ภัควดี รายงาน: บทเรียนจาก NAFTA: วิกฤตการณ์ราคาข้าวโพดในเม็กซิโก

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภัควดี วีระภาสพงษ์

 

แปลจาก
Laura Carlsen, "NAFTA Inequality and Immigration," Americas Policy Program Special Report (Washington, DC: Center for International Policy, November 6, 2007).
http://americas.irc-online.org/am/4705


ที่มาของภาพประกอบ: http://www.flickr.com/photos/nataren/289145687/

เมื่อเดือนมิถุนายน ผู้เขียน (ลอรา คาร์ลเซน) [1] พาทีมงานโทรทัศน์ไปที่คาเบซา เด ฆัวเรซ โครงการเคหะชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เขตรอบนอกของเมืองเม็กซิโกซิตี ชาวบ้านที่นี่มีชีวิตบนริมขอบของการดิ้นรนเอาตัวรอด ความไม่มั่นคงในชีวิตของพวกเขาเป็นปรอทวัดที่ไวต่อความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจของเม็กซิโก

เราออกไปพูดคุยกับประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของ "วิกฤตการณ์ตอร์ตีญา" (tortilla crisis) ตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2007 ราคาตอร์ตีญา (ขนมปังทำจากแป้งข้าวโพดที่เป็นอาหารประจำวันของชาวเม็กซิกัน) ทั่วทั้งประเทศเม็กซิโกพุ่งขึ้นไปกว่า 50% จาก 5 เปโซ กลายเป็นประมาณ 8 ½ เปโซต่อกิโลกรัม

ตามทางเดินแคบ ๆ ระหว่างเพิงขายของ แม่บ้านทุกรายที่เราเจอเล่าเรื่องเหมือนกันหมด แค่ไม่กี่เดือนก่อน พวกเธอซื้อแป้งตอร์ตีญาวันละสองกิโลกรัมเพื่อเป็นอาหารของคนในครอบครัว ตอนนี้ต้องลดการบริโภคลงครึ่งหนึ่ง ต่อให้มีสมาชิกในครอบครัวออกไปทำงาน 2 หรือ 3 คน ก็ยังหาเงินไม่พอซื้อแป้งตอร์ตีญามาเลี้ยงท้องอิ่ม

ข้าวโพดไม่ใช่อาหารธรรมดาในเม็กซิโก ธัญพืชนี้หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมของชาวเม็กซิกัน นับตั้งแต่ตำนานการกำเนิดมนุษย์ของอินเดียนแดงเผ่ามายา ชาวเม็กซิกันก็ได้ชื่อว่า "ประชาชนแห่งข้าวโพด" ข้าวโพดเป็นองค์ประกอบสำคัญในอาหาร ศาสนา พิธีกรรมและวัฒนธรรม

แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือข้าวโพดมีราคาถูกที่สุดเสมอ มันเป็นอาหารที่เข้าถึงง่ายที่สุดสำหรับคนจนในชนบทที่ปลูกข้าวโพดและคนจนในเมืองที่ซื้อตอร์ตีญาจากร้านท้องถิ่น ในอาหารทุกมื้อ จะมีตอร์ตีญาห่อไข่หรือเนื้อ จุ่มในน้ำซุป ใช้แทนช้อนตักถั่ว หรือโรยเกลือและแทะกินเล่นกับพริกเขียวเวลาไม่มีอะไรอื่นกิน

ซินญอรา คนหนึ่งพูดสรุปสั้น ๆ ว่า "ถ้าเรากินข้าวโพดไม่ได้ เราก็กินอะไรไม่ได้เลย"

ขณะที่เราเดินออกจากตลาดกลับไปสู่ถนนที่พลุกพล่าน ผู้หญิงคนหนึ่งเรียกฉันไว้และถามว่า เรามาจากสหรัฐอเมริกาหรือเปล่า เธอขอให้เราช่วยพูดกับสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อให้เธอได้ไปเยี่ยมลูกชายที่อพยพไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ผ่านมากว่าสิบปีแล้วที่เธอไม่ได้เจอหน้าลูก

ความผิดพลาดอยู่ตรงไหน?

มันไม่ควรเป็นอย่างนี้

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ยังเป็นแค่ประกายในแววตาของประธานาธิบดีคาร์โลส ซานินาส เด กอร์ตารี และประธานาธิบดียอร์จ บุชผู้พ่อ บรรยากาศในแวดวงการเมืองและธุรกิจของเม็กซิโกมีแต่ความชื่นมื่น นั่นเป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ในประเทศ และ NAFTA น่าจะเป็นมงกุฎแห่งชัยชนะในการทำประเทศให้ทันสมัยของเม็กซิโก เป็นตั๋วเบิกทางเข้าสู่โลกที่หนึ่ง ผู้สนับสนุน NAFTA ทำนายว่า ข้อตกลงนี้จะเป็นสัญญาแบบวิน-วินสำหรับทั้งสองฝ่าย ผู้บริโภคจะซื้ออาหารถูกลง ผู้ผลิตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการอพยพออกนอกประเทศไปหางานทำจะลดลง เมื่อระบบเศรษฐกิจกำลังพัฒนาของเม็กซิโกมาบรรจบเชื่อมต่อกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของซีกโลกเหนือ

14 ปีถัดมา เราเห็นเกือบทุกอย่างเป็นไปในทางตรงกันข้าม พร้อมกับการเติบโตของการค้าระหว่างสองประเทศ ช่องว่างในการดำรงชีพของผู้คนก็ขยายห่างตามไปด้วย หลังจาก NAFTA เศรษฐกิจของเม็กซิโกก็ปั่นป่วนจนควบคุมไม่ได้ ดังที่เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า "วิกฤตการณ์เตกีลา" (tequila crisis) เมื่อเงินตราของเม็กซิโกลดค่าลงสืบเนื่องจากการไหลออกของเงินทุน หลายปีต่อมา ความเติบโตยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เฉลี่ยเพียงแค่ประมาณ 2% หรือ 1% เท่านั้นสำหรับรายได้ต่อหัวประชากร

แม้กระทั่งธนาคารโลกที่ชอบแก้ต่างแทน NAFTA ก็ยังระบุว่า "ระดับรายได้ต่อหัวในระบบเศรษฐกิจเม็กซิโกไม่เติบโตสูงพอเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกในข้อตกลง NAFTA.....จากมุมมองโดยเปรียบเทียบนี้ แสดงว่าไม่มีความก้าวหน้าอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเลยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา" [2]

ความเติบโตไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวเบื้องหลังความล้มเหลวของ NAFTA ในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพในเม็กซิโก การสร้างงานกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่น่าผิดหวังอีกประการหนึ่ง ขณะที่มีคนหนุ่มสาวกว่าล้านคนเข้าสู่ตลาดงานในแต่ละปี เม็กซิโกกลับสร้างงานได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนความต้องการแรงงานต่อปีนับตั้งแต่ลงนามใน NAFTA เป็นต้นมา เมื่อมองดูโดยรวมทั้งหมดแล้ว สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายเพราะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ผลิตเพื่อตลาดภายในประเทศกลับล้มหายตายจากไปเป็นระนาว วงจรการควบรวมกิจการที่เร่งเร็วรี่เพราะมาตราส่งเสริมนักลงทุนใน NAFTA ในหลาย ๆ กรณีคือการที่บรรษัทข้ามชาติเข้ามาฮุบบริษัทท้องถิ่นของเม็กซิโก ถึงแม้สร้างงานเพิ่มได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่เบียดขับบริษัทในชาติออกจากวงจรธุรกิจ นำไปสู่การตัดลดการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคบริการ

สินค้าเกษตรนำเข้าจำนวนมหาศาลทำให้เกษตรกรราว 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น เนื่องจากธัญพืชที่ได้รับเงินทุนอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เข้ามาตีตลาดท้องถิ่นและตลาดภูมิภาค เมื่อมีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นน้อยมากในภาคการผลิตหรือภาคอื่น ๆ อดีตเกษตรกรจำนวนมากจึงจำใจต้องอพยพไปทำงานตามไร่นาในแคลิฟอร์เนีย แคโรไลนาหรือไอโอวา

นับตั้งแต่ NAFTA เศรษฐกิจของเม็กซิโกตั้งอยู่บนเสา 4 เส้าด้วยกัน นั่นคือ เศรษฐกิจนอกระบบ ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป (น้ำมันและก๊าซ) เงินส่งกลับประเทศจากแรงงานอพยพในสหรัฐอเมริกา และการลักลอบค้ายาเสพย์ติด หากบอกว่ารากฐานแบบนี้ง่อนแง่นยังออกจะน้อยไปด้วยซ้ำ

วิกฤตการณ์ตอร์ตีญา—ใครได้ ใครเสีย

วิกฤตการณ์ตอร์ตีญาเกิดได้อย่างไร คำตอบชี้ให้เห็นความเปราะบางของสังคมเม็กซิกันภายใต้เศรษฐกิจแบบ NAFTA ในงานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ อนา เด อีตา (Ana de Ita) แห่งศูนย์ศึกษาความเปลี่ยนแปลงในชนบทของเม็กซิโก อ้างเหตุผลสามประการที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้: 1) ราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นในตลาดระหว่างประเทศ เนื่องจากความต้องการข้าวโพดของสหรัฐฯ สูงขึ้นเพื่อนำไปผลิตเอธานอล 2) การเก็งกำไรของบรรษัทข้ามชาติผูกขาดที่ครอบงำตลาดข้าวโพดและตอร์ตีญาในเม็กซิโก 3) ข้อผูกมัดตาม NAFTA ที่ต้องเปิดภาคสินค้าเกษตรทั้งหมดใน ค.ศ. 2008 และการเปิดเสรีตลาดข้าวโพดมากขึ้นทีละขั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1994 ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้เม็กซิโกต้องพึ่งพิงการนำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐอเมริกา

การที่แป้งตอร์ตีญาขึ้นราคาอย่างพรวดพราดเป็นตัวอย่างชัดเจนที่ชี้ให้เห็นการโกหกคำโตของ "การค้าเสรี" เพื่อเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ คุณต้องโยนตำราเศรษฐศาสตร์ที่อธิบายเรื่องความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) ราคา และอุปสงค์-อุปทาน ทิ้งออกนอกหน้าต่างไปเสียก่อน แล้วไล่ตามเส้นทางของเงินแทน ต่อไปนี้คือคำอธิบายโดยสาระสำคัญถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตลอดปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ สหภาพยุโรป บราซิล และกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G8 ต่างประกาศแผนการใหญ่โตเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงเกษตร (agrofuel) แม้ว่าเชื้อเพลิงเกษตรสามารถผลิตจากส่วนผสมหลายอย่าง แต่ในสหรัฐอเมริกา เอธานอลที่ผลิตจากข้าวโพดมีมากที่สุด สหรัฐฯ เป็นผู้นำการผลิตในระดับโลกอยู่แล้ว อุปสงค์ต่อข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นเพื่อไปผลิตเชื้อเพลิงจึงดันราคาระหว่างประเทศให้สูงขึ้น

มีหลายกลุ่มวิจารณ์การใช้ที่ดินกับข้าวโพด ที่เปลี่ยนจากการผลิตอาหารมาผลิตเชื้อเพลิงแทน ข้าวโพดเป็นอาหารหลักไม่เฉพาะในเม็กซิโก แต่ตลอดทั่วทั้งเมโสอเมริกัน (Mesoamerica--ภูมิภาคอเมริกากลาง ตั้งแต่เม็กซิโกไปจนถึงนิการากัว) ตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อีกหลายประเทศ เมื่อบรรษัทข้ามชาติอย่างคาร์กิล (Cargill) และเอดีเอ็ม (ADM) เข้ามาในธุรกิจข้าวโพดกับเอธานอล โดยให้เช่าที่ดินและสร้างโรงกลั่นในประเทศอื่น ๆ ประเทศเหล่านี้ย่อมสูญเสียความสามารถในการผลิตข้าวโพดเพื่อเลี้ยงดูประชาชน อีกทั้งทรัพยากรทางการเกษตร ไม่ว่าน้ำสะอาด ดิน ปุ๋ย กลับถูกระดมมาใช้เพียงเพื่อให้รถวิ่งและสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ค้ารายใหญ่

ดังที่เหล่าแม่บ้านในตลาดอิซตาปาลาปาชี้ให้เห็น ราคาสินค้าบริโภคที่สูงขึ้นคือลางร้ายของความอดอยากในหมู่คนจน ในเม็กซิโก ปัญหาเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนขึ้นไปตามห่วงโซ่อาหาร เนื่องจากภายใต้ NAFTA ข้าวโพดนำเข้าจากสหรัฐฯ (ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจนมีราคาถูกกว่า) เข้ามาแทนที่อาหารสัตว์ประเภทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ เมื่อต้องพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ตอนนี้ราคาเนื้อก็พุ่งสูงขึ้นด้วย

การผลิตเชื้อเพลิงเกษตรคือปัญหาระยะยาวที่มีต่ออำนาจอธิปไตยทางอาหารและการเข้าถึงอาหารของผู้บริโภค แต่มันไม่ได้อธิบายวิกฤตการณ์ตอร์ตีญา ขณะที่ราคาข้าวโพดระหว่างประเทศค่อย ๆ ถีบตัวสูงขึ้น แต่ราคาข้าวโพดในตลาดเม็กซิกันกลับทะยานขึ้นไปลิบลับ

เมื่อราคาระหว่างประเทศเริ่มไต่ขึ้น ผู้นำเข้าและผู้ผลิตรายใหญ่จำนวนไม่กี่รายในเม็กซิโกมองเห็นโอกาสรวบตลาดมาไว้ในกำมือให้มากขึ้น จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทคาร์กิล บริษัท ADM-Maseca และผู้ผลิตแป้งข้าวโพดรายอื่น พากันกักตุนสินค้าเพื่อสร้างความขาดแคลนเทียมขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างดันราคาให้สูงขึ้น

ผลผลิตข้าวโพดในเม็กซิโกปีที่แล้วสูงมาก ไม่ได้มีความขาดแคลนแม้แต่น้อย บริษัทเหล่านี้ซื้อข้าวโพดในเม็กซิโกด้วยราคากดต่ำตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2006 เก็บเข้าโกดังไว้ แล้วใช้ราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นมาเป็นข้ออ้างขึ้นราคาในประเทศ แล้วนำออกขายในเดือนธันวาคมด้วยราคาสูงกว่าต้นทุนที่จ่ายไปถึงสองเท่า

เป้าหมายอีกประการหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้คือ ใช้การควบคุมอุปทานและราคามาเบียดขับโรงสีข้าวโพดท้องถิ่นดั้งเดิมออกไป ซึ่งมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของตลาดตอร์ตีญา ด้วยวิธีการนี้ บริษัทผลิตข้าวโพดเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่พยายามบีบให้โรงงานผลิตตอร์ตีญาหันมาใช้แป้งข้าวโพดที่ตนผลิตแทนที่จะซื้อแป้งจากโรงสีท้องถิ่น เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าไปเล่นอยู่ในการค้าข้าวโพดครบวงจร (นำเข้า ผลิต รับซื้อจากผู้ผลิตในประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตและตลาดค้าส่ง) บริษัทเหล่านี้จึงขายแป้งข้าวโพดในราคาถูกกว่า nixtamal (แป้งข้าวโพดที่ใช้ทำตอร์ตีญา) ที่ผลิตแบบดั้งเดิม และเสนอตอร์ตีญาที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมในราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่งให้แก่เครือข่ายค้าปลีก เพื่อตัดราคาในตลาดของผู้ผลิตท้องถิ่น

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าปราศจาก NAFTA ก่อนมีข้อตกลง NAFTA รัฐบาลเม็กซิกันมีบทบาทมาตลอดในการซื้อและกระจายข้าวโพดทั่วประเทศ ให้เงินทุนอุดหนุนราคาข้าวโพดเพื่อการบริโภคในเมือง และประกันราคาขั้นต่ำแก่ผู้ผลิต แม้ว่ารัฐบาลแทบไม่เคยใช้การควบคุมการนำเข้าที่อนุญาตให้ทำได้ภายใต้ NAFTA แต่รัฐบาลเม็กซิกันก็พอมีเครื่องมือบางอย่างเหลืออยู่ในการจัดการตลาด

ทว่าเมื่อใดที่การควบคุมการนำเข้าข้าวโพดถูกยกเลิกหมดสิ้นภายใต้ข้อตกลง NAFTA ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2008 ตลาดเม็กซิโก ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต จะตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มบรรษัทข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดและโลภโมโทสันที่สุดในโลก

สหรัฐอเมริกามีส่วนรับผิดชอบบ้างหรือไม่?

หลังจากข้อตกลง NAFTA ครบรอบ 10 ปี ธนาคารโลกแถลงข้อความเชิงปกป้องทำนองว่า "NAFTA ไม่ใช่โมเดลการพัฒนา" หลังจากหนึ่งทศวรรษของการยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อจิตวิญญาณและตัวอักษรของข้อตกลงการค้าและการลงทุน สถิติของเม็กซิโกพิสูจน์ให้เห็นความจริงของถ้อยแถลงธนาคารโลกข้างต้น ไม่ว่าจะปั้นแต่งอย่างไร ช่องว่างระหว่างความคาดหวังกับความเป็นจริงก็แตกต่างราวนรกกับสวรรค์

ทุกวันนี้ สหรัฐอเมริกาต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อความยากจน การว่างงาน และการอพยพไปหางานทำในต่างประเทศที่เกิดขึ้นในเม็กซิโก ลองพิจารณาเหตุผลต่อไปนี้:

§         เมื่อใช้ข้อตกลง NAFTA สหรัฐอเมริกาไม่เคยเสนอเงินชดเชยหรือเงินทุนสนับสนุนการปรับตัวของภาคส่วน ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจของสองประเทศมีช่องว่างห่างกันมหาศาล

§         รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งให้เงินช่วยเหลือแก่เม็กซิโกเฉลี่ยเพียงปีละ 40 ล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ในขณะที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ เก็บเกี่ยวผลกำไรเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งจากการเข้าไปเปิดธุรกิจในเม็กซิโกและแรงงานอพยพราคาถูกที่ลักลอบเข้ามาในสหรัฐอเมริกา

§         ไม่มีกลไกเป็นหลักประกันว่า บริษัทสหรัฐฯ ต้องจ่ายค่าแรงระดับยังชีพและสร้างสภาพการทำงานที่เหมาะสม ไม่มีกลไกดังกล่าวนี้เลยแม้แต่น้อย อีกทั้ง NAFTA ยังห้ามไม่ให้มีการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินกิจการ ซึ่งอาจช่วยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติกับเศรษฐกิจของเม็กซิโกมากกว่านี้

การกระจุกตัวของอำนาจและความมั่งคั่งทำให้เม็กซิโกมีสถานะเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก NAFTA ไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่ชาวเม็กซิกัน มันไม่ใช่โมเดลการพัฒนา ไม่ใช่แม้กระทั่งโมเดลทางเศรษฐกิจที่สร้างความยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้

การลงนามในข้อตกลงโดยไม่คำนึงถึงภาคส่วนที่อ่อนแอในระบบเศรษฐกิจเม็กซิโก แล้วจากนั้นก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นกับผลลัพธ์ที่เกิดตามมา นี่ไม่ใช่แค่ความไม่ยุติธรรม แต่มันส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน การมีผู้อพยพเข้ามาหางานทำจนควบคุมไม่ได้ก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง ถึงแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ของโลกาภิวัตน์ แต่ก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อคนจำนวนมากไม่มีทางเลือก ไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตนและต้องกลายเป็นอาชญากรในประเทศที่พวกเขาเข้าไปหางานทำ

การบรรเทาความไม่เท่าเทียม

ข้อตกลง NAFTA สัญญาว่าเม็กซิโกกับสหรัฐอเมริกาจะก้าวเข้ามาบรรจบกัน แต่คำสัญญานั้นไม่เกิดขึ้นจริง กุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่าเพราะอะไรอยู่ที่ ความไม่เท่าเทียม ข้อตกลงนี้สร้างความได้เปรียบมหาศาลแก่ภาคส่วนที่มีอำนาจที่สุดและความเสียเปรียบสุดคณานับแก่ภาคส่วนที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของเม็กซิโกในการแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงแนวโน้มในทั้งสองประเทศด้วย การวางหมากของข้อตกลงการค้าแบบนี้หมายความว่า บริษัทเล็ก ๆ จะตกเป็นเหยื่อของบริษัทใหญ่กว่า โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติ คนงานจะสูญเสียอำนาจคัดง้างต่อนายจ้าง อำนาจผู้บริโภคจะลดลงเพราะตลาดถูกผูกขาดมากขึ้น ในปัจจุบัน คนจนในเม็กซิโกเป็นผู้หญิงถึง 65% ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเข้ามาหาเลี้ยงชีพในเศรษฐกิจนอกระบบ หรือไม่ก็ทนอยู่ในหมู่บ้านที่กำลังล่มสลาย เลี้ยงดูครอบครัวด้วยเงินที่ส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งมาบ้างไม่ส่งมาบ้าง

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติที่นิยมการค้าเสรีไปสู่ทัศนคติที่เน้นการกำจัดความไม่เท่าเทียม นี่ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในเม็กซิโก ลักษณะความสัมพันธ์ที่เม็กซิโกมีกับสหรัฐฯ ทำให้ความไม่เท่าเทียมหนักข้อยิ่งขึ้น ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย นอกจากนี้ ภายในสหรัฐอเมริกาเอง ความไม่เท่าเทียมกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และความรุนแรงที่กระทำต่อแรงงานอพยพเป็นแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด

การวิวาทะเกี่ยวกับแรงงานอพยพในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักแสดงถึงปฏิกิริยาเชิงลบต่อชาวเม็กซิกัน ซึ่งรังแต่ตอกย้ำความเป็นปฏิปักษ์และความขัดแย้ง แต่ปัญหาและความรับผิดชอบที่มีร่วมกันหมายถึงการต้องร่วมมือกันและมองให้เห็นภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่มองแบบแยกเขาแยกเรา แต่ต้องมองให้เห็นภูมิภาคอันซับซ้อนและเชื่อมโยงกันแนบแน่น ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่มีสิทธิเท่าเทียมและความปรารถนาเฉกเช่นเดียวกัน

เชิงอรรถ
[1]
ลอรา คาร์ลเซน เป็นผู้อำนวยการของ Americas Policy Program ในกรุงเม็กซิโกซิตี

[2] Ningún progreso en México en los últimos 15 años: Banco Mundial," La Jornada, Sept. 21, 2007. World Bank Report "Mexico 2006-2012 creando las bases para el crecimiento equitativo.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท