Skip to main content
sharethis


เรื่องโดย : อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ


มื่อได้ยินโครงการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่มีแนวคิดสร้างหอดูดาวแห่งชาติขึ้นบริเวณยอดดอยอินทนนท์ ณ จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทยในระดับความสูง 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณป่าดิบเขาสูงหรือป่าเมฆแห่งเดียวในประเทศไทยแถบนี้กำลังเสื่อมสภาพลงทุกทีแล้ว โดยที่ไม่ต้องเหยียบยืนอยู่บริเวณจุดที่สูงที่สุดในประเทศตรงจุดนั้น ก็เหมือนสายลมได้พัดเอาแว่วเสียงของคำถามแห่งยุคสมัยหวนกลับมาอีกครั้ง


โครงการจัดสร้าง "หอดูดาวแห่งชาติ" กำเนิดขึ้นจากที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2545 โดยมีมติให้เสนอโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โดยมีภารกิจหลักคือการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติที่ยอดดอยอินทนนท์ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการ


ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ก.ค.2547 เห็นชอบในหลักการ โดยในวันที่ 25 ก.ค.2549 สถาบันฯ ได้เซ็นสัญญากับบริษัท EOS Space System Ply Limited ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้โครงการจัดตั้งหอดูดาวแห่งชาติ กำหนดสถานที่ตั้งบนพื้นที่ 240 ตารางเมตรของหน่วยพิทักษ์ยอดดอย อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตัวอาคารหอดูดาวมีความสูงจากพื้นดิน 11 เมตร กว้าง  9 เมตร และใช้งบประมาณทั้งสิ้น 312 ล้านบาทจากรัฐบาลในปี 2548-2549 งบประมาณจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้ในการซื้อกล้องดูดาวที่มีมูลค่ากว่า 242 ล้านบาทจากประเทศออสเตรเลีย รวมไปถึงการก่อสร้างอาคารสาระสนเทศกระจายความรู้ และฝึกอบรมทางด้านดาราศาสตร์ ที่ปัจจุบันก่อสร้างเกือบจะแล้วเสร็จสมบูรณ์บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และส่วนสุดท้ายเป็นการก่อสร้างตัวอาคารหอดูดาวที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในเรื่องสถานที่ก่อสร้างกันอยู่ในเวลานี้


รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ความเป็นมาของโครงการการก่อสร้างหอดูดาวแห่งนี้ สืบเนื่องมาจากการประชุมของคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยทั่วประเทศจำนวน 25 คน ในปี 2545 ต่อมาได้มีการเสนอโครงการไปที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารโดยมีโครงการ 2 โครงการก็คือ การก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ และศูนย์บริการสารสนเทศอบรมในเรื่องดาราศาสตร์ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้จะก่อสร้างที่ยอดดอยอินทนนท์


รศ.บุญรักษา กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ก็คือสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นศูนย์วิจัยทางดาราศาสตร์ ซึ่งตอนนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีคุณภาพที่ค่อนข้างต่ำ เราต้องการงานวิจัยเพื่อที่จะสร้างความยอมรับจากนานาประเทศ เพื่อดึงให้เยาวชนให้ความสนใจในศาสตร์นี้มากขึ้น และให้มีความตื่นตัวในแวดวงวิทยาศาสตร์ เพราะปัจจุบันปัญหาที่สำคัญของประเทศอย่างหนึ่งก็คือเยาวชน และบุคคลต่าง ๆ ให้ความสนใจในวิทยาศาสตร์น้อยมาก ฉะนั้นการสร้างความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ก็จะไปทำให้ผู้คนที่สนใจวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นนั้นเอง


"สถานที่ที่จะก่อสร้างนั้นโดยหลักการแล้วพื้นที่นั้นจะต้องอยู่เหนือระดับเมฆ และเราได้ไปประเมินคุณภาพท้องฟ้าบนดอยอินทนนท์ผลออกมาคือเป็นที่ที่ดีมากๆ ส่วนสถานที่ที่เลือกบนยอดดอยนั้นก็เพราะว่าหอดูดาวจำเป็นที่จะตั้งอยู่บนที่สูง และบังเอิญว่าที่ที่ดีที่สุดในประเทศไทยที่จะก่อสร้างหอดูดาวนั้น กับตรงกับที่ที่ดีที่สุดทางสภาวะแวดล้อมของประเทศไทยเช่นเดียวกัน และบนยอดดอยอินทนนท์นั้นมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็นอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เราจึงเลือกที่จะมาก่อสร้างที่นี่ ถนนหนทาง สาธารณูปโภค ส่วนเหตุผลที่เราไม่เลือกดอยผ้าห่มปกเป็นสถานที่ในการก่อสร้างก็เพราะว่าเราต้องไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติอีกมากมาย ต้องตัดต้นไม้อีกเยอะ" ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าว



บริเวณพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างบริเวณยอดดอยอินทนนท์


ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รอง ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวยืนยันว่า ยอดดอยอินทนนท์ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,500 เมตร มีความเหมาะสมที่สุดในประเทศไทยที่จะใช้เพื่อการวิจัยและวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากมีสภาพอากาศเบาบาง และอยู่สูงกว่าฟ้าหลัวซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปในช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังปราศจากฝุ่นละอองและการรบกวนจากแสงจากชุมชน


ดร.ศรัณย์ กล่าวต่อว่า สังคมได้ตั้งคำถามมากมาย โดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทางสถาบันฯ จึงคัดสรรระบบโดมและกล้องดูดาวที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้อาคารหอดูดาวแห่งชาติ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 เมตร สูง 11 เมตร โดยตัวกล้องจะใช้การทำงาน และเคลื่อนที่ด้วยมอเตอร์ และระบบลูกปืนแทนระบบไฮโดรลิกซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของคราบน้ำมัน ซึ่งขณะทำงานและเคลื่อนที่จะเกิดเสียงประมาณพัดลม 1 ตัวเท่านั้น จึงไม่รบกวนนกและสัตว์ป่าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังได้วางมาตรการในการก่อสร้าง โดยมีแผนการขนส่งน้ำจากแหล่งน้ำแห่งอื่นไปใช้ในระหว่างก่อสร้าง เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม แม้พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิชาการในแวดวงดาราศาสตร์ รวมทั้งให้เกิดการตื่นตัวในการศึกษาของเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนและส่งเสริม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีการกำหนดสถานที่ก่อสร้างบนยอดดอยอินทนนท์ ที่ระดับความสูงกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นป่าเมฆแห่งเดียวของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ใกล้ล้มละลายทางธรรมชาติเต็มที พืชพันธุ์หลายชนิดได้รับความเสียหาย ขณะที่ "ฝอยลม" ที่นักวิทยาศาสตร์ขนานนามว่าเป็น "พืชตำรวจ" ตรวจวัดสภาพความสะอาดเลือนหายไปจากพื้นที่ แหล่งน้ำธรรมชาติอย่างอ่างกา ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญที่เป็นตัวหล่อเลี้ยงชาว อ.จอมทอง และพื้นใกล้เคียงก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรมเต็มที แน่นอนว่าประเด็นเหล่านี้นำมาซึ่งการทักท้วงขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


นพ.รังสฤษดิ์ กาญจนวนิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกล้านนา กล่าวว่า บนยอดดอยอินททนนท์นั้นมีสภาพป่าที่เรียกว่าเป็นป่าเมฆ เป็นป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งตรงบริเวณนั้นเป็นระบบนิเวศน์ที่มีแห่งเดียวในประเทศไทย พืชพันธุ์ส่วนใหญ่บนยอดดอยอินทนนท์นั้นมีลักษณะเดียวกับเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งตอนนี้สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าฝอยลมที่เคยปรากฏยู่บนยอดดอยอินทนนท์ไม่มีอีกแล้ว ต้องไปหาดูในบริเวณหลังดอยที่ไกล ๆ สิ่งมีชีวิตตัวนี้เองที่เป็นตัวชี้วัดความสะอาดของอากาศบนยอดดอย มีความหลากหลายของระบบชีวภาพ นกบางชนิดไม่มีที่อื่นเลยปรากฏเห็นเฉพาะที่ดอยอินทนนท์ที่เดียว กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำบนยอดดอนก็มีลักษณะที่พิเศษมาก แมลงหลายชนิดก็มีปรากฏที่บริเวณนี้ที่เดียว


นพ.รังสฤษดิ์ กล่าวต่อว่า แม้โครงการนี้ระบุว่าในการก่อสร้างจะไม่มีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อพิจารณาจากแบบแปลนในการก่อสร้างแล้ว จริงหรือเปล่าที่ไม่ต้องไปตัดไม้ใหญ่ เพราะว่าในพื้นที่นั้นจริงๆ แล้วต้นไม้ใหญ่ขึ้นเต็มไปหมด ทิวไม้ใหญ่ขึ้นบดบังบริเวณที่จะมีการก่อสร้าง และสำหรับข้อที่บอกว่าเมื่อสร้างไปแล้วนั้นจะใช้พื้นที่เพียงนิดเดียวแต่ว่าเมื่อเทียบกับพื้นที่แบบนี้ที่มีอยู่ทั้งประเทศในจำนวนน้อยมากแล้วนั้นมันเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว เท่าไหร่เพราะป่าที่อยู่สูงเกินกว่าระดับ 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเช่นนี้มีอยู่ที่เดียวในประเทศไทย


"พื้นที่อื่นๆ ใกล้ๆ และอยู่ต่ำลงไปกว่าบริเวณนี้นั้นก็มีความเหมาะสมที่จะทำการก่อสร้าง เช่น บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่จะอยู่ต่ำลงไป หรือว่าตรงบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับบริเวณพระเจดีย์ หรือแม้แต่ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 40" นพ.รังสฤษดิ์ กล่าว



อุปกรณ์ทดลองความเหมาะสมการก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติบนยอดดอยอินทนนท์


นพ.รังสฤษดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในเวลานี้ป่าบนยอดดอยอินทนนท์กำลังป่วยหนัก คำถามก็คือเกิดอะไรขึ้นกับบนยอดดอยนั้น มอส เฟิร์นแห้งตายคาต้น มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอย่างชัดเจน พื้นที่ต้นไม้แห้งตายคาต้นขยายวงกว้าง การขยายตัวของการใช้ที่ดินเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายยอดดอย บนนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวมาก ป่าเมฆรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศได้ก่อนที่อื่น ๆ ถ้าความร้อนสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ฐานการก่อตัวของเมฆก็จะลอยสูงขึ้น เวลาร้อนขึ้นก็ขยับไปอีกอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำในดินสูญเสีย การคายน้ำเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเราต้องหาทางชะลออาการป่วยของดอยอินทนนท์ไว้ทุกทาง


รศ.ดร.อุทิศ กุฎอินทร์ อดีตคณะบดีคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดเด่นบนดอยอินทนนท์นั้นมีแห่งเดียว ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมากี่พันปีแล้ว และเราก็ไม่มีทางที่จะสร้างให้มันเกิดขึ้นได้อีกครั้ง ในเมืองไทยไม่มีป่าแบบนี้หลงเหลืออยู่อีกแล้ว ป่าที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายมีลักษณะพิเศษ เสียดายถ้าหากว่าจะถูกทำลายไป ดังนั้นคิดว่าถ้าหากหลีกเลี่ยงการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นได้ก็จะเป็นการดี ปล่อยให้มันเป็นจุดเด่นของประเทศเราต่อไป


รศ.ดร.อุทิศ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาสิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นบนยอดดอยทำให้เราสูญเสียนกเงือกแดงที่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ชี้วัดระดับความอุดมสมบูรณ์ไปแล้ว สัตว์ป่าบนดอยหายไปหมดแล้ว ช้างไม่มีสักตัว อีกทั้งบนยอดดอยนั้นพื้นที่รับน้ำนั้นมีน้อยมาก ซึ่งในพื้นที่ที่เป็นของทหารที่อยู่บนยอดดอยนั้นคิดว่าอีกไม่นานก็จะเจอกับปัญหาเรื่องน้ำเหมือนๆ กัน เพราะว่าพื้นที่ที่เคยมีไว้สำหรับการรองรับน้ำกลายมาเป็นลานจอดรถ เป็นพื้นคอนกรีต เป็นค่ายทหารตรงนี้เราสูญเสียไปมากแล้วยิ่งถ้าเราไปสร้างเพิ่มเติมเสริมเข้าไปอีก สภาพธรรมชาติก็พัง และเมื่อมีการสร้างหอดูดาวก็จะมีคนเข้าไปเป็นจำนวนมาก มีการใช้พื้นที่ที่ดิน ใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นเพราะปัจจุบันก็ใช้กันมากอยู่แล้ว


"ในเรื่องพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ถ้าหากไปก่อสร้างตรงนั้นผมคิดว่าอย่างไรก็ตามจะต้องมีการสร้างอะไรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ต้องมีการปรับปรุงกล้องให้ใหญ่ขึ้นและในเวลานั้นก็จะเป็นการทำลายพื้นที่ธรรมชาติเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนกระบวนการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้น คิดว่าจะมีปัญหาเพราะต้องตอกเสาเข็มลงไปลึกถึง 21 เมตร คิดว่ายังไงบนยอดนั้นก็จะต้องเจอกับหินแน่ๆ และถ้าหากมีการตอกลงไปในหิน แหล่งน้ำที่อ่างกาซึ่งเป็นบริเวณชุ่มน้ำที่สำคัญก็จะแห้งเหือดที่นี้ก็เดือดร้อนกันทั้งหมด" อดีตคณะบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้จะออกมาในรูปใด เรายังคงมุ่งมั่นสร้างความเป็นเลิศด้านดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์โดยไม่จำเป็นต้องแยแสกับทรัพยากรธรรมชาติ หรือจะเลือกสร้างความเจริญรุดหน้าควบคู่ไปกับการเคารพ พึ่งพาเกื้อกูลสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศน์ตามข้อเสนอให้โครงการไปเลือกทำเลการก่อสร้างใหม่...ประชาชนทุกคนเท่านั้นคือผู้กำหนด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net