บทความ : สถาบันกษัตริย์ไทยมีอำนาจแค่ไหน? การถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับกษัตริย์ไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่ช่วงนี้มีการพูดคุยถกเถียงทางวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นทุกวัน ล่าสุดคือที่การประชุมไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อต้นปี 2551 เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์การเมืองไทยแล้ว ยังเป็นสิ่งจำเป็นในการขยายพื้นที่ประชาธิปไตยและสร้างความเป็นธรรมในสังคม สองเหตุการณ์มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการถกเถียงเรื่องสถาบันกษัตริย์รอบนี้ เหตุการณ์แรกคือรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่อ้างว่า "ทำเพื่อกษัตริย์" และเหตุการณ์ที่สองคือการตีพิมพ์หนังสือ The King Never Smiles ของ Paul Handley หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือที่สำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการศึกษาสถาบันกษัตริย์ เพราะเล่มนี้เป็นผลงานจากการทำการวิจัย อย่างละเอียด เต็มไปด้วยข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิดในไทย และใช้มาตรฐานทางวิชาการสูงในการเขียน ก่อนการทำรัฐประหาร 19 กันยายน สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน [1] และสำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน [2] ได้ตีพิมพ์บทความเป็นภาษาไทยออกมาเผยแพร่หลายบท แต่งานที่วิจารณ์หนังสือของ Handley และงานอื่นๆ หลายชิ้นที่ปรากฏออกมาในช่วงการประชุมนานาชาติไทยศึกษา เปิดโอกาสให้ผมและนักวิชาการอื่นๆ ทบทวนและพัฒนาความคิดท่ามกลางการแลกเปลี่ยนอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานาน ถึงแม้ว่าเราอาจมีการตีความข้อมูลที่แตกต่างกัน

 

ผมจะขอจัดแนวคิดมุมมองเกี่ยวกับลักษณะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไทยออกเป็นสาม "สำนัก" เพื่อการวิเคราะห์ดังนี้คือ

1. สำนักชนชั้นปกครอง ที่พยายามเสนอให้เราเชื่อว่ากษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ในรูปแบบศักดินา-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีอำนาจล้นฟ้า และไม่เคยเปลี่ยนแปลง

 

2. สำนักนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับชนชั้นนำเหนือภาคประชาชนและใช้กรอบคิดแบบเหมาเจ๋อตุงในการวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นกึ่งศักดินา สำนักนี้รวมมุมมองของ Paul Handley [3] และมุมมองเรื่องเครือข่ายพระราชวัง (Network Monarchy) ของ Duncan McCargo [4]

 

3. สำนักมาร์คซิสต์ที่มองว่ารัชกาลที่5 ปฏิวัติระบบศักดินาเพื่อสร้างรัฐทุนนิยม สำนักนี้มองว่าประมุขอ่อนแอ และสถานภาพของสถาบันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ระหว่างการเป็นประมุขสมัยใหม่ที่เป็นกลางเหนือความขัดแย้งทางการเมือง กับการสนับสนุนเผด็จการภายใต้ภาพของการลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง นี่คือสำนักที่ผมสนับสนุน

 

1. สำนักชนชั้นปกครอง

สำนักนี้เสนอว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันเก่าแก่ในรูปแบบศักดินา-สมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมองว่าศักดินาไม่ต่างจากสมบูรณาญาสิทธิราชเนื่องจากมีการปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของสถาบันนี้ มีการรณรงค์ผ่านโรงเรียนและสื่อให้เราเชื่อว่ากษัตริย์มีอำนาจเหนือชีวิตของเหล่าไพร่ทั้งหลายในรูปแบบโบราณ แม้แต่เรื่องสถานภาพสมัยใหม่ของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ถูกบิดเบือนเพื่อให้เราเชื่อว่าเราไม่ควรวิจารณ์กษัตริย์เพราะ "อยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว" การเสนอของชนชั้นปกครองไทยแบบนี้ ไม่ใช่ความพยายามที่จะเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์แต่อย่างใด แต่เพื่อสร้างภาพเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้ประชาชนเชื่อว่าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการจงรักภักดีต่อและเกรงกลัวผู้ปกครองที่เป็นเสมือนพระเจ้าหรือเทวดา สำนักนี้ไม่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์หรือเหตุผลรองรับแต่อย่างใด แต่นั้นไม่สำคัญ เพราะเป็นความพยายามที่จะก้าวพ้นวิทยาศาสตร์

 

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์เราจะพบว่าในรอบ 200 ปีที่ผ่านมาสถาบันกษัตริย์ไทยเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง จากสถาบันในระบบศักดินา ไปเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจรวมศูนย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงรัชกาลที่ 5 และในการปฏิวัติปี 2475 เปลี่ยนอีกครั้งเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นสถานภาพของสถาบันก็เปลี่ยนแปลงต่อไป งานเขียนของนักประวัติศาสตร์อย่าง ธงชัย วินิจจะกูล [5] และ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ [6] มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างดี นอกจากนี้ข้อมูลในหนังสือของ Paul Handley ก็ช่วยวาดภาพประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวอีกด้วย [7] มีการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนิยมเจ้ากับกลุ่มคณะราษฎร์หลัง 2475 และการขยายอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์ในช่วงรัชกาลปัจจุบัน

 

ถึงแม้ว่าข้อเสนอของสำนักชนชั้นปกครองไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่การสร้างภาพของสถาบันให้ดูเหมือนกับว่ามีอำนาจยิ่งใหญ่ เมตตารักประชาชน แต่น่ากลัวด้วย ประชาชนจะละเมิดและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และยิ่งกว่านั้นมีการสร้างแนวคิดว่ามันเป็นการไม่เหมาะสมกับสังคมไทยที่จะคิดเปลี่ยนหรือวิจารณ์สถาบันอีกด้วย [8] ถ้าจะเข้าใจว่าทำไมชนชั้นปกครองไทยเสนอภาพแบบนี้ต้องดูบทบาททั่วไป ทั่วโลก ของสถาบันกษัตริย์ในยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ทั้งๆที่สถาบันกษัตริย์ไทยมีภาพภายนอกที่ต่างจากภาพของสถาบันกษัตริย์ยุโรป

 

เราควรจะเริ่มต้นจากการดูการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในยุคปฏิวัติทุนนิยม 1640 กรณีอังกฤษน่าสนใจในบริบทไทย เพราะไม่มีการยกเลิกสถาบันนี้เหมือนกรณีการปฏวัติฝรั่งเศส 1789 หรือการปฏิวัติอเมริกา 1776

 

Christopher Hill [9] นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปฏิวัติอังกฤษปีมีข้อสรุปว่าการปฏิวัติดังกล่าวเป็นการล้มล้างระบบฟิวเดิลเก่าเพื่อถ่ายเทอำนาจไปสู่ชนชั้นนายทุนและเพื่อเปิดทางให้มีการพัฒนาระบบทุนนิยมในอังกฤษ สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นเป็นสงครามทางชนชั้น ฝ่ายที่พ่ายแพ้คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่1ร่วมกับสถาบันศาสนาและผู้ครองที่ดินรายใหญ่ ฝ่ายที่ชนะเป็นแนวร่วมระหว่างชนชั้นผู้ครองที่ดินระดับกลาง พ่อค้า นายทุน ช่างฝีมือและคนจนในเมืองและในชนบท

 

เมื่อการปฏิวัติได้รับชัยชนะกษัตริย์ชาร์ลส์ถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัว และหลังจากที่อำนาจเศรษฐกิจของชนชั้นผู้ครองที่ดินรายใหญ่และสถาบันศาสนาถูกทำลายโดยการเก็บภาษีและยึดทรัพย์สิน ชนชั้นใหม่ภายใต้การนำของนายพล ครอมเวล จำต้องจัดการกับพลังหลักในการปฏิวัติที่เขาเคยอาศัยเป็นแนวร่วม คือพลังคนจนในกองทัพของสามัญชน (New Model Army) และกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนพวกสังคมนิยมปัจจุบัน กลุ่มสามัญชนดังกล่าวนี้ต้องการทำลายความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สิน โดยนำทรัพยากรรวมถึงที่ดิน ของประเทศ มาเป็นของส่วนรวม ตัวอย่างที่ดีของกลุ่มเหล่านี้มี องค์กร Levellers [10] ("ทำให้เท่าเทียมกันหมด") และองค์กร Diggers ("ผู้ขุดดิน") สำหรับชนชั้นนายทุน การปลุกระดมสามัญชนให้รบกับขุนนางเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากชนชั้นนายทุนและผู้ครองที่ดินระดับกลางขาดพลังมวลชน แต่มันเป็นการเสี่ยงภัยด้วยดังนั้นหลังจากที่รบสำเร็จแล้วพลังมวลชนของคนชั้นล่างและการตื่นตัวทางความคิดของคนชั้นล่างที่เกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการปฏิวัติต้องถูกทำลายลง ในช่วงศตวรรษที่ 17 นายทุนเอาชนะคนจนได้ง่ายเพราะชนชั้นกรรมาชีพยังไม่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ความขัดแย้งแหลมคมมากขึ้น ต้องมีการปราบปรามผ่านเผด็จการทหารของนโปเลียน และพอมาถึงศตวรรษที่ 19 การปลุกระดมชนชั้นล่างให้มาสู้กับกลุ่มอำนาจขุนนางเก่าเป็นเรื่องที่นายทุนไม่ยอมทำ

 

ในแง่หนึ่งเป็นเพราะกรรมาชีพเข้มแข็งมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่งระบบขุนนางก็อ่อนแอลงท่ามกลางการพัฒนาของทุนนิยมด้วย นี่คือสาเหตุที่นักสังคมนิยมอย่างมาร์คซ์ เลิกตั้งความหวังเกี่ยวกับความก้าวหน้าของนายทุนตั้งแต่การลุกฮือทั่วยุโรปที่ไม่สำเร็จในปี 1848

 

กรณีอังกฤษน่าสนใจตรงที่ชนชั้นนายทุนนำกษัตริย์กลับมาหลังจากที่ยึดจากขุนนางและปราบสามัญชนชั้นล่าง เพื่อสถาปนาความมั่นคงในการปกครอง ชนชั้นปกครองใหม่หันมาประนีประนอมระดับหนึ่งกับซากของกลุ่มอำนาจเก่าที่หลงเหลืออยู่ นั้นคือสถาบันกษัตริย์และขุนนาง ในปี 1660 หลังจากที่ "ประธานาธิบดี" ครอมเวล เสียชีวิตไป กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ถูกเชิญกลับมาขึ้นครอง แต่การรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์หลังการใช้ระบบสาธารณรัฐเพียง 11 ปี ไม่ใช่การรื้อฟื้นระบบเก่าหรือการเชิญกษัตริย์กลับมาครองประเทศในรูปแบบเดิมแต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ใหม่เป็นกษัตริย์ของนายทุนที่ไม่มีอำนาจอิสระอย่างแท้จริง

 

ถึงแม้ว่ามีการใช้ภาษาเดิมๆ และพิธีทางการเกี่ยวกับกษัตริย์ในรูปแบบโบราณ เช่นการพูดว่ากษัตริย์ใหม่ที่เชิญกลับมา "ถูกแต่งตั้งโดยพระเจ้า" แต่จริงๆ เป็นการสร้างภาพหรือการสร้างประเพณีใหม่ให้ดูเก่า (Invention of Tradition) [11] กษัตริย์ชาร์ลส์ถูกแต่งตั้งโดยชนชั้นนายทุนและผู้ครองที่ดินระดับกลางแต่รัฐบาลหลอกประชาชนว่าอำนาจมาจากพระเจ้า [12]

 

สรุปแล้วชนชั้นนายทุนของอังกฤษพยายามสร้างภาพว่ามีสถาบันกษัตริย์ที่เก่าแก่และยังมีอำนาจ แต่มันเป็นแค่ภาพลวงตาเพื่อพยุงและส่งเสริมกระแสอนุรักษ์นิยมที่สามารถปกป้องอภิสิทธิ์ของนายทุนจากการลุกฮือกบฏของคนชั้นล่าง การจับมือกันระหว่างนายทุนกับกษัตริย์ภายใต้เงื่อนไขอำนาจของนายทุนแบบนี้ ไม่ได้เกิดในฝรั่งเศสกับสหรัฐ แต่ฝรั่งเศสสร้างบทเรียนสำคัญสำหรับนายทุนว่าถ้าไม่ระวัง อำนาจจะหลุดจากมือนายทุนไปสู่มวลชนชั้นล่างท่ามกลางการปฏิวัติ นี่คือสาเหตุที่มีการประนีประนอมกันระหว่างนายทุนกับพวกฟิวเดิลตั้งแต่ปี 1848 เป็นต้นไป ซึ่งชวนให้มาร์คซ์เสนอว่าตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นไปกรรมาชีพไว้ใจให้นายทุนล้มกษัตริย์ไม่ได้อีกแล้ว

 

ในกรณีไทย เราทราบดีว่ามีการรื้อฟื้นสร้างใหม่ประเพณีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้ดูเก่าแก่ในยุคสฤษดิ์และก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ [13] เกษียร เตชะพีระ เสนอว่า "บทบาทกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ที่อ้างว่าเป็นประเพณียาวนาน เป็นการประดิษฐ์คิดสร้างธรรมเนียมประเพณีใหม่" [14] ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ [15] ชี้ให้เห็นว่ามาตรา 7 ที่มีการอ้างถึงในม็อบไล่ทักษิณ เริ่มปรากฏในรัฐธรรมนูญสมัยเผด็จการสฤษดิ์ และอีกครั้งสมัยเผด็จการ รสช. แต่ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เช่นของปี 2518 (หลัง 14 ตุลา) ไม่มีมาตรานี้ ซึ่งแสดงว่ามาตรา 7 ไม่ใช่ประเพณีการปกครองไทยอันยาวนานเลย แต่ถ้าจะว่าเป็นประเพณี อาจว่าเป็นประเพณียุคเผด็จการก็ได้

 

ประเด็นเรื่องการรื้อฟื้นสร้างประเพณีใหม่ของสถาบันกษัตริย์ไทย อาจไม่เป็นเรื่องถกเถียงในวงวิชาการเท่าไร เพราะมีการยอมรับกัน แต่สิ่งที่มีการพิจารณาน้อยมากคือข้อเสนอของนักมาร์คซิสต์ว่าชนชั้นนายทุนไทยใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือในการปกป้องเสถียรภาพของการปกครองทางชนชั้น ผ่านภาพลวงตาของอำนาจกษัตริย์และกฎหมายห้ามวิจารณ์ต่างๆ ที่สร้างความกลัวให้กับพวกเรา

 

ตรงนี้ผมขออธิบายเพิ่มว่า "ชนชั้นนายทุนไทย" ในที่นี้คือชนชั้นปกครองไทยทั้งหมดในปัจจุบัน ซึ่งประกอบไปด้วยนายทุนเอกชน (อย่างทักษิณ, นายทุน CP หรือนายธนาคารต่างๆ) กับนายทุนรัฐ ที่ประกอบไปด้วยนายทุนกษัตริย์ (หรือที่เรารู้จักในนามของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) นายทหารและข้าราชการพลเรือนชั้นผู้ใหญ่ เพราะ "นายทุน" คือผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตในระบบทุนนิยมที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 [16] นักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการมองว่าไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นทุนนิยม ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง จะใช้มุมมองวิเคราะห์สังคมไทยแบบแนวเหมาเจ๋อตุงของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่เสนอว่าไทยยังเป็น "กึ่งศักดินา" ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ [17] มุมมองแบบนี้เมื่อนำมาใช้ในยุคทักษิณ จะอธิบายว่ารัฐประหาร 19 กันยา และความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นปกครองเป็นความขัดแย้งระหว่าง "ศักดินา" กับ "นายทุนสมัยใหม่" ตัวอย่างที่ดีของนักวิชาการที่มองแบบนี้คือ เกษียร เตชะพีระ [18] แต่ต้องรวมถึง Paul Handley และ Duncan McCargo ด้วย

 

2. สำนักที่มองแต่พฤติกรรมของชนชั้นนำเป็นหลัก สำนัก Neo-Riggsian / Neo-Maoist

หลายคนอาจแปลกใจที่ผมจัดนักวิชาการหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย เข้าไปในสำนักนี้ แต่เหตุผลของผมคือสำนักนี้มีจุดร่วมสำคัญสองจุดคือ 1.เน้นแต่การกระทำของคนชั้นบนและแสวงหาความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำเพื่ออธิบายสังคมการเมือง และ 2.มองว่ากษัตริย์ขัดแย้งกับนายทุน

 

1. การเน้นแต่การกระทำของคนชั้นบนเพื่อแสวงหาความขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นนำเพื่ออธิบายสังคมการเมือง สำนักนี้ไม่มีการวิเคราะห์บทบาทของคนชั้นล่างหรือภาคประชาชนในการเมืองไทยแต่อย่างใด ในกรณี Handley มีการดูถูกว่าประชาชนคนจนโง่และไร้เดียงสา[19] ส่วน McCargo ใช้กรอบ "เครือข่ายอำนาจ" เพื่อเสนอว่าปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นแค่ความขัดแย้งระหว่างทักษิณกับกษัตริย์เท่านั้น ประเด็นเรื่องชาวมาเลย์มุสลิมที่ถูกกดขี่โดยรัฐไทยดูเหมือนไม่สำคัญเลย ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นแนวคิดของ Fred Riggs [20] ซึ่งเคยเสนอว่าไทยเป็นรัฐข้าราชการ Bureaucratic Polity ที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจและไม่มีบทบาทในการเมือง ผมจึงนิยามแนวคิดนี้ว่าเป็นแบบ Neo-Riggsian

 

2. การมองว่ากษัตริย์ขัดแย้งกับนายทุน เป็นการนำกรอบคิดแนวสตาลิน-เหมาเกี่ยวกับประเทศด้อยพัฒนามาใช้ กรอบคิดนี้เสนอว่าในประเทศอย่างไทย การปฏิวัตินายทุนยังไม่สมบูรณ์ [21] ยังเป็นกึ่งศักดินาอยู่ กษัตริย์มีอำนาจสูง และภาระหลักของพรรคคอมมิวนิสต์คือการสนับสนุนให้นายทุนทำการปฏิวัติขั้นตอน "ประชาชาติประชาธิปไตย" (National Democratic Revolution) สำนักนี้ปฏิเสธข้อเสนอว่านายทุนใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อปกป้องระบบทุนนิยมเพราะมองว่าสอง "เครือข่ายอำนาจ" นี้ คือเครือข่ายกษัตริย์และเครือข่ายทักษิณ เป็นศัตรูและคู่แข่งกัน [22] Handley [23] ก็มองไม่ต่างกันเกี่ยวกับข้อขัดแย้ง แต่จะเน้นอำนาจปัจเจกของกษัตริย์ในฐานะที่เป็นธรรมราชา แทนที่จะให้ความสำคัญกับการเมืองเครือข่าย การมองว่ากษัตริย์ขัดแย้งกับทักษิณและเป็นศูนย์อำนาจของรัฐประหาร 19 กันยา เป็นสาเหตุที่เขารับข้อเสนอของชนชั้นปกครองมาว่ากษัตริย์เข้มแข็งโดยไม่ตั้งคำถามเลย ผมจะขอนิยามแนวคิดนี้ว่าเป็นการรือฟื้นการวิเคราะห์แบบเหมาของ พ... คือเป็น Neo-Maoist

 

นักวิชาการที่เห็นด้วยกับสำนักนี้มีคนที่ปกติแล้วจะปฏิเสธกรอบวิเคราะห์ของ Riggs เพราะมองข้ามภาคประชาชน แต่ในกรณีอำนาจกษัตริย์ไม่พูดถึงอำนาจภาคประชาชนเลย เช่นคนอย่าง นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ [24] ที่ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนว "เครือข่ายกษัตริย์" ของ McCargo มากกว่า Handley เพราะมองว่าอำนาจกษัตริย์มาจากการมีเครือข่ายมากกว่าการเป็นปัจเจก หรือ Kevin Hewison [25] ที่มองว่ากษัตริย์นำรัฐประหาร 19 กันยา และ Michael Connors [26] ซึ่งมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นกลุ่มอำนาจ (Power Block) ที่มีอำนาจสูงสุดในชนชั้นปกครอง ในประเด็นหลังนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าสถาบันกษัตริย์มีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจนเกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลชาติชาย จึงได้ขึ้นมาเป็น "ประมุขของชนชั้นปกครองทั้งหมด" [27] ข้อเสนอนี้ชวนให้เราคิดต่อว่าเป็นประมุขแบบไหน และทักษิณรวมอยู่ในชนชั้นปกครองที่สมศักดิ์กล่าวถึงหรือไม่

 

นอกจากนี้ ข้อเสนอและข้อถกเถียงของสำนักนี้มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง Handley หรือ McCargo เพราะเป็นการเปิดประเด็นให้พิจารณาอำนาจของกษัตริย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ค่อยมีใครทำกันก่อนหน้านี้เท่าไร หนังสือของ Handley เป็นคลังข้อมูลสำหรับนักวิชาการในปัจจุบันและอนาคต ส่วนการอธิบายการเมืองเครือข่ายของ McCargo เป็นการพัฒนความเข้าใจของเราในวิธีการของชนชั้นปกครอง และยังชวนให้เราถามต่อว่าศูนย์กลางอำนาจของเครือข่ายกษัตริย์อยู่ที่ไหนอีกด้วย และนายทุนอย่างทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้ได้หรือไม่ แต่สำนักนี้มีจุดอ่อน ซึ่งผมขอเสนอเป็นประเด็นๆ ต่อไป

 

• "อำนาจ" ไม่ใช่สิ่งนามธรรม อำนาจต้องประกอบไปด้วยตัวอย่างของการใช้อำนาจในโลกจริง พร้อมกับเหตุผลในการใช้อำนาจดังกล่าว การพูดว่าผู้นำขัดแย้งกันเพราะ "ไม่ชอบขี้หน้ากัน" เป็นเรื่องไร้สาระ ถ้ากษัตริย์มีอำนาจสูง สำนักนี้ต้องพิจารณาว่ากษัตริย์มีอำนาจไปเพื่ออะไร มีการทำรัฐประหารไปเพื่ออะไร มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่ออะไร ถ้าตอบว่าเพื่อให้ตนมีอำนาจ หรือเพื่อให้เครือข่ายตนเองมีอำนาจเหนือคู่แข่ง มันเป็นการใช้เหตุผลวนซ้ำ ต้องมีการขยายความว่ากษัตริย์ใช้อำนาจเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบไหน กษัตริย์ต้องการออกแบบ พัฒนา และรักษา สังคมไทยไปในรูปแบบใด ปัญหาคือสำนักนี้ตอบคำถามไม่ได้ นอกจากจะกล่าวว่า "ต้องการปกป้องอำนาจเดิมไว้" แต่รัฐ เศรษฐกิจ และสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา เช่นการพัฒนาประชาธิปไตย การขยายเศรษฐกิจการผลิตภายใน การพัฒนาการส่งออก การพัฒนากระบวนการผลิตในยุคโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยจากสังคมเกษตรไปเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น สำนักนี้ไม่สามารถชี้ให้เห็นได้เลยว่ากษัตริย์มีบทบาทนำหรือจุดยืนที่ต่างจากนายทุนอย่างทักษิณอย่างไรตรงนี้ ข้อเสนอเกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" อาจถูกยกมา แต่

 

มันเป็นนามธรรมที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจในรูปธรรม โครงการหลวงต่างๆ ก็มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่ของสังคมน้อยมาก และถ้าจะพูดกันตรงๆ รัชกาลที่ 9 ในพื้นที่สาธารณะไม่ค่อยมีบทบาทในการเป็นผู้นำเท่าไร ถ้าฟังคำปราศรัยในช่วงวันเฉลิมฯ ของทุกปีอาจมีคนคิดว่าเหมือนคำพูดของคุณปู่ใจดีมากกว่าผู้นำที่มีวิชั่นและกำหนดทิศทางของสังคม การกำหนดทิศทางของสังคมมาจากผู้นำอื่นๆ ทั้งในชนชั้นปกครองและภาคประชาชนต่างหาก

 

• การใช้กรอบ Neo-Riggsian ที่มองข้ามบทบาทภาคประชาชนและดูแต่ความขัดแย้งเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็นกรณี 14 ตุลา, ยุคการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์, พฤษภาทมิฬ, การต่อสู้ของเอ็นจีโอ, การพยายามตอบสนองความต้องการของคนจนโดยทักษิณ หรือยุคของพันธ์มิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฯลฯ ทำให้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการเดินขบวนและการนัดหยุดงานที่เกี่ยวข้องกับ 14 ตุลา พื้นที่ประชาธิปไตยไทยจะไม่มีการขยาย ถ้าไม่มีการต่อสู้ของ พ... ถึงแม้ว่าจบลงด้วยป่าแตก จะไม่มีการประนีประนอมระหว่างชนชั้นปกครองและฝ่ายซ้าย จะไม่มีเอ็นจีโอ และที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับรัฐประหาร 19 กันยา ถ้าพันธมิตรฯ ไม่เรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ทหารจะไม่สามารถทำรัฐประหารได้[28] ถ้าไม่จริงอย่างที่ผมว่า กษัตริย์สามารถจัดการล้มทหารได้ก่อน 14 ตุลา สามารถรักษาเผด็จการหลัง 6 ตุลาโดยไม่ประนีประนอมกับใคร และสามารถทำรัฐประหารล้มทักษิณก่อนที่จะเกิดพันธมิตรฯ แต่ประวัติศาสตร์ไทยไม่ได้เป็นไปอย่างนั้น ในอีกแง่หนึ่ง การที่ ธงชัย วินิจจะกูล [29] เตือนภาคประชาชนว่าฝ่ายเจ้าเป็นฝ่ายที่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นการยืนยันว่าอำนาจเจ้ากับอำนาจภาคประชาชนมักคานกันและอยู่ขั้วตรงข้ามกัน ตัวอย่าง พ... ขบวนการนักศึกษา และเอ็นจีโอเป็นตัวอย่างที่ดี แต่แน่นอนกรณีการทิ้งจุดยืนอิสระของภาคประชาชนซีกพันธมิตรฯ เพื่อจับมือกับฝ่ายนิยมเจ้า เป็นการเปลี่ยนข้างไปอยู่ข้างเผด็จการ

 

• การใช้กรอบ Neo-Riggsian ในกรณีภาคใต้ ทำให้มีการเสนอว่าความรุนแรงมาจากความขัดแย้งระหว่างเครือข่ายกษัตริย์และเครือข่ายทักษิณ โดยไม่เกี่ยวกับการกดขี่ชาวบ้านในสามจังหวัดโดยรัฐไทย มาเป็นเวลาสองร้อยปี คำอธิบายแบบนี้ไร้สาระเมื่อเราพิจารณาขบวนการปลดแอกสามจังหวัดภาคใต้และการเรียกร้องความยุติธรรมของประชาชน

 

• ทำไมชนชั้นปกครองดูคลั่งในการส่งเสริมสถาบัน? แม้จะไม่พิจารณาบทบาทภาคประชาชนเลย ซึ่งทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่เมื่อมองไปที่ชนชั้นปกครองเองเท่านั้น ถ้ากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด ทำไมต้องมีการโปรโหมดกันทั่วบ้านทั่วเมืองในยุคนี้? และทำไมไม่มีการพิจารณาไตร่ตรองให้ดีว่าจะปกป้องเสถียรภาพของสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคงหลังรัชกาลที่9 อย่างไร? นอกจากนี้การเสนอเศรษฐกิจพอเพียงไม่สามารถครองใจคนจนได้ เพราะในขณะที่อีกภาพหนึ่งคือเราเห็นราชวงศ์เต็มไปด้วยความร่ำรวยสุดหรู และทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจยอมรับสภาพนี้ของกษัตริย์ แต่มีความไม่พอใจในการใช้อภิสิทธิ์ของสมาชิกอื่นๆ ในราชวงศ์

 

• นายทุนอย่างทักษิณจะได้ประโยชน์พิเศษอะไร ถ้าลดอำนาจกษัตริย์ในสังคม? ตรงนี้สำนักนี้ต้องอธิบายเป็นรูปธรรมว่ากษัตริย์หรือเครือข่ายกษัตริย์คัดค้านนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม นโยบายไหนของทักษิณ เพราะประสบการณ์ของรัฐบาล คมช. ที่อ้างกันว่าเป็นรัฐบาลของกษัตริย์ ชี้ให้เห็นว่า คมช. สนับสนุนนโยบายเสรีนิยม (neo-liberal) สุดขั้วเหมือนทักษิณ เช่น เซ็นสัญญาค้าเสรี และการแปรรูปฯลฯ ซึ่งให้ประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่ และสถาบันกษัตริย์ก็เป็นหัวหน้ากลุ่มทุนใหญ่กลุ่มหนึ่งอีกด้วย [30] การอ้างว่าเครือข่ายกษัตริย์คัดค้านการคอร์รับชั่นและการใช้อำนาจในทางที่ผิดฟังไม่ขึ้น ถ้าดูประสบการณ์ของรัฐบาลเผด็จการทุกยุค การพูดว่าเครือข่ายกษัตริย์คัดค้านประชานิยม อาจพูดได้ แต่ต้องมีหลักฐานและเหตุผลมากกว่านี้

 

• การที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งต้นปี 2551 ทำให้เราควรมองว่าทักษิณและประชาชนจำนวนมากที่ลงคะแนนให้ ไทยรักไทย และพลังประชาชน ชนะเครือข่ายอำนาจของกษัตริย์หรือไม่? หรือเราควรจะตั้งคำถามว่าทักษิณและประชาชนที่สนับสนุนเขา ไม่ได้คัดค้านสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่มีคู่แข่งในกองทัพและพรรคประชาธิปัตย์ต่างหาก?

 

3. สำนักมาร์คซิสต์ที่มองว่ากษัตริย์อ่อนแอ

ข้อเสนอของผมคือ สถาบันกษัตริย์อ่อนแอ เพราะสถาบันนี้พร้อมจะไปกับกระแสอำนาจในแต่ละสมัยเพื่อความอยู่รอด กษัตริย์ทำงานร่วมกับอำนาจเผด็จการทหารได้อย่างสบาย ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ผ่าน รสช. ถึง คมช. แต่ปรับตัวเพื่อทำงานกับรัฐบาลของนักการเมืองนายทุนก็ได้ เช่นในกรณีทักษิณรัชกาลที่ 9 ชื่นชมผลงานรัฐบาลในสงครามปราบปรามยาเสพติดเป็นต้น [31]

 

สำนักมาร์คซิสต์มีประเพณีในการวิเคราะห์ที่มองภาพรวมของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม วิภาษวิธีชูคำขวัญ "ภาพรวมคือความจริง" ดังนั้นเราต้องไม่มองข้ามภาคประชาชน และความขัดแย้งระหว่างภาคประชาชนกับชนชั้นปกครอง ยิ่งกว่านั้น ความขัดแย้งในสังคม ไม่ว่าจะระหว่างชนชั้นหรือภายในชนชั้นเดียวกัน ต้องมีพื้นฐานมาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในที่สุด ไม่ว่าจะบิดเบือนเพี้ยนไปแค่ไหน ความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยา ก็เช่นกัน แต่นอกจากนี้กรอบมาร์คซิสต์ชวนให้เรามองข้ามพ้นภาพผิวเผิน ทฤษฏีสภาวะแปลกแยก (Alienation) เตือนเราว่าภาพ "ปกติ" ที่เราถูกสอนมาจากชนชั้นปกครองอาจไม่จริง โดยเฉพาะในกรณีที่เรากลัวและขาดความมั่นใจ ภาพของสถาบันกษัตริย์ที่เข้มแข็งและมีอำนาจที่ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางความกลัว เป็นภาพจริงหรือภาพลวงตา?

 

เครือข่ายของชนชั้นปกครองที่สนับสนุนและปกป้องสถาบันกษัตริย์มีจริง แต่เครือข่ายนี้ประกอบไปด้วยชนชั้นปกครองทั้งหมด รวมถึงทักษิณและนายทุนใหญ่อืนๆด้วย ชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น รวมทุกซีก ทุกกลุ่ม ได้ประโยชน์จากการมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และได้ประโยชน์จากการห้ามไม่ให้เราวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ซึ่งไม่ได้แปลว่าขัดแย้งกันเองภายในเครือข่ายไม่ได้

 

ปัญหาสำคัญอันหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ไทยคือ มีความขัดแย้งในใจกลางสถาบันระหว่างความจำเป็นในการสร้างประมุขประชาธิปไตยทุนนิยมสมัยใหม่คล้ายๆ ในยุโรป ที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนและมีภาพของความเป็นกลางเพื่อรักษาจุดยืนอนุรักษ์นิยมและรักษาระบบชนชั้นให้ดำรงต่อไป กับ การที่ชนชั้นปกครองไทยส่งเสริมภาพว่ากษัตริย์มีอำนาจและมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเมือง เช่นในกรณีรัฐประหาร 19 กันยา ดังนั้นเราจะเห็นทั้งกรณีที่กษัตริย์ออกมาสนับสนุนประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ เช่นกรณีที่ไม่ยอมใช้มาตรา 7 ในปี 2549 [32] เราจะเคยได้ยินข้อเสนอของกษัตริย์เองว่าประชาชนควรมีสิทธิ์วิจารณ์สถาบัน หรือกรณีที่มีภาพว่าสนับสนุนนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ในมุมกลับเราเห็นกรณีที่สนับสนุนรัฐประหาร 6 ตุลา [33] และ 19 กันยา

 

ที่สำคัญคือ ข้อขัดแย้งในตัวดังกล่าวของสถาบันกษัตริย์ ไม่เกี่ยวกับการเพิ่มหรือลดอำนาจและผลประโยชน์ของสถาบันนี้แต่อย่างใด มันเป็นสองทางเลือกในวิธีดำเนินการของรัฐนายทุนต่างหาก และมันสะท้อนข้อขัดแย้งถกเถียงที่ยังไม่ลงตัวเกี่ยวกับสองทางเลือกนี้ ในระบบทุนนิยมทั่วโลก นายทุนใช้สองทางเลือกคือ

 

1. ระบบเผด็จการ เพื่อที่จะทำอะไรตามใจชอบ หรือ

2. ระบบประชาธิปไตยรัฐสภา เมื่อถูกกดดันจากภาคประชาชน

 

นายทุนสามารถปรับตัวใช้แนวไหนก็ได้ แต่จะมีการถกเถียงขัดแย้งกัน สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักในการเลือกแนวคือคำถามว่า "แนวใดสร้างเสถียรภาพของการปกครองได้ดีที่สุด?" ซึ่งหมายถึงเสถียรภาพในการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากกรรมาชีพด้วย ใครที่ศึกษารัฐศาสตร์มาคงทราบว่าสำนักคิดกระแสหลัก คือสำนักโครงสร้างหน้าที่ (Structural Functionalism) เป็นสำนักคิดกระแสหลักที่เน้นการสร้างเสถียรภาพในการปกครอง

 

ทักษิณและพรรคพวกสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะสามารถหาสูตรพิเศษที่จะได้คะแนนนิยมจากประชาชนในขณะที่ไม่มีพรรคของภาคประชาชนเอง สูตรนั้นคือประชานิยม หรือการใช้งบประมาณรัฐเพื่อช่วยเหลือคนจน แต่ทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นในประชาธิปไตยในแง่ของอุดมการณ์ ซึ่งดูได้จาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ไทยรักไทย

 

ฝ่ายชนชั้นปกครองที่ทำรัฐประหารหรือสนับสนุนรัฐประหาร เลือกใช้เผด็จการชั่วคราวเพราะ 1.ทักษิณหมดสภาพที่จะสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเมื่อพันธมิตรฯ ออกมาเคลื่อนไหว 2.ต่อต้านการใช้งบประมาณในลักษณะที่ช่วยคนชั้นล่างมากไป พวกที่บ่นเรื่องการ "ขาดวินัยทางการคลัง" และ 3.ไม่พอใจที่ไม่ได้ร่วมกินกับพรรคพวกไทยรักไทย ทหารมักจะอยู่ในซีกนีเพราะทหารจะเสียอภิสิทธิ์พิเศษที่เป็นมรดกจากยุคเผด็จการ เช่นการคุมสื่อหรือการคุมรัฐวิสาหกิจ แต่ทหารมีจุดอ่อนเพราะความชอบธรรมของเผด็จการในความคิดของประชาชนมีน้อยลงทุกวัน ทหารและฝ่ายเผด็จการจึงต้องพยายามอ้างความชอบธรรมจากกษัตริย์แทน

 

แต่สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ได้อย่างดีกับทั้งสองระบบ ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะเป็นทั้งประมุขและนายทุนใหญ่ ไม่ใช่ศักดินา ด้วยเหตุนี้เราควรมองว่าข้อขัดแย้งระหว่างทักษิณ กับ คมช. เป็นข้อขัดแย้งระหว่างชนชั้นปกครองสองขั้วที่ต่างฝ่ายต่างสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ เพราะสถาบันนี้เป็นหลักประกันของการดำรงอยู่ของสังคมชนชั้นในระบบทุนนิยมไทย

 

www.pcpthai.org

23 มกราคม 2551

 

 

 

อ้างอิง

[1] วารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับ "หน้าปกโค้ก" ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย ตุลาคม-ธันวาคม 2548 เป็นเล่มที่ทุกคนควรอ่านและนำไปคิดต่อด้วย นอกจากนี้ทุกคนควรอ่านหนังสือ "รัฐประหาร 19 กันยา" ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน 2549

[2] ดู งานเขียนของผมในปี 2543 ในหนังสือ "การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์" และในปี 2547 ในหนังสือ "รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย" และล่าสุด ในหนังสือ A Coup for the Rich และ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ที่ออกมาในปี 2550

[3] Paul Handley (2006) The King Never Smiles. Yale University Press.

[4] Duncan McCargo (2005) Network monarchy and legitimacy crises in Thailand. The Pacific Review 18 (4) December, 499-519.

[5] ธงชัย วินิจจะกูล (2548) "ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา" มูลนิธิ 14 ตุลา และดูบทความนี้ในวารสารฟ้าเดียวกัน ที่อ้างถึงแล้ว

[6] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2526) "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[7] Handley (2006) อ้างแล้ว

[8] ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ (2549) ในหนังสือ "ทักษิณา-ประชานิยม" สำนักพิมพ์มติชน ที่เสนอว่าประชาธิปไตยไทยต้องมีการแบ่งอำนาจกันระหว่างนักการเมือง ทหาร และกษัตริย์

[9] Christopher Hill (1959) The English Revolution 1640. An Essay. Lawrence & Wishart, London.

[10] ดูหนังสือ Paul Foot (2005) The Vote. How it was won and how it was undermined. Penguin / Viking.

[11] ดูงานของ Hobsbawm, E. (1995) Inventing Traditions. In: Hobsbawm, E. & Ranger, T. (eds) The Invention of Tradition. Cambridge University Press. สำหรับ Hobsbawm ประเพณีสร้างใหม่ย่อมอ้างความเก่าแก่ เป็นเรื่องสาธารณะไม่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันธรรมดา และมีลักษณะการบังคับใช้ ไม่ใช่เรื่องที่คนนำไปประพฤติตามธรรมชาติ ดู ใจ อึ๊งภากรณ์ (2547) สถาบันกษัตริย์ในระบบทุนนิยมไทย ใน "รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย" (อ้างแล้ว)

[12] Hill (1959) อ้างแล้ว

[13] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ (2526) อ้างแล้ว, ธงชัย วินิจจะกูล (2548) อ้างแล้ว

[14] เกษียร เตชะพีระ (2548) บทวิจารณ์การสร้าง "ความป็นไทย" กระแสหลักฯ ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับ "สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย" ตุลาคม-ธันวาคม 2548

[15] เว็บไซต์ ประชาไท 14/3/06 www.prachatai.com

[16] ใจ อึ๊งภากรณ์ (2547) อ้างแล้ว

[17] อรัญญ์ อรัญญ์ พรหมชมภู -นามปากกาของ อุดม ศรีสุวรรณ - (2522) "เส้นทางสังคมไทย" สำนักพิมพ์อักษร, . เพียรวิทยา (2546) "ประวัติและบทเรียนบางประการของพรรคเรา" ในบทความของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "ประวัติ พ... ฉบับ พ... ฟ้าเดียวกัน 1 (1) มกราคม-มีนาคม. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (2524) "เศรษฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์ไทย" สำนักพิมพ์สร้างสรรค์

[18] เกษียร เตชะพีระ (2550) "ทางแพร่งแห่งการปฏิวัติกระฎุมพีไทย" เสวนาในวันที่16 กันยายน 2550 จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ โพสธ์ในเว็บ ประชาไท 17 กันยายน 2550 และเสนออีกครั้งเมื่อเป็นองค์ปาฐกของงานปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2550 หัวข้อ "จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 วิกฤตประชาธิปไตยไทย" โพสธ์ในเว็บ ประชาไท 15 ตุลาคม 2550 www.prachatai.com

[19] Handley (2006) อ้างแล้ว หน้า 6, 10, 94, 105

[20] Fred Riggs (1966) Thailand. The Modernisation of a bureaucratic polity. East West Press.

[21] เกษียร เตชะพีระ (2550) อ้างแล้ว

[22] McCargo (2005) อ้างแล้ว ถ้าเอ่ยถึงงานของ McCargo คงต้องอ้างถึง อุกกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ด้วย เพราะนักวิชาการสองคนนี้ร่วมมือกัน

[23] Handley (2006) อ้างแล้ว

[24] นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2551) งานวิชาการ "ไทยศึกษา" วิจารณ์ The King Never Smiles โพสธ์ในเว็บประชาไท 17 มกราคม 2551

[25] Kevin Hewison (2008) A Book, the King and the 2006 Coup. Journal of Contemporary Asia 38 (1).

[26] M. K. Connors, M.K. (2003) Democracy and National Identity in Thailand. Routledge Curzon.

[27] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (2548) หลัง 14 ตุลา ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับ "สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย" ตุลาคม-ธันวาคม 2548

[28] รายละเอียดเรื่องการเมืองภาคประชาชนไทยอ่านได้ใน ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ (2549) "ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย" สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน

[29] ธงชัย วินิจจะกูล (2548) อ้างแล้ว

[30] ดู พอพันธ์ อุยยานนท์ (2549) สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ ใน ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ) "การต่อสู้ของทุนไทย" สำนักพิมพ์มติชน

[31] พระราชดำรัส 4 ธันวาคม 2546 ชมการทำ "สงครามยาเสพติด" ของรัฐบาลทักษิณ ที่มีการฆ่าวิสามัญหลายพันราย http://www.thaiveterans.mod.go.th/mas_page/about_king/speak_birth/4_12_46_1.htm

[32] กษัตริย์ปฏิเสธที่จะใช้มาตรา 7 โดยอธิบายว่า "ขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึง มอบให้พระมหากษัตริย์ มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่า ให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำเขาก็จะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยขอ ไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"

[33] ใจ อึ๊งภากรณ์ และ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2544) "อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง" คณะกรรมการรับข้อมูลและ

สืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท