Skip to main content
sharethis

คณะของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าพบตัวแทนแรงงานจากย่านนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน พบมีการละเมิดสิทธิแรงงานโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพียบ ทั้งการบังคับโอที-ปิดงาน-มาตรฐานความปลอดภัยการทำงาน-เจ้าหน้าที่รัฐไม่เหลียวแล สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ รับจะรวบรวมข้อมูลเสนอเป็นผลการวิจัยของสภาที่ปรึกษาฯ ต่อไป

 

 

 

 

วานนี้ (21 ธ.ค.) นายสุกิจ ศิริภัทร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) และคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ได้เดินทางไปที่ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน เพื่อพบปะหารือกับตัวแทนพนักงานที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน เพื่อเก็บข้อมูลสภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตของคนงานจากโรงานต่างๆ ในย่านดังกล่าว

 

 

 

 

 

โดยนายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ จากมูลนิธิเพื่อนหญิง ให้ภาพรวมสถานการณ์แรงงานในย่านดังกล่าวว่า กิจการร้อยละ 80 ของนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูนเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออก โดยมีกว่า 70 โรงงาน ถือว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นหัวใจหลักของย่านนี้ ที่เหลือร้อยละ 20 เป็น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ และเครื่องประดับ อัญมณี

 

 

 

 

 

ปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิ เมื่อต้นปี 2550 เฉพาะพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือมีคนงานประมาณ 50,000 คน โดยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือตอนบน และมาจากทุกภาคของประเทศ จำนวนคนงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือปัจจุบันอาจถึง 60,000 คน เพราะมีการประกาศรับสมัครงานเรื่อยๆ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมตัวเลขคนงานในส่วนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ และโรงงานรอบๆ เขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งน่าจะมีคนงานกว่า 100,000 คน

 

 

 

 

 

โดยคนงานในนิคมอุตสาหกรรม มีอายุตั้งแต่ 18 ปีจนถึง 40 ปี สำหรับคนงานถ้ามีอายุ 35 ปี หากต้องออกจากงาน โอกาสจะได้งานใหม่มีน้อยมาก ผู้ประกอบการมักจะไม่รับคนงานที่มีอายุมากๆ เข้าทำงาน

 

 

 

 

 

ในปี 2532-2533 โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน จะมีปัญหาเรื่องการป้องกันด้านสภาพแวดล้อม อุปกรณ์ป้องกันสารเคมีไม่ครบ คนงานได้รับสารเคมีโดยตรงและสะสมสารเคมีไว้ในร่างกาย ผลคือมีคนงานเสียชีวิตต่อเนื่อง นับ 10 กรณี แต่มักมีการปกปิดข้อมูลและเลี่ยงว่าคนงานเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ แทนที่จะบอกว่าเสียชีวิตเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้รับสารเคมี และขาดแคลนทักษะการทำงานกับสารเคมี

 

 

 

 

 

ในปี 2535-2536 เป็นช่วงที่มีคนงานเสียชีวิตทีละมากๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีหลายหน่วยงานลงไปเก็บข้อมูล โดยโรงงานที่มีปัญหาบางแห่งก็ปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ยังพบการละเมิดสิทธิคนงาน โดยคนงานไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในปี 2541 โดยคนงานอาจได้รับค่าแรง และค่าล่วงเวลา แต่นายจ้างอาจบิดเบี้ยวในการบังคับใช้กฎหมาย คนงานไม่ได้สิทธิในการทำโอที เพราะถ้าไม่ทำวันเดียว จะถูกนายจ้างงดโอทีเป็นอาทิตย์ไปเลย หรือถูกใบเตือน ซึ่งนายจ้างทำแบบนี้ไม่ได้ แต่คนงานก็ไม่รู้จะต่อสู้กับนายจ้างอย่างไร

 

 

 

 

 

ในเรื่องของสวัสดิการก็มีการตัดสวัสดิการของพนักงานไปเรื่อยๆ ตอนแรกโรงงานเปิดใหม่ก็อาจให้สวัสดิการดี แต่พอรู้ว่าคนงานไปทำงานที่ไหนไม่ได้แน่ ก็จะตัดสวัสดิการลงเรื่อยๆ

 

 

 

 

 

การอบรมเรื่องสวัสดิการแรงงานในโรงงาน ก็ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เช่น ฝ่ายอบรมจากนายจ้างไม่มีการพูดถึงการยื่นข้อเรียกร้องข้อปรับสภาพการจ้าง ไม่พูดเรื่องการรวมกลุ่มของคนงาน ทั้งที่มีความจำเป็นสำหรับคนงาน พูดแต่เรื่องค่าจ้าง วันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ตัวกฎหมายสำคัญคนงานจะไม่รู้ พอไม่รู้ก็นำไปสู่การไม่สามารถรวมกลุ่มในการแก้ไขปัญหาได้

 

 

 

 

 

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานก็ไม่อยากให้คนงานรวมกลุ่มต่อรองกับนายจ้าง เพราะคิดว่าจะยิ่งเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนงานและบริษัท ฝ่ายนายจ้างก็ไม่ต้องการให้คนงานรวมกลุ่ม เพราะต้องการได้ผลประโยชน์จากการประกอบกิจการ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามีสหภาพแรงงานก็ต้องแบ่งผลประโยชน์ให้คนงาน ทำให้ได้ไม่เต็ม 100%

 

 

 

 

 

เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนหญิงผู้นี้ ยังระบุว่ามีการละเมิดสิทธิแรงานโดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย เช่น ทำให้การลาป่วยของลูกจ้างยุ่งยาก เพราะนายจ้างให้ลูกจ้างส่งใบรับรองแพทย์ด้วย แทนที่จะให้ลูกจ้างได้ใช้สิทธิลาป่วยและพักผ่อนอยู่บ้านและได้เงินค่าจ้างวันที่ป่วย กลับต้องลาป่วยและต้องไปเสียเงินให้หมอออกใบรับรองแพทย์ ซึ่งทำให้คนงานมีภาระค่าใช้จ่ายอีก

 

 

 

 

 

เรื่องการตรวจสุขภาพประจำปีก็มีปัญหา บางสถานพยาบาลคนงานไปตรวจอย่างไรก็ไม่เจ็บป่วย คนสายตาสั้นไปตรวจก็จะสายตาปกติ ยกเว้นถ้าคนงานถูกตรวจว่าเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี จะถูกส่งข้อมูลให้บริษัท ถูกบริษัทบีบให้ลาออก แทนที่จะหาวิธีป้องกันให้พนักงาน เช่น จัดหากรวยน้ำดื่มกระดาษ แต่บริษัทจะเลือกวิธีให้คนงานออกไป

 

 

 

 

 

บางโรงงานที่ทำงานกับสารเคมี คนงานทั้งแผนกตรวจร่างกายทุกปี ผลปกติทุกปี พอตรวจที่อื่นผลชัดเจน ว่ามีการสะสมของสารเคมีในร่างกายชัดเจน แต่โรงงานก็จะเก็บผลการรักษาเอาไว้ แล้วเลือกไล่คนงานแทนทั้งแผนก

 

 

 

 

 

หรือหากคนงานเจ็บป่วนจากที่ทำงาน บริษัทก็จะให้ฝ่ายบุคคลตามคนงานไปด้วย เพื่อบอกสถานพยาบาลว่าไม่ได้เจ็บป่วยมาจากที่ทำงาน ให้ใช้สิทธิประกันสังคม แทนที่จะเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบอยู่แล้ว เป็นการลดภาระของนายจ้าง และไม่ทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ คนงานจากหลายโรงงานยังให้ข้อมูลแก่ คณะของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด้วย โดยคนงานรายแรก เปิดเผยว่า โรงงานกำลังเลิกจ้างคนงาน เพราะยอดการผลิตลดลง แต่เลือกใช้วิธีให้คนงานสมัครใจลาออกเองแทนการไล่ออก ทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยเต็มจำนวน หรือคนยังไม่ลาออก บางแผนกโรงงานจะหยุดจ่ายงาน แล้วจ่ายเงินร้อยละ 70 ของค่าแรง แล้วลดลงเป็นร้อยละ 60 และร้อยละ 50 ในปัจจุบัน ซึ่งพนักงานก็ได้แต่คุยกัน แต่ก็ไม่รู้จะร้องเรียนอย่างไรเพราะไม่รู้ข้อกฎหมาย

 

 

 

 

 

นายสุชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าคนงานลาออกเอง ตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินประกันสังคม จะได้รับเงินชดเชยน้อยกว่า การที่ถูกบริษัทเลิกจ้างเอง ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานมากกว่า ดังนั้นบริษัทจะหาทางให้พนักงานลาออกเอง

 

 

 

 

 

นายสุชาติยังกล่าวว่า เรื่องการที่ผู้บริหารใช้มาตรการปิดงานกับคนงานใช้ไม่ได้ เพราะเคยมีการวินิจฉัยจากกระทรวงแรงงานว่าการปิดงานตาม ม.75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ครอบคลุมเรื่องหาวัตถุดิบไม่ได้จึงปิดงาน หรือผลิตสินค้าไว้เยอะแล้วจึงปิดงาน ซึ่งทั้งสองกรณีนายจ้างทำไม่ได้ ถือว่าผิดกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่แรงงานประจำจังหวัดก็ไม่เข้ามาห้าม นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่ามีผลประโยชน์กับนายจ้างด้วยหรือไม่

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่สอง เปิดเผยว่าที่โรงงานเดิมมีสวัสดิการเพิ่มค่าแรงตามวุฒิการศึกษา อยู่ในค่าแรงรายวัน แต่ต่อมาก็ตัดสวัสดิการนั้นออก แล้วนำไปรวมกับฐานค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเพิ่งปรับที่ จ.ลำพูน (จาก 149 บาท เป็น 152 บาท) ทำให้ได้ค่าแรงเพิ่มจริงๆ เพียงบาทเดียว

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่สาม ก็ร้องเรียนเช่นเดียวกัน ว่าโรงงานที่ตนเองทำ เคยมีสวัสดิการค่ายืนให้กับพนักงานในแผนกที่ต้องยืนทำงานวันละ 7 บาท ต่อมาหักเหลือ 5 บาท โดยอ้างว่าจะเอาเงินที่หักไปรวมในค่าจ้าง โดยให้เหตุผลว่าถ้ารวมในฐานค่าจ้างคนงานจะได้ค่าแรงมากกว่า มีการพูดให้พนักงานเชื่อว่าเงิน 5 บาท มากกว่าเงิน 7 บาท แต่คนงานรู้ว่าตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ถ้านายจ้างจะเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน คนงานต้องลงชื่อยินยอม ดังนั้นเลยไม่มีใครเซ็นยินยอม

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่สี่ ร้องเรียนว่า ในโรงงานสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ทั้งแผนกมีคนงานหลายร้อยคน แต่มีห้องน้ำชาย 2 ห้อง ห้องน้ำหญิง 4 ห้อง หากจะไปเข้าห้องน้ำต้องไปรอตั้งแต่ยังไม่ปวด เพราะคิวยาว

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่ห้า ตั้งข้อสังเกตว่า ที่โรงงานของตน เพิ่งมีการติดตั้งหัวฉีดน้ำแบบติดเพดานสำหรับดับเพลิง เพราะเมื่อไม่นานเกิดเหตุไฟไหม้อาคารเก็บของ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต แสดงว่าถ้าคนงานไม่ตาย หรือการผลิตไม่เสียหายเขาคงไม่คิดติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงดังกล่าว

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่หก ร้องเรียนว่า มีอยู่วันหนึ่ง ผู้บริหารของโรงงาน ให้ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีการใช้สารระเหยทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศด้วย แต่ไม่ยอมให้คนงานในแผนกนั้นหยุดการผลิต ต้องทำการผลิตต่อทั้งที่มีการซ่อมเครื่องปรับอากาศและมีการใช้สารระเหยด้วย และหน้ากากป้องกันที่ได้รับก็เป็นเพียงผ้าปิดจมูกซึ่งป้องกันอะไรไม่ได้

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่เจ็ด กล่าวว่า การขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเขาไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร

 

 

 

 

 

พนักงานรายที่แปดกล่าวว่า ในโรงงานของตน ซึ่งใช้อุปกรณ์ที่มีคมในการทำงาน มักมีคนงานได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน นอกจากนี้อุปกรณ์ป้องกันในโรงงานมีไม่เพียงพอ อย่างเช่นผ้าปิดจมูกกันฝุ่น ถ้ามีคนมาตรวจทีหนี่งถึงจะมีมาแจกให้ทีหนี่ง ดังนั้นเลยอยากให้เขามาตรวจโรงงานของเราทุกวัน

 

 

 

 

 

พนักงานงานคนสุดท้าย กล่าวว่า บริษัทของเขาใช้คนทำงานเท่าเดิม แต่เพิ่มเป้าในการทำงานมากขึ้นๆ เรื่อยๆ และใช้มาตรการกดดันในการทำงานโดยอ้างว่าเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ขณะที่หัวหน้าแผนกก็ได้รับคำสั่งมาจากผู้บริหารว่าต้องการให้พนักงานทำยอดการผลิต แต่ว่าถ้าพนักงานทำยอดผลิตจะไม่สามารถทำตามมาตรฐานการผลิตได้ หัวหน้าแผนกจึงแนะนำว่าทำให้ได้ตามเป้า แต่หาวิธีทำเองแล้วกัน อาจไม่ตรงตามมาตรฐานการผลิต แต่อย่าให้เจ้าของบริษัทมาเห็น เป็นต้น

 

 

 

 

 

โดยนายสุกิจ ศิริภัทร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าจะนำข้อมูลที่ได้ รวบรวมเป็นการวิจัยของสภาที่ปรึกษาฯ ต่อไป เพื่อจะได้เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงต่อไป และกล่าวให้กำลังใจคนงานในการรวมกลุ่มรักษาสิทธิต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

 

 

ประสบการณ์การสร้างสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมในโรงพยาบาลประเทศเกาหลี: บทเรียนสำหรับประเทศไทย, ประชาไท 18/12/2550

 

 

มุมมองทางเศรษฐกิจ จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน, ประชาไท, 18/12/2550

 

 

เครือข่ายแรงงานยื่นข้อเสนอรัฐบาล อย่า "เลือกปฏิบัติ" แรงงานข้ามชาติ, ประชาไท 19/12/2550

 

 

"ปัญหาของแรงงาน" ก่อนเลือกตั้ง..นักการเมืองเขาจะสนใจไหม?, ประชาไท 19/12/2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net