ประมวลเหตุการณ์ความเคลื่อนไหว การรณรงค์กรณี "ที่ดินวะกัฟ"

จากการเดินสายรณรงค์ทำความเข้าใจกับชุมชนชาวมุสลิมในกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงตลอดเดือนมกราคม 2551 รวมถึงการเดินทางไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอเข้าพบกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินวะกัฟในบริเวณที่มีการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย - มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา ของบริษัท ทรานส์ไทย -มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด

 

แต่ปรากฎว่าทางสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ทำการปิดประตูสำนักงาน ทางกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน(รวมถึงทายาทและพยาน) ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้นำ ผู้รู้ทางศานา และชาวบ้านในชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา ได้เดินทางกลับมากรุงเทพฯอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อยังคงติดตามเรื่องราวปัญหาที่ยังยังคงค้างคาและไม่แก้ปัญหาได้

 

เมื่อวันที่จันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน(รวมถึงทายาทและพยาน) ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาการออกพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณะ วันที่ 13 สิงหาคม 2549 เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าที่ดินนี้เป็นที่วะกัฟหรือที่ดินตามหลักศาสนาอิสลามที่ผู้เป็นเจ้าของเดิมได้อุทิศให้แก่พระผู้เป็นเจ้า เพื่อให้ศรัทธาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยผู้หนึ่งผู้ใดก็ไม่มีสิทธิ์ครอบครองอีกต่อไป  อีกทั้งไม่สามารถซื้อขาย  แลกเปลี่ยน โอน หรือเปลี่ยนแปลงใดๆได้ การออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550   ทำให้ศาสนิกชนผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วไป ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย  และกระบวนการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว  หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมิได้จัดให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นจากประชาชน  ทั้งๆ ที่มีประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนยื่นคำคัดค้านต่อสำนักงานที่ดินอำเภอและจังหวัด รวมทั้งต่อหน่วยงานทางปกครองในพื้นที่มาโดยตลอด 

 

รวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีมติเมื่อ วันที่ 24 กรกฏาคม 2548 ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ชุมชนยังใช้ประโยชน์และเป็นที่ดิน "วะกัฟ"  จริง  และมีมติไม่อนุญาตให้ บริษัท ทรานส์ ไทย- มาเลเซีย  (ประเทศไทย) จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์และที่ดินวะกัฟดังกล่าวตามที่บริษัทฯ ร้องขอ    กระบวนการออกประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักกฎหมาย

 

 นางจันทิมา ชัยบุตรดี ตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ ได้ชี้แจงว่า หลังจากบริษัท ทรานส์ ไทย- มาเลเซีย  (ประเทศไทย) จำกัด ได้บุกรุกเข้าครอบครองทางสาธารณะดังกล่าว  ประชาชนในพื้นที่พยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งการแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย  แต่ปรากฏว่าทางสำนักงานอัยการจังหวัดสงขลาก็สั่งไม่ฟ้อง ทั้งที่การประกาศพระราชกฤษฎีกาในปี 2549  เป็นการประกาศภายหลังจากที่บริษัทดำเนินการปิดกั้นเส้นทางไปแล้วตั้งแต่ปี 2546 ก็แสดงชัดเจนอยู่แล้วว่า การกระทำของบริษัทเป็นการบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  การออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนอกจากเป็นการออกกฎหมายรับรองการกระทำผิดของบริษัท ทรานส์ ไทย- มาเลเซีย  (ประเทศไทย) จำกัด ย้อนหลัง เพื่อให้เป็นการครอบครองโดยถูกต้อง  ยังเป็นการออกกฎหมายยกเลิกเพิกถอนผลประโยชน์สาธารณะเพื่อประโยชน์ของเอกชนเพียงรายเดียวอีกด้วย

ในวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ เวลา 9.00 น. ทางกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ ได้เดินทางไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งในวันนั้นเป็นการประชุมคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนายดำรงค์ สุมาลยศักดิ์ รักษาการประธานคระกรรมการฯ และนายพิเชษฐ์ สถิรชวาลเป็นเลขาธิการ โดยตัวแทนกลุ่มปกป้อง ได้มีการแจกเอกสาร พูดคุยกับคณะกรรมการกลางฯที่มาเข้าร่วมประชุมดังกล่าว  และทางเลขาธิการได้รับหนังสือ ขอให้แก้คำวินิจฉัย กรณี ที่ดินวะกัฟ ดังกล่าว ซึ่งทางนายเขตรัฐ เทพรัตน์ รองเลขาธิการได้รับปากว่าจะนำเรื่องนี้เข้าวาระที่ประชุมคณะกรรมการกลางฯครั้งต่อไปในเดือนหน้า

 

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการกลางฯในครั้งนี้มี นายอิมรอน มะลูลีม ได้เป็นประธานผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักจุฬาราชมนตรี  ได้รับปากกับตัวแทนกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯว่า จะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิฯในการประชุมครั้งต่อไป

 

เวลา 13.00 น.ของวันเดียวกัน ทางกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟฯ ได้ยื่นหนังสือขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัย กรณีที่ดินวะกัฟ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับสำนักจุฬาราชมนตรี โดยมีนายศรราม(ฮากีม) อับดุลลากาซิม  เลขาผู้ช่วยจุฬาราชมนตรี ฝ่ายประสานองค์กร สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกมารับหนังสือพร้อมทั้งชี้แจงว่าเอกสารที่ทางกลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟต้องการได้แก่ รายงานการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรี อันนำไปสู่คำวินิจฉัย กรณีที่ดินวะกัฟ ทางสำนักจุฬาฯได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่า ถึงวันที่เข้าประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องที่ดินวะกัฟพร้อมรายชื่อผู้เข้าร่วมและคำชี้แจง รวมทั้งเอกสารจากรายงานจาก อิหม่ามการีม   อับดุลเลาะห์  ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิและคณะ ซึ่งเข้าไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงในพื้นที่ ส่วนเอกสารประกอบการประชุมนั้น ซึ่งประกอบไปด้วย เอกสารการสอบสวนจากสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา เอกสารจาก บริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัดนั้น ทางนายศรรามได้กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวได้หายไปจากสำนักงานฯ จึงไปดำเนินการแจ้งความ สถานีตำรวจลำหินเพื่อเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ลงวันที่ 5ก.พ.51 โดยมี พ.ต.ต.วิษณุ ตุยานนท์ พนักงานสืบสวนสอบสวน (สบ.2) สน.ลำหิน เป็นผู้รับเรื่อง

 

นางจันทิมา ได้กล่าวถึงการเดินทางมากรุงเทพฯในครั้งนี้ว่า ตนและกลุ่มยังคงเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ตามหลักการศาสนาและรัฐธรรมนูญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท