Skip to main content
sharethis

แปลจาก The Economist , Dec 19th 2007
South-East Asia's Pakistan?
Thailand is on the election trail and heading towards uncertainty


..................................................................................................................



ภาพจาก Reuters


 


ปากีสถานแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?


การเลือกตั้งของไทย กับเส้นทางสู่ความไม่แน่นอน


 


 


"เราไม่ได้มาขายน้ำปลา แต่นี่เป็นการรณรงค์หาเสียง" มุกตลกของ สมบัติ รัตโน ขณะพูดไมโครโฟน


อยู่ข้างๆ รถกระบะหาเสียง ในหมู่บ้านชนบทของจังหวัดอุบลราชธานี  


 


ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ยากจน และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง ต่อทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สมบัติ รัตนโน เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม เขาเป็นผู้สมัครของพรรคพลังประชาชน (พปช) พรรคไทยรักไทยของทักษิณที่กลับชาติมาเกิดใหม่หลังถูกยุบ ในการเดินหาเสียงในหมู่บ้าน เขาอ้างชื่อทักษิณในทุกโอกาสที่เป็นไปได้ เขาสัญญาว่าจะฟื้นนโยบายต่างๆ กลับมาใช้ นับตั้งแต่ นโยบายรักษาพยาบาลราคาถูก ไปจนถึงเงินกู้แก่เกษตรกร นโยบายซึ่งทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับความนิยม


 


ปากีสถาน ไม่ใช่ประเทศเอเชียประเทศเดียวที่ระบอบทหารเป็นผู้จัดการเลือกตั้งทั่วไป ด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ไม่น่าเชื่อถือ และมีเป้าหมายกีดกันนักการเมืองพลเรือนกลุ่มเดิมซึ่งถูกโค่นล้มลงไปด้วยการรัฐประหาร  สิ่งที่ไทยแตกต่างจากปากีสถานคือ ขณะที่ เบนาซี บุตโต กลับเข้าประเทศแล้ว แต่ทักษิณต้องลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งครั้งนี้


 


คนชั้นกลางชาวกรุงเทพ คนที่ชอบเหยียดหยามพี่น้องคนชนบท เหมือนกับชนชั้นนำในเมืองใหญ่ๆ ทุกแห่ง คนเหล่านี้มักจะพูดว่า พวกคนชนบทที่ "ไร้การศึกษา" เช่น พวกคนอีสานมักจะรับสินบน และถูกหลอกให้ลงคะแนนให้ทักษิณ แต่คนชนบทเหล่านั้นลงคะแนนอย่างมีเหตุผลในการเลือกตั้งปี 2001 และ 2005 ซึ่งทำให้ทักษิณชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองคนแรกของประเทศไทย ให้สัญญาและปฏิบัติตามนโยบายที่ตอบสนองผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน การซื้อเสียงที่ทักษิณเผชิญอยู่ ถึงแม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับการเมืองไทย


 


ข้อกล่าวหาร้ายแรงต่อทักษิณคือ "สงครามยาเสพติด" ในปี 2003 ดูเหมือนว่า เขาเอื้อให้ตำรวจใช้อำนาจวิสามัญฆาตกรรมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด การสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้ เริ่มต้นขึ้นหลังจากการรัฐประหาร จนปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ-นี่อาจเป็นเพราะว่า แม้นโยบายจะมีความโหดเหี้ยม แต่ก็เป็นนโยบายที่ได้รับความนิยม และพรรคพลังประชาชนเองก็พูดถึงการนำนโยบายนี้กลับมาใช้อย่างไม่อาย


 


สมบัติ รัตโน สวมเสื้อที่มีตราสัญญลักษณ์เฉลิมฉลองพระชนม์มายุครบ 80 พรรษา นี่เป็นการตอบโต้อย่างแยบยลต่อข้อกล่าวหาของคณะทหารที่ว่า ทักษิณและพรรคไทยรักไทย ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


 


พรรคพลังประชาชน ยังติดต่อให้คุณสมัคร สุนทรเวช ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์มากที่สุดคนหนึ่งมาเป็นหัวหน้าพรรค ในขณะที่ทักษิณอยู่ต่างประเทศ และคุณสมัครเป็นปฏิปักษ์กับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร


 


พรรคการเมืองทั้งหลาย ทั้งเก่าทั้งใหม่ ลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ บางพรรคเอาอดีตทหารมาอยู่ในพรรคและหวังว่ากองทัพจะหนุนหลัง นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ แพทย์ในจังหวัดอุบลราชธานี สังกัดพรรคมัชฌิมาธิปไตย ชี้ให้ประชาชนเห็นถึงข้อบกพร่องจากนโยบายของทักษิณ แต่พรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงพรรคของหมอนิรันดร์เองก็นำนโยบายเหล่านั้นมาปรับใช้


 


คณะรัฐประหารให้เหตุผลของการรัฐประหารว่า เพื่อเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตยจากการทำลายของทักษิณ ความเป็นเผด็จการของคณะรัฐประหารอาจอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงนัก และทหารก็ทำตามสัญญาที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในปลายปี 2007 โดยคณะรัฐประหารหวังว่า เมื่อถึงเวลานั้น ประชาชนคงจะลืมทักษิณไปแล้ว แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น  


 


แม้ว่าโพลล์หลายสำนักจะมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่โพลล์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า พรรคพลังประชาชนจะได้ที่นั่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ได้เสียงเกินครึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ข้อสันนิษฐานที่แพร่หลายคือ พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มั่นคง ปัญหาคือคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้อายุน้อยและหล่อเหลา อาจไม่สามารถทำให้เกิดการยอมรับนับถืออย่างเพียงพอในการนำรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคที่กระจัดกระจาย


 


ก่อนการรัฐประหาร ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะหนีพ้นจากวงจรของเผด็จการทหาร กับการปกครองของรัฐบาลพลเรือนที่อ่อนแอในทศวรรษที่ 1990 ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของระบอบประชาธิปไตยหลายพรรคการเมืองในเอเชีย สิ่งเหล่านี้จะกลับมาอีกหรือไม่ยังไม่มีคำตอบ


 


ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคพลังประชาชนอาจจะทำให้รัฐบาลผสมของประชาธิปัตย์ไม่ราบรื่นและมีอายุสั้น แต่ถ้าพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล สัญญาสงบศึกระหว่างกองทัพกับพรรคพลังประชาชนถึงแม้มีความเป็นไปได้ แต่ผู้นำกองทัพก็จะรู้สึกวิตกกังวล    


 


พรรคพลังประชาชนสัญญาว่า จะเพิกถอนคำตัดสินให้ตัดสิทธิทางการเมืองทักษิณและอดีต ส.ส.อีก 110 คนของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยคณะทหาร นอกจากนี้ หากทักษิณกลับมา เขาอาจจะมีความสามารถที่จะดำเนินการยกเลิกการนิรโทษกรรมที่คณะรัฐประหารออกให้กับตัวเอง และนำนายทหารเหล่านั้นขึ้นศาล     


 


พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้นำกองทัพคนใหม่ ยืนยันว่าจะไม่มีรัฐการรัฐประหารอีก แม้ว่าฝ่ายทักษิณจะชนะการเลือกตั้งก็ตาม เช่นเดียวกับ พลเอกสนธิ บุญรัตนริน ที่เคยสัญญาแบบเดียวกัน ในช่วงก่อนที่เขาจะทำการรัฐประหาร


 


ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา นายทหาร ข้าราชการ และผู้มีอำนาจ บริหารประเทศได้อย่างน่าหดหู่ ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เศรษฐกิจเติบโตช้าที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ทั้งๆ ที่อยู่ในภูมิภาคซึ่งเศรษฐกิจกำลังเติบโตสูง  


 


รัฐบาลชั่วคราวที่กองทัพแต่งตั้ง เป็นรัฐบาลที่ไม่มีความสำคัญ ไร้ซึ่งความนิยม พลเอกสนธิ บุญรัตนริน ยกเลิกแผนลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อได้ว่ากลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่า กองทัพและผู้นำพลเรือนผู้ให้การสนับสนุนกองทัพ เรียนรู้บทเรียนในอดีตว่า การรัฐประหาร และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ทำให้วิกฤติทางการเมืองยิ่งเลวร้าย และไม่นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่ดีได้


 


องค์กรกำกับดูแลการเลือกตั้งและองค์กรตุลาการต้องพิสูจน์ตัวเองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ในกรณีเอกสารลับแผนการสกัดกั้นพรรคพลังประชาชนซึ่งวินิจฉัยว่าทหารไม่มีความผิด แต่ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้งขู่ว่าจะตัดสิทธิพรรคพลังประชาชนในเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าคือ การเผยแพร่คลิปวีดีโอซึ่งคุณทักษิณฝ่าฝืนข้อห้ามจากการถูกตัดสิทธิทางการเมือง โดยขอให้ประชาชนสนับสนุนพรรคพลังประชาชน


 


หลังจากที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจบลง คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาล จะต้องจัดการกับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ถ้าพวกเขาบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นกลางและไม่ล่าช้า อาจทำให้ประเทศไทยกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย แต่ถ้าพวกเขาใช้อำนาจชี้ขาดตามอำเภอใจ เอนเอียง และถ่วงให้ล่าช้า อาจนำประเทศไทยไปสู่ความภาวะไร้เสถียรภาพอีกหลายปี  โดยเฉพาะหากพวกเขาทำให้เกิดมีความรู้สึกว่า ประชาชนที่ได้ออกเสียงเลือก "ทักษิณนิสม์ (Thaksinism)" ไปแล้ว แต่เจตนารมณ์ของพวกเขาถูกขยำทิ้งไป


 



 


 


 


 


 


 


 


 


 


      


 


 


 


    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net