Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


เพียงพ่ายแพ้สักครั้ง ทหารอ่อนหัดก็ท้อใจนึกว่าปราชัยราบคาบแล้ว เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ความกล้าหาญ ความสามารถและความไม่ระย่อ ย่อมแก้ไขโชคร้ายให้กลายเป็นดีได้


--ซีโมน โบลิวาร์, แถลงการณ์แห่งเมืองคาร์ตาเฮนา


 


ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ และการปฏิวัติโบลิวาร์ต้องประสบความปราชัยครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลังจากมีชัยเด็ดขาดในการลงคะแนนเสียงระดับชาติและท้องถิ่นถึง 12 ครั้ง ทว่าการลงคะแนนเสียงครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นครั้งที่ชาเวซบอกว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการหยั่งรากสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ในเวเนซุเอลา เขากลับพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดชนิด "ต้องใช้รูปถ่ายตัดสิน"


การลงประชามติครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชน "รับ" หรือ "ไม่รับ" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแบ่งออกเป็น 2 บล็อกด้วยกัน บล็อก A เป็นข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 33 มาตรา ของประธานาธิบดีชาเวซ โดยผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมจากสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว ส่วนบล็อก B เป็นข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 26 มาตรา โดยสมัชชานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้เสนอเอง ผู้ลงประชามติจะลงคะแนน "รับ" หรือ "ไม่รับ" ในแต่ละบล็อกแยกจากกัน


ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบล็อก A แพ้โหวตด้วยคะแนน "ไม่รับ" 4,504,354 คะแนน หรือ 50.70% และคะแนน "รับ" 4,379,392 คะแนน หรือ 49.29% ส่วนบล็อก B ข้อเสนอแก้ไขแพ้ไปด้วยคะแนน 51.0% ต่อ 49.0% โดยมีประชาชนไม่ยอมมาลงคะแนนเสียงถึง 45% ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งหรือการลงประชามติครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา


ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญบล็อก A ของประธานาธิบดีชาเวซจึงแพ้ไปด้วยส่วนต่างของคะแนนเสียงเพียง 1.4% จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 9 ล้านคน และเมื่อคำนึงถึงจำนวนผู้ไม่มาลงคะแนนเสียงคราวนี้ถึง 45% นั่นหมายความว่า มีเพียง 28% ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมดที่คัดค้านข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้


ท่ามกลางเสียงโห่ร้องประกาศชัยชนะของฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและการประโคมข่าวอย่างชื่นมื่นของสื่อกระแสหลักตะวันตก พลพรรคชาวฝ่ายซ้ายที่ยึดเวเนซุเอลาเป็นหัวหอกของการปฏิวัติสังคมนิยมด้วยกระบวนการประชาธิปไตยถึงกับนิ่งอึ้งตะลึงไปตามๆ กัน เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ตลอดจนการทำนายของผู้สันทัดกรณีฝ่ายซ้ายทั้งหลาย ต่างเชื่อว่าประธานาธิบดีชาเวซจะชนะอย่างฉิวเฉียด อย่าว่าแต่ฝ่ายซ้ายเลย แม้แต่ฝ่ายขวาในเวเนซุเอลาก็ประเมินสถานการณ์ไว้แบบเดียวกัน ถึงขนาดมีบางกลุ่มจัดทำเสื้อยืดสกรีนคำว่า "โกง" เตรียมไว้ใส่ประท้วงรัฐบาลแล้วด้วยซ้ำ


คำถามที่ลอยละล่องอบอวลในบรรยากาศหงอยๆ ของฝ่ายซ้ายจึงเต็มไปด้วยคำว่า "ทำไม?" "เกิดอะไรขึ้น?" "ชาเวซอยู่ในช่วงขาลงแล้วหรือ?" "หรือการปฏิวัติโบลิวาร์เสื่อมมนตร์ขลังเสียแล้ว?"


 


ปริศนาของอูโก ชาเวซ (ภาค 4)
ฝ่ายค้านคิดว่าชาเวซจะชนะ ฝ่ายซ้ายคิดว่าชาเวซจะชนะ สื่อมวลชนกระแสหลักคิดว่าชาเวซจะชนะ รัฐบาลคิดว่าตนเองจะชนะ ประชาชนชั้นล่างที่เชื่อมั่นในชาเวซก็คิดว่า ฝ่ายตนจะชนะการลงประชามติเหมือนทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา หลังจากการนับคะแนนผ่านไปเรื่อยๆ และมองเห็นแนวโน้มแล้วว่า เสียงโหวต "ไม่รับ" จะได้ชัยชนะในครั้งนี้ ที่ลานหน้าทำเนียบมิราฟลอเรส มองเห็นแต่คราบน้ำตาและศีรษะก้มต่ำของประชาชนที่เริ่มเคยชินกับรสชาติของชัยชนะและไม่ได้ลิ้มรสฝาดปร่าของความพ่ายแพ้มายาวนานเกินไป


เวลา 1:00 น. ของเช้าวันจันทร์ ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซออกมาปราศรัยยอมรับความพ่ายแพ้ หมากตานี้นับว่าผิดคาดของทุกฝ่าย เพราะการนับคะแนนยังไม่ได้ผลสรุปอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ แต่ชาเวซแสดงท่าทีให้เห็นชัดเจนว่า เขาจะไม่ยื้อต่อไปและยอมรับความพ่ายแพ้ทุกประการโดยดี ไม่ต่างจากเมื่อครั้ง ค.ศ. 1992 ที่เขาออกมายอมแพ้เมื่อแน่ใจแล้วว่า การรัฐประหารไม่ประสบความสำเร็จ


คำพูดของชาเวซคือปริศนาที่น่าสนใจเสมอ เขากล่าวถึงความพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดชนิดต้องใช้รูปถ่ายตัดสิน แสดงความยินดีที่การลงประชามติครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยความเรียบร้อยโดยไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ แสดงให้เห็นว่าชาวเวเนซุเอลามีความเชื่อมั่นในรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง เขากล่าวขอบคุณประชาชนทุกคนที่ลงคะแนนสนับสนุน รวมทั้งขอบคุณประชาชนทุกคนที่ลงคะแนน "ไม่รับ" ข้อเสนอของเขาด้วย เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ประชาชนกลุ่มที่เคยต่อต้านและไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1999 บัดนี้ได้ออกมาลงคะแนนปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว


ชาเวซบอกว่า ก่อนออกมาปราศรัย เขาสองจิตสองใจอยู่นานหลายชั่วโมง ใจหนึ่งก็อยากรอให้ผลการนับคะแนนเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการเสียก่อน แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ทุกคนต้องรอยืดเยื้อต่อไปท่ามกลางความตึงเครียด เขารู้สึกดีใจมากๆ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งบอกเขาว่า การนับคะแนนที่ดำเนินไปเกือบ 90% นั้น ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนเด็ดขาดและไม่มีทางพลิกผันอีก การแพ้อย่างเด็ดขาดย่อมดีกว่าชนะอย่างไม่เด็ดขาด อย่าให้การลงประชามติของเวเนซุเอลาเป็นเหมือนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ! หลังจากนี้เขาจะนอนหลับสนิท ขอให้ประชาชนกลับบ้านพักผ่อนกับครอบครัว ส่วนใครที่อยากฉลอง เชิญฉลอง!


ชาเวซเตือนฝ่ายตรงข้ามด้วยว่า จัดการกับชัยชนะของตัวเองให้ดี มองดูชัยชนะของตัวเองในเชิงคณิตศาสตร์ให้รอบคอบด้วย ถ้าเป็นเขา เขาคงไม่อยากได้ชัยชนะแบบฉิวเฉียดเช่นนี้! เขาขอแสดงความยินดีกับฝ่ายตรงข้าม แต่อย่าลืมว่า สนามรบนี้ยังมีอีกยาวไกล


เพราะ "สำหรับในตอนนี้ (For Now) เท่านั้นที่เรายังทำไม่สำเร็จ แค่ตอนนี้เท่านั้น"


ชาเวซกำลังพาดพิงถึงคำพูดอันมีชื่อเสียงและเป็นคำพูดที่ทำให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมา ขณะที่เขายังเป็นทหารและพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลวใน ค.ศ. 1992 เขาออกมาแถลงการณ์ยอมรับความพ่ายแพ้ "สำหรับในตอนนี้" อันบ่งบอกถึงความไม่ย่อท้อและความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาชัยชนะอีกครั้งในอนาคต


ชาเวซกล่าวอีกว่า การลงประชามติครั้งนี้ควรเป็นบทเรียนสำหรับชาวเวเนซุเอลาทุกคน ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้าม เขาขอให้ฝ่ายค้านยึดมั่นในหนทางประชาธิปไตยและละเลิกแผนการสร้างความวุ่นวายภายในประเทศเสีย เวเนซุเอลาต้องเติบใหญ่ทางการเมืองเสียที เวเนซุเอลาคือประเทศประชาธิปไตย ไม่มีรัฐบาลเผด็จการที่นี่


เขาตบท้ายว่า เขาจะไม่ถอนข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ "แม้แต่จุลภาคเดียว" ข้อเสนอนี้ "ยังอยู่" นี่ไม่ใช่การพ่ายแพ้ นี่เป็นแค่ "สำหรับในตอนนี้" อีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง "เรารู้จักยอมรับช่วงเวลาลำบาก ช่วงเวลายากเข็ญ ยิ่งกว่านั้น ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เรารู้จักแปรเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้กลายเป็นชัยชนะทางจริยธรรม ซึ่งจะกลายเป็นชัยชนะทางการเมืองในที่สุด"


(คำปราศรัยของชาเวซยาวกว่านี้มาก เขาเป็นนักการเมืองที่พูดได้จับใจคนจริงๆ ตอนจบยังอ้างถึงฌอง ฌาคส์ รุสโซด้วย ผู้อ่านท่านใดสนใจสามารถหาอ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.venezuelanalysis.com/analysis/2978)


(หมายเหตุ: วลี "For Now!" ที่กลายเป็นคำพูดประจำตัวของชาเวซ ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงประโยค "I"ll be back!" ที่เป็นคำพูดประจำตัวของอาร์โนลด์ ชวาร์ซเนกเกอร์ในหนังที่เขาแสดง)


 


ภาพจริงภาพลวงของชาเวซและเวเนซุเอลา
สื่อมวลชนฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและสื่อมวลชนกระแสหลักของตะวันตกร่วมมือกันบิดเบือนภาพของชาเวซและเวเนซุเอลาจนห่างไกลจากความเป็นจริงมาก มีความเชื่อที่ไม่มีมูลความจริงรองรับหลายประการ ซึ่งการลงประชามติครั้งนี้ช่วยชี้ให้เห็นภาพลวงของความเชื่อดังกล่าว


ภาพลวงประการที่ 1: ชาเวซเป็นเผด็จการ
ฝ่ายซ้ายและผู้สนใจการเมืองเวเนซุเอลาหลายคนพยายามโต้แย้งสื่อกระแสหลักตะวันตกมาระยะหนึ่งแล้วว่า ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซขึ้นครองอำนาจตามวิถีทางประชาธิปไตย และตลอดเวลาที่เขาดำรงตำแหน่ง เขาปกครองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยจริงๆ แต่ข้อโต้แย้งนี้อาจเชื่อถือได้ยาก เพราะชาเวซอยู่ฝ่ายชนะมาตลอด การพ่ายแพ้ประชามติครั้งนี้และการที่ชาเวซออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วและไม่เงื่อนไข จึงทำลายภาพลวงที่ว่า ชาเวซเป็น
"เผด็จการ" หรือ "ทรราช" ลงโดยสิ้นเชิง


ภาพลวงว่าชาเวซเป็นเผด็จการเป็นกลยุทธ์ที่มีประโยชน์ต่อฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและรัฐบาลบุชเสมอ แม้กระทั่งหลังจากชาเวซออกมาปราศรัย ก็ยังมีการปล่อยข่าวลือว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของเวเนซุเอลาแกล้งถ่วงผลการนับคะแนน เพราะชาเวซไม่ยอมรับผลคะแนนที่ออกมา หรือข้อกล่าวหาว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งเปลี่ยนผลคะแนนให้ฝ่ายค้านชนะด้วยคะแนนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง


วิเซนเต ดิอัซ หนึ่งใน กกต. ของเวเนซุเอลา ซึ่งจัดเป็นคนหนึ่งที่ค่อนข้างเข้าข้างฝ่ายค้านมาตลอด ถึงกับออกมาแสดงเหตุผลและหลักฐานว่า คำกล่าวหาเหล่านี้ไม่มีมูลความจริงโดยสิ้นเชิง ความล่าช้าของผลการนับคะแนน สืบเนื่องมาจากข้อตกลงเบื้องต้นของสองฝ่ายว่า จะรอให้นับคะแนนถึง 90% เสียก่อนค่อยประกาศผล การนับคะแนนมีตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายมาสังเกตการณ์ และคะแนนอย่างเป็นทางการทั้งในระดับรัฐ เทศบาล ศูนย์อำนวยการลงคะแนน และหน่วยลงคะแนนทั้งหมด มีการนำออกแสดงในเว็บไซต์ของ กกต. ดิอัซกล่าวประณามคนที่ปล่อยข่าวลือว่า "โกหก"


การที่ชาเวซออกมายอมรับความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วช่วยส่งเสริมภาพพจน์ของเขาในระดับนานาประเทศ ผู้นำหลายคนในภูมิภาคละตินอเมริกาออกมาชมเชยความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยของชาเวซ แต่สื่อมวลชนตะวันตก เช่น BBC ก็ยังไม่วายออกมาจับผิดชาเวซในเรื่องเล็กเรื่องน้อย รวมไปถึงอ้างข่าวลือว่าชาเวซจำใจยอมรับผลการลงประชามติเพราะถูกกองทัพบีบ เป็นต้น


จะชอบหรือไม่ชอบอูโก ชาเวซ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ของเขา แต่สื่อควรยอมรับเสียทีว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีของอูโก ชาเวซ ตั้งอยู่บนระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่มีข้อสงสัย


ภาพลวงประการที่ 2: การเลือกตั้งของเวเนซุเอลาไม่โปร่งใสและรัฐบาลชาเวซโกงหรือครอบงำการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง
อันที่จริง การเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้งของเวเนซุเอลามีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ ครั้งนี้ก็เช่นกัน มีผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติกระจายตามจุดต่างๆ ราว 100 คน นอกจากนี้ ฝ่ายค้านเองก็จัดคนสังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกครั้ง และไม่เคยหาหลักฐานแสดงความทุจริตได้เลย


กระบวนการเลือกตั้งของเวเนซุเอลามีความโปร่งใสไม่แพ้ประเทศตะวันตกอย่างอังกฤษ และจะว่าไปแล้วก็ดีกว่าสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ เวเนซุเอลามีระบบนับคะแนนเสียงที่ดีมาก แม้จะใช้เครื่องลงคะแนนเสียงอิเล็กทรอนิกส์เหมือนสหรัฐอเมริกา แต่ชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงกับเครื่องโดยไม่มีบันทึกที่เป็นกระดาษ นำไปสู่ข้อครหาของการบิดเบือนคะแนนเสียงที่ฟลอริดาและโอไฮโอในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวเวเนซุเอลาลงคะแนนเสียงโดยเลือกที่เครื่องนับคะแนนก่อน เครื่องจะบันทึกและพิมพ์กระดาษเป็นเอกสารยืนยันออกมา จากนั้นผู้ลงคะแนนจึงหย่อนกระดาษนั้นลงในหีบบัตร ในการนับคะแนนของ กกต. จะมีการสุ่มตัวอย่างหีบบัตรมาราว 54% และนับดูว่ากระดาษลงคะแนนในหีบตรงกับคะแนนในเครื่องหรือไม่ ด้วยวิธีนี้ การโกงคะแนนเสียงจึงทำได้ยากมาก


การสำรวจความคิดเห็นใน ค.ศ. 2007 ของบริษัทสำรวจความคิดเห็นจากประเทศชิลี เวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ประชาชนพอใจในระบอบประชาธิปไตยของตนสูงสุดในละตินอเมริกา สูงถึง 59% เมื่อเปรียบเทียบกับชาวละตินอเมริกาในประเทศอื่นๆ ที่พอใจเพียง 37%


ภาพลวงประการที่ 3: ไม่มีเสรีภาพของสื่อมวลชน ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเวเนซุเอลา
ฝ่ายค้านในเวเนซุเอลาและสื่อมวลชนตะวันตกมักประโคมภาพลวงที่ 3 นี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลชาเวซไม่ต่ออายุสัญญาใน
RCTV ประเด็น RCTV นั้น เราเคยกล่าวถึงไปแล้ว หากดูเฉพาะการลงประชามติครั้งที่ผ่านมา มีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ Ultimas Noticias ขนาดสองหน้าเต็ม โจมตีรัฐบาลและชักชวนประชาชนให้ "ไม่รับ" ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดใส่ร้ายรัฐบาลว่า ถ้ารัฐบาลชนะการลงประชามติและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ รัฐจะพรากเด็กไปจากพ่อแม่และเอาไปเป็นสมบัติของรัฐ ต่อไปจะไม่มีทรัพย์สินเอกชนและเสรีภาพทางศาสนาจะถูกทำลายลง


หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับลงพาดหัวหน้าหนึ่งเปรียบเทียบการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไปเป็นแบบคิวบา นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์เอกชนที่เหลืออยู่ก็รณรงค์อย่างหนักให้ประชาชนลงคะแนนเสียง "ไม่รับ"


เมื่อฝ่ายค้านชนะการลงประชามติครั้งนี้ มีการฉลองกันอย่างครึกครื้น เรื่องแบบนี้จะเป็นไปได้อย่างไรในประเทศที่ไม่มี "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น"


มีอะไรในข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ?
การค้นหาเหตุผลว่าทำไมชาเวซจึงแพ้ประชามติ คงต้องย้อนไปดูข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอต่อประชาชนเสียก่อน ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า ข้อเสนอนี้มี 2 บล็อก รวมกันแล้วมีถึง 59 มาตราและยาวถึง 31 หน้า บางข้อเสนอก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ง่าย เช่น การสร้างสวัสดิการสังคมให้แรงงานนอกระบบ การให้นักศึกษามีสิทธิ์ออกเสียงอย่างเท่าเทียมในการเลือกตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่บางเรื่องก็ซับซ้อนมาก เช่น การให้อำนาจประธานาธิบดีจัดตั้งเขตปกครองทางการเมืองใหม่ เป็นต้น


ข้อเสนอทั้งหมดจัดได้เป็น 5 กลุ่มคือ การส่งเสริมประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การขยายโอกาสทางสังคมและเพิ่มบทบาทของประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจ การจัดเขตปกครองทางการเมืองใหม่ และอำนาจของประธานาธิบดี ในขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่ประโคมแต่เรื่องที่ชาเวซเสนอให้ยกเลิกการจำกัดสมัยของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี อันที่จริง ข้อเสนอที่สำคัญที่สุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่การเพิ่มอำนาจให้สภาชุมชน การรับรองกรรมสิทธิ์แบบรวมหมู่ และการสร้างกองกำลังพลเรือน


หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ สภาชุมชนจะมีอำนาจมากขึ้น มีงบประมาณชัดเจน และมีบทบาททางการปกครองไม่น้อยไปกว่าหรืออาจมากกว่าข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง (เช่น นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการรัฐ ฯลฯ) การรับรองกรรมสิทธิ์รวมหมู่จะทำให้องค์กรประชาชนสามารถครอบครองทรัพย์สินร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อต้านระบบทุนนิยมและแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยที่ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนก็ยังไม่ได้ยกเลิก ส่วนการสร้างกองกำลังพลเรือนก็เพื่อคานอำนาจกับกองทัพ เพิ่มอำนาจปวงชนปฏิวัติ และเตรียมพร้อมหากต้องเผชิญกับการบุกของมหาอำนาจทางทหารอย่างสหรัฐอเมริกา


ข้อเสนอเหล่านี้ถือได้ว่าถึงรากถึงโคนมากๆ และดูเหมือนชาวเวเนซุเอลาบางส่วนยังไม่พร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากถึงโคนขนาดนี้


ดังที่ฌอง ปอล ซาร์ตร์ กล่าวไว้: การไม่เลือกคือการเลือกอย่างหนึ่ง


ในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ใดๆ ก็ตาม ย่อมไม่มีสาเหตุเพียงประการเดียวที่ทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ประกอบด้วยสาเหตุจำนวนมากที่ทั้งหนุนเสริมและขัดแย้งกันจนลงเอยกลายเป็นผลลัพธ์ที่ออกมา


ในการลงประชามติครั้งนี้ ชาเวซไม่ได้แพ้ฝ่ายค้าน หากดูจากสัดส่วนของการลงคะแนน จำนวนของประชาชนที่เห็นด้วยกับฝ่ายค้านไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเลย (เพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 100,000 คะแนน) เมื่อพิจารณาจากการโหมโฆษณาชวนเชื่อและพยายามสร้างความวุ่นวายต่างๆ นานา ต้องถือว่าฝ่ายค้านไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไรในการชักชวนประชาชนให้หันมาเข้าข้างตน


ปีที่แล้ว ชาเวซเพิ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายถึง 63% ครั้งนั้นมีผู้ไม่ออกมาลงคะแนนเสียงเพียง 25% (เปรียบเทียบกับครั้งนี้ที่สูงถึง 45%) คะแนนเสียงของประชาชนถึง 7 ล้านกว่าคนที่เคยเลือกชาเวซเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ในการลงประชามติครั้งนี้ กลับมีถึงราว 3 ล้านคนที่ตัดสินใจอยู่บ้านแทน!


ชาเวซและฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ฝ่ายตนแพ้เพราะการงดออกเสียงจำนวนมากของประชาชนที่สนับสนุนตน หาใช่เพราะประชาชนที่เคยอยู่ฝ่ายรัฐบาลหันไปเข้าข้างฝ่ายค้านแต่อย่างใดไม่ ทำไมประชาชนเหล่านี้ไม่ยอมออกมาลงประชามติ?



ก่อนการลงประชามติ ชาเวซปราศรัยต่อประชาชนผู้สนับสนุนเขาว่า การลงประชามติครั้งนี้เปรียบเสมือนการเลือกข้าง หากลงประชามติ "รับ" ก็คือการอยู่ข้างเขา แต่หาก "ไม่รับ" ก็เท่ากับเลือกฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเทียบเท่ากับเลือกข้างประธานาธิบดีบุชด้วย! วิธีการ "ถ้าไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นพวกเขา" แบบนี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีนัก เมื่อตอนปราศรัยยอมรับความพ่ายแพ้หลังการลงประชามติ ดูเหมือนชาเวซก็พอจะรู้ตัวและพยายามไม่พูดในเชิงเลือกเขาเลือกเราแบบนั้นอีก


การบีบประชาชนให้เหลือแค่สองทางคือ ถ้า "ไม่รับ" ก็เท่ากับเป็นฝ่ายตรงข้าม ทำให้คนเกือบสามล้านไม่มาลงประชามติ คนเหล่านี้หมดความนิยมในตัวชาเวซหรือ? เปล่าเลยแม้แต่น้อย! พวกเขายังนิยมชาเวซต่างหาก ประชาชนราวสามล้านคนเลือกอยู่บ้านเพื่อบอกชาเวซว่า พวกเขายังนิยมในตัวประธานาธิบดี ไม่นิยมฝ่ายค้านหรือประธานาธิบดีบุช แต่พวกเขาก็ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ


ทำไมประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงไม่พร้อมที่จะผลักดันการปฏิวัติโบลิวาร์ของเวเนซุเอลาให้ถึงรากถึงโคนยิ่งกว่าเดิม? ต่อไปนี้คือเหตุผลส่วนหนึ่ง:


1) การลงประชามติครั้งนี้เร่งรัดมากเกินไป ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่งมีขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้เอง รัฐบาลมีเวลาแค่ราว 4 เดือนในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ถึงแม้จะมีการประชาพิจารณ์ถึงเก้าพันกว่าครั้ง มีการเปิดสายโทรศัพท์ฮอตไลน์ให้ประชาชนโทรเข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ มีการแจกจ่ายหนังสืออธิบายข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึง 10 ล้านเล่มก็ตาม แต่ระยะเวลาก็ยังสั้นและรีบร้อนเกินไป


2) ในขณะที่ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตรามีความซับซ้อนมาก สุดยอดนักอธิบายอย่างอูโก ชาเวซ แทนที่จะใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชน เขากลับทุ่มเทเวลาให้ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ตั้งแต่การพยายามเป็นคนกลางในการเจรจาแลกตัวประกันกับนักโทษระหว่างขบวนการจรยุทธ์กับรัฐบาลในโคลอมเบีย มิหนำซ้ำยังประสบความล้มเหลวจนกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับประธานาธิบดีอัลวาโร อูริเบแห่งโคลอมเบียไปเสียอีก มิพักต้องกล่าวถึงการประคารมวิวาทอย่างดุเดือดกับราชวงศ์สเปนในการประชุมสุดยอดไอบีเรีย-ละตินอเมริกา


3) เมื่อชาเวซไม่ว่าง แล้วนักการเมืองและพรรคการเมืองสายชาวิซตาที่เคยเก่งกาจในการระดมมวลชน คราวนี้เหตุใดจึงไร้น้ำยาขนาดนี้? หากยังจำกันได้ หลังได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองเมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน สิ่งแรกที่ชาเวซทำคือการสลายพรรค "ขบวนการเพื่อสาธารณรัฐที่ห้า" และสร้างพรรคการเมืองใหม่หรือ "พรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา" (United Socialist Party of Venezuela—PSUV) ขึ้นแทน แม้การสร้างพรรคการเมืองใหม่ด้วยโครงสร้างใหม่ (กล่าวคือ ทุกคนที่จะเป็นตัวแทนของพรรคต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเบื้องล่างทั้งสิ้น) จะเป็นหมากเด็ดในการทำลายขั้วอำนาจและระบบอุปถัมภ์ที่เริ่มกัดกร่อนพรรคเก่า แต่ความไม่พอใจของนักการเมืองหน้าเก่า รวมทั้งรากฐานที่ยังไม่เข้มแข็งพอของพรรคการเมืองใหม่ ทำให้การระดมประชาชนไม่ได้ผลเหมือนที่ผ่านมา


4) ข้อเสนอเกี่ยวกับอำนาจและบทบาทที่เพิ่มขึ้นของสภาชุมชน ย่อมหมายถึงการลดบทบาทของข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง บรรดานายกเทศมนตรีและผู้ว่าการรัฐสายชาวิซตาเองก็ไม่ค่อยพอใจกับการลดอำนาจตน นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร


5) การสร้างกองกำลังพลเรือนและการปรับโครงสร้างกองทัพจะทำให้อำนาจของกองทัพลดลงเช่นกัน นายทหารบางส่วนย่อมไม่พอใจกับอำนาจของตนที่ลดลงไป การออกมาต่อต้านชาเวซของราอูล บาดูเอล อดีตนายทหารร่วมน้ำสาบานของชาเวซ ต้องถือเป็นภาพสะท้อนของปฏิกิริยาบางส่วนในกองทัพ


6) การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เช่น การเพิ่มอำนาจประธานาธิบดีในการออกกฎอัยการศึก ทำให้ผู้สนับสนุนชาวิซตาสายกลางบางกลุ่มไม่เห็นด้วย


7) ความผิดพลาดเชิงเทคนิคที่ให้มีการลงประชามติเป็นบล็อกแทนที่จะเป็นมาตรา มีหลายมาตราที่น่าจะผ่านประชามติได้ มีหลายมาตราที่ไม่จำเป็นต้องนำมาให้ประชาชนลงประชามติ เช่น สวัสดิการสังคมของแรงงานนอกระบบหรืองบประมาณของสภาชุมชน รัฐบาลสามารถใช้กฤษฎีกาหรือกฎหมายที่มีอยู่แล้วดำเนินการได้เลย ประชาชนบางส่วนจึงรู้สึกว่า การลงประชามติเป็นเรื่องไม่จำเป็นและเสียเวลาเปล่า


8) ถึงแม้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไปจะดีขึ้นมากนับตั้งแต่ชาเวซเป็นประธานาธิบดี แต่ปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงและการฆ่ากันตายยังเกิดขึ้นเป็นประจำวัน นอกจากนี้ การที่ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและสินค้าขาดแคลน (การที่สินค้าขาดแคลนส่วนหนึ่งเกิดมาจากฝีมือของภาคธุรกิจที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลด้วย) แม้ชาเวซหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช่วยให้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ แต่ประชาชนบางส่วนไม่คิดเช่นนั้น พวกเขาต้องการการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมก่อน


9) ฝ่ายค้านซึ่งได้รับเงินหนุนหลังจากซีไอเอมาหลายล้านดอลลาร์ โหมโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีมูลความจริงเป็นจำนวนมาก เช่น กล่าวหาว่ารัฐบาลจะพรากลูกไปเป็นของรัฐ หรือจะริบทรัพย์สินของประชาชนหากมีมากเกินไป เป็นต้น อีกทั้งศาสนจักรคาทอลิกยังต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่พอใจคำว่า "สังคมนิยม" ที่จะเขียนลงในรัฐธรรมนูญหากการแก้ไขผ่านประชามติ


เมื่อพิจารณาดูเหตุผลข้างต้นทั้งหมดแล้ว เราจะเห็นว่าปัจจัยภายในมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยภายนอก และเราจึงมาถึงข้อสรุปว่า:


"สิ่งที่ฆ่าคุณไม่ตาย ย่อมทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น"
หากขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์มองความผิดพลาดของตนอย่างถูกต้อง วิกฤตครั้งนี้อาจกลายเป็นโอกาสและบทเรียนที่จะหยั่งรากสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ลึกซึ้งกว่าเดิม


การแพ้ประชามติครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซกลายเป็น "เป็ดง่อย" แต่ประการใด อำนาจของเขายังหนักแน่นเหมือนเดิม การที่เขายอมรับความพ่ายแพ้ได้อย่างสวยงาม ยิ่งแสดงให้เห็นว่าความนิยมในตัวเขาไม่ได้สั่นคลอนเลยแม้แต่น้อย พูดย้ำอีกทีก็ได้ว่า อูโก ชาเวซยังเป็นที่นิยมของชาวเวเนซุเอลาส่วนใหญ่อย่างไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนในประเทศนี้เปรียบติด


ท่ามกลางการเฉลิมฉลองชัยชนะของฝ่ายค้าน พวกเขาก็รู้ดีว่าชัยชนะครั้งนี้มีความพ่ายแพ้แฝงอยู่เช่นกัน ดังที่ชาเวซพูดในคำปราศรัย การออกมาลงประชามติ "ไม่รับ" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมายความว่าพวกเขายอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1999 แล้วโดยดุษฎี ในเมื่อพวกเขาออกมาปกป้องมัน ก็ไม่มีข้ออ้างใดๆ จะอ้างอีกแล้วว่า มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพวกเขา


ยิ่งกว่านั้น ความพ่ายแพ้และการยอมรับความพ่ายแพ้ของชาเวซ ทำให้ภาพพจน์ของชาเวซในสายตาต่างประเทศเปลี่ยนไปทันที แม้แต่สหรัฐอเมริกาก็ต้องยอมรับว่า เวเนซุเอลามีความเป็นประชาธิปไตยเต็มเปี่ยมและชาเวซไม่ใช่เผด็จการ หากชาเวซจัดการกับความพ่ายแพ้ครั้งนี้ให้ดี เขาสามารถทำให้มันกลายเป็นการปิดโอกาสของฝ่ายค้านที่จะใช้ข้อหาเผด็จการมาเรียกร้องรัฐประหารหรือการแทรกแซงจากต่างประเทศ รวมทั้งสยบความเคลื่อนไหวของนักศึกษาฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ด้วย


ดูเหมือนฝ่ายค้านก็พอรู้ตัวอยู่บ้าง มานูเอล โรซาเลส ผู้ว่าการรัฐซูเลียและอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝ่ายค้านเมื่อการเลือกตั้งปลายปีที่แล้ว เขาเปลี่ยนท่าทีที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลในทุกเรื่องและออกมาบอกว่า เขาจะสนับสนุนการสร้างกองทุนประกันสังคมของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นนโยบายที่ชาเวซระบุว่าจะผลักดันต่อไปแม้พ่ายแพ้ประชามติ โรซาเลสยังบอกด้วยว่า "เวเนซุเอลาต้องเปิดช่องทางของการหันหน้ามาคุยกัน จับมือกัน และหวังว่าจะลงเอยด้วย...สันติและความกลมเกลียว" ส่วนนายพลราอูล บาดูเอล ผู้นำคนใหม่ของฝ่ายค้าน เสนอว่าควรมีการจัดตั้งสมัชชาแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม แทนที่จะเป็นข้อเสนอของรัฐบาลฝ่ายเดียว


ในฟากฝ่ายขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์นั้น บทเรียนครั้งนี้บอกให้รู้ว่า การพยายามสร้างการปฏิวัติจากเบื้องบนลงมาไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง การปฏิวัติที่แท้จริงต้องมาจากเบื้องล่าง ต่อให้ขบวนการปฏิวัติโบลิวาร์ชนะประชามติ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญหาทุกอย่างแก้ไขเสร็จสิ้น การต่อสู้ยังมีอีกยาวไกล รัฐธรรมนูญไม่ใช่หลักประกันที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้น อูโก ชาเวซ ผู้เป็นหัวหอกของการปฏิวัติโบลิวาร์ เขาต้องกลับไปเริ่มต้นที่ประชาชนอีกครั้ง พร้อมกับตระหนักด้วยว่า ความสมานฉันท์ไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไข


 


.....................................
ข้อมูลประกอบการเขียน


Tariq Ali, "Venezuela After the Referendum," CounterPunch (http://www.counterpunch.com/tariq12032007.html); December 3rd 2007.


Chris Carlson, "Pro-Chavez Leaders Examine Reasons for Venezuelan Referendum Loss," Venezuelanalysis.com; December 6th 2007.


Chris Carlson, "Venezuela's Electoral Council Dispels Myths Surrounding Referendum," Venezuelanalysis.com; December 6th 2007.


Sujatha Fernandes, "What is at Stake in Venezuela"s Reform Referendum?," ZNet; November 11, 2007.


Carlos Martinez, "I Thought Dictators Couldn"t Lose Elections!," http://www.venezuelanalysis.com/analysis/2958, December 4th 2007.


James Petras, "CIA Venezuela Destabilization Memo Surfaces," Venezuelanalysis.com; November 28th 2007.


James Petras, "Venezuelan Referendum: A Post-Mortem and its Aftermath," ZNet; December 05, 2007.


Clifton Ross, "The Venezuelan Referendum," Dissident Voice (http://www.dissidentvoice.org/2007/12/1247/); December 4th 2007.


Carlos Ruiz, "Was Failure Chavez's Masterplan?," http://rebelresource.wordpress.com/2007/12/05/35/; December 6th 2007.


Angelo Rivero Santos, "Venezuela Knows What It's Doing," http://www.latimes.com/news/opinion/la-oe-santos28nov28,0,7987444.story?coll=la-opinion-center; November 29th 2007.


Gregory Wilpert, "Chavez: Defeat in Venezuelan Constitutional Reform is "For Now," Venezuelanalysis.com (http://www.venezuelanalysis.com/news/2951); December 3rd 2007.


Gregory Wilpert, "Making Sense of Venezuela"s Constitutional Reform," http://www.venezuelanalysis.com/print/2943; December 1st 2007.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net