ปณิธาน วัฒนายากร : "พ.ร.บ. ความมั่นคง" ไม่ถูกใจ 100 % แต่เป็นบันไดยกระดับงานความมั่นคง

"ส่วนตัวคิดว่าทำตอนไหนก็ได้ ทำเร็วออกมาดี คนก็ตายน้อยลง ทำช้าออกมาช้า มันก็สับสน คนก็ตายมากขึ้น สุดท้ายวนไปวนมาแล้วก็กลับมาที่เก่า คิดว่าถ้าโชคดีมันก็จะออกมา ถ้าโชคไม่ดีก็จะต้องรอไปก่อน ซึ่งเรารอมาเกือบ 100 ปี แล้ว ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่กระทรวงกลาโหมยังไม่มีการปฏิรูปกระทรวงกลาโหมอย่างจริงจังเลยในรอบ 100 ปี แต่ถ้ารอได้อีก 2-3 เดือนได้ก็คงดี"

 

เก็บตกจากการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550  ณ หอประชุมไบเทค บางนา กับประเด็นร้อนเรื่อง "พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" ที่กำลังถูกผลักดันอย่างเร่งร้อนสู่สภาในสัปดาห์นี้ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างหนาหูจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชนเคยที่เดินทางไปปิดสภามาแล้วครั้งหนึ่ง และกำลังนัดรวมตัวกันต่อต้านอีกครั้งในวันที่ 18 ธันวาคม นี้

 

รศ.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว บอกเล่าถึงที่มาที่ไป รวมทั้งหลักการและเหตุผลของการมีกฎหมายร้อนนี้ พร้อมทั้งข้อถกเถียงและข้อสังเกตต่างๆ จากการประชุมคณะกรรมาธิการก่อนเข้าสภาวาระที่ 2

 

"ประชาไท" ขอนำมาเสนอเพื่อเป็นอีกหนึ่งเหตุผลก่อนกฎหมายนี้จะเข้าสู่การพิจารณารอบต่อไป 

 

000

 

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ผมจะเสนอมุมมองจากโลกของข้าราชการ ปัจจุบันมีเหตการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น 300 กว่าเปอร์เซ็นต์ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ตัวแปรใหม่ ประเด็นที่สำคัญที่จะนำเสนอคือ ในมุมมองของรัฐพยายามเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการเพราะเชื่อว่ารัฐอ่อนแอ ในกระบวนจึงมีความพยายามร่างพระราชบัญญัติใหม่ในการรักษาความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร ซึ่งจะนำมาเล่าว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร และช่วยในเรื่องภาคใต้ได้หรือไม่ และไม่แน่ใจว่าร่างจะเข้าสภาได้หรือไม่ แต่ตอนนี้ ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน ) เสร็จจากคณะกรรมาธิการแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวาระ 2

 

เหตุการณ์ภาคใต้มีข้อสังเกตเบื้องต้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาว่ามีปรากฏการณ์และตัวแปรใหม่ ความไม่สงบเหล่านี้ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้าม องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์เคยระบุว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างไม่น่าเชื่อ และกล่าวในรายงานว่าฝ่ายก่อความไม่สงบเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล พูดว่าจะคุ้มครองป้องกันประชาชน จะดูแลประชาชนเพื่อสร้างความเป็นธรรม แต่ก็ฆ่าทำร้ายประชาชนอย่างไม่น่าเชื่อ อ้างหลักคำสอนของศาสนาที่บิดเบือน อ้างประวัติศาสตร์ปัตตานี อ้างความไม่เป็นธรรมต่างๆ แต่ก็ฆ่าและทำร้ายประชาชนด้วยวิธีการที่ป่าเถื่อนรุนแรงพอๆกันหรือมากกว่า

 

เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดเห็นได้ชัดว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ประชาชนตกเป็นเป้าอย่างแท้จริง แต่การจับกุมผู้ต้องหาและการดำเนินคดีทำได้น้อยมาก คือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ คดีสิ้นสุดก็ไม่มากและไม่แน่ใจว่ามีความเป็นธรรม หรือบริสุทธิ์ยุติธรรมขนาดไหน ซึ่งอีกนานกว่าจะหาข้อยุติในเรื่องเหล่านี้ได้

