Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2551 ณ ห้องประชุมแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ  ได้มีการจัดประชุมรับวันเด็กแห่งชาติ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กไทยแบบองค์รวม" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในประเทศ มาเผยแพร่และกระตุ้นให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนและครู ได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญ ร่วมกันเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กในระดับท้องถิ่น


 


ในหัวข้อ "พัฒนาครู พัฒนาเครือข่าย - กลจักรพัฒนาการเด็ก" ได้ชี้ให้เห็นถึงกลจักรสำคัญในการพัฒนาเด็กนอกเหนือจากครอบครัวแล้ว ก็คือผู้รับเลี้ยงเด็กและครู โดยกิจกรรมของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมและกิจกรรมของเครือข่ายครูใจดี ถือว่าเป็นกรณีศึกษาสำหรับการนำไปใช้พัฒนาระบบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กและเยาวชน


 


ซึ่งตัวแทนจากมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมและเครือข่ายครูใจดีได้มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนภายในงานดังนี้


 



 


พัฒนาครู - พัฒนาเด็ก


คุณศีลดา รังสิกรรพุม  ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม


มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ก่อตั้งมาแล้ว 26 ปี เมื่อปี พ..2524 โดยเมื่อปี พ.. 2526 สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา มีพระกรุณารับมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยสมเด็จพระพี่นางฯ ท่านทรงมีพระดำริว่าการเริ่มต้นชีวิตที่ดีของเด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทำให้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมได้ทำงานกับเด็กยาวนานที่สุดถึง 5 ปี คือเริ่มทำงานตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์จนถึงเด็กมีอายุ 5 ปี


 


ทั้งนี่บุคคลที่สำคัญในกระบวนการการทำงานกับเด็กก็คือ พ่อ แม่  ผู้รับเลี้ยงเด็ก และคนในชุมชน ทั้งนี้ผู้รับเลี้ยงเด็กก็มีในชุมชนเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่มักจะเป็นคุณยายคุณป้าที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบกลไกของรัฐได้เนื่องจากไม่ได้จบ ม.3  หรือไม่ได้จบสูงกว่านั้น ทำให้มีปัญหาต่างๆ เช่น บางคนอ่านหนังสือไม่ได้  เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือบุคคลเหล่านี้มีความรักเด็ก และทำหน้าที่รับเลี้ยงเด็กอยู่


 


จากจุดนี้ทำให้มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมกลับนำมาคิดว่าจะทำให้ชาวบ้านผู้รับเลี้ยงเด็กมีความเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร  จึงได้เปิดโครงการบ้านร่วมพัฒนาเด็ก เดิมเราจะเรียกว่าโครงการ "บ้านที่สองของหนู" แต่สมเด็จพระพี่นางท่านทรงบอกว่า มันเหมือนผู้ชายที่มีหลายบ้าน ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้ชื่อนี้ พระองค์จึงทรงได้ประทานชื่อใหม่ว่า "บ้านร่วมพัฒนาเด็ก" แล้วท่านจึงประทานเงินก้อนแรกให้ 500,000 บาท ให้เริ่มออกไปเรียนรู้กับชาวบ้าน


 


โดยในช่วงหลังได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องโภชนาการเด็ก พัฒนาการของเด็ก และการทำกิจกรรมในบ้าน ซึ่งภายหลังทำให้คุณยา คุณป้าที่ทำหน้าที่รับเลี้ยงเด็ก สามารถลงบันทึกพัฒนาการของเด็ก เช่น การชั่งน้ำหนักเด็ก เป็นต้น


 


6 ปีที่ผ่านมาบ้านรับเลี้ยงเด็กได้เพิ่มขึ้นเป็น 108 หลัง มีเด็ก 2,000 คน และตอนหลังเราก็ได้เปิดเป็นโรงเรียนสอนผู้รับเลี้ยง เป็นหลักสูตร 15 วัน ฝึกปฏิบัติ 1 สัปดาห์และมีการสอบภาคปฏิบัติด้วย ซึ่งตอนนี้ได้อบรมไปแล้ว 10 รุ่น ได้อาจารย์จาก รพ.ศิริราช มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และจุฬาลงกรณ์ และวิทยากรจากที่อื่นๆ ให้ความรู้แก่ผู้รับเลี้ยงเด็กที่เข้ารับการอบรม


 


โดยใน 15 วันนี้ จะเป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุข เป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ โดยสมเด็จพระพี่นางทรงมีพระดำริว่าคนรับเลี้ยงเด็กนี้จะต้องเป็นมืออาชีพ ซึ่งก็คือต้องรักเด็กและไม่ตีเด็ก รวมถึงจะต้องมีความรู้ด้วย โดยพระองค์ทรงเน้นย้ำว่าอยากให้เราปลูกฝังจริยธรรม เป็นคนดี โดยพระองค์ท่านได้ทรงบอกว่าความเป็นคนดีนี้ถ้าเราจะปลูกฝังให้เด็กนั้น ไม่ใช่สอนเด็กว่าคนดีต้องเป็นอย่างไร แต่ต้องสอนว่าให้ทำอย่างไร ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้จากนิทานต่างๆ ซึ่งครูจะต้องเล่านิทานเก่ง


