Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : ชื่อบทความเดิมคือ "ข้อสังเกตต่อคำสั่งศาลฎีกาในคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งกรณีการให้ใบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (คำสั่งที่ 35/2551)"


 


นรินทร์ อิธิสาร


 


สรุปข้อเท็จจริง


ศาลฎีกามีคำสั่งในคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตามคำสั่งที่ 35/2551 ลงวันที่ 11 มกราคม 2551 ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสามราย ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตที่ 1 จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดพรรคพลังประชาชน โดยผู้ร้องถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวใหม่ โดยให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ กับให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ร้อง


 


ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ใช้ดุลพินิจแตกต่างกันในแต่ละคดี เป็นการเลือกปฏิบัติโดยมิชอบ ขาดความเสมอภาคและเที่ยงธรรม พร้อมกับให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งระงับการเลือกตั้งใหม่และประกาศรับรองว่าผู้ร้องได้รับการเลือกตั้ง


 


ศาลฎีกาวินิจฉัย ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีนี้ต่างกับกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว โดยถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าควรมีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเสียก่อน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องว่า ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องเป็นเวลา 1 ปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่ คำวินิจฉัยของ คณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 239 วรรคหนึ่ง คำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ศาลฎีกาตรวจสอบอำนาจการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ร้องทั้งสามก่อนประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกา ผู้ร้องทั้งสามจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม


 


 


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


 


            1. หลักการคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการ


มาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ "บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้" นั่นหมายถึงรัฐธรรมนูญกำหนดรับรองสิทธิในทางศาลของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพสามารถนำคดีหรือข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของตนเองได้ ซึ่งหลักการนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐ


 


            2. ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


            มาตรา 219 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ "ให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร........ทั้งนี้ วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่ส่วนและเป็นไปโดยรวดเร็ว"


             มาตรา 239 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ


            "ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด


            ในกรณีที่ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย เมื่อศาลฎีกาได้รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าศาลจะมีคำสั่งยกคำร้อง ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งนั้นสิ้นสุดลง"


            ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 "เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้"


 


 


ข้อสังเกต


            จากคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้นมีประเด็นที่น่าสนใจตามลำดับดังนี้


 


            1. มาตรา 239 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดว่า "ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด" นั้นมีความหมายอย่างไร ?


            ในกรณีนี้ย่อมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถโต้แย้งใดๆ ได้อีกแล้วในขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือไม่สามารถโต้แย้งต่อองค์กรอื่นๆ ได้ แต่กรณีดังกล่าวไม่อาจตีความได้ว่าเป็นที่สุดจนถึงขั้นตัดสิทธิการใช้สิทธิทางศาลของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะร้องขอให้ศาลวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของคำวินิจฉัยดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ทั้งนี้เป็นไปตามการใช้การตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักการได้รับความคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการตามมาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ


 


            2. ศาลที่มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือศาลใด ?


            มาตรา 219 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าให้ศาลฎีกาเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นศาลฎีกาจึงเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในกรณีนี้


 


            3. การตีความมาตรา 239 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ตามคำสั่งศาลฎีกาสอดคล้องกับหลักนิติรัฐหรือไม่ ?


            ในกรณีนี้เห็นว่า การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 239 วรรคหนึ่ง คำร้องของผู้ร้องเป็นการร้องขอให้ศาลฎีกาตรวจสอบอำนาจการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ร้องทั้งสามก่อนประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฎีกา นั้นเป็นการวินิจฉัยตีความกฎหมายโดยยึดการตีความโดยลายลักษณ์อักษรโดยปราศจากมุมมองในเรื่องของสิทธิในทางศาลของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และการใช้การตีความกฎหมายที่เป็นระบบ


            หากพิจารณาจากกรณีนี้แล้วจะเห็นได้ว่า จากมติของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้ผู้ร้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี และให้ผู้ร้องชำระค่าเสียหายที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ร้อง เห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดจากมติดังกล่าวนั้นกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องอย่างร้ายแรง หากถือตามคำสั่งของศาลฎีกาในกรณีนี้สิทธิของผู้ร้องย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองทางศาลซึ่งเป็นการตีความที่ส่งผลประหลาด เท่ากับว่าการกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีดังกล่าวศาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ และผู้ร้องในฐานะที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิของตนไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ทั้งที่มาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวเอาไว้อย่างชัดแจ้ง


 


            ผลของมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบกับการตีความของศาลฎีกาที่ยืนยันว่ามติของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวย่อมส่งผลดังต่อไปนี้


 


            - เป็นการตีความกฎหมายที่ก่อให้เกิดผลประหลาดในการใช้การตีความกฎหมาย กรณีความแตกต่างระหว่างมาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ นั้นมีความแตกต่างกันเฉพาะแต่ในส่วนของช่วงเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเท่านั้น มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญหาได้กำหนดความแตกต่างในเรื่องสิทธิในทางศาลแต่อย่างใดไม่ หากผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้งได้รับสิทธิทางศาลแล้ว เหตุใดผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งจึงไม่ได้รับสิทธิทางศาล ประเด็นปัญหาคือรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้การได้รับความคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการในสองกรณีนี้มีความแตกต่างกันใช่หรือไม่ คำตอบที่ได้ (โดยการตีความกฎหมายไม่ให้เกิดผลประหลาด) คือ ไม่ รัฐธรรมนูญมุ่งประสงค์ให้ผู้ที่สิทธิและเสรีภาพได้รับผลกระทบสามารถนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลอย่างเท่าเทียมกัน


 


            -การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้หลุดพ้นจากการตรวจสอบควบคุมโดยองค์กรตุลาการซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ


 


            -ผลต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ถูกเพิกถอนสิทธิและการดำเนินคดีในศาลรัฐธรรมนูญเมื่อต้องมีการดำเนินคดียุบพรรคการเมือง เมื่อศาลฎีกาได้ตีความว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณีนี้เป็นที่สุดแล้วนั้น ปัญหาที่ตามมาคือศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญจะต้องผูกพันตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยถือว่ามติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุดแล้วศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบอีกไม่ได้หรือไม่เพียงใด หากคำตอบคือต้องผูกพัน คำถามที่ตามมาคือหากเป็นเช่นนั้นแล้วกฎหมายจะกำหนดขั้นตอนเพื่อให้มีการยื่นศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีอาญาและคดียุบพรรคการเมืองอีกเพื่ออะไร หากคำตอบคือไม่ต้องผูกพัน คำถามที่ตามมาคือหากผลการพิจารณาของศาลอาญาและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าผู้ถูกเพิกถอนสิทธิไม่ได้กระทำการตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติ ผลในทางกฎหมายที่ตามมาคืออะไร


ดังนั้น การที่ศาลตีความว่าคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 293 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ เป็นที่สุดแล้ว และนำมาฟ้องต่อศาลอีกไม่ได้แล้วนั้น ย่อมเป็นการไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐในส่วนของการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ


 


            4. ปัญหาว่ากรณีนี้ศาลฎีกาจะรับคำร้องในกรณีดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่ ?


            มาตรา 293 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องของการใช้สิทธิทางศาลเอาไว้ เพียงแต่กำหนดถึงความเป็นที่สุดของคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ถึงที่สุดในฝ่ายบริหาร) เท่านั้น การที่ศาลฎีกาตีความไปถึงว่าบทบัญญัตินี้ หมายถึงอำนาจ (สิทธิ) ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วยนั้น ย่อมเป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับหลักในการคุ้มครองสิทธิโดยองค์กรตุลาการที่กล่าวไว้ข้างต้น


            อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าว ได้ยกกรณีของมาตรา 293 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ มาประกอบเปรียบเทียบในทำนองที่ว่า หากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว ก็ควรจะมีการกำหนดให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเหมือนที่กำหนดไว้ในมาตรา 293 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ นั้น กรณีนี้เห็นว่า นอกจากหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ แล้วนั้น หากพิจารณามาตรา 219 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดให้อำนาจศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วนั้น ย่อมเห็นได้ว่ากรณีตามบทบัญญัติมาตรา 219 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ กำหนดรับรองอำนาจศาลฎีกาเป็นการทั่วไปในการพิจารณาวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเอาไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว


 


            แม้ว่าในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเกี่ยวกับ


- กรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนเอาไว้ในมาตรา 293 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ว่าใครมีสิทธิยื่นคำร้อง แค่ไหนเพียงใด


 


- แต่ในส่วนกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้งตามมาตรา 293 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ กรณีดังกล่าวรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้กำหนดขั้นตอนการใช้สิทธิทางศาลเอาไว้เป็นการเฉพาะเหมือนกับกรณีตามมาตรา 293 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ แต่ก็ไม่อาจจะตีความไปได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้ได้รับผลกระทบต่อสิทธิไม่มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลแต่อย่างใดไม่ เมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดเรื่องการใช้สิทธิทางศาลเอาไว้เป็นการเฉพาะกรณีจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปนั่นคือสิทธิการฟ้องคดีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 55 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นั่นคือ ศาลฎีกามีอำนาจในการพิจารณาคำร้องในกรณีดังกล่าว


 


 


สรุป


            คำสั่งที่ 35/2551 ลงวันที่ 11 มกราคม 2551 ของศาลฎีกาเป็นการใช้การตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการซึ่งเป็นหลักสำคัญในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐ


ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งกรณีที่วินิจฉัยว่าให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งย่อมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากองค์กรตุลาการในที่นี้คือศาลฎีกาทั้งนี้ตามมาตรา 28 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 219 วรรคสาม แห่งรัฐธรรมนูญฯ และมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง


การใช้อำนาจที่ไม่มีการถ่วงดุลและควบคุม ย่อมเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net