Skip to main content
sharethis

วันที่ 12 ธ.ค.50 เวลา 7.00 น. ภาคประชาชนจากเครือข่ายต่างๆ อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย (สค.ปท.) เครือข่ายสลัม 4 ภาค สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครู สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และเครือข่ายพันธมิตรองค์กรประชาชน รวมทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปประมาณกว่า 1,000 คน ชุมนุมบริเวณหน้าอาคารสภา เพื่อปิดสภามิให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้ทำหน้าที่อีกต่อไป

ต่อมาเวลาประมาณ 9.00 น. ผู้ชุมนุมนำรถเครื่องเสียงเคลื่อนขบวนไปขวางทางเข้าออกสภาทั้ง 3 ทาง ปิดสภาโดยประชาชนอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี แม้จะปิดประตูทางเข้าทั้ง 3 ทางได้สำเร็จ แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังสามารถเข้าสู่ภายในอาคารรัฐสภาได้ผ่านทางประตูพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติช้างต้น (ติดกับพระที่นั่งวิมานเมฆ) ซึ่งเป็นประตูที่ไม่ค่อยได้เปิดใช้ เว้นแต่มีกิจกรรมพิเศษ อาทิ กิจกรรมวันเด็ก ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติสามารถเปิดสภาพิจารณากฎหมายต่อไปได้ตามปกติ

ประชาชนประกาศปิด "สนช."

หลังปิดประตูทางเข้าสภา 3 ทาง นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า วันนี้มาปิดสภาโดยวิธีอารยะ ด้วยสันติวิธี เพื่อให้สภาทราบว่า ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้กับการทิ้งทวนผลักดันกฎหมาย เช่น การเอากฎหมาย 40-60 ฉบับมาพิจารณาให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เพื่อเอาอำนาจข้าราชการมาปกครองแทนที่จะเสริมอำนาจประชาชน และเสียใจที่ที่ผ่านมา สนช.ได้ผ่านกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกทำลาย ในขณะที่กฎหมายที่ร้ายที่สุดกำลังจ่ออยู่ในสภา คือ พ.ร.บ. ความมั่นคง (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ....) ที่จะสถาปนาอำนาจทหารคู่รัฐบาลพลเรือนตลอดไป

นายจอน ยังกล่าวอีกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ควรจะเปลี่ยนชื่อจาก สนช. เป็น สนด. คือ สภาหน้าด้าน การมาแสดงพลังวันนี้เพื่อให้เห็นว่า รับไม่ได้กับการออกกฎหมายละเมิดสิทธิประชาชน โดยเฉพาะในขณะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในไม่กี่วันนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิก สนช. ที่เห็นแก่ประชาชนลาออกจากตำแหน่งด้วย จากนั้นจึงอ่านคำประกาศปิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติรักษาการ

 

ประกาศ

ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ หยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

ด้วยปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร ที่ยึดอำนาจการปกครองมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้กระทำการออกกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ระบบราชการและเพื่อประโยชน์ให้นายทุน แต่กลับทำลานสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน และกำลังจะนำพาสังคมไทยถอยหลังไปสู่ระบบอำมาตยาธิปไตยแทนที่การสร้างสรรค์ระบอบประชาธิปไตย เช่น การผลักดันร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เพื่อให้ทหารมีอำนาจครอบงำรัฐและสังคม ร่างกฎหมายป่าชุมชนและร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิกถอนสิทธิชุมชน ร่างกฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้หน่วยราชการผูกขาดเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสากิจ เพื่อแปรรูปรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตให้แก่กลุ่มทุนทั้งภายในและภายนอกประเทศ ร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ 6 มหาวิทยาลัย เพื่อแปรรูปมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นการบริหารโดยอาศัยกลไกตลาดที่ปิดกั้นผู้ยากไร้ให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา และร่างกฎหมายประกอบกิจการขนส่ง เพื่อโอนกิจการขนส่งให้นายทุน

พวกเรา มีความเห็นว่าการออกกฎหมายหลายฉบับดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและระบอบประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้ง โดยที่สภานิติบัญญัติชุดนี้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนสำหรับผลที่บังเกิดขึ้นแต่ประการใด ภายหลังจากพ้นตำแหน่ง

