การประกาศวันอีดของสำนักจุฬาราชมนตรีกับหลักการศาสนาและเอกภาพของประชาคมมุสลิม

วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อิหม่ามมัสยิดบ้านเหนือ

หัวหน้าฝ่ายวิชาการและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา

ประชาคมมุสลิมมีวันสำคัญอย่างยิ่งในรอบปีอยู่ ๒ วัน คือวันอีดิลฟิตร์ และวันอีดิลอัฎฮา  อีดิลฟิตร์เป็นวันเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดเดือนแห่งการถือศีลอด (รอมฎอน) ส่วนอีดิลอัฎฮาเป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสเสร็จสิ้นมหกรรมแห่งมนุษยชาติ ณ นครมักกะฮ์ ซาอุดิอารเบีย (พิธีฮัจญ์)

ในทางปฏิบัติของสังคมมุสลิมไทย องค์กรที่ทำหน้าที่ประกาศกำหนดวันอีดทั้งสองคือสำนักจุฬาราชมนตรีซึ่งถือเป็นองค์กรทางศาสนาสูงสุดของมุสลิมไทย แต่การทำหน้าที่ดังกล่าวของสำนักจุฬา ฯ มักก่อให้เกิดปัญหากับสังคมมุสลิมอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศกำหนดวันอีดิลอัฎฮา ปี ๑๔๒๗/๒๕๔๙ ซึ่งสำนักจุฬา ฯออกประกาศเรื่องวันอีดิลอัฎฮาถึง ๒ ครั้ง เป็น ๒ ครั้งที่แตกต่างกันและออกมาในเวลาไล่เลี่ยกันจนสร้างความสับสนไปทั่ว

ปีนี้ ๑๔๒๘/๒๕๕๐ แม้จะประกาศออกมาครั้งเดียวคือกำหนดให้อีดิลอัฎฮาตรงกับวันที่ ๒๐ ธันวาคม แต่ในทางปฏิบัติจริงอิหม่ามบางมัสยิดและผู้นำองค์กรบางแห่งกลับถือเอาวันที่ ๑๙ ธันวาคม เป็นวันอีดแทน อันเป็นการสะท้อนถึงความปริแยกในประชาคมมุสลิมตั้งแต่ฐานรากกันเลยทีเดียว ที่ว่าตั้งแต่ฐานรากเพราะการอิบาดะฮ์ในความเป็นจริงก็คือฐานหลักในการสร้างสังคมของอิสลาม เมื่อการอิบาดะฮ์ที่เป็นฐานหลักก็ยังมิอาจร่วมกันได้ กลายเป็นว่าต่างคนต่างมีฐานของตนเอง กิ่งก้านสาขาที่งอกเงยมาจากฐานที่ต่างกันก็ย่อมเติบโตไปกันคนละทิศคนละทางโดยหาเอกภาพไม่ได้

เจตนารมณ์หนึ่งของการกำหนดให้มีผู้นำในสังคม และเจตนารมณ์หนึ่งของการกำหนดให้มีวันอีดทั้งสอง คือเพื่อความเป็นเอกภาพของสังคมและเพื่อรวมพลังของปัจเจกชนในสังคมผ่านกิจกรรมที่ทรงความสำคัญยิ่งของวันอีดคือการละหมาดและการตักบีรร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง แต่ดูเหมือนเจตนารมณ์เช่นนี้จะไม่ผุดโผล่ขึ้นในห้วงคำนึงของชาวมุสลิมทั่วไป แม้กระทั่งในหมู่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะองค์กรนำเช่นสำนักจุฬา ฯ เท่าใดนัก เพราะหากคำนึงถึงเอกภาพของประชาคมมุสลิมจริง คำประกาศเกี่ยวกับวันอีดของสำนักจุฬา ฯ ก็น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงความตระหนักรู้ว่าสังคมย่อมมีพลวัตอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง  และผู้นำควรทำตัวเช่นไรจึงจะสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  โดยเนื้อแท้ของอิสลามศาสนาที่บัญญัติโดยองค์อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรังสรรค์ธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยพระองค์เอง ย่อมไม่มีการตราบทบัญญัติที่ฝืนกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง หากแต่อิสลามคือการกำหนดให้สรรพสิ่งเป็นอย่างที่ควรเป็น จะไม่แยกสิ่งที่ต้องร่วม และไม่รวมสิ่งที่โดยธรรมชาติแล้วต้องแยกจากกัน

การอนุญาตให้มุสลิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลกัน สามารถดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันสำคัญเช่นวันอีดได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องขึ้นกับพื้นที่หนึ่งใดเป็นการเฉพาะในอดีตกาล สะท้อนภาพของหลักการที่มีทั้งความมั่นคงตายตัวและความยืดหยุ่นอ่อนโยนซึ่งผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ความมั่นคงแน่นอนก็คือสังคมมุสลิมต้องมีวันอีดตราบเท่าที่มีการถือศีลอดและการประกอบพิธีฮัจญ์อยู่

ส่วนความยืดหยุ่นก็คือไม่กำหนดให้แต่ละพื้นที่ต้องจัดวันอีดให้ตรงกันทั้งหมด ทั้งนี้เพราะในยุคก่อนความห่างไกลเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน การกำหนดให้ทุกพื้นที่กำหนดวันอีดให้ตรงกันทั้งหมดย่อมอยู่เกินวิสัยที่จะทำได้ นี่เป็นข้อบ่งชี้ว่าความยืดหยุ่นเกิดบนฐานของการคำนึงถึงสภาพสังคมและภูมิศาสตร์ ดังนั้น หากสภาพการณ์ทางสังคมและภูมิศาสตร์เปลี่ยนไป กฎเกณฑ์ที่เกิดบนฐานดังกล่าวก็ต้องปรับเปลี่ยนด้วย กฎเกณฑ์ทางนิติศาสตร์ข้อหนึ่งในหลักวิชากฎหมายอิสลามจึงระบุไว้ว่า

"ข้อบัญญัติที่เกิดเพราะมูลเหตุใด ย่อมดำรงอยู่ตราบเท่าที่มูลเหตุนั้นยังคงอยู่ แต่หากมูลเหตุนั้นหายไปหรือแปรสภาพไป ข้อบัญญัติดังกล่าวก็ย่อมถูกลบหรือแปรสภาพตามมูลเหตุที่มาของมัน" นี่เป็นที่มาของหลักการที่ว่า "ข้อวินิจฉัยย่อมแปรเปลี่ยนไป ตามความแปรเปลี่ยนของบริบทแห่งกาละและเทศะนั่นแล"

สำนักจุฬา ฯ ย่อมมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ท่องจำกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ขึ้นใจอยู่ไม่น้อย แต่ปัญหาคือมีผู้เข้าใจในระดับที่สามารถนำกฎเกณฑ์ดังกล่าวสู่การปฏิบัติได้กี่คน มีผู้ทรงคุณวุฒิที่ผู้เขียนเคารพนับถือในความรู้ความสามารถในสำนักจุฬา ฯ อยู่บ้าง แต่คงเป็นจำนวนน้อยเกินไปจนไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดและวิถีทรรศน์ขององค์กรแห่งนี้ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมายาวนานหลายทศวรรษได้ เป็นวิธีคิดและวิถีทรรศน์ที่ยึดติดกับตัวอักษรแห่งวจนะศาสดาอย่างคับแคบตายตัว จนเพิกเฉยละเลยต่อเจตนารมณ์แห่งวจนะไป ลืมบริบททางสังคมอันเป็นที่มาแห่งวจนะ และไม่นำเอาบริบททางสังคมปัจจุบันมาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ก่อนออกประกาศ เป็นวิธีคิดและวิถีทรรศน์ซึ่งในที่สุดแล้วก็ทำให้ผู้นำองค์กรสรุปรวบรัดเอาว่าการเห็นดวงจันทร์ที่ซาอุดิอารเบียเป็นเรื่องหนึ่ง การเห็นดวงจันทร์ที่ประเทศไทยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลลัพธ์ก็คือการประกาศวันอีดิลอัฎฮาคนละวันกับวัน "อัน นะห์ริ" ที่มักกะฮ์ ซึ่งก็หมายถึงวันอะรอฟะฮ์ (วันที่ ๙ ซุลฮิจญะฮ์)ของสองประเทศนี้ก็ไม่ตรงกันด้วย ทั้ง ๆ ที่วันอีดิลอัฎฮาผูกพันกับอะรอฟะฮ์และอัน นะห์ริอย่างเป็นด้านหลัก

