Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.50 นักศึกษากลุ่ม "นักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ (ประชา) ชาติ และเครือข่าย" ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดเวทีเสวนา "จาก14 ถึง 6 ตุลา : สองชาตินิยมชนกัน" ณ ห้องประชุม หม่อมหลวง ตุ้ย ชุมสาย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บรรยาย มีนายพิญญพันธ์ พจนะลาวัลย์ นักศึกษาปริญญาโท ประวัติศาสตร์ มช. เป็นผู้ดำเนินรายการ และต่อไปนี้คือคำบรรยายของอาจารย์เกษียร [1]


 


000


 


 



 


 


มนั่งฟังเพลง "หนักแผ่นดิน" ซึ่งเปิดให้ฟังก่อนวงเสวนา เพื่อทำให้พอจะเข้าใจบรรยากาศ ปี 2519 ผมจะเล่าเรื่องความหลังเพื่อย้อนไปในอดีตเกี่ยวกับเพลงนี้


 


ประมาณเดือนกันยายน 2519 จอมพลถนอม กิตติขจรบวชเป็นสามเณรกลับเข้าประเทศมา และไปบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กรุงเทพฯ คราวนี้บรรดานักศึกษาประชาชนทั้งหลายเห็นว่าจอมพลถนอมพัวพันเกี่ยวข้องกับกรณีเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งมีการสังหารคนจำนวนมากก็รู้สึกว่าการกลับมาของสามเณรถนอมมีปัญหา จึงเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วง ผมก็ไปร่วมด้วย อดหลับอดนอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ จนกระทั่งตัวเหม็นเพราะไม่มีน้ำอาบ ก็คิดว่าได้เวลากลับบ้านแล้วเพื่อไปอาบน้ำ


 


พอตื่นเช้ามา เข้าห้องแต่งตัว ก็เจอน้องสาว ซึ่งเรียน ม.4 วิทยาลัยบพิตรพิมุข (จักรวรรดิ) แกเจอผมระหว่างแต่งตัวพอดี แกก็ร้องเพลง "คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน....."


 


นึกออกไหมครับ พี่ชายแต่งตัวจะไปประท้วงสามเณรถนอม แต่น้องสาวร้องเพลง "หนักแผ่นดิน" ใส่ ผมก็โมโหกลับว่า "หมวยทำไมทำอย่างนี้" แล้วผมก็ไปประท้วงต่อ บรรยากาศความขัดแย้งมีแม้ในครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง สะท้อนความแตกต่างทางอุดมการณ์ในยุคนั้น แต่ว่าตอนนี้พี่น้องเราคืนดีกันแล้วนะครับ เมื่อช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ตรงกับวันเกิดของผมพอดีก็พาหมวยไปเลี้ยงที่ภัตตาคารอาหรับ แถวสุขุมวิท แล้วผมก็ทักขึ้นว่า เป็นไง ยังหนักแผ่นดินอยู่ไหม? (หัวเราะ)


 


สิ่งที่ผมจะพูดเป็นเรื่องที่ผมบรรยายในวิชาเรียนการเมืองการปกครองไทยที่ธรรมศาสตร์อยู่แล้ว ผมอยากจะเริ่มต้นแบบนี้ว่าเผอิญผมไม่เชื่อในเรื่องปัจเจกพุทธเจ้าที่คิดอะไรขึ้นมาได้เพียงคนเดียว ซึ่งการคิดของเราก็ยืนอยู่บนไหล่ของคนอื่นที่คิดมาก่อนแล้ว


 


ข้อเสนอเรื่องประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย ๑๔ ตุลาฯ นั้นผมได้อ่านและเห็นด้วยครั้งแรกจากบทความ "ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย" ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ตีพิมพ์ออกมาหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 หลังจากนั้น งานเรื่องราชาชาตินิยมของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ก็ช่วยรวบยอดแนวคิดของกลุ่มพลังการเมืองฝ่ายขวาแก่ผม และมีงานของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในหนังสือรวมบทความ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ซึ่งวิเคราะห์เพลง "เราสู้" ที่เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ รวมทั้งงานของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏฯ ซึ่งเป็นงานอธิบายกระบวนการก่อตัวทางการเมืองวัฒนธรรมก่อน 14 ตุลาฯ ซึ่งงานทั้งหมดผมขโมยมาใช้ทั้งนั้นแหละ (หัวเราะ) และก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย มีแต่คนบ้าเท่านั้นแหละที่รังเกียจที่จะยอมรับว่าตนเองเรียนรู้ต่อยอดจากคนอื่น


 


เมื่อประมาณปี 2537 ผมเรียนกลับจากเมืองนอกมาใหม่ๆ ผมเคยเอาหนังเรื่อง Pawns & Players หรือ Just Games ซึ่งคุณคำรณ คุณะดิลก คนรุ่น 14 ตุลาฯ แห่งกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว สร้างให้รายการสารคดี South ออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ในอังกฤษ หลังเหตุการณ์พฤษภามหาโหด 2535 มาฉายให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ชั้นปีที่หนึ่ง 800 กว่าคนดู ที่ห้องบรรยายรวม 4 ศูนย์รังสิต ประกอบการเรียนวิชา มธ. 122 สังคมกับการปกครอง


 


ในภาพยนตร์ที่สะท้อนการเมืองไทยยุคใหม่ได้สั้นกระชับและดีเยี่ยมเรื่องนี้ มีภาพสังหารโหดนักศึกษาประชาชนเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แทรกอยู่บางตอน อาทิ ภาพคุณวิชิตชัย อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาฯ ชั้นปีที่สอง เพื่อนเก่าของผมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท ถูกแขวนคอกับต้นมะขาม มีรองเท้าแตะยัดปาก และโดนรุมทุบตีเตะซ้ำ ภาพกองศพ 4 ศพถูกสุมทับด้วยยางรถยนต์ราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา โดยมีผู้คนมากหลายห้อมล้อมมุงดูอยู่กลางสนามหลวง ตรงข้ามวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ผมจึงเตือนนักศึกษาให้รู้และเตรียมใจไว้ล่วงหน้าก่อนฉายว่า จะมีภาพรุนแรงโหดร้ายทำนองนี้อยู่ หากทำใจไม่ได้ถึงตอนนั้นก็ควรหลับตาเสีย


 


พอฉายวิดิโอเรื่องนี้เสร็จแล้ว เลิกเรียนคาบนั้น ต่างคนแยกย้ายกันไป ก็มีนักศึกษาหญิงสองคนเดินรี่ตามผมมา เมื่อทันกันกลางทาง ก่อนที่ผมจะขึ้นรถกลับ หนึ่งในสองก็เอ่ยถามผมด้วยหน้าตาอึดอัดไม่สบายใจว่า:


 


"อาจารย์คะ ทำไมประชาชนปรบมือหัวร่อดีใจที่พวกเราถูกฆ่า?"


 


เป็นคำถามที่เล่นเอาผมอึ้ง คิดตอบไม่ทัน เพราะมันแปลกและแหลมคมทั้งโดยเนื้อหา และตรงที่ผู้ถามซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นหลังเกือบยี่สิบปี แต่กลับนับตัวเองเกี่ยวดองเป็นพวกเดียวกับบรรดานักศึกษาเหยื่อ 6 ตุลาฯ รุ่นน้ารุ่นอาเหล่านั้นว่า "พวกเรา" ผมขอตัวไปคิดดูอยู่หลายคืน ก่อนจะกลับมาตอบให้ทั้งชั้นฟังในการเรียนครั้งถัดไปว่า:


 


"เพราะพวกเขาเข้าใจว่าเราไปกระทบกับของที่เขารักมาก และเขาคิดว่าเขาทำตามความประสงค์ของผู้ที่เขารักที่สุด"


 


ปี พ.ศ. 2518-2519 นับเป็นช่วงสงครามอุดมการณ์อย่างแท้จริงและดุเดือดรุนแรง ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมไทย ถึงแก่สามสถาบันหลักของชาติถูกพลังการเมืองฝ่ายขวาระดมมารณรงค์ต่อต้านปรักปรำขบวนการนักศึกษาประชาชนฝ่ายซ้ายอย่างครบถ้วน กล่าวคือ สถาบันชาติ ฝ่ายขวานิยามชาติ (nation) ด้วยเชื้อชาติ (race) และหยิบประเด็นนี้มาแบ่งแยกให้ร้ายโจมตีผู้นำและนักกิจกรรมนักศึกษาไม่หยุดหย่อนว่า "ไม่ใช่คนไทย" อาทิ ต้นปี 2519 เคยมีป้ายผ้าขนาดใหญ่ของฝ่ายขวา ขึงกางอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เรียกขานคุณเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2518 ว่า "เคี้ยง แซ่เล้า", ประณามว่าคุณสุธรรม แสงประทุม เลขาฯ ศูนย์นิสิตฯ พ.ศ. 2519 เป็น "แขก", และบิดเบือนว่าคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำขบวนการนักศึกษาประชาชน 14 ตุลาฯ เป็น "ญวน" เป็นต้น