 


ในส่วนของบ้านรับเลี้ยงเด็ก 108 หลังนี้ก็มีการสร้างเครือข่ายภายในชุมชน ซึ่งปัจจุบันนี้มีทั้งหมด  22 เครือข่าย มีการดูแลกันซึ่งกันและกัน โดยหัวหน้าเครือข่ายจะดูแลในละแวกบ้านใกล้เคียงของตนเอง มีการแบ่งปันให้ความรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นวิถีของชุมชน ซึ่งเป็นที่น่าดีใจก็คือในเครือข่ายนี้นั้นมีผู้ชายที่ทำหน้าที่เลี้ยงเด็กด้วย


 


โดย 6 ปีที่ผ่านมาเรามีสมาชิกอยู่กว่าร้อยหลัง ถึงแม้จะอ่านหนังสือไม่ได้บ้าง แต่พวกเขามีความรักเด็กและรู้ถึงสิทธิของเด็ก รู้ถึงการทำงานกับครอบครัวเพราะมีความตระหนักว่าเราไม่สามารถรับเลี้ยงเด็กคนเดียวได้ให้มีประสิทธิภาพแต่ต้องดึงกับพ่อแม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้บ้านรับเลี้ยงเด็กเหล่านี้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชน


 


ส่วนการสร้างเครือข่ายของมูลนิธิมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมนั้นมีทั้งการสร้างเครือข่ายครอบครัว, เครือข่ายอาสาสมัครปกป้องเด็ก, เครือข่ายแม่ช่วยแม่, เครือข่ายอาสาสมัครจิ๋วให้การเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็ก ซึ่งแต่ละเครือข่ายจะเชื่อมโยงกันหมด สิ่งที่สำคัญสำหรับการสร้างเครือข่ายครอบครัวนั้น ได้มีการจัดค่ายและกระบวนการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ให้ตัวแทนแต่ละครอบครัวได้พบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เพื่อให้แต่ละครอบครัวมีความสัมพันธ์และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน


 


สำหรับกิจกรรมของมูลนิธิมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมในช่วงหลังเราได้ลงพื้นที่ลงไปอบรมในต่างจังหวัด เช่นพื้นที่จากภัยสึนามิ พังงา ระนอง กระบี่ โดยเป็นการพัฒนาหลักสูตรจากประสบการณ์ โดยปัญหาพื้นฐานที่เราเจอก็คือการขาดกำลังใจของคุณครูเด็กเล็ก ซึ่งถือได้ว่าสำคัญที่สุดในชีวิตของเด็กแล้ว แต่ทั้งนี้ครูจำนวนมากยังขาดกำลังใจ


 


โดยก่อนลงไปทำงานจริง ก็ได้ไปสำรวจพื้นที่ครูในภาคใต้ ซึ่งพบว่าคุณครูส่วนใหญ่มีใบประกาศนียบัตร และประกาศนียบัตรการอบรมเยอะมาก แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่ จึงทำให้ต้องมีการอบรมอยู่ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าคุณครูเหล่านี้ยังขาดอะไรบางอย่าง


 


ในการอบรมของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ได้ให้ความรู้แก่ครูหลายรูปแบบ เป็นการอบรมที่สร้างความเข้าใจผู้เรียนไปด้วย และสร้างความคุ้นเคยผ่านกิจกรรมสัมพันธุ์โดยใช้กิจกรรมนันทนาการ เพื่อให้เข้าไปถึงจิตใจของผู้เรียนให้ได้ทั้งความรู้และมีความสนุกในการเรียนรู้  โดยใช้กิจกรรมเชิงสาระและการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม มีรูปแบบการถ่ายทอดอย่างหลากหลาย เช่น ใช้เกม ใช้ละคร ให้การเรียนรู้ในรูปแบบ กิจกรรมฐาน สลับการให้ความรู้


 


สำหรับหลักสูตรการอบรมในแต่ละท้องที่อาจจะไม่เหมือนกัน จะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหาก่อน เพื่อการจัดหลักสูตรที่เหมาะสม


 


ทั้งนี้ที่สำคัญก็คือการทำให้คุณครูเห็นคุณค่าของตนเองและไม่ลืมที่จะเคารพสิทธิของเด็ก เพื่อการพัฒนาเด็กทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและสติปัญญาอย่างเป็นองค์รวม และการที่จะทำให้การดูแลเด็กเล็กประสบผลสำเร็จสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือต้องทำให้คุณครูทำงานกันเป็นทีมดูแลซึ่งกันและกัน


 


เครือข่ายครู เพื่อพัฒนาเด็ก
คุณวิภากรณ์ ปัญญาดี ผู้จัดการโครงการ เครือข่ายครูใจดี จังหวัดเชียงราย