อะรอฟะฮ์เป็นนามของสถานที่ซึ่งใช้เพื่อการวุกูฟในวันที่ ๙ แห่งเดือนซุลฮิจญะฮ์ ในโลกมีอะรอฟะฮ์เพียงหนึ่งเดียว การวุกูฟก็ไม่อาจใช้สถานที่อื่นใดได้อีกนอกจากที่นี่ วันอะรอฟะฮ์ ณ.สถานที่ใด ๆ ในโลกจึงสมควรยึดโยงกับอะรอฟะฮ์แห่งมักกะฮ์เป็นหลัก ไม่ควรมีวันอะรอฟะฮ์ที่ใดในโลกแปลกแยกไปจากการวุกูฟที่ท้องทุ่งอะรอฟะฮ์แห่งมักกะฮ์เลย ส่วนอันนะห์ริหมายถึงการเชือดสัตว์เป็นพลีทานซึ่งจะทำกันในวันถัดจากวันอะรอฟะฮ์ (คือวันที่ ๑๐) วันนี้เองถือเป็นวันอีดิลอัฎฮาสำหรับคนที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์ ผู้คนในส่วนอื่น ๆ ของโลกจึงสามารถเชือดสัตว์เป็นพลีทานได้ในท้องถิ่นของตนเช่นเดียวกับผู้ที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์ กระนั้นก็ตาม เนื่องจากการเชือดสัตว์ผูกพันกับมักกะฮ์ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และในแง่พิธีฮัจญ์ จึงกล่าวได้ว่าการกำหนดวันอีดิลอัฎฮาในดินแดนอื่น ๆ ก็ไม่ควรแปลกแยกไปจากวันอันนะห์ริในมักกะฮ์เช่นกัน

ผู้รู้บางท่านอ้างอิงวจนะศาสดาเพื่อนำมาเป็นเหตุผลในการกำหนดวันอีดิลอัฎฮาของไทยโดยไม่ผูกติดกับวันอะรอฟะฮ์ในมักกะฮ์ และอ้างว่าวันอะรอฟะฮ์หมายถึงวันที่ ๙ ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ซึ่งแต่ละท้องถิ่นสามารถกำหนดกันได้ตามผลของการดูดวงจันทร์ในท้องถิ่นนั้น ๆ ทั้งนี้โดยมิพักต้องพิจารณาว่าจะมีการวุกูฟในวันนั้นหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าการนำวจนะศาสดามาอ้างอิงในเรื่องนี้ เป็นการวางวจนะผิดที่ผิดทาง เพราะวจนะดังกล่าวแนะนำการปฏิบัติในกาลเวลาหนึ่งซึ่งการสื่อสารระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ในยามที่โลกเป็นเหมือนหมู่บ้านหนึ่งเดียวเช่นยุคโลกาภิวัตน์ทุกวันนี้ ผู้นำควรพิจารณาวจนะอีกกลุ่มหนึ่งที่เน้นย้ำความเป็นเอกภาพของประชาคมมุสลิมมากกว่า การยืนกรานกำหนดวันอีดิลอัฎฮาตามเหตุผลเดิม ๆ ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดความแปลกแยกในสังคมมุสลิมมากขึ้น เพราะหากปฏิบัติตามคำประกาศสำนักจุฬา ฯ ก็หนีไม่พ้นความรู้สึกตะขิดตะขวงใจเมื่อรู้ทั้งรู้อีกทั้งยังมองเห็นด้วยตา (ผ่านการถ่ายทอดสด) อีกต่างหากว่าวันที่ ๑๘ ธันวาคม คลื่นฮุจญาตหลั่งไหลไปยังท้องทุ่งอะรอฟะฮ์เพื่อทำการวุกูฟ เวลาที่ห่างกันระหว่างไทยกับซาอุดิอารเบียเพียง ๔ ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถอ้างได้ว่าวันที่ ๑๘ ในซาอุ ฯ ตรงกับวันที่ ๑๙ ในประเทศไทยเพราะมีช่วงเวลากลางวันร่วมกันถึง ๘ ชั่วโมง ดังนั้น ๑๘ ธันวาคมในมักกะฮ์ก็คือ ๑๘ ธันวาคมของประเทศไทยเช่นกัน เมื่อทั้งรู้ทั้งเห็นว่าการวุกูฟทำกันในวันที่ ๑๘ เหตุใดสำนักจุฬาราชมนตรีจึงประกาศให้วันอะรอฟะฮ์ตรงกับวันที่ ๑๙ ?

ส่วนการอ้างว่าวันอะรอฟะฮ์หมายถึงวันที่ ๙ ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ โดยไม่เกี่ยวว่าจะตรงกับการวุกูฟหรือไม่ น่าจะเป็นเหตุผลที่ตื้นเขินเกินไป เพราะหากไม่มีการวุกูฟ ไหนเลยจะมีวันอะรอฟะฮ์ได้ ? วันที่ ๙ ซุลฮิจญะฮ์จะมีความหมายอะไรหากไม่มีการวุกูฟ ? เช่นเดียวกับวันที่ ๑๐ ซุลฮิจญะฮ์ซึ่งเรียกว่าวัน อัน นะห์ริ ที่เรียกเช่นนั้นเพราะมีการเชือดสัตว์ หากไม่มีการเชือดสัตว์ ชื่อ อัน นะห์ริ ย่อมไม่มีความหมายใด ๆ เลย ถามหน่อยเถอะ สำนักจุฬา ฯ จะมีความหมายอะไรต่อสังคม หากมีเพียงชื่อ แต่ไร้ตัวตนของสถาบันจริง ๆ ?

สำหรับวจนะที่อ้างถึงกันนั้น นอกจากจะต้องตระหนักว่าบรมศาสดา (ขอความสุขสวัสดิ์จงประสบแด่ท่าน) เป็นผู้ที่คำนึงถึงสถานภาพของบุคคลและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ท่านกำหนดบทบาทของแต่ละคนแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของสถานภาพนั้น ๆ แล้ว ควรระลึกไว้ด้วยว่าหากเราถือเอาวันวุกูฟที่มักกะฮ์เป็นเกณฑ์กำหนดวันอีดิลอัฎฮาของประเทศไทย ก็มิได้หมายความว่านั่นเป็นการยกเลิกคำสั่งแห่งศาสดาที่ให้ดูดวงจันทร์ เพราะการกำหนดวันสำคัญในมักกะฮ์ก็ใช้วิธีดูดวงจันทร์เช่นกัน เมื่อวันของมักกะฮ์กับวันของไทยก็คือวันเดียวกันเพราะต่างกันเพียง ๔ ชั่วโมง ไม่อาจนับเป็นคนละวันได้ การที่ผู้รับผิดชอบฝ่ายไทยจะถือเอาการเห็นดวงจันทร์ที่มักกะฮ์มาเป็นเกณฑ์กำหนดวันอีดิลอัฎฮาของไทยย่อมเป็นการสมควรอย่างยิ่ง และถือว่าเป็นการกำหนดบนพื้นฐานของการดูดวงจันทร์อยู่นั่นเอง ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในหมู่ประชาคมมุสลิมอันเป็นเจตนารมณ์สำคัญของบทบัญญัติอิสลามอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม การยืนกรานที่จะกำหนดวันสำคัญเองโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงทางสังคมและเจตนารมณ์แห่งศาสนานั้น นอกจากจะสร้างความปริแยกร้าวฉานซึ่งผู้นำต้องหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ยังเป็นการสะท้อนอิทธิพลล้ำลึกของความรู้สึกชาตินิยมที่เกาะกินใจผู้นำสังคมมุสลิมไทยอยู่อีกด้วย เป็นชาตินิยมที่ทำให้เรามองอะไรได้ไม่ไกลเกินกว่าพรมแดนรัฐชาติที่ชนชั้นนำขีดคั่นขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ภายใต้แนวคิดที่ให้ความสำคัญสูงยิ่งกับเอกลักษณ์เฉพาะตนที่คนในพรมแดนรัฐชาตินั้นมี เช่น เชื้อชาติ ภาษา และจารีตประเพณีซึ่งมักถูกกำหนดโดยชนชั้นสูงของสังคม ความรู้สึกชาตินิยมเช่นนี้ จริง ๆ เป็นสิ่งที่อิสลามได้นำพามุสลิมจนก้าวพ้นผ่านไปแล้ว แต่ในยามที่โลกอิสลามอ่อนแอจนถูกแบ่งแยกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยเช่นปัจจุบัน เราต่างถูกครอบงำจนปล่อยให้พรมแดนรัฐชาติกลับกลายเป็นเส้นคั่นความเป็นเอกภาพของประชาชาติอิสลามไปเสียได้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่องค์กรนำติดอยู่ในหล่มความแข็งตัวทางความคิด  คนกลุ่มหนึ่งในสังคมมุสลิมไทยกลับซ้ำเติมวิกฤติที่ดำรงอยู่ โดยพยายามห้อยโหนยึดกิ่งก้านหนึ่งของซุนนะฮ์ (วัตรปฏิบัติแห่งบรมศาสดา)ไว้อย่างเหนียวแน่น  แต่น่าเสียดายที่คนกลุ่มนี้ขณะมือหนึ่งยึดกิ่งซุนนะฮ์ไว้ อีกมือกลับไปบ่อนเซาะ โค่นล้มลำต้นแห่งซุนนะฮ์ไปด้วย

คนกลุ่มนี้ประกาศให้วันอีดิลอัฎฮาตรงกับวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยไม่อินังขังขอบกับประกาศสำนักจุฬาราชมนตรี ด้วยเหตุผลคือเพราะการวุกูฟทำกันในวันที่ ๑๘ วันอีดจึงต้องเป็นวันที่ ๑๙ พวกเขานำวัตรปฏิบัติแห่งบรมศาสดา (ขอความสุขสวัสดิ์จงประสบแด่ท่าน) มาสนับสนุนการกระทำดังกล่าวอย่างแข็งขัน โดยไม่เคยเหลือบมองแม้แต่น้อยว่าการกำหนดวันอีดเสมอเพียงกิ่งก้านเล็ก ๆ กิ่งหนึ่งของต้นซุนนะฮ์อันสูงตระหง่านเท่านั้น ที่สำคัญกว่ากิ่งคือลำต้น และต้นไม้อิสลามซึ่งก่อตัวจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์นี้เป็นต้นไม้ที่จะให้ร่มเงาแก่มนุษยชาติทั้งมวล จึงย่อมจะมีกิ่งก้านสาขามากมาย เพียงบุคคลยึดกิ่งก้านหนึ่งใดซึ่งงอกออกมาจากลำต้นซุนนะฮ์เอาไว้ให้มั่น โดยไม่ทำลายกิ่งอื่นหรือไม่ทำลายลำต้น ก็ย่อมถือว่าบุคคลนั้นเป็นชาวซุนนะฮ์ด้วยกันทั้งสิ้น

พวกเขาไม่ได้พยายามก้าวข้ามความคับแคบนี้เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้เห็นว่าอิสลามเป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติ รวมคนมากมายหลายเชื้อชาติ ภาษา และหลากแนวคิดไว้ใต้ร่มเงาเดียวกัน ภายใต้ความหลากหลายนี้อิสลามเปิดโอกาสให้มุสลิมสามารถแสดงตัวตนของตนออกมาได้เต็มที่ภายใต้กรอบแห่งอุดมคติการภักดีต่ออัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้า เพราะความแตกต่างเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่อิสลามจะไม่ฝืนบังคับเพื่อให้ทุกคนต้องคิดอ่านเหมือนกัน จึงไม่แปลกที่แนวคิดเชิงปฏิบัติตามกฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) ที่รู้จักกันดีจะมีอยู่ถึง ๔ สำนัก แต่ละสำนักก็มีลักษณะเด่นเฉพาะตัวของตนเอง อันเป็นไปตามบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง ๔ สำนักก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นกิ่งก้านที่ล้วนแตกกอต่อยอดมาจากลำต้นซุนนะฮ์ทั้งสิ้น

กระนั้นก็ตาม ผู้ที่อ้างตนเป็นชาวซุนนะฮ์ทั้งหลายก็มักจะไม่สำเหนียกถึงความจริงข้อนี้ พวกเขาผูกขาดความถูกต้องไว้แต่เพียงผู้เดียว และพร้อมจะชี้นิ้วประณามความคิดเห็นอื่น ๆ ที่ต่างออกไปว่าล้วนเป็นความผิด เป็นบิดอะฮ์(อุตริกรรมซึ่งขัดแย้งกับซุนนะฮ์) ทั้งสิ้น ความคิดอ่านที่รุนแรงตกขอบเช่นนี้ หลายครั้งนำไปสู่การตัดสินสังคมทั้งหมดว่าจมอยู่ในอุตริกรรม และตามมาด้วยการแยกตัวจากสังคมเดิมกลายเป็นกลุ่มก้อนใหม่ซึ่งจะไม่เชื่อฟังผู้นำคนใด ยกเว้นผู้นำที่มีท่วงทำนองความคิดแบบเดียวกันเท่านั้น

การกระทำของคนกลุ่มนี้จึงมักก่อให้เกิดความแปลกแยกในสังคมมุสลิมอยู่เสมอ และการประกาศวันอีดิลอัฎฮา ๑๔๒๘/๒๕๕๐ ที่ผ่านมานับเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าขณะที่ยึดกิ่งซุนนะฮ์อยู่ด้วยมือข้างหนึ่ง พวกเขากลับใช้มืออีกข้างฟาดฟันไปกลางลำต้นของซุนนะฮ์อย่างรุนแรง คือต้นซุนนะฮ์ที่ก่อตัวมาจากความเป็นญะมาอะฮ์หรือความเป็นเอกภาพของสังคมนั่นเอง ทั้งนี้เพราะซุนนะฮ์เชิงปฏิบัติในข้อปลีกย่อย(ชะรีอะฮ์) เช่น การละหมาดอีด ต้องยืนอยู่บนฐานของซุนนะฮ์ใหญ่อันได้แก่การรักษาเอกภาพของประชาคมเอาไว้ (ญะมาอะฮ์) ด้วยว่าชะรีอะฮ์ย่อมมาทีหลังญะมาอะฮ์ จึงปรากฏในโอวาทศาสดาหลายครั้งหลายหนตอกย้ำให้มุสลิมรักษาญะมาอะฮ์ไว้ เช่น วจนะซึ่งบันทึกในประมวลวจนะฉบับอิหม่ามมุสลิม หมวดว่าด้วยการตัดสินพิพากษา ความว่า "องค์อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยวิถีธรรม ๓ ประการในหมู่ประชาชาติอิสลาม ได้แก่ หนึ่ง การสักการะต่อพระองค์เพียงผู้เดียวโดยไม่นำสิ่งใดมาเทียบเคียงพระองค์ สอง การยึดมั่นต่อศาสนาของพระองค์อย่างเป็นเอกภาพโดยไม่แตกแยก และสาม มีความจริงใจต่อผู้นำของตนเอง

เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ว่าหากผู้อ่านคนใดไปโต้เถียงกับผู้ยึดซุนนะฮ์แบบแยกส่วนและตกขอบโดยใช้วจนะลักษณะนี้ พวกเขาก็จะโต้ตอบกลับมาว่าการเชื่อฟังผู้นำและรักษาเอกภาพของประชาคมเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อผู้นำหรือประชาคมนั้นทำสิ่งที่ถูกต้อง หากผู้นำหรือประชาคมทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังหรืออยู่ร่วมกันอีกต่อไป การประกาศวันอีดของสำนักจุฬา ฯ ถือว่าไม่ถูกต้อง จึงไม่สมควรปฏิบัติตาม

ความจริง การรักษาเอกภาพในประชาคมและความจริงใจต่อผู้นำดังปรากฏในวจนะที่กล่าวถึงข้างต้นมิได้เป็นการปิดกั้นเวทีการต่อสู้ต่อรองทางความคิดของคนในสังคมแต่ประการใดเลย คนที่มีความคิดขัดแย้งแตกต่างกับสำนักจุฬา ฯ ย่อมมีสิทธิเต็มที่ที่จะเสนอหรือเผยแพร่ความคิดของตนทั้งต่อสำนักจุฬา ฯ เองและต่อสาธารณชน อีกทั้งเป็นหน้าที่ของสำนักจุฬา ฯในฐานะผู้นำต้องรับฟังอย่างพินิจพิเคราะห์ แต่เมื่อมีการประชุม (ชูรอ) ของผู้เกี่ยวข้องแล้ว มติออกมาอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของประชาคมมุสลิมที่จะต้องปฏิบัติตาม แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะหากแต่ละกลุ่มแต่ละคนดึงดันจะทำตามที่ตนเองคิดตนเองเห็นโดยไม่เคารพเชื่อฟังผู้นำหรือมติประชาคมแล้ว ก็ย่อมมีแต่จะแตกแยกขัดแย้งกันมิสิ้นสุด

มีเพียงกรณีเดียวที่อนุญาตให้มุสลิมขัดขืนมติหรือคำสั่งของผู้นำได้คือเมื่อมติหรือคำสั่งนั้นนำไปสู่การทรยศเนรคุณต่ออัลลอฮ์เจ้าอย่างชัดเจน ส่วนกรณีเช่นการประกาศวันอีดไม่ตรงกับวันอันนะห์ริที่มักกะฮ์นั้น ไม่มีนักวิชาการคนใดที่เป็นนักวิชาการจริง ๆเห็นว่าเป็นการทรยศเนรคุณต่ออัลลอฮ์ เพราะเป็นเพียงการตีความวจนะแห่งศาสดาที่แตกต่างออกไป ความแตกต่างเช่นนี้เป็นสิ่งที่เรามิอาจหลีกเลี่ยง อิสลามจึงไม่ปฏิเสธการใช้ดุลยพินิจ แม้ผลแห่งการใช้จะออกมาแตกต่างกันหรือผลบางอย่างอาจไม่ถูกต้องก็ตาม กลับส่งเสริมให้มีการใช้ดุลยพินิจมากขึ้นโดยการตอบแทนรางวัลแก่ผู้ใช้ดุลยพินิจอย่างถูกต้องสองรางวัล หนึ่งสำหรับความยากลำบากในการใช้ดุลยพินิจ และอีกหนึ่งสำหรับความถูกต้องที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ที่ใช้ดุลยพินิจแล้วแต่ได้ผลไม่ถูกต้องก็ยังได้รับหนึ่งรางวัลสำหรับความพยายามที่เขาทุ่มเท

การดำรงอยู่ของมุสลิมในประเทศไทยมีความเป็นประชาคม (ญะมาอะฮ์) อย่างมิต้องสงสัย ทั้งในแง่กฎหมายและโครงสร้างสังคม การกระทำของผู้อ้างตนว่ายึดมั่นในซุนนะฮ์เป็นการทำลายโครงสร้างดังกล่าว และนำตนเองไปสู่สังคมป่าเถื่อน (ญาฮิลียะฮ์) อีกครั้งหนึ่ง เป็นความป่าเถื่อนอันเกิดจากผู้คนต่างยึดอัตตาของตนเองเป็นใหญ่และไม่ให้ความเคารพต่อผู้นำ เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นปลีกย่อย ลักษณะเช่นนี้จะนำไปสู่วิกฤติและความวุ่นวายในสังคมได้ง่าย ดังเช่นสภาพทางสังคมและการเมืองของประเทศไทยทุกวันนี้ที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน มีการขับไล่ผู้นำด้วยความก้าวร้าวรุนแรงด้วยข้อหาทุจริตคอรัปชั่น จนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นับถึงวันนี้เราต่างประจักษ์กันแล้วว่าวิธีการดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ปัญหาทุเลาเบาบางลง ไม่ได้ช่วยลบรอยร้าวปริแยกทางความคิด แต่ได้ซ้ำเติมความทุกข์ยากนานาประการแก่สังคมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนแก่ประชาคมมุสลิมให้ย้อนไปศึกษาวจนะแห่งศาสดาเกี่ยวกับความอดทนอดกลั้นที่พึงมีต่อความผิดพลาดของผู้นำอย่างลุ่มลึกมากขึ้น ไม่คิดกบฏหรือแยกตัวแยกกลุ่มเพราะการแยกตัวแม้เพียงคืบหนึ่งก็นับเป็นพฤติกรรมของชาวญาฮิลียะฮ์แล้ว (ดูประมวลวจนะฉบับอิหม่ามบุคอรีย์ หมวด อัลฟิตัน) ไม่ลบล้างความชั่วร้ายอย่างหนึ่งด้วยวิธีการที่จะนำความชั่วที่ร้ายแรงกว่าเป็นผลพวงตามมา รู้จักใช้สัมมาวาจาในการตักเตือนผู้นำ และไม่คิดนำสังคมไปสู่การทรยศขัดขืนผู้นำในประเด็นที่ศาสนาไม่อนุญาตให้ขัดขืน เพราะการกระทำเช่นนั้นจะไม่ช่วยให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลง รังแต่จะซ้ำเติมให้หนักหนาสาหัสมากขึ้นด้วยซ้ำ 

สรุป  

มีความจำเป็นยิ่งยวดในกลุ่มผู้นำและกลุ่มนักวิชาการอิสลามที่จะต้องทำให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของเอกภาพในหมู่ประชาคมมุสลิม และวิธีการที่น่าจะทรงประสิทธิภาพสูงสุดวิธีหนึ่งซึ่งจะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ก็คือการชี้ให้เห็นว่าอิบาดะฮ์ใด ๆ ที่ถูกบัญญัติขึ้นในอิสลามล้วนมีวัตถุประสงค์ทั้งในแง่การขัดเกลาจิตใจของปัจเจกชนและในแง่การสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาคม ปรากฎการณ์ที่อิบาดะฮ์เช่นการละหมาดวันอีดกลายเป็นชนวนให้ประชาคมมุสลิมแตกแยกขัดแย้งสะท้อนถึงวุฒิภาวะที่อ่อนแอของผู้นำ อันเนื่องจากวิธีคิดและวิถีทรรศน์ที่คับแคบในการยึดมั่นต่อวจนะแห่งบรมศาสดา (ขอความสุขสวัสดิ์จงประสบแด่ท่าน) ความไม่ตระหนักว่าธรรมชาติแห่งอิสลามมีทั้งส่วนที่เป็นกฎตายตัว (ซะวาบิต) และส่วนที่ยืดหยุ่นได้ (มุตะฆัยยิรอต) ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับคุณค่าและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวิถีชีวิตของมนุษย์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ผู้นำต้องยึดคุณค่าไว้อย่างมั่นคงมิแปรเปลี่ยน ขณะเดียวกันก็ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในวิถีสังคมด้วย การทำให้สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนกลายเป็นความตายตัวมีแต่จะทำให้สังคมเปราะบางมากขึ้น และอาจทำให้ความแตกแยกเป็นปัญหาที่คอยบั่นทอนพละกำลังของประชาคมอย่างมิรู้จบสิ้น

ปรากฎการณ์ความแตกแยกในการประกอบอิบาดะฮ์ยังสะท้อนให้เห็นว่าผู้รู้/นักวิชาการบางส่วนซึ่งสามารถชี้นำสังคมได้ยังมองอิสลามแบบแยกส่วนอยู่ มุมมองที่แยกอิบาดะฮ์ออกจากเอกภาพของประชาคมทำให้ผู้รู้/นักวิชาการกลุ่มนี้ไม่รีรอที่จะใช้ความเห็นที่แตกต่างกันในส่วนข้อปลีกย่อยของการประกอบอิบาดะฮ์เป็นเหตุผลนำสาวกของตนแยกตัวจากประชาคม อันเปรียบเหมือนคนที่ยึดกิ่งของต้นไม้ไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง ขณะที่มืออีกข้างก็ฟาดฟันโค่นล้มลำต้นของไม้นั้นไปด้วย สายตาที่คับแคบทำให้พวกเขาไม่สามารถมองเห็นอิสลามที่เป็นองค์รวมได้ และไม่ตระหนักว่าหากลำต้นของไม้ซึ่งต้องอาศัยเอกภาพของประชาคมในการดำรงอยู่ถูกโค่นล้มลง กิ่งก้านที่พวกเขายึดโยงก็ต้องล้มไปด้วยกันอย่างมิต้องสงสัย

เอกภาพของประชาคมมุสลิมจึงเป็นสิ่งที่องค์กรนำเช่นสำนักจุฬาราชมนตรีและหมู่นักวิชาการอิสลามต้องคำนึงถึงให้มากก่อนออกประกาศหรือชี้นำสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท