Skip to main content
sharethis

ก่อนการเมืองไทยหวนกลับไปสู่การผสมพันธุ์ เอ๊ย รัฐบาลผสม อีกครา ก่อนการเลือกตั้งแบบคาบเส้นยาแดง....ประชาไทอยากให้ท่านผู้อ่านได้ย้อนมองพรรคการเมืองเชิงประวัติศาสตร์อีกสักครั้ง เราเคยเสนอไปแล้วเรื่องนโยบายของพรรคต่างๆ ที่ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งคราวนี้ แต่สำหรับประวัติศาสตร์พรรคการเมือง ขออภัยที่ต้องไฮไลท์เฉพาะพรรคใหญ่ๆ ที่ถูกจับตา เนื่องจากพรรคเหล่านี้กำลังจะเข้ามามีบทบาทภายหลังการเลือกตั้ง


 


0000


 


ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในช่วงแรกนั้น นักคิดคนสำคัญอย่างปรีดี พนมยงค์ มองเห็นว่าสังคมไทยยังไม่เหมาะสำหรับการมีพรรคการเมือง และควรให้เวลาประชาชนได้เรียนรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตยไปอีกระยะก่อน ทั้งนี้แนวคิดฝ่ายปรีดี เห็นว่า พรรคการเมืองนั้นก่อร่างขึ้นมาจากวัฒนธรรมการเมืองซึ่งเวลานั้น สังคมไทยยังต้องใช้เวลาเพาะบ่ม


 


ในขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่า พรรคการเมืองนั้นควรจะต้องมี เพราะพรรคการเมืองเป็นรูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่จุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองไทย จึงไม่ต่างกับที่เราเห็นๆ กันอยู่ตลอดระยะเวลาเกือบ 7 ทศวรรษ คือ พรรคการเมืองกลายเป็นการรวมกลุ่มของก๊วน และก๊กต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยที่มีลำดับชั้นของการยอมรับนับถือในศักดิ์ศรี กลุ่มก๊วนการเมืองภูธร แม้มีหัวก้าวหน้า และบางคนสามารถขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีได้เช่น กลุ่ม 4 รัฐมนตรีอิสาน เช่น จำลอง ดาวเรือง เตียง ศิริขันธ์ ฯลฯ แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้รับการยอมรับนักจาก ส.ส. ผู้ดีในกรุงเทพฯ วัฒนธรรมการวิ่งเข้าหาส่วนกลางจึงเป็นอีกหนึ่งในวัฒนธรรมพรรคการเมืองไทย


 


เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิบายไว้ใน สองนคราประชาธิปไตยว่า พรรคการเมืองนั่นเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมประการหนึ่งของประชาธิปไตยแบบตะวันตก พรรคการเมืองแบบตะวันตกนั้นเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มแนวคิดเดียวกัน หรือมีผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกันเช่น ชาติพันธุ์ ศาสนา เดียวกันในขณะที่พรรคการเมืองของไทยนั้น เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากฐานทางวัฒนธรรมทางการเมืองแบบนั้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดก็จะพบว่าพรรคการเมืองไทยไม่ได้มีแนวคิดหลักที่แตกต่างกัน


 


ความเชื่อที่ว่าพรรคการเมืองไทยไม่ได้มีแนวคิดหลักที่แตกต่างถูกท้าทายเมื่อมีพรรคการเมืองอย่างไทยรักไทยเข้ามาเล่นเกมรุกต่อการเมืองไทยในช่วงเวลากว่า 5 ปี และกลับกลายเป็นการตั้งข้อสังเกตให้กับกลุ่มพรรคการเมืองไทยที่เคยมีอยู่เดิมด้วยว่า ไอ้ที่เราๆ ท่านๆ รวมทั้งอาจารย์เอนก อดีตกุนซือของประชาธิปัตย์ เห็นว่าพรรคการเมืองไทยนั้นไม่ต่างในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง แท้ที่จริงแล้ว อาจจะมีอุดมการณ์บางอย่างที่ไม่ได้พูดกันออกมาชัดๆ แต่วิเคราะห์ได้จากท่าทีและนโยบาย


 


และอาจจะเป็นความผิดพลาดของเราเช่นกัน หากคิดว่าพรรคการเมืองไทยไม่มีกระบวนทัศน์ และประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทยไม่ยาวนานพอจะเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนจะกากบาทเลือกอนาคตชาติ


 


เราเริ่มกันก่อนที่ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด และส่งผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 25 ซึ่งมีอายุน้อยที่สุด ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์


 


0000


 


ประชาธิปัตย์


 


พรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2489 โดยมีนาย ควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาได้ถือเอาวันที่ 6 เป็นวันก่อตั้งพรรคเพื่อให้พ้องกับวันจักรี เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พรรค เป้าหมายในการก่อตั้งแต่เริ่มคือการเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลนายปรีดี ซึ่งขณะนั้นกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคเห็นว่ามีแนวโน้มจะเป็นเผด็จการ


 


ไล่ดูรายชื่อหัวหน้าพรรคจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มี 7 คนดังต่อไปนี้


นายควง อภัยวงศ์ (พ.ศ. 2489 - 2511) อดีตนายกฯ 4 สมัย


หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช (พ.ศ. 2511 - 2522) อดีตนายก ฯ 4 สมัย


พ.อ.(พิเศษ)ถนัด คอมันตร์ (พ.ศ. 2522 - 2525) อดีตรองนายกฯ และ รมต.ต่างประเทศ ผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน


นายพิชัย รัตตกุล (พ.ศ. 2525 - 2534) อดีตรองนายกฯ และ รมต.ต่างประเทศ 3 สมัย


นายชวน หลีกภัย (พ.ศ. 2534 - 2546) อดีตนายก ฯ 2 สมัย


นายบัญญัติ บรรทัดฐาน (พ.ศ. 2546 - 2548) อดีตรองนายกฯ และ รมต.หลายกระทรวง


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พ.ศ. 2548 - ถึงปัจจุบัน) อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร


 


เมื่อดูชื่อของกลุ่มแกนนำที่ก่อนตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะระบุว่าเพื่อคานอำนาจนายปรีดี แต่สังเกตได้ว่า กลุ่มแกนนำของประชาธิปัตย์เมื่อแรกตั้งนั้นเป็นอภิชน เช่น นายควง อภัยวงศ์ บุตรของ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพระตะบอง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นอาทิ


 


แม้กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ตาม เราจะยังเห็นได้ว่า สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จำนวนมาก สามารถสืบสาแหรกขึ้นไปถึงชั้นเจ้าพระยา แน่นอนโปรดสังเกตว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งบางคนยังมีคำนำหน้าชื่อ เป็น ม.ร.ว. และแม้กระทั่งหลายๆ คนที่เมื่อสืบประวัติดูก็จะพบสายเครือญาติของเศรษฐีเก่า ผู้ดีเก่า


 


พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มต้นบทบาทในรัฐสภาไทยด้วยการเป็นฝ่ายค้านของรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ในยุคนั้น แม้ปรีดีจะรวบรวมอำนาจและยึดกุมอำนาจบริหารได้ แต่ก็ต้องเผชิญกับกลุ่มอำนาจเก่า และทหารบก ซึ่งมีแนวคิดขัดแย้งกับปรีดี ในทางการเมืองขณะนั้น


 


ผลงานการเป็นฝ่ายค้านอันโดดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ก็คือการกล่าวหาและกดดันนายปรีดี ต่อกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กระทั่งนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


 


ประชาธิปัตย์มีทักษะที่สูงยิ่งในการเป็นฝ่ายค้าน สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจจนนำไปสู่การยุบสภา และการลาออกของนายกรัฐมนตรี ในสมัยของรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ตามลำดับ


 


จากพรรคผู้ดีเก่า ประชาธิปัตย์เริ่มเปิดทางให้กับนักการเมืองท้องถิ่นจากปักษ์ใต้ในยุค 2520 เมื่อคนหนุ่มอย่าง ชวน หลีกภัย ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา และการปราศรัยที่คมคาย จนได้รับฉายา "มีดโกนอาบน้ำผึ้ง" คาแรกเตอร์แบบ ชวน หลีกภัย กลายเป็นแม่พิมพ์ของ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์นับแต่นั้น


 


ประชาธิปัตย์ในยุค 2520 หรือยุคเผด็จการทหารนั้น คนหนุ่มอย่างชวน หลีกภัย อุทัย พิมพ์ใจชน ก้าวขึ้นมาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประชาธิปัตย์ในฐานะที่ยืนอยู่เคียงข้างนักศึกษาและประชาชน เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร จนกระทั่งถูกจับกักขังเป็นเวลาแรมปี


 


หลังเปรมลงจากอำนาจ ประชาธิปัตย์แม้เป็นพรรคใหญ่แต่ก็พ่ายความเก๋าเกมในการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลผสมให้กับพรรคชาติไทยของ พล.ต.ชาติชาย ชุณหวัณ (ตำแหน่งขณะนั้น)  หลังร่วมรัฐบาลอยู่ ราว 5 เดือน ประชาธิปัตย์ถอนตัวออกมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน จนกระทั่ง พล.อ.ชาติชาย ถูกรัฐประหารไปโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534


 


ประชาธิปัตย์เข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลหลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด ปี 2535 โดยอาศัยอารมณ์ทางการเมืองไทยที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดของพล็อตแบบธรรมาธรรมะสงคราม โดยประชาธิปัตย์ได้รับการขนานนามว่าเป็นพรรคเทพ ส่วนชาติไทย ราษฎร ฯลฯ ที่เคยเข้าร่วมเป็นรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถูกเรียกว่า พรรคมาร ในขณะที่พรรคพลังธรรมซึ่งนำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในผู้นำการชุมนุมต่อต้าน พล.อ.สุจินดา ตกอยู่ภายใต้กับดักที่ดิ้นไม่หลุดด้วยข้อหา "พาคนไปตาย"


 


ประชาธิปัตย์จบบทบาทการเป็นรัฐบาลเนื่องจากถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยฝ่ายค้าน นำโดยพรรคชาติไทย กรณี สปก. 4-01 ซึ่งเป็นนโยบายปฏิรูปที่ดินที่ประชาธิปัตย์ภูมิใจนำเสนอ แต่กลับถูกตรวจสอบว่าการดำเนินนโยบายปฏิรูปที่ดินภายใต้การดูแลของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รมช.เกษตรฯ มีการทุจริตคอรรัปชั่น นายชวน หลีกภัย นายกฯ ตัดสินใจยุบสภา


 


ในช่วงที่เมืองไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง สร้างตำนาน "งูเห่า" ในปี 2540 หลัง พล.อ.ชวลิต ตัดสินใจลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อวิกฤตเศรษฐกิจ


 


คนไทยได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย ประชาธิปัตย์แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนไอเอมเอฟ


 


และไอเอ็มเอฟในฐานะที่เป็นองค์การการเงินระหว่างประเทศกำหนดกรอบแนวทางของการพัฒนาประเทศ หรือว่ากันที่จริงคือแนวทางที่จะหาเงินมาใช้หนี้ ด้วยการเปิดตลาดการลงทุนออกให้กว้างที่สุด และนั่นหมายถึงการอะไรที่ขายได้ก็ต้องเอาออกมาสู่ตลาดการแข่งขัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี ประชาธิปัตย์ตกลงตามนั้น และนำมาสู่สิ่งที่ภาคประชาชนไทยเรียกว่า "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งมีสาระอยู่ที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของชาติ ไฟ  น้ำ ก๊าซ รวมถึงการผลักมหาวิทยาลัยรัฐออกจากการเป็นภาระของรัฐ แนวทางเหล่านี้ได้รับการสานต่อในรัฐบาลทักษิณ และกลายเป็นจุดอ่อนให้ประชาธิปัตย์ได้ถล่มรัฐบาลทักษิณอีกคำรบหนึ่งด้วย


 


ในทางระหว่างประเทศ ประชาธิปัตย์ถูกเรียกว่า "good boy" ของอเมริกา กระทั่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ถูกล้อเลียนจากสื่อว่า เป็นสำเนาเสียงของนางเมเดอลีน อัลไบรท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอเมริกา


 


สำหรับท่าทีต่อภาคประชาชน รัฐบาลของนายชวน หลีกภัยได้รับการจดจำอย่างไม่รู้ลืมจากกรณีปล่อยหมาออกมาไล่กัดคนจนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และการกล่าวหาว่า เอ็นจีโอไทยขายชาติเพราะรับเงินต่างชาติ  


 


ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่รัฐบาลจนจบวาระ และพ่ายคะแนนเสียงให้กับพรรคใหม่แต่มีเงินถุงเงินถังอย่างไทยรักไทย ที่กวาดต้อนเอามุ้ง และวังต่างๆ จากพรรความหวังใหม่ และชาติไทย มาไว้ด้วยกัน จนได้คะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย นับจากนั้น ประชาธิปัตย์ทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้าน พร้อมกับเปลี่ยนตัวผู้กุมบังเหียนจากนายชวน หลีกภัย ไปสู่บัญญัติ บรรทัดฐาน ช่วงสั้น และตกมาอยู่ในมือคนหนุ่มภาพลักษณ์ดีอย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


 


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จบการศึกษาปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระยะสั้นๆ ก่อนจะก้าวเข้าสู่การเป็นนักการเมืองเต็มตัว


 


เมื่อแรกที่เขาเข้าสู่การเมืองไทย ด้วยความสดใหม่แบบคนหนุ่ม หล่อเหลา การศึกษาดี ชาติตระกูลดี เขาได้รับความนิยมอย่างสูง และไม่เคยเลยที่ชายหนุ่มหน้าคมเข้มผู้นี้จะสอบตกในการเลือกตั้ง แม้แต่ครั้งที่พ่ายแพ้ให้กับพรรคใหญ่อย่างไทยรักไทยก็ตาม


 


ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้เคยเป็นกุนซือมือเขียนนโยบายให้กับพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอภิสิทธิ์ สั้นๆ แต่มีนัยสำคัญในหนังสือ  "พิศการเมือง" ว่า อภิสิทธิ์ นั้นเป็นคนหนุ่มที่คมคายก็จริง แต่ออกแนวนักวิพากษ์มากกว่านักสร้างสรรค์…นี่อาจเป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าระมัดระวังอย่างยิ่งสำหรับคนหนุ่มอนาคตไกลอย่างอภิสิทธิ์ พร้อมกับเขาควรจะต้องตอบคำถามว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 และการที่หัวหน้าพรรคกล่าวสนับสนุนการรัฐประหาร ประชาธิปัตย์จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคการเมืองที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของสิทธิ และคะแนนเสียงของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่า ประชาชนที่เลือกพรรคไทยรักไทยกว่า 19 ล้านเสียงนั้นเป็นคนจนและโง่ ประชาธิปัตย์จะจัดการแก้ปัญหาความ โง่ และจน เหล่านี้อย่างไร…หมายรวมถึงประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนท่าทีต่อการมองคน 19 ล้านคนนี้อย่างไรด้วย


 


000


 


พรรคชาติไทย


 


"ปลาไหล" เป็นสมญาของพรรคที่ก่อตั้งโดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ โดยความร่วมมือร่วมใจกับสมาชิกกลุ่มซอยราชครู ชัดเจนว่า พรรคชาติไทยเมื่อแรกเริ่มนั้น เป็นกลุ่มอำนาจสายทหาร กลุ่มที่มีสายป่านการเมืองยาวและมีบารมีทางการเมืองสูง จอมพล ผิน ชุณหวัณ พ่อของ พล.อ.ชาติชายนั้น ถือเป็นทหารที่ทรงอิทธิพลมากยิ่งในยุคของเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบทบาทในการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เช่นปรีดี พนมยงค์ สมาชิกสายราชครูเป็นทายาทรุ่นใหญ่ของทหารฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจมายาวนาน


 


อย่างไรก็ตาม แม้พลเอกชาติชายจะเป็นทหาร แต่เมื่อก้าวมาเป็นนักการเมือง เขากลับยึดแนวทางของพ่อค้ามากกว่าทหาร นโยบายที่ชัดเจนที่สุด และติดหูประชาชนคนไทยที่สุดคือ "เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า"


เศรษฐกิจไทยก้าวเดินอย่างพรวดพราดสู่ปรากฏการณ์ "ฟองสบู่" เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานของการเก็งกำไรและปั่นราคาของที่ดินและตลาดหุ้น


 


อำนาจทหารและข้าราชการประจำที่ถูกลดทอนลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนภายในเวลาเพียงสองปีเศษ ได้ระเบิดออกเมื่อฟางเส้นสุดท้าย "โผทหาร" ไม่สามารถไกล่เกลี่ยกันได้ กลายเป็นการรัฐประหารโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยให้เหตุผล 5 ประการ คือ ฉ้อราษฎร์บังหลวง, รังแกข้าราชการประจำ, เป็นเผด็จการทางรัฐสภา, ทำลายสถาบันทหาร และบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์


 


ด้านเศรษฐกิจนั้น ฟองสบู่ของรัฐบาลชาติไทยมาแตกเอาในช่วงของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี จากพรรคความหวังใหม่ และภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนหันมาใช้อารมณ์กับการชูธงเขียวเพื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาชาติ เหมือนยาวิเศษ


 


สิ้นบารมีของพลเอกชาติชาย ใครเลยจะเชื่อว่าทายาทอย่างกร ทัพพะรังสี และปองพล อดิเรกสาร จะไม่สามารถแข่งบารมีกับนักการเมืองภูธรที่อาศัยร่มเงาพรรคชาติไทยมายาวนานอย่างบรรหาร ศิลปอาชา ลูกหลานซอยราชครูปลีกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ในนามชาติพัฒนา ขณะที่บรรหารก้าวขึ้นมากุมบังเหียนพร้อมนำพาชาติไทยไปสู่การเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงมากพอจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล


 


อย่างไรก็ตาม ด้วยภาพลักษณ์แบบภูธร และหน้าตาที่ไม่ตรึงใจแม่ยก เขาถูกวิพากษ์จากสื่อและชนชั้นกลางไทยว่า เขาไม่เหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำรัฐบาล นี่ไม่นับปัญหาคอรัปชั่นอันเป็นปัญหาคลาสสิก บรรหารเคยบ่นน้อยใจสื่อถึงขนาดว่า เขาถูกกลั่นแกล้ง แม้กระทั่งรูปถ่ายของเขาที่สื่อสามารถจะเลือกลงได้ แต่ก็ไม่รู้จักเลือกรูปหล่อๆ ไปลง....


 


บรรหารนั้นเป็นต้นตำรับประชานิยมแบบหนึ่ง สุพรรณบุรี ฐานคะแนนของบรรหารนั้น เป็นจังหวัดที่ได้รับการผันงบประมาณสำหรับสร้างโครงข่ายพื้นฐานมากอย่างที่ต้องสงสัยว่า มันได้สัดส่วนกันกับประชากรในจังหวัดหรือไม่ แต่ถึงกระนั้น นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้บรรหารได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากชาวสุพรรณ ยิ่งผนวกกับฐานวัฒนธรรมที่มีความเชื่อว่า "เลือดสุพรรณไปด้วยกันมาด้วยกัน" แล้ว....การเลือกตั้งแต่ละครั้ง จึงไม่ต้องห่วงว่า บรรหาร และทายาททางการเมืองของเขาจะได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย บารมีเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่จำเพาะจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ขยายออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงอย่างสิงห์บุรีและอ่างทองด้วย


