับการขี่จักรยาน ขี่ช้าเกินไปก็ล้มคว่ำได้ ขี่เร็วเกินไปก็เสี่ยงอันตราย ถ้าขี่พอดีๆ การทรงตัวของจักรยานจะไปได้ เราตั้งธงเอาไว้ภายใน 3 ปี เศรษฐกิจไทยจะต้องกลับมาเติบโต 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อปีได้อีกครั้งหนึ่ง เงินเฟ้อต้องไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ และหนี้สินสาธารณะต้องไม่ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ


 


ทำอย่างไรให้เติบโตได้ มันต้องอาศัยการใช้จ่ายของภาครัฐและนโยบายการคลัง นโยบายการคลังมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นรายจ่ายกับส่วนที่เก็บภาษีอากร เราตั้งใจจะขาดดุลการคลัง พูดชัดๆไปเลยเราตั้งใจจะขาดดุลการคลัง


 


เพราะถ้าไม่ขาดดุลการคลังมันแก้ปัญหาไม่ได้ ตั้งใจว่าจะขาดดุลการคลังเฉลี่ยปีละประมาณ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ หรืออยู่ในเกณฑ์ประมาณ 200,000 ล้านบาทต่อปี มาบวกกับเงินที่อยู่นอกงบประมาณเช่นที่อยู่ในกองทุนหรือธนาคารต่างๆ ที่ภาครัฐสนับสนุนโครงการ รวมทั้งหมดแล้วตกประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี


 


ไม่ต้องตกใจ มันจำเป็นต้องเสียเงินจำนวนนี้ เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการคลังช่วงหนึ่งติดต่อ 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี จนกระทั่งแก้ดุลการคลังได้สำเร็จในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน ในยุโรปหรือญี่ปุ่นบางช่วงที่ต้องขาดดุลการคลังก็ต้องขาดดุลการคลังเพื่อทำให้เศรษฐกิจฟื้น


 


เราตั้งใจที่จะขาดดุลการคลังและสัญญาไว้ด้วยว่า ในเวลา 3 ปี ดุลการคลังจะต้องกลับคืนมาสู่สมดุล หมายความจะใช้เงิน 900,000 ล้านบาท ถามว่าเราอยู่ในวิสัยที่จะขาดดุลการคลังขนาดนี้ได้หรือไม่...ได้ครับ เป็นการขาดดุลการคลังที่ไม่เสียวินัยการคลัง


 


มันจะกลับคืนมาได้อย่างไร...มาจากการที่เราลดการเก็บภาษีลงก็ดี การที่เรามีงบประมาณสนับสนุนให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อจะได้จ่ายเงิน บริษัทร้านค้าจะได้ลงทุนมากขึ้น จะไปกระตุ้นให้เศรษฐกิจที่เคยเติบโต 3 เปอร์เซ็นกว่าๆ กลับมาเติบโต 4 เปอร์เซ็นต์ 5 เปอร์เซ็นต์ 6 เปอร์เซ็นต์ได้ในเวลา 3 ปี


 


จำเป็นมากที่ต้องใช้การขาดดุลการคลัง เพราะส่งออกมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เงินบาทแพงขนาดนี้ การส่งออกแทบจะเป็นไปไม่ได้ จะอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศก็ไม่ได้อีก เพราะ 1 ปี มานี้ชื่อเสียงประเทศหรือความเชื่อถือและอะไรต่างๆ มันลดลงไปเยอะ เพราะเราออกไปจากกรอบของการเมืองและการพัฒนาที่ดี กลายเป็นติดอยู่ในกลุ่มประเทศพวกปากีสถานหรือพม่าไปแล้ว


 


จะอาศัยการลงทุนในประเทศ นักธุรกิจก็เห็นอยู่ว่าไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หรือรัฐบาลจะอยู่ได้นานอีกแค่ไหน ทหารจะปฏิวัติอีกรอบหนึ่งหรือไม่ ไม่แน่ใจทั้งนั้น ดังนั้นการลงทุนในประเทศก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ เหลืออยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือ รัฐบาลจะต้องใช้จ่าย...ควักกระเป๋า


 


อย่างที่เรียนไปตอนต้น เรามีทั้งการที่เราจะลดภาษีอากรลงเพื่อทำให้คนเหลือเงินในกระเป๋าเยอะ เพื่อให้บริษัทร้านค้าเหลือเงินในกระเป๋าเยอะจะได้ไปจ่ายหรือลงทุน นอกจากนั้น เราจะส่งเสริมสนับสนุนพลังทางเศรษฐกิจ 3 พลัง


 


พลังทางเศรษฐกิจอันที่หนึ่ งคืออย่างที่คนทั่วไปคิดคือนายทุน ร้านค้า บริษัท เราไม่ได้ขัดแต่เพิ่มเข้าไปอีกคือ สอง คนธรรมดาที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ถ้าเราลดภาษีให้แก่ร้านค้าหรือบุคคลก็จะทำให้เกิดเป็นการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น


 


พลังทางเศรษฐกิจที่สาม คือชุมชุนหรือเกษตรกร เพราะเกษตรกรมีเยอะ ถ้าทำให้คนๆหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละแค่ 10,000 บาท จำนวนเกษตรกรมี 40,000,000 คน เงินทองจะได้จากการที่มวลชนหรือประชาชนแต่ละคนจ่ายเพิ่มอีกแค่ปีละ 10,000 บาทเท่านั้น เศรษฐกิจก็จะมีเงินฉีดเข้าไปก็เป็นเงิน 400,000,000,000 บาท มันมีจำนวนไม่น้อยกว่าการลงทุนจากต่างประเทศ


 


ดังนั้น นโยบายของเราเมื่อได้ทำไปแล้ว จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินในภาคธุรกิจรวมทั้งภาคสังคมต่างๆ อย่างมากมายมหาศาล เราเชื่อว่ามันจะมีตัวคูณหรือ Multiplier Effect ไม่ต่ำกว่า 2-3 ที่คูณเข้าไปจากการจ่าย 300,000,000,000 บาท


 


 


ไม่กลัวถูกจัดชั้นเป็นนโยบาย "ประชานิยม"  หรือ


บางส่วนคงใช่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมได้เขียนหนังสือเรื่องทักษิณาประชานิยมเมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้วบอกว่า ประชานิยมเมื่อใช้ไปแล้วคนจะชอบมากและหลีกเลี่ยงยากเหลือเกินที่คนต่อๆ มาจะไม่ใช้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำเงินผัน จากนั้นมาใครๆ ก็ต้องเงินผันหมด


 


แต่ของเราคิดให้สมบูรณ์รอบคอบกว่า ที่สำคัญคือจุดเริ่มต้นของการคิด การคิดคือจะทำอย่างไรให้ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ มันต้องจ่าย แล้วจะจ่ายไปที่ไหน ก็จ่ายไปที่คนจน จ่ายไปที่เกษตรกร นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำลงไปได้บ้างแล้ว ยังมีหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่า คนจนเมื่อได้เงินมามีแนวโน้มจะจ่ายสูงกว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูง ไม่ใช่เพราะเขาวิเศษอะไร แต่เป็นเพราะเขาขาดเหลือเกิน ชีวิตเขายังไม่พอเพียงเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเมื่อได้มาเขาก็จะไปใช้จ่าย


 


เมื่อกี้ยกตัวอย่างการใช้เงิน 10,000 บาท มันง่ายเหลือเกินที่จะเป็นเช่นนั้น ต่อมาเราก็คิดเรื่องบำนาญประชาชน คือ ใครที่อายุ 60 ปี ไม่มีบำนาญจากระบบราชการหรือจากกองทุนบำนาญของเอกชนจะได้  2,000 บาทจากรัฐบาล คนแบบนี้มีประมาณ 1,000,000 คนทั่วประเทศ หมายความว่า คนแก่ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีเงินเลยต่อปี คราวนี้รัฐบาลจะมีบำนาญให้ แปลว่า คนแก่เหล่านี้จะสามารถจ่ายเงินได้ปีละ 24,000 ล้านบาท


 


ประชานิยมยังมีอีกลักษณะหนึ่งคือ มันมุ่งไปที่คนจนหรือเกษตรกร แต่เราไม่จำกัดอยู่ตรงนั้น เราให้ประโยชน์กับแทบทุกชนชั้น ชนชั้นกลางก็ได้ คือเรื่องภาษี ก่อนนี้ใครมีเงินเดือนต่ำกว่า 20,000 บาทต้องเสียภาษีประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ไม่ต้องเสีย ถามว่าเป็นประโยชน์หรือไม่..เป็น ชนชั้นกลางชอบหรือไม่...ชอบ อยากได้หรือไม่...อยากได้


 


แต่อะไรที่ชนชั้นกลางอยากได้ดูๆแล้วมันจะไม่ใช่ประชานิยม ที่คิดอย่างนั้นเพราะ เดิมประชานิยมมันจำกัดให้เฉพาะชนชั้นล่างที่เป็นฐานเสียง แต่เราเขยิบมาถึงคนชั้นกลางอย่างชัดเจนจะช่วยลดภาษีให้


 


คนชั้นกลางระดับสูงจะได้อะไร...เช่น ถ้าจะเริ่มประกอบธุรกิจ 5 ปีแรกไม่ต้องเสียภาษี ถ้ารายได้สุทธิไม่เกิน 3,000,000 บาท ถามว่าใครเสียประโยชน์...รัฐบาล เพราะเก็บภาษีได้น้อย ส่วนชนชั้นสูงก็ยังได้ประโยชน์อยู่ เราจะลดอัตราภาษีทำให้เก็บภาษีสูงสุดเก็บไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น


 


แปลว่าถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องตัดเนื้อของตนออกไป ลดไขตนเองลง คาดหวังไปเลยว่าเก็บภาษีอากรจะน้อยลงแต่รายจ่ายมากขึ้น การขาดดุลการคลังแบบนี้เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อนำไปใช้จ่ายด้านการศึกษา เพื่อจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น เพื่อยกระดับความสามารถของคน และทำให้สังคมไทยแก้ปัญหาเรื่องการเป็นสังคมที่ถดถอยลง


 


นอกจากนี้ยังมีโครงการ เช่นการพักชำระหนี้ให้แก่ครูเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจากครูเป็นชนชั้นที่เป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนาเป็นส่วนใหญ่ และส่วนใหญ่ก็อยู่ตามตำบล หมู่บ้าน แต่เขากำลังขยับฐานะขึ้นเป็นชนชั้นกลาง หนี้ที่ครูมี เป็นหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากเรื่องไม่ดี มันเป็นการยกระดับตัวเองให้เป็นชนชั้นกลาง ส่วนใหญ่เป็นหนี้เรื่องมอเตอร์ไซค์กับผ่อนบ้าน เมื่อเขาเป็นชนชั้นกลาง เขาจำเป็นจะต้องมีตรงนี้ จะให้อยู่แต่บ้านพ่อบ้านแม่ตลอดกาลเป็นไปไม่ได้ มันเป็นความใฝ่ฝันหรือเป็นความหวังที่จะทำให้ตัวเองเป็นชนชั้นกลางในชนบท


 


นโยบายพักชำระหนี้ครูทำให้เกิดชนชั้นกลางในชนบทที่มีความพอเพียงมากขึ้น จำนวนครูมีประมาณ 1,300,000 คน เป็นหนี้เฉลี่ยคนละประมาณ 1,000,000 บาท เราช่วยใช้จ่ายดอกเบี้ยให้ครู จะทำให้ครูเกิดกำลังใจเพราะเป็นการลดภาระทางใจ ลดความห่วงจนไม่มีเวลาค้นคว้าศึกษา บางคนต้องเปลี่ยนไปขายแอมเวย์ แต่มันจะถูกผูกเข้ากับว่าถ้าคุณได้รับการพักชำระหนี้ ก็จะต้องมาเรียนหนังสือเพิ่มเติม อบรมเพิ่มเติม ต้องมายกระดับบางวิชาเพิ่ม เป็นกุศโลบาย ด้านหนึ่งครูเบาลง อีกด้านถูกกระตุ้นให้ยกระดับตัวเอง ถามว่าเป็นประชานิยมหรือไม่...คือทำอะไรที่ประชาชนชอบ ทำอะไรที่ประชาชนรู้สึกว่าใช่ ประชาชนรู้สึกว่าแก้ปัญหาส่วนตัวของเขา ตรงนี้ต้องย้ำ เพราะการเมืองมันจะต้องเริ่มจากส่วนตัว


 


แม้ตอนต้นจะพูดว่า ขอให้คิดถึงบ้านเมือง แต่โดยทั่วไป คนเราก็ต้องคิดถึงเรื่องส่วนตัว จึงต้องมีอะไรที่กระตุ้นให้คนเห็นว่าเรื่องส่วนตัวของเขาก็มีอะไรที่น่าชื่นใจอยู่ เมื่อฟังจากที่พรรคพูดแล้ว หวังว่าจะได้เห็นความเชื่อมโยงของโครงการต่างๆ และเขาจะได้เห็นว่า เวลาที่เขาได้ เขาจะต้องทำอะไรให้สังคมเพื่อให้สังคมแก้ไขตัวเองไปได้อย่างไร


 


 


มีสังคมอุดมคติของพรรคหรือไม่ คือจะสร้างสังคมแบบไหน หรือให้คำจำกัดความอย่างไร


เป็นรัฐที่เห็นความสำคัญกับสวัสดิการ ผมเป็นคนแรกๆ ที่พูดว่า ถ้าเราไม่เป็นประชานิยม เราไม่สามารถกลับไปสู่เสรีนิยมได้ เพราะไม่สอดคล้องกับสังคมไทย มันต้องเป็นสวัสดิการก้าวหน้า แต่จะพูดอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจว่า สวัสดิการก้าวหน้าคืออะไร มันต้องผูกโยงไปเรื่องภาษีอากรและความรับผิดชอบรัฐบาล แต่คืออะไร..ไม่ใช่บอกให้จ่ายโน่นจ่ายนี่ แต่ไม่มีแผนการว่าจะเอาเงินมาจากไหน และจะฟื้นฟูได้ในกี่ปี


 


มันเรียกว่าสวัสดิการก้าวหน้าก็ได้ แต่คนไทยยังชอบสิ่งที่ยังเรียกว่าประชานิยม และสำหรับประชาชนประชานิยมไม่ได้เป็นความหมายลบ เขาพูดกันในความหมายว่า ประชาชนนิยมชมชอบ ซึ่งถ้าเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้ว ไม่ทำให้ประชาชนนิยมชมชอบ คุณก็ไม่มีโอกาสได้มาทำงานในสภา เป็นรัฐบาลหรือได้ใช้งบประมาณให้ประชาชนได้


 


การเมืองคือศิลปะ ด้านหนึ่งต้องเอาให้ประเทศชาติไปได้ อยู่รอด อีกด้านต้องทำให้ประชาชนทั้งเฉพาะกลุ่มหรือบุคคลชอบด้วย ดังนั้นต้องทำอะไรที่ประชาชนนิยม ใช้ประชานิยมในความหมายดีคงจะใช้ได้ แต่สำหรับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา คิดศัพท์ขึ้นมาคำหนึ่งที่ใช้เรียกประชานิยมในด้านที่ดี ที่คำนึงถึงรัฐสวัสดิการและความรอบคอบระมัดระวังว่า "ประชาสมคิด"


 


ที่เรียกอย่างนี้เพราะดอกเตอร์สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นมันสมองของเราด้วยหรือไม่..ก็คงได้ แต่เรายังคิดคำต่อไปว่า "ประชาสมคิด เพื่อชีวิตที่สมหวัง"


 


มองในแง่ดี การเมืองไทยไม่เคยมีอะไรที่นำเสนอให้ประชาชนมากเท่ากับการเมืองในไม่กี่ปีมานี้ และมองไปข้างหน้า แนวทางของพรรครวมใจไทยชาตติพัฒนาคิดว่าค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียว


 


 


แล้วแนวนโยบาย "ประชานิยม" ลักษณะนี้ แตกต่างจากแนวทางเดิมของไทยรักไทยอย่างไร


ความแตกต่างที่ชัดที่สุดคือ เราไม่ได้เริ่มต้นคิดนโยบายตรงที่จะไปดึงดูดใจให้คนมาสนับสนุนเราอย่างไร ไม่ได้คิดจากเอาไปแจกเท่าไหร่ เอาไปลด เอาไปแถมให้เท่าไหร่ แต่เริ่มคิดจากว่าต้องขาดดุลการคลัง เพราะมันเหลือแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ แต่เมื่อจะขาดดุลการคลังแล้ว จะขาดดุลการคลังเพื่ออะไร บางรัฐบาลอาจจะไปซื้ออาวุธ หรือบางรัฐบาลเอามาลงทุนทำอะไร อย่างทำถนนให้สวยขึ้น ดีขึ้น หรือทำสวนสาธารณะมากมาย แต่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนเราขาดดุลการคลังเพื่อเอาไปทำให้พลังเศรษฐกิจ 3 พลังเกิดความเชื่อมั่น คล่องตัว น่าเชื่อถือว่าจ่ายเงินไปแล้ว คนชั้นกลาง คนชั้นสูง คนชั้นล่างก็มีปัญญาจ่าย


 


แนวคิดเศรษฐกิจของเราหวังพึ่งรายจ่ายจากประชาชนคนชั้นล่างสูง หลักคิดคือมอบให้แก่เศรษฐกิจจากคนจำนวนมากมหาศาลโดยที่แต่ละคนให้ไม่ต้องมากนัก ในขณะที่แนวคิดแบบเดิมที่จะให้อะไรใส่ไปในเศรษฐกิจเป็นวิธีที่เอาจากเศรษฐีไม่กี่คน แล้วเอามาจำนวนมากมายมหาศาลจากแต่ละคน แต่เราเปลี่ยนเป็นเอาจากแต่ละคนจำนวนไม่มาก ทำให้เราไม่สนใจการลงทุนจากต่างประเทศหรือตลาดต่างประเทศมากนัก


 


ในแง่หนึ่ง เราตระหนักมากว่า พรรคการเมืองที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยเวลานี้ต้องเปลี่ยนสถานะตัวเองจากประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นเป็นยักษ์ทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน


 


