บทความ: "คนดีมีความรู้" ยาสามานย์ประจำบ้านสำหรับการเลือกตั้งและการเมืองไทยหลังรัฐประหาร

มุกดา  ตฤณชาติ

 

น่าอดสูใจสำหรับ "สภาคนดีผู้ทรงเกียรติ" ในการลักลอบผ่าน พ..บ.ความมั่นคงฯ ในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งเพียง 3 วัน และในช่วงเวลาที่ผู้ชุมนุมคัดค้านทยอยกลับมาพักผ่อนที่บ้าน

 

น่าอดสูใจสำหรับการประท้วงคัดค้าน พ..บ.ความมั่นคงฯ และกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีคนเข้าร่วมไม่ถึงหลักหมื่น ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกคนในสังคมไทย

 

เช่นนี้แล้ว เรายังจะวางใจใน "คนดี" อันเป็นวาทกรรมของคนชั้นกลาง/ชนชั้นนำได้อย่างไร เรายังจะวางใจใน "ความรู้" ของคนชั้นกลางหรือคนในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร

 

ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา บอกให้คนชั้นล่างที่ "โง่-ไม่รู้จักพอ-เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า" รู้ว่า "คนดี" และ "คนมีความรู้" เป็นคนละเรื่องกับ "ประชาธิปไตย" !!!

 

"คนดี" ทำอะไรก็ได้ถึงแม้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

"คนดี" ทำอะไรก็ได้ถึงแม้จะมีกระแสคัดค้านในสังคม

"คนดี" ทำอะไรก็ได้ถึงแม้จะส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ (ที่เป็นคนจน)

"คนดี" ทำอะไรก็ได้ถึงแม้จะขัดกับตรรกะที่ตนเองเคยอ้างมา (ในการล้ม/สนับสนุนการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง)

 

เพียงเพราะว่าเขาเหล่านั้นมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีเจตนาที่ดี และมีความหวังดีต่อประเทศชาติ (ศาสน์ กษัตริย์)

 

"คนมีความรู้" หมายถึง คนที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า แต่เห็นแก่ประโยชน์ระยะยาวถึงแม้จะเป็นประโยชน์เฉพาะตน

"คนมีความรู้" หมายถึง คนที่ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ถ้าพิจารณาแล้วมีผลกระทบถึงตนเองไม่มากนัก (เช่น พ..บ.ความมั่นคงฯ)

"คนมีความรู้" หมายถึงคนที่ไม่ต้องคำนึงถึงหลักการ (ประชาธิปไตย) ก็ได้ ถ้าหลักการนั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ตน เพียงเพราะว่าเขาผู้มีความรู้นั้น มีการศึกษา มีเหตุผล มีสติปัญญา คิดใคร่ครวญ ไตร่ตรองดีแล้ว

 

"คนดีมีความรู้" เป็นอีกวาทกรรมหลักที่ครอบงำสังคมไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ฟังดูสวยหรูและไม่สามารถปฏิเสธขัดขืนได้ แต่ผลอีกด้านหนึ่ง มันบ่อนเซาะทำลายความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสียงของคนส่วนใหญ่ไป

 

การมีคุณธรรม มีเจตนาที่ดี และมีความรู้ หากแต่มีทัศนะที่คับแคบ มองไม่เห็นว่าสังคมไทยประกอบด้วยคนจนตัวเล็กๆ มากมายที่ไม่มีโอกาส ไม่มีอำนาจ แต่มีสิทธิในความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน หากขาดจุดยืนที่ชัดเจนว่าประชาธิปไตยคือการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่คนทุกคน และหากขาดกติกาที่สร้างการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบของทุกฝ่าย "คนดีและมีความรู้" ก็ไม่มีคุณค่าอะไรในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีคุณค่าอะไรสำหรับคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นได้เพียงแค่อีกหนึ่งวาทกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อดำรงรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง และดำรงรักษาอำนาจของชนชั้นผู้ปกครองเท่านั้น เป็น "ยาสามานย์ประจำบ้าน" สำหรับการเลือกตั้งและการเมืองไทยหลังการรัฐประหารที่ไม่สามารถรักษาโรคอะไรได้เลย

 

ดังนั้น ในท่ามกลางการรณรงค์ให้เลือกคนดี หากผลการเลือกตั้งของคนชนบทไม่ได้เทไปให้พรรคการเมืองที่มีภาพลักษณ์ของ "คนดีและมีความรู้" คนจนไร้การศึกษาก็คงไม่ใช่จำเลยให้สังคมต้องกล่าวโทษ ในเมื่อสิ่งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราไม่สามารถวางใจในความเป็น "คนดี" หรือ "มีความรู้" ได้ในท่ามกลางระบบและกติกาที่เป็นอยู่นี้

 

และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นอย่างไร นั่นคือภาพสะท้อนของสังคม/การเมือง และเป็นตัวบ่งชี้เจตนารมย์ของประชาชนที่มีต่อสังคม/การเมืองในปัจจุบัน ที่ผู้มีอำนาจและผู้ที่พยายามแทรกแซงการเมืองต้องรับฟัง ไม่ใช่ตัวชี้วัดความรู้ทางประชาธิปไตย หรือวัดความดีของคนในชาติ!!!    

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท