Skip to main content
sharethis

            


เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.  เวลาประมาณ14.00 น. ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน (รวมถึงทายาทและพยาน) ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เพื่อยื่นหนังสือและขอให้แก้ไขปัญหาการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีทางวะกัฟที่ไม่ถูกต้อง โดยนายมะแซ มามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา รักษาการแทนประธานฯได้ออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง


 


อุซตาซนาซอรี  หวะหลำ ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน(รวมถึงทายาทและพยาน) ได้กล่าวถึงข้อความในหนังสือที่ยื่นต่อรองประธานคณะกรรมการฯ และรักษาการแทนฯว่า จากการที่ประชาชนในพื้นที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อให้มีการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา กรณีเส้นทางวะกัฟ ซึ่งเป็นที่ดินอยู่ระหว่างตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา อันเป็นที่ดินที่ชาวมุสลิมอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่กลับถูกบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลซีย (ประเทศไทย) จำกัด บุกรุก เปลี่ยนแปลงสภาพ ปิดกั้น และครอบครองเข้าใช้ประโยชน์ เพื่อก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย จนกระทั่งประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการสัญจรไป-มา เพื่อดำรงวิถีเกษตรกรรมได้ดังเดิม  แต่จนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาแต่อย่างใดนั้น


 


ต่อมารัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร ในสมัยนั้น ได้ออกมารับรองความชอบธรรมให้กับการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯ  ด้วยการประกาศพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันหมายถึงเส้นทางวะกัฟ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2549 โดยอ้างอิงถึงหลักศาสนาและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินวะกัฟตามคำวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งส่งถึงผู้จัดการใหญ่บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลซีย (ประเทศไทย) จำกัด ว่า "ไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทางสาธารณะดังกล่าวได้มาโดยการวะกัฟของชาวมุสลิม" ทั้งที่ กลุ่มของทายาท (วาเรส) พยาน พร้อมที่จะให้ปากคำเพื่อยืนยันความจริง ในเมื่อองค์ประกอบและเงื่อนไขการวะกัฟตามหลักศาสนาไม่จำเป็นต้องเป็นเอกสารเสมอไป แต่ด้วยการได้ยินถ้อยคำวะกัฟ ที่เรียกว่า "ซีเฆาะ" ของผู้วะกัฟโดยมีทายาท (วาเรส) และพยานบุคคล พร้อมสาบานว่าคือความจริง นั้นก็เพียงพอแล้ว และที่สำคัญสำนักจุฬาราชมนตรีอ้างว่าการวินิจฉัยครั้งนี้ ได้พิจารณาจากรายงานการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาอีกด้วย


 


อุซตาซนาซอรี กล่าวอีกว่า เป็นที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งแล้วว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางวะกัฟจริง จากการที่ทายาท (วาเรส) ของผู้วะกัฟ และพยานออกมายืนยัน ชี้แจงข้อเท็จจริง และจัดเวทีต่อสาธารณชนหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ปัญหา "ที่ดินวะกัฟ" กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   ซึ่งมีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วม   รวมถึงผู้รู้ทางศาสนาในพื้นที่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีตัวแทนจากสำนักจุฬาราชมนตรีมาร่วมสัมมนา โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่ากระบวนการสอบสวนอันนำไปสู่คำวินิจฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรีนั้นไม่ถูกต้อง ดังปรากฏตามหลักฐานที่ยื่นมานี้ ซึ่งการที่มีพระราชกฤษฎีกา อันเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังของรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตรนั้น เป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ         ทั้งที่เป็นการกระทำอันขัดแย้งกับหลักการศาสนาอย่างรุนแรง นั่นหมายถึงฮูกมของอัลลอฮฺถูกทำลาย บทบัญญัติอัลกุรอ่านอันบริสุทธิ์ถูกย่ำยีด้วยน้ำมือรัฐ  เพียงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผลประโยชน์ของนายทุนข้ามชาติ ในฐานะชาวมุสลิม ทุกคนจึงมีหน้าที่ จะต้องออกมาปกป้อง ดังนั้นภารกิจสำคัญร่วมกันของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา  ชุมชน และพวกเรากลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน (รวมถึงทายาทและพยาน)  คือ ร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่นำมาสู่คำตอบต่อกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดกฎเกณฑ์ทางศาสนา และก่อให้เกิดความชอบธรรมในหลักการนิติศาสตร์อิสลามต่อไป


 


เขากล่าวอีกว่า จึงขอให้ทางคณะกรรมการฯสรุปการสอบสวน กรณี เส้นทางวะกัฟใหม่ให้ถูกต้อง และแจ้งเหตุผลข้อมูลดังกล่าว  พร้อมกับเอกสารหลักฐานต่างๆ  ให้กับสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อให้ทบทวนแก้ไขคำวินิจฉัย  อันจะนำไปสู่การดำเนินการขอให้มีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกต่อไป    โดยทายาท (วาเรส)  พยานของผู้วะกัฟ  ผู้รู้ทางศาสนา รวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบลพร้อมที่จะร่วมประชุมหารือ  ชี้แจงข้อเท็จจริง ตามหลักการศาสนาที่ถูกต้อง


 


นายมะแซ มามะ รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และรักษาการแทนประธานฯ ได้ออกมารับหนังสือ พร้อมกล่าวว่า ตนยอมรับว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้มาตั้งแต่ปี 2546 และจะรีบดำเนินการโดยนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาอย่างอย่างเร่งด่วน เพื่อสรุปผลใหม่ในการจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง


 


ทั้งนี้อกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน(รวมถึงทายาทและพยาน) ประกอบไปด้วยโต๊ะครูสอนศาสนา และผู้รู้ทางศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่ ครูเฉม สะอุ อุซตาซนาซอรี หวะหลำ อุซตาซมูฮัมมัดสุกรี มอลอ อุซตาซ อับดุลราซัค หมีนยะลา เป็นต้น ซึ่งรวมตัวกันเพื่อพยายามสร้างความเข้าใจให้กับสังคม และแก้ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งในข้อกำหนดของกฎหมายกับหลักการศาสนาอิสลาม เพื่อคลี่คลายการละเมิดสิทธิชุมชน ละเมิดกฎเกณฑ์ทางศาสนา และก่อให้เกิดความชอบธรรมในหลักการนิติศาสตร์อิสลามต่อไป


 


และหลังจากนี้จะร่วมกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่ที่ดินวะกัฟถูกแปรสภาพให้กับบริษัท ทรานส์ฯ ไปยื่นหนังสือที่สำนักจุฬาราชมนตรี  ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ส่งผลต่อการแก้กฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร


 


  


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net