Skip to main content
sharethis

ล่าหมื่นชื่อถอน พ.ร.บ.ความมั่นคง วันแรกได้แล้ว 2,000 "จอน" คาด 20 วันครบ ประกาศยุติการชุมนุมหน้า สนช. พร้อมวางดอกไม้จันทน์ไว้อาลัยทิ้งท้าย... ด้าน สนช. ค้างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.3 ฉบับ เหตุเกิดปัญหานับองค์ประชุม สรุปประชุม 3 วัน ทำยอดผ่านกฎหมาย 64 ฉบับ ส่วน 27 สนช.เบรก จุฬาฯ ออกนอกระบบ ยื่นเรื่องศาล รธน.ตีความ

 
 

หลังประชาชนชุมนุมต่อเนื่องตลอด 3 วัน หน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 11 ฉบับ เวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 21 ธ.ค. นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นแกนนำของการชุมนุมในครั้งนี้ได้ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว

 

นายจอนกล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายนับตั้งแต่ยื่นหนังสือถึงประธาน สนช. ให้ถอนกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน 11 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของ สนช. แต่การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับความสนใจ เป็นบทเรียนของประชาชนมาตลอดว่าถ้าไม่สู้เพื่อสิทธิก็ไม่มีใครมอบสิทธิให้เรา

 

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ได้รวมพลังประมาณ 1,000 คน มาแสดงความรู้สึกถึงการที่กฎหมายที่เรียกร้องไปไม่ได้ถูกถอนออก ผู้มาชุมนุมบางส่วนได้ปีนรั้วเข้าไปในสภาเพื่อไปนั่งอย่างสงบที่หน้าห้องประชุม สนช. ซึ่งได้ผลในการไม่พิจารณากฎหมายสำหรับวันนั้น แต่สำหรับสัปดาห์นี้กฎหมายถูกผลักดันออกมาอย่างมากมาย 20-30 ฉบับต่อวัน

 

เมื่อคืน (20 ธ.ค.) การชุมนุมเลิกเร็ว เพราะเห็นแก่ความเหนื่อยของทุกคน แต่ สนช. ก็รีบเอา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ( พ.ร.บ.ความมั่นคง) เข้าสู่การพิจารณาทันที พฤติกรรมของ สนช. ไม่กล้าสู้หน้าประชาชน เพราะไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน แต่ตอบสนองนาย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อาจหยุดยั้งการออกกฎหมายของ สนช. ได้ แต่ถือว่าเป็นความสำเร็จใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือสามารถทำให้ประชาชนทั่วประเทศรับรู้การต่อสู้ของเรา เข้าใจในประเด็นที่ออกมา แม้หลายส่วนจะไม่เห็นด้วยที่ปีนสภาแต่ก็เข้าใจในเรื่องที่สู้ แต่ถ้าเราไม่ปีนเข้าไปสื่อก็จะไม่สนใจเรา เป็นความสำเร็จที่คนทั้งประเทศเข้าใจ

 

ประเด็นที่สอง เราเริ่มการใช้พลังของประชาชนเพื่อถอนพิษที่ สนช. ทำ ในวันดียวเราที่เริ่มล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง ได้รายชื่อแล้วจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าใน 20 วันคงได้ครบ

 

"สภาแห่งนี้ปิดต่อประชาชน แต่สภาหน้ารับเลือกมาจากประชาชน เขาต้องเปิดให้ตัวแทนของเราเราเข้าไปนั่งในกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการทำให้พลังของประชาชนมีมากยิ่งขึ้น เราถือว่าวันนี้คือจุดจบของ สนช. ที่ไม่เคยสนใจว่าประชาชนต้องการอะไร กฎหมายดีๆละเลย กฎหมายเลวๆก็เร่งผ่าน"

 

นายจอน กล่าวทิ้งท้ายว่า เราอาจไม่มีอำนาจยับยั้ง แต่เราสู้ด้วยศักดิ์ศรีสูงสุด มาด้วยตัวเปล่า มาด้วยหัวใจ และด้วยหัวใจจะทำให้ชนะ การต่อสู้ของประชาชนไม่มีวันสิ้นสุดแต่จะมีพลังกัดกร่อน เราจะสู้ต่อไป

 

จากนั้น นายจอนได้นำผู้ชุมนุมไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายแก่ สนช. ด้วยการนำดอกไม้จันทน์ไปวางที่รั้วประตูทางเข้า สนช. ซึ่งเจ้าหน้าที่เปิดทางให้โดยสะดวก

 

สำหรับผู้ต้องการลงชื่อถอดถอน พ.ร.บ.ความมั่นคง สามารถโหลดแบบฟอร์มได้ที่นี่ และส่งคืนที่ กป.อพช. 409 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ซ.โรหิตสุข ห้วยขวาง กทม. 10320

 

ส่วนบรรยากาศในการชุมนุมตลอดวัน นอกจากการผลัดกันกล่าวอภิปรายแล้ว ในช่วงก่อนพักทานอาหารกลางวันทางผู้ชุมนุมได้เดินขบวนไปตามถนนอู่ทองใน ก่อนจะหยุดและค่อยๆล้มลงทีละแถวเพื่อแสดงสัญลักษณ์การตายของประชาชนอย่างช้าๆเพราะถูกฆ่าตายไปแล้วด้วย พ.ร.บ.ความมั่นคง

 

แต่หลังจากประชาชนลุกขึ้นมาใหม่ได้เคลื่อนขบวนไปนั่งหน้าประตูทางเข้า สนช.เหมือนการชุมนุมที่ผ่านมา เพื่อฟังการอภิปรายต่างๆ

 

นอกจากนี้ นายวสันต์ สิทธิเขตต์ เครือข่ายศิลปินได้วาดภาพตัวเงินตัวทองหรือที่เรียกติดปากกันทั่วไปว่า "เหี้ย" ขนาดยักษ์บนผ้ายาวผืนหนึ่ง ผู้ชุมนุมจึงทำกิจกรรมลากเหี้ยไปวางหน้าสภาแล้วเขียนถ้อยระบายความในใจลงไป จากนั้นจึงแห่เหี้ยไปตามถนนหน้าสภา

 

ระหว่างนั้น เครือข่าย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ (พ.ร.บ.เหล้า) นำผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน มาร่วม เนื่องจาก สนช.เลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ  เหล้า ออกไป ทั้งที่ใช้เวลาพิจารณามาแล้วกว่า 200 วัน แต่อ้างว่าเป็นกฎหมายที่ยังมีความขัดแย้งสูง ผู้มาชุมนุมกลุ่มนี้ระบุว่ามีกระบวนการใหญ่โตอยู่เบื้องหลังภายใต้ผลประโยชน์จากธุรกิจน้ำเมากว่า 200,000 ล้านบาท ทางผู้ชุมนุมไม่ได้คัดค้านการดื่มสุราแต่ต้องการป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากการดื่มด้วยการไม่ให้โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ 24 ชั่วโมง

 

ทั้งนี้ เครือข่ายดังกล่าวได้ทำพิธีกรรมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง สนช.และนายทุนหรือ "ไอ้โม่ง" ที่อยู่เบื้องหลังการเลื่อนการพิจารณา พ.ร.บ.เหล้าออกไป มีการนำเข็มไปปักตุ๊กตาสาปแช่ง สนช.และนายทุนน้ำเมา รวมทั้งเผาหุ่นไอ้โม่ง

 

กิจกรรมในช่วงท้ายของการชุมนุม มีการนิมนต์ภิกษุ 3 รูปมาทำพิธีไล่เสนียดจัญไรออกจากสภา หลังสวดจบหลวงพ่อเทศนาเล็กน้อยความว่า คิดว่าการชุมนมเป็นบุญอย่างหนึ่งที่ทำเพื่อชาติ แต่ต้องเอาชนะมารหรือกิเลสที่นำไปสู่ความคิดชั่วเอาเปรียบประชาชน ต้องเอาชนะมารในตัวเองให้ได้ สุดท้ายจึงได้พรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้ชุมนุม

 

ในสภา

ขณะเดียวกัน ด้านในรัฐสภา สมาชิก สนช. ยังคงประชุมพิจารณากฎหมายตามปกติ และดำเนินการประชุมโดยไม่พักรับประทานอาหารกลางวันเป็นวันที่ 3 โดยในวันนี้ สนช. เห็นชอบประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับ อาทิ

 

ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยเสียง 146-1 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 59 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง    

ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 45 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานใหญ่ของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 50 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 62 เสียง งดลงคะแนน 1 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 60 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 59 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 82 เสียง

 

 

 

 

เบรก จุฬาฯ ออกนอกระบบ 27 สนช. ยื่นเรื่องให้ศาล รธน.ตีความ 

ในช่วงบ่าย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พล.อ. ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ สนช. พล.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน และนายไพศาล พืชมงคล สนช. ร่วมกันแถลงข่าวกรณีสนช. 27 คนเข้าชื่อส่งให้นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน สนช.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและตราขึ้นมาโดยไม่ถูกต้อง

 

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า สนช.หลายคน เป็นห่วงกรณีร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ผ่าน สนช.เป็นกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายมาตราที่มีข้อความและเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และถือว่าขัดต่อปณิธาน โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดการศึกษาให้กับพสกนิกรไทย ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ใน สนช.สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉันได้ ดังนั้นทาง สนช.ได้ล่ารายชื่อทั้งหมด 27 คนเพื่อส่งเรื่องให้ประธาน สนช.ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯมีเนื้อหาที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเมื่อเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วขบวนการทุกอย่างจะต้องยุติจนกว่าศาลรัฐธรรนนูญจะวินิจฉัยออกมา

 

นายไพศาล กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีลักษณะฉ้อฉลปล้นทรัพย์แผ่นดิน เพื่อให้คณะบุคคลเอาไปใช้สอยและเป็นการทำลาบพระบรมราชปณิธานแห่งการสถาปนาจุฬาฯ เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์หรือตอบสนองประโยชน์สำหรับการศึกษาขั้นสูงสำหรับผู้มีรายได้และฐานะอันสูงไม่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร ดังนั้นการตรากฎหมายในลักษณะนี้จึงไม่ใช่วิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญที่ต้องการความเสมอภาค เสรีภาพ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

 

นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้บัญญัติแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลแต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตามรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้บุคคลไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันและมีความเสมอภาคกันโดยกฎหมาย แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับตั้งองค์กรที่อยู่เหนือกฎหมายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายวิธีการงบประมาณ การตรวจสอบการบริหารการเงิน มีอำนาจในการแต่งตั้งคณะบุคคลที่มีอำนาจในองค์กรนั้นๆ

 

พล.อ.ปานเทพ กล่าวว่า มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จนถึงขั้นยื่นรายงานเรื่องนี้ต่อพระเทพฯ และตนก็ได้รับข่าวว่าจะมีการถวายฎีกาเรื่องนี้ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นในวันนี้เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกที่รุนแรง และไม่ให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาททาง สนช.จึงได้ยื่นเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอง

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงที่ผ่าน สนช.ไปแล้วว่า จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่เพราะเคยมีการระบุว่ามีบางมาตราขัดต่อรัฐธรรมนูญ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เรื่องที่มีการระบุว่ามีการขัดรัฐธรรมนูญสิทธิเสรีภาพ ในเรื่องที่มีการระบุว่าหากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่แล้วทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบนั้น เรื่องนี้ก็ได้มีการแก้ไขแล้ว โดยให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นตนจึงเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไปได้ จึงไม่ได้มีการทักท้วง เพราะร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวก็เป็นเพียงการเรื่องการปรับโครงสร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เท่านั้น แล้วเผด็จการก็ไม่มีแล้ว

 

สำหรับรายชื่อ สนช.ที่เข้าชื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อาทิ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พล.อ. ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ สนช. พล.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน สนช.นายไพศาล พืชมงคล สนช. นายคำนูณ สิทธิสมาน ท่านผู้หญิง ปรียาเกษมสันต์ ณ อยุธยา นายสุรินทร์ พิกลทอง นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นต้น

 

 

 

 

 

 

สนช.เผย "มือมืด" ดึงร่างกฎหมาย 4 ฉบับตกการพิจารณา

นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่าร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาเสร็จสมบูรณ์ โดยมีการจัดทำเป็นเอกสารพร้อมให้ สนช.ได้พิจารณาในวาระ 2และ 3 เพื่อผ่านเป็นกฎหมาย มี 4 ฉบับได้แก่ร่าง พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษี พ.ศ...ร่าง พ.ร.บ.สุรา พ.ศ..ร่าง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ..และร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ...ซึ่งหากมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย คนในสังคมไทยจะได้รับประโยชน์ โดยเราเชื่อว่าเมื่อสุรา เบียร์ บุหรี่ มีราคาสูงขึ้น ย่อมที่ส่งผลให้ลดจำนวนและปริมาณการเสพ และรัฐสามารถจัดเก็บภาษีในอัตราที่เป็นจริง และมีการประเมินการจัดเก็บภาษีสินค้าต่างๆ ให้ สามารถจัดเก็บในอัตราที่เป็นจริงมากขึ้น ทำให้เกิดรายได้เข้ารัฐเพิ่มมากนับแสนล้านบาทต่อปี จึงถือเป็นความเสียหายอย่างยิ่งของรัฐ ส่งผลให้บริษัทเบียร์ เหล้า สุรา ยาสูบ บริษัทนำเข้าสินค้าอุปโภค จะยังไม่ถูกควบคุมที่จะต้องเสียภาษีสูงขึ้น รวมถึงถูกควบคุมการโฆษณา

 

"ผมทราบว่ามีคนดึงร่างกฎหมายทั้งสี่ฉบับออกไป จึงไม่มีการบรรรจุวาระพิจารณาของ สนช. ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่กฎหมายดีๆ ไม่ผ่านเป็นกฎหมาย ทั้งๆ ที่เราทำเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเราเพิ่งทราบว่าไม่มีการบรรจุวาระพิจารณาในวันนี้ ซึ่งจะเป็นวันสุดท้ายที่จะพิจารณากฎหมาย ซึ่งจะทำให้ร่างกฏหมายทั้งสี่ฉบับตกไปโดยเราทำอะไรไม่ได้เลย ทำได้เพียงตั้งกระทู้ซึ่งจะได้ถามรมว.คลัง" นายสมชายกล่าวและว่า ได้ถามนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.แต่ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้ ทั้งนี้ จะยื่นกระทู้ถามรัฐบาล โดยเน้นที่จะขอคำตอบจาก รมว.คลัง ถึงร่าง พ.ร.บ.ทั้งสี่ฉบับ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรรพสามิต กระทรวงการคลัง

 

 

 

ผ่าน พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียง

นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช. มีมติ 88 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยมีสาระสำคัญเป็นการคุ้มครองคลื่นความถี่ให้กับหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน เช่น คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ของทหาร กรมประชาสัมพันธ์ ไม่สามารถถูกจัดสรรใหม่ และการให้องค์กรอิสระมีอำนาจควบคุม หรือห้ามเสนอข่าวสารโดยการสั่งการด้วยวาจาหรือหนังสือระงับรายการ

 

สำนักข่าวประชาธรรม รายงานว่า นายสุเทพ วิไลเลิศ ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า หัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ. ประกอบกิจการตัวนี้ไม่ได้มีการแก้ไขอะไรใหม่ เพียงแต่ใช้วิธีแก้ไขความให้กำกวม เพราะแม้จะมีการตัดมาตรา 5 ออก แต่ในมาตรา 87 และ 88 ก็ยังเปิดช่องว่างให้กับกรมประชาสัมพันธ์ ทหาร และหน่วยงานรัฐดำเนินการต่อได้ และยังเพิ่มอีกมาตราหนึ่งคือให้กระทรวงการคลังควักภาษีของประชาชนออกมาเพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนากิจการกระจายเสียง ทั้งที่จริงๆ แล้วต้องเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่ขอสัมปทานและหน่วยงานภาครัฐที่ถือครองคลื่นความถี่เป็นผู้นำรายได้ส่งเข้ากองทุน

 

"แต่ปรากฎว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้ หากอ่านตีความแล้ว จะมีการเขียนแค่ว่าให้กระทรวงการคลังเอาเงิน 2% เข้ากองทุน ดังนั้น 2% ที่ว่านี้ก็ให้เท่ากับตัวจำนวนเงินที่ทางเอกชนจ่ายค่าสัมปทานให้กับหน่วยงานรัฐที่มีคลื่นอยู่ ซึ่งไม่ได้หมายความว่ากองทัพและหน่วยงานราชการทุกแห่งที่มีรายได้จะนำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลังทั้งหมด" นายสุเทพ กล่าว

               

นายสุเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากนี้ ในมาตรา 92 ก็ยังให้ กทช. มาทำหน้าที่ชั่วคราวในการที่จะให้ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ซึ่งในร่างใหม่ ได้มีการเพิ่มสัดส่วนองค์กรภาคประชาชน และองค์กรที่อยู่ทางฝ่ายภาคธุรกิจ เข้ามาอยู่ในคณะอนุกรรมการภายใต้ กทช. แต่ที่สำคัญตั้งข้อสังเกตได้ว่า ถ้าคณะกรรมการ กทช. ชุดนี้มีอำนาจในการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการฯ เป็นการชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ในระหว่างที่ยังไม่มี กสทช. หรือ กสช. ก็แสดงว่าคณะกรรมการชุดนี้ จะยังไม่สิ้นสภาพ จะสามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไปได้เรื่อยๆ จนกว่าองค์กรอิสระอย่าง กสทช. หรือ กสช. จะเกิดขึ้น

 

 

สนช.วุ่นปิดท้าย- 3 วันปั๊มกม.64ฉบับ

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ในช่วงดึกวันที่ 21 ธ.ค. ได้พิจารณาลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 71 ต่อ 36 เสียง มีสาระสำคัญคือ มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม การโฆษณาหรือการประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคมโดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพ สัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น

 

 

ค้างร่าง พ.ร.บ.3 ฉบับ เพราะเกิดปัญหานับองค์ประชุม

ต่อมาก่อนที่ที่ประชุมจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ร่าง พ.ร.บ.สภาการเกษตรแห่งชาติ และร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ปรากฏว่านายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. เสนอปิดการประชุม ขณะที่นายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ สมาชิก สนช. ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ที่ประชุมพิจารณาตามระเบียบวาระต่อไป แต่นายวัลลภบอกว่าถือเป็นเอกสิทธิ์ที่จะขอปิดอภิปราย และเสนอให้นับองค์ประชุมทันที ซึ่งนายมีชัยได้สั่งให้นับองค์ประชุมโดยให้เจ้าหน้าที่นับ ขณะที่มีแนวโน้มว่าองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้นายมีชัยสั่งพักการประชุม 15 นาที ตั้งแต่เวลา 22.40 น. และเปิดประชุมอีกครั้งเวลา 23.00 น.

 

จากนั้น นายมีชัยได้กล่าวกับที่ประชุมว่าเราร่วมกันทำงานมาปีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทุกคนเหนื่อยยาก ระยะแรกต้องวุ่นอยู่กับการศึกษาเรื่องต่างๆ และพิจารณากฎหมายที่ทยอยเข้ามา กฎหมายบางฉบับได้ทำหน้าที่เป็นส่วนใหญ่ ลงทุนลงแรงไปจำนวนมาก ลงทั้งสติปัญญา บางคนควักกระเป๋าสตางค์ทำจนเสร็จและใกล้เสร็จ แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่สามารถนำมาบรรจุในระเบียบวาระทั้งหมด กฎหมายที่ทำมาไม่เสียหลาย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี"50 มาตรา 153 กำหนดใช้บังคับกับ สนช.ด้วย เชื่อว่ากฎหมายที่ทำเสร็จน่าจะได้รับการยืนยันจากรัฐบาลใหม่ภายใน 60 วัน โดยไม่ต้องลงทุนลงแรง เสียเวลาศึกษา แม้ยังไม่ผ่านวาระ 3 คงไม่เสียแรงเปล่า คงได้นำมาใช้ประโยชน์วันข้างหน้า และปิดประชุมเวลา 23.10 น. ทั้งนี้รวมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่ สนช.เห็นชอบผ่านเป็นกฎหมายใช้บังคับ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 19-21 ธ.ค. รวมทั้งหมด 64 ฉบับ โดยไม่ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ. 3 ฉบับที่ค้างอยู่ เพราะเกิดปัญหาการนับองค์ประชุมก่อน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net