 


หลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ตุลาฯ รัฐมนตรีมหาดไทยสมัยนั้นคือคุณ สมัคร สุนทรเวช ได้ไปพูดเรื่อง "คนที่ถูกเผาที่ธรรมศาสตร์เป็นคนญวน" ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ซึ่งถูกบันทึกเทปไว้และคุณ ศิระ ถิรพัฒน์ นำมาลงพิมพ์ในหนังสือ โหงว นั้ง ปัง ของเขาหน้า 155-56 ความบางตอนว่า:


 


"การเผาคนตายกันกลางถนนนั้น ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย


 


"เหตุที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแปลกมาก มีการทุบตีคนให้ตายแล้วเอามาแขวนคอ ชักชวนให้เอาไม้ไปตี เอาเก้าอี้ไปตี แล้วเอาคนที่ถูกแขวนคอจนตายนั้นเอามาวาง มีการเอายางรถยนต์วางแล้วเอาศพวางแล้วเอายางรถยนต์วางทับ เอาน้ำมันราดแล้วจุดไฟเผาทั้ง 4 ศพ


 


"ทุกอย่างนั้นเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นกลางถนน กลางสนามหลวง กลางถนนราชดำเนิน ไม่มีใครปฏิเสธเรื่องนี้ได้ แต่ผลการสอบสวนในภายหลังนั้นก็สามารถจะปะติดปะต่อได้


 


"การที่มีการเผาคนตายไป 4 คนนั้นเป็นการเผาคนซึ่งต้องการทำลายหลักฐาน ไม่ให้รู้ว่าเป็นคนชาติใด เพราะเหตุว่าหลักฐานในกองที่ไหม้นั้น มีรูปโฮจิมินห์เล็ก ๆ ซึ่งเผาไปไม่หมด


 


"เราสอบไปในภายหลังในธรรมศาสตร์ซึ่งไม่ได้...หนักหนานั้น มีหมาซึ่งถูกฆ่าตายแล้วย่าง หมาตุ๋น หมาสตูว์ เอาอ่างมีตะแกรง หมากรอบทั้งตัวมีมีดเสียบอยู่หลายตัว


 


"ผมเองซึ่งในขณะนั้นไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอยู่ แต่ได้เข้าไปดูเองและไปดูหลักฐานที่โรงพักชนะสงคราม


 


"เราวิเคราะห์ได้ในเวลาต่อมาว่า มีชาติอื่นคือชาติเวียดนามนั้นจำนวนไม่ทราบได้แน่นอน เข้าไปเกี่ยวข้องในกรณีธรรมศาสตร์ แล้วเข้าใจว่าเป็นคนเวียดนามเองที่ถูกฆ่าตาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชันสูตรและกลายเป็นคนชาติอื่น ซึ่งจะกระทบกระเทือนถึงทางการนั้น คนที่เกี่ยวข้องได้จัดการเผาคนทั้ง 4 เสีย


 


"เขาเรียกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่มิใช่วิสัยคนไทย ทำการเผาคนกลางถนนนั้นไม่ใช่วิสัยของคนไทย..."


 


เป็นอันว่าการสังหารโหดในกรณี 6 ตุลาฯ ตามเวอร์ชั่นของคุณสมัครเป็นเรื่อง "ญวนเผาญวน" คนไทยไม่เกี่ยว ไม่ได้ทำ ไม่ใช่วิสัย ไม่รับผิดชอบ และไม่มีเหตุอะไรต้องเดือดเนื้อร้อนใจ


 


สถาบันศาสนา คุณคำนูณ สิทธิสมาน ผู้สื่อข่าวเป็นคนสัมภาษณ์ พระกิตติวุฑโฒภิกขุ ลงนิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส, ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2519 หน้า 28-32 อันกลายมาเป็นคำขวัญระบือลือลั่นของฝ่ายขวาว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ดังต่อไปนี้:


 


จตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์ บาปไหม?


 


กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน


 


และสุดท้าย สถาบันกษัตริย์


 


อนุสนธิจากการที่ชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร สังกัดองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงละครที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล้อเลียนการฆ่าโหดสองพนักงานชั้นตรีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม คือคุณชุมพร ทุมไมย และคุณวิชัย เกษศรีพงษา ผู้ถูกทุบตีทำร้ายอย่างทารุณจนตาย แล้วนำไปแขวนคอประจานไว้หน้าอู่รถนอกเมือง ขณะออกติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับเมืองไทยของพระถนอม กิตติขจร โดยมีสายตรวจตำรวจนครปฐมเป็นผู้ต้องสงสัย


 


ภาพถ่ายคุณอภินันท์ บัวหภักดี (รูปร่างผอมกว่าเพื่อน เลยได้รับเลือกเป็นตัวแสดง) นักศึกษาปีสองคณะวารสารศาสตร์ฯ หนึ่งในสองตัวแสดง ขณะทำท่าถูกแขวนคอในชุดทหาร ถูกนำไปขยายใหญ่ลงเต็มหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม กรอบบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พร้อมพาดหัวข่าวตัวเป้งกล่าวหาว่า:


 


"แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯเหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ"


 


ด้วยความเข้าใจว่าขบวนการนักศึกษาถูกกล่าวหาว่า เป็นญวน (ไม่ไทย) เป็นมาร (ไม่พุทธ) และหมิ่นฯ   รัชทายาท (ไม่จงรักภักดี) หรือนัยหนึ่งเป็นคนนอกที่อยู่ตรงข้ามกับ "ชาติไทย" ทั้งหมดอย่างเบ็ดเสร็จตามนิยามข้างต้น ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ชาติไทยจึงพยายามฆ่าผมกับเพื่อน ๆ แต่เผอิญเรารอดชีวิตมาได้


 


บทเรียนแพงที่สุดบทแรกเกี่ยวกับชาตินิยมที่เราเรียนรู้จาก 6 ตุลาฯ จึงมีว่า ชาตินั้นเป็นฆาตกรได้!


 


แต่ว่าชาติก็เป็นพลังสร้างสรรค์ให้รักคนอื่นได้ อย่างกรณีภัยพิบัติสึนามิปลายปี ๒๕๔๗ น้องสาวของผมคนเดียวกับที่ร้องเพลง "หนักแผ่นดิน" พอได้ข่าวก็ควักเงินส่วนตัวซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางลงไปใต้ ขอเป็นอาสาสมัครช่วยผู้ประสบภัย เอาความรู้คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ที่มีช่วยคีย์ฐานข้อมูลคนหาย คนตาย ที่เธอทำเช่นนั้นก็เพราะเห็นว่าคนที่ประสบภัยพิบัติเดือดร้อนเป็นคนไทย หรือชาติไทยด้วยกัน


 


อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าชาติก็มีพลังทำลายได้มาก ถ้าถูกใช้เป็นเครื่องมือปั้นแต่งให้เห็นคนอื่นเป็นศัตรู


 


คำถามที่ผมอยากชวนคิดในลำดับถัดไปก็คือ ถ้าลองให้ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาสมัยนั้น ต่างฝ่ายต่างมองแก่นแกนหรือเสาหลักแห่งความเป็นชาติของฝ่ายตรงข้ามดู, พวกเขาน่าจะเข้าใจและตีความ "หัวใจ" แห่งความเป็นชาติของอีกฝ่ายว่าอย่างไร?


 


000


 


ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย เริ่มจากฝ่ายซ้ายก่อนว่าขบวนการนักศึกษาประชาชนสมัย ๑๔ ตุลาฯ ๒๕๑๖ - ๖ ตุลาฯ ๒๕๑๙ มองแก่นแกนหรือเสาหลักแห่งชาติของฝ่ายขวา อันได้แก่ [ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์] อย่างไร?


 


ชาติ: - ฝ่ายซ้ายปฏิเสธการนิยามชาติ (nation) โดยยึดเชื้อชาติ (race) เป็นเกณฑ์แบ่ง, ไม่แบ่งแยกคนไทยเชื้อชาติต่าง ๆ ไม่ว่าไทย ลาว จีน ญวน เขมร ส่วย แขก ภูไท ม้ง กะเหรี่ยง ฯลฯ ล้วนถือเป็นพลเมือง ไทยที่มีสิทธิเสรีภาพเสมอภาคเท่าเทียมกันทั้งสิ้น, ทว่าในขณะเดียวกัน ฝ่ายซ้ายเน้นเส้นแบ่งทางชนชั้น (class) โดยให้ความสำคัญแก่ประชาชนผู้ใช้แรงงานชั้นล่าง อันได้แก่ กรรมกร ชาวนาชาวไร่เป็นหลักไม่ว่าชนชาติใด, ฉะนั้นจึงยึดถือหลักความสมานฉันท์ข้ามชาติในหมู่คนชั้นล่าง, แต่กับคนชั้นสูงผู้มั่งมีทรัพย์สินและกดขี่ขูดรีดคนชั้นล่างชาติเดียวกันแล้ว ต้องถือว่าเป็นชนชั้นปกครอง ไม่นับเป็นประชาชน และไม่นึกร่วมอยู่ในประชาชาติ


 


ศาสนา: - ฝ่ายซ้ายถือว่าความคิดจิตสำนึกของมนุษย์ย่อมพัฒนาผ่านขั้นต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์จากการนับถือผีและสิ่งเร้นลับอาถรรพ์ à ตำนานเทพปกรณัม à ศาสนา à ปรัชญา à วิทยาศาสตร์เป็นระดับสูงสุด, และถือว่าลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ก็เป็นความคิดวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง กล่าวคือ เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสังคม ที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุดในปัจจุบัน, ดังนั้นจึงวิพากษ์ศาสนาว่าเป็นฝิ่นของประชาชน หมายความว่าด้านหนึ่งศาสนามีคุณช่วยบรรเทาปวดทางใจพอให้คนเราทนอยู่ในโลกที่ปรวนแปร ดูไร้เหตุไร้ผลและพลการนี้ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีโทษที่มอมเมา ไม่เจาะลึกถึงเหตุผลและความจริงแบบวิทยาศาสตร์, ในอนาคต เชื่อว่าศาสนาจะพ้นยุคหมดสมัย ผู้คนจะหมดศรัทธาเลิกเชื่อไปเองเมื่อถึงสังคมอุดมคติ


 


พระมหากษัตริย์: - ฝ่ายซ้ายใช้คำว่า "ศักดินา" เป็นสามานยนามเรียกการปกครองในระบอบราชาธิปไตยทั่วไป โดยที่ศัพท์คำนี้มาจากชื่อเรียกสังคมขั้นที่ 3 ในทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์ ว่าด้วยพัฒนาการของสังคมมนุษย์ 5 ขั้นตอน (ได้แก่ สังคมคอมมูนบุพกาล à สังคมครองทาส à สังคมศักดินา à สังคมทุนนิยม à สังคมคอมมิวนิสต์), การเลือกใช้ศัพท์คำนี้เรียกระบอบราชาธิปไตยไทย จึงเท่ากับจับการปกครองรวมทั้งบรรดาสถาบันและประเพณีแห่งระบอบนั้น ใส่เข้าไปในวิถีขั้นตอนพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ทั่วไปในกรอบทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งย่อมจะต้องมีอันคลี่คลายไปตามตรรกะแห่งทฤษฎี, ฝ่ายซ้ายมักวิพากษ์ศักดินาในอดีต (ตามครรลองงานยอดนิยมเรื่อง "โฉมหน้าที่แท้จริงของศักดินาไทยในปัจจุบัน" ของจิตร ภูมิศักดิ์) แต่เงียบต่อปัจจุบันเพราะตระหนักถึง พื้นภูมิอันแน่นหนาของวัฒนธรรมการเมืองอนุรักษ์นิยม-กษัตริย์นิยมในหมู่คนไทยร่วมสมัย, อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจดูวิสัยทัศน์สังคมอุดมคติในอนาคต ก็ไม่มีที่ทางชัดเจนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์


 


ลองมองมุมกลับบ้างว่า ฝ่ายขวาสมัยนั้นเข้าใจและตีความแก่นแกนหรือเสาหลักแห่งความเป็นชาติของฝ่ายซ้าย อันได้แก่ เอกราช, ประชาธิปไตย, และความเป็นธรรมทางสังคม อย่างไร?


 


เพื่อสะดวกแก่การเปรียบเทียบความคิดรวบยอด ผมขอสรุปเสนอเป็นตารางดังนี้:


 
























ประเด็น


ฝ่ายซ้าย


ฝ่ายขวา


เอกราช


ต้องมีทุกด้าน ไม่แต่ในนามตามกฎหมาย, ต่อต้านจักรวรรดินิยม-ทุนนิยม ก่อนอื่นคืออเมริกา ญี่ปุ่น


ต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ ได้แก่ จีน เวียดนาม และโซเวียต


ประชาธิปไตย


เน้นเนื้อหาอำนาจคนชั้นล่าง กรรมกร ชาวนา, ไม่เน้นรูปแบบสถาบันรัฐสภา การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ฯลฯ


ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขณะนั้นอ่อนแอเกินไป เปิดช่องให้เกิดความวุ่นวายและคอมมิวนิสต์แทรก แซง ป้องกันคอมมิวนิสต์ไม่ได้ จำต้องธำรงรักษาระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตยไว้ก่อน เพื่อความมั่นคง


ความเป็นธรรมทางสังคม


มุ่งหมายความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการโอนปัจจัยการผลิตหลักเช่นที่ดิน, อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นของชาติ เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ขึ้นและมุ่งสู่สังคมนิยมแบบจีน


ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจสังคมเป็นธรรมดาธรรมชาติของมนุษย์ ขจัดอย่างไรก็ไม่หมด ไม่ควรไปฝืน, ความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้แม้คนเราจะไม่เสมอภาค โดยผู้มั่งมีเจือจานแบ่งปันเกื้อกูลอุปถัมภ์ผู้ยากไร้ขาดแคลน


ชาติหรือชุมชนในจินตนากรรม


เสมอภาค, เป็นประชาธิปไตย, และนิยมประชาชน


แม้จะแตกต่างเหลื่อมล้ำแต่อุปถัมภ์เกื้อกูลกัน, ประชาชนอาจไม่เป็นใหญ่ในแผ่นดิน แต่ที่สำคัญคนดีต้องมีอำนาจ ยิ่งคนดีมีอำนาจเด็ดขาดก็ยิ่งดี, และเน้นชนชั้นนำ


 


 


จะเห็นได้ว่าชาติหรือชุมชนในจินตนากรรมของฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาดังกล่าว เป็นชาติที่แตกต่างกันคนละชาติ เป็นชุมชนที่จินตนาการไว้ตรงข้ามกันคนละชุมชน, ชุมชนในจินตนากรรมแห่งชาติทั้งสองนี้เองที่เข้าปะทะชนกันในพื้นที่รัฐชาติเดียวระหว่าง 14 ตุลาฯ 2516 - 6 ตุลาฯ 2519 เหนืออื่นใดเพื่อแย่งชิงรัฐ อันเป็นเดิมพันยอดปรารถนาและรางวัลสูงสุดที่ต่างฝ่ายต่างต้องการได้มาไว้เป็นเครื่องมือที่ขาดเสียมิได้ ในการธำรงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ชาติหรือชุมชนในจินตนากรรมของตนให้ปรากฎเป็นจริง


 


000


 


ช่วงปิดท้ายการบรรยาย อาจารย์เกษียร ได้เปิดบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ "เราสู้" กับเพลง "วีรชนปฏิวัติ" ที่แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์ระหว่างติดคุกลาดยาวข้อหาคอมมิวนิสต์สมัยรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์-ถนอมให้ฟัง และตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบเนื้อหาเพลงทั้งสองว่าแม้จะมีอุดมการณ์การเมืองตรงข้ามต่างขั้วกัน แต่ต่างก็เน้นการเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อชาติเหมือนกัน และสื่อความหมายให้ผู้ฟังจินตนาการถึงความเป็นชาติที่ดำเนินผ่านอดีต à มาถึงปัจจุบัน à ไปสู่อนาคตข้างหน้าเหมือนกัน


 


หลังการบรรยาย ได้มีอาจารย์และนักศึกษาตั้งคำถามและร่วมแสดงความคิดเห็น ดังต่อไปนี้


 


ชัชวาล ปุญปัน: จากเรื่องสองชาตินิยมชนกัน อยากให้นำมาเปรียบเทียบเชื่อมโยงกับการเมืองชาตินิยมในยุคทักษิณ


 


เกษียร เตชะพีระ: ตัวอย่างปัจจุบันที่พอเชื่อมโยงได้คือคดีความระหว่างทักษิณ VS. สนธิ ลิ้มทองกุลและกรณีเอกสารลับของกองทัพที่รั่วไหลออกมา


 


25.. 2550 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีหมายเลขดำ ที่ อ. 1065/2549 และ อ.1875/2549 ที่ พ... ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายขุนทอง ลอเสรีวณิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคามผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 328 ประกอบ พ... การพิมพ์ พ.. 2484. 48


 


คดีนี้ทักษิณกล่าวหาสนธิ ลิ้มทองกุลว่าอภิปรายหมิ่นประมาทแกหลายครั้ง ศาลอาญาชั้นต้นตัดสินให้คุณทักษิณชนะ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลมีความผิด ถูกลงโทษจำคุก 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา คุณสนธิ ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อ แต่น่าสังเกตว่าในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น มีข้อความบางตอนที่ศาลได้แสดงความเห็นอย่างสำคัญน่าสนใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ราชาชาตินิยมในทางการเมืองปัจจุบันดังต่อไปนี้: -


 


ปรากฏการณ์ราชาชาตินิยมในปัจจุบัน


".....ทางนำสืบจำเลยที่ 1 และพฤติการณ์กล่าวปราศรัย ของจำเลยที่ 1 ตามวัตถุพยานของจำเลยที่ 1 ก็ดี คือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล การแต่งกายของจำเลยที่ 1 ไม่ว่า สีของเสื้อที่ใช้สีเหลือง อันเป็นสีประจำพระองค์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ตัวอักษร ที่หน้าอกเสื้อคำว่า "เราจะสู้เพื่อในหลวง" ก็ดี ล้วนพยายามสร้างภาพของโจทก์ และผู้สนับสนุนของโจทก์ ให้มีภาพยืนตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพยายามสร้างภาพของจำเลยกับพวกให้อิงแอบแนบชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันสูงสุด ที่คนไทยทุกหมู่เหล่าต้องเทิดทูน เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับพวกไม่จงรักภักดี ทำตัวเสมอพระมหากษัตริย์ หรือไม่ถวายพระเกียรติพระมหากษัตริย์ เป็นการแยกประชาชนคนไทยที่จงรักภักดีบาง ส่วนให้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นับเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ


 


"การที่จำเลยที่ 1 พยายามดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพเทิดทูนสูงสุดของประชาชนทุกหมู่เหล่า มาเป็นเครื่องมือกำจัดโจทก์กับพวกในทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์แห่งคดี มีลักษณะร้ายแรง และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่บุคคล หรือคณะบุคคลอื่นๆ อีกต่อไป จึงไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 … "


 


กรณีเอกสารลับของกองทัพ


เมื่อเร็ว ๆ นี้มีเอกสารลับมากของทางราชการกองทัพบกชิ้นหนึ่งที่รั่วไหลออกมาเผยแพร่ เป็นบันทึกการถอดเทปคำบรรยายพิเศษในการประชุมมอบนโยบายและสั่งการของ ผบ.ทบ.สนธิ บุญยรัตกลิน ต่อ ผบ.หน่วยระดับกองพันขึ้นไป เมื่อ 21 ก.ย. 50 เวลา 14.00 น. ณ หอประชุมกิตติขจร บก.ทบ.  ผู้บรรยายพิเศษคือรองผู้บังคับการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พ.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ยศตำแหน่งขณะนั้น) และ ผบ.ทบ.พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน กล่าวสรุปตอนท้าย เป็นการประชุมอำลาของ ผบ.ทบ.สนธิ ต่อผู้บัญชาการกองพล กองพัน คือผู้คุมกำลังพลทั้งประเทศ และมอบหมายให้ พ.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายาเป็นผู้ บรรยายพิเศษ ทุกวันนี้ พ.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เลื่อนยศเป็นพลตรีและรับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสำคัญในการรัฐประหารเพราะคุมกำลังมากในกรุงเทพฯ เนื้อหารายละเอียดของคำบรรยายครั้งนี้ ท่านสามารถไปหาอ่านเอาเองตามเว็บข่าวต่าง ๆ [2] ผมเพียงอยากเสนอความเห็นขั้นต้นว่า คำบรรยายนี้มีลักษณะเป็นเรื่องเล่าหรือจะเรียกว่าวาทกรรมก็ได้ เป็นเรื่องเล่าของราชาชาตินิยม โยงจากสงครามคอมมิวนิสต์ สมัย ตุลา 2519 ลงมาถึงความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันว่าเป็นเรื่องเดียวกัน


 


ข้างหนึ่งของคู่ขัดแย้ง คือ กองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกข้างหนึ่งของคู่ขัดแย้งเปลี่ยนจากพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต กลายมาเป็นพรรคไทยรักไทยกับอดีตสหายบางคนในพรรคไทยรักไทย เป็นการต่อสู้รอบใหม่กับพลังฝ่ายตรงข้ามที่มาปรากฏในรูปของประชาธิปไตยกระฎุมพี การต่อสู้นี้จะต้องช่วงชิงมวลชนให้ได้


 


ผมเองคิดไม่ถึงว่าหลายประเด็นที่ได้คาดคะเนวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้จะตรงกับความคิดความเข้าใจตัวเองของคณะทหารพอดี เช่น พ.อ. ไพบูลย์พูดตอนหนึ่งว่า เมื่อฝ่ายนั้นเสนอประชานิยมมา แกก็เชื่อว่าสักพักทางฝ่ายนี้ก็ต้องมีอะไรออกมาบ้าง พอในหลวงเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แกก็บอกว่า ใช่เลย นี้คือของ ๆ เราที่มีไว้รับมือประชานิยม ในคำบรรยายจะเอ่ยถึงกองทัพกับพระมหากษัตริย์ประกบควบคู่กันตลอด นิยามตัวเองเป็นทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และที่ก่อรัฐประหาร 19 กันยาก็เพื่อราชบัลลังก์ ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างของราชาชาตินิยมที่ถูกใช้มาบอกกล่าวเล่าเรื่องความขัดแย้งในปัจจุบัน


 


สิ่งที่พล.อ. สนธิกับ พ.อ.ไพบูลย์ พูดนั้นบางอย่างก็เก่า เช่น ข้อเสนอว่าต่อไปนี้รัฐบาลที่ขึ้นสู่ตำแหน่งควรต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ที่จัดวางเอาไว้แล้ว (ซึ่งตรงข้ามกับสมัยรัฐบาลทักษิณที่เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์วางแผนงานเอง แล้วสั่งการให้กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ รับไปทำ) พูดง่าย ๆ ว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ต้องทำอะไรเลย กลับไปเหมือนสมัยสฤษดิ์เปี๊ยบ หลังจากยึดอำนาจ จอมพลสฤษดิ์เสนอว่า จะต้องมีสภาพัฒน์ฯ จะต้องมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวให้รัฐบาลทำตาม นี้คือการสถาปนาเทคโนเครซี่โดยเผด็จการ แล้วเทคโนแครตก็เกิดขึ้นสมัยสฤกษดิ์นี้แหละ ให้ผู้เชี่ยวชาญช่างเทคนิคมีอำนาจอธิปไตยจริงเหนือรัฐบาล คอยวางแผนให้รัฐบาลทำตาม เพียงแต่ว่า...


 


1. เราไม่มีเทคโนแครซี่แล้วเพราะมันล้มเหลวไปตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ และคุณจะให้กระทรวงทบวงกรมมาวางแผนยุทธศาสตร์เหรอ? สมัยจอมพลสฤษดิ์นั้น เทคโนแครตเป็นภูมิปัญญาชั้นแนวหน้าของสังคม ไม่ใช่ภาคเอกชน แต่ว่าปัจจุบันสภาพการณ์มันกลับกัน ยังไม่ต้องพูดถึงสมรรถนะประสิทธิภาพของหน่วยราชการกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ว่าพอจะทำหน้าที่เป็นภูมิปัญญาแนวหน้าของสังคมปัจจุบันหรือไม่


 


2. พล.อ. สนธิ ยังบอกว่า กอ.รมน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) เป็นแกนหลักสำคัญในการปฏิบัติภารกิจ จะต้องไปทำงานแนวร่วม ดึงข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ ประชาชนกลุ่ม ต่าง ๆ เข้ามาประชุมทำความเข้าใจให้ตรงกัน ต้องให้กำลังพลคิดเหมือนกัน แล้วเราต้องทำให้ประชาชนที่แวดล้อมหน่วยทหารคิดเหมือนกันด้วย จึงจะเป็นพลัง... ผมอ่านเท่านี้แล้วนึกในใจว่าเห็นทีจะไม่มีทางสำเร็จหรอก เพราะถ้ากำลังพลคิดเหมือนกันจริง เอกสารต่าง ๆ ฉบับแล้วฉบับเล่าของทางราชการทั้งที่ว่าลับมากมันจะหลุดออกมาเผยแพร่ได้อย่างไรหลัง 19 กันยาฯ? ซึ่งมันก็รั่วไหลออกมาจากกำลังพลนั่นแหละ แสดงชัดว่าความคาดหวังที่จะให้เกิดมีเอกภาพระดับนั้น ในหมู่กำลังพลมันเป็นไปไม่ได้ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงจะให้ประชาชนคิดเป็นเอกภาพเหมือนกันตามทหารไปด้วย.....


 


 


สมเกียรติ ตั้งนโม: อาจารย์พอจะมีข้อมูลว่าจีนกับอเมริกาเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สมัย 14 - 6 ตุลาฯ บ้างหรือไม่? อย่างไร?


เกษียร เตชะพีระ: ในส่วนที่เป็นอิทธิพลทางความคิดคงเห็นได้ชัด อย่างขบวนการนักศึกษาช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ที่เอียงซ้ายไปเพราะอิทธิพลความคิดฝ่ายซ้าย 4 สายพันธุ์ผสมกันได้แก่ ซ้ายเก่า ซ้ายใหม่ ซ้ายป่า ซ้ายจีน


 


ซ้ายใหม่ ก็คือพวกขบวนการ New Left ในตะวันตก เมื่อนักศึกษาไทยไปเรียนเมืองนอกเช่นอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็ไปสัมผัสพบเห็นกระแสความคิดและขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านรัฐบาลและทุนนิยม เรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ได้รับผลสะเทือนทางความคิด ก็มีการแปลผลงานของนักคิดฝ่ายซ้ายเช่น Marcuse แล้วส่งเข้ามาตีพิมพ์เผยแพร่ในไทยตั้งแต่สมัยก่อน 14 ตุลาฯ อันที่จริงคนที่ทักว่าระวังซ้ายใหม่จะบุกไทยคนแรกคือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์สยามรัฐ นี่เป็นกระแสความคิดที่เข้ามาผ่านทางวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ จากนักวิชาการที่จบเมืองนอกทั้งหลาย


 


อันที่สองเป็นซ้ายเก่า คือ หลัง 14 ตุลาฯ มีการขุดค้นรื้อฟื้นงานเขียนของนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายรุ่นทศวรรษ ๒๔๙๐ หลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ห่างหายไปเพราะถูกเผด็จการสฤษดิ์-ถนอมเซ็นเซ่อร์ออก มาพิมพ์เผยแพร่ใหม่กันขนานใหญ่ในรูปพ็อกเกตบุ๊คปกอ่อนจากเดิมที่เป็นปกแข็งเพื่อลดต้นทุน เช่น งานของกุหลาบ สายประดิษฐ์ งานของจิตร ภูมิศักดิ์ นวนิยายเรื่องปิศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นต้น


 


อันที่สาม ซ้ายป่า พวกเราสมัยนั้นจะแอบฟังวิทยุคลื่นสั้นสถานีเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยของพคท. ทางนั้นเองก็คงรู้ว่าเราฟังอยู่ จึงมีการอ่านช้าให้จดสำหรับบทนำบทความสำคัญ ๆ พวกเราก็พากันจดตามวิทยุแล้วเอาไปพิมพ์ใส่กระดาษไข โรเนียวแจกกัน นอกจากนี้ก็มีส่วนที่เป็นแบบสายตรง ลักลอบนำหนังสือสิ่งพิมพ์ใต้ดินเข้ามาเลย


 


อันที่สี่ ซ้ายจีน ตอนนั้นยุคประธานเหมาเจ๋อตุง จีนเปิดการทูตแบบตีปิงปองกับประธานาธิบดีนิกสันของอเมริกา ไทยก็เปิดสัมพันธ์การทูตกับจีนตาม หนังสือจากจีนก็เข้ามา มีการพิมพ์สรรนิพนธ์ของเหมาเจ๋อตุง ๘ เล่มชุดโดยสำนักพิมพ์แสงตะวัน แกนนำคือนิสิต จิรโสภณ อดีตนักกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัย เชียงใหม่ผู้ต่อมาตกรถไฟเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ และคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี


 


กระแสอิทธิพลความคิดฝ่ายซ้ายแต่ละกระแสก็มีบทบาทเฉพาะของมัน


 


ซ้ายป่า ทำให้ความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการนักศึกษาถึงขั้นแตกหัก ยอมรับเหตุผลความชอบธรรมของการปฏิวัติสังคมด้วยกำลังอาวุธ;


 


ซ้ายจีน ทำให้เกิดวิสัยทัศน์ที่แน่นอนชัดเจนเกี่ยวกับสังคมอุดมคติในอนาคต เพราะมีตัวอย่างรูปธรรมของประเทศที่ทำได้จริง;


 


ซ้ายเก่า ช่วยสนองบรรยากาศ ภาษาศัพท์แสง แบบอย่างรูปธรรมของผลงานศิลปวรรณกรรมแบบไทย ๆ ที่สื่ออุดมการณ์ฝ่ายซ้าย เพราะนักคิดนักเขียนรุ่นทศวรรษ 2490 เป็นปัญญาชนไทยรุ่นแรกที่ผลิตผลงานนำเข้าแนวคิดลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์จากภายนอก เอามาแปลเป็นไทยแล้วสอดใส่ถ้อยคำแนวคิดซ้ายไว้ในกาพย์กลอนเรื่องสั้นนวนิยายไทย ซึ่งพอคนยุค 14 ตุลาฯมาอ่านก็พบว่าเอาเข้่าจริงมันมีงานยุคก่อนที่ประยุกต์ผสมผสานแนวคิดฝ่ายซ้ายเข้ากับสังคมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทยอยู่แล้ว ความเป็นซ้ายจึงมีรากเหง้าที่มาธรรมเนียมประเพณีทางภูมิ-ปัญญาและวรรณกรรมทอดหยั่งเป็นกระแสรองอยู่ในมรดกความเป็นไทยที่พวกเขาสืบทอดสานต่อได้;


 


ส่วนซ้ายใหม่ ทำให้ความคิดฝ่ายซ้ายดูทันสมัย เพราะแพร่มาจากสังคมตะวันตกร่วมสมัยที่ก้าวหน้า มีเนื้อหาท่วงทำนองเหมาะกับนักศึกษาเยาวชนคนเมืองเนื่องจากบริบททางสังคมต้นทางที่แนวคิดนี้ก่อตัวขึ้นเป็นกลุ่มสังคมคล้ายกันและคนรุ่นเดียวกัน


 


ในแง่อิทธิพลของอเมริกาต่อแนวคิดฝ่ายขวา ช่วงผมทำวิทยานิพนธ์ได้ไปค้นข้อมูลและงานศึกษาย้อน หลังช่วงทศวรรษ 2490 เช่น วิทยานิพนธ์ของคุณธงชัย พึ่งกันไทยและคนอื่น ๆ เกี่ยวกับนโยบายและมาตรการแอนตี้คอมมิวนิสต์ของรัฐบาล ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเขาทำไว้เยอะ ก็พบว่าช่วงนั้นทางการอเมริกาและฟิลิปปินส์มีการส่งเอกสารข้อมูลแนะนำวิธีการต่อต้านคอมมิวนิสต์มาให้ทางราชการไทยไม่หยุดหย่อน ว่าภัยคอมมิวนิสต์ร้ายแรงอย่างไร จะขัดขวางปราบปรามอย่างไร เป็นต้น เอกสารเหล่า นี้ก็เผยแพร่ในวงราชการ แล้วยังมีหนังแอนตี้คอมมิวนิสต์ของยูซิส (USIS - United States Information Service) มาเร่ฉายในชนบทไทยเป็นต้น


 


เรื่องการทหาร ช่วง ๑๔ ถึง ๖ ตุลาฯ นอกจากอเมริกามีฐานทัพและกำลังทหารในเมืองไทยแล้ว ก็ปรากฏข้อมูลจากบันทึกของนักศึกษาที่เข้าป่าในชั้นหลังบอกเล่าว่าข้างฝ่ายจีนก็ส่งกองกำลังเข้ามาช่วย พคท. รบกับรัฐบาลไทยในฐานที่มั่นทางภาคเหนือด้วย เพราะว่าพรมแดนมันติดกัน (จันทนา ฟองทะเล (นามแฝง), จากดอยยาวถึงภูผาจิ, ๒๕๓๖)


 


เรื่องการเงิน ผมไม่เคยค้นคว้า แต่อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ อดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยคุยให้ผมฟังว่าตอนนั้นแกได้อ่านรายงานข่าวกรอง พบว่ามีเงินไต้หวันเข้ามาไทยมาก แต่ผมไม่รู้ว่าเกี่ยวกันไหมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลังฝ่ายขวาตอนนั้น ต่อมาหลังผมออกจากป่า ได้ลงเรียนวิชาของอาจารย์อาวุโสคนหนึ่งที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นที่รู้กันว่าแกแอนตี้คอมมิวนิสต์ แต่แกก็เป็นลูกศิษย์อาจารย์ปรีดี เคยร่วมกบฏวังหลวง แล้วหนีไปนอก มีครั้งหนึ่งผมเข้าไปรอพบแกที่ห้องพักเพื่อขอลายเซ็นเอกสารบางอย่าง พบว่าชั้นหนังสือของแกเต็มไปด้วยนิตยสารแอนตี้คอมมิวนิสต์ภาษาอังกฤษจากไต้หวันเป็นแถบ ๆ แต่อิทธิพลจากภายนอกเหล่านี้จะมากน้อยแค่ไหน ต้องไปค้นข้อเท็จจริงกันต่อไป


 


สมเกียรติ ตั้งนโม: อเมริกามีส่วนในการแทรกแซง ทำให้เกิดการฆ่าโหดแบบนั้น หรือเปล่า?


เกษียร เตชะพีระ: ผมไม่ทราบ แต่ให้พูดอย่างฉลาดก็ต้องบอกว่าอเมริกาคงโง่มากถ้ารู้ล่วงหน้าแล้วไม่แทรกแซงห้ามปรามเพราะมันก่อผลเสียทางการเมืองมหาศาล แต่ก็นั่นแหละอเมริกาสามารถแทรกแซงได้มากแค่ไหน อันนี้ผมไม่มีข้อมูล แต่มานั่งคิด ก็ไม่น่าที่จะเป็นเช่นนั้น


 


แต่การล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมแล้วทำให้ฝ่ายซ้ายแตกพ่ายในเมืองตอน ๖ ตุลาฯ คำอธิบายอาจเป็นได้สองอย่าง อย่างแรก อารมณ์มวลชนมันพาไป ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ตอนนั้นรุนแรงขนาดปลุกให้คนบ้าเลือด ทำอะไรอย่างขาดสติ โหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนาแบบนั้นได้ อย่างหลังคือเป็นการจงใจใช้ความโหด เหี้ยมทารุณเพื่อลงโทษกลางเมืองให้เป็นเยี่ยงอย่าง สยบขวัญให้อยู่ จะได้กลัว ไม่กล้าทำ ไม่กล้าคิดเป็นซ้ายอีก มันเป็นวิธีการลงโทษก่อนสมัยใหม่ เหมือนอย่างที่ Michel Foucault เขียนไว้ในคำนำหนังสือ Discipline and Punish เล่าเรื่องการลงโทษโดยทำทารุณทรมานแล้วใช้ม้าลากดึงฉีกร่างผู้ร้ายคนหนึ่งเป็นสี่เสี่ยงในฐานลอบปลงพระชนม์กษัตริย์ฝรั่งเศส การลงโทษนั้นทำกันต่อหน้าธารกำนัล เพื่อให้เป็นมหรสพ ชาวบ้านชาวเมืองแห่มาดูมาเห็นแล้วจะได้เกรงกลัวหลาบจำ ไม่มีใครกล้าคิดทำอีก


 


เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช: ขอถามประเด็นชาตินิยม มาถึงสมัยปัจจุบัน มีความสืบเนื่องของประชา-ชาตินิยมเข้ามาอยู่ในกระแสพรรคไทยรักไทยหรือไม่? หมายความว่า ประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยมเป็นฝ่ายหนึ่ง และพรรคไทยรักไทยสามารถยกระดับตัวเองเป็นกระแสชาตินิยมอีกฝ่ายหรือเปล่า?


 


เกษียร เตชะพีระ: ผมคิดว่าคำถามอาจารย์ มี 2 ส่วนนะครับ ส่วนหลังตอบง่ายกว่าหน่อยแต่อาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ทว่าส่วนแรกต้องคิดเยอะทีเดียว ผมขอตอบคำถามส่วนหลังก่อน คือพรรคไทยรักไทยเล่นกับธงชาตินิยมไหม? เล่นครับ เช่น ปลุกชาตินิยมต่อต้านไอเอ็มเอฟภายนอก และแน่นอนรวมทั้งปลุกชาติ- นิยมต่อต้านศัตรูในประเทศด้วย เช่น ไอ้พวกนี้เป็นพวกค้ายา มันเป็นผู้ทรยศชาติ ต้องเล่นงานมัน อะไรก็แล้วแต่ อันนี้เขาเล่นธงชาตินิยมแน่


 


ผมขอกลับมาคำถามส่วนแรกของอาจารย์ มันเป็นคำถามยากกว่า คือ จากประชาชาตินิยมฝ่ายซ้ายสมัย ก่อน มาถึงชาตินิยมของพรรคไทยรักไทย มันสืบเนื่องกันไหมอย่างไร? ผมคิดว่าเส้นทางความเปลี่ยน แปลงมันวกวนยอกย้อนมาก ผมก็ไม่แน่ใจว่าสืบทอดหรือไม่สืบทอด แต่การที่ป่าแตก พคท. แพ้ ทำให้สิ่งที่เรียกว่า ประชาชาตินิยมฝ่ายซ้าย ประสบวิกฤต ในตัวปาฐกถา 14 ตุลาฯ ที่ผมพูดเมื่อเดือนตุลาฯที่ผ่านมา ผมพยายามจับเรื่องนี้อยู่มาก ตามความเข้าใจของผมก็คือว่า มรดก 14 ตุลาฯในแง่ธงทางการเมือง มี 2 ผืน คือ ธงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยกับธงความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งสองอย่างเชื่อมโยงกันสำหรับคนสมัยนั้น ต่อสู้ให้มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยในบ้านเมืองเพื่อจะได้ใช้เงื่อนไขนั้นไปต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมหรือสังคมนิยมต่อไปได้ ถ้าได้สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยมา แต่ไม่สู้ต่อเพื่อความเป็นธรรมทางสังคมหรือสังคมนิยมแล้ว มันก็เปล่าประโยชน์ไม่มีความหมาย เพราะมันเชื่อมโยงกัน ที่นักศึกษาประชาชนรุ่นนั้นเข้าป่าไปหลัง ๖ ตุลาฯ ส่วนหนึ่งก็เพราะเชื่อในความเชื่อมโยงเหล่านี้


 


แต่พอป่าแตก - ต้องขอออกตัวก่อนว่าที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้ผมยังไม่เคยทำวิจัยเป็นชิ้นเป็นอันนะครับ อันนี้เป็นการวิเคราะห์คาดการณ์น่ะครับ - ผมเข้าใจว่า ธงความเป็นธรรมทางสังคมหรือสังคมนิยมที่ต่อต้านทุนนิยม ถูกวางลง เพราะว่าวิกฤติสังคมนิยมทั่วโลกมันเกิดขึ้น ใครที่ยังคิดว่าทุนนิยมเป็นปัญหา ใครที่ยังคิดว่ายังต้องมีปฏิบัติการทัดทานอำนาจทุนต่อไปนี้ มันมีธงอันใหม่ที่ถูกชูขึ้นมา ดึงดูดคนเหล่านั้นไป ได้แก่ธงเอ็นจีโอ ธงเศรษฐกิจชุมชน และสุดท้ายคือธงเศรษฐกิจพอเพียง คล้าย ๆ กับว่าในเวทีแวดวงการเมืองวัฒนธรรมไทย คนที่คิดว่าทุนนิยมมีปัญหาและชูธงต่อต้านขึ้นเป็นทางเลือกให้เห็นเด่นชัด คือ คนอย่างหมอประเวศ คนอย่างกลุ่มคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เขาบอกว่า ทุนนิยม บริโภคนิยมมีปัญหา ข้อเสนอทางออกของเขาไม่ใช่สังคมนิยม แต่คือทางออกแบบเศรษฐกิจพอเพียง แบบเศรษฐกิจชุมชน ผมคิดว่านั่นเป็นธงที่โดดเด่นขึ้นมา พูดในภาษาผมคืออำนาจนำในแง่การต่อต้านทุนนิยมมันตกอยู่ที่ธงนี้


 


ส่วนทางด้านอำนาจนำของธงสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย มันซับซ้อนกว่านั้นเยอะ ผมรู้สึกว่าด้านหนึ่งมันมีความพยายามเรื่องประชาธิปไตยทางตรงของกลุ่มพลังประชาชน ชาวบ้านบ่อนอก บ้านกรูด จะนะ หรือ สมัชชาคนจน แต่พอมาถึงจุดนี้ ผมนั่งคิดทบทวนไปมาดูเหมือนว่าเอาเข้าจริงท้ายที่สุดคนที่กุมธงประชา-ธิปไตย กุมอำนาจนำในการต่อสู้กระแสประชาธิปไตยไว้ได้ คือพรรคไทยรักไทยกับทักษิณ มันเป็นประชา-ธิปไตยจากการเลือกตั้ง ซึ่งชนะมาด้วยนโยบายประชานิยม จนเกิดกระแสที่ผู้คนมากหลาย identify ว่าประชาธิปไตยก็คือเขา, ประชานิยมก็คือเขา ซึ่งทุกวันนี้ยิ่งเห็นชัด ในตอนปลายรัฐบาลทักษิณ นายกฯทักษิณบอกว่าที่แกสู้ต่อไม่ยอมแพ้นั้นแกไม่ได้ปกป้องตัวเองนะ แต่แกปกป้องประชาธิปไตยตามวิถีการเลือกตั้งของประชาชน จำได้ไหมครับ


 


ผมรู้สึกอย่างนี้นะครับ อันนี้พูดอย่างรวม ๆ อาจจะไม่แม่นยำเท่าไหร่ คือสมัยก่อน 14 ตุลาฯ 2516 คนที่เล่นการเมืองก็คือข้าราชการ และวิธีการเล่นการเมืองก็ใช้เส้นสนกลในวิ่งเต้นตามสายราชการกัีบทำรัฐประหาร ส่วนพวกนายทุนหากต้องการส่งอิทธิพลต่อการเมืองและนโยบายอะไรต่าง ๆ ก็ต้องวิ่งเต้นกับข้าราชการนั่นแหละ จนกระทั่งมวลชนเดินเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์เมื่อ 14 ตุลาฯ หลังจากนั้นรูปแบบการเล่นการเมืองก็ปรับเปลี่ยนขยายตัวออกไป เพราะมวลชนไม่มีรถถังจึงไม่สามารถก่อรัฐประหารได้, ไม่มีเส้นสายจึงไม่สามารถวิ่งเต้นอะไรกับใครเขาได้ รูปแบบการเล่นการเมืองของมวลชนจึงได้แก่การเลือกตั้งและการประท้วงบนท้องถนน และล่าสุดคือยื่นเรื่องร้องเรียนกับบรรดาองค์กรตรวจสอบอิสระซึ่งรูปการหลังนี้เกิดขึ้นหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง พ..2540


 


ผมคิดว่ารูปแบบการเล่นการเมืองของมวลชน 3 แบบนี้มั่นคงพอสมควรและจะไม่หายไปไหน ในความ หมายนี้ผมจึงไม่ค่อยห่วงอนาคตของการเมืองภาคประชาชน เว้นแต่ไทยจะเลือกปิดประเทศแบบพม่า แต่ไทยเราเอ็นจอยเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และทัวริสต์เกินกว่าจะทำอย่างนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงต้องแสดงการเลือกตั้งให้ชาวโลกดูด้วย เขาจะได้ยอมรับเรา ค้าขายลงทุนกับเรา มาท่องเที่ยวเมืองเรา การเมืองบนท้องถนนก็จะไม่หายไป เพราะแม้แต่ฝ่ายราชาชาตินิยมก็ยังใช้ด้วยเลยใช่ไหมครับ ตลอดครึ่งแรกของปี พ.. 2549 ที่เราเห็นบนท้องถนนก็คือปรากฏการณ์ม็อบราชาชาตินิยมของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ฉะนั้นถ้าถามว่าการเมืองภาคประชาชนมีอนาคตไหม? ผมเชื่อว่าไม่หายไปหรอกครับ มันได้เข้าไปอยู่ในคลังแสงทางการเมืองของทุกฝ่าย แล้วแต่ใครจะเข้าไปกุมและใช้มัน


 


ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์เคยพูดถึงนายทุนที่เข้าสู่วงการเมืองในสมัยปี พ..2537 จำเป็นหรือไม่จะ ต้องมองนักการเมืองในภาพเลวร้าย ไม่ว่าจะคุณสมัครเอย พรรคพลังประชาชนเอย มันไม่ใช่ทางเลือกในปัจจุบันเลยหรือ? เพราะถ้าไม่ยอมรับกันแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองจะตัดสินกันอย่างไร จะยอมกันอย่างไรในระบบรัฐสภา? สุดท้ายมันอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขให้แก่กลุ่มนอกรัฐสภา มาจัดสรรอำนาจทางการเมืองในสังคมไทยแทน


 


เกษียร เตชะพีระ: มันมีสองอย่างซ้อนกันอยู่ในคำถามที่ผมได้ยินนะครับ คำถามแรกก็คือพูดอย่างตรงไปตรงมา มันมีอคติต่อนักเลือกตั้ง อันนี้มีมรดกมายาวนาน ผมเป็นส่วนหนึ่งของมรดกนี้ อย่างที่บรรยายไปว่าประชาชาตินิยมฝ่ายซ้ายไม่สนใจประชาธิปไตยในแง่รูปแบบสถาบัน เน้นอำนาจที่เป็นเนื้อหาของคนชั้นล่าง ไม่เคยคิดเลยว่าสถาบันในระบบการเมืองเช่นการเลือกตั้ง พรรคเลือกตั้ง รัฐสภา ฯลฯ จะเป็นเวทีการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญได้ นี้เป็นจริตแบบเหมาอิสม์และผมก็เติบโตมาในธรรมเนียมการคิดแบบนี้ มีคตินี้อยู่ในตัว แล้วอย่างที่เป็นอยู่จริงในสังคมไทย การเมืองในระบบเลือกตั้งแบบนี้ก็ค่อนข้างจะเป็นเวทีของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลและกลุ่มทุนใหญ่ ทำให้รู้สึกว่าที่ผ่านมา มันไม่มีโอกาสที่จะใช้ช่องทางพวกนี้ไปบรรลุอะไรได้สักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับช่องทางการเมืองบนท้องถนน แม้แต่สมัยรัฐบาลคุณชวน หลีกภัยก็ยังไม่ใช่ รัฐบาลจากการเลือกตั้งตอนนั้นยังเป็นส่วนยอดของแกนอำนาจเทคโนแครตราชการ และดำเนินนโยบายตามเทคโนแครตและระบบราชการ


 


ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงมาเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของคุณทักษิณ ช่วงคุณทักษิณนี้แหละที่กระบวนการจัดวางนโยบายเปลี่ยน และรัฐบาลกับพรรคการเมืองกำหนดนโยบายเองแล้วให้ราชการรับไปทำได้ และนโยบายเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม มีพลังมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายแล้ว ชนะใจประชาชน ไม่ใช่เพราะเส้นสายเครือข่ายอุปถัมภ์ ไม่ใช่เพราะเครือข่ายหัวคะแนนเลือกตั้งในอดีต พรรคไทยรักไทยสามารถคิดนโยบายที่สอดคล้องตอบสนองสภาพชีวิตและปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของคนจนและคนชายขอบ นโยบายแบบนี้แหละที่จะมีอายุยืน ที่สอดรับเชิงโครงสร้างกับความเป็นจริงของสังคมเศรษฐกิจไทย ซึ่งพรรคอื่นต่อให้ไม่ใช่พรรคไทยรักไทยก็จะต้องทำต่อ


 


ดังนั้น ในความหมายนี้ คงเป็นเรื่องยากที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบที่รัฐบาลสุรทธทำจะชนะประชานิยมได้ เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสำหรับคนดี แต่ประชานิยมไม่ได้เรียกร้องให้คุณเป็นคนดี ก่อนรับเงิน 30บาท หรือก่อนที่จะรับเงินกู้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท


 


ผมพูดอย่างซีเรียสนะครับ เพราะว่าในงานวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ที่ได้ไปทำวิจัยภาคสนามมา [3] พบว่าคนที่ไปเข้าร่วมหมู่บ้านในโครงการพระราชดำริไม่ได้มีชีวิตสะดวกสบายแบบสังคมบริโภคนิยมในเมือง โดยทั่วไปเขาไม่มีทีวี และครอบครัวเดียวที่มีทีวีในหมู่บ้านก็เปิดดูอยู่เวลาเดียวทั้งวัน คือข่าวในพระราชสำนักช่วง 2 ทุ่ม เท่านั้น เราทำได้เหรอครับ นี่คือชาวบ้านที่ไม่ยอมเอาธนบัตรใส่กระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะบนธนบัตรมีพระบรมฉายาลักษณ์ นึกออกไหมครับ เพื่อจะร่วมปฏิบัติปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องอาศัยอุดมการณ์เหนียวแน่นพอสมควร ถึงจะต้านทานทุนนิยม บริโภคนิยมอย่างนั้นได้


 


และผมคิดว่าคนที่อยู่กับสังคมบริโภคนิยมแบบเรา ๆ คงลำบากมากที่จะไปอยู่ตรงนั้น เมื่อเผชิญนโยบายประชานิยม ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบที่รัฐบาลสุรยุทธ์ทำอาจไม่มีพลังพอที่จะสู้ เพราะกล่าวให้ถึงที่สุดก็เป็นแค่เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแค่นั้นเอง


 


ผมคิดว่ามันน่าจะมีทางเลือกนโยบายอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ เช่น รัฐสวัสดิการ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความเป็นจริงทางสังคมว่า ตราบที่รัฐสวัสดิการยังไม่กลายเป็นนโยบายรูปธรรมที่มีพรรคการเมืองหนุนหลัง คนก็ย่อมจะเลือกเอาประชานิยม ผมว่ามาถึงจุดนี้ เรามาถึงเพดานความเป็นไปได้ของรูปการการต่อสู้บนท้องถนนแล้ว และถ้าเราไม่เดินไปสู่รูปการการต่อสู้แบบพรรคการเมือง รัฐสภา และนโยบายทางเลือก เราก็ไม่มีทางชนะประชานิยมของไทยรักไทย อันนี้เป็นขีดจำกัดของเรา


 


ส่วนที่เสนอว่า ทำไมไม่มองนักเลือกตั้งด้วยสายตาใหม่? ทำไมไม่มองนักการเมืองด้วยสายตาใหม่? เอางี้แล้วกันครับ ถ้าความเลวทรามต่ำช้าของผมที่ผ่านมาคือการมองนักการเมืองนักเลือกตั้งด้วยสายตาค้านลบด้านเดียวแล้ว ผมก็อยากเตือนท่านด้วยความเคารพรักว่า อย่าเพิ่งมองนักการเมืองนักเลือกตั้งด้วยสายตาด้านบวกด้านเดียวเช่นกัน ที่ถูกเราควรมองเขาอย่างที่เขาเป็นจริง และใช้เขาในฐานะเครื่องมือเพื่อไปบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่สำคัญ ว่าเราท่านจะใช้เครื่องมืออย่างนั้นอย่างไร ถ้าท่านคิดว่าที่ผ่านมาผมทำผิดแล้ว ก็อย่าทำซ้ำความผิดของผมในมุมกลับสิครับ


 


สายชล สัตยานุรักษ์: ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวามองความรักชาติต่างกันอย่างไร? และผลที่ตามมาเป็นอย่างไร? อีกคำถามคือพอเข้าใจได้ว่าทำไมฝ่ายขวาคิดแบบอำนาจนิยม แต่ทำไมฝ่ายซ้ายก็คิดแบบอำนาจนิยมด้วยเหมือนกัน? ดังที่อาจารย์พูดว่าฝ่ายซ้ายก็นึกถึงรัฐแบบเครื่องมือเหมือนกัน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นในเมื่อฝ่ายซ้ายมีอุดมการณ์ที่เชื่อว่าจุดหมายบั้นปลายคือการสลายรัฐ


 


รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ: ผมขออนุญาตทดลองตอบแบบกวนตีนนะครับ คือในระยะยาวเราก็ต้องการสลายรัฐแบบที่อาจารย์พูดเหมือนกัน ปัญหาอยู่ตรงในระยะยาวนั้น พวกเราก็คงตายกันหมดแล้ว (in the long run, we are all dead) ผมขอแนะนำให้อาจารย์ลองอ่านหนังสือของคริส เบเกอร์ กับอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร เล่มล่าสุดเรื่อง A History of Thailand ในบทต้น ๆ ทั้งคู่ตั้งข้อสังเกตบางอย่างไว้น่าสนใจ หากพูดใหม่ด้วยภาษาของผมคือถ้าข้ามการแบ่งค่ายแบ่งขั้วทางการเมืองระดับทั่วไปเช่น ซ้าย/ขวา, royalist/anti-royalist ฯลฯ และมองในระดับ Meta-Discourse คือเหนือกว่าหรือข้ามพ้นวาทกรรมที่ฝ่ายต่าง ๆ ใช้แล้ว การเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 Traditions ใหญ่ๆ ได้แก่ - ขออนุญาตใช้ภาษาตีความของผมอีกนั่นแหละครับ - แบบรัฐนิยม กับ แอนตี้รัฐ โดย Tradition รัฐนิยม เชื่อว่ามีอำนาจรัฐแล้วจะแก้ปัญหาได้ ในกรอบนี้ ขวากับซ้ายไม่แตกต่างกัน คือซ้ายสมัยนั้นก็เชื่อแบบเนื้อเพลงปฏิวัติที่ชื่อ "ฝ่าพายุ" ว่า"อำนาจรัฐของประชา จะได้มานั้นต้องลุกขึ้นจับปืน ติดตามพรรคไปทุกวันคืน หนทางอื่นไม่มีแล้วแน่นอน"  ขอให้ได้อำนาจรัฐมาก่อนแล้วจะแก้ปัญหาของโลกได้ และเผอิญฝ่ายขวาเองก็เชื่ออย่างนั้นเหมือนกัน


 


ในแง่กลับกัน อีก Tradition แอนตี้รัฐ ผมหมายถึงคนอย่างเทียนวรรณ นรินทร์ ภาษิต และบรรดากบฏทางปัญญาความคิดคนอื่น ๆ หรือ แนวคิดแบบชาวบ่อนอก บ้านกรูด หรือชาวบ้านสมัชชาคนจนที่ลุกขึ้นมาประท้วงโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ พวกเขาคือคนที่คิดว่ารัฐแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้พวกเขาไม่ได้แล้ว มิหนำซ้ำยังรัฐยังเป็นตัวสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้พวกเขาเสียเอง วิธีแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มจากข้างนอกรัฐ เช่นในระดับหมู่บ้านชุมชนและเครือข่ายสังคมเป็นต้น


 


 


000


 


 


เชิงอรรถโดยประชาไท


[1] เกษียร เตชะพีระ เคยนำเสนอเรื่องนี้มาก่อนแล้ว โปรดดู "การเมืองไทยจาก ๑๔-๖ ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน" ใน มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 22 ฉบับที่ 1156 (14-20 ต.ค. 2545), หน้า 30, ปีที่ 22 ฉบับที่ 1157 (21-27 ต.ค. 2545), หน้า 38-39, ปีที่ 22 ฉบับที่ 1158 (28 ต.ค. - พ.ย. 2545), หน้า 43.


 


ต่อมามีการนำเสนอบทความนี้ เป็นบทความลำดับที่ 1441 ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (เผยแพร่บนเว็บไซต์นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2550) โปรดดู เกษียร เตชะพีระ, "การเมืองไทยจาก ๑๔-  ตุลาฯ: สองชาตินิยมชนกัน" ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  


 


[2] รายละเอียดของเอกสารลับดังกล่าว โปรดดู ประดาบ (นามแฝง) "เปิดคำสั่งลับ "สนธิ" ทำสงครามประชาชน"  ใน เว็บไซต์ไฮทักษิณ 11 พ.ย. 2550.


 


เอกสารลับมากฉบับนี้ออกมาจากส่วนราชการ ยก.ทบ. (กองนโยบายและแผน) เลขที่หนังสือ กห 0403/512 วันที่ 26 กันยายน 2550 เรื่อง สรุปการบรรยายพิเศษและการประชุมมอบโอวาทของผบ.ทบ. ให้กับ ผบ.หน่วยระดับกองพันขึ้นไป โดย พล.ต. อักษรา เกิดผล จก.ยก.ทบ. ทำถึง ผบ.ทบ. เพื่อขออนุญาตนำคำบรรยายของผบ.ทบ. ไปแจกจ่ายเพื่อนำไปยึดถือเป็นกรอบในการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ (คลิกที่นี่เพื่ออ่านเอกสาร 1 หรือ 2)


 


[3] ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2550).


โดยปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2547 ของชนิดาเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net