Skip to main content
sharethis




เสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่ตัวชี้วัดของความถูกต้องเสมอไป มิหนำซ้ำอาจเป็นการถลำลึกลงไปในความหลงผิดก็ได้ นี่คือการยืนยันของคำภีร์อัลกุรอ่าน ความว่า "ถ้าหากท่านคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ที่อยู่บนโลกนี้แล้ว แน่นอนที่สุดเขาจะพาท่านทั้งหลายเข้าสู่วังวนแห่งความหลงผิด"


 


ส่วนหนึ่งของคำบรรยายของดร.มัสลัน มาหะมะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เรื่อง การเมือง ประชาชนและศาสนา ในการสัมมนาและนำเสนอนโยบายภาคประชาชนต่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ณ ห้องประชุมเชค ดาวูด อัลฟาฏอนี วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 50


 


000


 


"การเมือง ประชาชนและศาสนา"


 


ดร.มัสลัน มาหะมะ


รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา


 


เราจำเป็นต้องร่วมมือเพื่อผลักดันสิ่งที่เป็นความสำคัญยิ่งสำหรับชีวิตของมุสลิม เนื่องจากเราอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง และที่สำคัญยิ่ง วิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถือเป็นปัญหาเชิงระบบโครงสร้างทางสังคมทั้งระบบ ลำพังแค่เราจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวเกือบจะไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งต้องยอมรับว่าทำได้ยากยิ่ง


 


ประเด็นที่สำคัญท่ามกลางความนิ่งทางปัญญาและเกิดวิกฤติทางสังคมที่ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าเป็น วิกฤติทางการเมืองนั้น จริงๆ แล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง แต่เป็นระบบทางการเมือง


 


ที่ต้องเน้นคำว่าระบบ เพราะผมเชื่อมั่นว่า เราจำเป็นต้องลุกขึ้นแก้ปัญหาอย่างพร้อมเพรียงกัน ไม่ใช่ฝากความหวังอยู่ที่ตัวบุคคล หาไม่แล้วสังคมจะประสบกับความไร้เจ้าภาพรับผิดชอบแก้ปัญหา ทำให้เราอยู่ในวังวนของการจำยอมและความบาป มีการซัดทอดกันไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


 


ในภาวะเช่นนี้ มุสลิมควรมีจุดยืนอย่างไร และควรมีพฤติกรรมทางการเมืองที่สมควรเป็นโซ่ข้อกลางระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ หรือเราจะเป็นเพียงแค่มือที่ถูกยืมไปใช้ ในบางช่วงเวลาเท่านั้นเอง


 


ในฐานะอิสลามแล้ว มุสลิมคือผู้แทนของอัลเลาะห์ (พระเจ้าที่ผู้นับถือศาสนาอิสลามนับถือ) ที่ได้รับหน้าที่ให้ดำรงและพัฒนาสังคมโดยผ่านการสรุปของบรรดานักวิชาการที่ว่า เพื่อจะอุปถัมภ์ปกป้องศาสนาและบริหารจัดการโลก นี่คือวาระและภารกิจหลักสำคัญของมุสลิม


 


มุสลิมทุกคนต้องให้ความสำคัญกับภารกิจหลักนี้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพใด มีตำแหน่งอะไร ถือเป็น อะมานะห์ (ความรับผิดชอบ) ที่เราต้องถูกสอบสวนในวันอาคิเราะห์ (วันแห่งการพิพากษาความดีความชั่วซึ่งเป็นความเชื่อตามหลักศรัทธาของมุสลิม)


 


แน่นอนที่สุดว่าเป็นอะมานะห์(ความรับผิดชอบ) ที่หนักมาก ที่ทั้งภูเขาและฟากฟ้าทั้งเจ็ด ได้ปฏิเสธมาแล้ว หลังจากที่อัลเลาะห์ ทาบทามให้สิ่งที่ถูกสร้างที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นและเข้มแข็งมากกว่าเราเป็นล้านๆ เท่า ให้รับอะมานะห์(ความรับผิดชอบ) นี้ ซึ่งในคำภีร์อัล - กุรอ่าน(คำภีร์ที่อัลเลาะห์ประทานเพื่อเป็นธรรมนูญในชีวิตของมุสลิมผ่านนบี (อ่านว่า นะ-บี) มูฮัมหมัด ศาสดาแห่งอิสลาม) ความว่า "พวกเขาเหล่านั้นปฏิเสธที่จะรับอะมานะห์ (ความรับผิดชอบ) นี้" แต่อัลเลาะห์บอกในอัลกุรอ่านต่อว่า "และอัลเลาะห์ทำให้มนุษย์แบกรับภาระนี้ไป"


 


สาเหตุที่มนุษย์แบกรับภาระนี้เพราะมีคุณสมบัติเฉพาะสองประการ คือ "ธรรมชาติของมนุษย์มากไปด้วยความอยุติธรรม และมากไปด้วยความเขลาหรือความไม่รู้ มนุษย์จึงรับอะมานะห์นี้ไป ดังนั้น คุณสมบัติทั้งสองประการนี้ แม้เป็นคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับมนุษย์สำหรับการเป็นผู้นำไปแล้ว แต่อัลเลาะห์กำหนดให้มนุษย์ต้องรับภาระนี้


 


ความอยุติธรรมในที่นี้ คือ ความอยุติธรรมต่อตนเองด้วย ต่อมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นความเป็นจริงที่มนุษย์อยุติธรรมต่อตนเอง ทำร้ายตนเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง


 


ส่วนความเขลาตรงนี้คือ เขลาต่อสิ่งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เขลาในโลกนี้ด้วยซ้ำไป แล้วนับประสาอะไรที่จะไปรับรู้โลกอาคีเราะห์ (โลกหน้าหรือวันแห่งการพิพากษา) ที่เรายังไปไม่ถึง


 


มนุษย์จึงไม่มีวันที่จะเข้าใจโลกนี้ ที่มีอายุเป็นล้านๆ ปี ในขณะที่มนุษย์คนหนึ่งมีอายุประมาณ 60 - 70 ปีก็ตาย คนที่ตายไปแล้วก็ไม่มีใครมาเล่าถึงความล้มเหลวหรือความสำเร็จของตนเอง


 


ด้วยเหตุนี้ อัลกุรอ่านจึงสอนมนุษย์ให้ทราบว่า มนุษย์จำเป็นต้องได้รับการชี้นำ จากอัลเลาะห์ โดยการยึดมั่นสองหลักชัย คือ คำภีร์อัลกุรอ่าน และซุนนะห์ (แนวทางของนบีมูฮัมหมัด ศาสดาแห่งอิสลาม) ประเด็นคือ ท่านทั้งหลายจะไม่ประสบกับความผิดหวัง หลงทาง ถ้ายึดถือทั้งสองอย่าง


 


แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ที่อยุติธรรมและโง่เขลา มนุษย์พยายามที่จะปฏิเสธทางนำของอัลเลาะห์


 


ประเด็นที่เราต้องพูดวันนี้คือ คุณธรรมจริยธรรมซึ่งพูดกันอย่างกว้างขวางในเวทีต่างๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการพูดถึงผู้นำหรือนักการเมืองซึ่งความจริงแล้วทุกคนอยากให้มีคุณธรรมและจริยธรรม แต่สังคมปัจจุบันกำลังเมินหน้าหนีและหันหลังให้กับศาสนา


 


นี่คือสิ่งที่น่าแปลกมาก ทุกคนถามหาคุณธรรมและจริยธรรม แต่ทุกคนกำลังเมินหน้าและไม่สนใจศาสนา ถามว่าแล้วจะเอาคุณธรรมและจริยธรรมจากไหน


 


ก่อนหน้านี้สื่อนำเสนอผลการสำรวจความเห็นเอแบคโพลล์ เรื่องสถานภาพคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชนในสังคมไทย โดยแบ่งคุณธรรมเป็น 6 ด้าน คือ ความมีวินัย ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ สติ สัมปชัญญะ จิตอาสา และความขยันหมั่นเพียร ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า ร้อยละ 72 มีความเอนเอียงที่จะบอกว่าตนเองเป็นคนที่ทำอะไรตามใจคือไทยแท้


 


ร้อยละ 84 มีความเอนเอียงที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งน่าห่วงมาก ร้อยละ 53.2 มีความเอนเอียงที่จะยอมรับได้ หากรัฐบาลชุดใดก็ได้โกงกินแล้วทำให้ตนเองอยู่ดีมีสุข


 


นี่คือภาพสะท้อนของภาคประชาชน และนี่คือสิ่งที่ตอกย้ำสัจธรรมข้อหนึ่งว่าประชาชนเป็นอย่างไร นักการเมืองก็ต้องเป็นอย่างนั้น ดังสุภาษิตภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า "ท่านเป็นอย่างไร ท่านก็จะถูกปกครองเช่นนั้น"


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราจะพูดถึงประเด็นของการเลือกตั้ง โดยใช้เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นตัวชี้ขาด ในมุมมองของอิสลาม สรุปในเรื่องการเลือกตั้งหรือการแต่งตั้ง ได้ดังนี้


 


หนึ่ง เสียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่ตัวชี้วัดของความถูกต้องเสมอไป มิหนำซ้ำอาจเป็นการถลำลึกลงไปในความหลงผิดก็ได้ นี่คือการยืนยันของคำภีร์อัลกุรอ่าน ความว่า "ถ้าหากท่านคล้อยตามเสียงส่วนใหญ่ที่อยู่บนโลกนี้แล้ว แน่นอนที่สุดเขาจะพาท่านทั้งหลายเข้าสู่วังวนแห่งความหลงผิด" คือถ้าเราพร้อมที่จะรับเสียงส่วนใหญ่ของโลกนี้ สัจธรรมของคำภีร์อัลกุรอ่านบอกว่า เสียงส่วนใหญ่จะพาเราไปหลงผิด


 


สอง อิสลามให้ความสำคัญกับผู้ที่เสนอตัวเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ เพราะถือว่าผู้ใดที่เสนอตัวเข้ารับตำแหน่งนั้น ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับตำแหน่งทันที


 


นี่เป็นสิ่งที่เราต้องนำมาขบคิดกัน เพราะอัลฮาดิษ (คือคำพูด การกระทำและการยอมรับของท่านนบีมูฮัมหมัดศาสดาแห่งอิสลาม ซึ่งมุสลิมยึดเป็นแนวการดำเนินชีวิต) บอกไว้อย่างนั้น


 


แล้วในสมัยนั้น มีสหายของท่านนบีมูฮัมหมัดหลายคน มาเสนอหน้า และเสนอตัวเพื่อขอรับตำแหน่งจากท่าน ซึ่งท่านบอกว่า "ฉันไม่แต่งตั้งใครก็แล้วแต่ เพื่อมาบริหารกิจการของเราสำหรับคนที่เสนอตัว"


 


จริงๆ แล้วอัลฮาดิษนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์กันมาก พร้อมทั้งมีการประยุกต์ใช้ในสังคมปัจจุบัน โดยนักวิชาการมุสลิมปัจจุบันยังเห็นด้วยกับระบบการเลือกตั้งและก็ยังมีการเสนอตัวเพื่อรับตำแหน่ง


 


แต่ทั้งนี้ นักวิชาการได้ให้เงื่อนไขอย่างละเอียดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องถามว่ามีคุณสมบัติพร้อมหรือไม่ และการได้มาของผู้นำนั้น มาจากใคร ที่ไหน เป็นตัวแทนขององค์กรหรือไม่ หรือเป็นตัวแทนแค่ของกลุ่มผลประโยชน์หรือวงศ์ตระกูลเท่านั้น


 


ผู้นำในอิสลามคือ "อะมานะห์" ไม่ใช่วาลีมะห์ ซึ่งทั้งสองคำเป็นภาษาอาหรับ


 


คำแรกคือ ความรับผิดชอบ ส่วนคำที่สองคือ การกอบโกย ยื้อแย่งซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นอิสลามถือว่า ตำแหน่งหน้าที่คืออะมานะห์(ความรับผิดชอบ) ไม่ใช่วาลีมะห์(การกอบโกย)


 


สาม ผมอยากให้พวกเราศึกษาอัลฮาดิษหนึ่ง ที่ว่า "ใครที่ปกครองกิจการของมุสลิม แล้วแต่งตั้งผู้ชายในตำแหน่งหนึ่ง ทั้งที่มีอีกหลายคนที่เหมาะสมมากกว่า แท้จริงเขากำลังฉ้อฉล รังแก หรือทำลายอัลเลาะห์ ทำลายรอซูล (ศาสนทูตแห่งอิสลาม) และทำลายผู้ศรัทธาในพระเจ้าทั้งหลาย"


 


อัลฮาดิษนี้ ไม่ชี้เฉพาะผู้นำเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามอิสลามก็ใช้ระบบผู้นำ และผู้นำมีสิทธิจะแต่งตั้งใครก็ได้


 


อีกอัลฮาดิษหนึ่งที่ชัดเจนกว่า บอกว่า "ใครก็แล้วแต่ที่ดำเนินการในกิจการของมุสลิม และแต่งตั้งชายคนหนึ่ง เนื่องจากความรักส่วนตัว หรือมีความผูกพันทางญาติ แท้จริงคนคนนั้นกำลังฉ้อฉลอัลเลาะห์ รอซูล และบรรดามุสลิม"


 


ถ้าเรานำอัลฮาดิษนี้มาประยุกต์ใช้ในการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง ถ้ามุสลิมจะแต่งตั้งใครคนหนึ่ง โดยที่เราคิดว่ายังมีอีกหลายๆ คนที่เหมาะสมกว่า ถามว่าจะเข้าข่ายอัลฮาดิษนี้หรือไม่


 


ถ้าเขาแต่งตั้งโดยมีความสัมพันธ์ส่วนตัว ทั้งในครอบครัว หมู่บ้านหรือจังหวัด เขาก็กำลังทำลายกันทั้งจังหวัดหรือทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ถามว่าเราจะอยู่เป็นกลุ่มได้อย่างไร ในเมื่อเราทำลายทั้งสามอย่างดังกล่าวแล้ว


 


อีกอัลฮาดิษหนึ่งบอกว่า "อัลเลาะห์ให้อภัยสำหรับมุสลิมที่ทำชั่วด้วยตัวเองคนเดียวในที่ปิดบัง แต่ถ้าเขาทำชั่วต่อส่วนรวม เมื่อนั้นอัลเลาะห์จะส่งภัยพิบัติมาลงโทษ


 


ดังนั้น ถ้าการเลือกตั้งที่เป็นการทำลายอัลเลาะห์ (หมายถึงการเลือกตั้งที่ฉ้อฉล) ก็เท่ากับประกาศสงครามกับอัลเลาะห์ หรือกับทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งจะเป็นอันตรายมาก


 


สี่ ท่านนบีมูฮัมหมัดบอกว่า "ผู้นำในแต่ละชุมชนคือผู้รับใช้ของชุมชนนั้น" ดังนั้นแนวคิดการรับใช้ประชาชน เราซึมซับมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว เมื่อใครที่จะเป็นผู้นำ เขาผู้นั้นต้องเป็นผู้รับใช้สังคม


 


ผมขออ้างถึงอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เราต้องไปถามนักการเมืองว่าจะรับใช้ประชาชนอย่างไร เพราะนักการเมืองเขาต้องไปตอบคำถามให้กับนายทุนมากกว่าประชาชน


 


ห้า อีกอัลฮาดิษหนึ่ง บอกว่า "เอามั้ยล่ะ ฉันจะบอกกับท่านถึงผู้นำที่ดีที่สุดและผู้นำที่ชั่วร้ายที่สุด ผู้นำที่ดีคือ ผู้นำที่ท่านทั้งหลายรักเขาและเขารักท่าน ท่านทั้งหลายต้องช่วยขอพรให้เขาประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันเขาก็ขอพรให้กับท่านมีชีวิตอย่างปกติสุข


 


นี่คือผู้นำที่ดีที่สุด


 


แต่ผู้นำที่ชั่วร้ายที่สุด คือ ท่านโกรธเกลียดเขา และพวกเขาก็เกลียดท่านที่สุดด้วย ท่านสาปแช่งพวกเขา และเขาก็สาปแช่งท่านเช่นเดียวกัน"


 


ผมไม่อยากจะสืบเนื่องกับสังคมบ้านเราว่า ผู้นำแต่ละคนต้องนำมาซึ่งการยอมรับของประชาชนที่แท้จริง


 


อัลฮาดิษสุดท้ายที่ผมจะฝากไว้ รายงานโดยอัลบูคอรี ว่า "ท่านนบีมูฮัมหมัด สาบานด้วยพระนามของอัลเลาะห์ว่า "ฉันไม่กลัวว่าพวกท่านทั้งหลายจะประสบกับความยากจนอนาถา"


 


จึงอยากบอกว่า เราไม่จำเป็นต้องประกาศสงครามกับความยากจน เพราะความยากจนนั้น เป็นปรากฏการณ์ของสังคมและเป็นข้อเท็จจริงในสังคม ไม่ว่าสังคมจะมีความเจริญมากน้อยแค่ไหน


 


แต่ที่ท่านนบีมูฮัมหมัดกลัวที่สุดคือ "ฉันกลัวที่สุดว่า ซักวันหนึ่งโลกทั้งหลายจะหลั่งไหลเข้ามาสู่ท่าน เสมือนกับโลกได้หลั่งไหลเข้ามาสู่ประชาชาติก่อนหน้าพวกท่าน (หมายถึงในประวัติศาสตร์ก่อนสมัยท่านนบีมูฮัมหมัด)


 


แต่พวกท่านทั้งหลายกลับจะยื้อแย่ง รุมทึ้ง แย่งชิงผลประโยชน์ของโลกนี้ เสมือนกับประชาชาติรุ่นก่อนได้รุมทึ้งกันแล้ว


 


แล้วเป็นเหตุให้พวกท่านต้องประสบกับความหายนะ เสมือนพวกเขาได้ประสบหายนะแล้ว" นั่นคือสิ่งที่เรากลัว


 


ความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ในภาพรวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในระดับประเทศขณะนี้ คือ เรากำลังแย่งโลกกัน


 


ไม่ใช่เราหวาดกลัวเรื่องความยากจนของประชาชน เพราะโรคที่เกิดจากความยากจนนี้ไม่เท่าไหร่ การเสียชีวิตเพราะความยากจนอดอยาก มีเพียงแค่ในประเทศอาฟริกาเท่านั้น เท่าที่เราเคยได้ยิน


 


แต่โรคที่เกิดจากความอิ่มหนำ ร่ำรวยมีมากมาย และเป็นเหตุให้สังคมปัจจุบันกำลังปั่นป่วนและเป็นที่มาของความโหดร้ายต่างๆ


 


ดังนั้น ถ้าเราหันไปมองสังคมมุสลิมปัจจุบัน สังคมมุสลิมกำลังประสบภาวะวิกฤติแทบทุกด้าน ในระดับประเทศเรายังอยู่ในกลุ่มท้ายๆ ตารางของจังหวัดที่มีผลการศึกษาของเยาวชนในระดับต่ำสุด เรายังรักษาระดับของกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้น้อยที่สุด


 


ตอนนี้ สังคมอื่นมองสังคมมุสลิมว่ายากจนและไม่มีการศึกษา


 


เราแทบไม่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรายังอยู่แถวหน้าของสังคมบริโภคแทบทุกเรื่อง แม้แต่ข้าวสารเรายังต้องหามาบริโภคจากที่อื่น


 


เราเป็นประชาชาติที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในแทบทุกเรื่อง นวนิยายของการถูกหลอกลวง ถูกบิดเบือน ยังคงหลอกหลอนสังคมนี้อย่างไม่ขาดสาย


 


เรายังเป็นสังคมที่ไร้เดียงสา และถูกงูกัดในรูเดียวครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆที่เราอ่านอัลฮาดิษที่ว่า "ผู้ศรัทธาในอัลเลาะห์จะไม่ถูกงูกัดในรูเดียวถึงสองครั้ง" แต่เราไม่ได้ถูกกันแค่สองครั้งเท่านั้น


 


ในภาคประชาชน สังคมและครอบครัว เรายังพบว่าครอบครัวมุสลิมไร้ความอบอุ่น และไม่มีประสิทธิภาพ ครอบครัวมุสลิมแทบไม่มีบทบาทในการทำหน้าที่อบรมและปกป้องลูกหลานให้รอดพ้นจากการรุกรานทางวัฒนธรรมที่รุนแรง ทั้งที่กระจัดกระจายอยู่นอกบ้านและในบ้าน


 


เยาวชนถูกปล่อยปละละเลย สังคมไม่ได้รับการดูแล ไม่มีเจ้าภาพ ยาเสพติดและสิ่งมึนเมากลายเป็นสินค้าโอท็อปในร้านอาหารในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ในระดับหมู่บ้านขึ้นไป


 


ที่สำคัญ สังคมมุสลิมกำลังประสบภาวะภูมิคุ้มกันทางศาสนาบกพร่องอย่างรุนแรง ส่วนหนึ่งของเยาวชนกำลังสำลักทางวัฒนธรรมอันไร้ศีลธรรมและไร้ขอบเขต พวกเขากำลังเจริญรอยตามฝูงชนที่อัลเลาะห์กำลังโกรธกริ้วและสาปแช่ง จนกระทั่งยอมก้มหน้าก้มตาตามลงไปในรูแย้แล้ว นี่ก็เป็นอัลฮาดิษหนึ่ง


 


"ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้น เข้าไปในรูแย้ถึงชั้นในก็จะเข้าไป" นี่คือสัจธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเรา


 


ในขณะที่ภาพรวมของสังคมกำลังจมปลักอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง แบ่งพรรคแบ่งพวกหลงระเริงอยู่กับการแย่งชิงผลประโยชน์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด เรากำลังอยู่ในวงจรแห่งความลดและถดถอย


 


ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมากสำหรับเราในปัจจุบัน ในการทำหน้าที่ปกป้องอุปถัมภ์ศาสนาและบริหารจัดการโลกนี้อย่างเป็นสุข ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net