Skip to main content
sharethis

 


 


 


 



โดย www.thaiclimate.org


 


 


 


จากหน้าต่างเครื่องบินบนเสันทางข้ามมหาสมุทรอินเดียมาเกาะบาหลีคราวนี้ นอกจากเมฆและท้องฟ้าแล้ว จินตนาการของฉันยังไปไกล ขนาดเห็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เครื่องการบินไทยที่กำลังโดยสารมาร่วมกับหมู่เพื่อนร่วมทางทั้งไทยและต่างชาติจำนวนประมาณ 250 คน กำลังปล่อยออกจากปลายเครื่องเป็นทางยาว สิริรวมคิดเป็นน้ำหนักเมื่อคำนวณทางวิทยาศาสตร์ประมาณ 400 กิโลกรัมจากการบินเกือบ 4 ชั่วโมง


 


ที่ต้องคิดมาก ก็เพราะคราวนี้เป็นการเดินทางเพื่อมาทำข่าวการประชุมโลกร้อนที่สหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ ที่มีการคำนวณว่า ผู้มาร่วมประชุมและสังเกตการณ์กว่า 15,000 คน กำลังก่อให้เกิดการสะสมตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นรวมกันถึง 75,000 ตัน ในเวลาสองสัปดาห์ของการประชุม ตัวเลขนี้คิดเป็นการปล่อยของโรงไฟฟ้าในไทย 200 โรงรวมกันเพียง 8 ชั่วโมงครึ่ง


 


แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และทางสหประชาชาติได้หาทางออกไว้แล้ว คือการคิดโครงการร่วมกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพื่อปลูกต้นไม้ 4.5 ล้านต้น ที่มีการคำนวณว่า เมื่อเติบโตจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยไว้จากกิจกรรมการประชุมเป็นจำนวนปีละ 900,000 ตัน ตลอดอายุต้นไม้ การปลูกต้นไม้เพื่อการนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของการทำคาร์บอนออฟเซ็ท หรือการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์


 


ด้วยการทำกิจกรรมที่เชื่อว่าจะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเรื่องนี้เมื่อฟังผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นเรื่องที่มีแต่ได้กับได้ จากกิจกรรมที่มนุษย์ทำในสองอาทิตย์ ธรรมชาติได้รับการชดเชยโดยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 12 เท่าต่อปีเป็นเวลาตลอดอายุของต้นไม้ แต่นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมบางส่วนบอกว่าเรื่องจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น


 


คนกลุ่มนี้ชี้ว่า แนวคิดเรื่องการชดเชยคาร์บอน (carbon offset) และการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นเรื่องหลักของเวทีเจรจาตกลงระหว่างประเทศที่บาหลี เป็นเรื่องที่เรากำลังบิดเบือนประเด็นที่สำคัญกว่า คือการ "ลดปริมาณ" ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะถูกปล่อยใหม่ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ มากกว่าการ "จัดการ" ก๊าซที่ถูกปล่อยไปแล้ว เพราะการจัดการที่เชื่อว่าจะนำไปสู่การไม่เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจไม่เป็นไปอย่างที่คิด ดังเช่นกรณีการชดเชยคาร์บอนด้วยการปลูกต้นไม้


 


ในการเจริญเติบโตของต้นไม้ นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์ ธาตุอาหารในดินและแสงแดดแล้ว ต้นกล้ายังต้องการน้ำ ปริมาณน้ำที่ต้นไม้เหล่านี้ใช้ไป อาจทำให้น้ำไม่เหลือไปถึงพืชและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ปลายน้ำที่ปกติทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้นการคำนวณว่าการปลูกต้นไม้จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจได้ผลไม่มากอย่างที่คิด เพราะธรรมชาติอาจสูญเสียสิ่งมีชีวิตที่ตามปกติก็ทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอน เนื่องจากการขาดน้ำไปเลี้ยง ประการที่สองคือ ต้นไม้ที่ปลูกไป สักวันหนึ่งก็ต้องตาย เน่าเปื่อยผุพังและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คืนกลับสู่ธรรมชาติ หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือ ถูกตัดเอาไปใช้งาน ซึ่งในที่สุดก็ต้องจบที่การเป็นขยะและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอยู่ดี


 


การปลูกต้นไม้ชดเชยการปล่อยคาร์บอน ยังมีประเด็นที่ต้องคำนึงคือ ปัญหาสังคมที่อาาจจะตามมา การหาที่ดินเพื่อปลูกต้นไม้จำนวนมาก อาจไปแย่งที่ดินสำหรับการเกษตรจากชาวบ้านที่ขาดอำนาจต่อรองทางการเมือง ชาวบ้านเหล่านี้บางส่วนอาจกำลังฟื้นฟูที่ดินที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นป่า และถูกนายทุนนำไม้ออกไป โครงการปลูกต้นไม้เหล่านี้หลายโครงการยังถูกทำในนามของการปลูกป่า ที่เอาเข้าจริงคือการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วยต้นไม้ชนิดเดียว ที่หลายคนเชื่อว่าดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าป่าที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติหลายเท่า


 


ยิ่งไปกว่านั้นโครงการปลูกต้นไม้เหล่านี้เอาเข้าจริง อาจไม่มีการติดตามว่ามีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่จริงตามจำนวน เมื่อมีการประชุมนานาชาติของ สมาชิกกว่า 3,000 คนของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ IUCN ที่กรุงเทพเมื่อสามปีที่แล้ว มีการพูดถึงการปลูกต้นไม้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากการใช้เครื่องบินและจากกิจกรรมการประชุมที่เมืองไทยจำนวน 8,000 กว่าตัน แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่ปรากฎว่ามีการดำเนินการดังกล่าว แล้วใครจะมั่นใจได้ว่าโครงการที่กำลังเกิดขึ้นที่บาหลีจะไม่ซ้ำรอยเมื่อผู้เช้าร่วมประชุมจากสหประชาชาติเก็บกระเป๋ากลับบ้านไป


 


กระแสตื่นตัวทั่วโลกเรื่ิองโลกร้อนตอนนี้ได้ทำให้การปลูกต้นไม้ชดเชยการปล่อยคาร์บอนกลายเป็นธุรกิจใหญ่ มีการตั้งบริษัท หรือการร่วมกับเอ็นจีโอใหญ่ๆ เสนอให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนโครงการชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การขับรถ หรือการเดินทางโดยสารเครื่องบิน สายการบินหลายแห่ง เช่น แควนตัส แอร์แคนาดา เวอร์จิน และสิงคโปร์แอร์ไลน์ ก็มีทางเลือกให้ผู้โดยสารจ่ายเงินสำหรับการไปปลูกป่า หรือการทำงานวิจัยพลังงานสะอาด เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทาง การบินไทยก็กำลังพิจารณาทำแบบเดียวกัน ซึ่งผู้แทนการบินไทยกล่าวว่า ก่อนจะทำจะต้องแน่ใจได้ว่า มีการติดตามได้ว่าเงินของผู้โดยสารได้เอาไปใช้ประโยชน์ในโครงการเหล่านี้จริงๆ เพราะมีผู้โดยสารจำนวนมากที่ยังลังเลที่จะจ่ายเนื่องจากไม่มั่นใจว่าเงินของตนจะได้ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ในขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การเปิดช่องทางให้คนจ่ายเงิน เพื่อแก้ความรู้สึกผิด จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภคซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาโลกร้อน


 


การติดตามตรวจสอบโครงการที่ทำในนามการชดเชยดาร์บอนโดยประเทศต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของการประชุมที่บาหลีด้วย กระนั้นก็ตาม ถึงแม้โครงการเหล่านี้จะทำได้จริง ก็ยังไมใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดอยู่ดี เพราะปัญหาใหญ่ยังอยู่ที่การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะถูกปล่อยไปในชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนเราแล้วว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มถึง 2 องศา น้ำทะเลที่ขึ้นสูงจะกระทบคนกว่า 500 ล้านคน การขาดอาหาร 1,000 ล้านคน มาลาเรีย 3,000 ล้านคน และ 3,500 ล้านคน ในปี 2080


 


หากเป็นการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ โดยร่วมกับชุมชนที่มีบทบาทในการกำหนดและตัดสินใจอย่างเต็มที่เป็นเรื่องดีอย่างแน่นอน แต่การตลาดในนามของการปลูกป่าเพื่อลดโลกร้อน เป็นเรื่องสร้างความเข้าใจผิดว่าปัญหากำลังได้รับการแก้ไข  ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจช่วยน้อยมาก อาจเป็นการเพิ่มปัญหาให้โลกมากกว่า


 


 


………………………………………………………


*ติดตามความเคลื่อนไหว ทำความเข้าใจโลกร้อนในมุมที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย โดยทีมนักข่าวที่เกาะติดประเด็น ที่ www.thaiclimate.org


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net