การทำงานในแรกเริ่มนั้น ตนเองทำงานอยู่ในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พบว่าในการทำงานจะมีเพียงการวิเคราะห์และบำบัดด้านจิตเวชให้กับเยาวชน ซึ่งก็ได้เห็นว่าจำนวนและความรุนแรงของปัญหาในเยาวชนมีปริมาณและความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


 


ซึ่งเมื่อก่อนนั้นปัญหาของเด็กจะมีเพียงประเด็นเบาๆ แต่ในปัจจุบันพบว่าลักษณะความรุนแรงเริ่มเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องยาเสพย์ติด เรื่องเพศ รวมถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย


 


ดังนั้นจึงรู้สึกว่าการทำงานในลักษณะเดิมๆ มันเริ่มที่จะมีปัญหา ทำให้มีความคิดริเริ่มที่จะทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดว่าสถานศึกษาและครูคือปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งในการที่จะร่วมกันแก้ปัญหาของเด็ก


 


โดยได้เริ่มทำโครงการขึ้นเมื่อปี พ.. 2548 โดยได้เข้าไปทำความเข้าใจกับผู้บริหาร เพราะคิดว่านโยบายของผู้บริหารในสถาบันการศึกษาแต่ละที่มีความสำคัญที่จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดเป็นรูปธรรม เมื่อผู้บริหารเห็นความสำคัญและอนุมัติให้เข้าไปดำเนินการจึงได้เริ่มต้นพูดคุยกับครูอนามัยและครูแนะแนวในโรงเรียน จากนั้นก็ไปทำความเข้าใจกับครูประจำชั้นและครูฝ่ายปกครอง ซึ่งกลุ่มหลังมีความใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด


 


ในปีแรกนั้นมีโรงเรียนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เข้าร่วมโครงการ 14 โรงเรียน จากทั้งหมด 17 โรงเรียน ปีที่สองมี 16 โรงเรียน จนถึงปีสุดท้ายทุกโรงเรียนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ทั้ง 17 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการและอีก 2 โรงเรียนนอกพื้นที่ความรับผิดชอบขอเข้าร่วมโครงการด้วย


 


ทั้งนี้ลักษณะการทำกิจกรรมของเครือข่ายจะมีการปรึกษาหารือและช่วยเหลือกัน มีการร่วมกันวิเคราะห์ ซึ่งในแต่ละภาคเรียนการศึกษานั้นจะมีการจัดเวทีให้โรงเรียนต่างๆ มาพบปะพูดคุยกัน จากนั้นจะมีการสื่อสารกับผู้บริหารโดยส่งเป็นรายงานเป็นรายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐานไว้


 


จากการทำงานพบว่าคุณครูเริ่มที่จะมีการมองปัญหาแบบองค์รวมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการมองถึงวิธีการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหา แทนที่จะหาวิธีการลงโทษเด็กที่มีปัญหาเหล่านั้นเช่นในอดีต ทั้งนี้ในการทำงานมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากโรงเรียนหนึ่งสู่อีกโรงเรียนหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้ในปัจจุบันนี้ ปัญหาต่างๆ ของเด็กในโรงเรียนเกว่า 97% นั้นสามารถทำการแก้ไขได้ด้วยครูเอง


 


เมื่อโครงการขึ้นสู่ปีที่ 3 มีการพูดถึงเรื่องการสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน และมีการตั้งคณะทำงานเครือข่าย ซึ่งเป็นเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้มีสื่อมวลชนในพื้นที่เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานของเครือข่าย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น


 


สำหรับการแก้ไขปัญหาในแต่ละโรงเรียนก็มักจะมีการแลกเปลี่ยนลงไปดูงานในแต่ละโรงเรียนเพื่อให้เห็นปัญหา แล้วนำวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละที่ไปปรับใช้ในโรงเรียนของตน กรณีตัวอย่างของปัญหาก็เช่น ในโรงเรียนหนึ่งมีเด็กเกเรชอบทำร้ายเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่เมื่อคุณครูแก้ปัญหาด้วยการให้ความสำคัญกับเด็กคนนั้นเพิ่มมากขึ้น ใส่ใจเขามากขึ้นเด็กคนนั้นก็ลดพฤติกรรมก้าวร้าวและอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนได้อย่างเป็นสุข


 


หรือในกรณีของโรงเรียนแห่งหนึ่งซึ่ง 80% เป็นชาวเขา อาศัยอยู่หอพักหรือกับมูลนิธิ ขาดความรักความเอาใจใส่จากครอบครัว จึงทำให้มักที่จะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยครั้ง ครูคนหนึ่งจึงได้เสนอให้นำเด็กที่มีปัญหาทะเลาะกันมากอดและหอมแก้มกัน ซึ่งเป็นการละลายพฤติกรรม จากนั้นเด็กที่ทะเลาะกันก็กลับมาคืนดีกันและอยู่ร่วมกันอ่างปกติ


 


เหล่านี้เป็นวิธีการที่คุณครูในเครือข่ายนำมาแลกเปลี่ยนกันและนำไปปรับใช้ในโรงเรียนของตน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net