 


บรรหารยังเป็นสิ่งที่เสน่ห์ จามริกกล่าว่า "อัจฉริยะทางการเมือง" ด้วยความ "เก๋าเกม" แบบนักสู้ภูธร พลิ้วและเอ่อ....พลิกท่าทีกันได้ซึ่งๆ หน้า ท่าทีจากบรรหาร และชาติไทยจึงมีราคาต่อรองเสมอในเกมการเมืองแบบที่ไม่มีพรรคเสียงข้างมากที่เข้มแข็ง


 


เมื่อเปิดวิกีพีเดียดูจะพบว่า พรรคชาติไทยทำหน้าที่ในรัฐสภาไทยดังนี้


1. 26 ม.ค.2518 28 คน ร่วมรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช -


2. 4 เม.ย.2519 56 คน ร่วมรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช -


3. 22 เม.ย.2522 42 คน ร่วมรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ลงสมัครในนามกลุ่มชาติไทย


4. 18 เม.ย.2526 73 คน ฝ่ายค้าน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พรรคชาติไทยมีผู้นำฝ่ายค้านคนแรก


5. 27 ก.ค.2529 63 คน ร่วมรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ -


6. 24 ก.ค.2531 87 คน แกนนำรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พรรคเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล


7. 22 มี.ค.2535 74 คน ร่วมรัฐบาล พลเอกสุจินดา คราประยูร -


8. 13 ก.ย. 2535 77 คน ฝ่ายค้าน นายชวน หลีกภัย พรรคอภิปรายเรื่อง สปก.4-01 ทำให้รัฐบาลยุบสภา


9. 2 ก.ค.2538 92 คน แกนนำรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา พรรคเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล


10. 17 พ.ย.2539 39 คน ฝ่ายค้าน พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ -


 19 พ.ย.2540 39 คน ร่วมรัฐบาล นายชวน หลีกภัย -


11. 6 ม.ค.2544 41 คน ร่วมรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร -


12. 6 ก.พ.2548 25 คน ฝ่ายค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


การพลิกและพลิ้ว เพียงเพื่อได้ร่วมรัฐบาลนี้เอง เป็นส่วนหนึ่งที่นักร่างรัฐธรรมนูญและประชาสังคมไทยก่อนปี 2540 อิดหนาระอาใจและต่างพากันใผ่ฝันถึงการมีพรรคใหญ่ที่เข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยจะได้มีรัฐบาลที่แข็งแกร่ง ทำหน้าที่บริหารประเทศได้อย่างสะดวกใจไม่ต้องคอยต่อรองกับพรรคเล็กพรรคน้อยร่วมรัฐบาล และบางคราก็ถึงกับแพ้ภัยตัวเองต้องประกาศยุบสภาไปเสียดื้อๆ


 


พรรคชาติไทยครานี้ก็ถูกจับตาเช่นกัน เพราะบรรหารนั้นเปิดทางเลือกให้ตัวเองมากเหลือเกิน มากกระทั่งว่าทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคพลังประชาชนต้องทำให้ทางเลือกทางหนึ่งชัดเจนด้วยการประกาศว่า เขาไม่เคยเห็นหน้านายบรรหารมาเป็นเวลาแรมปีแล้ว....


 


ถามว่าทำไมพรรคขนาดกลางอย่างชาติไทย ซึ่งขณะนี้กลายมาเป็นพรรคเล็ก ยังคงความสำคัญ คำตอบนั้นอยู่ที่ผู้นำพรรคระดับอัจฉริยะผู้ไม่ปรารถนาจะเป็นฝ่ายค้านในฐานะ นักการเมืองชั้นครู การสงวนท่าที เปิดทางแบบไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร นโยบายที่ชัดเจนประการเดียวของชาติไทย เห็นจะได้แก่ การเป็นฝ่ายรัฐบาล ดังที่นายบรรหารเคยพูดเอาไว้เมื่อครั้งเป็นฝ่ายค้านในสมัยรัฐบาลชวนว่า เป็นพรรคฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง


 


.... นับเป็นวาทะเด็ดที่คนไทยลืมไม่ลงและไม่ควรลืม


 


000


 


พลังประชาชน


 


สุดท้าย พรรคน้องใหม่ พลังประชาชน พลังประชาชนเพิ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2541 ซึ่งแทบจะไม่มีใครรู้จัก และเปลี่ยนมือมาอยู่ในการดูแลของนายสมัคร สุนทรเวชผู้ประกาศเปรี้ยงว่า พรรคนี้เป็นนอมินีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ถูกรัฐประหารและถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไป


 


ความผิดและความพลาดของไทยรักไทยเป็นอย่างไรนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ว่าเหตุผลใหญ่ 4 ข้อของคณะรัฐประหารจะผิดแผกไปจากข้อเท็จจริงอย่างไร หรือข้อสงสัยว่า ระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ แทรกแซงองค์กรอิสระ ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง คอรัปชั่นหรือไม่ ลำพังที่เป็นต้นเหตุของความแตกแยก และต้องรับผิดชอบต่อการรัฐประหารก็เป็นข้อหาหนักที่แทบจะเถียงไม่ได้


 


ภายหลังจากไทยรักไทยถูกยุบพรรค ส.ส. ของไทยรักไทยแตกฉานซ่านเซ็นไปหลายทิศหลายทาง ขึ้นอยู่กับท่าทีและแนวทางเดิมของ ขั้ว/มุ้ง แต่ที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนที่สุดเห็นจะได้แก่ พลังประชาชนนี่เอง


 


ในฐานะที่เป็นพรรคใหม่ แทบจะไม่มีอะไรให้พูดกันเลยเชิงประวัติศาสตร์ แต่เมื่อพรรคนี้ ขณะนี้ อยู่ภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ผู้มีประวัตศาสตร์การเมืองยาวนาน ก็ย่อมน่าสนใจยิ่ง


 


เพราะนายสมัครนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองขวาจัด และเจ้าขุนมูลนาย ข้อนี้ว่ากันไม่ได้ เพราะนายสมัครนั้นเป็นลูกพระยาหลานพระยาซึ่งรับใช้ราชสำนักใกล้ชิดยิ่ง


 


สมัคร สุนทรเวช แม้ถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากคนรุ่นใหม่ หรือคนหัวก้าวหน้าทั้งหลาย กระทั่งเรียกขานเขาว่า ไดโนเสาร์ ก็มีมาแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าฐานคะแนนหลักของสมัครก็อยู่ที่ใจกลางประเทศไทย กรุงเทพมหานครนี่เอง สมัครได้รับความนิยมอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของเขา เขตดุสิต ซึ่งเป็นเขตทหาร


 


แนวคิดและแนวทางของสมัครนั้นถูกวิพากษวิจารณ์มาเสมอ เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ก่อนจะมาเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมซึ่งมี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้นแยกตัวมาก่อตั้งพรรคประชากรไทย


 


การเลือกตั้งคราวนี้ นายสมัครละทิ้งจากพรรคประชากรไทยอันเป็นพรรคที่เขาตั้งมากับมือ โดยส่งมอบให้กับนายสุมิตร สุนทรเวช น้องชาย ขณะที่ตัวเองหันมากุมบังเหียนพรรคพลังประชาชน


 


มันอาจจะดูขัดแย้งกันอยู่ เมื่อคนอย่างสมัครซึ่งมีแนวคิดไม่ค่อยเข้ารูปเข้ารอยกับคนรุ่นใหม่ อย่างเช่น ความคิดต่อต้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ...นายสมัครมีคำอธิบายที่เด็ดขาดว่า เรื่องฝนตกแดดออกนั้นเป็นเรื่องของภาวะอากาศของโลก ไม่ได้เกี่ยวกับว่ามีป่าไม้หรือไม่มี เมื่อถึงหน้าหนาวมันก็หนาว เมื่อถึงหน้าฝน ฝนมันก็ตก  หรือกรณีของเทศกาลลอยกระทง ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรณรงค์ให้ใช้กระทงที่ทำมาจากธรรมชาติ นายสมัครกลับเสนอว่า ใช้กระทงโฟมดีกว่าเพราะเก็บกวาดง่าย ไม่จมน้ำ เก็บมาแล้วเอาไปถมถนนได้อีกต่างหาก


 


เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ อาจจะดูเล็กไปถนัดใจเมื่อเทียบกับท่าทีขวาจัดของนายสมัครในสมัยเผด็จการทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์  6 ตุลาคม 2519


 


ด้วยการประกาศว่า "อยากใช้ผมต้องเลือกผม" ทำให้เขาชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กทม. อย่างถล่มทลายอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ในปี2543 นำมาซึ่งคำถามสำหรับชนชั้นกลางไทย ผู้มีการศึกษาในกทม. ว่า ไหนว่าเขาเป็นไดโนเสาร์ บอกว่าเขามือเปื้อนเลือดจากเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วไปเลือกเขามาเป็นผู้ว่าฯ ทำไม?????


 


สิ่งที่น่าสนใจยิ่งคือ เมื่อถึงรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร นายสมัครเปลี่ยนท่าทีจากขวาจัด ขวาสุดๆ มาหนุนพ.ต.ท.ทักษิณสุดๆ กระทั่งลามปามไปวิพากษ์วิจารณ์ "ป๋า" ผู้มีบารมีสูงทางการเมืองไทย เกิดอะไรขึ้นกับสมัคร สุนทรเวช ที่วันนี้ก็ยังออกมาประกาศหนุนทักษิณ สุดตัว


 


อย่างไรก็ตาม แม้สมัคร จะดูเป็นไดโนเสาร์สำหรับผู้ติดตามการเมืองไทย และดูไม่เข้ากันเลยกับพรรคการเมืองที่เขาประกาศว่าเป็นนอมินีของเจ้าพ่อโทรคมนาคมอย่างทักษิณ ชินวัตร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ความชัดเจนในท่าทีของเขาแบบไม่ต้องตีความคือถ้าเขาเลือกถือหางข้างไหน ก็เป็นอันรู้กันง่าย ไม่ต้องเดา ไม่ต้องใช้เชิงการเมืองชั้นเซียนแบบกรณีของพรรคชาติไทย และครั้งนี้อีกเช่นกัน ถ้ารักทักษิณ ก็เลือกสมัคร....แล้วคงได้เห็นกันว่าการประกาศเลือกตลาดการเมืองของตัวเองชัดๆ แบบนี้จะได้ผลอีกครั้งสำหรับสมัคร สุนทรเวชหรือไม่ เพราะไม่แน่ใจเช่นกันว่า ประชาชนไทยรู้จักเข็ดไหม จากครั้งที่เขาประกาศว่า "อยากใช้ผม ให้เลือกผม" เพราะเมื่อเลือกแล้ว ดูเหมือนว่าประชาชนชาวกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้ใช้ "สมัคร" สักเท่าไหร่


 


000


 


3 พรรค ที่น่าจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง....ประชาชนไทยคงต้องตัดสินใจกันเอาว่า ว่าจะเลือกแบบไหนหรือไม่เลือก....ไล่ประวัติดูแล้ว....ให้ย้อนนึกถึงคำรำพึงของเกษียร เตชะพีระ..."หากไม่มีทางเลือกที่ 3 นั่นก็เป็นความผิดของเราเอง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net