Skip to main content
sharethis

 

  
สัมภาษณ์โดย - ตติกานต์ เดชชพงศ
 
สถานีโทรทัศน์สาธารณะ TPBS (Thai Public Broadcasting Service) ออกอากาศรายการแรกไปแล้วเมื่อ17 มกราคม ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินว่าจะทำอย่างไรกับการยื่นคำร้องของพนักงานสถานี TITV แต่ในที่สุดแล้ว ศาลปกครองก็มีคำสั่ง "ไม่คุ้มครอง" บรรดาพนักงานกว่า 800 ชีวิต ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ชั่วคราวของ TPBS ก็ประกาศเดินหน้าเต็มพิกัด เปิดรับสมัครพนักงานนับร้อยตำแหน่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็น "ทีีวีสาธารณะ" อันจะนำมาซึ่งประโยชน์โดยรวมของประชาชน...
 
จากกรณีดังกล่าว "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ "หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล" ในฐานะผู้ประกาศข่าวซึ่งทำงานกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของรัฐบาล ภายใต้การควบคุมของกรมประชาสัมพันธ์ และมีบทบาทที่น่าจับตามองในฐานะสื่อมวลชนที่ก้าวข้ามจากสถานีของรัฐไปสู่สถานีโทรทัศน์เอกชน รวมถึงการอ้างอิงบทความชิ้นหนึ่งของ ม.ล.ณัฐกรณ์ ที่เผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ซึ่งพูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การยึดTITV เป็นเพียง "เกมอำนาจ" ของคนบางกลุ่มจริงหรือไม่, จุดแข็ง-จุดอ่อนของนโยบายทีวีสาธารณะคืออะไร, อนาคตของทีวีสาธารณะช่องแรกจะเป็นอย่างไร และท้ายที่สุด ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการก่อตั้งทีวีสาธารณะจริงหรือ...
 
000
 
"สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างที่เกิดกับทีไอทีวี
มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างทุนกับอำนาจเดิมๆ
ซึ่งต้องดึงอำนาจรัฐมาช่วย เพราะว่าไม่มีทุน"
 
(หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล)
 
จากบทความที่คุณเขียนลงหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (1) มีการเปรียบเทียบว่าการยึดสถานี TITV เพื่อทำเป็นทีวีสาธารณะ คือการต่อสู้ในสงครามระหว่าง "ศักดินา" และ "ทุน"
ใช่ แ่ต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับทีไอทีวีมันก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบที่สุดของสงครามนี้นะ เท่าที่ผมไล่เรียงดูคือ "ไอทีวี" ตอนที่เป็น "ทีวีเสรี" ช่วงแรกๆ กลุ่มเนชั่นกับกลุ่มของไทยพาณิชย์พยายามบริหาร แต่สัมปทานที่มี ที่ทำกันขึ้นมาในตอนนั้น มันเป็นสัมปทานที่โหดร้ายทารุณมากกับภาคเอกชนที่เข้าไปบริหาร เพราะคุณต้องให้เงินคืนกับสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีเยอะมาก ปีหนึ่งคุณต้องจ่ายพันล้านบาท ใครจะไปทำได้ เพราะฉะนั้น ทั้งเนชั่น และ SCB ต้องการถอยออกมา เพราะถ้าถือไอทีวีต่อไปก็จะเป็น NPL เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และไม่มีทางที่จะทำอะไรกับมันได้ บริษัทเดียวในตอนนั้นที่มีทุนมากพอ และกล้าพอที่จะเข้าไป รวมถึงมีเงินสดเหลือเยอะมาก ก็คือ "ชินคอร์ป" ซึ่งนั่นเป็นจังหวะที่ทักษิณก็ต้องการมีสื่ออยู่ในมือด้วย เพราะเขากำลังต้องการที่จะเป็นนายกฯ
 
สิ่งที่ผิด คือ ความต้องการของทักษิณที่จะเป็นนายกฯ แล้วดันอยากจะไปมีช่องโทรทัศน์ของตัวเอง แต่สิ่งที่ถูกในตอนนั้นคือมันไม่มีทุนไหนกล้าเข้าไปอุ้มไอทีวี เพราะถ้าเข้าไปก็จะต้องแบกรับภาระหนี้สิน ชินฯ ก็เลยเข้าไป เพราะฉะนั้น อาจจะมองได้ว่านี่คืออำนาจของ "ทุน" ซึ่งมาจากกลุ่มคนที่เติบโตขึ้นมาในยุคสิบกว่าปีที่ผ่านมา รวยขึ้นมาจากสัมปทานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น โทรคมนาคม คนที่มีทุนก็เข้าไปยึดคลื่นนี้ได้ ถ้าให้เปรียบเทียบ นั่นก็คือการ "ชกหมัดแรก" ของทุนใหม่ แล้วก็ได้คลื่นนี้มา มีสื่ออยู่ในครอบครอง ซึ่งก็จะมีอิทธิพลกับประชาชน ถ้ามองอย่างนั้นก็คือไอทีวีโดนทุนครอบงำ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ "ไม่ผิด" สำหรับผม เพราะว่าถ้าคุณไม่มีเงิน คุณทำทีวีไม่ได้ เมื่อทักษิณเข้ามาตอนนั้น สัมปทานก็ต้องแก้ให้มีรายการบันเทิงมากขึ้น ไม่งั้นมันจ่ายเงินให้สำนักปลัดนายกฯ ปีละเป็นพันล้านบาทไม่ได้ ก็แก้ไปแล้ว จบไปแล้ว ปรากฎว่าทำอีท่าไหนไม่รู้ ตอนหลังสำนักปลัดนายกรัฐมนตรีถามว่า ที่แก้สัมปทานนี่ เอาสิทธิ์ที่ไหนไปแก้ ซึ่งจริงๆ ตอนนั้น ความผิดในการแก้สัมปทานอยู่ที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เพราะสำนักปลัดฯ ไม่ได้เอาเรื่องแก้สัมปทานเข้าประชุม ครม.
 
ประเด็นคือว่่า สัมปทานไอทีวีมันถูกแก้ บริษัทไอทีวีกับสำนักปลัดนายกฯ ตกลงแล้วว่าแก้ เซ็นสัญญาจบแล้วก็หมายความว่าไอทีวีสามารถปรับผังได้ทันที เป็นบันเทิง 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เป็นข่าว 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้รายได้ไอทีวีสูงขึ้น มากพอที่จะจ่ายส่วนที่ต้องจ่ายให้กับสำนักปลัดนายกฯ ได้ในแต่ละปี คือ win-win ทั้งคู่ สำนักปลัดนายกฯ ได้รายได้เข้ามาทุกปีโดยที่บริษัทไอทีวีก็ไม่เจ๊ง ทีนี้ สำนักปลัดนายกฯ ตอนนั้นผิด ตรงที่ไม่นำเรื่องนี้เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ผมไม่รู้ว่าปลัดสำนักนายกฯ คนไหนที่ทำเรื่องตรงนี้ แต่อย่างเดียวก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนปลัดสำนักนายกฯ ก็มีการยื่นฟ้องกับศาลปกครอง นำมาสู่ค่าปรับอะไรต่างๆ โดยบอกว่า"ไอทีวีปรับผังไม่ได้" เพราะว่าเรื่องนี้สัมปทานยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้นำเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.
 