 

มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันนี้เกิดขึ้นมากที่สุดในยุคที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ( ชินวัตร ) เข้ามารับตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้นความรุนแรงเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว อย่างในปี 2535 มีการเผาโรงเรียน การฆ่าตัดคอ ปล้นปืน แต่ช่วงที่นายกรัฐมนตรีทักษิณเข้ามาเหตุการณ์ได้บานปลายและขยายตัวอย่างไม่น่าเชื่อโดยเฉพาะในกรณีเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะและที่ตากใบ

 

ทั้ง 2 เหตุการณ์ ไม่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ ซึ่งแสดงให้เห็นความอ่อนแอในการทำงานระบบของรัฐ และอย่างที่ทราบในทุกวันนี้ว่าไม่สามารถเอาผิดกับใครได้ อันนี้เป็นที่มาที่ไปของร่างพระราชบัญญัติที่ร่างออกมาใหม่ ( พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน) เพื่อป้องกัน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นยาหรือไม่ เพราะข้อสรุปที่มาที่ไปของความรุนแรงยังไม่ชัด

 

ตอนนี้มีเพียงข้อสรุปเบื้องต้นว่ารัฐอ่อนแอกับระบบการบริหารจัดการหลายอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มีการแทรกแซงจากต่างประเทศ มีผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นเข้ามาผสมผสาน มีเยาวชนและประชาชนเข้ามาใช้ค่านิยมศาสนา ใช้ชาตินิยมปัตตานีและอื่นๆที่แบ่งแยกกันเข้ามา ในขณะที่โครงสร้างทางศาสนาและความยุติธรรมของเราอ่อนแอ

 

ถ้ามองเหตุการณ์ตากใบในสายตาพลเรือนมองแล้วจะเห็นชัดว่ามันเกิดการบริหารจัดการที่ผิดพลาดมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ต้องหันมาสนใจการแก้ไขกฎหมาย การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงาน รวมทั้งมีกระบวนการเยียวยาและกระบวนการฟ้องร้องที่จะใส่เข้าไปในความมั่นคงใหม่ ถ้าเป็นไปได้เราอาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่

 

คนที่เป็นเหยื่อในเหตุการณ์ภาคใต้มี 4 กลุ่มชัดเจน กลุ่มแรกเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนที่ทำงานให้กับรัฐ คนเหล่านี้โดนโจมตี โดนทำร้าย โดนสังหาร ผู้นำท้องถิ่นก็โดนทำร้ายค่อนข้างมาก กลุ่มที่สองคือประชาชนที่เป็นไทยพุทธ ชัดเจนว่าเป้าหมายสำคัญ กลุ่มที่สาม คือคนที่มีเชื้อชาติมลายูและพูดภาษามลายูท้องถิ่นที่ร่วมมือกับรัฐไทย กลุ่มสุดท้ายเป็นประชาชนทั่วไปในพื้นที่ ส่วนมากคือคนเชื้อชาติมลายูที่ไม่เห็นด้วยกับความแตกแยกและความรุนแรง ทั้ง 4 กลุ่มรวมทั้งพระสงฆ์เป็นเหยื่อที่ถูกทำร้ายและละเมิดสิทธิอย่างรุนแรง เป็นหตุการณ์ที่ต้องหาทางบริหารจัดการที่ดีขึ้น

 

สิ่งที่อยากจะพูดคือมีการนำเสนอพระราชบัญญัติฉบับใหม่ (พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน) มาจัดการ ซึ่งมีหลักการเหตุผลที่สำคัญหลายประการ โดยรวมคือมันมีภัยคุกคามใหม่ที่คุกคามต่อรัฐไทย ภัยคุกคามนั้นมันรวดเร็ว รุนแรง กว้างขวาง ขยายตัว สลับซับซ้อน  เป็นภัยคุกคามที่ต้องมีการบริหารจัดการใหม่ให้มีการบูรณาการ และมีการประสานงานร่วมในการปฏิบัติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างเข้มแข็งในท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น

 

เราเอาเหตุผลนี้มาร่าง พ.รบ.รักษาความมั่นคงภายใน แต่ร่างแรกที่เข้าไปไม่เป็นตามเหตุผลนี้เท่าไหร่ ในร่างแรกไม่มีภาคประชาชนเข้ามาร่วมใน กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เท่าไหร่ แต่เรายึดหลักการว่าเมื่อภาคประชาชนมีส่วนใน กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด  ทำไมจึงไม่มีใน กอ.รมน.กลางก็โต้กันในกรรมมาธิการและโชคดีที่ชนะ

 

คิดว่า แนวความคิดหลักคงไม่เปลี่ยนไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ตาม เอาเข้าจริงเราต้องการองค์กรที่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาในเชิงบูรณาการ ประสานงานและปฏิบัติ ไม่ให้ตำรวจ ทหาร พลเรือนทะเลาะกัน และประชาชนจะเข้ามาดูแลมีส่วนให้มีการแนะนำในการแก้ไขปัญหา มีการป้องกันอันตรายในยามปกติหรือในส่วนการป้องกันในช่วงที่ยังไม่มีปัญหา เช่น ก่อนที่จะเกิดตากใบ ก่อนที่จะเกิดกรือซะ และการทำงานต้องเป็นไปตามลักษณะปกติคือม่มีอำนาจพิเศษ ไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ใช่กฎอัยการศึก แต่มีอำนาจในการประสานในการทำงานและดูแล

 

ส่วนเมื่อสถานการณ์เริ่มไม่ปกติ มีการจัดกำลัง มีการติดอาวุธ โดยยังไม่มีการเคลื่อนกำลังมาปะทะกัน จะมีอีกส่วนหนึ่งคือ ตรวจสอบโดยให้อำนาจพิเศษ อำนาจพิเศษนี้ต้องมาจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติ สภาต้องรับทราบ ต้องมีการควบคุมดูแลการบริหารของเจ้าหน้าที่

 

ร่างพระราชบัญญัตินี้ (พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายใน) จะโอน ศอ.บต. ( ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนใต้) เข้ามา และจะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนแน่นอน ในมาตรา 29, 31, 32, 33, 34, 36 และ41 ยอมรับกันว่าเมื่อมีการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้แล้วจะกระเทือนบ้าง แต่จะไม่มีเรื่องการเกณฑ์แรงงานหรือการเรียกเข้ามาฝึกอบรม

 

พระราชบัญญัตินี้ในส่วนแรกคือการสร้างหน่วยงานใหม่ การให้การจำกัดความเรื่องความมั่นคงว่าคืออะไร เรามีปัญหาเยอะในการจำกัดความว่าความมั่นคงใหม่คืออะไร เป็นความมั่นคงของใคร ตอนนี้ก็ยังพูดกันไม่จบ และไม่แน่ใจว่าอีก 20 ปีจะพูดกันจบหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องร่างข้อกำหนด ผมอยากให้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนกว่านี้แต่ยังทำไม่ได้ เราไปพยายามผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ทำข้อกำหนดว่าความมั่นคงคืออะไรและของใคร เป็นแบบไหน และมีกี่ขั้นตอน มาตรฐานมีกี่ชั้นความรุนแรง ตอนนี้ยังมีความหมายหลวมอยู่ในอนาคตจะต้องกำหนดให้ได้

 

ส่วนผู้อำนวยการ ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) คือนายกรัฐมนตรี รอง ผอ.รมน. คือผู้บัญชาการทหารบก มีข้อถกเถียงกันว่าทำไมต้องให้ทหารบก เป็นเพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีพื้นที่ดูแลตามแนวชายแดนและมีบทบาทมาก ทหารบกบอกว่าทหารเรือก็อยู่ในเรือ ทหารอากาศก็อยู่ในอากาศ จะลงมาดูแลพื้นที่ได้อย่างไร เมื่อเราบอกว่าต้องดูแลพร้อมๆ กัน เขาบอกว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านเขาควรต้องดูแลมากกว่า เราจึงทำข้อสังเกตไปว่าในอนาคตต้องมีการดูแลพร้อมๆ กัน

