Skip to main content
sharethis

ระบุไม่มีพันธะผูกพัน ระหว่างพนักงานทีไอทีวี-ทีวีสาธารณะ


กรณีที่ทางทีมผู้บริหารของ ทีไอทีวี ได้ตีความคำสั่งศาลปกครองออกมาเบื้องต้นว่า พนักงานทีไอทีวี ถือเป็นพันธะผูกพันที่ทางทีวีสาธารณะต้องรับไว้ด้วยนั้น ทางคณะกรรมการฯ ชั่วคราว ได้มีการปรึกษากับทางฝ่ายกฏหมายของกรมประชาสัมพันธ์ โดยสรุปได้ว่า พนักงานทีไอทีวี ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพันธะผูกพัน


         


นายณรงค์ ใจหาญ คณะกรรมการนโยบายฯ ชั่วคราว กล่าวว่า วานนี้ได้มีการประชุมปรึกษากับฝ่ายกฏหมายของทางกรมประชาสัมพันธ์ โดยได้นำเอาสัญญาการว่าจ้าง ฉบับต่อสัญญาการทำงานที่พนักงานทีไอทีวี ทำไว้กับทางกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีกำหนดหมดสัญญาในวันที่ 31 ม.ค.นี้ โดยในสัญญาในข้อ 12. ได้กล่าวไว้ว่า หากมีการเปลี่ยนแปลง หรือ มีกฏหมายทีวีสาธารณะเกิดขึ้น สัญญาการว่าจ้างดังกล่าวถือว่าสิ้นสุดลงทันที ดังนั้นในทางกฏหมาย จึงสามารถแปลความได้ว่า


         


จากสัญญาข้อ 12 นี้ ส่งผลให้ พนักงานทีไอทีวี จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพันธะผูกพัน ที่ทางกรมประชาสัมพันธ์ต้องส่งมอบให้ทางทีวีสาธารณะ โดยคณะกรรมการจะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง ในเรื่องของการประกาศแจ้งให้พนักงานทีไอทีวี ทราบถึงการตีความของฝ่ายกฏหมายของกรมประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการฯ ชั่วคราวครั้งนี้ให้เร็วที่สุด


         


ส่วนการรับสมัครพนักงาน ได้เปิดกว้างให้ทั้งบุคคลทั่วไปและพนักงานทีไอทืวี ซึ่งเบื้องต้นไม่สามารถบอกได้ว่าจะรับสมัครพนักงานได้ในจำนวนทั้งสิ้นกี่คน ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. จะประกาศให้ทราบผลผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นพนักงานชั่วคราว


         


นายกิจปรีดา โอสถานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรบุคคล ทีไอทีวี ได้เดินทางมายังกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อมอบเอกสารให้นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานเดิมของ ทีไอทีวี เพื่อมอบให้กับทางคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวฯ นำไปประกอบการพิจารณาในการวางรูปแบบการทำงานของ ไทยพีบีเอส


         


 


อดีตพนักงานทีไอทีวี กว่า 200 แห่สมัคร "ไทยพีบีเอส"


สำหรับความเคลื่อนไหวของการรับสมัครงานไทยพีบีเอส เมื่อวานนี้ (18 ม.ค.) เป็นวันที่ 3 พบว่ายังคงมีผู้สนใจมาสมัครงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตำแหน่งงานที่มีผู้สนใจสมัครมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ คือ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าว และ พิธีกรดำเนินรายการ


         


ทั้งนี้ กลุ่มอดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีกว่า 200 คน นำโดย นายจอม เพชรประดับ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารฝ่ายข่าว และผู้จัดรายการ "ตัวจริงชัดเจน" สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี พร้อมกลุ่มพนักงานได้เดินทางมาโดยรถโดยสารยูโรปรับอากาศ สาย 543 ที่เหมาเช่ามาโดยเฉพาะจำนวน 3 คัน เพื่อเข้ายื่นใบสมัครเข้าเป็นพนักงานชั่วคราว


 


นายจอม กล่าวว่า ภายหลังยื่นใบสมัครเข้าเป็นพนักงานชั่วคราวของสถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอสแล้ว และขอเข้าพบคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือทีพีบีเอส เพื่อหารือถึงการรับสมัครอดีตพนักงานทีไอทีวี เข้าเป็นพนักงาน ซึ่งมองว่าหากพิจารณาถึงข้อจำกัดในด้านเวลาที่สถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอสจำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตรายการออกอากาศได้ทันวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ รวมถึงในหลักการแล้ว สถานีโทรทัศน์ต้องเน้นรายการข่าว ตนมองว่าควรให้โอกาสทีมพนักงานทีไอทีวี ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการผลิตรายการข่าวสูง เข้าทำงานทั้งทีม จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ได้



 


รับฟังความเห็น รายการเด็ก


ยันทุกรายการโปร่งใส ไม่มี "เจ้าพ่อ-เจ้าแม่" ประจำช่อง


ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับรายการสำหรับเด็กและครอบครัวในสถานีโทรทัศน์สาธารณะ โดยนายเทพชัย หย่อง นายขวัญสรวง อติโพธิ และนางนวลน้อย ตรีรัตน์ กรรมการนโยบายชั่วคราว เข้าร่วมรับฟังความเห็นจากผู้ผลิตรายการสำหรับเด็ก อาทิ นางภัทรวดี มีชูธน เจ้าของภัทราวดีเธียเตอร์ จำกัด บริษัท ป่าใหญ่ครีเอชั่นจำกัด ผู้ผลิตรายการทุ่งแสงตะวัน บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด ผู้ผลิตรายการกบนอกกะลา นางภัทรจารีย์ อัยศิริ ผู้ผลิตรายการเห็ดหรรษา หรือน้านิด ผึ้งน้อย และผู้ผลิตรายย่อย เข้าร่วมกว่า 50 ราย



 


นายเทพชัย หย่อง รักษาการผู้อำนวยการสถานี ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า รายการโทรทัศน์สาธารณะต้องไม่อิงผลกำไรทางธุรกิจ และต้องมีคุณภาพ โดยต้องได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ คือมีงบประมาณให้เพื่อมีแรงจูงใจ หากอนาคตกรรมการใหม่มาลดเวลา หรือ การเมืองเข้ามาแทรก หากเป็นรายการที่คนในสังคมหวงแหน ก็จะเกิดแรงต้าน หรือ การออกมาร่วมปกป้อง แต่ขณะนี้คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว เข้าทำงานเพียง 2 วันเศษเท่านั้น จึงต้องเริ่มทยอยรับคนให้เร็วที่สุด ซึ่งคาดว่า ต้นสัปดาห์ก็จะเริ่มรับคนได้แล้ว กรรมการก็จะสรุปกรอบนโยบายที่เปิดกว้างให้มากที่สุด


         


"รูปแบบของรายการโทรทัศน์สาธารณะ ต้องมีความหลากหลาย โดยรายการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ดี คือ มีสาระ สนุก ดูได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ มีรายการกีฬา ท้องถิ่น สุขภาพ และครอบครัว รวมถึงรายการข่าวที่นำเสนอต่างจากสถานีอื่นๆ เนื่องจากข่าวทุกวันนี้ มีเนื้อหาคล้ายกัน เพราะกล้อง และนักข่าวกระจุกอยู่ที่ส่วนกลางกว่า 90% ทำหน้าที่ตามนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบุคคลสำคัญของพรรคการเมือง จึงมีคนพูดเพียงไม่กี่คน แต่ผู้ชมกลับไม่ได้อะไรมากนัก จึงควรกระจายไปตามต่างจังหวัดที่เป็นข่าว และในส่วนกลาง ควรนำเสนอแก่นแท้ของเรื่องนั้นๆ โดยนำเสนอที่ฉีกออกไป ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรรมการทั้ง 5 คน มีความโปร่งใส ทุกรายการที่ปรากฏต้องมีที่มาที่ไป จะไม่มีเจ้าพ่อเจ้าแม่ประจำช่องอย่างแน่นอน"


         


ทั้งนี้ รูปแบบรายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ถือเป็นรายการแรกที่คาดว่าจะเป็นรายการที่นอกเหนือจากรายการข่าว ที่ทางไทยพีบีเอส จะเผยแพร่ โดยระหว่างนี้จะมีการพูดคุยกับกลุ่มผู้จัดรายการรายย่อยให้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในที่ 21 ม.ค.นี้ จะมีการนัดกลุ่มผู้จัดรายการประเภทที่เหลือดังกล่าวเข้าพูดคุยกันอีกครั้ง เวลา 13.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าจะมีรายการเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนออกอากาศได้ในช่วงเฟส 2 หรือระหว่างวันที่ 1 มี.ค.-31 มี.ค. นี้ หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ก็ได้


         


นางนวลน้อย ตรีรัตน์ หนึ่งในกรรมการนโยบายฯชั่วคราว กล่าวว่า กรรมการมีภาระหน้าที่ให้ความเป็นธรรม ความโปร่งใส โดยได้รับการตรวจสอบจากสภาผู้ชม ซึ่งประชาชนต้องเข้ามาทุกกระบวนการ ทั้งการเสนอแนะ และการตรวจสอบ


 


 


เสนอรายการเด็ก ให้กำลังใจก่อนออกจากบ้าน- ฝันดีก่อนนอน


นางภัทรจารีย์ อัยศิริ หรือน้านิด ผึ้งน้อย ผู้ผลิตรายการเห็ดหรรษา เสนอว่า สถานีโทรทัศน์ทีพีบีเอสเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชนเฝ้ารอและฝันถึงมานานอยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้ทีพีบีเอสเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ไม่เดินตามผังรายการของช่องอื่น เช่น ช่วงเวลาที่พ่อแม่ได้ดูพร้อมกับลูกๆ เช่น วาไรตี้โชว์หรูๆ ที่ให้ความบันเทิง พร้อมกับสอดแทรกเนื้อหาสาระ และความรู้ หรือรายการในช่วงเช้าก่อนจะออกจากบ้านไปทำงานควรมีรายการที่ให้กำลังใจ ขณะที่ก่อนนอนก็มีรายการที่ทำให้หลับได้อย่างมีความสุขและฝันดี



 


ด้านนางยุพา รัตนจันทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ป่าใหญ่ครีเอชั่น ผู้ผลิตรายการทุ่งแสงตะวันทางช่อง 3 และคนเก่งหัวใจแกร่ง ทางช่องทีไอทีวีเดิม ยอมรับว่า ที่ผ่านมารายการทั้งสองรายการอยู่ได้จากผู้สนับสนุนรายการหลักเพียงไม่กี่ราย รวมไปถึงการสนับสนุนจากทางสถานีไม่เก็บค่าออกอากาศ ซึ่งหากไม่ได้รับการสนับสนุน ก็คงไม่สามารถอยู่ได้ เพราะการผลิตรายการทั้งสองรายการจำเป็นต้องใช้เงินอย่างต่ำตอนละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นบาท แทบจะไม่มีกำไร แต่ทำไปด้วยใจรักจึงอยู่ได้ ดังนั้นจึงอยากเสนอคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวทีพีบีเอสว่า การผลิตรายการโทรทัศน์ลักษณะนี้ หากคำนวณต้นทุนจริงๆ ควรต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าตอนละ 1 แสนบาท



 


ขณะที่นางภัทราวดี มีชูธน เจ้าของภัทราวดีเธียเตอร์ เสนอให้มีการจัดสร้างสตูดิโอสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้ผลิตรายการทั้งรายใหญ่ รายย่อย ที่จะเข้ามาผลิตรายการให้แก่ทีพีบีเอส เพื่อเป็นการลดต้นทุนสำหรับผู้ผลิตรายการแต่ละบริษัท นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการจัดอบรมผู้ผลิตรายการ ทั้งในส่วนของโปรดิวเซอร์ คนเขียนสคริปต์โดยผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ ทั้งจากในและนอกประเทศเพื่อเป็นการยกระดับรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในเมืองไทย


 


 


ผู้ถือหุ้นออกโรงต้านทีวีสาธารณะ


ด้านเว็บไซต์สยามธุรกิจ รายงานว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย  บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ระบุ สืบเนื่องจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีสาธารณะ อันเป็นปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ และลูกจ้างปัจจุบันของรัฐ ซึ่งเป็นพนักงานทีไอทีวี และเจ้าหน้าที่รัฐได้พาดพิงกล่าวโทษบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยกล่าวหาว่า "บริษัท ไอทีวี ทิ้งสัมปทาน ไม่ยอมชำระหนี้ให้รัฐ" ซึ่งเป็นการให้ข่าวสารเพียงด้านเดียว บิดเบือนข้อเท็จจริง อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อภาพพจน์ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ทำให้บริษัทได้รับการดูหมิ่นเกลียดชังจากสาธารณชนอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมต่อบริษัท ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นของบริษัท



 


โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี ระบุว่า ขอประณามการบิดเบือนข้อเท็จจริง และชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่า เจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายกระทำผิดต่อบริษัท ไอทีวี และผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการ พนักงาน 5 ข้อ ดังนี้



 


ความผิดที่ 1 ตั้งอคติกลั่นแกล้งบริษัท ไอทีวี อ้างเหตุหนี้แสนล้าน แล้วยกเลิกสัญญา แต่ในที่สุดศาลปกครองก็จำหน่ายคดีหนี้แสนล้าน โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการกุหนี้แสนล้านขึ้น โดยใช้การตีความสัญญาสัมปทานแบบศรีธนญชัยเข้าข้างตนเอง ตั้งธงกลั่นแกล้งเอกชน ด้วยอคติกับผู้ถือหุ้นเดิม โดยไม่รับฟังความเห็นของคู่สัญญา คือ บริษัท ไอทีวี และผู้ถือหุ้นที่ร้องคัดค้านขอความเป็นธรรมตลอดมา



เจ้าหน้าที่รัฐยัดเยียดหนี้แสนล้านมารวมในหนังสือทวงหนี้ เพื่อกลั่นแกล้งไม่ให้บริษัทสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ เป็นการตั้งธงเพื่อหาเหตุบอกเลิกสัญญา คือ วันที่ 7 มีนาคม 2550 และหลังจากบอกเลิกสัญญาและเข้ายึดกิจการไปนานถึง 23 วันแล้ว จึงค่อยไปยื่นฟ้องศาลปกครองกลางวันที่ 30 มีนาคม 2550


 


ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นระยะเวลา 9 เดือน หลังสปน. เข้ายึดกิจการไอทีวี ศาลปกครองสูงสุดก็ตัดสินจำหน่ายคดีที่สปน.ฟ้องให้ไอทีวีชำระหนี้แสนล้าน โดยให้ไปใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามสัญญาตามที่บริษัทได้ยื่นเรื่องไว้ตั้งแต่ 4 มกราคม 2550 ก่อนถูกบอกเลิก ซึ่งหมายความว่า การดื้อแพ่งของ เจ้าหน้าที่รัฐ ในการไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมตามสัญญาก่อนการบอกเลิกนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย


 



ทั้งนี้ หาก สปน.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน และรอฟังผลคำชี้ขาดอนุญาโตฯ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2550 นั้น แล้วหากเกิดกรณีที่อนุญาโตฯ ชี้ขาดให้ไอทีวีชำระหนี้ จำนวนที่ไม่ใช่แสนล้าน และไอทีวีสามารถชำระได้ เพราะไอทีวีมีเงินสดอยู่ในมือประมาณ 1,500 ล้านบาท ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา ไอทีวีก็ไม่ต้องถูกบอกเลิก หรือถูกยึดกิจการอย่างไม่เป็นธรรมจนมีสภาพเช่นทุกวันนี้ การบอกยกเลิกสัญญาอย่างมีเจตนา แฝงเร้น ย่อมเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย



 


ความผิดที่ 2 เจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดขั้นตอนทางกฎหมายในการบอกเลิกสัญญา ใช้อำนาจสร้างหลักฐานเท็จ จงใจกลั่นแกล้งภาคเอกชน มิให้ดำรงอยู่ในสภาพคู่สัญญาได้ เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติผิดขั้นตอนทางกฎหมาย โดยไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ไม่ยอมทำตามเงื่อนไขสัญญาที่ตกลงไว้กับเอกชนในการใช้กระบวนการยุติธรรมตัดสินชี้ขาดข้อสัญญาเรื่องหนี้ของไอทีวีก่อน ซึ่งคดีความเกี่ยวกับการชำระหนี้เป็นกฎหมายพื้นฐาน ที่แม้สามัญชนคนเดินดินทั่วไปยังเข้าใจได้ว่า ตามขั้นตอนปกติ เมื่อเจ้าหนี้ลูกหนี้ มีข้อขัดแย้งกันในเรื่องชำระหนี้ ทั้งคู่ก็ต้องไปแจ้งเรื่องต่อศาล และรอให้ศาลตัดสินจนถึงที่สุดก่อน เจ้าหนี้ถึงมีสิทธิ์ในการรับชำระหนี้ และเจ้าหนี้เองก็ไม่สามารถบุกรุกเข้ามายึดทรัพย์สิน หรือกิจการเองได้ ต้องรอหมายศาล และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดำเนินการอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เจ้าหนี้เข้ามาดำเนินการยึดทรัพย์สินเอาไปเองตามอำเภอใจ กรณีของไอทีวี รัฐกลับใช้กำลังตำรวจเข้ามาพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้หนังสือทวงหนี้และหนังสือบอกเลิกมายึดกิจการและพนักงานไปเอง ซึ่งเป็นการกระทำแบบรัฐเผด็จการ ไม่เคารพข้อตกลงสัญญา และไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม



 


ความผิดที่ 3 สปน.ถ่วงเวลาไม่ยอมแต่งตั้งอนุญาโตฯ และผลักดัน พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะให้มีผลเป็นกฎหมาย เพื่อคุ้มครองความผิดตนเอง โดยขอยืดเวลาไม่ส่งคำให้การต่อสถาบันอนุญาโตฯ ยาวถึงเกือบ 10 เดือน เพื่อจะรอให้พ.ร.บ.ทีวีสาธารณะที่ตนเองเสนอ มีผลบังคับเป็นกฎหมาย เพื่อปกป้องการกระทำผิดตนเอง และเพื่อกันมิให้ศาลสามารถตัดสินคืนคลื่นความถี่และคืนทรัพย์สินสถานีไอทีวี ที่สปน.ยึดไปโดยพละการคืนให้กับเอกชนคู่สัญญาได้ อันจะเป็นการตอกย้ำความผิดของตนหากแพ้คดี



 


ความผิดที่ 4 เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งจำหน่ายคดี เท่ากับว่าเจ้าหน้าที่รัฐรู้แล้วว่าคำสั่งยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังดันทุรัง นำร่างพรบ. องค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2550 เข้าสู่สภาสนช. แล้วรอเงื่อนไขเวลาเข้ามายึดทรัพย์สินที่เป็นสิทธิ์ที่ครอบครองโดยชอบธรรมของไอทีวีออกไป เท่ากับเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เอาทรัพย์ที่ยังอยู่ในความครอบครองของเอกชนไปแปรสภาพ มีพฤติกรรมสร้างเรื่องราวแบ่งฝักแบ่งฝ่ายให้กับคนในชาติ


 



ความผิดที่ 5 มีความสง่างามหรือไม่ ที่จะมาเอาทรัพย์สินของเอกชนที่ลงทุนไปทำทีวีสาธารณะ และให้คนทั้งแผ่นดินดูทีวีที่ยึดเขามา โดยอาศัยการกล่าวอ้างกฎหมายย้อนหลังฉบับใหม่ เข้ามายึดทรัพย์สินที่เอกชน ครอบครองโดยชอบ เอาไปแปรสภาพ โดยมัดมือชก มีเจตนาที่จะกระทำให้รัฐเสียหายในอนาคต หากกระบวนการยุติธรรมชี้ว่าการ บอกเลิกสัญญาแสนล้านมิชอบ รัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอีกหลายหมื่นหลายพันล้านคืนให้เอกชนและผู้ถือหุ้น ถ้าเป็นอย่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าข่ายเจตนาหรือไม่


 


 


 


 


..............................................


เรียบเรียงจาก เว็บไซต์คมชัดลึก ผู้จัดการ และสยามธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net