Skip to main content
sharethis

ทหารจะกลับเข้ากรมกองจริงๆ หรือยัง แล้ววันนี้ที่ยืนของทหารจะอยู่ตรงไหน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในที่เพิ่งผ่าน (ฉลุย) ไป จะเกี่ยวอะไรกับการมีอยู่ของทหารในทางการเมืองรึเปล่า ปัญหาตกค้างแต่ไม่ตกผลึก อย่างเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ จะทำอย่างไร "ประชาไท" พาไปคุยกับ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการ สายความมั่นคง แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 

<--break- />

แม้ดูเหมือนทหารจะกลับเข้ากรมกองไปแล้วในคราวหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แต่เมื่อ 19 กันยายน 2549 ทหารก็ทำรัฐประหารและกลับเข้าสู่เส้นทางการเมืองไทยอีกครั้ง จนถึงการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 ที่หวังกันว่า จะเป็นการคืนเวทีให้รัฐบาลพลเรือนเข้ามาจัดการต่อ กระนั้น จากเดจาวู 19 กันยาฯ ก็ทำให้ไม่อาจมั่นใจได้อีกแล้วว่า ทหารจะกลับเข้ากรมกองจริงๆ แล้ววันนี้ที่ยืนของทหารจะอยู่ตรงไหน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในที่เพิ่งผ่าน (ฉลุย) ไป จะเกี่ยวอะไรกับการมีอยู่ของทหารในทางการเมืองหรือเปล่า เรื่องเหล่านี้ สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการสายความมั่นคง แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกไว้ว่า เพื่อจะตอบคำถามข้างต้น จะต้องทำให้ปัญหา "ตกค้างแต่ไม่ตกผลึก" อย่างเรื่องการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพเป็นเรื่องที่คิดกันอย่างจริงจังเสียที

00000

ทหารจะกลับกรมกองหลังการตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นหรือไม่ ตามที่ทหารหลายคนพยายามพูดเช่นนั้น
เรื่องตรงนี้เราได้ยินคนพูดกันเยอะมาก และเห็นท่าทีจากผู้นำทหารปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ผบ.ทบ. ว่า ทหารพยายามจะไม่เข้าไปยุ่งกับการเมือง แต่คำพูดเฉยๆ ไม่เพียงพอ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าเราควรจะเชื่อหรือไม่เชื่อใจ พล.อ.อนุพงษ์ (เผ่าจินดา - ผู้บัญชาการทหารบก) ผมคิดว่าคนละประเด็นกัน

ประเด็นใหญ่คือถ้าเราคิดว่าทหารต้องกลับเข้ากรมกอง หลังจากที่การเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ประเด็นสำคัญที่ต้องเกิดจริงๆ ก็คือ กระบวนการที่จะทำให้ หนึ่ง ทหารกลับเข้ากรมกองจริง สอง การกลับเข้ากรมกองของทหารนั้นมีภาวะที่ยั่งยืนหรือถาวร

ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราย้อนอดีตกลับไปสู่เหตุการณ์พฤษภาคม 35 สภาพมันก็มีอะไรบางอย่างที่เป็นบทเรียนให้เรา หลังปี 35 เราพูดเรื่องทหารกลับเข้ากรมกองเยอะมาก แล้วหลังปี 35 ถ้าพูดเรื่องการยึดอำนาจหรือการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร ผมคิดว่าไม่มีคนเชื่อ แต่จนสุดท้าย จากปี 35 ถึงปี 49 ประมาณ 14-15 ปี สิ่งที่เราเห็นก็คือ กระบวนการกลับเข้ากรมกองของทหารไม่เกิดขึ้นจริง มันเป็นเพียงความคาดหวังที่เราเชื่อง่ายๆ ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ พ.ค. 35 ทหารกลับเข้าไปแล้วล่ะ

เราปล่อยกระบวนการของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นไปตามยถากรรม ผมใช้คำนี้เพราะเหตุว่า เมื่อเราไม่มีกรอบคิดหรือแนวนโยบายแล้ว ความสัมพันธ์ตรงนี้ไม่ถูกจัด เราไม่มีคำตอบในหลายอย่าง รวมถึงบทบาทของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในหลายประเด็นนั้นควรเป็นอย่างไร และในทำนองเดียวกัน บทบาทของกองทัพที่อยู่ในกรอบที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นควรจะเป็นอย่างไร เราไม่มีวิธีคิด

ถ้าตอบจนถึงที่สุด อาจเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่เราอยู่กันง่ายๆ แล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก เราปล่อยให้ประเด็นสำคัญประเด็นนี้ เดินไปเรื่อยๆ ด้วยตัวของมันเอง แต่ว่าที่จริงก่อนปี 35 ก็ปัญหาเดียวกัน หลัง 14 ต.ค. ก็เช่นกัน หลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. เรามีปัญหาอีกแบบหนึ่ง แต่เมื่อช่วงของรัฐบาลแบบประชาธิปไตยครึ่งใบเข้ามา การจัดตรงนี้ไม่เกิดเลย

ผมไม่รู้ว่าจะเปรียบได้ไหมว่า สังคมไทยเหมือนอาหารสำเร็จรูป เราคุ้นกับการเปิดบะหมี่ ฉีกซอง แล้วเติมน้ำร้อน เราคุ้นกับการเปิดขวดกาแฟ ตักกาแฟผง แล้วเอาน้ำร้อนใส่

เราอยู่ในสังคมที่สำเร็จรูปซะจนเคย จนเราคิดว่า การเมืองก็คงเหมือนอาหารสำเร็จรูปที่เอาน้ำร้อนใส่แล้วเราทานได้เลย แต่ผมคิดว่าในความเป็นจริง ประชาธิปไตยต้องการกระบวนการคิด ต้องการระยะเวลาของการพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่มีกระบวนการคิดรองรับ หลังเหตุการณ์ พ.ค. 35 ทุกครั้งที่เรามีปัญหา ถ้าสังเกต จะเห็นสื่อถามว่า ทหารจะเอายังไง ทำไมเราไม่ถามในมุมกลับว่าสังคมจะเอาอย่างไร

ที่ผ่านมา เราโชคดีว่าวิกฤตที่เกิดขึ้นในบ้านเรา อย่างกรณีวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อ พ.ค. ปี 40 ที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจมาก แต่ข้อดีคือทหารไม่ได้กลับเข้ามา เรามีวิกฤตการณ์ที่ซ้อน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา เช่น 11 กันยายน 2544 หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ทหารก็ไม่กลับ จนสุดท้ายทหารตัดสินใจกลับมา เมื่อ 19 กันยายน 49 ด้วยความเชื่อว่า ถ้าทหารไม่กลับจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นบนถนน

ค่ำของคืนวันยึดอำนาจ ถ้าใครเปิดโทรทัศน์ดู จะเห็นการประท้วงรัฐบาลของคนในฮังการี ซึ่งออกมาบนถนนแล้วปะทะกับตำรวจ การปะทะกับตำรวจถ้าดูจากข่าวต่างประเทศถึงขั้นใช้ระเบิดเพลิงปาใส่ตำรวจ ผมนั่งดูข่าวฮังการีแล้วผมมีคำถามอยู่ในใจ ทำไมกองทัพบกฮังการีไม่ยึด ในขณะที่เหตุการณ์บนถนนที่กรุงเทพฯ ยังไม่ถึงขั้นปะทะ แต่ทำไมยึด หรือว่าสุดท้าย เรากลัวการสูญเสีย เรากลัวว่าการเมืองจะพาไปสู่การสูญเสีย

แต่ผมคิดว่า เราคงจะต้องยอมรับเหมือนกันว่า ความขัดแย้งในระบบประชาธิปไตยเป็นภาวะปกติ ถ้าความขัดแย้งในระบบประชาธิปไตยเป็นภาวะปกติ ปัญหาใหญ่คือทำอย่างไรที่ความขัดแย้งนี้จะไม่ขยายตัวเป็นความรุนแรงจนเกินขอบเขตต่างหาก

วันก่อนมีข่าวการวิวาทในรัฐสภาในเกาหลีใต้ หรือหลายครั้ง เราเห็นเหตุวิวาทในรัฐสภาในประเทศแถบเอเชีย มันก็มีคำถามคล้ายกัน แล้วทำไมทหารไม่ยึด หรือแม้กระทั่ง กองทัพที่แข็งกว่าเราในอดีตอย่างกองทัพเกาหลีใต้ วันนี้เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ กลุ่มทุนในเกาหลีใต้ไม่กลัวคอมมิวนิสต์จากเกาหลีเหนือที่มีอาวุธจากนิวเคลียร์เหรอ หรือว่าวันนี้ กลุ่มทุน-กลุ่มชนชั้นกลางในเกาหลีใต้ รวมถึงกลุ่มต่างๆ ในเกาหลีใต้มีวุฒิภาวะพอที่จะอยู่กับสังคมประชาธิปไตยที่มีความขัดแย้งภายใน ซึ่งประเด็นนี้ผมคิดว่าสังคมอาหารสำเร็จรูปแบบไทย คงต้องเรียนรู้พอสมควร ทำอย่างไรที่เราจะใจเย็นพอและใจแข็งพอที่จะให้โอกาสประชาธิปไตยพัฒนา

ถ้าเราไม่ให้โอกาสประชาธิปไตยพัฒนา แล้วเราคาดหวังทุกอย่างแบบอาหารสำเร็จรูป สุดท้ายเราไม่ใช่คนปรุงอาหาร แล้วแย่ที่สุดคือ เราก็ไม่ใช่คนที่ได้ชิมอาหารในชามนั้นด้วย ถ้าเราคิดว่าเราใจเย็นพอ ใจแข็งพอ วันนี้สังคมไทยปรุงอาหารด้วยกันไหม แล้วก็รับประทานด้วยกัน ไม่ต้องไปเชื้อเชิญคนอื่นมารับประทานแทนเรา

วันนี้ สังคมไทยเริ่มถอยสู่อดีต คำถามสำคัญยังเป็นคำถามเดิม ทำอย่างไรที่กระบวนการถอนตัวของทหารจะมีความเป็นสถาบัน ผมใช้ความหมายของการเป็นสถาบัน คือมีฐานะที่ยั่งยืนและถาวร ถ้ากระบวนการอย่างนี้เกิดไม่ได้ ประชาธิปไตยไทยจะไม่มีวุฒิภาวะเลย พูดง่ายๆ ผมเคยใช้เสมอว่า สุดท้ายประชาธิปไตยไทยเป็นแค่เด็กชาย เพราะพอเริ่มตั้งไข่ก็ล้ม เริ่มตั้งไข่ได้ระยะหนึ่ง ก็ล้ม หรือบางทีไม่ล้มก็มีคนมาเตะตัดขา ด.ช.ประชาธิปไตยให้ล้มอีก

ผมคิดว่าประเด็นตรงนี้ เรามีบทเรียนเยอะ ใครจะชอบหรือไม่ชอบเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา แต่ถ้าเราตั้งสติแล้วลองมองย้อนกลับเปรียบเทียบก่อนรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าสิ่งที่เห็นชัดคือ ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทยเอง ถ้าบอกว่าก่อนรัฐประหารแตกแยก ผมเชื่อว่า หลังรัฐประหารแตกแยกมากกว่า พูดง่ายๆ ก็คือรัฐประหารไม่แก้ปัญหา

สิ่งที่ผมเคยพูดเสมอ ถ้าใช้สำนวนของเกมโชว์เมืองไทย ก็คือ รัฐประหารไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการเมืองไทย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐประหารเป็นคำตอบของการเมืองไทย คุณเป็นยาจกด้วยกันพร้อมกันหมด เพราะเศรษฐกิจไม่สามารถขับเคลื่อนภายใต้เงื่อนไขการรัฐประหารได้ การลงทุนจากต่างชาติก็ไม่มี ในเกมโชว์ คำตอบสุดท้ายคุณอาจได้เป็นเศรษฐี แต่ในเกมการเมืองไทยวันนี้ ถ้าคำตอบสุดท้ายคือรัฐประหาร ผลพวงจากรัฐประหารตอบชัดว่า วันนี้เราเป็นยากจนด้วยกันทั้งสังคม


ทหารต้องถอนตัวไปเป็นสถาบัน เป็นอย่างไร
กระบวนการถอนตัวของทหารต้องมีความเป็นสถาบันคือ ต้องเกิดอย่างมีกระบวนการรองรับ แล้วสามารถทำให้กระบวนการรองรับนั้น ทำให้ผลของการถอนตัวมีความยั่งยืน ในระบบของบ้านเรา เมื่อเราไม่แตะเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง กระบวนการถอนตัวของกองทัพจากการเมืองไม่เคยถูกสร้างให้เป็นกระบวนการ มันเป็นแต่เพียงความหวัง