พอเป็นอย่างนี้สำนักนายกฯ ก็เลยปรับเงินไอทีวี แต่สัญญามันเซ็นว่า ต้องปรับ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าสัมปทานต่อวัน ซึ่ง 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าสัมปทานก็คือ 100 ล้าน เพราะค่าสัมปทานต่อปีต้องจ่าย 1 พันล้าน แล้ว10เปอร์เซ็นต์ของ 1 พันล้านคือ 100 ล้าน แต่เขาให้ปรับต่อวัน ก็เลยต้องเอาหนึ่งร้อยล้านมาคูณจำนวนวันที่ไอทีวีทำผิดสัญญา คนที่ห่วยก็คือคนร่างสัญญา ค่าปรับบ้าอะไร ตั้งสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วคูณจำนวนของวันอีก ทีนี้บริษัทไอทีวีก็ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ มันก็เป็นดินพอกหางหมู ค่าปรับก็สูงขึ้นๆ จนมันไม่มีทางจ่ายได้ เป็นเงินถึงแสนล้าน ตอนนั้นขายก็ไม่มีใครซื้อ เพราะค่าปรับมันมหาศาล คือมันเป็น "เกม" ตั้งแต่แรก เกมที่รู้ว่าไอทีวีทำผิดสัญญาแล้ว ก็ล็อกให้อยู่ใน situation ที่จะนำไปสู่การ "ยึดคลื่น" ให้ได้
 
เพราะอะไรถึงมองว่าเป็นความต้องการของรัฐที่จะยึดคลื่นไอทีวี หรือทีไอทีวี คืนมา
คือถ้าสำนักปลัดนายกฯ มี sense ตามปกติ ก็ต้องเลี้ยงไอทีวีให้เหมือนเป็นลูกหนี้ คือค่าปรับสูงขนาดนี้ สูงถึงแสนล้าน ถ้าคุณมีลูกหนี้หนึ่งแสนล้าน คุณต้องทำอะไรกับเขา? คุณต้องให้เขามีชีวิตต่อไป เพราะว่าเขาจะได้จ่ายคืนหนี้ให้คุณได้ในที่สุด กลวิธีตามปกติที่สำนักนายกฯ จะมองในเรื่องของรายได้ของรัฐ ก็คือต้องเลี้ยงให้ไอทีวีอยู่ต่อไป จนในที่สุดก็จ่ายค่าปรับได้ครบแสนล้านได้ คือมันต้องมีการประนีประนอมกันในเรื่องของหนี้ แต่ว่าจุดยืนของสำนักนายกฯ ตอนนี้ไม่ต้องการประนีประนอมเรื่องหนี้ เหมือนกับที่ไม่ต้องการประนีประนอมเรื่องค่าปรับ แ่ต่ต้องการที่จะปูทาง เพื่อให้ในที่สุด มันจะนำไปสู่การ "ยึดคลื่น" เพราะยึดกลับมาแล้ว เขาจะเดินยังไงต่อไปก็ได้ คือสำนักปลัดนายกฯ ไม่ใช่องค์กรทางธุรกิจ ถ้าเป็นองค์กรทางธุรกิจ เขาจะไม่มีวันทำอย่างนี้ เขาจะต้องเลี้ยงลูกหนี้ให้อยู่ต่อไป
 
โดยรวมแล้ว ผมมีปัญหากับทิศทางการบริหารประเทศใน 3 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าการที่ทักษิณเข้ามาตั้งแต่แรกเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีก็คือการคอรัปชั่น ซึ่งมันเกิดขึ้นในรัฐบาลเขา แต่สิ่งที่ดีคือ "ความเปลี่ยนแปลง" คือเขาเป็นคนเดียวที่มีศักยภาพพอที่จะดึงอำนาจจากขั้วอำนาจเดิมในประเทศ คือทหาร, เทคโนแครต, องคมนตรี...อะไรพวกนี้ ทักษิณเป็นคนเดียวที่ "กล้า" หรือ "บ้า" พอที่จะดึงอำนาจมาเพื่อ balance หรือมาถ่วงดุลกับอำนาจที่มีอยู่ ซึ่งโอเค...อำนาจนั่นมันก็ได้มาจากการที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้เขาเยอะ การที่เขามีเสน่ห์ การที่เขามีเงินเยอะ มันก็เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่เมื่อเขามาอยู่ในอำนาจ แล้วไปลุแก่อำนาจนี่ มันก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ คือที่มันมีหลายๆ โครงการโกงกันในช่วงรัฐบาลเขา ถ้ามันเกิดขึ้นอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ว่าโดยรวมแล้วมันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ "ต้องมี" ในเมืองไทย เพราะเมืองไทยมันล้าหลัง ดูอย่างการบริหารงานในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์สิ มันชัดเลยว่ามันหมดยุคไปแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างที่เกิดกับทีไอทีวี มันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่างทุนกับอำนาจเดิมๆ ซึ่งต้องดึงอำนาจรัฐมาช่วย เพราะว่าไม่มีทุน
 
000
 
"จุดที่มันเลวร้ายของ พ.ร.บ.นี้คือดันไปเขียนไว้ในกฎหมายว่า ต้องเอาคลื่นนี้เท่าันั้น
ซึ่งมันไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ต้องรีบทำขนาดนี้ คุณก็ไม่ต้องไปแย่งคลื่นนี้มา
...มันก็เลยกลายเป็นสงครามเกิดขึ้นตอนนี้ ซัดกันเละเลย"
 
การยึดไอทีวีคืนมาได้ ภาระเรื่องหนี้จะไปตกอยู่กับใคร
หนี้ที่ไอทีวีมีกับสำนักนายกฯ นี่มันหายไปเลยครับ ไม่มีการปรับอีก หรือถ้าหากอนุญาโตตุลาการจะตัดสินว่า บริษัทไอทีวีต้องจ่ายค่าปรับแสนล้านจริงๆ ฟ้องล้มละลายก็จบแล้ว เพราะเขาไม่มีเงินจ่าย แต่ผมมองภาพรวมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะยึดคลื่นคืนจากไอทีวี เพราะคลื่นๆ นี้มันไปอยู่ในมือของทุน จากมือทักษิณ แล้วขายไปให้สิงคโปร์ ก็อยู่ในมือสิงคโปร์ เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจจุดยืนของรัฐบาลว่า "ทำไมถึงต้องยึดคืนคลื่นนี้" แต่พนักงานไอทีวีเป็นเพียง collateral damage หรือคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ก็ทำงานไป แต่ก็ต้องมาได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะคลื่นนี้ ถ้าไม่ยึด มันก็คือคลื่นของสิงคโปร์ไปแล้วไง ช่องนี้เทมาเส็กเป็นเจ้าของ
 
เมื่อเป็นอย่างนั้น ที่รัฐบาลบอกว่านี่คือการ "ทวงสมบัติชาติคืน" ก็สมควรได้รับการสนับสนุน?
ผมเชื่อว่าไม่ได้รับการสนับสนุน แต่มันก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล มีความชอบธรรมในระดับหนึ่ง ที่สามารถพูดได้ในวันหนึ่ง เมื่อเรื่องนี้จบ สามารถเล่าเรื่องเป็นประวัติศาสตร์ได้ว่า คลื่นนี้มันไปอยู่ในมือของทักษิณ นอกจากนั้นทักษิณก็ขายบริษัทนี้ไปให้เทมาเส็ก พอขายให้เทมาเส็ก ช่องๆ นี้กลายเป็นช่องของคนสิงคโปร์ไปเลย เป็นช่องของรัฐบาลสิงคโปร์ไปเลย ซึ่งถ้ามองจากคอนเส็ปต์ของคนที่เป็นชาตินิยม กรณีนี้เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเอาคืน ซึ่งอันนี้เข้าใจ มีความชอบธรรม แต่วิธีที่ทำนี่มันปูทางไปสู่การยึดไง แทนที่จะเป็นปรับหรือการอะไร..มันปูทางมาสู่การที่จะบอกว่า เฮ้ย! คลื่นต้องกลับมาเป็นของเรา กลับมาเป็นของรัฐ ในช่วงทั้งหมดนี้คือการต่อสู้ระหว่างทุนใหม่กับระบบเก่า ซึ่งชาตินิยมอย่างเดียว คลื่นนี้ "ต้อง" กลับมาเป็นของรัฐ จะยังไงก็ได้ ให้ช่องมันมีรายการที่ห่วยแตกก็ช่างมัน แต่คลื่นต้องเป็นของรัฐ ของเรา ของคนไทย นั่นคือชาตินิยมเพียวๆ แล้วบังเอิญว่า ดร.สมเกีียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เข้ามาพอดี แล้วตอนนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร (เทวกุล) ก็ลาออกพอดี สูตรเดิมที่จะยึดคืนไอทีวี แล้วค่อยให้มีการประมูลทีวีคลื่นนี้ออกมาใหม่ โดยเปิดให้บริษัทเอกชนทุกรายมาประมูลเอาคลื่นนี้ออกไปบริหาร แทนที่จะเป็นบริษัทไอทีวีก็จะเป็นบริษัทอื่นๆ ซึ่งก็คือเป็นทีวีเอกชนเหมือนเดิม สูตรนี้ก็ถูกยกเลิกไป
 
ดร.สมเกียรติ เข้ามาพร้อมๆ กับ ดร.ฉลองภพ (สุสังกร์กาญจน์) ดร.ฉลองภพ ก็เดินเกมในเรื่องของภาษีบุหรี่กับภาษีสุรา ที่จะนำเงินงบประมาณมาสองพันล้าน่ต่อปี เมื่อ ดร.สมเกียรติเสนอร่าง พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะให้กับคุณหญิงทิพาวดีแล้ว คุณหญิงทิพาวดีค่อนข้างชอบ แต่ในที่สุดแล้ว คนที่ชอบก็คือนายกรัฐมนตรี พอนายกฯ ชอบ นายกฯ ไฟเขียว หลังจากนั้นเกมมันก็เดิน โดยการผ่าน พ.ร.บ.นี้ออกมา คือไม่ใช่ว่าทีวีสาธารณะเลวร้าย ทีวีสาธารณะสำหรับผมน่ะดี มันต้องมีสักช่อง แต่จุดที่มันเลวร้ายของ พ.ร.บ.นี้คือดันไปเขียนไว้ในกฎหมายว่า ต้องเอาคลื่นนี้เท่าันั้น ซึ่งมันไม่จำเป็น ถ้าคุณไม่ต้องรีบทำขนาดนี้ คุณก็ไม่ต้องไปแย่งคลื่นนี้มา แต่ด้วยความที่ไปเขียนในกฎหมายเลย ตอนหลังคุณ อรรคพล สรสุชาติ ของพรรคชาติไทย เขาก็บอกว่า ให้แก้เอาข้อความตรงนี้ออก อย่าไปเขียนว่าต้องเอาคลื่นไอทีวี จะเขียนว่าเอาคลื่นอันอื่นในอนาคตจาก กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก็ได้ คือมันมีคลื่นอีกเยอะไง ไม่ต้องรีบ แต่เขาจะเอาแต่ "คลื่นนี้" ให้ได้ มันก็เลยกลายเป็นสงครามเกิดขึ้นตอนนี้ ซัดกันเละเลย มันคือการแย่งชิงคลื่นๆ หนึ่ง ซึ่งเหมือนเขาจะรีบๆ ทำ เหมือนกับว่าถ้าเขารอคลื่นอื่นมันจะไม่ได้
 
ถ้ามองว่านี่คือผลงานชิ้นหนึ่งของรัฐบาลนี้-ที่สามารถยึดสถานีโทรทัศน์ของอำนาจเก่าคืนมาได้ แต่ขณะเดียวกัน TITV ก็เป็นสถานีที่มีความพร้อมอยู่แล้วในการผลักดันให้เป็นทีวีสาธารณะ
ผมคิดว่าคนอย่าง ดร.สมเกียรติ หรือคุณหญิงทิพาวดี เขาไม่ได้มีเจตนาอะไรอย่างนั้น เขาเป็นคนดีน่ะ แ่ต่ว่าผมไม่ได้มองในทั้ังหมดนี้ว่าใครเป็นคนเลวคนดี ผมแค่ว่าแ่ต่ละคนอยู่ในจุดที่ต่างกัน ถูกกำหนดมาโดยชะตากรรมของชีวิต ที่จะต้องมาต่อสู้กัน คือถ้านึกดูจริงๆ ทักษิณเกิดขึ้นมาเป็นคนจีนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เขาก็ทำธุรกิจสร้างตัวเองขึ้นมาให้รวย อีกฝ่ายหนึ่งก็เกิดมาเป็นลูกทหาร ถูกส่งไปเรียนโรงเรียน จปร. โตขึ้นมาเป็นทหารก็ต้องมาปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แล้วพวกที่มาร่วมในรัฐบาลสุรยุทธ์แต่ละคนนี่ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มพวกพ้องของพลเอกสุรยุทธ์ หรือพวกของทักษิณ หรือพวกของ คมช. คือเขาก็เข้ามารับตำแหน่ง แล้วบังเอิญต้องมาเจอพวกนี้ ต้องมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติ อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ในที่สุดเมืองไทยก็มาฟัดกันเองด้วยอะไรที่มันน่าตลกเหมือนกัน
 
แต่ประเด็นทีวีสาธารณะ ผมเข้าใจ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ว่าทำไมแกต้องรีบทำ เพราะว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่...อย่างน้อยๆ ทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) ก็ยังได้มีบทบาท อย่างอาจารย์ฉลองภพ แล้วในสภาเองก็เป็นสภาที่พูดคุยกันได้ ผมจึงเข้าใจว่าทำไมแกรีบผลักดัน เพราะถ้ารอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขาคงไม่เอาอันนี้ ซึ่งผมเข้าใจ แต่ว่า ความที่ไปเอาคลื่นเก่าไอทีวีมา มันก็เลยกลายเป็นการแย่งอำนาจกัน เพราะถ้าคุณมองภาพรวม ไอทีวีเคยถูกครอบงำโดยทุน ใช่ไหม แล้วในที่สุด วิถีทางเดียวที่จะสู้กับทุนได้ ก็คือการใช้ "อำนาจรัฐ" คือเป็นสิ่งเดียวที่จะฆ่าทุนได้ อย่างน้อยก็ชั่วคราว ก็ใช้อำนาจรัฐในการสั่งระงับแพร่ภาพ, ยึดทรัพย์สินมาเป็นของรัฐ และย้ายสถานที่ที่เป็นเหมือน "เมืองหลวงของไอทีวี" ก็คือตึกชิน ไปอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ของรัฐบาล มันเป็นเกมที่กลุ่มอำนาจเก่าๆ...ไม่ใช่กลุ่ม "อำนาจเก่า"นะ แต่เป็นกลุ่มอำนาจ "เก่าๆ" ซึ่งก็คือทุนเก่า คือทหาร นักการเืมืองรุ่นเก่า เขาต้องดึงกลับมาให้อยู่กับรัฐบาล ในขณะที่ทุนใหม่ ซึ่งเติบโตขึ้นมาด้วยการครอบครองอะไรไปเยอะมาก ก็แพ้ในครั้งนี้...แต่การต่อสู้จะยังดำเนินต่อไป
 
000
 
"ถ้าผมผลิตรายการห่วยๆ ออกช่อง 3
เรตติ้งไม่ดี เรตติ้งตก รายการอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็หลุด
แต่ถ้าผมผลิตรายการห่วยออกช่อง 11 หลุดไหม? ไม่หลุด
เพราะคุณไม่ต้อง accountable ซึ่งก็คือคุณไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น"
 
ปัญหาตอนนี้มันไม่ได้อยู่ที่ว่าไอทีีวีไม่ควรถูกยึด เพราะมันโดนยึดไปแล้วเรียบร้อย แต่ประเด็นมันน่าจะอยู่ที่ว่าถ้ายึดไปแล้วเราจะทำยังไงต่อไปกับการเป็นทีวีสาธารณะ TPBS
ตอนนี้ก็ได้แต่ปลงครับ คือรัฐธรรมนูญ 50 มันย่ำแย่ และที่จริงรัฐธรรมนูญ 40 จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่เราใช้ เรื่องนั้นผมปลงไปตั้งแต่คืนที่ลงประชามติแล้ว คืนนั้นผมไม่ออกโทรทัศน์เลยสักช่อง เพราะผมกลัวว่าผมจะทนไม่ได้ รัฐธรรมนูญปี 40 นี่บอกได้เลย...ถ้าผมเป็นใหญ่ ผมจะเอากลับมา แต่นี่ผมไม่รู้จะเอากลับมายังไง คือรัฐธรรมนูญ 50 นี่มันเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจาก "ประสงค์ สุ่นศิริ" ไง ซึ่งประสงค์ สุ่นศิริ ไม่น่าจะมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องแบบนี้เลย มันผิดตั้งแต่แรก ที่ปลงเรื่องที่สองคือ 111 คนถูกแบนนี่ยังไงมันก็ไม่แฟร์ และสามคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมันหายไป แล้วเรื่องนี้มัน "อาจจะเกิดขึ้นอีก" ก็ได้ เพราะอำนาจมันไปอยู่ที่ศาลเยอะมาก จนในที่สุดแล้วศาล "ดูเหมือนว่า" จะมีอำนาจที่จะยกเลิกการเลือกตั้ง ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครไปเอาระบบนี้มา เพราะสำหรับผม ไม่มีทางที่ศาลจะมีสิทธิ์ยกเลิกผลการเลือกตั้ง
 
ผลการเลือกตั้งมันคืออำนาจอธิปไตยของคนไทยที่เลือกคนมา ศาลจะยกเลิกผลการเลือกตั้งได้นี่มันจะต้องอยู่ในขั้นวิกฤตแบบสุดๆ น่ะ การเลือกตั้งต้องโกงหมดทุกเขต ต้องโกงกันแบบว่า..เกินครึ่ง ศาลถึงจะยกเลิกการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้น่ากลัวมาก อยู่ดีๆ ศาลกลายเป็นผู้มีอำนาจมากขนาดที่สั่งยกเลิกการเลือกตั้งได้บ่อยขนาดนี้ แล้วคนก็ไปเรียกร้องกันตลอด ไม่ไหว ผมปลงมาหลายเืรื่องแล้ว เพราะฉะนั้นพอมาถึงเรื่องไอทีวีเลยปลงว่า มองไปข้างหน้า ทีวีช่องนี้จะเป็นทีวีสาธารณะ ก็เป็นไป ซึ่งมันก็จะเป็นเวทีให้กับคนที่ถูกกีดกันหรือ marginalize ในยุคทักษิณ คนที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในยุคทักษิณก็อาจจะมีสิทธิ์มีเสียงผ่าน TPBS นี้...ก็โอเค ก็ดี ส่วนกลุ่มไอทีวีเดิม ผมคิดว่าเขาจะต้องรอจังหวะให้มี กสทช. แล้วไปขอคลื่นมาบริหารใหม่ อาจจะร่วมกันกับบริษัทของเอกชน อย่างกันตนาหรืออะไรพวกนี้ เขารวมกลุ่มกันได้ แล้วก็ไปขอคลื่นมาใหม่ แต่ว่าเรายังไม่มีคณะกรรมการ กสทช.ไง พวกนี้เขาก็เลยต้องเหมือนกับว่าพักงานตัวเองไปชั่วคราว แต่ว่าช่องทีวีสาธารณะนี้ก็คงจะกลายไปเป็นเหมือนช่อง 11 หรือไม่ก็อยู่ระหว่างช่อง 11 กับช่อง 9 ซึ่งผมไม่ได้ว่าช่อง 11 ไม่ดีนะ...
 
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานแบบช่อง 11 มันไม่ใช่การทำงานเชิงรุก และไม่แน่ว่าทีวีสาธารณะแบบนี้จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าไปร่วมได้จริง
อย่างช่อง 11 น่ะ มีก็ดีแล้ว แต่มีช่องเดียวพอ ไม่ควรมีซ้ำซ้อน คอนเส็ปต์ทีวีสาธารณะนี่มันใช้การได้แต่ในกระดาษเท่าันั้นแหละ มันไม่เวิร์กในความเป็นจริงที่เป็นอยู่ของเมืองไทยในตอนนี้ อย่างผมนี่ ถ้าผมผลิตรายการ ผมต้องมี accountability หรือต้องรับผิดชอบต่อใคร? ถ้าผมผลิตรายการห่วยๆ ออกช่อง 3 เรตติ้งไม่ดี เรตติ้งตก รายการอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็หลุด แต่ถ้าผมผลิตรายการห่วยออกช่อง 11 หลุดไหม? ไม่หลุด เพราะคุณไม่ต้อง accountable ซึ่งก็คือคุณไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น แล้วกับทีวีสาธารณะนี่ สมมติว่าผมผลิตรายการ ก็ต้องไปเสนอต่อคณะกรรมการฯ ซึ่งก็คือนักวิชาการต่างๆ มันต้องมีฝ่ายการตลาด marketingอะไรไหม? ก็ไม่ต้องเลย เพราะคุณได้เงินสองพันล้านอยู่แล้วทุกปี แต่ถ้าผมไปมี accountable กับนักวิชาการ9 คนที่มานั่งเป็นคณะกรรมการฯ อยู่นี่ ก็หมายความว่าผมไม่ได้ accountable กับคนดูนะ ผม accountableกับคณะกรรมการ เหมือนอย่างช่อง 11 คือช่อง 11 ก็มีรายการดีๆ อยู่ แต่ต่อให้คุณผลิตรายการห่วยแตกออกช่อง 11 มีใครว่าอะไรไหม? ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น "ทุน" ดีกว่า "รัฐ" อยู่เสมอ แต่ทีนี้ถ้าทุนไปอยู่ที่คนๆ เดียวจะเป็นปัญหา เพราะว่ามันผูกขาดไปอยู่ที่คนๆ เดียว ซึ่งมันก็มีจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกัน
 
000
 
"ตอนนี้เราเหลืออย่างเดียวที่ยังไม่เกิดคือ "สงครามกลางกรุง"
คือสื่อก็ยังซัดกันเองหมดเลย ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ประชาชนจงไปเลือกตั้ง
แต่ผลการเลือกตั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการเคารพ"
 
จุดอ่อนของทีวีสาธารณะคือ?
อันที่หนึ่งที่พูดไปแล้วคือไม่มี accountability กับคนดู เพราะว่า accountability กับสาธารณชนมันเป็นสิ่งที่พูดได้แต่ในความฝัน มันไม่มีจริง การมี accountability กับประชาชนนั่นคือการที่รายการอยู่ได้เพราะเรตติ้งดี คือทีวีสาธารณะต้องทำเพื่อประชาชนใช่ไหม เพื่อให้คนได้ชมรายการที่ดีสำหรับประชาชน คอนเส็ปต์นั้นมันก็คือคอนเส็ปต์ทีวีพาณิชย์นั่นแหละ คือการทำในสิ่งที่คนอยากดู แต่ว่าทีวีพาณิชย์มันก็อาจจะโอเว่อร์เกินไปในเรื่องละคร-เกมโชว์ แต่ทีวีสาธารณะนี่ ถ้ายึดว่าทำเพื่อประชาชน คุณจะไม่ดูเรตติ้งเลยมันก็ไม่ได้
 
ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงให้ TPBS ต่างจากช่อง 11
ต้องให้ผู้ผลิตเป็น "มืออาชีพ" ผมมีคอนเส็ปต์ที่คิดว่าเราควรจะทำกันตอนนี้ แต่คงทำกันไม่ได้หรอก ผมอยากให้มีช่องสมานฉันท์ ผมตั้งชื่อไว้ว่า National Reconciliation Channel หรือ NRC คือถ้า TPBS มันไม่พร้อม ผมว่าคนที่ผลิตรายการโทรทัศน์ที่เก่งทีุ่สุดในประเทศไทยมีอยู่ 2 เครือ คือ "ผู้จัดการ" กับ "เนชั่น" ถ้าผมมีเวลานะ ผมจะเปิดเลย ให้เขายิงสัญญาณมา สามชั่วโมงให้ ASTV สามชั่วโมงให้ PTV สามชั่วโมงให้เนชั่น สามชั่วโมงให้เครือโพสต์ เพราะโพสต์นี่เขาก็มีข่าว อีกสามชั่วโมงให้ไอทีวีเก่า อีกหกชั่วโมงที่เหลือแบ่งกันไปเลย ให้ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 ส่งคนมาเป็นตัวแทน นี่คือช่องแห่งความสมานฉันท์ เพราะตอนนี้สื่อฟัดกันเองพอๆ กับนักการเมืองเลย ผู้จัดการทะเลาะกับโพสต์ ผู้จัดการทะเลาะกับไทยรัฐ ทะเลาะกับเนชั่นด้วยหรือเปล่า? ก็ดูเหมือนเป็นอย่างนั้น แต่โมเดลอันนี้มันไม่เกิดหรอก มันเป็นไปไม่ได้
 
ที่ผ่านมา ASTV หรือ เนชั่น ก็มีช่องทางของตัวเองอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
ผมคิดว่าอย่าง ASTV หรือ PTV เขาต้องการมีเวทีที่คนดูไง แต่อย่าง TPBS นี่มันไม่มีความพร้อมในการผลิตอยู่แล้ว ยกเว้นว่ามีการเตรียมมาก่อน เพราะอยู่ดีๆ คุณจะทำสถานีขึ้นมาสักแห่ง มันต้องมีอะไรเยอะมาก เอาแค่ฉากก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว ถ้าจะทำให้ดี คืออย่างวันนี้ (วันสัมภาษณ์ 17 มกราคม) คุณนาตยา แวววีรคุปต์ที่อยู่ไอทีวีเก่าก็ทำรายการออกฉายที่ TPBS แล้วนะ คือกบฎไอทีวีเก่าได้กลับไป เรื่องนี้เป็นเหมือนมหากาพย์เลย
 
มหากาพย์แห่งการชิงอำนาจ?
เหมือนอย่างนั้นเลย แต่มันยังไม่จบ เพราะมันจะมีการเอาคืนอีกรอบ เพราะที่ผ่านมา ทุนใหม่ลุกขึ้นมายึดครอง แล้วตอนนี้ศักดินายึดกลับ แต่ยึดกลับโดยไม่ได้สร้างศรัทธากับประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งในที่สุดแล้ว ในอนาคต ยังไงๆ พลังของประชาชนมันยังมีอยู่ และมันจะมีการเอาคืนอีกรอบหนึ่งจากทุนใหม่ ทีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า เมื่อทุนใหม่พยายามเอาคืนอีกรอบหนึ่ง ศักดินาเก่าจะทำอะไร ทางเดียวก็คือต้อง "กำจัด" ให้ทุนหายไปเลย เพราะฉะนั้นสงครามนี้ระหว่างศักดินากับทุนใหม่จะรุนแรงขึ้น ครั้งนี้ ศักดินาปฏิวัติรัฐประหาร-เอาคืน ทุนใหม่ทนไม่ได้ ต้องกลับมาพยายามเอาคืนอีกรอบ และนั่นจะเป็นจุดจบของทุนใหม่ เพราะว่าครั้งต่อไป คุณจะไม่เหลือ เพราะถึงที่สุดแล้ว อำนาจที่จะยิ่งใหญ่กว่าประชาชน..ซึ่งน่าเสียดายที่มันเป็นความจริงในการบริหารประเทศ..มันคือ "อำนาจรัฐ" และ "อำนาจทหาร" ตอนนี้เราเหลืออย่างเดียวที่ยังไม่เกิดคือ "สงครามกลางกรุง" คือสื่อก็ยังซัดกันเองหมดเลย ประชาชนไม่มีสิทธิ์ ประชาชนจงไปเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้ง 3ครั้งที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการเคารพ
 
เลือกตั้งเมื่อปี 2548 ตอนเดือนกุมภาฯ ไทยรักไทยชนะถล่มทลาย แต่ทักษิณยุบสภา ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ได้รับการเคารพ เสียงประชาชนถูกตบหน้าครั้งที่หนึ่ง เลือกตั้งที่ศาลปกครองให้เป็นโมฆะ เสียงประชาชนถูกตบหน้าเป็นครั้งที่สอง เลือกตั้งครั้งนี้ครั้งที่สาม ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น แต่เสียงประชาชนอาจถูกตบหน้าเป็นครั้งที่สาม เพราะฉะนั้นคือ..ประชาชนเลือกตั้งมา แต่ถ้าอำนาจอยู่ที่ทหารกับอยู่ที่ศาล ในที่สุดแล้วประชาชนก็ถูกปราบได้ เราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ คือแบบที่พลังของประชาชนไม่สามารถถูกปราบได้ แต่ถ้ามองไปข้างหน้าก็อย่าไปซีเรียสอะไรมาก มันเป็นองค์ประกอบของประเทศไทย ซึ่งเราก็มีขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากประเทศอื่น และเรากำลังพัฒนาไง คือเราก็ยังดีกว่าปากีสถานหรือเคนยา แต่ว่าบังเอิญเรื่องนี้มันแย่ คือถ้ามี กสทช.ตั้งนานแล้ว ก็ไม่ต้องมาแย่งคลื่นโทรทัศน์กัน
 
ถึงยังไงการแสดงจุดยืนของสื่อก็น่าจะยังจำเป็น อย่างกรณีกบฎไอทีวีที่ไม่ยอมรับอำนาจทุน สุดท้ายพวกเขาก็ได้กลับเข้าไปทำงานกับทีวีสาธารณะที่ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับทุน
จริงๆ ผมถือว่า...กบฎไอทีวีดันมองโลกแล้วไปคิดว่าอำนาจทุนเป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับผมแล้ว ทีวีที่ดีมันต้องบริหารด้วยอำนาจของทุนไง แต่การเกิดกบฎไอทีวีนี่ผมก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่ทุนธรรมดา บังเิอิญว่ามันเป็นทุนของทักษิณ ถ้าเป็นทุนของบริษัทๆ หนึ่ง แทนที่จะเป็นทุนของคนๆ เดียวเข้ามาเป็นเจ้าของ ก็คงไม่เป็นไรมาก แต่นี่คือทุนของคนที่จะมาเป็นนายกฯ ซึ่งกำลังจะมีบทบาทที่สำคัญทางการเมือง ผมจึงเข้าใจว่ากบฎไอทีวีต้องออกไป เพราะเจ้าของใหม่คือทักษิณ ซึ่งถ้าอย่างนั้นผมเข้าใจจุดยืน แต่คุณหนีอำนาจทุนไม่ได้ ยกเว้น คุณต้องมีอำนาจรัฐมาช่วย ซึ่งครั้งนี้คุณมีอำนาจรัฐมาช่วย แต่ถึงที่สุดแล้ว ในชีวิิตนี้คุณก็จะเจออยู่อย่างนี้แหละ ไม่ทุนก็รัฐ แต่ว่าโอเค..ในสายตาผม "อำนาจทุน" ปลอดภัยกว่า "อำนาจรัฐ" แต่ในคอนเส็ปต์ของทหาร ของรัฐบาล ของศักดินา ทุน "ไม่ปลอดภัย" กับรัฐ
 
ถึงที่สุดแล้ว "สนธิ ลิ้มทองกุล" เก่งมาก เนชั่นก็เก่ง "สุทธิชัย หยุ่น" เก่งมากในการผลิตข่าว แต่สิ่งที่ตลกคือสองคนนี้ถูกดันออกไปอยู่นอกกรอบในยุคทักษิณ แล้วสองช่องนี้ก็มีบทบาทมากในการทำให้คนในกรุงเทพออกมาประท้วง คนเชื่อว่าสามารถโค่นทักษิณได้ แต่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป ไอ้ตรงนี้ก็ถูกดันออกไปอยู่ข้างนอกอยู่ดี และถ้าปล่อยให้เขาอยู่ข้างนอกต่อจะเป็นปัญหา เพราะประเด็นคือว่า อย่างรัฐบาลสุรยุทธ์ที่ขึ้นมา ก็ถูกสื่อทุกสำนักด่าเหมือนกัน ตอนนี้ปัญหามันอยู่ที่สื่อ คือสื่อมันไม่แฮปปี้กับสถานการณ์ในประเทศไง แ่ต่การรัฐประหารครั้งนี้ ผู้จัดการก็แห้ว เนชั่นครั้งนี้ก็แห้ว ส่วนเทพชัย หย่อง เขาไปได้ด้วยตัวเขาเอง ไม่เกี่ยวกับเนชั่น ถึงดูเหมือนว่าสนธิ ลิ้มฯ จะได้ประโยชน์จากการปฏิวัติ แต่ก็ไม่ได้เลยนะครับ เพราะฉะนั้น ผมก็เลยคิดว่า คนที่อยู่ภายนอกที่ถูก marginalize ควรจะมีขบวนการที่ดึงพวกเขากลับมา
 
ถ้าคนถูก marginalize แล้วปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้นต่อไป เขาก็จะฟัดรัฐบาลต่อไป ไม่ว่าจะกี่รัฐบาล คือถ้าพูดถึงฝ่ายสื่อที่โค่นทักษิณน่ะ ตอนนี้เขาก็ไม่ได้อะไร ในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่ process ไปสู่กระบวนการที่เขาต้องโทษรัฐบาลต่อไปอยู่ดี ผมคิดว่าสื่อหนังสือพิมพ์เยอะเลยที่รู้สึกว่าถูกกีดกันในสังคม ไม่รู้เพราะอะไรนะ อาจจะเป็นเพราะตัวเจ้าของสื่อหรือหนังสือพิมพ์เอง ความที่เป็นอย่างนั้น เขาก็เลยรู้สึกว่าเขาต้องเป็นศัตรูกับรัฐบาล เมื่อสื่อใหญ่ๆ ที่มีอิทธิพลกับประชาชนเป็นศัตรูกับรัฐบาล เขาก็ต้องพยายามโค่นรัฐบาล พวกทหารที่เฝ้ามองอยู่ก็ชอบฉวยโอกาส มันเลยเป็นวัฎจักรอย่างนี้
 
สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ ไทยโพสต์ เมเนเจอร์ เนชั่น ต่างๆ ต้องเลิกมองว่าตัวเองมีบทบาทในการเป็นศัตรูรัฐบาล เพราะมันไม่ใช่การตรวจสอบนะ มันคือการปลุกระดมคนให้เตรียมโค่น คืออย่างนี้...การเขียนบทความวิเคราะห์การทำงานของรัฐ แฉการคอรัปชั่น พวกนี้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าทำโดยมีกลยุทธ์โดยรวมเพื่อที่จะโค่นล้มรัฐบาล อันนี้มันก็คืออคติแล้ว ถ้าสื่อใหญ่ๆ เป็นอย่างนี้ก็อยู่ไม่ได้
 
000
 
"สิ่งที่คุณจะทำ..คือการไปคัดหา "สภาประชาชน" มาประเมินคุณภาพรายการ
เสร็จแล้วคุณจะให้คณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ 9 คนของคุณมาพิจารณาอีกที
ถามว่ามันได้ตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือ?
มันอาจจะได้ แต่คงคล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต"
 
ข้อตกลงอันหนึ่งในนโยบายทีวีสาธารณะ บอกว่าจะเปิดให้มีการตั้ง "สภาประชาชน" ร่วมประเมินและตรวจสอบบทบาทของสถานีได้
ผมไม่เชื่อในทั้งหมดนี้ มันทำได้แค่ในกระดาษ on paper มันไม่มีอะไรอย่างนั้น การคัดประชาชนมา เพื่อมาประเมินการดำเนินรายการ คุณจะไปคัดชาวนามาไหม? ก็คงไม่ มันตลก ทำไม่ได้หรอก สิ่งที่จะประเมินได้ก็คือคุณทำรายการออกมา แล้วก็ดู feedback คุณทำ survey อย่างที่ประเทศพัฒนาเขาทำกัน คือทำรายการแล้วก็ต้องเช็คเรตติ้ง คุณต้องส่งคนไปประเมินผลตอบรับ แต่นี่..สิ่งที่คุณจะทำ..คือการไปคัดหา "สภาประชาชน"มาประเมินคุณภาพรายการ เสร็จแล้วคุณจะให้คณะกรรมการที่เป็นนักวิชาการ 9 คนของคุณมาพิจารณาอีกที ถามว่ามันได้ตามที่ประชาชนต้องการจริงๆ หรือ? มันอาจจะได้ แต่คงคล้ายกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต ซึ่งเราอยู่ในอีกโลกหนึ่งแล้วนะ ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่ต้องมีวิธีบริหารงานเหมือนอย่างที่ไอทีวีเคยบริหาร แบบช่อง 3 บริหาร แบบช่อง 7 บริหาร
 
กรณีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จและถูกยกให้เป็นต้นแบบทีวีสาธารณะที่สามารถทำได้ในความเป็นจริง
ในกรณีของ BBC ผมคิดว่าประเทศแบบนั้นเขามีสิทธิ์ที่จะมีช่องเหล่านั้น เพราะว่าช่องอื่นๆ มันพัฒนาไปจนสุดโคตรแล้วไง ช่องอื่นๆ มันมีคุณภาพดีเยี่ยมจนคนดูแล้วรู้สึกว่า มีแบบนี้สักช่อง (ทีวีสาธารณะ) ก็ไม่เป็นไร แต่ของเรานี่คือ…ช่องที่ดีๆ มันยังมีไม่กี่ช่องเอง เราอย่าเพิ่งมีช่องไม่ดีเพิ่มขึ้นมาอีกช่องจะดีกว่า แต่ผมไม่ได้ว่าTPBS มันจะไม่ดี แต่ประเด็นก็คือว่า มันจะมาแทนไอทีวี ซึ่งมันไม่มีทางแทนได้ เพราะไอทีวีบริหารด้วยทุน ซึ่งในที่สุดแล้วมันเวิร์กที่สุด คุณดูอย่างช่อง 3 ช่อง 7 ที่เรตติ้งเยอะๆ ขนาดช่อง 3 หันมาทำข่าว ประสบการณ์อาจจะสู้ช่องอื่นไม่ได้ แต่พอทำออกมา คนก็ดูข่าวช่อง 3 เยอะแยะ เพราะมันขึ้นอยู่ที่การบริหาร แต่ TPBSไม่มีทางบริหารได้อย่างที่ควรจะเป็น คือไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน เพราะถึงที่สุดแล้วมันยังต้องยึดโยงอยู่กับรัฐบาล
 
ตอนที่ช่องนี้เป็นไอทีวี มันดีอยู่แล้ว เพราะมันไฮเทค มันมีเทคโนโลยี มันมีเงิน มีความพร้อม ทีมงานตั้งใจ และมันมีความรับผิดชอบต่อคนดู โดยอาศัยเรตติ้งชี้วัด ข่าวต้องมีคนดู ต้องเรตติ้งดี มันมีการบริหารที่มีความเป็น"มืออาชีพ" Professional Business มีไดเร็กชั่น มีการทำมาร์เก็ตติ้ง มีการทำโฆษณา มีเม็ดเงินเข้ามา มีความต้องการที่จะแข่งขันกับช่อง 9 ช่อง 3 มีความพยายามที่ต้องการจะทำให้ดีกว่าช่อง 5 ช่อง 7 อะำไรอย่างนี้ แ่ต่พอเป็น TPBS มันไม่ต้องแข่งขันแล้ว มันมีงบสองพันล้านต่อปี แล้วงบนี้มัน accountability ต่อใคร ในเอกสารบอกว่างบนี้ต้อง accountability กับคณะกรรมการ แล้วมันยังไง ก็เหมือนกับที่อยู่ดีๆ ก็มีการเปลี่ยนจากเลือกตั้ง ส.ว.มาเป็นการแ่ต่งตั้ง ส.ว.นั่นแหละ มันย้อนยุคกลับไปเป็น 20 ปี ซึ่งจริงๆ ทีวีสาธารณะมันก็มีได้ แต่มันไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปยึดไอทีวีมา เพราะในความคิดของผม สิ่งที่ตอบสนองความต้องการของคนดูมากที่สุดคือทีวีพาณิชย์ มันเป็นสูตรที่ตอบสนองทุกอย่างในสังคม
 
การแข่งขันเพื่อทำกำไรของทีวีพาณิชย์ จะทำให้รายการบันเทิงมีสัดส่วนที่สูงกว่ารายการเชิงสาระ เพราะคนดูส่วนใหญ่ชอบ แล้วความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากให้มีเรื่องที่เป็นสาระก็จะถูกกีดกันออกไปอีกอยู่ดี
ใช่ ถูกต้อง อันนั้นก็ต้องมีทีวีสาธารณะนี่แหละ แ่ต่ัมันไม่ควรจะมาแทนช่องที่ดีอยู่แล้ว อย่างถ้าคุณเปิด TPBSขึ้นมา แล้วคุณเปิดช่อง 3 ตอนนี้ ทีวีพาณิชย์มันให้สาระคุณมากกว่าแล้ว ในความเป็นจริง เมื่อผลิตออกมาแล้ว มันต้องให้คนดูตัดสิน เหมือนอย่างทฤษฎีสังคมนิยมนี่นะ ในทางทฤษฎีมันเพอร์เฟ็กต์ ดูดีมาก ทุกคนเท่าเทียมกัน แต่ในการปฏิบัติมันทำไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่สงครามเย็นจบลงตรงที่สหรัฐฯ ชนะ ทุนนิยมชนะสังคมนิยมไง มันก็เหมือนกัน จริงๆ แล้วนโยบายทีวีสาธารณะมันก็ยึดโยงกับแนวคิดที่ค่อนข้างจะเป็นสังคมนิยม ทีนี้มันไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ แต่ว่ามันเป็นทฤษฎีที่พิสูจน์ว่ามันทำได้จริงและทำได้ดี แค่ในไม่กี่ประเทศเท่านั้น คนจะยกตัวอย่าง BBC ตลอด แต่ที่อังกฤษนี่สถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ มันก้าวหน้าไปมากแล้วไง บีบีซีมันเป็นเทคโนโลยีของประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ซึ่งไทยยังไปไม่ถึง ถ้าสมมติว่าไทยเราพัฒนาไปถึงขั้นอังกฤษแล้ว ทีวีพาณิชย์อื่นๆ ก็เข้าขั้นสุดยอดไปแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นถ้าถึงเวลานั้นแล้ว การมีทีวีสาธารณะก็คงจะใช้ได้ เหมือนอย่างบีบีซีไง ก็คือใช้ได้ นี่คือมองภาพรวมนะ
 
ในสถานการณ์ตอนนี้ ถ้าคุณเป็นพนักงานไอทีวีจะทำอย่างไร
ก็คงต้องคุยกับทุกคน แล้วรวมกันว่าจะไม่ไปสมัครทีพีบีเอส เพราะว่ากลยุทธ์ที่เขาทำกับไอทีวีครั้งนี้เหมือนกับที่ทำกับไทยรักไทย คือต้องการทุบแล้วให้แต่ละคนกระจายไปอยู่พรรคอื่น แล้วก็ค่อยๆ กระจายไปสมัครทีพีบีเอสทีละคน "Divide and Conquer" แยกกันไม่ให้มีความเป็นปึกแผ่น เพราะฉะนั้นที่ต้องทำก็คือ "การรวมกลุ่ม" เสร็จแล้วก็รอ กสทช.เพื่อไปขอคลื่นใหม่ และทำช่องใหม่ด้วยกัน แต่คงต้องรอไปอีกปีสองปี เพราะเราดันไม่มี กสทช.ซึ่งเป็นความทุเรศของประเทศนี้ที่ไม่มีองค์กรพวกนี้ เพราะอะไร เพราะดันไปฉีกรัฐธรรมนูญ และเพราะ ส.ว.บางกลุ่มที่ไปยื่นคัดค้านทุกครั้งที่จะมี กสทช. จนในที่สุดกี่ปีผ่านไปก็ไม่มี กสทช. แล้วก็โดนรัฐประหารพอดี ต้องรอกันต่อไป แต่ในขณะที่รอ คุณต้องไปทำงานอย่างอื่นก่อน แ่ต่ัวันหนึ่งถ้าจะเอาคืน คุณต้องเอาคืนด้วยการทำช่องใหม่ แต่ต้องอยู่กับบริษัทไหนสักอันหนึ่งนะ แล้วไปขอคลื่น ต้องมองในระยะยาว เพราะนี่คือความพ่ายแพ้ระยะสั้น ถึงที่สุดแล้วมันก็จะมี กสทช. ก็ไปขอคลื่นมาบริหารใหม่ อย่างน้อยคุณก็อาจจะหัวเราะเยาะได้ถ้า TPBS มันทำแล้วห่วย ซึ่ง TPBS มันยาก จนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ได้อย่างที่ไอทีวีเคยทำมา...หมายถึงเรื่องเรตติ้งนะ
 
 
หมายเหตุ:
 
(1) บทความ TITV: Proxy battle of a greater war ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 17มกราคม พ.ศ.2551
(2) ข้อความในวงเล็บโดย "ประชาไท"
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net