 

มีข้อสังเกตอีกว่า ในอนาคตจะต้องแปลงกำลังกองทัพบกให้เป็นพลเรือน โดยยกระดับ กอ.รมน. ที่เป็นกองขึ้นเป็นทบวงให้เป็นระบบใหม่ มีการถกเถียงกันเยอะแยะ แต่คิดว่าข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่ได้ออกไปในสังคมเลย เพราะสังคมกำลังประท้วงปิดสภาอยู่ ส่วนร่างชุดนี้จะเป็นร่างที่ 6 จากร่างแรกที่โต้กัน กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ปกติ ติดตาม ตรวจสอบ ประมวลผล ประสานงาน แนะนำเสริมสร้างประชาชน

 

แต่บางส่วนยังแปลกๆ ส่วนหนึ่งที่แปลกเพราะนำมาจากโครงสร้างเก่าของ กอ.รมน. ในอดีต ซึ่งผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรกเพราะชื่อมันเชย ไม่ทันสมัย ได้ยินก็ขนลุกขนพองว่ามันจะมาปราบคอมมิวนิสต์เก่าหรือ มันควรจะเป็นทบวงมาตุภูมิหรือมันควรจะเป็นทบวงรักษาความมั่นคงภายในความมั่นคงมนุษย์หรือไม่ ในอนาคตคงต้องเปลี่ยนชื่ออีกเพราะเขาไปลอกโครงสร้างเก่ามา เราพยายามเอาคำพวกนี้ออกไป แต่ไม่ได้เป็นข้อกังวลอะไรมากมาย เป็นราชการปกติทั้งหมด แต่จะให้มีการจัดสรรงบประมาณชัดเจนขึ้น โดยให้กอ.รมน.ตั้งงบประมาณเองได้

 

ใน กอ.รมน. มีข้าราชการ 3 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคณะอำนวยการ มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ดูแล แต่คงจะยุ่งมากไม่มีเวลามาจัดการดูแลเพราะมีตำแหน่งประจำ กลุ่มที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ที่โอนย้ายมาอยู่ประจำ เป็นมืออาชีพซึ่งยังมีไม่มาก เราพยายามทำให้มีการสร้างเจ้าหน้าที่มืออาชีพมากขึ้ นกลุ่มที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่หมุนเวียนทุก 1-3 ปี เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงประสานระหว่างมหาดไทย กลาโหม ยุติธรรมและอื่นๆ เช่นต่างประเทศ อย่างปลัดกระทรวงการต่างประเทศในร่างเก่าไม่มีในโครงสร้าง แต่เราเชื่อว่าเมื่อใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในออกไปแล้วจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระทรวงต่างประเทศต้องไปชี้แจง

 

เรื่องสำคัญที่ถกกันมากคือการให้มีที่ปรึกษาที่มาจากภาคประชาชน ซึ่งคำนี้เมื่อถกกันบางทีก็หายไปจากร่าง จึงรีบไปเร่งให้กลับมามีที่ปรึกษามาจากภาคประชาชนผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นคณะทำงานหรือที่ปรึกษาของ ผอ.รมน. เรื่องนี้โต้กันหลายวัน โหวตกันแล้วโหวตกันอีก ชนะแล้วขอโหวตใหม่อีก เราบอกประธานว่าไม่มีไม่ได้ซึ่งได้สรุปให้มีคณะทำงานจากภาคประชาชนที่ไม่เป็นข้าราชการ แต่เราอยากให้มีอำนาจหน้าที่มากกว่านี้ ในอนาคตจะแก้ร่างให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของที่ปรึกษาจากภาคประชาชน แต่มีข้อถกเถียงมากว่ากลัวความลับจะรั่วในการปฏิบัติการ เราบอกว่าเป็นเรื่องนโยบายการให้คำปรึกษากับ ผอ.รมน. ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีที่คงจะยุ่งมากจึงต้องอาศัยที่ปรึกษาเหล่านี้ซึ่งสำเร็จ และหวังว่าเมื่อเข้าไปใน สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) วาระที่ 2 และ 3 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก ซึ่งผมไม่มีหน้าที่อะไรในส่วนนี้ เพียงแต่ถูกเชิญไปในฐานะที่สนใจในด้านนี้ นี่คือภาคส่วนแรกในแง่การทำงานป้องกัน

 

หมวดที่ 2 คือการทำงานในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤติ คือก่อนจะเข้าไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) หรือกฎอัยการศึก เราไม่อยากให้เอะอะอะไรก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก แต่ถ้ามันไม่ยืดหยุ่น เขาก็ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราต้องป้องกันไม่ให้ร่างนี้ใช้ยากเกินไป แต่ก็ไม่ให้ง่ายเกินไป เพราะถ้าใช้ยากเกินไปจะถูกอ้างว่าสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วและประกาศใช้เลย อำนาจก็มหาศาล ดังนั้นเราจึงใช้หมวด 2 มาตรา 14 ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ปรากฏว่ากระทบกระเทือนต่อความมั่นคง มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษแต่ยังไม่ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ กอ.รมน. โดย ผอ.รมน. ขออำนาจพิเศษกับ ครม. ครม.จะต้องอนุมัติและมีกำหนดเวลา รวมทั้งมีแผนว่าจะทำอะไร เมื่อได้อำนาจพิเศษไปแล้วก็ไปทำเสร็จแล้วก็รายงานสภา

 

แต่มีข้อถกเถียงกันว่าจะรายงานสภาดีหรือไม่ เราเห็นว่าต้องรายงานเพื่อให้สภาเปิดอภิปราย แต่ไม่ต้องลงคะแนนเพราะการอภิปรายถกเถียงจะทำให้ ครม. ต้องคิด ดังนั้น ครม. ควรต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนของประชาชน

 

เมื่อได้อำนาจไปแล้วสามารถที่จะปฏิบัติการไปได้ตาม มาตรา 15 ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง แก้ไขบรรเทาเหตุการณ์ต่างๆ ตอนนี้เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจพิเศษ สามารถเข้าไปประกาศเคอร์ฟิว สามารถดูแลสถานที่ ห้ามเข้า ห้ามออก แต่งตั้งให้คนปฏิบัติหรือเว้นการปฏิบัติต่างๆ รวมทั้งเข้าไปจัดการอุปกรณ์ เครื่องมือดักฟังได้ในเหตุการณ์ก่อนที่จะวิกฤติ แต่ทำแล้วต้องรายต่อสภาและมีแผนว่าจะทำอะไร ต้องมีเหตุ มีแผนชัดเจน เช่น เขากำลังรวมพลกันแล้ว กำลังติดอาวุธแล้ว กำลังเคลื่อนที่มาแล้ว  ถ้าเขาปะทะกันก็ต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้ามีอำนาจพอสมควรก็ไปยับยั้งเขาได้ ในความคิดของรัฐต้องมีอำนาจเพิ่มเติม ส่วน ครม. ถ้าเห็นว่าเหตุการณ์ปกติแล้วก็ให้ยกเลิกอำนาจ

 

ข้อสุดท้ายคือมาตรา 21 และ 22 ที่ว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่งถูกยกเลิกไปแล้ว หมายความถ้าทำผิดก็จะต้องขึ้นศาล และการทำงานต้องเป็นไปตามกฎหมายปฏิบัติว่าด้วยวิธีการปกครอง แต่ไม่ขึ้นกับศาลปกครอง

 

คือการทำงานในด้านความมั่นคง ถ้าเกิดวิกฤติแล้วใครก็สามารถไปฟ้องร้องกับศาลปกครองซึ่งตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นผู้เสียหายได้ แล้วศาลปกครองสั่งระงับไม่ให้ใช้มาตรา 14, 17, 19 พระราชบัญญัตินี้ก็ไม่มีความหมาย

 

ผมเองคิดว่าในปัจจุบันเมื่อเรายังไม่มีศาลปกครองแผนกคดีความมั่นคง ซึ่งผมขอให้คณะกรรมาธิการตั้งเป็นข้อสังเกตว่าในอนาคตจะต้องมีการจัดตั้งแผนกคดีความมั่นคงในศาลปกครอง ซึ่งให้มีผู้พิพากษาพิเศษ ไม่ใช่ว่ากำลังปฏิบัติการอยู่ดีๆ แล้วเห็นว่าบางคนเห็นว่าน่าหมั่นไส้ก็ไปฟ้องร้องให้หยุดยั้งการทำงานได้

 

เราขอให้เปลี่ยนระบบการยุติธรรมก่อน เช่น โดนจับกุม โดนสั่งห้ามออกนอกพื้นที่ โดนดักฟัง หรือทำอะไรที่ไม่เป็นธรรม สามารถฟ้องศาลยุติธรรมได้เลย ซึ่งศาลยุติธรรมต้องเรียกทุกคนมาไต่สวนโดยกำหนดมาตรา 21 ว่าศาลยุติธรรมต้องเรียกทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียหายทั้งหมดมาตัดสินด้วยความรวดเร็วไม่ใช่อีก 5 ปี หรือหายไปแล้ว รัฐบาลเปลี่ยนไปแล้ว ต่างประเทศก็มีตรงนี้ มีขั้นตอนที่รวดเร็ว ชัดเจน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีจึงตั้งเป็นข้อสังเกตไว้

 

เชื่อว่าถ้าร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ออกมาได้อย่างนี้จริงๆ เราจะมีเครื่องมือใหม่ เข้าไปสู่การจัดการเรื่องความมั่นคงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรายังไม่มีการปฏิรูปในด้านนี้ เรายังไม่มีกฎหมายที่ผลักดันให้หน่วยงานเหล่านี้ทำงานร่วมกัน รับผิดชอบและเกิดความสมดุลย์ระหว่างความมั่นคงของประชาชนและของรัฐ เพื่อให้มีตัวแทนจากหลายฝ่าย รวมทั้งมีตัวแทนอำนาจภาคประชาชนเข้ามาดูแลด้วย และถือว่าในฉบับนี้ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นบันไดเปลี่ยนผ่านไปสู่งานความมั่นคง การยกระดับหรือแปรรูปกองกำลังของรัฐ ของทหารมาเป็นกองกำลังของพลเรือนในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

 

ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนถ้าเผชิญกับปัญหาความมั่นคงอีกรูปแบบก็จะออกมาเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ แต่มันจะมีการถกเถียงกันหลากหลายขึ้น มันจะมีกระบวนการยอมรับมากขึ้น มันจะมีกระบวนการเชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่ส่วนตัวคิดว่าทำตอนไหนก็ได้ ทำเร็วออกมาดี คนก็ตายน้อยลง ทำช้าออกมาช้า มันก็สับสน คนก็ตายมากขึ้น สุดท้ายวนไปวนมาแล้วก็กลับมาที่เก่า

 

คิดว่าถ้าโชคดีมันก็จะออกมา ถ้าโชคไม่ดีก็จะต้องรอไปก่อน ซึ่งเรารอมาเกือบ 100 ปี แล้ว ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ตั้งแต่กระทรวงกลาโหมยังไม่มีการปฏิรูปกระทรวงกลาโหมอย่างจริงจังเลยในรอบ 100 ปี แต่ถ้ารอได้อีก 2-3 เดือนได้ก็คงดี ทั้งนี้ ความมั่นคงไม่ได้อยู่ในกรอบภาคใต้อย่างเดียว เรื่องความมั่นคงชายแดน เรื่องความมั่นคงสากลก็อยู่ในกรอบนี้หมด

 

สังคมไทยแม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ แต่ก็เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดี ระบบอะไรจะเป็นอย่างไร กฎหมายอะไรถ้าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ อย่างในพื้นที่ในภาคใต้มันไม่เป็นจริงก็ทำงานไม่ได้ เช่น กฎอัยการศึกหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศไปก็ใช้ไม่ได้ เพราะสังคมไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น ดังนั้นถ้ารัฐมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีเครื่องมือมากขึ้นก็คงจะดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท