Skip to main content
sharethis

มุกดา ตฤณชาติ


การเคลื่อนไหวของขบวนการสนธิ จนกลายมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สืบเนื่องมาจนเป็นการรัฐประหาร 19 กันยา ล้วนใช้อุดมการณ์หลักของรัฐ คือสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาเพื่อเรียกร้องการยอมรับจากสังคม ปลุกเร้าประชาชนให้เข้าร่วมอย่างกระตือรือล้นและเป็นอันหนึ่งอันเดียว ตลอดจนสร้างความชอบธรรมในการกระทำของกลุ่มพวกตน ด้วยการตั้งข้อหาขายชาติ แทรกแซงกิจการศาสนา ลบหลู่สถาบันเบื้องสูง แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ


ประชาชนที่เข้าร่วมและเห็นด้วยต่างก็รู้สึกว่าตนเป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ขณะที่ประชาชนที่ไม่เข้าร่วม ไม่เห็นด้วย ไม่ต้องพูดถึงผู้ที่เห็นชอบด้วยกับอีกฝ่ายหนึ่ง ถูกแบ่งแยกให้เป็นอื่น ไม่รักชาติ และเป็นฝ่ายตรงข้าม


นี่ถือเป็นลัทธิชาตินิยมอย่างหนึ่ง [1] ที่น่าหัวร่อคือเป็นการใช้ชาตินิยมอันเป็นลักษณะที่คับแคบและไม่เป็นประชาธิปไตย [2] โดยองค์กรที่อ้างการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย


ใช้ความเป็นชาติไทยที่คลุมเครือลื่นไหล มาสร้างให้ทักษิณให้เป็นทรราชย์ที่เด่นชัด ขณะเดียวกันก็ใช้ทักษิณขับเน้นความเป็นชาติไทยที่ดูเบาบางในกระแสโลกาภิวัตน์ให้กลับมามีพลังในสังคม


เลยมาถึงการรณรงค์ทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ มาจนถึงการเลือกตั้ง ส.ส. คณะรัฐประหารเพื่อความเป็นไทยก็ใช้กระบวนการเหล่านี้ในการโหมประโคมอุดมการณ์รัฐ และเรียกร้องความรักชาติ กระบวนการประชาธิปไตยกลับถูกนำมาใช้พิสูจน์ความรักชาติ


หรือแม้แต่เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นด้านกลับของกระแสบริโภคนิยมที่เชี่ยวกรากในยุคทักษิณ ในสถานการณ์เช่นนี้รัฐก็นำมาตีฆ้องร้องป่าว และทำให้กลายเป็นเรื่องของความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ไปด้วย!!!!


แล้วใครล่ะได้ประโยชน์ในกระบวนการนิยามความเป็นชาติไทย และกระแสชาตินิยมใหม่ในครั้งนี้


ลองสำรวจดูอย่างคร่าวๆ


นายทหารและกำลังพลที่มีส่วนในการรัฐประหาร, องคมนตรี,ประธานองคมนตรี ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักเป็นอย่างยิ่ง ได้รับการขึ้นเงินเดือน งบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้น กองทัพและกอ.รมน.ได้รับการสถาปนาให้กลับมามีบทบาทใหม่ในสังคม ธงเหลือง เสื้อเหลืองแลดูละลานตา บทบาทรัฐและข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเหนือประชาชนด้วยรัฐธรรมนูญปี 50 และกฎหมาย สนช.


แต่หากดูผลการลงประชามติ และโดยเฉพาะผลการเลือกตั้งภายหลังสถานการณ์รัฐประหาร กลับไม่ได้มีทิศทางตามที่ผู้ก่อการรัฐประหาร และผู้สร้างเหตุปัจจัยให้แก่การรัฐประหารคาดหวังจะให้เป็น นี่แสดงถึงอะไร?


การกล่าวอ้างว่ารักชาติและเรียกร้องความรักชาติของอภิชนกลุ่มนี้ กาลเวลาและปรากฏการณ์ได้พิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นแล้วว่า แท้จริงแล้วเป็นเรื่องจอมปลอม ชาติเป็นอุดมการณ์ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการครอบงำ สร้างความชอบธรรมในการสถาปนาตนเองขึ้นมามีอำนาจนำ เป็นสถาบันหลัก เป็นอภิชน และแสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญส่วนตน


หรือว่าความเป็นชาติที่เป็นหนึ่งเดียวไม่มีตัวตนอยู่จริง ชาติในความหมายที่รัฐใช้ กับชาติของประชาชนเป็นคนละเรื่องกัน


หรือแสดงว่าความเป็นชาติไม่ได้ให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชน เงาของธงชาติที่ทาบทับอยู่เหนือแผ่นดินไทยไม่ได้ให้ความร่มเย็น แต่กลับกดทับให้ร้อนอบอ้าว และอึดอัดจนแทบหายใจไม่ออกมาตลอด ชาติที่เป็นเครื่องมือของรัฐทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยไร้ที่ยืน หรือยืนอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีในสังคม ขณะที่คนตัวโตอิ่มหมีพีมัน และโตขึ้นๆ คนที่ถูกกดทับเหล่านั้นจึงแสดงอาการต่อต้านเมื่อมีโอกาส


หรือว่าถูกทุกข้อ???


ย้อนกลับไปดูเส้นทางการพัฒนาสู่ความเป็นทุนนิยมเสรีของไทย


รัฐและนายทุนล้วนใช้ชาตินิยมเป็นข้ออ้างหรือเครื่องมือในการคุ้มครองทุน [3] ไม่ว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ยกเว้นภาษี มาตรการทางการคลังที่ส่งเสริมการลงทุนและช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ให้สัมปทานทรัพยากรสาธารณะของชาติ ตรึงค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ป้องปรามการเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งหมดนี้ล้วนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติ


แต่ชาติกลับไม่ได้หมายถึงประชาชน เพราะภายใต้การพัฒนาของชาติ ทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน, น้ำ, ป่าไม้, ทะเล, ภูเขา ฯลฯ) ที่เป็นหลังพิงของประชาชนถูกนำไปประเคนให้นายทุนทั้งในและต่างประเทศ หยาดเหงื่อของพวกเขาเป็นต้นทุนราคาถูกที่ล่อใจนักลงทุน ประชาชนถูกทำให้เป็น "เครื่องจักร" ในการผลิตอาหารและสินค้าเพื่อการบริโภคหรือส่งออก เป็น "ฟันเฟือง" เล็กๆ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนจักรกลการพัฒนาของชาติ ซึ่งไม่ต้องมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ไม่จำเป็นต้องมีแม้กระทั่งคุณภาพชีวิตในฐานะมนุษย์


ชาติเปรียบเหมือนบ้านหลังงาม ที่ผู้อยู่อาศัยได้ใช้ประโยชน์เป็นที่กินอยู่หลับนอน กันแดดกันฝน และปิดกั้นความรู้สึกไม่มั่นคงจากโลกภายนอก แต่ผู้อาศัยอย่างเป็นสุขในบ้านอาจไม่เคยคิดถึงคนสร้างบ้านที่ต้องอยู่ในเพิงพักสังกะสีที่ร้อนหมือนเตาอบ ได้ค่าแรงที่อาจไม่พอเลี้ยงปากท้องและครอบครัว คนสร้างบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบไม่เคยมีตัวตนและไม่มีความหมายต่อผู้อยู่ในบ้าน


เช่นเดียวกับรัฐและคนส่วนหนึ่งซึ่งไม่เคยมีจินตนาการถึงคนที่ลงแรงสร้างความเจริญของชาติ อาหาร สิ่งก่อสร้าง ระบบขนส่ง ไฟฟ้า พลังงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ และที่ยังไม่กล่าวอีกมากมาย แม้กระทั่งการอยู่ดีมีสุขของคนบางกลุ่ม ล้วนมาจากการบีบเค้นพลังแรงงานของประชาชนคนชั้นล่าง ขับไสพวกเขาจากวิถีชีวิตที่เคยอยู่เคยเป็น ชาติพัฒนามาได้ด้วยหยดเหงื่อและชีวิตคนเหล่านี้เช่นกัน มิใช่ด้วยเดชานุภาพของสถาบันหลักเท่านั้น แต่พวกเขากลับไร้คุณค่า ถูกเบียดขับให้อยู่ชายขอบ และไม่ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของ "ชาติ"


ถึงแม้กระแสชาตินิยมที่ถูกปลุกโดยผู้ก่อการรัฐประหาร จะถูกชี้โดยคนส่วนใหญ่แล้วว่าเป็นเรื่องไร้ความหมาย แต่อุดมการณ์ชาติก็จะยังคงฟุ้งกระจายอยู่ในเส้นทางประชาธิปไตยที่มีทุนนิยมเป็นเป้าหมาย รัฐไทยจะยังคงกดขี่ ข่มเหง และขูดรีดประชาชนคนชั้นล่าง ทำให้พวกเขาไม่มีตัวตน [4] ด้วยวาทกรรม "การพัฒนาของชาติ" ต่อไป


ถึงเวลาหรือยังที่นิยามและอุดมการณ์ของชาติจะหมายรวมถึงประชาชนทุกคน


ถึงเวลาหรือยังที่ผลประโยชน์ของชาติจะได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนชนชั้นล่างทุกคนเสมอกัน


ถึงเวลาหรือยังที่เสียงแผ่วๆ ของคนเล็กๆ ในซอกหลืบของประเทศไทย (เช่น กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน อ.ลำนางรอง กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้า อ.ทับสะแก กลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากโครงการเหมืองแร่โปแตช ชาวบ้านปากมูล ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเขตการค้าเสรี ฯลฯ) จะดังและมีความหมายต่ออนาคตของชาติทัดเทียมกับเสียงอื่นๆ เสียที!!!


ดูเพิ่มเติมที่


[1] บทความเรื่อง "อันตรายของลัทธิชาตินิยมไทย(1)" ของธงชัย วินิจจะกูล http://fridaycollege.org/index.php?file=forum&obj=forum.view(cat_id=at-gen,id=281)


[2] บทความเรื่อง "ชาติ-ประชาธิปไตย" ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article2005february18p12.htm


[3] บทความเรื่อง "ชาตินิยมในโลกาภิวัตน์" ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/article2005oct31p1.htm


[4] บทสัมภาษณ์พฤกษ์ เถาถวิล: มองผลการเลือกตั้งมองตัวตนคนอีสาน http://www.prachatai.com/05web/th/home/10948

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net