พวกเราเชื่อว่า หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ออกกฎหมายต่อไปก็จะเป็นการทำร้ายสังคมไทยจนยากต่อการแก้ไขเยียวยา ประกอบกับเวลาที่เหลืออยู่เพียง 13 วัน นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปก็จะมีการเลือกตั้ง เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้จึงไม่ควรทำหน้าที่อีกต่อไป

พวกเราในฐานะพลเมืองของประเทศไทย จึงขอใช้สิทธิประกาศ "ปิดสภานิติบัญญัติรักษาการ เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน"

ประกาศ วันที่ 12 ธันวาคม 2550
ณ บริเวณหน้ารัฐสภา

 

"สุรพล" โต้พวกเกลียดตัวกินไข่

รศ.ดร.สุรพล นิตไกรพจน์ สมาชิก สนช.ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมว่า หากผู้ที่มาชุมนุมจะบอกว่าสภานี้ไม่มีความชอบธรรมเพราะมาจากคณะรัฐประหารนั้นก็แสดงว่าไม่มีความชอบธรรมแต่ต้น แต่ขอถามว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น กฎหมายออกมาจากไหน สนช.ชุดนี้เป็นผู้ผ่านกฎหมายให้มีการเลือกตั้ง สังคมไทยต้องมีคนมาทำหน้าที่นิติบัญญัติ ไม่ใช่ไม่พอใจกฎหมายบางฉบับแล้วออกมาบอกว่า สนช.ไม่ชอบธรรม การพูดเช่นนี้เหมือนเกลียดตัวกินไข่ อย่างไรก็ตาม การประท้วงของภาคประชาชนในครั้งนี้ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ที่ประชุม สนช.จะพิจารณากฎหมายฉบับต่างๆ น.ส.พจนีย์ ธนวราณิช รองประธานคนที่ 1 ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้แจ้งแก่สมาชิกว่า รศ.สุริชัย หวันแก้ว ได้ลาออกจากการเป็นสมาชิก สนช.แล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. โดยประธานไม่ได้แจ้งเหตุผลของ รศ.สุริชัย ต่อที่ประชุมแต่อย่างใด

ขณะที่ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น กล่าวว่า ในกรณีการลาออกของ รศ.สุริชัย นั้นยังไม่เพียงพอ แต่ควรขอโทษต่อประชาชนที่ไปเป็นส่วนสร้างความชอบธรรมให้คณะรัฐประหาร เป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับเผด็จการ พร้อมกับเรียกร้องให้บริจาคเงินเดือนที่ได้รับในการดำรงตำแหน่ง สนช.เข้ากองทุนวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เนื่องจากเป็นภาษีของประชาชน

ปีนรั้วสภา ไปบอก "สนด." ว่า "วันนี้ไม่มีประชุมสภา"

จนกระทั่ง เวลาประมาณ 11.30 น. นายจอนและแกนนำเครือข่ายต่างๆ อาทิ สารี อ๋องสมหวัง (มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค), สุภิญญา กลางณรงค์ (เลขาธิการ คปส.), วสันต์ สิทธิเขตต์ (เครือข่ายศิลปิน), นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ (กลุ่มเพื่อนประชาชน), นายไพโรจน์ พลเพชร (ส.ส.ส.), นายสาวิตย์ แก้วหวาน (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) รวมทั้งผู้มาร่วมชุมนุมได้นำบันไดไม้ไผ่มาพาดเพื่อพยายามปีนข้ามรั้วเข้าไปในสภา โดยชุดแรกที่ปีนข้ามไปได้ประมาณ 20 คนได้วิ่งตรงเข้าไปหน้าอาคารสภาอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เฝ้าประตูจึงรีบวิ่งไล่ตามทำให้บริเวณรั้วไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแลมากนัก ผู้ชุมนุมชุดต่อๆ มาจึงปีนเข้าไปในสภาได้สำเร็จประมาณ 60 คน โดยแกนนำระบุว่าการปีนรั้วเข้าไปในสภาครั้งนี้ต้องการเข้าไปบอกแก่ สนช. ว่า "วันนี้ไม่มีประชุมสภา"

ขณะที่ภายในห้องประชุมในระหว่างที่มีการประชุม นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. ได้ขอหารือถึงสถานการณ์การชุมนุมว่า ค่อนข้างรุนแรง จึงขอให้ปิดประชุมก่อนจนกว่าจะมีการเจรา ซึ่ง น.ส.พจนีย์ ธนวราณิช รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานได้ตอบว่า ไม่ทราบว่า ใครเป็นคนไปเจรจา เรายังทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า สนช.ต้องทำหน้าที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.และต้องประชุมไปจนกว่าจะมีการเปิดประชุมรัฐสภา อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการสอบถามความเห็นที่ประชุมว่าควรจะเปิดประชุมต่อไปหรือพักการประชุมไว้ก่อน ที่ประชุมก็ลงมติว่าให้เลื่อนการประชุมออกไป หลังจากที่ภายนอกผู้ประท้วงได้ปักหลักชุมนุมหน้าห้องประชุมแล้วกว่า 10 นาที

"ครูหยุย" รับประสานประธานสภา ยันอยู่มีประโยชน์กว่าลาออก

ในระหว่างการประท้วงด้านนอกห้องประชุม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ออกมาหารือกับแกนนำผู้ชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอะไร ซึ่งนายจอนได้ให้รายละเอียด ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนเรียกร้องให้นายวัลลภลาออกจากตำแหน่งสมาชิก สนช.

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังถามถึงองค์ประชุมว่าครบหรือไม่ นายวัลลภยืนยันว่า ครบมีผู้มาประชุม 140 กว่าคน และตนได้เสนอให้ประธานสภาเลื่อนการประชุมออกไปเพราะสถานการณ์ตึงเครียด นอกจากนี้ยังเสนอด้วยว่าไม่ควรพิจารณากฎหมายใหม่ที่เข้ามาเป็นวาระแรกจำนวน 15 ฉบับ แต่ให้พิจารณากฎหมายที่ยังค้างวาระ 2 และ 3 เท่านั้น

ส่วนเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอให้ สนช. ลาออกนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ถึงลาออกก็ไม่มีประโยชน์ แต่เห็นด้วยว่ากฎหมายหลายฉบับเป็นเรื่องใหญ่ที่ควรต้องถกเถียงกันกว้างขวาง ไม่ควรเร่งพิจารณา อย่างไรก็ดี ตนจะเป็นสะพานเชื่อมนำข้อเรียกร้องต่างๆ หารือกับประธานสภา

"ครูแดง" เสนอส่งตัวแทนเจรจา "จอน" ยอมถ้าถอน "พ.ร.บ. ความมั่นคง"

นอกจากนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ สนช. ได้ออกมาเยี่ยมผู้ชุมนุม และกล่าวว่า อยากให้มีการคุยกันระหว่างภาคประชาชนกับ สนช. เพราะเห็นว่าข้อเรียกร้องของภาคประชาชนมีเหตุผล สนช.เองก็พิจารณากฎหมายในช่วงใกล้เลือกตั้งมากเกินไป โดยมีกฎหมายบางฉบับที่ภาคประชาชนห่วงกังวลอย่างยิ่ง ดังนั้นจะเสนอสมาชิกเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจากับตัวแทนผู้ชุมนุม

เมื่อสื่อมวลชนถามถึงข้อเรียกร้องภาคประชาชนที่ต้องการให้สมาชิก สนช. ลาออกเพื่อแสดงสปิริต นางเตือนใจตอบว่า การลาออกไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะถึงลาออกองค์ประชุมก็ยังทำงานต่อไปได้ แต่ถ้ายังอยู่จะสามารถผลักดันกฎหมายดีๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น พ.ร.บ.สัญชาติ หรือ พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร ซึ่งผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว

ขณะที่จอนตอบประเด็นข้อเสนอในการเจรจาว่า ไม่รู้จะเจรจาอะไรกับ สนช. เพราะเราเรียกร้องให้ สนช. ปิดหรือยุติบทบาท และที่สำคัญคือภาคประชาชนรู้ดีว่าที่ประชุม สนช. ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ก็เพราะต้องการผลัก พ.ร.บ. ความมั่นคงออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการประกาศถอน พ.ร.บ. ความมั่นคงจากการพิจารณาอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะชน ก็จะยอมเจรจา

"มีชัย" แถลงยัน "สนช." ต้องทำหน้าที่ต่อตาม รธน.กำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. ที่อยู่ระหว่างการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลได้โทรศัพท์สอบถามเหตุการณ์ตลอดเวลา จากนั้นได้รีบเดินทางเข้ามาที่รัฐสภา พร้อมกับเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นางสุวิมล ภูมิสิงหราช เลขาธิการสนช. ผู้อำนวยการอาคารสถานที่ของ สนช.และสภาผู้แทนราษฏร นายวิษณุ เครืองาม สนช. พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ท. วัชพล ประสารราชกิจ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจกองปฏิบัติการพิเศษ 191 พ.ต.อ.ปรัชญ์ชัย ใจชาญสุขกิจ ผู้กำกับการสน.ดุสิต เพื่อหาทางรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง

ในที่ประชุมนายมีชัย เสนอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากบริเวณอาคารรัฐสภา เพื่อเปิดประชุมต่อในเวลา 13.30 น. แต่มีผู้ท้วงติงว่า อาจเกิดการกระทบกระทั่งจนบานปลายได้ ในที่สุดนายมีชัยได้ตัดสินใจเปิดแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าว ขอเลื่อนการประชุมไปโดยไม่มีกำหนด

ระหว่างการแถลงข่าว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ และยืนยันว่าในวันนี้จะไม่มีการประชุม สนช.ต่อไป ส่วนจะมีการประชุมอีกเมื่อใดนั้น ไม่สามารถระบุได้ โดยต้องพิจารณาไปตามภารกิจ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ สนช.ในการพิจารณากฎหมาย เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.ต้องทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาใหม่ และที่ผ่านมาไม่ได้มีการเร่งรัดการพิจารณากฎหมาย หรือตั้งเป้าในการพิจารณากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นพิเศษ ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ สนช.ลาออกนั้น เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการตั้งรัฐบาลใหม่ เพราะมีผลผูกพันหน้าที่เอาไว้ตามรัฐธรรนูญ แต่เห็นว่าหากกฎหมายใดที่มีความไม่พอใจ ก็สามารถให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกหรือแก้ไขได้

สำเร็จชั่วคราว "ปิดสภา" 1 วัน

หลังจากประชาชนปักหลักชุมนุมกดดันต่อตลอดช่วงบ่าย จนนายมีชัยแถลงยืนยันการปิดการประชุมในวันนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าไปประท้วงประชิดห้องประชุมได้กลับออกมาด้านนอก และจอนได้ขึ้นแถลงบนเวทีปราศรัยหน้าสภาว่า เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่กดดันจน สนช.ไม่มีการประชุมในวันนี้ แต่ไม่ใช่ความสำเร็จในขั้นสุดท้ายคือการปิด สนช.ถาวร อย่างไรก็ตาม ประชาชนได้เรียนรู้ว่าทำให้เขาประชุมได้ด้วยความจริงใจของพวกเราที่รับไม่ได้กับกฎหมายอุบาทว์และครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สามารถบุกเข้าได้ถึงห้องประชุมสภา

"ประธาน สนด. แถลงอย่างหน้าด้านว่ามีหน้าที่พิจารณากฎหมายต่อ ซึ่งคนๆ นี้ไม่เคยได้รับเลือกจากประชาชนคนไหนเลย แต่รับใช้รัฐเผด็จการได้ทุกรัฐบาล ดังนั้นต้องมีการพบกันอีก ต้องมีประชาชนมากกว่านี้ ชัยชนะนี้ต้องออกสื่อทุกแบบทั่วประเทศ กฎหมายถ้าริดรอนสิทธิเสรีภาพ ประชาชนยอมไม่ได้"

นายจอน กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อเรียกร้องให้สมาชิก สนช.ลาออกนั้นคือจุดที่จะบอกว่าใครอยู่ข้างประชาชน ใครอยู่ข้างเผด็จการ และอย่างน้อยการที่ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ประกาศลาออก (11 ธ.ค.) ก็เป็นการแสดงออกว่าอยู่ข้างประชาชน แต่ใครที่ไม่ลาออกแสดงว่ามีจิตใจเผด็จการและเราจะสู้ต่อไป

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนายจอนเข้าพบที่ทำเนียบในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) เนื่องจากกังวลว่าการประท้วงอาจลุกลามเกิดความรุนแรง และอาจเป็นเงื่อนไขที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธ.ค.นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net