Skip to main content
sharethis

ตามที่เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา "กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า" 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว แม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พร้อมด้วยนายอำเภอสอง เจ้าหน้าที่ อส. คณะกรรมการหมู่บ้าน และตำรวจบ้าน เข้าไปสำรวจผืนป่าสักทองในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า มีกลุ่มลักลอบตัดไม้ทำลายป่า เข้าไปลักลอบทำลายต้นสักทองจำนวนนับพันต้น โดยใช้วิธีการบากเนื้อไม้รอบโคนต้นก่อนนำยาฆ่าหญ้าชนิดเข้มข้นยี่ห้อหนึ่งหยอดลงไปทิ้งไว้ ทำให้ไม้ยืนตายคาต้น และใกล้ๆ บริเวณพื้นที่ดังกล่าว ยังพบต้นไม้สักถูกโค่นล้มเกลื่อนป่า และมีรอยชักลากไม้ลงไปในแม่น้ำยมเพื่อต่อเป็นแพ ก่อนปล่อยล่องลงผ่านบริเวณหน้าที่ทำการหน่วยอุทยานแห่งชาติแม่ยม นั้นด้วย


เหตุการณ์ดังกล่าว สื่อมวลชนได้ร่วมกันนำเสนอจนกลายเป็นข่าวครึกโครม เนื่องจากถือได้ว่าเป็นขบวนการลักลอบทำลายป่าแบบพิสดาร โดยเลียนแบบ "มอด" กินไม้


ล่าสุด (14 ม.ค.) กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ได้นำกำลังพาเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่,ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ จังหวัดแพร่, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ พร้อมอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง โดยได้ทำการเก็บตัวอย่างของไม้สักที่ถูกทำลาย และกระป๋องยาฆ่าหญ้า เพื่อนำไปพิสูจน์ด้วย




แฉขบวนการมอดไม้สักทอง เล่นกันเป็นขบวนการ
จากอุทยานแห่งชาติแม่ยม-รง.เฟอร์นิเจอร์ เมืองแพร่


นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ดอนชัยสักทอง หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า ได้เข้าไปทำการตรวจสอบไม้สักที่ถูกทำลายกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านได้สำรวจคร่าวๆ พบว่า มีต้นสักที่ยืนตายกว่า 767 ต้น และเข้าใจว่าน่าจะมีจำนวนมากกว่านี้อีก


"จากที่เราเก็บตัวอย่างไม้ สันนิษฐานได้ว่า กลุ่มผู้ลักลอบทำลายไม้สัก ได้ใช้ขวานสับเปลือกไม้รอบๆ ต้นสัก ก่อนราดยาฆ่าหญ้า ชนิดดูดซึมแบบเข้มข้นลงไป ซึ่งฤทธิ์มันรุนแรงมาก หากเอาราดเพียงต้นละ 1 ช้อนแกง เพียงระยะเวลา 4-5 วัน ก็ทำให้ใบสักเหี่ยวคาต้นทันที หลังจากนั้น กลุ่มผู้ลักลอบก็เข้ามาแอบโค่นไม้สักลงมา" นายเส็ง บอกเล่าให้ฟัง


แต่ที่น่าแปลกใจระคนความไม่น่าไว้วางใจของ "กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า" ก็คือ มีการตั้งคำถามกันว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ (หน่วยอุทยานแห่งชาติแม่ยม) มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ เนื่องจากบริเวณที่มีการลักลอบทำลายป่าสักทองนั้น อยู่ในเขตอุทยานฯ และอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ตั้งของที่ทำการ แต่ทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้!?


"จำเป็นอย่างยิ่ง ที่หัวหน้าอุทยานฯ จะต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้ เพราะถือว่าปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าน่าจะรู้เห็นเป็นใจกันกับกลุ่มนายทุนทำลายป่ากลุ่มนี้ เพราะที่ผ่านมา เราเคยไปแจ้งว่ามีการลักลอบตัดไม้ โดยทำเป็นแพล่องผ่านหน่วยอุทยานฯ ลงไปในเขตตัวเมืองแพร่ หน้าตาเฉย แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สนใจดำเนินการใดๆ เลย จนกระทั่งชาวบ้านมาพบเหตุการณ์มอดไม้ มอดใหญ่มอดหลวงครั้งนี้" แกนนำกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า กล่าว


ทั้งนี้ ชาวบ้านได้ทำการบันทึกและทำเครื่องหมายกากบาทและเขียนหมายเลขต้นไม้ไว้เป็นสัญลักษณ์ได้จำนวน 767 ต้น แต่จากการประเมินร่วมกันของหลายฝ่่ายคิดว่าน่าจะมากกว่า 1,000 ต้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะที่ผ่านมามีการกระทำของมอดไม้ที่ตัดไม้ขนาดกลางและขนาดเล็กแล้วแบกออกไป หากครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นทำลายป่าสักทองผืนใหญ่ที่กระทำอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย


ตัวแทนกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ยังบอกอีกว่า นายทุนกลุ่มนี้เชื่อว่า น่าจะเป็นกลุ่มคนตัดไม้เพื่อขายไม้สักให้กับนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง ในเขตเมือง จ.แพร่ เนื่องจากมีการทำกันเป็นขบวนการ โดยใช้สารปราบศัตรูพืช ชนิดดูดซึมเข้มข้น เข้าไปในเนื้อไม้ ให้แห้งตาย ก่อนตัดโค่น ลากลงแม่น้ำยม ก่อนทำเป็นแพล่องลงทางตอนล่าง ในเขตเมืองแพร่


 


ยังไม่ทิ้งปมเจาะเนื้อไม้ ฆ่าสักทองคาต้น
หวังทำป่าเสื่อมโทรม ข้ออ้างสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น


อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านก็ไม่ทิ้งประเด็นเรื่อง ขบวนการทำลายป่าสักทองกลุ่มนี้ ทำเพื่อหวังผลต่อการเสนอให้มีสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในอนาคตหรือไม่!?


"ตอนนี้ ชาวบ้านไม่ได้ทิ้งประเด็นเรื่องนี้ว่าเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน เพราะการทำลายป่าสักทอง โดยใช้ยาฆ่าหญ้าครั้งนี้ เห็นได้ว่า กลุ่มผู้ลักลอบได้ทำลายต้นสักไปทั้งผืนป่า แม้กระทั่งไม้คด ไม้งอ ก็ถูกทำลายหมด ซึ่งเรากำลังตั้งข้อสังเกตกันอยู่ว่า นี่เป็นขบวนการทำลายป่า เพื่อทำลายความชอบธรรม เพื่อต้องการสร้างภาพให้เป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่"


อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในวันที่ 15 ม.ค.นี้ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ซึ่งมีทั้งหมด 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว และบ้านแม่เต้น จะประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาความชัดเจนว่ามีประเด็นอื่นอีกหรือไม่ เพื่อหาแนวทางปกป้องผืนป่าสักทองผืนนี้เอาไว้ไม่ให้เกิดการลักลอบทำลายป่าเช่นนี้อีก


 


อธิบดีกรมอุทยาน เด้ง!หน.อุทยานฯ แม่ยม ออกพื้นที่
ฐานปล่อยให้มอดทำสักทองตายคาต้นนับพัน


ล่าสุด นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)ได้กล่าวภายหลัง เดินทางลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม ว่า ขณะนี้ ได้มีคำสั่งโยกย้ายนายมงคล แสงรุ่งอรุณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ออกจากพื้นที่แล้ว จากกรณีกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า บ้านดอนชัย ดอนชัยสักทอง ดอนแก้ว แม่เต้น ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พร้อมด้วยนายอำเภอสอง ร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน บุกสำรวจป่าสักทองที่เสียหายจากการถูกตัด และราดยาฆ่าหญ้าจนยืนต้นตายกลางป่าอุทยานฯ เพราะถือว่าย่อหย่อนในการปฏิบัติหน้าที่ และอาจจะไม่คุ้นกับงานลักษณะนี้ โดยจะให้ไปอยู่ที่สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 จ.แพร่ ก่อน พร้อมกับตั้งคณะทำงานการสอบสวนข้อเท็จจริงการลักลอบตัดไม้ในป่าแม่ยม


นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่ามีต้นสักยืนต้นตายจริง ไม่ใช่ลักษณะการผลัดใบตามปกติในช่วงหน้าแล้ง เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบ มีต้นสักที่ถูกฟัน และราดยาฆ่าหญ้าจนมีใบแห้งตาย จำนวน 296 ต้น รวมทั้งพบว่ามีตอไม้สักจำนวน 19 ต้นที่ถูกตัดออกไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีไม้ท่อนจำนวน 33 ท่อนด้วย โดยการป้องกันไม้สักที่ยืนตายทั้งต้นนั้น ได้สั่งการไม่ให้มีการตัดโค่นอย่างเด็ดขาด โดยได้สั่งให้ตรึงกำลังเจ้าหน้าคุมเข้มมากขึ้นเป็นพิเศษ ในการตรวจสอบที่เกิดเหตุและร่องรอยการตัดไม้ สันนิษฐานว่ากระบวนการลักลอบตัดไม้สัก น่าจะเป็นการกระทำระดับชาวบ้าน แต่อาจจะมีคนหนุนหลัง เพราะเครื่องมือที่ใช้ไม่ทันสมัยมากเหมือนกับเครื่องมือที่นายทุนใช้ แต่ก็ถือว่าเป็นการทำลายป่าที่รุกเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกรมอุทยานฯ ต้องเร่งสอบสวนและหาผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการอย่างเร่งด่วน


เมื่อถามว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่กล้ายืนยันว่าเกี่ยวกันหรือไม่ ต้องดูรายละเอียดก่อนว่าไม้ที่ทำทำให้ตายยืนต้นนั้นเป็นไม้ชนิดไหนแบบใด


 


เสนอให้อุทยานฯ เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม
ให้ชุมชนร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบไม้ถูกทำลาย


ในขณะที่ นายหาญณงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ มีคำสั่งโยกย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม ออกจากพื้นที่ ว่า เชื่อว่าการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในลักษณะนี้ยังเกิดขึ้นอีกหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น กรมอุทยานแห่งชาติจะต้องหามาตราการในการตรวจสอบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ว่าได้ละเลยหรือมีการเปิดช่องให้นายทุนเข้าไปร่วมหาผลประโยชน์จากผืนป่าไหน ในเขตอุทยานฯแห่งใดอีกหรือไม่ และจะต้องดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง


"ยกตัวอย่างในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมนี่แหละ พบว่า มีการทำถนนใหม่ ยาวกว่า 2.9 ก.ม. เข้าไปยังพื้นที่ที่จุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยใช้งบประมาณ 12.4 ล้านบาท ซึ่งตอนหลังกลับกลายเป็นเส้นทางขนไม้ซุงสักทองขนาดใหญ่ออกนอกพื้นที่ ทั้งๆ ที่บริเวณที่ทำไม้ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไม่กี่ก.ม. ซึ่งไม่รู้ว่า การสร้างถนนเส้นนี้ ได้ผ่านมติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติหรือไม่"


นายหาญณรงค์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการทำลายป่าสักทองในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมนี้ จากรายงานสำรวจของกลุ่มราษฎร์รักษ์ป่า พบว่า ต้นสักอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ถูกทำลายครั้งนี้ มีจำนวนมากกว่า 700 ต้น ซึ่งคิดเป็นความเสียหายมากกว่า 1 ใน 10 ของไม้สักในแถบพื้นที่นี้ ในขณะที่อธิบดีกรมอุทยานฯ กลับได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า พบเพียง 296 ต้น ซึ่งจำนวนตัวเลขไม่ตรงกันเช่นนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ไม่เคยรับฟังและให้ชาวบ้านเข้าไปส่วนร่วม ดังนั้น อยากเสนอให้ทางอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกับชาวบ้าน เพื่อร่วมกันตรวจสอบ และควรให้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปทำงานในพื้นที่ ได้เน้นกระบวนการส่งเสริมให้ชุมชนให้องค์กรชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน


"เพราะโดยพื้นฐานแล้ว ชาวบ้านที่นั่นมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว ในเรื่องการปกป้องดูแลป่าผืนนี้ แต่ที่ผ่านมา หัวหน้าอุทยานฯ มักหลีกเลี่ยงจะทำงานร่วมกับชาวบ้าน มีการปิดกั้นข้อมูล เหมือนกับว่าจะกลัวว่าชาวบ้านจะรู้ว่ามีการงุบงิบหาผลประโยชน์กันอยู่ ดังนั้น ทางกรมอุทยานฯ จะต้องส่งคนที่ทำงานด้วยความสุจริตและเหมาะสม เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะมิฉะนั้น ก็อาจจะเกิดปัญหาเช่นนี้อีก" นายหาญณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย


 






 


ข้อมูล อุทยานแห่งชาติแม่ยม


 


อุทยานแห่งชาติแม่ยม มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าสักที่ขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างหนาแน่น ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่งดงามมาก นับได้ว่าเป็นตัวแทนป่าไม้สักของภาคเหนือได้อย่างดียิ่ง รวมทั้งไม้ที่มีค่าจำนวนมาก รวมทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า ซึ่งสภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ พบทั่วไปในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไปทางทิศตะวันตกของลำน้ำยม ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก มะค่าโมง แดง ประดู่ ตะแบก ฯลฯ และมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่ และกระจายเป็นหย่อมๆ ในบริเวณดินที่มีความแห้งแล้ง เป็นดินลูกรัง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ เต็ง รัง พลวง รัก มะเกิ้ม ชิงชัน ฯลฯ



ขณะเดียวกัน ป่าสนเขามีขึ้นอยู่ตามยอดเขาทางทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติ มีความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้จะเป็นพวกไม้สน และไม้ก่อ เช่น สนสามใบ ก่อเดือย ก่อตาหนู เป็นต้นส่วนการสำรวจสัตว์ป่า พบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 39 ชนิด นก 135 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 28 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 14 ชนิด ในจำนวนนี้มีสัตว์ที่มีสถานภาพที่น่าเป็นห่วง 4 ชนิด ได้แก่ สุนัขจิ้งจอก กระรอกบินเล็กแก้มขาว แมวป่า และนกยูง มีสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ 1 ชนิด คือ เสือปลา


 


ข้อมูลประกอบ
www.posttoday.com
www.matichon.co.th/khaosod
www.matichon.co.th/matichon

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net