ในประเทศเหล่านี้อาศัยแต่เอ็กพอร์ตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยตลาดภายในและการใช้จ่ายภายในประเทศด้วย ซึ่งจะมีแต่สินค้าส่งออกโดยไม่มีสินค้านำเข้าเลยเป็นไปไม่ได้ รัฐจะต้องลงทุนในเรื่องคมนาคมขนส่งอีกมากมายมหาศาลหลายแสนล้าน ทำไมต้องลงทุนเรื่องเหล่านี้ เราคิดว่าถ้าจะให้แข่งขันในทางเศรษฐกิจได้ ต้องลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งคมนาคมลง เพราะเวลานี้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้สูงกว่า 20 เปอเซ็นต์ของสินค้า ต้องลดให้เหลือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ จะทำได้ก้ต้องปฏิวัติการขนส่งคมนาคม หรือ Logistic Evolution ตรงนี้ถ้าไม่คิดอะไร ทุกพรรคก็มีรถไฟฟ้าหรือรถที่วิ่งระหว่างเมือง แต่ของเราคือความเข้าใจด้วยว่ามันคือ Logistic Evolution เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย มันจะได้นำเข้าด้วย เพราะถ้าไม่นำเข้า เงินบาทก็แข็ง เราจำเป็นต้องนำเข้า เพื่อให้เงินบาทชะลอการแข็งตัวลง และเราจะลงทุนเพื่อนำสินค้าพวกทุน พวกเทคโนโลยีเข้ามา ไม่ใช่นำเข้าแต่สินค้าฟุ่มเพือย


 


เรื่องประชานิยม ถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่นายกทักษิณทำ ก็อาจจะเห็นว่ามันคือการโฆษณาขายกอเอี๊ยะให้พวกหนึ่งได้เป็นรัฐบาลแล้วจะเอาประเทศไปทางไหนก็ไม่รู้ หรือพอได้ประเทศมาแล้วก็เอาไปทำประโยชน์เพื่อธุรกิจของตนเอง


 


แต่รวมใจไทยชาติพัฒนาคิดว่าเวลานี้ประเทศวิกฤติหนัก เศรษฐกิจกำลังแย่ที่สุดในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมา ถ้าไม่แก้ไข อนาคตประเทศแย่ แต่ถ้ามัวแต่ระมัดระวัง กลัวจนไม่กล้าทำ ประเทศก็ไปไม่รอดเหมือนกัน


 


 


การเมืองตอนนี้ค่อนข้างแบ่งข้างชัดเจน เรียกได้ว่าระหว่างเครือข่ายทักษิณเก่ากับขั้วอมาตยาธิปไตย จุดยืนของพรรคจะอยู่ตรงไหน เหมือนจะประกาศตัวว่าไปขั้วไหนก็ได้


รวมใจไทยชาติพัฒนาไม่ได้คิดปัญหาจากโจทย์ที่คุณตั้งเลยว่าจะไปรวมกับใคร เป็นพวกไหน ต้องขออธิบายว่า โจทย์ของเราคือทำอย่างไรจะให้บ้านเมืองอยู่รอด ทำอย่างไรเราจะคืนประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทย การคืนประชาธิปไตยแก่ประชาชนสิ่งสำคัญที่สุด คือต้องฟังเสียงประชาชน ดังนั้นการที่คุณมาแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายก่อนที่จะรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไรก็ไม่ดี มันคล้ายกับสิ่งที่ตกทอดมาจากการที่ 1 ปีกว่าเราอยู่กับระบอบอมาตยาธิปไตย เราเลยลืมไปว่าจริงๆ แล้วเราปกครองแบบประชาธิปไตย


 


ถ้าปกครองแบบประชาธิปไตย จะไปพูดล่วงหน้าว่าร่วมกับใคร ไม่ร่วมกับใคร โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าประชาชนคิดอย่างไรไม่ได้ ได้แต่คาดเอาเท่านั้นว่า ประชาชนน่าจะชอบแบบนั้น น่าจะคิดแบบนั้น มันยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ ยิ่งถ้าบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ยิ่งไม่ควรสรุปอะไรไปก่อนล่วงหน้า จะต้องคิดในสิ่งที่ไม่เคยคิด ทำอะไรในสิ่งที่ไม่เคยทำ แล้วก็ต้องไปหาคนที่ไม่เคยไปหาเพื่อแก้ปัญหาประเทศให้อยู่รอด


 


ความขัดแย้งของสังคมไทยมันอาจคล้ายกับยิวกับอาหรับที่รบกันมา 40 ปีแล้ว ถ้าหากยังถือแบบเดิม คิดแบบที่เคยคิด ยังทำในเรื่องที่เคยทำ ยังไปมาหาสู่เฉพาะคนที่เคยไปมาหาสู่ ป่านนี้ก็ยังรบกันอยู่


 


สันติภาพคืออะไร คือการที่เราต้องคิดในบางอย่างที่ไม่เคยคิด ทำในบางอย่างที่ไม่เคยทำ และไปสร้างพันธมิตรในคนที่ไม่เคยสนใจสร้าง ทำอย่างไร เอาคนที่ดีๆ ของพรรคไทยรักไทยในอดีตมารวมกับคนของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา พรรคมหาชนในอดีต และคนที่มองเห็นว่าต้องฟังเสียงของประชาชนให้มากที่สุด จะทำหรือไม่ทำอะไรต่อไป จะต้องพยายามคิดว่าให้ประเทศชาติมีทางออก ต้องไม่คำนึงถึงเรื่องชัยชนะเกินไป ชัยชนะที่ได้มาบนซากปรักหักพัง โดยความเคียดแค้น อาฆาตพยาบาท ไม่ได้เป็นชัยชนะของประเทศชาติด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อให้ประเทศชาติชนะ แล้วฟังเสียงของประชาชน


 


ตอนนี้ไปประชาสัมพันธ์ให้เต็มที่ว่าคิดอย่างไร แล้วก็ฟังประชาชน ทั้งที่พูด เขียน หรือตอบสนอง แล้วค่อยมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไร จะอยู่เฉยๆ หรือจะรวม ไม่รวม มันจึงเป็นการเมืองที่แก้วิกฤติได้


 


ขอย้ำว่าการเมืองเที่ยวนี้ไม่ใช่การเมืองแบบปกติ ดังนั้นจะตั้งโจทย์แบบปกติมันไม่ควรตั้ง


 


 


การมองแบบทุกฝ่ายรวมกันได้จะทำให้การผลักดันนโยบายต่างๆ ของพรรคไม่เป็นจริงหรือไม่ เพราะมันคงขึ้นกับฐานการต่อรอง


กรเลือกตั้งเที่ยวนี้ไม่ได้มีแต่นโยบาย ต้องมียุทธศาสตร์ด้วย มันอาจจะไม่ใช่การเลือกตั้งที่มาบอกว่าประชาชนแต่ละกลุ่มจะได้อะไรจากนโยบายบ้าง แบบนี้มันเป็นมรดกตกทอดมาจากปี 44 และ 48 แต่การเมืองเวลานี้ มันถึงขั้นที่คนดูแล้วห่วงเรื่องอื่นมากกว่า


 


แน่นอนก็ห่วงว่าตัวเองจะได้อะไร แต่ก็ห่วงด้วยว่าประเทศจะอยู่ได้หรือไม่ จะมีใครมาผสมกับใคร ใครจะถูกลอยแพ ถ้าคนที่ถูกลอยแพมีประชาชนสนับสนุนอยู่เยอะจะทำอย่างไร ถ้าตั้งรัฐบาลขึ้นมาแน่ใจหรือไม่ว่าทหารจะไม่กลับมาอีก


 


ทหารบอกว่าไม่กลับ แต่ทหารที่ทำก็ไม่เคยบอกว่าจะทำ เพราะฉะนั้นต้องคิดในแง่ยุทธศาสตร์ว่า เราจะลงคะแนนเสียงแบบไหน จะเอาคนประเภทไหนเข้าไปประกอบเป็นรัฐสภา เป็นคณะรัฐมนตรี จะได้คิดต่อไปว่าจะเอาบ้านเมืองไปทางไหน แต่ตรงนี้ผมมีความเชื่อมั่นว่าประชาชนไทยฉลาด ฉลาดในเรื่องจะพาบ้านเมืองให้ออกไปจากวิกฤติอย่างไร ไม่ใช่เป็นความฉลาดที่งมงาย สมัยฝรั่งปกครองดินแดนทั่วโลก ประเทศไทยก็เอาตัวรอดได้โดยที่เราไม่ได้รู้ ไม่ได้เข้าใจอะไรมากนัก แต่ปฏิภาณไหวพริบเราดี ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ไม่ผิด


 


ต่อมา ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คิดดูว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกเท่านั้นที่รอดพ้นทั้งจากญี่ปั่น อเมริกา และอังกฤษ แทบไม่เสียหายอะไร ก็เป็นความสามารถในชิงยุทธศาสตร์ โดยความรู้หรือเรื่องการต่างประเทศอาจจะไม่มากนัก


 


ยุคสงครามเย็น ประเทศต่างๆ ล้มระเนระนาด เราก็ไม่ได้เป็นพวกอเมริกาอย่างบ้าคลั่ง ทุกวันนี้เราเป็นอิสระจากอเมริกามากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ตกเป็นพวกสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ยังรักษาเอกราชเราไว้ได้


 


เร็วๆ มานี้ หลังจากกรณีพฤษภาทมิฬ ปี 35  จะเอาใครเป็นนายกรัฐมนตรี  คุณอาทิตย์ อุไรรัตน์ กับคนที่สนับสนุนจำนวนหนึ่งรวมทั้งประชาชนก็ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึงคือไปเสนอชื่อ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วทุกอย่างก็สงบไปได้


 


ผมเชื่อว่า ประชาชนฉลาด พรรคการเมืองต้องโน้มตัวลงไปฟังประชาชนว่าคิดอย่างไร ต้องถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการหารือกันทั้งชาติ บางทีโจทย์ที่สื่อตั้ง มันไม่ใช่โจทย์ที่ควรมาถามตอนนี้ มันไม่ใช่แค่เพียงจำนวนเก้าอี้ใครจะได้เท่าไหร่ แต่คิดไปข้างหน้าหลังวันที่ 23 ธ.ค. หรือยังว่า จะเอาประเทศชาติออกจากวิกฤติทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่มันวิกฤติจริงๆ การเมืองที่ไม่ปกติ คำถามที่ตั้งก็ควรไม่ปกติ รวมทั้งคำพูดที่ว่าทำแบบนี้ฮั้วหรือไม่ ทำแบบนี้ซูเอี๋ย ไม่ใช่เวลาที่มาดูเรื่องนี้ แต่เป็นเวลาที่ควรต้องรู้รักสามัคคี


 


 


มองว่าพรรคการเมืองไทยมีความเป็นสถาบันแค่ไหน


พรรคการเมืองหลายพรรคเป็นสถาบัน ถ้าดูจากอายุและการผลัดผู้นำของพรรคโดยที่พรรคไม่ได้ล่มสลายไป พรรคประชาธิปัตย์และชาติไทยใช่ พรรคชาติไทยมีนายกรัฐมนตรีแล้ว 2 คน คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และนายบรรหาร ศิลปอาชา ผลัดผู้นำมาแล้ว 3 คน คือมีคุณประมาณ (อดิเรกสาร) พล.อ.ชาติชาย และคุณบรรหาร พรรคก็ยังอยู่ได้ ทุกวันนี้พรรคชาติไทยก็ยังมีกำลังอยู่


 


พรรคพลังประชาชนก็อาจจะใช่ นโยบายเขาต่อเนื่องและมีผลสะเทือนที่คนอื่นต้องรับไปทำและดัดแปลงไม่มากก็น้อย ในแง่นี้เรียกว่ามีความเป็นสถาบันเชิงนโยบาย คุณทักษิณ ชินวัตร ก็รู้ๆ กันว่า สนับสนุนพรรคนี้ซึ่งอยู่ถึงนอกประเทศ แต่พรรคนี้ก็ทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นกลไกเลย  มีปัญหาขัดแย้งภายในพรรคก็แก้ไขได้ วันนี้พรรคก็พร้อมจะลงเลือกตั้ง และกลับมาได้เป็นจำนวนที่น่าเคารพ อาจจะได้ที่นั่งเหยียบ 200 ที่นั่ง ประชาชนก็จำได้ว่าเป็นพรรคไทยรักไทย ไม่ต้องโฆษณา ประชาชนก็ติดตามข่าวคราว ยังมีความทรงจำต่อคุณทักษิณและไทยรักไทย


 


แต่ถามว่าความเป็นสถาบันจำเป็นหรือไม่ หรือจะต้องชนะพรรคที่ไม่เป็นสถาบันหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ การเป็นสถาบันอาจจะซ้ำซากจำเจ น่าเบื่อหน่าย หัวดื้อ หัวแข็ง ไม่ปรับปรุงก็ได้ ในขณะที่พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่อาจจะมีความคล่อง มีความใหม่ มีความสด มีการผสมกลมกลืน มีสูตรเคมีใหม่ๆ ได้ทั้งนั้น


 


 


การเป็นรัฐบาลผสมคือการถอยหลังของการเมืองไทยหรือไม่


เป็นอย่างหนึ่งที่คนไทยเชื่อว่า รัฐบาลพรรคเดียวก้าวหน้ากว่ารัฐบาลผสม แต่ถ้าไปดู ทั่วโลกเป็นรัฐบาลผสมทั้งนั้น รัฐบาลพรรคเดียวมีในกลุ่มที่เรียกว่า แองโกลแซ็กซอน คือประเทศที่เป็นอังกฤษ- อเมริกัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่ส่วนใหญ่ในยุโรปเป็นรัฐบาลผสมทั้งนั้น แต่หลายประเทศใช้ระบบประธานาธิบดี เลยทำให้เห็นเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แต่แนวโน้มทั่วไปเป็นรัฐบลผสมทั้งนั้น


 


ในเมืองไทยรัฐบาลผสมดีหรือไม่ ขอตอบว่าดี เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่แข็งตัวเกินไป ไม่อยู่แบบอภิมหาอมตะนิรันดร์กาล การเป็นรัฐบาลผสมทำให้ไม่มีรัฐบาลใดได้ปกครองประเทศต่อกันในการเลือกตั้ง 2 ครั้ง จนกระทั่งรัฐบาลไทยรักไทยจึงเริ่มมีขึ้น แต่ตั้งแต่ 2518 - 2544 ไม่เคยมีรัฐบาลอยู่ในอำนาจเกิน 3 ปีกว่าๆ ก็ดี เพราะมันจะไม่เกิดแนวโน้มที่ทำให้เป็นรัฐบาลที่น่ากลัวจนกระทั่งราชการก็กลัว พอรัฐบาลของไทยรักไทยเป็น 2 สมัย แล้วหัวหน้าพรรคพูดเสมอว่าจะเป็นหลายสมัย ราชการก็กลัวและเสียความเป็นกลาง สื่อมวลชนก็เริ่มผวา เพราะเป็นรัฐบาลกุมงบประมาณประชาสัมพันธ์และรัฐวิสาหกิจได้เยอะ ถ้าหากขัดรัฐบาลมากๆ ก็ลำบากเหมือนกัน สถาบันอื่นๆ ก็หวั่นไหวทั้งนั้น


 


จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นรัฐบาลผสมอีกครั้งก็ไปได้ นโยบายแต่ละพรรคคงปรับเข้าหากันได้ สำคัญว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีน้ำหนักมากหน่อย


 


 


มันจะไม่มัวแต่ใช้เวลาไปบริหารกลุ่มมุ้ง กลุ่มพรรคต่างๆ หรือ ทิศทางการพัฒนาประเทศอาจไม่ชัดเท่าสมัยรัฐบาลทักษิณ


ในสมัยรัฐบาลทักษิณก็มีมุ้งมีกลุ่ม มันเป็นธรรมชาติ พรรคเขาเองก็ยอมรับเรื่องมุ้งเรื่องกลุ่ม อย่าไปมองจากแง่คิดทางรัฐศาสตร์ตระกูลเดียว ถ้าเราคิดอีกตระกูลความคิดหนึ่ง เราจะต้องมีกลุ่มขนาดกลางและเล็กที่เชื่อมโยงไปถึง ส.ส. ที่เป็นรายบุคคลได้ง่าย เห็นว่ามันมีประโยชน์อยู่


 


อย่างในญี่ปุ่น พรรคแอลดีพีก็เป็นมุ้งเป็นกลุ่ม แต่เขาเป็นมุ้งกลุ่มที่เป็นสถาบันเหมือนกัน เช่น ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากคนในมุ้งที่มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีอะไรบางอย่างเป็นกฎเกณฑ์ อย่างถ้าหัวหน้ามุ้งนี้เป็นประธานพรรค สมาชิกในมุ้งก็เป็นเลขาธิการพรรคไม่ได้ มีการคานอำนาจกันในตัว ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่เจริญมาก และการเมืองญี่ปุ่นก็สามารถรับใช้การเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้หลายสิบปี เขาก็เป็นมุ้งเหมือนกัน และหลายครั้งก็เป็นรัฐบาลผสม


 


ผมคิดว่ารัฐบาลผสมเหมาะกับสังคมไทย และสังคมไทยเป็นสังคมที่ควรจะรับฟังกันให้มากที่สุด ฝ่ายที่มีอำนาจต้องถูกดุลถูกคาน ถ้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาได้เป็นรัฐบาล ก็ไม่ปรารถนาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว





มองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อย่างไร เป็นพัฒนาการประชาธิปไตยไทยหรือว่าต้องแก้ไข


ไม่ได้ดูมัน ผมไม่ค่อยสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่เป็นโจทย์ที่เอามาถามอยู่เรื่อย ทำไมไม่สนใจ เพราะรัฐธรรมนูญไทย ถ้าแก้ปัญหาได้จริง มันแก้ได้ตั้งนานแล้ว แต่มีมาร่วม 20 ฉบับแล้ว ทำไมแก้ไม่ได้


 


ที่สนใจมากกว่าคือวัฒนธรรมทางการเมือง มารยาททางการเมือง และภาวะผู้นำทางการเมือง แต่มันเขียนในรัฐธรรมนูญไม่ได้ คนที่ปรารถนาดีทั้งหลาย นักคิด นักวิชาการ พยายามเขียนรัฐธรรมนูญกัน เขียนไปยังไงก็ไม่ได้ผลมากนัก รัฐธรรมนูญ 2540 ก็พูดกันดิบดีว่า มันจะยั่งยืนสถาพร อยู่ได้ไม่กี่ปีก็ถูกฉีกทิ้งแล้ว ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่ได้สนใจมากนัก แต่ในส่วนไหนที่ปรับได้ในฐานะนักการเมืองก็ปรับ ถ้าไม่ได้ก็แก้ไขเท่าที่เห็นเหมาะสม แต่ตอนนี้ยังไม่อยากพูดอะไร เพราะยังไม่ทันได้ใช้ จะไปพูดปรับอะไร ก็ใช้ไปก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net