Skip to main content
sharethis

ครม.ตั้ง"เทพชัย หย่อง-ขวัญสรวง อติโพธิ-ณรงค์ ใจหาญ-อภิชาต ทองหยู่และนวลน้อย" เป็นกรรมการนโยบายชั่วคราวทีไอทีวี มีเวลาทำงาน 180 วัน ล่าสุดกก.ทั้ง 5 คน ประชุมเห็นชอบ "ขวัญสรวง" นั่งประธาน "เทพชัย" รักษาการ ผอ.ทีพีบีเอส ยึด 4 แนวทางเร่งเดินเครื่อง 1 กุมภาพันธ์ ผลิตรายการทีวีสาธารณะได้


 



เมื่อวันที่ 15 ม.ค. เวลา 13.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมครม.ได้ให้ความเห็น ชอบในการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 5 คนประกอบด้วย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์, นายอภิชาติ ทองอยู่, นายขวัญสรวง อติโพธิ, นายณรงค์ ใจหาญ และนายเทพชัย หย่อง ซึ่งนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ได้แจ้งให้ทราบว่าคณะกรรมการจะประชุมกันช่วงบ่ายของวันเดียวกัน


 


ซึ่งได้มอบงานให้คณะกรรมการเพื่อที่ให้คณะกรรมการประชุมวางกรอบการทำงานได้ทันที โดยคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวจะมีอายุการทำงานไม่เกิน 180 วัน ซึ่งจะสอดคล้องกับกระบวนการสรรหาคณะกรรมการนโยบายตาม พ.ร.บ.ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน


 



คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า สำหรับหน้าที่ของคณะกรรมการจะเป็นไปตามพรบ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประ เทศไทยคือคณะกรรมการจะต้องวางกฎกติกาการบริหารเพื่อให้สามารถตั้งองค์กรได้ โดยมีการเตรียมระเบียบพัสดุ ระเบียบการเงินระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งคณะกรรมการสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. รวมถึงข้อปฏิบัติทั่วไปไว้ให้คณะกรรมการแล้ว นอกจากนี้คณะกรรมการฯต้องกำหนดกรอบแนวทางการทำงานเพื่อให้ทีวี สาธารณะเดินหน้าได้ และจะต้องมีการตั้งผู้อำนวยการและคณะกรรมการบริหาร โดยจะต้องกำหนดแนวในการบริหารสถานีว่าควรจะไปในทิศทางใด ทั้งนี้คณะกรรมการจะต้องรีบดำเนินการในรายละเอียดต่างๆ เช่น การตั้งโลโก้สถานีใหม่เป็นต้น เพื่อให้องค์กรเดินหน้า ต่อไปได้


 



สำหรับเรื่องการโฆษณานั้นไม่สามารถดำเนินการได้ แต่สามารถรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ที่ชื่นชมการทำงานของทีวีสาธารณะ ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ผลิตรายการหรือบริษัทโฆษณาที่ยังมี สัญญาต่อกันอยู่นั้น คณะกรรมการฯ จะเป็นผู้พิจารณากันต่อไป



เวลาต่อมา คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยทั้ง 5 คนได้ประชุมกันที่โรงแรมเรดิสัน หลังจากนั้นมีการแถลงข่าวมีใจความว่า ที่ประชุมมีมติให้นายขวัญสรวง อติโพธิ เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว และให้นายเทพชัย หย่อง เป็นรักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สาธารณะทีพีบีเอส


 



นายขวัญสรวง ประธานคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเร่งดำเนินการพิจารณาจัดการทำงานของทีพีบีเอส ให้เสร็จ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มการออกอากาศภายใต้ผังรายการใหม่ โดยจะเริ่มรับสมัครพนักงาน 16 มกราคมนี้เป็นต้นไป


 


นายขวัญสรวง กล่าวถึงหลักการในการพิจารณาดำเนินการสถานีสื่อสาธารณะ โดยยึด 4 แนวทาง ได้แก่ การสร้างความสมดุลย์ของการสื่อสารในสังคม ไม่ต้องถูกกดดันในการหารายได้ มีความเป็นอิสระ ปราศขจากความครอบงำ ทั้งจากภาครัฐ และเชิงพาณิชย์ ขึ้นตรงต่อจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ทำงานสาธารณะ เชื่อมโยงกับสังคมตลอดเวลาและการมีส่วนร่วม และมีการบริหารการทำงานที่โปร่งใส โดยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มการทอล์กโชว์ผ่านรายการข่าวได้ และหลังจากวันที่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป คงจะเริ่มรายการตามผังใหม่



           


 


พนง.ทีไอทีวีฟ้องศาลปค.เพิกถอนคำสั่ง


ขณะที่พนังงานทีไอทีวีเดิมกว่า 100 คนนำโดยนายอลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางไปยื่นคำร้อง ขอให้ศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ที่ 25/2551 ลงวันที่ 14 ม.ค.51 ซึ่งลงนามโดยนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เรื่องให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟ ปฎิบัติตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ที่สั่งให้ สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพออกอากาศตั้งแต่เวลา 24.00 น. วันที่ 14 ม.ค.51 พร้อมทั้งขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ โดยให้ศาลมีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี ออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง ตามคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 431,437/2550 เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ


 


คำร้องของพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ระบุว่า ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งกรมประชาสัมพันธ์ที่ 25/2551 ดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคำสั่งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะประโยชน์ และยังเป็นคำสั่งที่ละเมิดอำนาจศาลปกครองกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ 431,437/2550 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550 ได้กำหนดมาตรการ หรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดให้มีบริการสาธารณะทางด้านกิจการวิทยุโทรทัศน์ ระบบยูเอชเอฟ ดำเนินการให้บริการสาธารณะดังกล่าวดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะดำเนินการ หรือจะมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนตนและในนามของตนก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ละเมิดคำสั่งศาลปกครองกลาง ที่ต้องการคุ้มครองการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง


 


การที่ผู้ถูกร้องอ้างว่า ได้ดำเนินการดึงสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 เพื่อออกอากาศแทนสัญญาณภาพจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งเท่ากับได้ดำเนินการแพร่ภาพต่อเนื่องนั้น เป็นการขัดวัตถุประสงค์การคุ้มครองการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เนื่องจากศาลปกครองกลางคุ้มครองการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยคำนึงถึงเนื้อหาที่ผลิต และแพร่ภาพโดยพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ดังนั้นการดึงสัญญาณจากสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 จึงไม่ใช่เนื้อหาที่ศาลปกครองคุ้มครอง


 


นอกจากนี้ผู้ร้องเห็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ยังเป็นการละเมิดอำนาจของคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ที่คณะรัฐมนตรีจะแต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551ด้วย เพราะอธิบดีไม่มีอำนาจในการสั่งยุติการออกอากาศ ทำให้คำสั่งฉบับดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับประโยชน์สาธารณะ ทำให้ประชาชนขาดทางเลือกในการบริโภคข่าวสาร ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง หน้าที่ของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตาม พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะฯ ม.57 คือให้โอนบรรดากิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ คลื่นความถี่ และภาระผูกพัน ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวกับการดำเนินสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (ทีไอทีวี) ให้กับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย โดยไม่ได้ให้อำนาจในการสั่งให้ยุติการออกอากาศ สิ่งที่อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ทำได้ คือต้องโอนทั้งหมดตาม ม.57 รวมทั้งพนักงานไปยังองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย


 


การกระทำของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ยังเป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งขัดต่อ ม.46 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และขัดต่อ ม.8 พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะฯ ที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมในลักษณะเป็นการขัดขวาง หรือแทรกแซงการนำเสนอข่าวขององค์การกระจายเสียงฯด้วย



 


 


ศาลปค.รับไต่สวนฉุกเฉินแพร่ภาพทีไอทีวี พรุ่งนี้(16) บ่ายโมง


ด้านศาลปกครอง ได้รับคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีให้แพร่ภาพชั่วคราว หลังจากที่ได้หยุดแพร่ภาพไปเมื่อเวลา 24.00 น.วันที่ 15 ม.ค.ตามที่กฎหมายสถานีกระจายเสียงและแพร่ภาพโทรทัศน์สาธารณะหรือทีพีบีเอสประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามทางพนักงานทีไอทีวีได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้ไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองแพร่ภาพชั่วคราวไว้


 


ต่อมาเวลา 14.30 น. น.พ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ ( นปก.)รุ่น 1 และนางประทีป อึ้งทรงธรรมฮาตะ แกนนำ นปก. รุ่น 2 ได้เดินทางมายื่นคำร้องสอด ในฐานะผู้บริโภค ที่เสียโอกาสในการรับรู้ข่าวสารของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ร่วมกับพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีด้วย เพื่อขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีสามารถดำเนินการออกอากาศได้ โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายทีวีสาธารณะจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายถาวร และดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เพื่อให้ได้ทีวีสาธารณะอย่างสมบูรณ์


 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการฟ้องคดีวันนี้ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ เจ้าของบริษัท บอร์นคอร์ปอเรชั่นฯ ผู้ผลิตรายการเกมเศรษฐี ออกอากาศทางสถานีทีไอทีวี ที่ได้รับผลกระทบการระงับการออกอากาศ เดินทางมาให้กำลังใจ พนักงานไอทีวี โดยอยู่ร่วมลุ้นรอฟังคำสั่งศาล พร้อมกับน.ส.ตวงพร อัศววิไล บก.ข่าวประจำวัน นายจตุรงค์ สุขเอียด บก.ข่าวเฉพาะกิจ และพนักงานไอทีวีอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งระหว่างรอลุ้นคำสั่ง พนักงานไอทีวี โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับมติ ครม. และการแถลงข่าวของ คณะกรรมการนโยบายในการดำเนินกิจการทีวีสาธารณะ ซึ่งโดยเบื้องต้นเมื่อทราบว่า ทีไอทีวี ต้องถูกเปลี่ยนชื่อและโลโก้ เป็น "ซีเอบีเอส" พนักงานไอทีวี ถึงกลับแสดงสีหน้าเซ็ง ๆ พร้อมกับพูดว่า " นึกไว้อยู่แล้ว"



 


 


'เทพชัย หย่อง' ลาออกจากเครือเนชั่น นั่งเก้าอี้ ผอ.ทีวีสาธารณะ


นายเทพชัย หย่อง คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว และรักษาการผู้อำนวยการชั่วคราว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หรือทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย อดีตบรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าวว่า ได้ยื่นใบลาออกจากเครือเนชั่นตั้งแต่วันนี้ (15ม.ค.) เป็นต้นไป


 


แต่เนื่องจากบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้แจ้งไปที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (16ม.ค.) สำหรับหุ้น บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ปจำนวนหุ้น 1 แสนหุ้นที่ตนถืออยู่ จะประกาศขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 16 มกราคมนี้


 


ทั้งนี้ ตนได้รับการทาบทามจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มาดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทีวีสาธารณะ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ที่ยังไม่ได้ยื่นใบลาออกจากเนชั่นก่อนหน้านี้ก็เพราะรอ ครม.เห็นชอบเสียก่อน โดยการที่มารับตำแหน่งคณะกรรมการทีวีสาธารณะเนื่องจากมีความสนใจในการทำทีวี สาธารณะ และต้องการให้ประเทศไทยมีทีวีสาธารณะ เพื่อนำเสนอข่าวสารและสาระที่มีประโยชน์ต่อผู้ชม


 


"กรอบทำงานของคณะกรรมการชั่วคราวฯ มีระยะเวลา 6 เดือน โดยในระยะแรก วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ทีวีสาธารณะจะเริ่มออกอากาศ จะนำเสนอข่าวสารเป็นหลัก ระยะที่สอง ในวันที่ 1 มีนาคม ผังรายการจะประกอบไปด้วยข่าวและรายการที่ผลิตขึ้นเอง หลังจากนั้นจะเป็นระยะที่สาม ที่มีผังรายงานสมบูรณ์ ทั้งนี้จะทำการเปิดรับสมัครฝ่ายข่าวและฝ่ายผลิต ในวันที่ 16-19 ม.ค.นี้ ณ กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งพนักงานทีไอทีวีที่มีประสบการณ์ด้านข่าวสามารถมาสมัครและร่วมการ พิจารณาร่วมกับบุคคลอื่นๆ"


 


"ส่วนพนักงานเก่า ของทีไอทีวี ถ้ามีความเชื่อว่าสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทีวีสาธารณะเป็นของประชาชน เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ก็สามารถที่จะมาร่วมงานกันได้เพราะทีวีสาธารณะ ก็ยังต้องการพนักงานที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ" นายเทพชัย กล่าว



 


นักวิชาการนิเทศศาสตร์รับได้ 5 กก.


นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นถึงคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ขององค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะแห่งประเทศไทย 5 คนว่า ภาพรวมของคณะกรรมการถือว่าเป็นคนที่มีจุดยืนทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเคยเรียกร้องถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน เช่น นางนวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น เคยอยู่ไอทีวีมาก่อน และเป็นบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้อำนวยการสถานี


 


นายอนุสรณ์ ยังกล่าวแนะนำว่า ช่วงเปลี่ยนจากทีไอทีวีเป็นโทรทัศน์สาธารณะ ในระยะเวลา 6 เดือน ควรจะสรรหาคณะกรรมการนโยบาย 9 คน รวมถึงการจัดตั้งสภาผู้ชมตามกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ซึ่งจากนี้ไปคณะกรรมการชั่วคราว ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อทำความเข้าใจพนักงานเรื่องโทรทัศน์สาธารณะ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องให้เวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่าน ส่วนบุคลากร ต้องให้โอกาสพนักงานทีไอทีวี และคนใหม่ อย่างเท่าเทียมกัน



 


จอนแนะ 5 อรหันต์เร่งสางปัญหาพนักงานทีไอทีวี


นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กป.อพช. กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวในสถานีโทรทัศน์สาธารณะ 5 คนว่า รายชื่อคณะกรรมการ 5 คน ถือว่าพอใช้ได้ แต่กรรมการชั่วคราวถือเป็นกรรมการรักษาการ จึงอยากให้มีการสรรหากรรมการจริงขึ้นมาโดยเร็ว เพราะอาจเกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการมีโทรทัศน์สาธารณะ


 


"สำหรับสิ่งที่กรรมการชั่วคราวควรทำเรื่องแรกคือ ดำเนินการของบประมาณโดยเร็ว และแก้ไขปัญหาพนักงานทีไอทีวีว่าจะรับทั้งหมด หรือบางส่วน โดยต้องระบุเหตุผลให้ชัดเจน รวมทั้งวางแผนนโยบายการผลิตรายการ ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วยที่จะนำรายการโทรทัศน์ช่อง 11 มานำเสนอ แต่ควรคงรายการข่าวและรายการสาระ โดยนำพนักงานทีไอทีวีมาทำข่าว และนำเสนอเนื้อหาที่เป็นกลาง เน้นข่าวภาคประชาชน ที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงทดลองผลิตรายการสำหรับเด็ก" นายจอน กล่าว



 


คลังขึ้นภาษีบาปอุ้ม"ทีวีสาธารณะ"


แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตได้เสนอให้นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ลงนามในประกาศเพิ่มภาษีสุรา เบียร์ และยาสูบขึ้นอีก 1.5% ของมูลค่าภาษีที่เสียอยู่ โดยคาดว่าภาษีที่เก็บได้ประมาณ 1.7 พันล้านบาท เพื่อนำส่งให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งได้กลายสภาพเป็นทีวีสาธารณะ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ม.ค.นี้


 


ทั้งนี้ ผลการปรับขึ้นภาษีจะทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นซองละ 0.50 สตางค์-1 บาท ต่อซอง ส่วนภาษีสุราปรับขึ้นเล็กน้อย 3-5 บาทต่อขวด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มาก เพราะไม่ได้เป็นการเพิ่มอัตราภาษีโดยตรง


 


"กรมสรรพสามิตคาดว่าการเก็บภาษีเพิ่ม จะมีผลทำให้ราคาขายสุรา เบียร์ เหล้าขาว และบุหรี่ ปรับราคาขึ้นทันทีภายในสัปดาห์นี้" แหล่งข่าวเปิดเผย


 


หากผลการเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่ม 1.5% ทำให้มีรายได้เกิน 2 พันล้านบาท ส่วนที่เกินนี้จะต้องนำส่งเข้ากระทรวงการ คลัง เพราะมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้นำเงินภาษีที่เพิ่มขึ้นอุดหนุนทีไอทีวีไม่เกิน 2 พันล้านบาทต่อปี โดยจะนำเงินภาษีส่งให้ ทีไอทีวีทุกเดือน ภายใน 15 วัน ของเดือนถัดไป


 


นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังให้อำนาจ รมว.คลัง ประกาศเพิ่มเงินภาษีให้กับทีไอทีวีทุก 3 ปี หากพิจารณาเห็นว่าวงเงินที่กำหนดให้นำส่งสูงสุด ไม่เพียงพอ ต่อการดำเนินงานของทีไอทีวี


 


แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เงื่อนไขในการอนุมัติเงินจะต้องมีการติดตามประเมิน ผลงานของทีไอทีวี ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งให้เป็นทีวีสาธารณะหรือไม่


 


สำหรับราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบกับการบริโภคน้อยมาก โดยที่ผ่านมาการขึ้นภาษีสามารถลดการบริโภคได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น หลังจากนั้นการบริโภคก็จะกลับมาเป็นปกติ


 


นอกจากนี้ การปรับภาษีเพิ่มครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้รายได้ของรัฐบาลมากขึ้น เพราะต้องนำเงินส่วนใหญ่ส่งให้ทีไอทีวี


 


ในเดือน ธ.ค. 2550 กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้จากภาษียาสูบที่ 3,664 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 2,629 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,035 ล้านบาท คิดเป็น 39.4%


 


ขณะที่ภาษีสุราเก็บได้ 3,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ซึ่งเก็บได้ 2,805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 315 ล้านบาท หรือ 11.2% และภาษีเบียร์ 4,701 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 5,412 ล้านบาท หรือลดลง 711 ล้านบาท คิดเป็น 13.1%


 


ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมี มติเห็นชอบให้ปรับขึ้นอัตราภาษีสุรา และยาสูบอัตราภาษีใหม่ มีผลตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 2550 ประกอบด้วย ภาษีสุราขาว และสุราผสม ปรับภาษีมาอยู่ที่ 50% ทำให้ ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นขวดละ 9-12 บาท สุราพิเศษ ประเภทบรั่นดี ปรับมาอยู่ที่ 45% ราคาขายปลีกจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0-91 บาท ส่วนบุหรี่ให้ปรับเพดานจาก 80% เป็น 90% ของมูลค่า หรือขึ้น 1-2 บาท และบุหรี่นำเข้า ซึ่งมีราคาสูงกว่าจะเพิ่มขึ้น 2-3 บาทต่อซอง


 


 


สมาคมสายฟ้า ป้องทีมงานเก่าทีไอทีวี
ขณะเดียวกันสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การเปลี่ยนผ่านทีไอทีวีสู่สถานีโทรทัศน์สาธารณะว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านทีไอทีวี ไปสู่การเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะย่อมมีผลกระทบต่อความไม่แน่นอนในการ ประกอบวิชาชีพของพนักงานทีไอทีวิจำนวนหนึ่ง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นใจและเข้าใจต่อกลุ่มพนักงานทีไอทีวี ซึ่งได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สมาคมฯ จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ทั้ง 5 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีในวันนี้ (15 ม.ค 2551) รวมทั้งผู้บริหารใหม่ของสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ได้ดำเนินการอย่างเป็นธรรมกับอดีตพนักงานเดิม โดยนำข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะของกลุ่มพนักงานและภาคประชาสังคมที่ต้องการ ให้คณะกรรมการนโยบายชั่วคราวพิจารณาดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมมาประกอบการพิจารณาด้วย


 


 


ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์สยามรัฐ, โพสต์ทูเดย์


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net