สัมภาษณ์ "ธเนศวร์ เจริญเมือง": มอง "การเลือกตั้ง" จากมุม "ท้องถิ่น"

สนทนากับอาจารย์รัฐศาสตร์สำนักการเมืองการปกครองท้องถิ่นคนสำคัญ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ถึงปัญหาการเมืองแบบไทยๆ ทำไมเหนือ-อีสานเลือก พปช. ทำไม ปชป. ครองภาคใต้เหนียวแน่น โยงถึงการเมืองระดับชาติ และเปรียบเทียบธรรมเนียมการเมืองแบบ "ไทยๆ" กับประชาธิปไตยในสากลโลก ที่ทำไมเราไม่เห็นหัวหน้าพรรคอันดับสองยกหูโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับพรรคอันดับหนึ่ง

 


 

การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม ผ่านไปแล้ว ที่น่าสนใจคือผลการเลือกตั้งที่พลังประชาชนครองที่นั่งเป็นอันดับ 1 ยึดหัวหาดภาคเหนือ ภาคอีสานท่วมท้น เช่นเดียวกับที่พรรคประชาธิปัตย์ครองอันดับ 2 ด้วยการยึดหัวหาดภาคใต้และพื้นที่ส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

 

แต่หลายต่อหลายคนก็ยังเห็นว่าการเลือกตั้งผ่านพ้นมาแล้ว แต่สังคมไทยก็ไม่อาจข้ามผ่านเส้นตายหลังการเลือกตั้งอย่างที่ตั้งอย่างที่คาดหวังกัน เพราะเกิดความไม่ชัดเจนในการตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชาชนที่เป็นพรรคอันดับหนึ่งกับพรรคประชาธิปัตย์พรรคการเมืองอันดับสอง ซึ่งสาเหตุนอกจากเสียงของพลังประชาชนไม่เกินครึ่งพอที่จะตั้งรัฐบาลเอง ต้องอาศัยการรวมพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือวาทะของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าหากพลังประชาชนไม่พร้อมจัดตั้งรัฐบาล ทางพรรคก็พร้อมจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน

 

เพื่อสนทนาต่อยอดคำถามข้างต้น ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการรัฐศาสตร์สำนัก "การเมืองการปกครองท้องถิ่น" คนสำคัญของภาคเหนือและสังคมไทย

 

พลังประชาชน-ประชาธิปัตย์ครองเสียงคนละภาค เป็นเรื่อง "ภูมิภาคนิยม" จริงอย่างไร ไม่จริงอย่างไร การเลือกตั้งระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี"50 "ล็อกสเปค" รูปแบบรัฐบาลให้เป็นแบบผสม จริงหรือ หรือมีผลสะเทือนมากกว่านั้น คำตอบทั้งหมด อยู่ที่บทสนทนาต่อไปนี้

 

000

 

 

ทำไมพลังประชาชนจึงได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่นในหลายๆ ภาค ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับเลือกอย่างท่วมท้นในภาคใต้

 

ค่อนข้างชัดเจนว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของภาคใต้เป็นวัฒนธรรมรักกลุ่มรักพวกพ้อง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นภูมิหลังของภาคใต้ที่สภาพเศรษฐกิจดี มีการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งยางพารา แร่ธาตุ ดีบุก ดินน้ำดีหมด ยอดเยี่ยมหมด นี่เป็นเหตุผลว่าเศรษฐกิจเขาอยู่ได้แล้ว เลยสามารถสร้างวัฒนธรรมรักกลุ่มรักพวกพ้องอย่างเข้มแข็ง

 

ส่วนภาคอีสานกับเหนือภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน ภาคเหนือมีปัญหาที่ดินขนาดเล็ก แล้วน้ำ ดิน ไม่แน่นอน น้ำฝนไม่แน่นอน มีภูเขามาก ทำให้มีปัญหาเรื่องการถือครองที่ดิน และยังต้องเช่านาจากเจ้าที่ดินใหญ่ ส่วนภาคอีสานภูมิอากาศแร้นแค้น ทำการเกษตรไม่ได้ผล ปัญหาเศรษฐกิจของทั้งสองภาคนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่

 

พรรคประชาธิปัตย์นั้น มีนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ เคยเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่มีผลงาน คนเชียงใหม่จึงไม่ภูมิใจ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ สร้างผลงานและสร้างความประทับใจให้ทั้งคนเหนือและคนอีสาน

 

แสดงให้เห็นว่าว่าคนเลือกพรรคพลังประชาชนนี่ไม่ใช่เรื่องภูมิภาคนิยม เพราะคนเลือกมีทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ดังนั้น เหตุผลที่ 1 ที่คนจำนวนมากเลือกพรรคพลังประชาชน เพราะว่าประชาชนมีความพอใจในนโยบายเศรษฐกิจของพรรคนี้โดยอาจเลือกเพราะให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลมานานถึง 5 ปี ทำนโยบายทั้งเรื่องกองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาท แท็กซี่เอื้อาทร บ้านเอื้ออาทร โอท็อป ฯลฯ ทั้งหมดนี้ใช้เวลา 5 ปีทำนโยบายให้ประชาชนได้เห็น

 

เหตุผลที่ 2 ไม่มีเหตุผลว่า ทำไมต้องมาทำรัฐประหารและไปลงโทษ 111 คนในขณะที่เศรษฐกิจก็ยังดีอยู่ การรัฐประหารทำให้เศรษฐกิจหลายประการหยุดชะงัก มีการไปเพิ่มอำนาจให้อำนาจกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คนก็รู้สึกว่าการเมืองการปกครองมันเปลี่ยน และเขาเห็นว่าไม่ควรตัดสิทธิ 111 คน พูดอย่างรวบรัดก็คือคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารครั้งนี้ และไม่เห็นด้วยว่าคนที่เขายกย่องชื่นชมกระทำความผิด

 

เหตุผลที่ 3 เศรษฐกิจในห้วงปีที่ผ่านมาของการทำรัฐประหารทรุดลง เพราะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการแต่งตั้งไม่ตั้งใจทำงาน เป็นเพียงรักษาการไปเฉยๆ พอเศรษฐกิจทรุดลง คนก็คิดถึงความดีในอดีตของรัฐบาลตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันจึงกลายเป็นตัวช่วย ให้ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ เทคะแนนให้พรรคพลังประชาชน

 

ขณะนี้ยังไม่มีใครลงไปศึกษาว่าคนกรุงเทพ กับ คนชั้นกลางในต่างจังหวัดเลือกพรรประชาธิปัตย์เพราะอะไร แต่ในความเห็นของผมคิดว่าเขาต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ อยากให้บ้านเมืองสงบ ไม่ใช่เรื่องของการ "เลือกคนที่คุณรัก และเลือกพรรคที่คุณชอบ" แน่

 

คือแม้ว่าเขาพอใจพรรคพลังประชาชน แต่เขากลัวทหารยึดอำนาจ เลยไปเลือกประชาธิปัตย์ คือส่วนหนึ่งไม่ได้ลงคะแนนเพราะชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่อยากเห็นรัฐประหารอีกแล้ว เขาไม่อยากเห็นการนองเลือด ไม่ได้แปลว่าเพราะเขาชอบประชาธิปัตย์ เขาอาจเห็นว่าทักษิณดีแต่ไม่อยากลงคะแนนให้เพราะกลัวทหารยึดอำนาจ แต่ตอนนี้ยังไม่ใครศึกษาเรื่องนี้ลึกซึ้ง

 

000

 

มีนักวิชาการหลายคนสะท้อนว่า พลังประชาชนกลับเข้ามาไม่กลัวปัญหาคอรัปชั่นหรือ

 

เรื่องปัญหาความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับประชาชนนั้น เพราะทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคใหญ่ และกรณีสังคมไทย วิธีการตรวจสอบหัวหน้ามันยังไม่ใช่วัฒนธรรมของไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น สภาเลยเงียบ มีแต่พลังนอกสภาออกมาเคลื่อนไหวให้คุณทักษิณพิจารณาตัวเอง ประเด็นคือให้ตรวจสอบ ไต่สวน เคลียร์ตัวเอง พอคนออกมามากเข้าๆ ก็ยุบสภา และมีเลือกตั้งใหม่ ก็มีคนเสนอว่า นี่ไม่ใช่เรื่องในสภากับตัวแก เป็นเรื่องของคนที่มาจากการเลือกตั้งกับพลังนอกสภาโดยเฉพาะคนในเมืองหลวง

 

เรื่องคอรัปชั่นนี้ก็ต้องมีการพิสูจน์กัน ต้องมีการต่อสู้ภายในระบบรัฐสภา มีระบบที่ธีรยุทธบอกว่าตุลาภิวัฒน์ มีศาล มีองค์กรอิสระ มีภาคประชาชนเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งขณะที่สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินการ ก็มีการยึดอำนาจนอกระบบ เพราะฉะนั้น กระบวนการตรวจสอบนายกที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินอยู่แล้ว แต่กลายเป็นว่า ทหารใช้อำนาจนอกระบบทำลายประชาธิปไตยนี้ แถมมาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งอีก ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเลย

 

แล้วเขาอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจมี 4 ข้อ คอรัปชั่น สร้างความแตกแยกในสังคม หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และแทรกแซองค์กรอิสระ

 

คือจริงๆ แล้ว องค์กรอิสระ พลังประชาธิปไตยนอกสภามันทำหน้าที่อยู่แล้ว เป็นการต่อสู้ภายในระบบ แต่มีคนนอกระบบเข้ามาทำลายหมด กลไกตรวจสอบที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็ถูกล้มหมด แล้วพอยึดอำนาจแล้วก็แต่งตั้งคนของตัวเองในองค์กรตรวจสอบ ตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ความเห็นขัดแย้งเดิมในสังคมไทยแค่เรื่องคอรัปชั่นและเรื่องไม่จ่ายภาษี แต่พอรัฐประหารก็เลยลามไปหมด เพียงเพื่อรับใช้เหตุผลหลักของการยึดอำนาจ มันเลยลามไปหมดเลย เพียงต้องการหาชอบธรรมกับการรัฐประหาร

 

ปัญหาคอรัปชั่น แก้ไม่ได้ด้วยการรัฐประหาร กลไกตรวจสอบตามระบบประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินไปจึงถูกทำลาย แล้วปัญหาลามไปที่เรื่องอื่นหมด เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

 

000

 

ระบบและวิธีการเลือกตั้งมีผลต่อคะแนนหลังเลือกตั้งหรือไม่

 

เป็นเพราะคนที่ออกแบบรัฐธรรมนูญออกแบบให้ระบบเลือกตั้งเป็นแบบนี้ การเลือกตั้งระบบสัดส่วน 8 เขตพื้นที่ ซึ่ง ส.ส.ร.อ้างว่าเพื่อให้การลงคะแนนพูนผันกับท้องถิ่น ผมเห็นว่าไม่เห็นมีพื้นที่การเลือกตั้งที่สร้างความเป็นท้องถิ่นตรงไหน

 

ส่วนการเลือกตั้งแบบเขต เขตละสามคน หรือสองคน ก็ทำให้การหาเสียงแบบลูกโดดเกิดขึ้น และวิธีนับคะแนนที่คูหา ก็ทำให้นักการเมืองจำนวนหนึ่งที่จ่ายเงินสามารถเช็คได้เลยว่า เงินที่เทไปได้กลับมาเท่าไหร่ เขาสามารถเช็คบิล สามารถลงโทษ สามารถเอาคืนได้ ถ้าคะแนนไม่เป็นไปตามที่เขาจ่าย ซึ่งวิธีนับคะแนนแบบนี้ไม่เหมาะในสภาพที่ผู้มีอิทธิพลคุมได้ หรือในสภาพที่ประชาชนข้นแค้นทางทางเศรษฐกิจและสามารถใช้อิทธิพลเข้ามาข่มขู่ได้

 

นอกจากนี้วิธีการแบ่งเขตการเลือกตั้งในบางเขตของ จ.เชียงใหม่ เช่น กรณีแยกกิ่ง อ.แม่ออน (ไปเป็นเขตเลือกตั้งที่ 3) ออกจาก อ.สันกำแพง (เขตเลือกตั้งที่ 1) ก็อธิบายไม่ได้ทางภูมิศาสตร์ เพราะ กิ่ง อ.แม่ออน คือ อ.สันกำแพง เดิม แต่เรื่องคนที่แบ่งเขตแบบนี้คงอธิบายได้ว่าเพราะต้องการแยกคะแนนของพรรคพลังประชาชน

 

นอกจากนี้วิธีการกำหนดขนาดป้าย ให้ติดตั้งเป็นจุดๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้ระเบียบนั้น ถือว่าไม่ส่งเสริม ระบอบประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ส่งเสริมความตื่นตัวของประชาชน ติดเป็นจุดๆ ใครจะไปดู วิธีคิดนี้ ก.ก.ต. คงไปเอามาจากการดูงานที่ญี่ปุ่น โดยอ้างว่าที่ญี่ปุ่นเขาให้ติดป้ายบางจุดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็ต้องรู้หน่อยว่าประชาธิปไตยของไทยกับญี่ปุ่นต่างกันเป็น 100 ปี เดิมเขาก็เริ่มจากติดป้ายไปทั่ว แต่ต่อมาการเมืองเขามีเสถียรภาพ ไม่มีรัฐประหาร เขาเลยสามารถจะกำหนดจุดติดป้ายได้ แต่ของเรา ประชาธิปไตยล้มลุกคุกคลานตลอด การไปเอาแบบอย่างจากที่อื่นมาใช้จึงไม่สอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งอยู่คนละระยะการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ ของไทยมีรัฐประหารบ่อย ความตื่นตัวของประชาชนไม่มีเลย พอมีรัฐประหารบ่อย ก็มีการแบ่งเขตเลือกตั้งกันใหม่ตลอด เดี๋ยวแบ่งเขต เดี๋ยวรวมเขต แถมวิธีการนับคะแนนเปลี่ยนตลอด จากนับรวมกันในเขต ก็แยกไปนับที่คูหา คนจึงสับสน

 

สิ่งเหล่านี้ส่งเสริมให้มีบัตรเสีย ส่งเสริมให้เกิดการเลือกแบบไม่เป็นอย่างที่ประชาชนต้องการ ทำให้เกิดความแตกแยก ไม่มีพรรคไหนเข้มแข็ง เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญปี 2550 วางเอาไว้เลย

 

000

 

มองว่า หลังการเลือกตั้งแล้วต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อตั้งรัฐบาลผสม เป็นการถอยหลังของประชาธิปไตยไปสู่ยุคทศวรรษที่ 2520 - 2530 หรือไม่

 

ที่ผ่านมาไม่มีพรรคใดมีนโยบายชัดเจน แต่พรรคไทยรักไทยทำนโยบายให้ประชาชนคนไทย พอทำนโยบายสำเร็จคนด่าทั้งเมืองว่าเป็นประชานิยม แต่พอมีการเลือกตั้งใหม่กลับเอานโยบายแบบไทยรักไทยไปใช้กันทั้งเมืองทุกพรรค แบบนี้จะอธิบายได้อย่างไร ก็เพราะพรรคการเมืองทั้งหลายรู้ว่า ไทยรักไทยทำแบบนี้ได้ประโยชน์ถึงเลียนแบบ บางพรรคบอกว่าภายในกี่เดือนจะทำอะไรๆ ก็เหมือนพรรคไทยรักไทยเลย คือทำตามเพราะหวังคะแนน

 

แต่พอคะแนนนับออกมาแล้ว ทั้งๆ ที่แต่ละพรรคก็ใช้นโยบายประชานิยมเหมือนกัน แต่ทำไมยัง รีๆ รอๆ จดๆ จ้องๆ ไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกัน ก็แสดงให้เห็นว่า หนึ่ง เพราะนโยบายเลยไม่สำคัญ กลายเป็นเรื่องบุคลิกส่วนตัวไปแล้ว สอง คือไม่ได้แสดงว่าพรรคเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายอย่างที่กล่าวอ้างกัน ก็ในเมื่อนโยบายเหมือนกันต้องวิ่งเข้าหากันสิ สาม แสดงว่ามีอำนาจมืด แทรกแซงกำกับอยู่ สั่งว่าอย่าเพิ่งไปรวม สี่ สิ่งที่พรรคพลังประชาชนพูดชัดมากแต่พรรคอื่นไม่พูดคือ เอาทักษิณกลับ นิรโทษกรรม 111 คน ยกเลิก คตส. แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคอื่นไม่ยอมพูด เหล่านี้เลยอาจทำให้พรรคอื่นรีๆ รอๆ อยู่

 

ถ้าจะสรุป สำหรับคนที่ต้องการแสดงความคิดเห็น เรื่องไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือต้องการทำให้ 111 ไม่ได้รับการเป็นธรรม

 

คะแนนที่ออกมาคราวนี้ บางฝ่ายคงรู้มาหลายเดือนแล้วว่า พลังประชาชนจะชนะมากเลย ต้องถือว่าคะแนนที่ได้มาคราวนี้ควรจะได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำไปถ้า หนึ่ง คนจำนวนหนึ่งไม่ลงคะแนนด้วยความหวั่นไหว สอง วิธีการแบ่งเขต วิธีการลงคะแนน ไม่เป็นแบบนี้ สาม อำนาจรัฐไม่รณรงค์เสนอข่าวให้คนเกลียดพรรคพลังประชาชน มันเป็นสถานการณ์อย่างที่คุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พูดว่านี่เป็นการเลือกตั้งในสถานการณ์ไม่ปกติ [1] ดังนั้นบางฝ่ายคงเห็นว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดทอนคะแนนของพรรคนั้นให้ลดไป วิธีจะไปห้ามเลือกตั้งก็ไม่ได้แล้ว เหลืออย่างเดียวคือพยายามไม่ให้พรรคพลังประชาชนได้ถึงครึ่งหนึ่ง ขอให้สังเกตที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พูดว่า ถ้าไม่ถึงครึ่งใครก็ตั้งรัฐบาลได้

 

ซึ่งผมของฝากไปว่า คุณอภิสิทธิ์เองก็เคยเรียนถึงเมืองนอกมาแล้ว เห็นประเพณีประชาธิปไตยของตะวันตกมาแล้ว ที่หลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ได้ที่สองหรือได้คะแนนน้อยเขาจะโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับพรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง แล้วประกาศว่ายินดีให้ความร่วมมือทุกอย่างเพื่อให้พัฒนาประเทศต่อไป

 

ทั้งที่ก่อนจะมีเลือกตั้งก็คุณอภิสิทธิ์ก็พูดทำนองว่าจะสร้างความสมานฉันท์ จะโทรศัพท์ไปหาทักษิณบอกให้กลับเมืองไทย แต่พอคะแนนออกมาแล้วกลับพูดกระทบกระเทียบ ไม่แสดงความยินดี ซึ่งไม่สง่างาม การไม่ยอมรับความพ่ายแพ้นี้ ถือว่าแสดงความไม่จริงใจ แทนที่จะบอกว่าจะร่วมมือกับผู้ชนะเพื่อพัฒนาประเทศแต่กลับแสดงออกว่าพร้อมแข่งขันตั้งรัฐบาลตลอด และมีบางประโยคพูดเหมือนกับจะตั้งรัฐบาลแข่งโดยบอกว่าเพราะพลังประชาชนคะแนนไม่ถึงครึ่ง ซึ่งนี่เหมือนกับมีการล็อกไว้ไม่ให้ถึงครึ่ง แล้วให้มีการช่วงชิงพรรคเล็กพรรคน้อยมารวม

 

ดังนั้นบรรยากาศสังคมไทยเลยตึงเครียดตั้งแต่ตอนเย็นของวันเลือกตั้งเมื่อวาน เพราะคะแนนไม่ถึงครึ่ง ทั้งที่หลังการเลือกตั้ง เย็นวันนั้นควรเป็นบรรยากาศแห่งความชื่นมื่นสมานฉันท์ ทุกฝ่ายยินดีกับผู้ชนะ แต่กลับไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนคล้ายๆ อิจฉา ไม่ไว้ใจ เหมือนมีการกระทบกระเทียบ มีความพยายามตั้งพรรครัฐบาลแข่ง แทนที่จะยื่นมือสนับสนุน หรือปล่อยวางเปิดโอกาสให้ผู้ชนะเต็มที่

 

การที่นายอภิสิทธิแถลงข่าวว่า "ขอให้คิดถึงเศรษฐกิจและผลประโยชน์ของประชาชน อย่าคิดถึงแต่ 111 คน" ไม่เรื่องที่ไม่ควรพูด เพราะพรรคที่ชนะเขาพูดตลอดว่าจะทำเรื่องนี้ เขาต้องพูด เขาจะปฏิเสธได้อย่างไร คุณอภิสิทธิกล่าวเช่นนี้เหมือนเป็นผู้แพ้ที่ไม่เคารพ ไม่ให้เกียรติผู้ชนะตามประเพณีประชาธิปไตย

 

แล้วสุดท้ายจริงๆ ช่วงดึก บรรยากาศยิ่งไม่ค่อยดี เพราะมีข่าวว่าพรรคเล็กพรรคน้อยไปพูดกันเอง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่แปลก เขามีแต่จะไปคุยกับพรรคใหญ่ อันนี้กลายเป็นพรรคเล็กๆ พูดกันเองแล้วบอกว่าทำเพื่อชาติ ไม่ใช่แล้ว มองอย่างไรก็ไม่ใช่ นี่เป็นการสร้างเงื่อนไขทางการเมือง

 

แทนที่ Election night ควรเป็นคืนแห่งความชื่นชมยินดี ผู้แพ้ยอมรับพ่ายแพ้สง่างามมีน้ำใจนักกีฬา เป็นคืนที่แต่ละฝ่ายหันหน้าเขาหากันสมานฉันท์ แต่ที่พูดมานี้ไม่มีเลย มันเกิดความไม่แน่นอนตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว

 

สะท้อนว่าการต่อสู้ทางการเมืองในสังคมระหว่างพรรคฝ่ายต่างๆ จะดำเนินต่อไป เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นคำถามต่อไป บรรยากาศสมานฉันท์ที่หลายๆ ฝ่ายใฝ่หาจะเป็นความจริงได้หรือไม่

 

 

เชิงอรรถ

[1] โปรดดู ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์: ลักษณะ 4 ประการของ "การเลือกตั้ง" ในสถานการณ์ "รัฐประหาร", ประชาไท, 20 ม.ค. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท