Skip to main content
sharethis


 



 



ประชาไท - หลังจากที่พนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อกว่า 3,286 รายชื่อ ยื่นกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน และชุมนุมหน้าโรงงาน พร้อมกับเจรจาทวิภาคีกับนายจ้างมาหลายครั้งนับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. นั้น


 


หลังการต่อสู้อันยาวนานนับเดือนนั้น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ที่ผ่านมา พนักงาน บจก.โฮยา ได้เปิดตัวสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) และจัดการประชุมใหญ่สามัญขึ้นเป็นครั้งแรกขึ้นที่หน้าโรงงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ ประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน


 


นอกเหนือจากวาระในการประชุมใหญ่สามัญแล้ว แกนนำสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ได้เชิญแขกที่มาร่วมงานขึ้นกล่าวแสดงความยินดีกับการก่อตั้งสหภาพแรงงานได้เป็นผลสำเร็จด้วย และต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของแขกที่มาร่วมงานที่ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีกับการก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองของภาคเหนือ


 


 


000


 


รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ


อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 



"แต่ก่อนนี้ตอนที่เรายังไม่มีสหภาพ เวลาจะพูดอะไรกับนายจ้าง เราก็ไม่กล้าพูด เวลาถ้าเราจะพูดกับเขาเราก็จะต้องไปกันเดี่ยวๆ แต่ตอนนี้พอเรามีสหภาพ เห็นไหมครับ เวลาจะเจรจาเราก็นั่งเท่าเทียมกับเขาเลยเพราะฉะนั้น ความเท่าเทียมกันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี ความเท่าเทียมกันมันก็จะทำให้เกิดสันติสุขในการทำงาน ให้เกิดการเฉลี่ยผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม"


 



"ก่อนที่จะมีสหภาพแรงงาน มันก็ต้องมีคนที่ลุกขึ้นมาจัดตั้ง คนเหล่านี้ผมเคารพเขามาก คือเขาเป็นคนที่ตัดสินใจ ที่จะเสี่ยงเพื่อพวกคุณ


 


เขาเสี่ยงยังไงครับ...


 


ผู้คนที่จะมาจัดตั้งสหภาพแรงงาน เขารู้ว่าสิ่งที่เขาอาจจะเผชิญคือ ...การถูกเลิกจ้าง


 


แต่คุณก็รู้ว่า คุณไม่ถูกเลิกจ้างวันนี้ วันหนึ่งมันก็มาถึง แต่ทำไมคุณต้องไปรอมันล่ะ คุณก็ต้องรวมตัวกัน ไม่ให้เขามาเอารัดเอาเปรียบ มาเลิกจ้างคุณอย่างไม่เป็นธรรม"


 



 


ขอให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานทุกคน จงสามัคคี คุณต้องสามัคคี คุณต้องไม่ลืมว่า คุณต้องรวมกลุ่มกันถ้าเกิดคุณรวมกันไม่เหนียวแน่น คุณก็จะถูกแยกสลาย มันจะมีอะไรที่จะพยายามมาแยกสลายคุณ เพราะฉะนั้น ต้องมีเอกภาพ ความสามัคคี


 


… กับผู้ใช้แรงงานด้วยกันเราเป็นพี่น้องกัน


 


000


 


"สวัสดีผู้ใช้แรงงาน วันนี้ผมก็ต้องขอแสดงความยินดีที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นสหภาพแรงงานแห่งที่สอง ผมคิดว่ามันคงจะต้องมีตามมาอีก เพราะมันเป็นเรื่องที่ผู้ใช้แรงงานต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ได้รับการเข้าถึงสิทธิ ซึ่งอันนี้ก็เป็นหลักการสากลอยู่


 


เมื่อเรามีสหภาพ ก็เห็นว่าเราจะมีกิจกรรม เราจะมีพื้นที่ยืน แต่ก่อนนี้ตอนที่เรายังไม่มีสหภาพ เวลาจะพูดอะไรกับนายจ้าง เราก็ไม่กล้าพูด เวลาถ้าเราจะพูดกับเขาเราก็จะต้องไปกันเดี่ยวๆ แต่ตอนนี้พอเรามีสหภาพ เห็นไหมครับ เวลาจะเจรจาเราก็นั่งเท่าเทียมกับเขาเลย


 


เพราะฉะนั้น ความเท่าเทียมกันนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี ความเท่าเทียมกันมันก็จะทำให้เกิดสันติสุขในการทำงาน ให้เกิดการเฉลี่ยผลตอบแทนอย่างเป็นธรรม


 


ทีนี้เรามาพูดถึงว่าทำไมต้องมีสหภาพ เราจะเห็นว่าความแตกต่างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง มีความแตกต่างที่ตรงไหน ประเด็นแรกเรามาดูนายจ้าง เขาเป็นคนที่มีเงินทุน เป็นบรรษัทข้ามชาติ เขาใหญ่โตมาก เขามีโรงงานมีสาขาหลายแห่งในโลก เพราะฉะนั้นเขามีอำนาจเงิน เขามีโรงงาน เขามีทุน มีเครื่องจักร ส่วนลูกจ้างมีอะไร ... มีอย่างเดียวเลยก็คือ "แรงงาน"


 


เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนี้เท่าเทียมกันไหม ไม่เท่าเทียม เพราะว่าอีกคนนึงมีพร้อมทุกอย่าง แต่ผมก็รู้ว่าคนที่เข้ามาทำงานในโรงงานส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก คนที่ไม่มีทางเลือกทางฐานะเศรษฐกิจ เขาก็ต้องมาใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้นคุณก็จะเห็นในเมื่อความสัมพันธ์มันไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างลูกจ้าง-นายจ้าง รัฐก็ต้องออกกฎหมายมาคุ้มครองคนที่อ่อนแอกว่า รัฐควรที่จะทำอย่างนี้ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นว่ามันก็เกิดกฎหมายแรงงาน กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เกิดขึ้น


 


แต่พอเวลาเราเข้าไปดูจริงๆ กฎหมายแรงงานนี้รัฐออกให้หรือ การที่คุณมีสหภาพแรงงาน รัฐเป็นคนเข้ามาส่งเสริมให้มีสหภาพแรงงานเหรอ...ไม่ใช่ การที่คุณมีสหภาพแรงงานได้ การที่คุณจะมีกฎหมายได้ รัฐจะออกกฎหมายก็ต่อเมื่อคุณมีพลัง มีอำนาจต่อรอง เพราะฉะนั้นในเมื่อคุณมีอำนาจต่อรอง คุณก็ไปต่อรองกับรัฐให้ออกกฎหมาย กฎหมายแรงงานมันจึงเกิดขึ้นอย่างนี้


 


นี่ถามว่าเป็นเฉพาะในประเทศไทยไหม ไม่ใช่นะครับ อันนี้เป็นเรื่องสากล ประเทศในตะวันตก เขาก็พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมมาก่อน เขาก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ ที่จริงมันมีที่กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์แรงงาน ให้คุณไปดูนะครับ ผู้ใช้แรงงานในช่วงแรกๆ ก็เป็นกุลีจีนแบกหาม มีชีวิตที่ย่ำแย่ ค่าจ้างต่ำมาก ประวัติศาสตร์เหล่านี้ มันก็ชี้ว่าคนที่ถูกกดขี่เขาก็มีจุดร่วมเดียวกัน มันก็เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ด้วย


 


ก็เลยเกิดการสร้างอำนาจต่อรองผ่านการรวมกลุ่ม เมื่อไหร่ที่คุณไม่มีกลุ่ม คุณก็จะไม่มีอะไรไปต่อรองกับเขาได้ เพราะฉะนั้นการรวมกลุ่มจึงสำคัญ เราก็มีกฎหมายสากล ที่บ่งบอกว่าประชาชนทั่วโลกมีสิทธิ ในเรื่อง หนึ่ง จัดตั้งสหภาพแรงงาน สอง มีสิทธิในเรื่องการเจรจาต่อรอง


 


เพราะฉะนั้นอย่าลืมนะครับ อันนี้เป็นสิทธิสากล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน รัฐบาลไทยก็มีกฎหมายที่ส่งเสริมสิทธิอันนี้ เพียงแต่ว่าผู้ใช้แรงงานของเรา ในอีกหลายส่วนนะครับ ยังไม่เข้าใจในเรื่องของสิทธิอันนี้ เพราะเราไม่มีสหภาพ เราหวังให้รัฐ หรือว่านายทุนมาให้ความรู้กับเรา เป็นไปไม่ได้เลยนะครับ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ตัวเรานะครับ เมื่อเรามีสหภาพแรงงานแล้วคุณต้องรู้ว่าก่อนที่จะมีสหภาพแรงงานเนี่ย มันก็ต้องมีคนที่ลุกขึ้นมาจัดตั้ง คนเหล่านี้ผมเคารพเขามาก คือเขาเป็นคนที่ตัดสินใจ ที่จะเสี่ยงเพื่อพวกคุณ


 


เขาเสี่ยงยังไงครับ...


 


ผู้คนที่จะมาจัดตั้งสหภาพแรงงาน เขารู้ว่าสิ่งที่เขาอาจจะเผชิญคือ ...การถูกเลิกจ้าง


 


แต่คุณก็รู้ว่า คุณไม่ถูกเลิกจ้างวันนี้ วันหนึ่งมันก็มาถึง แต่ทำไมคุณต้องไปรอมันล่ะ คุณก็ต้องรวมตัวกัน ไม่ให้เขามาเอารัดเอาเปรียบ มาเลิกจ้างคุณอย่างไม่เป็นธรรม


 


เพราะฉะนั้นคนที่ลุกขึ้นมาก่อตั้งนี่ คุณต้องปกป้องเขานะครับ เพราะฉะนั้นเมื่อคุณมีสหภาพแรงงานแล้ว ตอนนี้มีสมาชิกเท่าไหร่...2,900 คน ยังไม่พอ


 


เพราะสหภาพจะเข้มแข็งได้ ต้องมีฐานสมาชิก เพราะฉะนั้นหน้าที่ของคุณ ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการ ก็คือต้องไปชักชวนให้คนที่ยังไม่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน มาเป็นสมาชิกให้ได้ นั่นก็คือความเข้มแข็ง เพราะคุณก็รู้ว่าถ้าเกิดคุณมีสมาชิกมาก อำนาจต่อรองคุณก็มี มีสมาชิกกองทุนคุณก็ได้ ในการที่คุณจะมารวมตัวกันวันนี้ได้เนี่ย มันมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ถ้าเกิดคุณไม่มีกองทุนมาจัดการเก็บเงินสมาชิก คุณมาจัดกิจกรรมในวันนี้ไม่ได้ คุณจัดกิจกรรมสืบต่อไปได้ นายจ้างไม่ทำให้คุณหรอก เขาอบรมคุณให้คุณผลิตให้มากเท่านั้นเอง รัฐบาลจะให้อย่างมากก็แค่ประกันสังคมนะครับ


 


เพราะฉะนั้น ผมฝากไว้นะครับว่า ในเมื่อเรามีสหภาพแรงงานแล้ว นี่ก็คือประวัติศาสตร์ การสร้างประวัติศาสตร์ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน นิคมนี้จัดตั้งขึ้น 30 ปี ใน 30 ปีนี้เราเพิ่งเกิดสหภาพแห่งแรกคือ สหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์เมื่อปี 2549


 


30 ปีอันยาวนาน ไม่มีสหภาพ มันเป็นนิคมปลอดสหภาพแรงงาน เพราะฉะนั้นอันนี้มันไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่รัฐเองเมื่อสักครู่ผมก็เจอ เขาก็บอกว่ามันก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ผู้ใช้แรงงานก็ควรที่จะสิทธิของเขา สิทธิขั้นพื้นฐาน


 


โดยสรุป ผมหวังว่าเราคงจะได้เจอกันอีก และผมก็หวังว่า วันแรงงาน เขาเรียกวันแรงงานอะไรนะวันที่ 1 พฤษภาคม (มีเสียงตอบ - วันแรงงานแห่งชาติ) คุณยังเรียกว่าวันแรงงานแห่งชาตินะ แต่ผมเรียกว่าวันแรงงานสากล


 


เพราะวันที่ 1 พฤษภาคม มันเกิดขึ้นได้ยังไงรู้ไหม ประวัติศาสตร์มันเกิดขึ้นก็คือ


 


เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้วในชิคาโก [1] สหรัฐอเมริกา คนงานผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานทอผ้า รู้สึกถูกกดขี่มาก ชั่วโมงการทำงานสูง ไม่มีการจ่ายโอที ค่าจ้างต่ำ ค่าอะไรในการทำงานไม่มีเลย กฎหมายดูแลก็ไม่มี


 


เขายังไม่มีสหภาพที่เข็มแข็ง เขาก็ทำยังไงครับ เขาก็รวมตัวกันหน้าโรงงาน แล้วออกเดินไปตามท้องถนน ในวันนั้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เขาเดินไป เกิดปะทะกับตำรวจ คนงานผู้หญิงส่วนหนึ่งก็เสียชีวิต


 


เพราะฉะนั้น วันที่ 1 พฤษภาคม จึงเป็นวันแรงงานสากล เป็นวันที่มีงานของผู้ใช้แรงงาน ผมเองก็จะไปร่วมเวลาที่ผมไปเรียนต่างประเทศ เราจะให้ดอกไม้สีขาว แล้วดอกไม้สีขาวมันจะเป็นดอกไม้ที่ออกดอกวันนั้นพอดีเลย แล้วเราจะเดินขบวนกันในวันนั้น เพื่อแสดงความสมานฉันท์ทางชนชั้น


 


เพราะฉะนั้นก็คงจะได้มีการจัดวันแรงงานสากลขึ้นครั้งแรกนะครับ ที่นิคมอุตสาหกรรม


 


ในส่วนของนักวิชาการเองนี้ เราก็คิดว่าเราก็อยากให้มีการศึกษาทางด้านแรงงานกันมากขึ้น ก็อาจจะมีกิจกรรมร่วมกันอันนี้ก็คงจะต้องคุยกัน สุดท้ายนี้ ก็ขออวยพร ก็คือ ให้การทำงานของสหภาพแรงงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ ทำงานเพื่อส่วนรวม ให้สมาชิกคอยเป็นเกราะป้องกัน อย่าให้มีการกระทำที่มิชอบต่อผู้นำสหภาพ แล้วก็ขอให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานทุกคน จงสามัคคี คุณต้องสามัคคี คุณต้องไม่ลืมว่า คุณต้องรวมกลุ่มกันถ้าเกิดคุณรวมกันไม่เหนียวแน่น คุณก็จะถูกแยกสลาย มันจะมีอะไรที่จะพยายามมาแยกสลายคุณ เพราะฉะนั้น ต้องมีเอกภาพ ความสามัคคี กับผู้ใช้แรงงานด้วยกัน


 


...เราเป็นพี่น้องกัน...


 


000


 


 


สืบสกุล กิจนุกร


นักศึกษาปริญญาโท สาขาการพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


 



การตั้งสหภาพของเราวันนี้ มันมีความสำคัญเพื่อจะยืนยันว่าเรานี้เป็นคน ไม่ได้เป็นปัจจัยการผลิต


 



การตั้งสหภาพแรงงาน คือทางออกของการที่เรายืนยันว่า เราได้เป็นคนๆ หนึ่งในสังคม นี่คือหัวใจของการมารวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน และแน่นอนว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานคือการที่จะบอกว่า เราต้องการศักดิ์ศรีความเป็นคนเราคืนมา


 


000


 


วันนี้ก็ดีใจและขอให้กำลังใจพี่น้องทุกคนที่ได้มาร่วมประชุมใหญ่ประจำปีในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ในฐานะที่ผมเรียนหนังสืออยู่ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในคณะสังคมศาสตร์ มีวิชาหนึ่งที่เขาเรียกว่า สังคมวิทยาอุตสาหกรรม วิชานี้รู้ไหมครับว่าเขาเรียนกันไปทำอะไร


 


วิชานี้เขาเรียนไปเพื่อที่จะบอกว่า นักศึกษาที่จบปริญญาตรีเรียนไปเพื่อที่จะมาอยู่ในโรงงาน แล้วเนื้อหาหลักๆ ของวิชานี้จะบอกว่าจะควบคุมคนงานเพื่อให้เชื่อฟังบริษัทอย่างไร อันนี้คือวิชาในมหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่สอนในเรื่องเกี่ยวกับแรงงาน คือสอนว่าจะควบคุมคนงานไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างไร นั่นก็เลยไม่แปลกที่เราจะเห็นว่ามันมีการควบคุมคนงานในขณะนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่มีตั้งแต่ในการศึกษา


 


ในที่นี้อยากจะพูดสั้นๆ เร็วๆ สามเรื่อง


 


เรื่องแรกผมอยากจะพูดว่า ในสามสิบปีที่ผ่านมานี้ภาคเหนือของเรามันเปลี่ยนแปลงไปมาก ผมเองก็เป็นคนเชียงราย ถามว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างที่หนึ่งคือในภาคเกษตรเรานี้มันอยู่ไม่ได้เพราะว่ารัฐบาลไม่ได้ส่งเสริม ไม่มีการปฏิรูปที่ดิน เราผลิตสินค้าอะไรมาก็ไม่ได้ราคา ติดหนี้สิน สุดท้ายคนก็ต้องออกจากการเกษตร เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครทำไร่ทำสวน เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม อย่างที่สองคือรัฐบาลไม่ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรม ปัญหาก็คือว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมของบ้านเรานี้ มันไม่ได้ส่งเสริมทักษะฝีมือของคนงาน อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่คราวนี้เรามีคนทั้งหมด 60 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในภาคอุตสาหกรรม แต่ว่าก็เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ไม่มีความเข้มแข็ง อันนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน


 


เรื่องที่สองคือ ทำไมนิคมอุตสาหกรรมของต่างประเทศต้องย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศไทย


 


มันเป็นแบบนี้คือ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว การจ้างงานในประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือว่าญี่ปุ่น มันเจอปัญหาค่าต้นทุนมันแพง มันสูงขึ้น เพราะคนงานได้ต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม แล้วเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแล้ว เพื่อที่จะให้โรงงานอยู่ได้ หมู่นายทุนก็เลยย้ายฐานการผลิตมาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือประเทศไทย อินโดนีเชีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แล้วทีนี้การย้ายฐานการผลิตของนายทุน ไม่ได้มาเฉพาะโรงงาน ไม่ได้มาเฉพาะเทคโนโลยี แต่มาพร้อมกับอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ


 


อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญคือ มันมีการสร้างความคิดให้คนในสังคมได้รู้ว่า เหตุที่คนงานในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ทั้งในมาเลเชีย และอินโดนิเชียต้องใช้คนงานผู้หญิง เพราะอะไรรู้ไหมครับ ก็เพราะว่า ผู้หญิงนิ้วมือมันเล็ก มันเรียว ดังนั้นแล้ว อุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคมันเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ดังนั้นเขาเลยต้องการผู้หญิงนิ้วมือเล็กๆ เขาว่ามาอย่างนั้น


 


อันที่สองเขาบอกว่าที่ต้องรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะว่าผู้หญิงนี้หัวอ่อน ไม่เถียง จริงหรือเปล่า ก็ลองไปคิดกันเอาเองว่าถูกหรือไม่ถูก


 


อันที่สามที่เขารับผู้หญิงเข้ามาเพราะว่า ผู้หญิงยังไงๆ ก็ต้องเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ทิ้งพ่อทิ้งแม่ไม่ได้ ขณะที่ผู้ชาย แต่งกันไปแล้วไม่ค่อยส่งเสียที่บ้าน ดังนั้นผู้หญิงถึงดีที่สุด


 


นี่คือความคิดที่รัฐบาลสร้างขึ้นที่นายทุนสร้างขึ้นแล้วมันล้างสมองคน แล้วที่สำคัญที่สุดก็คือว่า เขาบอกว่าคนนี้ก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่เขาเรียกว่า "ปัจจัยการผลิต"


 


แต่การมาชุมนุมในวันนี้ เรามาเพื่อที่จะยืนยันว่า เราก็เป็นคน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจจัยการผลิต ไม่ได้เป็นเครื่องจักร มนุษย์เราต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดีในการทำงาน เราต้องการคุณภาพที่ดีในการทำงาน เราต้องการค่าจ้างที่มันพอที่จะอยู่ได้ พอที่จะมาเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่เรา


 


ผมคิดว่าการมาของเราวันนี้การตั้งสหภาพของเราวันนี้ มันมีความสำคัญเพื่อจะยืนยันว่าเรานี้เป็นคน ไม่ได้เป็นปัจจัยการผลิต ผมคิดว่านี่สำคัญที่สุด


 


และสุดท้าย ผมคิดว่าการตั้งสหภาพแรงงาน คือทางออกของการที่เรายืนยันว่า เราได้เป็นคนๆ หนึ่งในสังคม นี่คือหัวใจของการมารวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงาน และแน่นอนว่าการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานคือการที่จะบอกว่า เราต้องการศักดิ์ศรีความเป็นคนเราคืนมา


 


ตอนนี้ผมก็กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของแรงงาน แล้วช่วงที่ผ่านมาผมก็ได้ทำการส่งข่าวการชุมนุมประท้วงการเจรจา ปัญหาความทุกข์ความยาก ความไม่เป็นธรรม การถูกเอารัดเอาเปรียบ ของพี่น้องที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนนี้ไปที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะให้หมู่เพื่อน ๆ ที่เป็นนักกิจกรรมในประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งข่าวนี้ให้กับคนในสังคมญี่ปุ่นได้รับรู้ว่า การย้ายโรงงานจากประเทศญี่ปุ่นมาสร้างปัญหา ให้คนไทยอย่างไรบ้าง


 


ผมก็ขอเป็นกำลังใจและอวยพรให้การต่อสู้ของพวกเราประสบผลสำเร็จต่อไป


 


 


เชิงอรรถจากประชาไท


[1] ต้นกำเนิดของวันแรงงานสากล เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโก ประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐนายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง


แต่หลังจากนั้น สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาก็ได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งหนึ่ง โดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433


ขณะเดียวกันในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดที่จะประกาศวันที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก จนกระทั่ง พ.ศ. 2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม 2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้แล้ว และให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น "วันกรรมกรสากล" และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก


มติดังกล่าวได้รับการขานรับอย่างกว้างขวาง และการยืนหยัดต่อสู้ของคนงานชิคาโกและอื่นๆ ก็สามารถทำให้นายจ้างลดชั่วโมงการทำงานลงเหลือ 8 ชั่วโมงในทุกๆ แห่ง


สามารถอ่านประวัติวันแรงงานสากลโดยสังเขปได้ที่ Alexander Trachtenberg, the History of May Day http://www.marxists.org/subject/mayday/articles/tracht.html


 


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550


คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน, ประชาไท, 12/12/2550


บทความ: เมื่อคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ลำพูนรวมใจสู้: ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้, ประชาไท, 13/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550


มุมมองทางเศรษฐกิจ จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน, ประชาไท, 18/12/2550


คนงานโฮยาชุมนุมหนที่ 3 - ทำพิธีสู่ขวัญเสริมกำลังใจ - รอฟังผลเจรจา, ประชาไท, 20/12/255


จดหมายจากพนักงานโฮย่า: บันทึกหนึ่งของการชุมนุม, ประชาไท, 20/12/2550


เครือข่ายปชช.เหนือ จม.เปิดผนึกสนับสนุนข้อเรียกร้องคนงานโฮยา กลาสดิสด์(ประเทศไทย) - ประชาไท, 25/12/2550


คนงานลำพูนชุมนุม รอบ 4 ร้องนายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงาน, ประชาไท, 26/12/2550


คนงานโฮย่าชุมนุมครั้งที่ 5 เจรจายืดเยื้อถึงเที่ยงคืน, ประชาไท, 11/12/2551


คนงานโฮยา จ.ลำพูน ประกาศตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือ, ประชาไท, 18/12/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net