Skip to main content
sharethis

แดฟเน ไวแชม (Daphne Wysham)


www.seen.org


www.ips-dc.org


 


วันนี้เป็นวันที่สี่ของการประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ อากาศก็ร้อนชื้น กระทั่งในห้องต่างๆ ภายในสถานที่ประชุมที่ผู้คนออกันรอบๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ยังกับเป็นห้องอบซาวนา ซึ่งก็เหมาะสมดี เพราะมันเตือนให้เราไม่เพียงแต่ตระหนักว่าเรากำลังอยู่ที่ไหน (เกาะบาหลีในเขตร้อน) เท่านั้น และยังตระหนักว่ามาที่นี่กันทำไมอีกด้วย โลกกำลังป่วยไข้ และเรามาที่นี่เพื่อช่วยลดไข้ ก่อนที่จะสายเกินไป แต่ปัญหาก็คือ เราจะสามารถจัดแจงโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งหวังได้หรือไม่


เว็บไซต์สำหรับการประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติ http://unfccc.int/ มีแสดงท่าทีตั้งความหวังต่อการประชุมคราวนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการถ่ายทำนั้นก็ปรากฏการแตกแยกไม่ลงรอย ไม่ใช่แค่ระหว่างประเทศทางเหนือกับประเทศทางใต้, กลุ่มประเทศ G77 กับ EU, กลุ่มประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์กับที่เหลือทั้งโลกเท่านั้น แต่ยังมีระหว่าง NGO กลุ่มต่างๆ ด้วยกันเองอีกด้วย


เมื่อมีเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องมีการต่อสู้ช่วงชิงกันมากสักหน่อย และตอนนี้ก็มีเงินมากเสียด้วยที่ลอยว่อนอยู่ตรงหน้าทั้งรัฐบาลและเอ็นจีโอ ซึ่งมีวลียอดฮิตคือ ยอมรับการค้าคาร์บอน (carbon trading) เสียเถอะ หรือไม่ก็จะชวดไม่ได้อะไรเลย กระทั่งเจ้าเงินก้อนที่เรียกกันว่า กองทุนเพื่อการปรับตัว (adaptation fund) ซึ่งอาจจะเป็นก้อนที่ใหญ่ที่สุด ก็กำลังถูกยื่นหมูยื่นแมวให้กับประเทศยากจน ด้วยการหักเปอร์เซ็นต์จากเงินที่ได้จากการค้าคาร์บอน หมายความว่า จงยอมรับการค้าคาร์บอนเสียเถอะ ไม่อย่างนั้นประชาชนที่ยากจนของคุณจะอดตาย   


ไม่น่าประหลาดใจที่รัฐบาลของหลายประเทศกำลังโดดเกาะขบวนรถนี้กันอยู่ ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากกำลังแบกภาระหนี้สินและปัญหาความยากจนอันเป็นฝีมือของสถาบันของประเทศทางเหนืออย่างเช่น ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ เป็นต้น ภาระหนี้พอกหางหมูมาตั้งแต่วิกฤติการณ์ราคาน้ำมันในช่วงทศวรรษ 1970 จนไม่เหลือทางเลือกอะไรมากนัก ถ้าหากการรักษาป่าและทำให้มันกลายเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนเพื่อให้ประเทศทางเหนือพ่นก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ต่อไป ก็เอาเถอะ


แต่ก็มีประเด็นปัญหาเรื่องการทุจริตติดสินบน ไม่มีใครแน่ใจได้ว่าจะมีเงินร่วงหล่นในกระบวนการทางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนามากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีวี่แววให้เห็นว่าการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ในอินโดนีเซียในตอนนี้พัวพันกับเรื่องมีนอกมีในไม่โปร่งใสในหมู่นักค้าคาร์บอน ซึ่งเป็นผลประโยชน์นับพันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว แน่นอนทันที่ที่ปิดการเจรจาสำเร็จ บรรดาผู้มีอำนาจตัดสินใจก็จะมีแบ่งปันกันได้อย่างพอเพียง


แต่ที่น่าประหลาดใจ (หรืออาจไม่น่าประหลาดจากนักสำหรับผู้ที่ได้สังเกตการณ์การเจรจาเรื่องโลกร้อนมายาวนาน) ทัศนคติแบบนี้ก็แพร่เชื้อระบาดในหมู่เอ็นจีโอด้วยเช่นกัน เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมต่างกระหายที่จะได้เงินมาปกป้องรักษาป่าฝนที่นั่นหรือรักษาสัตว์และพันธุ์พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่โน่น เอ็นจีโอที่ทำงานต่อสู้ความอดอยากหรือบรรเทาภัยพิบัติก็มีความกระหายเงินไม่แพ้กัน


คนที่มีความกังขาเกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ ที่พ่วงมากับเงินเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนนอกวงเอ็นจีโอที่ครอบงำกระบวนการนี้อยู่ แต่หากจะมองอย่างเป็นธรรมแล้ว คนที่ทำงานเรื่องนี้มาหลายปีได้เห็นการเจรจาเปลี่ยนไปจากการหามาตรการควบคุมบังคับเป็นการใช้กลไกการตลาดแทน เพื่อจะดึงให้ผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ สหรัฐฯ เข้าร่วมวงด้วย เมื่อเห็นว่าเวลามีอยู่ไม่มาก พวกเขาจึงคิดว่าไม่มีเวลาแล้วที่จะหวนกลับไปคิดทบทวนแนวคิดใหม่ทั้งหมด พวกเขาผูกติดกับกระบวนการที่พวกเขาได้ผลักดันให้รัฐบาลของพวกเขายอมรับ และลังเลที่จะทบทวนมัน  อาจเป็นเพราะเวลาเหลืออยู่ไม่มากแล้วจริงๆ และแทบไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้วที่สามารถเข้าไปถึงโต๊ะเจรจาได้ หรือไม่ก็การทำอย่างนั้นอาจจะหมายถึงการเสียหน้า พวกเขาก็เลยมีแต่ต้องเดินหน้าต่อไปเต็มสูบ โดยเพิกเฉยต่อผลที่ปรากฏออกมาที่ส่อแววความล้มเหลว การฉ้อฉล และที่เลวร้ายที่สุดคือ การปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้นภายใต้ระบบการค้าคาร์บอนนี่เอง


แต่ว่าก็มีทางออก !


การค้าคาร์บอนไม่ใช่วิธีการปกป้องสภาพภูมิอากาศอย่างบริสุทธิ์ใจ แต่มันเป็นแนวทางเสรีนิยมใหม่ที่อำนวยประโยชน์แก่บรรษัท ประเทศที่ท่วมทับด้วยหนี้สินอยู่แล้วจะยิ่งเป็นหนี้หนักยิ่งขึ้นต่อสถาบันต่างๆ ที่ผลักดันแนวทางที่เอื้อผลประโยชน์ต่อบรรษัท ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก WTO และสถาบันนายหน้าอื่นๆ


แล้วจะทำอย่างไร? ฉันเสนอว่ามียุทธศาสตร์หกประการเป็นอย่างน้อยที่อาจจะเปลี่ยนทิศทาง "การแก้ปัญหา" เรื่องโลกร้อนที่กำลังดำเนินอยู่นี้ได้ แต่มันจะไม่ได้มาจากกลุ่มองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างน้อยก็ไม่ได้มาจากส่วนใหญ่ของคนพวกนั้น อีกทั้งไม่ได้มาจากซีกรัฐบาลอีกด้วย


ประการแรก ยอมรับกันเถิดว่าเราถูกหลอก การซื้อขายปริมาณการปล่อยคาร์บอนนี้เห็นได้ชัดว่าจะต้องพัง และเราจำต้องเผชิญหน้ากับมัน


ประการที่สอง เอาอำนาจอธิปไตยคืนมา การค้าคาร์บอนในฐานะที่เป็นเครื่องมือของเสรีนิยมใหม่ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ สูญเสียอำนาจในการกำกับดูแลและมอบอำนาจนั้นให้กับผู้เล่นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนักค้าคาร์บอนหรือพวกที่เรียกว่านักตรวจบัญชีคาร์บอน (carbon auditors) ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน จะต้องนำอธิปไตยกลับคืนให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก


ประการที่สาม การแก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ จะต้องมีความโปร่งใส การค้าคาร์บอนเติบโตอยู่บนเส้นสนกลในที่ปกปิด ในโลกของตลาดคาร์บอน เหมือนกับตลาดอื่นทั่วไปที่ถ้าหากไม่มีการตรวจสอบ ความลับทางธุรกิจจะมีความสำคัญเหนือสิทธิในข้อมูลข่าวสารของประชาชน สิทธิในข้อมูลข่าวสารในกรณีนี้หมายความว่าโลกของเราอยู่ในการดูแลที่เชื่อใจและปลอดภัยหรือไม่ เราจะเชื่อได้ไหมกับการที่บริษัท Halliburton บอกว่าพวกเขากักเก็บก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ไว้หลายพันล้านตันจากบ่อน้ำมันของพวกเขา? เราจะเชื่อไหมว่ารัฐบาลจะไม่รับสินบนจากธุรกิจกำจัดขยะในการกำจัดก๊าซมีเธนที่เกิดจากบ่อขยะ?


ประการที่สี่ สร้างความสมานฉันท์ในกระบวนการเจรจาแก้ปัญหาโลกร้อน การค้าคาร์บอนทำให้ชุมชนในซีกโลกเหนือต้องมีปัญหากับชุมชนในซีกโลกใต้ การปล่อยก๊าซยังคงดำเนินต่อไปในใจกลางเมืองและชุมชนยากจนต่างๆ ในซีกโลกเหนือโดยแลกกับโครงการปลูกป่าหรือกักเก็บมีเธนในซีกโลกใต้ ในประเทศกำลังพัฒนา การแลกอย่างนี้มักจะทำให้คนรวยมีปัญหากับคนจน เจ้าของสวนมีปัญหากับชาวนายากจน ด้วยการยอมรับว่าการค้าคาร์บอนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น ทำให้ชุมชนต้องสูญเสียสิทธิพื้นฐานของชุมชนต่ออากาศที่บริสุทธิ์ น้ำสะอาดและอาหาร


ประการที่ห้า ไม่มีเหตุผลเลยว่าทำไมเราถึงต้องใช้เงินภาษีของประชาชนไปอุดหนุนบริษัทน้ำมัน ก๊าซและถ่านหินที่เป็นตัวการทำให้เกิดโลกร้อน ไม่ใช่ในเวลาที่นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่าเรามีเวลาเหลืออยู่ 7 ปีในการหันเหเส้นทางอย่างนี้ สถาบันอย่างธนาคารโลก Ex-Im, JBIC, EIB ฯลฯ จะต้องหยุดการสนับสนุนทางการเงินแก่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล และต้องหยุดมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว แหล่งเงินกู้อื่นที่เป็นของเอกชนจะตามมาเองเมื่อแหล่งเงินกู้ของรัฐเหล่านั้นแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนอุตสากรรมเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว


สุดท้าย ต้องยกเลิกหนี้ให้กับประเทศกำลังพัฒนา วิกฤตการณ์โลกร้อนมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะหนี้สิน หนี้สินผลักให้ประเทศลูกหนี้ต้องขจัดอุปสรรคต่างๆ ต่อการค้าเสรี มันบังคับให้ประเทศเหล่านั้นลดหย่อนกฎระเบียบที่ปกป้องป่าไม้ บังคับให้ต้องขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซและถ่านหินเพื่อส่งออก หรือต้องยอมรับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้นมาอยู่ในประเทศตัวเอง และยังทำให้ประเทศกำลังพัฒนาแทบไม่มีทางเลือกนอกจากต้องกระโจนไปกับการค้าคาร์บอน ซึ่งทำให้ต่างชาติยิ่งมีอำนาจเหนือทรัพยากรในประเทศมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุของโลกร้อน


ขบวนการเรียกร้องการยกเลิกหนี้ก็มาที่บาหลีนี้ด้วย นักเคลื่อนไหวปลดหนี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าไปถึงโต๊ะเจรจาได้ และจำนวนมากก็ยังมึนไปกับบรรดาศัพท์แสงตัวย่อในเวทีของ UNFCCC นี้อยู่ พวกเขาคงนึกเหมือนกับสาธารณชนอีกมากที่ไม่ค่อยได้ติดตามเรื่องนี้ว่า พวก "ผู้เชี่ยวชาญ" เหล่านั้นคงจัดการปัญหานี้ได้กระมัง แต่ก็เหมือนกับในดินแดนแห่งพ่อมดอ๊อซนั่นแหละ ตาพ่อมดอ๊อซที่ดูทรงอำนาจและยิ่งใหญ่สุดท้ายก็ถูกเปิดโปงว่าเป็นจอมลวงโลกโดยฝีมือของผู้ที่ดูเหมือนจะไม่ได้รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่น่ายำเกรงอะไรของเขาเลย นั่นคือ หมาน้อยของโดโรธี


คนที่มีสายตาแจ่มใสและประสบการณ์น้อยสามารถพึ่งพาสัญชาติญาณของตัวเองได้และไม่ต้องหลบฉากไปด้วยความย่นระย่อ ทางออกนั้นสามัญมาก นั่นคือ ทำทุกวิถีทางเพื่อเก็บน้ำมัน ก๊าซและถ่านหินไว้ใต้ผิวโลกอยู่อย่างนั้นแหละ หยุดการตัดไม้ทำลายป่า สนับสนุนประเทศต่างๆ ให้เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและสร้างเศรษฐกิจ "สีเขียว" อย่าเพิกเฉยต่อคนยากจนที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม ความแห้งแล้ง นาล่ม และต้องการความช่วยเหลือ หรือไม่ก็จำเป็นต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อความอยู่รอด


ถ้าเรามุ่งไปที่เรื่องพิ้นฐานเหล่านี้ ไม่ใช่ทางออกปลอมๆ ของการค้าคาร์บอน เราก็คงจะประสบความสำเร็จ อาจจะไม่ใช่ที่นี่ที่บาหลี แต่สิ่งต่างๆ ต้องเกิดขึ้นในพื้นที่จริงๆ ในทุกประเทศและทุกชุมชนทั่วโลก   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net