ถ้าสังเกต พ.ค. 35 เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด พ.ค. 35 เรามีความหวัง แล้วเราไม่สร้างกระบวนการตัวนี้รองรับ แล้ววันนี้ พอปัญหาเกิด สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ถ้าวันนี้ทหารอยากถอนตัวจริงๆ คำพูดของผู้นำทหารอย่างเดียวไม่พอ ไม่ใช่ว่าผู้นำทหาร ดีไม่ดี เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้ เพราะก่อนการยึดอำนาจ ทหารก็บอกไม่ยึด ไม่ต่างกัน

แต่ปัญหาที่ต้องคิดคือ บทเรียนในต่างประเทศมีแล้ว สิ่งที่เห็นชัดคือ การเมืองในอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะในบราซิล ชิลี เปรู มีการยึดอำนาจมากกว่าและรุนแรงกว่าในสังคมไทย แต่วันนี้การรัฐประหารในอเมริกาใต้ไม่มี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ การรัฐประหารในอเมริกาใต้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจจะมากกว่าประเทศแถบภูมิภาคเราอีก เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นคืออะไร ผมคิดว่า คำตอบมันตอบจากละตินอเมริกา ก็คือ การถอนตัวของกองทัพออกจากการเมืองในอเมริกาใต้นั้นมีกระบวนการรองรับและมีความเป็นสถาบันที่ทำให้ทหาร ถอยออกไปแล้วดำรงตัวเองอยู่นอกการเมืองได้

ในกระบวนการอย่างนี้มันมีหลายเงื่อนไข ที่จริงผมเคยเขียนบทความตั้งแต่หลังปี 35 เพื่ออธิบายกระบวนการถอนตัวของทหารออกจากการเมืองไทยหลังปี 35 ว่ามีทั้งปัจจัยภายนอก คือเงื่อนไขระหว่างประเทศที่ไม่เอื้อ เงื่อนไขของปัจจัยระดับชาติ ที่สงครามคอมมิวนิสต์ไม่มีหรือสงครามเย็นยุติ เงื่อนไขภายในกองทัพเอง ทหารก็เริ่มไม่อยากยุ่งการเมือง แต่วันนี้ ปัจจัย ปี 35 อธิบายปี 49 ไม่ได้ แต่อธิบายในมุมกลับ ถ้าจะถามว่าโลกาภิวัตน์สนับสนุนให้ทหารยึดอำนาจไหม ผมว่าก็ไม่ใช่ ในระดับชาติเรามีสงครามที่ต้องกลัวจนทหารต้องยึดอำนาจ เหมือนกับยุคที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังทำสงครามไหม ก็ไม่ใช่

ตกลงวันนี้ ปัญหาเงื่อนไขมีปัญหาเดียวคือ ผู้นำทหารไทยคิดอย่างไรกับการเมืองของไทย พูดง่ายๆ ก็คือ วันนี้ผู้นำทหารไทยพร้อมที่จะยอมรับกระบวนการทางการเมืองในภาวะปกติหรือไม่ หรือผู้นำทหารไทยเชื่อว่า ผลประโยชน์ของผู้นำทหารเท่ากับผลประโยชน์ของกองทัพ และผลประโยชน์ของกองทัพเท่ากับผลประโยชน์ของชาติ ถ้าสมการเป็นอย่างนี้ มันตอบอย่างเดียว ผลประโยชน์ของผู้นำทหารเท่ากับผลประโยชน์ของชาติ สุดท้าย การยึดอำนาจจะเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในสังคมไทย เพราะถ้าผู้นำทหารเชื่อว่า ผลประโยชน์ของเขาถูกคุกคาม เขายึดอำนาจได้และชอบธรรม เพราะผลประโยชน์ของเขาเท่ากับผลประโยชน์ของชาติ ถ้าผลประโยชน์ของเขาถูกคุกคาม ก็คือผลประโยชน์ของชาติถูกคุกคาม
 

สื่อยังถามอยู่แม้กระทั่งเมื่อวานว่า จะมีรัฐประหารหรือเปล่า คำถามแบบนี้ อาจเป็นการให้ความชอบธรรมกับรัฐประหารหรือเปล่า ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รัฐประหารควรจะขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่สื่อกลับมองว่านี่เป็นคำถามที่ชอบธรรมที่ถามได้ในการรายงานข่าวประจำวัน สำหรับผมแล้ว มันไม่ต่างจากการถามว่า คุณจะไปฆ่าข่มขืนใครรึเปล่า เพราะมันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในระบอบประชาธิปไตย บทบาทสื่อสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สังคมที่อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างสังคมไทย บทบาทของสื่อมีส่วนช่วยโดยตรง ด้านหนึ่งสื่อมีบทบาทในการให้ความรู้ อีกด้านหนึ่งสื่อมีบทบาทในการให้ข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้นในสภาพอย่างนี้ สื่อมีบทที่สามารถเป็นผู้ชี้นำสังคม แม้ว่ากระบวนการเมืองประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ ซึ่งผมคิดว่าไม่ต่างจากในประเทศตะวันตก

แต่ปัญหาที่สำคัญสำหรับในประเทศที่การเมืองอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านแบบไทย ผมคิดว่าสื่อต้องตระหนักถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ในทางการเมือง แต่ก็มุมหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าคำถามของสื่อบางอย่าง ถ้าไม่ถือว่าสะท้อนอะไร ก็คงสะท้อนความกังวลของคนในสังคมไทยโดยรวม ในมุมนี้ก็คงว่าสื่อไม่ได้ คนจำนวนมากในสังคมไทยมองการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยความกังวลว่า ตกลงกองทัพรวมถึงผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจพร้อมเข้าสู่ภาวะปกติ ที่มีการเลือกตั้งเป็นการขับเคลื่อนเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ แล้วถ้าผลไม่เป็นอย่างที่พวกเขาต้องการ เขาจะยึดอำนาจรอบใหม่ไหม

ตั้งแต่การลงประชามติรัฐธรรมนูญ จนถึงการออกกฎหมายเลือกตั้ง คนก็พูดกันเยอะว่า ถ้าผลออกมาไม่ตรงกับที่กองทัพต้องการ กองทัพอาจจะยึด ซึ่งหลายท่านคงเห็นตัวอย่าง อย่างน้อยบทเรียนของพม่าคงเป็นข้อคิดให้เราได้ ว่าตอนการเลือกตั้ง เดือนสิงหาคม 1988 ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาไม่เป็นดังใจที่ผู้นำทหารอยากเห็น ผลสุดท้าย ผู้นำทหารของพม่าจับนางอองซาน ซูจี คุมขัง หรือ house arrest เพราะฉะนั้น ในมุมอย่างนี้เข้าใจได้ว่าทำไมคนไทยกังวล

หรือในภาพคู่ขนานกับระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทยวันนี้ คือ การเมืองปากีสถาน ถ้ามองภาพกว้างๆ มองการเมืองไทย แล้วมองการเมืองปากีสถานแล้วมองคู่ขนานอีกมุมคือ การเมืองพม่า น่าสนใจมาก


ที่สื่อถามผู้นำทหารว่าจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่นั้น ในแง่คาดหวังคำตอบ แทบจะไม่มีประโยชน์ เพราะทหารก็อ้างว่าตัวเองจะไปยอมรับได้อย่างไรว่าจะก่อการปฏิวัติ ถ้ายอมรับก็ทำไม่สำเร็จ หมายความว่า เขาจะตอบ No แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือคำตอบที่เชื่อถือได้
ผมถึงบอกว่า สุดท้ายแล้ว มันย้อนกลับมาที่ประเด็นตอนต้นว่า กระบวนการถอนตัวของทหารจากการเมืองต้องมีนโยบายและกรอบคิดรองรับ เพราะคำพูดลอยๆ ของใครก็ไม่มีหลักประกัน เห็นได้จาก คำพูดของ ผบ.ทบ. ย้ำกับสื่อทุกฉบับว่า ไม่ยึดอำนาจ เพราะฉะนั้น วันนี้ไม่ใช่คำพูดที่ทำให้เกิดหลักประกันทางการเมือง แต่เป็นนโยบาย กรอบคิด และที่สำคัญ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในการจัดความสัมพันธ์กับกองทัพ วันนี้ต้องคิด สังคมไทยปล่อยเรื่องนี้มานานมาก ประเด็นนี้ย้อนหลังไปอดีตไกลๆ เป็นปัญหามาตั้งแต่ 14 ต.ค. 16


หากจะจัดความสัมพันธ์แบบใหม่ควรจะมีลักษณะอย่างไร
ตอบยาก เพราะเราไม่รู้ว่า หนึ่ง นักการเมืองจะคิดอย่างไร สอง รัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งเป็นกุญแจหลัก ถ้าไขกุญแจไม่ได้จะทำอย่างไร

เราชอบมองว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ (unique) ผมคิดว่าในความเป็นจริง เราไม่มีลักษณะเฉพาะ เพราะเราเห็นบทเรียนที่เกิดขึ้นในทั่วโลก การเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ผมคิดว่าตัวแบบในละตินอเมริกาให้ข้อคิดกับเรามาก ต้องมียุทธศาสตร์แล้วในยุทธศาสตร์ ต้องมีบุคคลที่ทำให้ยุทธศาสตร์เกิดเป็นจริง และในขณะเดียวกัน ต้องทำให้กองทัพยอมรับตรงนี้ด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ตกลงการแต่งตั้ง ผบ.ทบ. ในอนาคต จะเอายังไง เราไม่มีอะไรเลย ผมเคยล้อเสมอว่า มีลูกคนหนึ่งซึ่งคลอดยากมาก คือ เด็กชายโผ ไม่รู้เมื่อไหร่จะคลอด ค้างอยู่ในครรภ์มารดานานมาก แล้วไม่รู้ว่าใครเป็นมารดา หรือใครเป็นหมอทำคลอด เพราะฉะนั้น แค่การแต่งตั้ง ผบ.ทบ. นี่คือตัวปัญหา ยึดอำนาจกุมภาพันธ์ปี 34 ก็ปัญหาข่าวลือปลด ผบ.ทบ. ยึดอำนาจ ก.ย. 49 ก็ปัญหาข่าวลือปลด ผบ.ทบ. วันนี้ เรื่องของการทำโผทหารต้องคิดใหม่ นี่เฉพาะเรื่องเดียว ยังไม่แตะเรื่องการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

เรื่องการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งในกองทัพ เรื่องของการทำงบประมาณทหาร เพราะฉะนั้นกรอบตรงนี้ใหญ่มาก มันอาจจะกินระยะเวลาพอสมควรในอนาคต ที่ต้องหากลุ่มคนที่ต้องเริ่มคิดวางยุทธศาสตร์ตรงนี้จริงๆ

คำถามที่ใหญ่ที่สุด สังคมไทยพร้อมไหมที่จะมีการปฏิรูปกองทัพและการเมืองคู่ขนานกัน ย้ำว่า ต้อง "ปฏิรูปกองทัพและการเมือง" คู่ขนานกัน เพราะถ้าการเมืองจะปฏิรูป ต้องปฏิรูปกองทัพด้วย นั่นคือถ้าจะทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องทำให้กองทัพก็ต้องเป็นประชาธิปไตย โดยนัยยะเดียวกันถ้าจะทำให้กองทัพเป็นประชาธิปไตยได้ การเมืองก็ต้องเป็นประชาธิปไตยคู่ขนานกัน


มีการสืบทอดอำนาจของทหาร หลังเหตุการณ์ 19 ก.ย. หรือไม่ มีอะไรบ้าง
มีสองส่วน ส่วนทางการเมือง ชัด คือ บทบาททหารทางการเมืองขยายตัวมาก คือ หนึ่ง กฎหมายความมั่นคง สอง การขยายบทบาทของ กอ.รมน. สาม การขยายบทบาทของทหาร และสี่ การขยายบทบาทที่เกินเลยกว่าบทบาทของการป้องกันประเทศ คือการนำเอาสถาบันทหารเข้ามายุ่งกับการเมืองโดยตรง ซึ่งกรณีหลังจะเห็นชัดว่า หลังปี 35 บทบาทส่วนนี้หายไปเยอะมาก

ผลพวงจาก 19 ก.ย. ตรงนี้ต้องยอมรับว่าเรื่องใหญ่ ปัญหาในระยะเปลี่ยนผ่านสั้นๆ ของการเมืองไทยคือ ผลพวงตรงนี้ใครจะเป็นคนแก้ เช่น วันนี้รัฐบาลอยากลดบทบาทของกองทัพในทางการเมือง ถามด้วยคำถามที่ง่ายที่สุดคือ ผู้นำกองทัพยอมไหม เพราะผู้นำกองทัพบางคนยังออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ไม่ยอม และถ้าไม่ยอมตกลง กองทัพจะเอาอย่างไร กองทัพจะเป็นสถาบันนอกการเมืองที่สามารถครอบการเมืองไทยได้ใช่ไหม วันนี้สังคมไทยยอมรับสถานะของการเป็นรัฐซ้อนรัฐในเชิงอำนาจทางการเมืองที่กองทัพมีหรือไม่

แต่ถ้าบอกว่า เราคิดว่าไม่ยอมรับ วันนี้สังคมไทยต้องคิดด้วยกันใหม่ทั้งกระบวน พูดง่ายๆ ต้องเลิกคิดด้วยวิธีการสำเร็จรูป แบบประเภทฉีกซองบะหมี่แล้วเติมน้ำร้อน สังคมไทยต้องคิดด้วยกันใหม่ทั้งหมด อย่าโทษกันไปโทษกันมา ทางทหารมักจะพูดว่า ต้องให้การเมืองปฏิรูปก่อน ผมคิดว่าไม่ใช่ ต้องปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปกองทัพพร้อมๆ กัน


ตอนนี้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ก็ตาม แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ความมั่นคง ทหารก็จะสถาปนาตัวเองเป็นอีกหนึ่งองค์กรในการเมือง
ผมตอกย้ำเสมอว่า พ.ร.บ.ความมั่นคง คือการทำให้อำนาจของทหารในการเมืองไทยมีความเป็นสถาบัน พูดง่ายๆ คือ ทำให้อำนาจของทหารอยู่อย่างถาวรในการเมืองไทยมากขึ้น ผมมีข้อเรียกร้องในการพูดในวันรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ว่า จริงๆ แล้ว น่าจะเรียกร้องสัญญาประชาคมจากทุกพรรคการเมือง ว่าใครก็ตามที่มาเป็นรัฐบาล ขอให้ยกเลิก พ.ร.บ. ความมั่นคง เพราะ พ.ร.บ. นี้ไม่เป็นประโยชน์ อ่านดูในเชิงสาระ พ.ร.บ.นี้ไม่ได้แก้ปัญหาความมั่นคง สาระหลักคือ การตั้ง กอ.รมน.ให้เป็นองค์กรถาวร

ผมไม่ได้ต่อต้านกฎหมายความมั่นคงแบบชนิดไม่รับเลย ใครที่เคยอ่านข้อเขียนผม ผมพูดตั้งแต่หลังการยกเลิก พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ว่า สังคมไทยควรมีกฎหมายความมั่นคง แต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคงกรอบใหญ่ ที่ให้อำนาจกับรัฐแบบครอบคลุมทุกอย่างที่ไม่รู้ว่า ในท้ายที่สุด มูลฐานความผิดที่เกิดขึ้นในปัญหาความมั่นคงคืออะไร

ผมคิดว่า ตัวอย่างของ พ.ร.บ.ความมั่นคงปัจจุบันคือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน วันนี้ถ้าเราคิดว่าเราชอบ พ.ร.บ.ความมั่นคง ลองตั้งสติ แล้วถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับปัญหาการใช้กฎหมายความมั่นคงในมาเลเซีย

ผมคิดว่า ตัวอย่างของ พ.ร.บ.ความมั่นคงปัจจุบันคือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน วันนี้ถ้าเราคิดว่าเราชอบ พ.ร.บ.ความมั่นคง ลองตั้งสติ แล้วถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับปัญหาการใช้กฎหมายความมั่นคงในมาเลเซีย

ผมพยายามนำเสนอตัวแบบของปัญหาที่เกิดขึ้นในมาเลเซียให้สังคมไทยคิด แต่ย้ำว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธกฎหมายความมั่นคงทั้งหมด ยังยืนยันว่าเราควรมีกฎหมายความมั่นคง แต่เป็นกฎหมายความมั่นคงกรอบเล็ก คือเป็นกฎหมายความมั่นคงเฉพาะเรื่อง เช่น กฎหมายการต่อต้านการก่อการร้าย กฎหมายต่อต้านการก่อวินาศกรรมหรือกฎหมายต่อต้านงานข่าวกรองที่ข้าศึกกระทำกับเรา เป็นต้น แต่ไม่ใช่กฎหมายที่ขยายมูลฐานความผิดแบบครอบคลุมทุกอย่าง แล้วให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารโดยไม่มีข้อจำกัด เพราะถ้าเราทำอย่างนั้น สุดท้ายปัญหาจะหวนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยของเราเอง คือ กฎหมายอย่างนี้จะเกิดปัญหาให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขตได้ง่าย หรือในทำนองเดียวกัน จะนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคต ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศ
 

ทำไมดูเหมือนคนจำนวนมากไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้ ถ้านับจากผู้ที่ไปเคลื่อนไหวหน้า สนช. เมื่อวันก่อนหรือการเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจะเป็นประชากรจำนวนน้อยมากของประเทศ
ผมเห็นด้วยนะ มีข้อสังเกตคล้ายๆ กันคือ ในสภาพที่ผมเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายความมั่นคงนั้น ไม่สามารถขยายการเคลื่อนไหวได้ เป็นการเคลื่อนไหวที่โดดเดี่ยวมาก เพราะไม่สามารถสร้างแนวร่วมในมหาวิทยาลัยได้ ถ้าเป็นสมัยก่อน ผมเชื่อว่าปัญญาชนในมหาวิทยาลัยเอาด้วยกับผม แต่หลัง19 ก.ย. เห็นได้ชัดว่า ปัญญาชนบางส่วนหันไปสนับสนุนทหารในการยึดอำนาจ ผลพวงที่ตามมาก็คือ พวกนี้ไม่กล้าคัดค้านกฎหมายความมั่นคง เพราะคิดว่าสิ่งที่ทหารทำถูกต้อง หรือโดยนัยยะคือถ้าต้องเลือกระหว่างกฎหมายความมั่นคง หรือต้องคัดค้านทหาร เขาเลือกที่จะเลือกกฎหมายความมั่นคงดีกว่า

มีคนบอกผมว่าสิ่งที่ผมเสนอซับซ้อนเกินไปในสังคมไทย คนในสังคมไทยไม่เข้าใจผลกระทบของกฎหมายความมั่นคง แล้วยังมองว่าไม่มีอะไร ผมยังจำได้ว่า ตัวแทนสื่อที่มาพูดเรื่องกฎหมายความมั่นคง ก่อนวันที่ 10 ธ.ค. ก็ยังบอกว่าไม่เป็นไร เพราะในความเป็นจริง รัฐบาลไม่เคยใช้กฎหมายความมั่นคงหรอก เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัว อะไรอย่างนั้น เป็นต้น
 

นักวิชาการบางคน อ้างว่า การออกกฎหมายความมั่นคง เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้
กฎหมายความมั่นคงไม่มีนัยยะเกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ ผมคิดว่า รัฐบาลจงใจที่จะเบี่ยงเบนประเด็น รัฐบาลพยายามที่จะบอกว่า การที่รัฐบาลไม่ออก พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับ ศอ.บต. ให้นั้นจำเป็นต้องรอกฎหมายความมั่นคงก่อน ผมคิดว่าไม่ใช่

ถึงกฎหมายความมั่นคงออกมา หลักการจริงก็คือ การให้อำนาจกับ กอ.รมน. ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับ ศอ.บต. โดยตรง คำถามผม กรณี ศอ.บต. เป็นปัญหามาตลอด ทำไมรัฐบาลไม่ตัดสินใจร่างกฎหมายให้ ศอ.บต. ตั้งแต่ต้น ถ้ารัฐบาลคิดว่า รัฐบาลเดิมมีปัญหาในการยุบ ศอ.บต. แล้วรัฐบาลปัจจุบันหลังการยึดอำนาจ ออกคำสั่งตั้ง ศอ.บต.ใหม่ แต่ตั้งแล้วไม่มีกฎหมายรองรับ พูดง่ายๆ คือส่งไปทำงานแต่ไม่มีอำนาจอะไรให้ แล้วรัฐบาลก็มาพูดในภายหลังว่า ต้องรอให้กฎหมายความมั่นคงออกก่อน ซึ่งผมคิดว่าเป็นคนละประเด็น

โดยนัยยะคือกฎหมายความมั่นคงในกรณีนี้เป็นเพียงตัวหลอกให้คนในสังคมไทยเชื่อว่า ถ้าอยากแก้ปัญหาใต้ต้องสนับสนุนให้กฎหมายความมั่นคงออก ทำไมไม่คิดในมุมกลับว่า กฎหมายความมั่นคงที่ออกมาจะทำให้ปัญหาในภาคใต้มีความซับซ้อนขึ้น เพราะอะไร เพราะกลุ่มคนบางส่วนจะเอากฎหมายความมั่นคงไปโฆษณาตอบโต้ว่า รัฐบาลกำลังมีเครื่องมือที่อาจจะใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับปัญหาในภาคใต้ ซึ่งไม่เป็นผลดี วันนี้เรามี พ.ร.ก. ที่ออกตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ปัญหาเดิมคือ ทำไมเราไม่ใจแข็งใช้แค่นั้น

ร่าง พ.ร.บ.ใหม่กับ พ.ร.ก. ที่ออกในสมัยรัฐบาลที่แล้ว มีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายซ้ำซ้อนกัน ปัญหาเหมือนเดิมที่ต้องถามคือเราใจแข็งพอไหมที่จะตั้งหลักในการคิด
 

แต่ทางผู้ยกร่าง สมาชิกใน สนช. อ้างว่าได้ปรับแก้ไปจนไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแล้ว เช่น ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายนี้อย่างไม่ชอบธรรม สามารถฟ้องศาลปกครองได้ หรือผู้ที่จะเป็น ผอ.รมน.โดยตำแหน่งเป็นนายกฯ ไม่ใช่ ผบ.ทบ. อย่างร่างแรก อาจารย์คิดว่า ตัดแล้วฟังขึ้นไหม
ผมคิดว่าเรากำลังถูกหลอกด้วยภาษาทางกฎหมาย เพราะโดยสภาพแล้ว นายกฯ ไม่ได้เป็นผู้ใช้กฎหมาย เพราะกฎหมายนี้ในความเป็นจริงเป็นกฎหมาย กอ.รมน. ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคง เพราะเป็นการร่างกฎหมายที่ทำให้ กอ.รมน. มีฐานะเป็นองค์กรถาวร เพราะฉะนั้นเราถูกหลอกว่า อำนาจในฐานะประธานคือ นายกฯ แต่ในร่างที่เป็นจริง จะเห็นว่า อำนาจถูกฝากไว้ที่ตัว ผบ.ทบ.

ในมาตรา 5 "ในการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้อำนวยการจะมอบอำนาจเป็นหนังสือให้รองผู้อำนวยการเป็นผู้ปฏิบัติหรือใช้อำนาจแทนก็ได้" เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริง ผมไม่ได้คิดว่า นายกฯ ลงมานั่งคุมหน่วยงานอย่างนี้ เรากำลังถูกหลอกด้วยวลีทางกฎหมาย เสมือนหนึ่งว่านายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ในความเป็นผู้บังคับบัญชานั้น นายกฯ ได้มอบอำนาจนี้ให้กับ ผบ.ทบ.ต่างหาก แล้วมันยังถูกกำหนดด้วยว่าในการตั้งอันนี้ เสธ.กอ.รมน. ก็จะเป็นเหมือนกับเลขาธิการขององค์กรในการใช้กฎหมายนี้ พูดง่ายๆ คือ กฎหมายความมั่นคง เป็น "กฎหมายของ กอ.รมน. โดย กอ.รมน. เพื่อ กอ.รมน."เท่านั้นเอง
 

อีกด้านหนึ่ง ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร บริหารบ้านเมืองอย่างไร้ประสิทธิภาพ และเศรษฐกิจตกต่ำลงไปมาก ในแง่นี้ คิดว่าความชอบธรรมของทหารยังมีอยู่อีกหรือ ทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองหลังการเลือกตั้งอีกไหม
ต้องยอมรับว่าในสังคมไทยยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง และอาจต้องยอมรับด้วยว่า มีจำนวนมากพอสมควรที่เชื่อว่า ทหารแก้ปัญหาได้ หลัง 19 กันยา เราเริ่มเห็นพลังของประชาธิปไตย 4 ส่วนซึ่งเป็นส่วนที่มีบทบาทมากในเหตุการณ์ พ.ค. 35 เคลื่อนไหวชัดเจน คือ สื่อ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และชนชั้นกลาง ข้อสังเกตที่ชัดของ 4 พลังคือ เมื่อถึง 19 ก.ย. คนเหล่านี้บางส่วน ย้ำว่า "บางส่วน" เล่นบทบาทของพลังเผด็จการ แล้วมีส่วนขับเคลื่อนให้เกิดการรัฐประหาร

ถามว่าวันนี้ทหารยังแทรกแซงได้ไหม ผมว่าทหารแทรกแซง เพราะผู้นำทหารเชื่อว่า วันนี้ ถ้าพวกเขาเคลื่อน อาจยังมีคนที่เอาดอกไม้ไปให้ แม้ว่าในทัศนะเรา อาจจะเชื่อว่า ก้อนอิฐน่าจะเป็นของแทนดอกไม้ สำหรับการยึดอำนาจรอบหน้า

แต่ถ้าเราเชื่อว่าวันนี้รัฐประหารอาจจะเกิดขึ้นได้ลำบาก ก็ต้องลองย้อนอดีตว่า หลังปี 35 เราก็คิดอย่างนั้นไม่ใช่หรือ นั่นหมายความว่ายังมีพลังแฝงในสังคมไทยบางส่วน ที่ต้องการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่จะจัดการกับปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ผมย้ำเสมอว่า กระบวนการถอนตัวของทหารออกจากการเมือง ต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์ รองรับ
 

อาจารย์เคยบอกว่า รัฐธรรมนูญ 50 ออกแบบให้การเมืองอ่อนแอ และจะทำให้ทหารเข้ามาดูแล ถ้าอย่างนั้น ต้องแก้รัฐธรรมนูญ 50 หรือไม่
ประชาธิปไตยที่เกิดจากการเลือกตั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญ 50 นั้นเป็นประชาธิปไตยบงการ คือมีกลุ่มพลังแฝงบางส่วนเคลื่อนไหวคู่ขนานกับกระบวนการประชาธิปไตยที่เราเห็นตามเวทีปกติ

ถ้าถามผม คำตอบอาจจะสุดโต่ง ผมอยากใช้รัฐธรรมนูญ ปี 40 แล้วแก้ส่วนที่มีปัญหา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 พร้อมกับยกเลิกกฎหมายหลายฉบับที่ สนช. ออกคู่ขนานกัน ผมยังอยากเห็นรัฐบาลใหม่และรัฐสภาใหม่เกิดขึ้นบนจิตสำนึกของประชาธิปไตย เลิกคิดเสียทีว่าใครยึดอำนาจแล้ว ก็เป็นองค์รัฐฐาธิปัตย์ หรือมีอำนาจถูกต้อง ผมคิดว่าความถูกต้องมีทั้งความถูกต้องทางกฎหมายและความถูกต้องทางการเมือง ที่ต้องการความชอบธรรม ถ้ากระบวนการยึดอำนาจไม่ถูกต้องทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายตั้งแต่ต้น เอาไหม ยกเลิก รัฐธรรมนูญ 50 ใช้ รัฐธรรมนูญ 40 แล้วแก้ส่วนที่มีปัญหา
 

อะไรบ้างที่ต้องแก้ และอะไรบ้างที่ต้องยกเลิก
ต้องถามคนในสังคมว่าอะไรคือข้ออ่อน จุดเสียหายของรัฐธรรมนูญ 40 อย่างไรก็ตาม สำหรับผม รัฐธรรมนูญ 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี เพราะอย่างน้อยเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างบนความเห็นของคนหลายๆ ฝ่าย และเพิ่งถูกใช้ มีอายุอยู่เพียง 9 ปีแล้วเราก็ตัดสินใจยกเลิก

ผมคิดว่าคนไทยไม่ใจแข็งเลย ทำไมเราไม่ใจแข็งแก้รัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆคือแก้ปัญหารัฐสภาด้วยกระบวนการรัฐสภา เมื่อเราไม่ใจแข็ง สิ่งที่ผมเคยเปรียบเปรยคือเลิกคิดที่จะเอาทหารมาเป็นเทศบาลล้างท่อเวลาท่อตัน เพราะถ้าท่อตันแล้วเราต้องเรียกเทศบาลที่เป็นทหารมาล้างท่อเรื่อยๆ ประชาธิปไตยไม่มีวุฒิภาวะ กระบวนการทางรัฐสภาก็เกิดขึ้นไม่ได้ สุดท้ายปัญหาที่จะเกิดก็มีอยู่อย่างเดียวคือที่สื่อจะถามทุกครั้งที่มีปัญหาว่าตกลงจะมีรัฐทหารหรือไม่ ตกลงกองทัพจะเอาอย่างไร คำถามอย่างนี้จะคาราคาซังอยู่กับคนในสังคมไทยไปอีกนาน

ผมจึงพูดเสมอว่าหลัง 14 ตุลา 16 จนถึงปัจจุบัน สังเกตหรือไม่ เรื่องเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาตกค้างในสังคมไทย แล้วไม่มีข้อยุติในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย แล้วไม่มีแนวคิดที่ชัดเจน คือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพ ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาตกค้างแต่ไม่ตกผลึก
 

พ.ร.บ.ที่ สนช.ออก ควรจะยกเลิกบางส่วนหรือควรต้องยกเลิกทั้งหมด
ผมอยากเห็นกฎหมายหลักๆ ที่ สนช. ออก แล้วเป็นกฎหมายซึ่งควรจะรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ รวมถึงผมไม่ได้พูดในฐานะของคนในจุฬา การเอาจุฬาฯ ออกนอกระบบคือตัวอย่าง รัฐบาลชุดนี้ที่มาจากการรัฐประหารบวกรัฐสภาที่มาจากการรัฐประหาร สังเกตอย่างหนึ่งหรือไม่ ทำในเรื่องที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่เรื่องที่ควรทำไม่ทำ

ถ้าหลังการรัฐประหาร รัฐบาลบวกรัฐสภาเดิม คิดว่ามีปัญหาที่ต้องแก้ไขในหลายเรื่อง เช่น กระบวนการทางการเมือง ผมยังไม่เห็นอะไรเลยที่เป็นการออกมาตรการหรือกฎหมายรองรับจริงๆ แต่สิ่งที่วันนี้เราเริ่มเห็นคือ ออกกฎหมายความมั่นคง เอามหาวิทยาลัยออกจากระบบ เรื่องเรื่องหนึ่งฝากย้ำ รัฐบาลชุดนี้พยายามผ่านกฎหมายหนึ่งแล้วไม่ทันออกคือ พ.ร.บ. น้ำ
นั่นหมายความว่า ถ้า พ.ร.บ.น้ำออกสู่สังคมไทย น้ำจะเป็นสมบัติของรัฐแล้วคนที่ใช้น้ำทุกคนต้องจ่ายสตางค์ หมายความว่าพี่น้องเกษตรกรในชนบททั้งหมดทั่วประเทศ ต้องจ่ายสตางค์ค่าน้ำทันที ผมย้ำว่าเป็นมหาวิกฤติทางการเมืองทันที แต่โชคดีที่มีคนคงพยายามไปรั้ง พ.ร.บ.น้ำ ส่วนมหาวิทยาลัยวันนี้ไม่มีน้ำยา ก็เอามหาวิทยาลัยออก กฎหมายความมั่นคงก็ชนะอีก เพราะรัฐสภาที่มาจากการรัฐประหารก็หนุนกฎหมายที่ทหารเสนออยู่แล้ว
 

ในโลกาภิวัตน์ ทหารมีที่ยืนหรือไม่
ผมเคยพูดเสมอว่า ปัญหาหลังพฤษภาคม 2535 หนึ่งในสิ่งที่ต้องถกคือพื้นที่ทางการเมืองของทหาร อยู่ตรงไหนและคืออะไร แต่ถ้าบอกพื้นที่ทางการเมืองของทหารคือมีสถานะ มีอำนาจเสมือนหนึ่งเป็นรัฐแบบเดิม มันจะเกิดอาการรัฐซ้อนรัฐ
 

สงครามถูกมองว่าเป็นเรื่องเชยไปแล้วใช่ไหม
คิดว่ามี แต่มันไม่อยู่ในรูปแบบเก่าที่เราคุ้นเคย และทหารไม่ได้เป็นปัจจัยหลักหรือองค์กรเดียวที่อยู่ในภาวะเงื่อนไขที่ต้องรับมือกับสงคราม

สงครามรูปแบบใหม่คือปัญหาที่เราพูดกันในความหมายของความขัดแย้ง ความรุนแรงในโลกสมัยใหม่ ก็ไม่ใช่ตัวแบบหรือสงครามแบบที่เราทำสงครามในยุคคอมมิวนิสต์ ตรงนี้ผมจึงมีคำถามว่า
กฎหมายความมั่นคงออกมารองรับอะไร กฎหมายความมั่นคงทำเสมือนหนึ่งไม่ต่างกับกฎหมายที่เราสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ คือ เอาองค์กรทหารเข้าไปสู้กับ พคท.
 

ถึงตอนนี้ยังมีความหวังว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงจะถูกยกเลิกหรือไม่
ยังอยากเห็น แต่หวังหรือไม่ไม่กล้าตอบ ได้ข่าวว่าในช่วงรณรงค์หาเสียงหลายพรรคการเมืองยืนยันว่าไม่เอา
 

ปัญหาคือคนไม่รู้ตัวว่ามันเป็นปัญหา...ตราบใดที่ยังเป็น "เด็กดี"
ผมเห็นด้วย สังเกตหรือไม่ ตั้งแต่ พ.ร.บ.ความมั่นคง ออก สื่อไม่เล่นเท่าที่ควร สื่ออาจจะรู้สึกว่าคงไม่เท่าไหร่ ปัญญาชนก็ไม่เล่น แล้วตกลงยังไง ทั้งสื่อและปัญญาชนไม่เล่น โทษใครล่ะ ผมจึงบอกว่าพลังนำในสังคมสองส่วนหลัก สื่อ ปัญญาชน รวมถึงเอ็นจีโอก็ไม่เล่น ไม่เคลื่อนหนักเลยในข้อสังเกตผม แล้วถ้าอย่างนั้นเราคาดหวังอะไร ผมถึงมีความรู้สึกว่าความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ เฉพาะในกรอบของมหาวิทยาลัย แรงสนับสนุนไม่มาก แต่ก็ย้ำว่าเราไม่ใช่แกะดำ เราเป็นแกะขาว
 

เพราะการเมืองภาคประชาชนอ่อนแอรึเปล่า
ปัญหาใหญ่ที่สุดคือหลังพฤษภาคม 2535 จำได้ว่ามาประชุมกัน แล้วพูดกันเรื่องความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม แล้วภาคประชาสังคมเข้มแข็งที่เราพูดกันเมื่อ 2534 และ 2535 คืออะไร แล้วเราใจแข็งพอที่จะสร้างประชาสังคมให้เข้มแข็งอย่างที่เราคาดหวังหรือไม่

โดยหลักการประชาธิปไตยพัฒนาไม่ได้ ถ้าภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง เมื่อพัฒนาไม่ได้ แล้วภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง สุดท้ายก็กลับมาที่คำถามเดิมจะยึดหรือไม่ ทหารจะทำอะไร คำถามวนอยู่แค่นั้น

ผมจึงบอกว่าต้องเริ่มคิดปัญหากระบวนการการเมืองไทยอย่างเป็นจริงเป็นจัง ไม่ใช่ในความหมายของการฉีกซองบะหมี่แล้วเทน้ำร้อน
 

งั้นคำถามจบที่ต้องถามคือ ตกลงจะมีรัฐประหารอีกหรือไม่
จะมีรัฐประหารอีกหรือไม่ ต้องตอบด้วยความหวังว่า เมื่อกระบวนการเลือกตั้งเดินได้ขนาดนี้แล้ว ต้องคาดหวังว่าไม่มี แล้วต้องเชื่อว่า เมื่อประชาชนตัดสินแล้วก็ต้องคิดว่า อย่างน้อยอำนาจการตัดสินทางการเมืองนั้น ถอยกลับไปอยู่ที่กระบวนการการเมืองปกติ หรือไปอยู่ในมือประชาชนมากขึ้น เชื่อว่าผู้นำทหารหรืออำนาจแอบแฝงทั้งหลายน่าจะตระหนักว่า 1 ปีเศษที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย

วันนี้ต้องบอกทั้งปัญญาชนที่เคยสนับสนุนรัฐประหาร สื่อที่หนุนรัฐประหาร และเอ็นจีโอที่หนุนรัฐประหารว่า ผลพวงชัดแล้ว อย่าดื้อเลย ไม่มีประโยชน์ที่จะดื้อแล้วดันทุรังว่ารัฐประหารเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net