Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2550 จอน อึ้งภากรณ์ จากคณะกรรมการองค์กรประสานงานพัฒนาเอกชน ได้แสดงความคิดเห็นเรื่อง รัฐสวัสดิการ ในการจัดงานเสวนาวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ต้องร่วมกันผลักดันให้แนวคิดเรื่องรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ


 


ทั้งนี้ จอนได้กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้เกิดรัฐสวัสดิการ มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ได้เร่งพิจารณา ส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ลดรอนสิทธิเสรีภาพ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มีการเอาทรัพยากรน้ำที่จัดการโดยชุมชนมาตลอดให้มาอยู่ภายใต้การจัดการของหน่วยงานของรัฐ เช่น ระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ เป็นต้น


 


นอกจากนั้นยังมีกฎหมายออกนอกระบบต่างๆ ซึ่ง เป็นการผลักภาระเรื่องของการเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ มาให้ประชาชน มีกฎหมายสภาเกษตรกรซึ่งเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเข้าไปร่วมน้อยมาก รวมถึง พ.ร.บ.


ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะให้อำนาจกับฝ่ายทหารตลอดกาล ไม่ต้องมีการประกาศกฎอัยการศึกก็เหมือนมีกฎอัยการศึกตลอดกาล หรือ เสมือนมีขั้วอำนาจอยู่ในสังคมไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็จะมีขั้วอำนาจของฝ่ายความมั่นคงอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิทำการเหมือนกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการห้ามไม่ให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ ไม่ให้เดินทางไปชุมนุมในที่ต่างๆ และสามารถที่จะจำกัดสิทธิได้มากมาย โดยคำสั่งของคนๆ เดียว


 


การจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาในเรื่องรัฐสวัสดิการ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยุติอำนาจและบทบาทของกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้เิกิดความยุติธรรมและเท่าเทียมในเรื่องของสวัสดิการขั้นพื้นฐาน


 


000


 


ผมยอมรับความจริงว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผมรู้สึกท้อแท้ ผมไม่ค่อยได้ติดตามเท่าไหร่ว่าพรรคการเมืองเขามีนโยบายอะไรบ้าง เพราะว่าผมมีความรู้สึกว่าพรรคการเมืองเหล่านี้เกือบทั้งหมด ผมจะเรียกว่าเป็น "พรรคการเมืองสำเร็จรูป" คือเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อให้คนนู้นคนนี้ได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเกือบทั้งนั้นเลย


 


มันไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่มีความจริงใจที่จะทำให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนเกือบทั้งหมดเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการเอาคนตระกูลนี้ หรือคนกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็นใหญ่เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาเสนอว่าเป็นนโยบายของเขา ผมก็คิดว่าเป็นการเสนอเอาใจคน เอาใจผู้ลงคะแนน เป็นการเสนอแบบไม่ละเอียดถี่ถ้วน แล้วเท่าที่ดูไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มีนโยบายรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง ไม่มีเลย


 


ผมอยากจะพูดถึงความหมายของคำว่า "รัฐสวัสดิการ" ให้ชัดเจน เพราะว่า มักจะมีการเข้าใจผิดในสังคมไทย ประเด็นแรก ผมอยากบอกว่า รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่สวัสดิการสำหรับคนยากคนจน แต่เป็นสวัสดิการสำหรับทุกคนในสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ แล้วถ้าเราเชื่อในรัฐสวัสดิการ ก็จะเข้าใจว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ รัฐสวัสดิการก็คือการให้หลักประกันในปัจจัยต่างๆ เป็นเรื่องคุณภาพชีวิตกับประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคกัน


 


พูดง่ายๆ ประชาชนในประเทศไทยอาจจะมีหลายอาชีพ  อาจจะมีหลายฐานะ แต่ทุกคนจะมีร่วมกันอย่างหนึ่งคือ มีพออยู่พอกิน เวลาไม่สบายได้รับการรักษาโดยไม่คิดเงิน มีโอกาสเรียนหนังสือตามความถนัด เวลาทุกพลภาพหรือชราภาพก็จะมีเงินช่วยเหลือ เวลาตกงานก็ต้องมีการประกันการว่างงาน


 


มันเป็นการประกันชีวิตแบบหนึ่ง แต่การประกันชีวิตแบบปกติมันหมายถึงตายไปแล้วก็มีเงินเข้า แต่นี่เป็นการประกันชีวิตแบบประกันวิถีชีวิตหรือประกันคุณภาพชีวิต


 


ซึ่งหลายประเทศในโลกมีรัฐสวัสดิการมากน้อยต่างกัน ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการค่อนข้างเข้มข้นจะเป็นประเทศในแถบทวีปยุโรปเป็นส่วนใหญ่ แต่รัฐสวัสดิการก็ทำได้ทั่วโลกในเอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลี ก็มีระบบรัฐสวัสดิการพอสมควร ถ้าลงไปลึก ความหมายของรัฐสวัสดิการเป็นการประกันคุณภาพชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย หรือตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วหลายอย่างจะสอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนที่กำหนดในกฏบัตรสหประชาชาติ


 


อะไรคือรัฐสวัสดิการบ้าง ในสังคมไทยเรามีรัฐสวัสดิการอยู่ส่วนหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ไม่ได้เกิดเฉพาะจากรัฐบาลทักษิณ คือรัฐบาลทักษิณเป็นผู้เอาเข้ามา แต่ว่ามาจากการผลักดันของภาคประชาชน คุณภาพอาจจะยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ต้องถือว่าเป็นที่ก้าวหน้าอันหนึ่ง


 


จะพูดเรื่องนี้แล้วก็เศร้า คือขณะนี้ในสังคมไทยทุกคนควรจะมีประกันด้านสุขภาพ คือรักษาฟรีหมด ที่บอกว่าเศร้าก็เพราะว่าสิทธินี้ครอบคลุมเฉพาะผู้ที่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก อันนี้เราพยายามสู้ตลอดเวลา ในสภาสมัยผมอยู่ว่ามันต้องคลุมประชาชนทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ไปคลุมเฉพาะประชาชนที่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก เป็นจุดด้อย แต่ก็เป็นก้าวอันหนึ่งที่เราจะมีหลักประกับของสุขภาพถ้วนหน้า


 


การศึกษา ทุกคนเกิดมาแล้วควรจะมีโอกาสเรียนหนังสือตามความถนัด ถึงระดับที่ตัวเองอยากจะเรียน หรือถนัดที่จะเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องเสียค่าเครื่องแบบ ไม่ต้องเสียค่าเดินทางไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ไม่ต้องเสียค่าหนังสือไม่ต้องเสียค่าเรียน ในระดับมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยควรจะเป็นการได้รับทุนฟรีด้วย จริงๆ เราต้องได้ทุนเพื่อที่จะชดเชยโอกาสที่เสียไปในการที่จะออกจากการเรียนแล้วไปทำงาน เราถึงจะให้คนมีโอกาสที่จะเรียนหนังสือได้ ในสังคมไทยปัจจุบันเด็กหลายคนไม่ได้เรียนหนังสือสูงเพราะว่า เมื่อถึงเวลาที่สามารถไปประกอบอาชีพได้ ทำงานก่อสร้างหรืออะไรได้ ก็จะออกไปทำงานเลี้ยงพ่อแม่


 


เรื่องของ ที่อยู่อาศัย ทุกคนจะต้องได้รับหลักประกันว่าจะต้องมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม สำหรับเกษตรกร สำหรับคนที่มีอาชีพอย่างดีทุกคนจะต้องมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง นี้คือลักษณะของหลักประกันเป็นหลักประกันว่า มีอาชีพได้ ทำงานได้ มีที่อยู่อาศัย มีโอกาสการศึกษาเท่าที่จะเรียนได้ ไม่สบายเมื่อไหร่ก็ได้รับการดูแลรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย


 


ยังมีอีกนะครับ เรื่องของ ชราภาพ เมื่อเกษียณอายุแล้ว หรือถึงอายุที่ไม่ทำงานแล้ว สังคมไทยในปัจจุบันนี้ลองดูสิว่าผู้สูงอายุในชนบทส่วนใหญ่อยู่กันยังไง มีโครงการของรัฐที่ให้เงินรายเดือนเหมือนกัน ประมาณเดือนละ 500 ซึ่งก็ไม่พออยู่ แล้วก็ไม่ทั่วถึงด้วย ส่วนใหญ่ปัญหาคือลูกหลานต้องเป็นคนส่งผู้สูงอายุที่บ้าน ลูกหลานต้องทำงานในโรงงานรายได้ก็แทบจะไม่พอกินอยู่แล้ว ยังจะต้องมาส่งพ่อแม่ จริงๆ ระบบรัฐสวัสดิการ จะต้องจัดระบบให้ผู้สูงอายุทุกคนได้รับบำนาญ อาจจะมีบางพรรคการเมืองตอนนี้ชูเรื่องของบำเหน็จบำนาญ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจถ้าเป็นเรื่องจริง


 


เรื่อง การเลี้ยงดูลูก ก็เช่นกัน ถ้าเราสังเกตครอบครัวในประเทศไทยจะเห็นว่าบางทีมีหลายครอบครัวจะแยกกัน โดยส่วนใหญ่พ่อแยกออกจากครอบครัวแล้วจะไม่รับผิดชอบต่อลูก พูดตามความเป็นจริง สังคมไทยเต็มไปด้วยผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงลูกโดยลำพัง ระบบรัฐสวัสดิการในต่างประเทศเขาก็แก้ปัญหาตรงนี้ ของเรารัฐจะต้องช่วยในการผ่อนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการที่จะเลี้ยงลูกหรือช่วยให้ แม่หรือพ่อที่จะต้องเลี้ยงลูกคนเดียวสามารถทำได้โดยลูกไม่เสียเปรียบ


 


เรื่องของระบบสาธารณูปโภคที่สะดวก การไฟฟ้า-ประปา  ราคาถูก ระบบการขนส่งมวลชนที่สะดวก แล้วไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ระบบ รถเมลล์-รถไฟ หรือจะเป็นเรือก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของระบบรัฐสวัสดิการ ที่จะทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า มีมาตรฐานความเป็นอยู่และหลักประกันแล้ว


 


และอีกประการหนึ่ง คือ การประกันการว่างงาน มีสองแนวทาง อาจารย์ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ จะเสนออีกแบบหนึ่ง อ.ณรงค์ บอกว่าประกันรายได้ อันนี้ก็น่าสนใจ ทุกครอบครัวได้รับประกันรายได้ เช่น ถ้าบอกว่า รายได้ต่อครอบครัวหนึ่งไม่ต่ำกว่าเจ็ดพันบาท ถ้าครอบครัวไหนรายได้ต่ำกว่าเจ็ดพันบาทรัฐก็ต้องเสริมให้ได้ถึงเจ็ดพันบาทเป็นต้น หรืออีกแนวก็หมายความว่าเวลาว่างงาน รัฐก็จะช่วยระหว่างการหางานอยู่


 


ระบบรัฐสวัสดิการของต่างประเทศส่วนใหญ่จะรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง รัฐบาลส่วนกลางจะเป็นผู้จัดการอยู่ ทีนี้พวกเราที่เป็น NGOs มักจะคิดกันอีกแบบหนึ่ง คือบอกว่ารัฐสวัสดิการน่าจะทำได้ในระดับชุมชน ผมก็จะบอกว่าได้เหมือนกันแต่ชุมชนจัดการเองไม่ได้ มักจะมีการยกตัวอย่างของกองทุนบางกองทุน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ซึ่งสามารถจัดระบบรัฐสวัสดิการให้กับสมาชิกชุมชนได้ อันนี้เป็นเรื่องดี และน่าจะสามารถที่จะกลมกลืนกับระบบรัฐสวัสดิการได้


 


แต่ต้องบอกว่ารัฐสวัสดิการจัดโดยชุมชน โดยลำพัง หรือโดยท้องถิ่นโดยลำพังจะทำได้ยาก เพราะแต่ละชุมชนแต่ละท้องถิ่น มีฐานะรวยจนต่างกัน ถ้าจัดโดยชุมชนโดยอาศัยทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างเดียว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือระบบรัฐสวัสดิการในพื้นที่ยากจน ก็จะเป็นระบบที่คุณภาพต่ำ สามารถประกันได้น้อยกว่าระบบรัฐสวัสดิการในพื้นที่ที่ประชาชนมีฐานะสูง เพราะฉะนั้นรัฐบาลกลางมีฐานะที่จะดูแลรัฐสวัสดิการที่เกิดขึ้น ประชาชนทั้งประเทศได้ผลประโยชน์เท่าเทียมกัน


 


แต่พูดไปแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าชุมชนจะมีส่วนร่วมไม่ได้ อันนี้สำคัญมาก ในทุกด้านของรัฐสวัสดิการควรจะให้ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วม ยกตัวอย่างระบบการศึกษา ก็ควรให้ชุมชนต่างๆ อยากจะเปิดโรงเรียนของตัวเอง ขึ้นมาในระบบเรียนฟรี ก็ย่อมจะทำได้ สามารถที่จะจัดการศึกษาให้กับลูกหลานในรูปแบบที่ชุมชนเองเห็นว่าเหมาะสมกับลูกหลาน หรือในระบบประกันสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องไปอาศัยโรงพยาบาลของรัฐถ้าระบบหลักประกันสุขภาพดีพอ ซึ่งเป็นลักษณะของการจ่ายรายหัว หมู่บ้านอันหนึ่งอาจจะบอกว่าเราจะเปิดศูนย์สุขภาพประจำหมู่บ้าน เราจะส่งคนในหมู่บ้านไปเรียนพยาบาลมาคนนึง แล้วกลับมาทำงานรับใช้ แล้วเราจะร่วมกันจ้างโดยอาศัย ทุนที่ให้ในระบบหลักประกันสุขภาพ


 


สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เป็นไปได้ คือการมีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ควรจะทำได้ในการจัดสรรที่อยู่อาศัย การจัดสรรที่ดินทรัพยากร สิ่งเหล่านี้ทำโดยชุมชนได้ เพราะฉะนั้นระบบรัฐสวัสดิการควรจะเป็นระบบที่กลมกลืนระหว่างการจัดการในส่วนกลาง เพื่อสร้างความเสมอภาคและเน้นนโยบาย เพื่อสร้างการจัดการระดับชุมชน เพื่อที่ชุมชนนั้นจะเอาระบบรัฐสวัสดิการมาดัดแปลงให้เหมาะสม สำหรับความต้องการของคนในชุมชน


 


รัฐสวัสดิการอยู่ได้อย่างไร มันอยู่ได้โดยการเก็บภาษี แบบก้าวหน้าหรืออย่างเป็นธรรม อันนี้เป็นจุดสำคัญในการที่จะดูว่ามีพรรคการเมืองไหนเขาจะเอา ระบบรัฐสวัสดิการเข้ามาอย่างจริงจัง ก็คงต้องดูว่าพรรคการเมืองไหนบ้างที่เขาสัญญาว่า เข้ามาแล้วเขาจะขึ้นภาษีมีไหมครับ เขาจะเก็บภาษีมากขึ้นมีไหม ผมว่ายาก แต่อาจจะมีบางพรรคตอนนี้ พูดถึงเรื่องเก็บภาษีมรดก ถ้าพูดก็ดีเหมือนกัน ก็ต้องคอยดูว่าจะนำมาใช้จริง แล้วก็มีเรื่องของภาษีที่ดินที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ หรือการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากเกินกว่าความจำเป็นในด้านการเลี้ยงชีพ ก็เป็นเรื่องดี


 


เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการก็จะเป็นเรื่องที่ทุกคนได้รับประกันเท่าเทียมกันหมด ทุกคนมีเบี้ยประกันของตัวเอง แต่การจ่ายค่าประกันนั้นเป็นการจ่ายจากภาษี แล้วคนรวยจะต้องจ่ายหนักๆ คนจนจ่ายน้อยหรือไม่จ่ายเลย นี่ถึงจะสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้


 


ในระบบหลักประกันสุขภาพมีคนชอบพูดผิดเรื่อย พรรคการเมืองก็มักจะบอกผิดว่าระบบประกันสุขภาพขณะนี้ไม่ยุติธรรมเพราะคนรวยไม่ต้องเสียอะไรก็ได้รับฟรีเหมือนกันกับคนจน เพราะฉะนั้น ก็จะเริ่มเก็บจากคนรวย หรือจะเหลือให้คนจนเท่านั้นเอง จำกัดให้คนจน อันนี้มีปัญหามากถ้าคิดแบบนี้ จริงๆ แล้วในระบบรัฐสวัสดิการที่ดี คนที่มีรายได้ปานกลางอาจจะถูกเก็บภาษีเพียงพอที่จะคุมค่าประกันสุขภาพของตัวเองในตัว อันนี้ภาษีปานกลาง พอเป็นคนยากจนก็อาจจะไม่ได้โดนเก็บภาษีเลย แต่พอเป็นคนรวยรายได้ดีก็อาจจะต้องถูกเก็บภาษีเท่ากับสองคนด้วยซ้ำไป เท่ากับไปช่วยคนจนหนึ่งคน หรือถ้าเป็นมหาเศรษฐีแบบคุณทักษิณ เป็นพันล้าน อาจจะต้องถูกเก็บภาษีจนต้องจ่าย ค่าประกันสุขภาพให้คนเป็นพันคนหรือคนเป็นหมื่นคนก็ได้


 


คือ การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าหมายความว่า ทุกคนควรเก็บภาษีตามรายได้ คนรายได้ต่ำเก็บน้อยหรือไม่เก็บภาษี คนรายได้ปานกลางเก็บภาษีปานกลาง คนรายได้สูงเก็บภาษีสูง แล้วก็ยิ่งสูงมากขึ้นยิ่งเก็บภาษีหนักมากขึ้น คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็หนักมากขึ้น ในบางประเทศคนรวยจริง ๆ จะถูกเก็บภาษีจากรายได้ บางทีเกิน 70% ขึ้นไปก็มี เหลือให้ตัวเอง 20% ก็ได้


 


เพราะฉะนั้น การที่จะทำให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการได้จะต้องมีระบบภาษีก้าวหน้า แล้วจะต้องมีการเก็บภาษีมรดก การเก็บภาษีมรดกไม่ได้แปลว่า เราเป็นครอบครัวชาวนา เรามีที่นาอยู่ 30 ไร่ แล้วเราจะแบ่งให้ลูกหลานเราไปทำไร่ทำนา แล้วเราต้องเสียภาษีมรดกอันนี้ไม่ใช่ ไม่ควรจะต้องมีการเก็บภาษีมรดก แต่ภาษีมรดกหมายความว่าเรามีที่ดิน เป็นพันไร่หมื่นไร่ เรามีทรัพย์สินเป็นล้านๆ เป็นสิบล้าน ร้อยล้าน เราจะให้ลูกหลานรุ่นเราต่อไป เราจะต้องถูกเก็บภาษีแล้ว เพื่อเป็นการกระจายทรัพยากรกับผู้มีโอกาสน้อยกว่า


 


ถ้าถามว่าขณะนี้ระบบรัฐสวัสดิการในประเทศไทยเป็นอย่างไร เราจะสรุปสั้นๆ ว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการเริ่มต้น ประกันสังคมเป็นระบบรัฐสวัสดิการอันแรก พอใช้ได้ แต่ประกันสังคมมีปัญหาหลายอย่าง อันที่หนึ่งอยู่ใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงแรงงาน คือจริงๆ คนที่เป็นเจ้าของกองทุนประกันสังคมก็ควรจะเป็นคนที่ต้องเสีย ค่าประกันสังคมหมายถึงเป็นลูกจ้าง นายจ้างอาจจะมีส่วนด้วย แต่ลูกจ้างโดยหลัก ผู้ที่จะได้ผลประโยชน์จะต้องเป็นคนที่เข้าไป บริหารจัดการแต่นี้ไม่ใช่ ประการที่สอง ระบบประกันสังคมมันไม่ได้ครอบคลุมแรงงานทั้ง ประเทศ เช่น แรงงานนอกระบบ แรงงานเกษตรกร ไม่ได้ถูกครอบคลุมโดยระบบประกันสังคม ประการที่สามระบบประกันสังคมครอบคลุมเฉพาะคนที่อยู่ในระบอบประกันสังคม ไม่ได้ครอบคลุมสมาชิกครอบครัว ของคนมีประกันสังคม


 


ส่วนระบบการศึกษาในปัจจุบัน ระบบการศึกษาในปัจจุบันมันไม่ฟรีจริง แล้วเราจะเป็นภาพปีนี้ของนักศึกษาที่ฆ่าตัวตายเพราะว่าไม่ได้ทุนเรียนในมหาวิทยาลัย ผมเองมีหลานคนนึง เขายากจนมาจากครอบครัวยากจน เขาเรียนเก่งด้วยจบ ม.6 ก็ไปสมัครมหาวิทยาลัยใกล้บ้าน อาจารย์บอกว่าได้ทุนแน่ ผ่านไปเดือนกว่า ผมยืมของญาติๆ จ่ายค่าเรียนไปก่อน แต่หลังจากนั้น ผลปรากฏว่าไม่ได้ทุน พอไม่ได้ทุนเขาก็เลยออกไปทำงานก่อสร้าง เพราะฉะนั้นทุนการศึกษายังเข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้นเรามีตัวเลขการที่คนไทยต้องออกกลางคันระหว่างชั้นมัธยม มากมายเหลือเกิน ที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน ทุกคนก็เข้าใจ


 


เพราะฉะนั้น  ระบบรัฐสวัสดิการก็คงต้องเป็นเรื่องที่เราจะต้องต่อสู้ร่วมกันต่อไป ผมคิดว่าเป็นวาระของภาคประชาชน ถ้าที่ประชุมนี้ เห็นด้วยผมก็ขอเสนอว่า ระบบรัฐสวัสดิการต้องเป้นวาระร่วมของภาคประชาชนในการต่อสู้อีกหนึ่งเรื่องสำคัญ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net