Skip to main content
sharethis


สัมภาษณ์ : จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา


 


 


รัฐบาลรัฐประหารและสภาแต่งตั้งชุดที่แล้ว ได้ผลิตกฎหมายสื่อออกมา 5 ฉบับ คือ คอมพิวเตอร์, การพิมพ์, วิทยุโทรทัศน์, ภาพยนตร์ และที่ฮือฮาที่สุดดูเหมือนจะเป็น กฎหมายทีวีสาธารณะ ที่แปลงสภาพทีไอทีวีให้กลายเป็นไทยพีบีเอสในปัจจุบัน


 


ดูเหมือนว่า นี่จะเป็นการพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์การสื่อสารมวลชนไทยครั้งสำคัญ ดังที่บางคนกล่าวไว้ว่า ปี 2550 ที่ผ่านมา คือปีทองของการปฏิรูปสื่อ ประชาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งต่างชื่นมื่นและมีความหวัง คำว่า "ปฏิรูปสื่อ" กำลังจะกลายเป็นคำเชยๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีกบ่อยๆ หากเพียงไม่นาน หลังจากไม่กี่วัน รัฐบาลใหม่ก็แสดงวิสัยทัศน์ถึงการจัดระบบสื่อออกมาแล้ว


 


ในบรรยากาศพลิกผันเช่นนี้ ยังหลงเหลือที่ทางของ "การปฏิรูปสื่อ" หรือไม่ และจะไปทางใด "ประชาไท" มีโอกาสได้นั่งคุยยาวๆ กับ "สุภิญญา กลางณรงค์" รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ซึ่งทำงานด้านการปฏิรูปสื่อในประเทศไทยมานับ 10 ปี


 


 



 


 


 


 


1


"การปฏิรูปสื่อมีสองอย่าง คือ การปฏิรูปโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นอิสระมากขึ้น นี่คือหลักเรื่อง "Ownership" (ความเป็นเจ้าของ) อีกเรื่องคือหลักประกัน "สิทธิเสรีภาพ" ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกอย่างเป็นอิสระ"


 


 


2


"มันไม่มีกระแสปฏิรูปสื่อเลย เว้นแต่ว่ากระแสทางการเมืองอีกนั่นล่ะ มันจะเปลี่ยน เช่น ตอนนี้พรรคพลังประชาชนออกมาพูดว่า จะจัดระเบียบสื่อ เราก็อยากบอกว่า มาปฏิรูปสื่อเถอะ อย่าจัดระเบียบเลย ช่วยทำเรื่องปฏิรูปให้มันเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า"


 


 


3


"การดึงสื่อของรัฐมาจัดสรรใหม่ยังไม่เกิด แต่มีทีวีช่องหนึ่งที่กลายเป็นทีวีสาธารณะ..ซึ่งถามว่ามันคือการปฏิรูปหรือไม่เมื่อมันดึงหลักการเรื่องสื่อเอกชน สื่อเสรี มาเป็นสื่อสาธารณะ กลับมาเป็นสื่อของรัฐ.. ฉะนั้นเราก็จะสูญเสียหลักการเรื่องสื่อเสรีไป"


 


 


4


"ตอนนี้ทีวีเสรีถูกทำเป็นทีวีสาธารณะแล้ว กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลงบประมาณ ไม่ทางใดทางหนึ่งก็คือกลับเข้าไปอยู่ในอ้อมอกของรัฐ"


 


 


5


"สื่อสาธารณะ มันคือสื่อที่ต้องสะท้อนความสนใจความต้องการของ Majority ในสังคม แล้วถ้าถามว่า ในเมืองไทย ใครคือ majority ของสังคม คนเมืองหรือชนบท ดังนั้น ถ้าทีวีสาธารณะเน้นสนองคนเมืองมากกว่า มันก็อาจไม่เรียกว่า 'สาธารณะ' ได้สมบูรณ์แบบ เพราะว่าคนเมืองอาจจะเป็นคนแค่ 30% ของประเทศ ขณะที่สาธารณะคือคนอีก 70% ของประเทศหรือไม่"


 


 


6


"ในกฎหมายองค์กรสื่อสาธารณะ กฎหมายทั้งฉบับไม่ได้พูดถึงทีไอทีวีเลย มีแค่มาตราเดียวในบทเฉพาะกาล ซึ่งมาตรานั้นเอาลิควิดลบ เขียนว่าเป็น ช่อง 5 มันก็คือยึดช่อง 5 เขียนช่อง 3, ช่อง 7 ก็เป็นช่องนั้น มันอยู่ที่รัฐจะเอาช่องอะไร มันไม่ได้ปูเจตนารมณ์ มันแค่บอกว่าต้องมีหนึ่งช่องทีวีสาธารณะ และมาตราเดียวในบทเฉพาะกาลเขียนว่า เอาไอทีวีนี่ล่ะ ก็เลยยึดไอทีวีเอาเลยในคืนเดียว รัฐบาลพลังประชาชนจะแก้มาตรานี้ก็เป็นไปได้ เช่นเปลี่ยนเป็นจะยึดช่อง 5 หรือช่อง 11 วันรุ่งขึ้นก็จะตกงานกันหมด"


 


 


7


"ถ้าทีวีสาธารณะถูกแทรกแซงด้วยรัฐบาลคุณสมัครล่ะ แล้วทีนี้มีคนลุกขึ้นมาคัดค้าน แล้วคนจะอ้างเจตนารมณ์อะไรในการปกป้องทีวีสาธารณะช่องนี้ นอกจากเจตนารมณ์จากการรัฐประหาร 19 กันยา หรือเจตนารมณ์จากการล้มทักษิณ เป็นต้น มันก็ยากอีก ต้องสู้รบกันอีก ไม่รู้จะเริ่มหรือจบตรงไหน"


 


 


8


"การเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์มันไม่ใช่การปฏิรูป คือความเป็นเจ้าของมันครึ่งๆ ระหว่างรัฐ เสรีภาพทางการเมืองมันก็ไม่มี ขณะเดียวกัน เป็นเอกชน ผู้ถือหุ้นก็ไม่สนใจอะไรมาก เขาอาจจะดูความนิยม แต่ไม่ได้ดูว่ารายการจะถูกแทรกแซงหรือไม่แทรกแซง มันเหมือนไม่มีแกนกลาง มันดึงมาจากซ้ายก็ไปขวา แต่ถามว่ารัฐบาลทักษิณพยายามปรับไหม เขาพยายามปรับใหญ่เชียวล่ะ ถึงมีแรงต้านไง"


 


 


9


"มันเปราะบาง ขนาดสิ่งที่มีเจตนารมณ์แบ็คอัพยังอยู่ได้ไม่นานเลย ไอทีวีมีเจตนารมณ์เรื่องการปฏิรูปสื่อพฤษภา 2535  วิทยุชุมชนมีเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 มันมีที่มา มันยังง่อนแง่นเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจากจุดหักเหทางการเมือง ไม่มีเจตจำนงร่วมของสังคมสนับสนุนมากนัก มันจะรอดไหม เราก็ไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายนะ เพราะถ้ามันทำได้แล้วดีขึ้นมาก็จะมีความสุขไปด้วย"


 


 


10


"สำหรับคนที่มีความเชื่อ ก็น่าจะลองดู แต่ก็ให้รู้ไว้บนพื้นฐานว่ามันก็ไม่แน่นอน แรงเหวี่ยงทางการเมืองมีอยู่ ต้องเผื่อใจ และถ้าอะไรที่มันมีความไม่ชอบธรรมค้างคาอยู่ วันหนึ่งมันอาจจะพลิกอีกมุมหนึ่งได้เสมอ เมื่อเรานิยมอำนาจในการเปลี่ยนแปลง อำนาจเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน เท่านั้นเอง"


 


 


11


"อะไรที่รัฐบาลกับ สนช. ทำใส่พานมาแล้วดีกับรัฐบาลใหม่ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.สื่อฯ อื่นๆ เขาก็ใช้มันเลย ส่วนอะไรที่ไม่ดี หรือเขาไม่ถูกใจ รู้สึกเหมือนถูกแย่งมาเช่น พ.ร.บ.สื่อสาธารณะยึดไอทีวี เขาก็คงเข้ามาเปลี่ยนแปลง ทุกคนก็มองเกมนี้ออกอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทุกอย่างมันมีที่มาของมัน  เขามีเรื่องความชอบธรรมที่จะอ้าง จุดอ่อนของการรัฐประหารคือจุดแข็งของรัฐบาลนี้"


 


 


12


"สังคมไทยไม่มีองค์กรที่ธำรง Higher Principle หรือมาตรฐานที่มันสูงไปกว่าความขัดแย้งทางการเมือง ก้าวพ้นอคติ แม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ควรธำรงตรงนี้ แต่ก็ยังถูกวิจารณ์หนักในรอบปีที่ผ่านมา พอเป๋แม้นิดเดียว ความน่าเชื่อถือมันก็เหวี่ยง คปส. ก็ไม่สามารถธำรงได้เสมอต้นเสมอปลาย"


 


 


 


000


 


 


 


ประชาไท - ปีที่ผ่านมา เรามีกฎหมายใหม่ๆ เกี่ยวกับสื่อออกมา 5 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ประกอบกิจการว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์, พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ, พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์, พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่อีกก้าวหนึ่งของการปฏิรูปสื่อรึเปล่า


 


สุภิญญา -  คงไม่ใช่ เพราะสำหรับเรา การปฏิรูปสื่อมีสองอย่าง คือการปฏิรูปโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นอิสระมากขึ้น นี่คือหลักเรื่อง "Ownership" (ความเป็นเจ้าของ) อีกเรื่องคือหลักประกัน "สิทธิเสรีภาพ" ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการแสดงออกอย่างเป็นอิสระ


 


การปฏิรูปสื่อตามแนวที่ คปส. (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ) ทำมาในยุคแรกๆ ตั้งแต่ปี 2540-2546 เราจะเน้นการรณรงค์เรื่องปฏิรูปโครงสร้างสื่อของรัฐ คือเราพยายามจะชูว่าต้องดึงสื่อของรัฐคืนมาให้ภาคเอกชน ประชาชน จัดสรรใหม่อย่างมีระบบที่โปร่งใส เช่น ช่อง 5 ช่อง 11 วิทยุทหาร ฯลฯ


 


แต่หลังจากปี 2546 จนถึง 2549 เป็นยุคที่มีรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แล้วต่อมาก็มีรัฐประหาร มีปรากฏการณ์การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเยอะ คปส. เลยมาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นใน 5 ปีหลัง พูดเรื่องการดึงสื่อของรัฐมาปฏิรูปน้อยลง แต่ก็ยังจับตาเรื่องวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการจัดสรรคลื่นความถี่สู่ท้องถิ่น


 


เมื่อถามว่า การปฏิรูปสื่อสำเร็จหรือยัง ถ้าเราดู "โครงสร้างสื่อ" ก็เหมือนกับมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ มองแค่ตัวปรากฏการณ์นั้น การปฏิรูปสื่อ การดึงสื่อของรัฐมาจัดสรรใหม่ยังไม่เกิด แต่มีทีวีช่องหนึ่งที่กลายเป็นทีวีสาธารณะ มันมีการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็คือโครงสร้างสื่อไอทีวี ซึ่งถามว่ามันคือการปฏิรูปหรือไม่เมื่อมันดึงหลักการเรื่องสื่อเอกชน สื่อเสรี มาเป็นสื่อสาธารณะ กลับมาเป็นสื่อของรัฐ เอาละอาจจะบอกว่า นี่คือสื่อสาธารณะที่เป็นอิสระมีโครงสร้างที่ไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ แต่งบประมาณล่ะมาจากไหน ก็มาจากรัฐ ปีละสองพันล้าน ซึ่งในระยะยาวเงินสองพันล้านนี้อาจจะเป็นเงินเล็กน้อยที่ต้องพิจารณาว่าจะเพิ่มหรือไม่ โดยผู้มีอำนาจก็คือรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง


 


ฉะนั้นเราก็จะสูญเสียหลักการเรื่องสื่อเสรีไป หลังจากมันถูกเรียกร้องมาตอนหลังพฤษภาคม 35 ว่ามีแต่สื่อของรัฐ พึ่งไม่ได้ ไม่อิสระ เลยต้องมีสื่อเอกชน แต่ตอนนี้สื่อเอกชนในช่วงรัฐบาลทักษิณก็ถูกสร้างวาทกรรมว่ามันเหลวแหลก มันก็เลยถูกดึงกลับมาเป็นสื่อของรัฐใหม่ มันก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแล้วหนึ่งอย่างเล็กๆ แต่ถามว่าเปลี่ยนโครงใหญ่ทั้งหมดไหมในรอบ 10 ปี มันก็เหมือนเดิม แต่คนอาจจะมองว่านี่คือการปฏิรูปสื่อแล้วที่สามารถเปลี่ยนไอทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะได้ แต่ในมุมของเรา คิดว่าตราบใดโครงสร้างทั้งระบบไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน ปฏิรูปก็สื่อยังไม่เกิด ภาพรวมมันก็จะไม่เปลี่ยนแปลง


 


ส่วนเรื่อง "สิทธิและเสรีภาพ" การออกกฎหมาย 4-5 ฉบับมันเป็นหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์ 2473 และที่ปรับปรุงแก้ไขตามมา พ.ร.บ. การพิมพ์ 2484 และพ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 2498 มีเนื้อหาล้าหลังไม่ทันสมัยจริง แล้วการปรับใหม่มันก็ดีขึ้นในเรื่องของการประกอบการ แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพยังถูกคุมแน่นหนาเหมือนเดิม คงมีแต่ พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์อย่างเดียวที่มีเนื้อหาดีขึ้นกว่าเดิม ส่วน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ยังมีมาตรการให้รัฐเป็นคนตัดสินใจแทนเราอยู่ดีว่าอะไรควรดูไม่ควรดู พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ก็ยังมีมาตราให้รัฐมีอำนาจสั่งเซ็นเซอร์ได้โดยง่าย


 


ที่ผ่านมา หลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ กับหลักการเรื่องปฏิรูปสื่อเชิงโครงสร้าง มันหายไป ความขลัง มันหายไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 เจตนารมณ์มันก็หายไปด้วย


 


เพราะฉะนั้นแม้เราจะมีกฎหมายใหม่มา มันก็เหมือนกับไม่ได้เป็นหลักประกันแน่นอนว่าทำให้สิทธิเสรีภาพดีขึ้นหรือไม่อย่างไร แต่มันก็ต้องดูต่อ ทั้งนี้มันก็ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและวัฒนธรรมทางการเมืองขณะนั้นด้วย


 


 


- ขอขยายความสักนิด นอกเหนือจาก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ที่มองว่าเนื้อหาดีขึ้นแล้ว พ.ร.บ. ตัวอื่นไม่ดีไปกว่าแบบเดิมที่มีอยู่หรือ อย่างน้อยก็เทียบกับของเก่าก่อนหน้านี้


ถ้ามุมสิทธิเสรีภาพ คิดว่าเท่าเดิม แถมบทลงโทษอาจจะหนักกว่าเดิม แต่ในมุมการประกอบกิจการ บางอันเรียกว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ขึ้น อย่าง พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ มีการรองรับการประกอบกิจการเป็น 3 ประเภท (รัฐ เอกชน ประชาชน) มีการเปิดโอกาสให้ขอใบอนุญาตได้ เคเบิลทีวีให้มีโฆษณาได้ (แต่ตามหลักการแล้วไม่น่าจะได้เพราะเป็นทีวีที่สมาชิกจ่ายค่าดูอยู่แล้ว) วิทยุชุมชนก็ขอได้จำแนกตามประเภท คือมันทันสมัยขึ้น ยอมรับความเป็นจริงให้สื่อต่างๆ สามารถประกอบการทำให้สามารถเกิดสื่อหลายแขนงได้ มันดีขึ้นเพราะของเก่ามันล้าหลังมาก ไม่ได้รองรับการประกอบการหลากหลายประเภท


 


 


- แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพที่สะท้อนออกมาในกฎหมายสื่อ 4-5 ฉบับนี้เป็นอย่างไร


สังคมไทยยังไม่หลุด เพราะยังไงก็ต้องมีบทบัญญัติให้รัฐเป็นคนควบคุมว่าอันไหนจะเผยแพร่ได้หรือไม่ได้ ทีนี้ ถ้าคนเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิเสรีภาพว่ากระบวนการตัดสินใจจะไม่ผูกที่รัฐเป็นตัวหลักก็อาจจะไม่พึงพอใจในมุมนี้ แต่ถ้าคนมองว่าสังคมก็ต้องมีรัฐดูแลเรา เขาก็อาจจะบอกว่าดีก็ได้ เพราะเขาก็อาจจะแย้งว่าให้รัฐดูแลแต่จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับกลไกทางสังคม อย่างกรณีละครสงครามนางฟ้า (กลุ่มแอร์โฮสเตสออกมาประท้วงละครเรื่องดังกล่าว ที่ทำให้ภาพลักษณ์วิชาชีพแอร์โฮศเตสเสียหาย- ประชาไท) สุดท้ายมันอาจจะเป็นแรงกดดันทางสังคมมากกว่า โดยรัฐอาจไม่ได้ลุกขึ้นมาสั่งแบน


 


แต่เรื่องกฎหมายมันก็ยังเป็นตัวกดการแสดงความคิดเห็นอยู่ดี โดยเฉพาะบทลงโทษ และการมองว่าการแสดงความคิดเห็น ความคิด ความเชื่อ ยังเป็นความผิดในทางอาญา เช่นในกฎหมายหมิ่นประมาทก็ดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ก็ดี ตอกย้ำว่าการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ แม้จะเป็นสิทธิพื้นฐานแต่ก็อาจจะมีความผิดทางอาญาได้ คุณสมัคร สุนทรเวช อาจจะไม่ได้เป็นนายกฯ เพียงเพราะผิดกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นคดีอาญา ซึ่งถ้าคุณสมัครอยู่ในประเทศที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ใช่คดีอาญา เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ คุณเทพชัย หย่อง (ผ.อ.ไทยพีบีเอส) ก็เคยโดนเล่นงานฐานหมิ่นประมาทเหมือนกัน


 


มันน่าสนใจว่าแค่คดีหมิ่นประมาทก็สามารถเป็นเครื่องมือเล่นงานให้คนเป็นหรือไม่เป็นนายกฯได้ ขณะที่มาตรฐานบางประเทศ หรือมาตรฐานสหประชาชาติ มองว่า ถ้าเป็นเรื่องแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะผิดยังไง ก็ควรจะลงโทษวิธีอื่น เช่น ไปบำเพ็ญประโยชน์ดีกว่า หรือขอโทษกัน ไม่ต้องมีบันทึกว่าเป็นความผิดทางอาญา แต่ในเมืองไทยก็ปรากฏว่ามันเป็นความผิดทางอาญา เป็นประวัติติดตัวที่สามารถมาสู้กันทางการเมืองได้ ว่าคุณก็เคยมีประวัติอาชญากรรม มันเป็นเรื่องวิธีคิดที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ท้าทายสังคมไทย ถ้าปรับมาตรฐานตรงนี้ได้มันจะนำไปสู่การยกระดับ สิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และ สิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สิทธิในการชุมนุม เป็นต้น


 


ในสังคมไทย ถ้าเราถูกฟ้องหมิ่นประมาท เราต้องพิสูจน์ว่าเราพูดโดยสุจริตใจ (good faith) และเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ถ้าเราพูดไม่สุจริตใจ เราจะอ้างสิทธิเหล่านั้นฟังไม่ขึ้น มันเลยกลายเป็นว่าดูที่จิตใจ ดูที่ความบริสุทธิ์ใจ มันไม่มีหลักเรื่องสิทธิที่หนักแน่น ทีนี้ถ้าเรามองว่า เรื่องสิทธิควรจะเป็นหลักที่ถูกปลูกฝัง การเขียนกฎหมายมันต้องเปลี่ยนวิธีคิด แต่มันเรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายในรัฐบาลยุคทักษิณหรือรัฐบาลทหารก็ตาม อันนี้มันอาจจะอยู่นอกเหนือบริบททางการเมือง เพียงแต่ว่ารัฐบาลทหารที่ผ่านมามันเอื้อให้แนวคิดอำนาจนิยม หน่วยงานราชการ ที่ผลักดันกฎหมายมันมีพลัง มีอำนาจต่อรอง แล้วกฎหมายก็ผ่านได้เร็วขึ้น


 


แต่ว่ารัฐไทยที่ผ่านมา ไม่มีใครกล้าพอจะบอกว่า ไม่ต้องให้รัฐเป็นคนกำหนด สร้างกลไกใหม่ขึ้นมาตัดสิน กรณีหมิ่นประมาท หรือแม้กระทั่ง การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ยากที่ใครจะเสนอว่าไม่ใช่ความผิดทางอาญา เพราะทุกคนก็ยังมองว่านี่คือสิ่งที่มันผิดทางอาญา  แนวคิดที่มันแฝงอยู่ในกฎหมายทุกฉบับ ยังเป็นข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพ ที่ทำให้การปฏิรูปสื่อมันคืบไปยาก รัฐธรรมนูญที่รองรับสิทธิเสรีภาพมันก็ไม่เคยมีความหมาย เพราะเรายึดกฎหมายต่างๆ มากกว่า  ต่างจากอเมริกา ที่เอะอะก็อ้าง first amendment หรือพลเมืองยุโรปก็สามารถฟ้องศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ ถ้ารัฐของตนเองไม่ปกป้องสิทธิเสรีภาพให้ดีพอ เลยต้องอิงมาตรฐานระดับภูมิภาค แต่ของเรายังไม่มีกลไกตรงนั้น


 


 


- ตลอดการทำงานที่ผ่านมาเรื่องการปฏิรูปสื่อ ก็จะมีโจทย์และหลักการใหญ่ มีเรื่อง Ownership เรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป อาจมีจุดที่การทำงานปฏิรูปสื่อต้องเน้นแตกต่างกันไป ดังนั้นในบริบทสังคมตอนนี้ ภายหลังรัฐบาลรัฐประหาร มาสู่รัฐบาลเลือกตั้ง อะไรคือสิ่งที่ต้องคำนึงหลักเพื่อผลักดันให้การปฏิรูปสื่อไปข้างหน้า


ยอมรับว่าตอบคำถามนี้ยาก บางเรื่อง การผลักดันมันต้องเหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ ใน คปส. เอง ก็ยังคุยกันว่า งานของเรา องค์กรของเรา อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว คือมันเหมาะกับกระแสเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคนเพิ่งก้าวผ่านจากพฤษภาคม "35 มีรัฐธรรมนูญใหม่ กำลังอยากเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ กระแสคนรู้สึกว่า รัฐ ทหาร ไม่ดี ต้องเอาสื่อคืนมา มันไปทางนั้น


 


คปส. ก็เกิดขึ้นในบริบทหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ต้องเชิดชูวาทกรรมเสรีประชาธิปไตย เอาสื่อของรัฐมาเป็นของเอกชน ประชาชน เราเกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองแบบนั้น แต่ก็มีจุดหักเหตอนปี 2549 กับการเกิดรัฐประหาร


 


แม้การเมืองมันเปลี่ยนไป เหมือนเรายังย่ำอยู่ที่เดิม พูดเรื่องเดิม รัฐบาลทักษิณเข้ามา ก็มีเงื่อนไขทุนเข้ามา ซึ่งก็ทำให้คนรู้สึกช้ำใจกับระบบทุนนิยมมาก ทั้งที่จริงๆ ระบบทุนนิยมมันอาจจะอยู่ในทุกเงื่อนไขเพียงแต่คนเข้าไปจับว่าคุณทักษิณเป็นภาพสะท้อนของมัน ทุกอย่างถ้าให้อยู่ในมือเอกชนจะแย่หมด การที่ยังอยู่กับรัฐอาจจะดีก็ได้ อีกคนอาจจะรู้สึกว่า มันเป็น Impossible dream ที่จะไปปฏิรูปเอา ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 ก็เลยมาเอาไอทีวี


 


แล้วในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เอาเข้าจริงแล้ว สังคมไทยอาจจะไม่ได้รู้สึกว่ามันจำเป็นก็ได้ เพราะอย่างเรื่องแอร์การบินไทยที่มาประท้วง ส่วนใหญ่คนก็อาจจะเห็นด้วย ก็ไม่ได้ชื่นชมละครของค่ายนี้ว่าดี ในแง่คุณภาพมันก็ยังขาดความรับผิดชอบในความเป็นวิชาชีพ ขาดความลึกซึ้งละเอียดลออ ละครไทยส่วนใหญ่ขาดมิติตรงนั้น เพียงแต่ว่า ในมุมหนึ่ง ถ้าทุกอาชีพที่ถูกเกี่ยวพันในละครลุกขึ้นมาประท้วง ขอให้รัฐถอดรายการได้หมด มันก็มีนัยยะสำคัญเหมือนกันต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อย่างนี้ไม่ต้องพูดถึงอาชีพอื่นๆ หรืออำนาจอื่นที่ใหญ่ไปกว่านี้ เพราะคนก็ต้องรับไม่ได้กับการที่จะต้องถูกเสียดสี วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็เข้าใจนะว่า คุณภาพละครก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย การลุกขึ้นมาประท้วงก็เป็นสิทธิของคนทุกกลุ่ม แต่จุดสำคัญคือ เราให้อำนาจใครเป็นคนตัดสิน ถอดหรือไม่ถอดรายการนั้นมากกว่า  


 


แต่นี่ล่ะ คือเรื่องยาก เวลาเราพูดเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในใจเรานึกถึงเสรีภาพทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์ แต่สังคมโดยรวมกันไม่อือออด้วย เพราะคนในสังคมจะรู้สึกว่าสมัยนี้ทุกคนมีเสรีภาพล้นเหลือ ดูละครเรื่องนี้สิตบกันกระฉูด แสดงความเห็นในอินเตอร์เน็ตกันกระจาย


 


บริบทคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ที่น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ เขาก็เป็นพ่อเป็นแม่ เขาเห็นสังคมมันดูฟอนเฟะ ทุนนิยมก็ฟอนแฟะ เขาก็อาจจะรู้สึกว่า บางทีมีเสรีภาพมากไปก็ไม่ดี สาธารณะชนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่ามันมากไปแล้ว มันควรมีความรับผิดชอบมากกว่า สื่อก็เป็นเป้าให้ถูกวิจารณ์ตลอดว่า เสรีภาพเกินขอบเขตไปแล้ว อินเทอร์เน็ตก็เกินขอบเขต วิทยุชุมชนก็เปิดกันใหญ่ คลื่นทับคลื่นแล้วมีแต่เพลง หนังสือพิมพ์ก็มีแต่เรื่องดารา ใช้เสรีภาพที่มีเต็มที่ มันเลยทำให้ไม่ง่ายเวลาเราจะรณรงค์เรื่องนี้ แม้เราอยากจะรณรงค์ในเชิงแนวคิด เช่นเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทไม่ใช่ความผิดทางอาญา การแสดงความคิดเห็น ความเชื่อไม่ใช่อาญากรรม ก็ยิ่งไปกันใหญ่


 


ยิ่งเรื่องปฏิรูปสื่อคืนจากช่อง 3, 5, 7,9,11 ก็คิดว่าลึกๆ ถ้าถามว่าคนอยากให้เป็นอย่างนั้นไหม คนก็คงอยาก แต่คงหมดอารมณ์ไปแล้ว เหมือนยอมแพ้ไปแล้ว คำถามคือ ทำไมคนถึงไม่ยอมแพ้กับช่องไอทีวี เพราะมันยังใหม่ใช่ไหม มันง่ายกว่าใช่ไหม มันขึ้นอยู่กับทิศทางการเมืองใช่ไหม พอคุณทักษิณหมดอำนาจแล้วดึงมามันง่ายกว่า ขณะที่ช่องอื่นๆ เขาก็อยู่ของเขาอย่างนั้นจะไปดึงจากเขามายังไง แล้วถ้าคุณทักษิณกลับมาแล้วดึงกลับไปใหม่มันก็อาจจะได้ใช่ไหม มันเหมือนเป็นตุ๊กตาล้มลุก


 


ฉะนั้น ถ้าพูดถึงบริบทการปฏิรูปสื่อในยุคนี้มันควรจะเป็นอย่างไรต่อไป ดูเหมือนว่าการพูดในภาพกว้าง ภาพรวมให้มันเป็นหลักการ มันขาดความขลังไปแล้วในตัวของมันเอง เราพูดว่าเรามาปฏิรูปสื่อทั้งระบบเถอะ ยึดคืนสื่อจากรัฐเถอะ มันเหมือนเป็นเสียงที่ทะลุหูซ้ายเข้าหูขวา มันก็พูดได้ แต่แล้วยังไงล่ะ มันไม่ practical (เป็นจริง) เลยยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า กระแสเรื่องการปฏิรูปสื่อทั้งระบบในตอนนี้ ที่จะให้เอ็นจีโอ หรือองค์กรสื่อ มาระดมว่ามาปฏิรูปสื่อทั้งระบบกันเถอะ ในภาวะตอนนี้มันดูเหมือนค่อนข้างยาก คือมันไม่มีกระแสเลย เว้นแต่ว่ากระแสทางการเมืองอีกนั่นล่ะ มันจะเปลี่ยน เช่น ตอนนี้พรรคพลังประชาชนออกมาพูดว่า จะจัดระเบียบสื่อ เราก็อยากบอกว่า มาปฏิรูปสื่อเถอะ อย่าจัดระเบียบเลย ช่วยทำเรื่องปฏิรูปให้มันเป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า


 


 


- อย่างไรก็ตาม หลักการเรื่องความเป็นเจ้าของสื่อ (Ownership) และหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ คือหมุดสำคัญของการปฏิรูปสื่อ ไม่เปลี่ยนแปลงใช่ไหม


นี่คือแนวทางของมัน การปฏิรูปสื่อ ถ้ามีเสรีภาพอย่างเดียวแต่ไม่มีพื้นที่ให้พูด มันก็จบ กระจายโครงสร้างอย่างเดียว มีช่องเยอะแยะโดยไม่มีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ มันก็จบเหมือนกัน ดังนั้นการกระจายคลื่นก็เป็นเรื่องควรทำ มันไม่ควรมีเจ้าของเดียว พร้อมกับการมีสิทธิเสรีภาพ มันต้องอิงไปด้วยกัน


 


ตอนนี้แม้ว่ารัฐจะไม่พยายามเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง แต่เทคโนโลยีก็เป็นตัวแปรเข้ามาช่วย เช่นการผลักดันทีวีดิจิตัล มีทีวีเป็นร้อยเป็นพันช่อง และอินเตอร์เน็ตก็ให้พื้นทื่ใหม่ๆ ที่กระจายไปยังผู้คนที่เคยกระจุกอยู่กับช่อง 3,5,7,9 มาบริโภคข่าวในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ก็อาจมาช่วยได้ในระดับหนึ่งในระยะยาว ซึ่งบทบาทอินเตอร์เนทจะมีความสำคัญกับสังคมไทยมากในระยะ 5-10 ข้างหน้านี้  


 


แต่ถ้าคนยังดูทีวีอยู่เยอะ 80-90% เท่ากับว่าคนส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารจากโทรทัศน์ระดับชาติ ตราบใดที่ยังไม่ได้ปรับโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยมาก มันยังเป็นของรัฐ ใครเข้ามาบริหารประเทศก็ยึดได้ทุกช่อง แล้วยิ่งตอนนี้ทีวีเสรีถูกทำเป็นทีวีสาธารณะแล้ว กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลงบประมาณ ไม่ทางใดทางหนึ่งก็คือกลับเข้าไปอยู่ในอ้อมอกของรัฐ


 


 


- ทีวีสาธารณะก็คือทีวีของรัฐอีกช่องหนึ่งนั่นเอง?


ถ้ามันทำให้สาธารณะได้ ถ้ามันมีจิตวิญญาณสาธารณะ ก็ดี เพียงแต่ว่าการออกแบบเรื่องเงิน การที่จะขึ้นอยู่กับภาษีเหล้าบุหรี่ 100% มันก็ไม่ได้บ่งบอกถึงสาธารณะ มันก็คือคนที่สูบบุหรี่กินเหล้าเท่านั้นถึงจะรู้สึกเป็นเจ้าของ คนที่ไม่สูบไม่กินก็คงไม่ใช่ กระทั่งคนสูบคนกินก็ไม่ทันได้นึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของทีวีสาธารณะ ไม่ได้รู้ตัว ไม่มีกระบวนการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมตรงนั้น


 


อย่างบีบีซีในอังกฤษ เวลาเราพูดเรื่องทีวีสาธารณะ เมืองไทยชอบอ้างบีบีซี ในเชิงหลักการนั่นก็ไม่ใช่ เพราะของเรามันไม่ใช่บีบีซี บีบีซีนี่เป็นของสาธารณะ เพราะคนต้องจ่ายภาษีทางตรง (License fee) คนรู้ตัวว่าต้องจ่ายไปเพื่อบีบีซี ทุกครัวเรือนมีสิทธิโดยเท่าเทียม ทุกบ้านร่วมเป็นเจ้าของ เขาทำให้มันเหมือนค่าน้ำค่าไฟ เราต้องจ่ายค่าบำรุงน้ำ บำรุงไฟ บำรุงโทรศัพท์ และคนที่ทำบีบีซีก็ต้องรู้สึกรับผิดชอบ (accountability) กับคนที่จ่ายเงิน เขาอาจจะทำได้ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง แต่อย่างน้อยต้องถูกใจคนส่วนใหญ่อยู่ล่ะเขาถึงอยู่ได้ ภาพสะท้อนจากบีบีซีเป็นอย่างไรก็แสดงว่าคนส่วนใหญ่พอใจอย่างนั้น


 


ทีนี้สื่อสาธารณะ มันคือสื่อที่ต้องสะท้อนความสนใจความต้องการของ Majority ในสังคม แล้วถ้าถามว่า ในเมืองไทย ใครคือ majority ของสังคม คนเมืองหรือชนบท ดังนั้น ถ้าทีวีสาธารณะเน้นสนองคนเมืองมากกว่า มันก็อาจไม่เรียกว่า 'สาธารณะ' ได้สมบูรณ์แบบ เพราะว่าคนเมืองอาจจะเป็นคนแค่ 30% ของประเทศ ขณะที่สาธารณะคือคนอีก 70% ของประเทศหรือไม่


 


แต่ถ้ามันเป็นเอกชนก็โอเค คุณเป็นทีวีเอกชนคุณต้องการสนองกลุ่มเป้าหมาย Hi-end โฆษณาของคุณมีแต่รถ BMW อะไรอย่างนี้ เพราะคุณประเมินว่าคนดูทีวีช่องของคุณ หรือดูเคเบิลทีวี เป็นพวกรสนิยมสูงไม่แคร์คนจนรายได้น้อย เพราะว่าคุณทำรายการแบบนี้มีคนดู โฆษณาเข้า นั่นก็เป็นระบบเอกชนซึ่งก็โอเค แต่เราจะมีแต่สื่อเอกชนอย่างเดียวไม่ได้ เหมือนอเมริกา คนเฝือคนก็เหนื่อยกับโฆษณา ตอนหลังก็ต้องมีสื่อสาธารณะ ต้องมีเป็นสามเส้า คานดุลกัน สื่อสาธารณะ เอกชน และ สื่อพลเมือง


 


พอทีวีสาธารณะ มันต้องตอบโจทย์สาธารณะ ทีนี้สังคมไทยตีโจทย์แตกหรือยังว่าสาธารณะคือใคร โอเค มันก็คือทุกคน "ทุกคน" ก็คือต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วยใช่ไหม ทีนี้เสียงส่วนใหญ่นั้น ทีวีสาธารณะมันเกิดขึ้นบนบริบททางการเมืองแบบที่ผ่านมา เป็นการเมืองแบบที่ชนชั้นกลางดูถูกว่า เสียงส่วนใหญ่เลือกตั้งมาเพราะถูกซื้อเสียง ถูกคุณทักษิณหลอก ถ้าตั้งธงแบบนี้ สื่อนี้ก็อาจจะออกมาเพื่อตั้งใจ "ให้ความรู้" ว่าสาธารณะคิดผิด ซึ่งคนก็อาจจะบอกว่า ควรทำอย่างนั้นก็ได้นะ หรือในมุมหนึ่ง จึงควรจะต้องไปสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ให้ได้พูดอย่างที่เขาอยากจะฟังหรือเปล่า


 


 


- แต่ทีวีสาธารณะก็ออกแบบมาให้มีสภาผู้ชมเพื่อดูเสียงสะท้อนจากรายการทีวี


ก่อนจะไปถึงสภาผู้ชม กฎหมายฉบับนี้อาจจะต้องวิพากษ์ตั้งแต่กรรมการสรรหา กรรมการสรรหามีสิบกว่าคน ในนั้น 8-9 คนเขียนระบุองค์กรเอาไว้เลย เช่น สภาทนายความ กป.อพช. สหพันธ์ผู้บริโภค สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ฯลฯ อันนี้เข้าใจว่าเป็นการเขียนแก้เกม กสช. ตอนนั้นเขียนกฎหมายเอาไว้กว้างมากว่าต้องมีตัวแทนเอ็นจีโอ 4 คน ทีนี้เอ็นจีโอทั่วประเทศที่เป็นนิติบุคคลก็มาสมัครเป็นร้อยเลยสิ เอ็นจีโอที่ทำงานอยู่ก็ไม่ได้ แพ้ในเชิงปริมาณ ก็เลยมาแก้เกมด้วยการเขียนกฎหมายแบบนี้ชัดไปเลย ระบุองค์กร แต่ถ้าสมาคมคนขับรถแท็กซี่ลุกขึ้นมาถามว่า ทำไมไม่มีสมาคมผมล่ะ หรือตัวแทนกลุ่มอะไรสักอย่างลุกขึ้นมาบอกว่าฉันหายไปไหนในช่องนี้ สัดส่วนนี้ มันก็จะเป็นเรื่อง มันต้องหาคำอธิบายให้ได้


 


ส่วนสภาผู้ชม ตามกฎหมายก็แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายฯ ให้มาสะท้อนความคิดเห็น แต่ยังมองภาพไม่ออกว่าจะทำงานอย่างไร และจะคานดุลได้จริงมากน้อยแต่ไหน หรือจะเป็นตัวแทนของทุกกลุ่มหรือเปล่า


 


- อย่างไรก็ตาม การจะทำให้มันแทนทุกคนได้ ก็ดูจะเป็นอุดมคติ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยากมาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย


ใช่ มันยากมาก และก็ไม่รู้เหมือนกันว่าโมเดลจะเป็นยังไง โมเดลไหนก็อาจจะมีปัญหา จะใช้การเลือกตั้งก็ไม่ได้ สุดท้ายตัวชี้วัดคือ ฉันทามติ (Consensus) ในสังคม มันรับด้วยกันได้ไหม อาจจะไม่พอใจทั้งหมด แต่ถ้ามันเกิดในบริบททางการเมืองที่ฮึ่มๆ กันแบบนี้ เราจะมีแนวทางที่พอยอมรับกันได้ไหม


 


แน่นอนที่สุดการหาโมเดลที่สมบูรณ์แบบคงไม่มีในโลก คงหายากจริงๆ ยังไงก็มีคนโน้นเสีย คนนี้ได้ อะไรก็ว่ากันไป ทีนี้อะไรล่ะที่จะทำให้มันไปได้ บรรยากาศทางสังคม การยอมรับร่วมกัน


 


พอมันเกิดแบบนี้ คนก็ไม่ยอมรับร่วมกัน เพราะมองว่าคุณยึดไปจากฉัน ฉันต้องหาทางเอากลับคืน มันจะสลายบรรยากาศตรงนี้ไปได้อย่างไร


 


คือในกฎหมายองค์กรสื่อสาธารณะ กฎหมายทั้งฉบับไม่ได้พูดถึงทีไอทีวีเลย มีแค่มาตราเดียวในบทเฉพาะกาล ซึ่งมาตรานั้นเอาลิควิดลบ เขียนว่าเป็น ช่อง 5 มันก็คือยึดช่อง 5 เขียนช่อง 3, ช่อง 7 ก็เป็นช่องนั้น มันอยู่ที่รัฐจะเอาช่องอะไร มันไม่ได้ปูเจตนารมณ์ มันแค่บอกว่าต้องมีหนึ่งช่องทีวีสาธารณะ และมาตราเดียวในบทเฉพาะกาลเขียนว่า เอาไอทีวีนี่ล่ะ ก็เลยยึดไอทีวีเอาเลยในคืนเดียว รัฐบาลพลังประชาชนจะแก้มาตรานี้ก็เป็นไปได้ เช่นเปลี่ยนเป็นจะยึดช่อง 5 หรือช่อง 11 วันรุ่งขึ้นก็จะตกงานกันหมด


 


ในเรื่องไอทีวีนี่ ขอเห็นต่างเรื่องโมเดลนิดหนึ่ง ที่เคยพูดไปแล้วว่า อยากให้ทีวีสาธารณะเริ่มจากช่อง 11 ไม่ใช่เริ่มจาก ไอทีวี ไอทีวีควรปล่อยให้มันเป็นไปตามจุดแรกเริ่มของมัน และควรปล่อยให้ชินคอร์ปใช้หนี้สองพันล้านก่อน ถ้าเขาใช้หนี้ไม่ได้จริงๆ ค่อยยึดคืนแล้วประมูลกันใหม่อย่างโปร่งใส


 


 


-ข้อขัดแย้งที่ทำให้ไม่เอาช่อง 11 แล้วไปเอาไอทีวี


ง่ายนิดเดียว มันเปลี่ยนช่อง 11 ไม่ได้ มันฝังลึกแล้ว ช่องนี้มันง่ายกว่า เพราะทักษิณหมดอำนาจก็ยึดคืนมา ชินคอร์ปก็ยอมยกธงขาวแล้ว เทมาเส็กก็เห็นว่ามันเป็นหนี้ก็ไม่เอาคืนดีกว่า หนีหนี้สองพันล้านได้ด้วย ระหว่างช่องที่รัฐยึดมาแล้ว กับช่องของกรมประชาสัมพันธ์ จะเอาช่อง 11 หรือ? รัฐก็ต้องสูญเสียช่องในการควบคุมไป แล้วพนักงานช่อง 11 ก็ต้องตกงาน.. ยอมไมได้ แต่พนักงานไอทีวีตกงานได้


 


มันก็น่าสนใจทั้งสองอัน ไม่ได้คิดว่าใครควรตกงานโดยไม่มีเหตุผลอันควรนะ ต้องเห็นใจเขาถ้าต้องตกงาน  แต่เปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้าทำ เขาก็ตกงานเหมือนกัน เขาก็ยอมไม่ได้ แต่ทีไอทีวียอมได้ เพราะเขาถูกสังคมบอกไว้ว่า เขาเหล่านี้ เป็นขั้วอำนาจเก่า ควรแล้ว ซึ่งมันไม่แฟร์สำหรับเขา ที่ทำให้ตรงนี้เป็นความชอบธรรมที่จะบอกว่าคนเหล่านี้ควรตกงานมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะคุณเป็นพวกทำลายชาติมาก่อน ตรงนี้ไม่เป็นธรรมกับเขานัก พนักงานทีไอทีวี กลายเป็นพวกขั้วอำนาจเก่า แล้วอย่างนี้ไม่ต้องไปโทษพนักงานช่อง 3, 5, 7, 9, 11 กันหมดเลยเหรอ เพราะที่ผ่านมาตอนนั้นเขาก็ยอมรัฐบาลทักษิณกันหมด


 


แต่ตอนนี้ ถ้าจะพูดว่าให้มีทีวีเอกชน (ความหมายในแง่ Ownership) คนก็อาจจะบอกว่าฟังไม่ขึ้น ไม่อยากได้แล้ว โดยเฉพาะพรรคพลังประชาชนจะมาแนวนี้ จะแปรรูป (liberalize) สื่อออกระบบทุนเต็มที่ ก็ต้องสู้กันอีกยก ต้องหาจุดตรงกลาง ไม่ใช่ เทมาอำนาจนิยมหมด หรือไปทุนนิยมหมด


 


- ถ้าอย่างนั้น การออกกฎหมายสื่อสาธารณะมา ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างความเป็นเจ้าของ เพราะท้ายที่สุดก็เกิดมาเป็นทีวีภายใต้การกำกับของคนกลุ่มหนึ่ง?


ต้องถามกลับไปว่า ถ้าทีวีสาธารณะถูกแทรกแซงด้วยรัฐบาลคุณสมัครล่ะ แล้วทีนี้มีคนลุกขึ้นมาคัดค้าน แล้วคนจะอ้างเจตนารมณ์อะไรในการปกป้องทีวีสาธารณะช่องนี้ นอกจากเจตนารมณ์จากการรัฐประหาร 19 กันยา หรือเจตนารมณ์จากการล้มทักษิณ เป็นต้น มันก็ยากอีก ต้องสู้รบกันอีก ไม่รู้จะเริ่มหรือจบตรงไหน


 


 


-อาจจะพูดไปว่า เป็นทีวีที่มีรากฐานจากทีวีเสรีเมื่อสมัยเหตุการณ์พฤษภา


แต่เจตนารมณ์ของทีวีสมัยพฤษภามันจบลงไปแล้วพร้อมกับทีไอทีวี ประวัติศาสตร์มันจบ เหมือนกับวาทกรรมปฏิรูปสื่อ เจตนารมณ์มันก็จบลงไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 การเมืองมันเป็นเรื่องวาทกรรมทางอำนาจ ถามง่ายๆ คือ ถ้ารัฐบาลพลังประชาชนจะมาแทรกแซงทีวีสาธารณะ เช่น อาจจะมีมติคณะรัฐมนตรีปลด 5 คน ตั้งใหม่ เขาก็ทำได้ แน่นอนมันไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีคนลุกขึ้นมาค้าน ถามว่าใครจะเป็นกลุ่มแรกมาค้าน ก็คือกลุ่มที่เชียร์ให้ยุบเดิม ถามว่าเจตนารมณ์คืออะไร เขาก็อาจจะอ้างว่าเจตนารมณ์เพื่อสาธารณะ อีกฝ่ายก็บอกว่าก็ยังทำสาธารณะอยู่ แต่แค่ปรับให้เหมาะสม ก็อ้างว่าเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ ฟากที่เสียก็ต้องเอาเจตนารมณ์มาสู้ ถามว่าเจตนารมณ์อะไรที่จะมาแบ็คอัพ เพราะเจตนารมณ์ 35 มันถูกลบไปแล้ว ไม่สามารถขุดมาอ้างได้แล้ว จะอ้างเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่ออย่างที่เราเคยอ้างกันมามันจะอ้างได้ไหมเพื่อสู้กับรัฐบาลใหม่ถ้าเข้าจะล้มทีวีสาธารณะ มันก็อาจจะได้ แต่มันก็จะได้แบบหลวมๆ แกนๆ ไม่เป็นเอกภาพ จะอ้างได้ก็คงเป็นเหตุผลต้าน "ระบอบทักษิณ" แล้วการเมืองมันก็จะเข้าวงจรเดิมอีก ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างวงจรนี้มา ตอนนี้ก็ไม่รู้จะเดินต่อไปทางไหนดี


 


 


- การที่คนเห็นว่ามันเป็นโอกาส ทุกคนกำลังแห่ไปหาไอทีวี (หรือไทยพีบีเอส) แล้วก็แบ่งชัดว่า มีทีวีทหาร ทีวีพาณิชย์ ทีวีสาธารณะ สิ่งเหล่านี้คือทางไปสู่การปฏิรูปสื่อรึเปล่า


ก็อยู่ที่ว่าคนให้คำนิยามปฏิรูปสื่อว่าอย่างไร คำว่าปฏิรูปสื่อเดี๋ยวนี้มันก็แพร่หลายขึ้นกว่าเดิม คนก็ให้นิยามต่างกัน อย่างเช่นมีคนพูดว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีทองของการปฏิรูปสื่อ บ้างก็มองว่าการยึดไอทีวีได้ก็คือการปฏิรูปสื่อแล้ว ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ ก็อยู่ที่คนมอง


 


การปฏิรูปสื่อ คนอาจรู้สึกว่าพูดอะไรเป็นนามธรรม อุดมคติ แนวคิดปฏิรูปสื่อทั้งระบบมันยาก สู้เรายึดมาหนึ่งช่อง หรือไม่ก็ไปให้แต่ละช่องมีรายการเยาวชน มีการจัดเรทสำหรับเยาวชน น.หนู ท.ทหารฯลฯ ส่วนหนึ่งก็มองการปฏิรูปสื่อคล้ายไปจำกัดให้คนในวงการนี้ต้องระวังมากขึ้น พวกนักวิชาชีพหรือคนทำละครเดี๋ยวนี้ก็คงเครียดขึ้นเหมือนกันเพราะก็ต้องจัดเรท คนก็มองว่านี่คือการเข้าไปพยายามทำอะไรสักอย่างเพื่อการกำกับดูแลให้สื่อเหล่านั้นต้องปรับตัวเอง ทำอะไรให้ดูระมัดระวังขึ้น แล้วก็บอกว่า ถ้ามัวแต่พูดว่าต้องปฏิรูปสื่อทั้งระบบก็ไม่เป็นจริงเสียที สู้ไปปรับผังรายการให้สัดส่วนรายการเด็กเยอะขึ้น หรือไปมุ่งไอทีวีดีกว่า ทั้งนี้ก็อยู่ที่คนจะให้คำนิยาม


 


แต่ที่ผ่านมา คปส. พยายามพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อทั้งระบบ มันคือการคืนสื่อของรัฐทั้งหมดมาจัดผังใหม่ มีกระบวนการที่โปร่งใส เหมือนคนไม่เห็นภาพว่ามันจะเป็นไปได้ไง พอมันไม่เป็นจริงจึงกลายเป็นความคิดที่อยู่บนหิ้ง ฝุ่นก็เกาะ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมที่ทำได้ ต่างจากโอกาสเรื่องไอทีวี ทิศทางของเอ็นจีโอก็อาจคิดว่าจะทำยังไงที่เราจะเข้าไปยึดไอทีวีได้มากกว่า เพื่อทำรายการของภาคสังคมต่างๆ


 


 


- ตอนนี้ คลื่นต่างๆ ก็จะยังอยู่กับกลุ่มทุน กลุ่มทหาร


ตอนสมัยคุณทักษิณมีความพยายามจะปรับโครงสร้างอยู่นะ แต่เขาไม่ได้ปฏิรูป เขาพยายามที่จะแปลงสภาพช่อง 5 อยู่ แต่ไม่สำเร็จ เขาทำสำเร็จด้วยการแปลงสภาพช่อง 9 เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว หรือการพยายามจะเอาช่อง 11 ออกนอกระบบแบบ SDU ให้หารายได้ได้ จะว่าไป การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมันไม่เปลี่ยนเลยก็ไม่เชิง รัฐบาลทักษิณพยายามท้าทายสื่อของรัฐที่อยู่แบบเดิม แต่เขาพยายามแปลงด้วยวิธีของเขา ซึ่งคิดต่างจากเรา คือพวกเราเป็นนักพูดหลักการ ตามอุดมคติ ก็พูดไป เช่นต้องปฏิรูปให้สื่อเป็นของประชาชน แต่คุณทักษิณพยายามทำแบบของเขา เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอาออกนอกระบบรัฐ นั่นคือการดึงออกมาสู่ระบบทุนนิยม ให้ผู้ถือหุ้นร่วมเป็นเจ้าของ จากเดิมที่มันเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ไม่เน้นให้เสรีภาพทางการเมืองมากนัก แต่คนกลุ่มหนึ่งก็อาจจะมองว่ามันดีก็ได้


 


แต่ตอนนั้นเรามองว่ามันไม่ดี การเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์มันไม่ใช่การปฏิรูป คือความเป็นเจ้าของมันครึ่งๆ ระหว่างรัฐ เสรีภาพทางการเมืองมันก็ไม่มี ขณะเดียวกัน เป็นเอกชน ผู้ถือหุ้นก็ไม่สนใจอะไรมาก เขาอาจจะดูความนิยม แต่ไม่ได้ดูว่ารายการจะถูกแทรกแซงหรือไม่แทรกแซง มันเหมือนไม่มีแกนกลาง มันดึงมาจากซ้ายก็ไปขวา แต่ถามว่ารัฐบาลทักษิณพยายามปรับไหม เขาพยายามปรับใหญ่เชียวล่ะ ถึงมีแรงต้านไง


 


กรณีช่อง 5 เขาพยายามเอาช่อง 5 เข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่ช่วงหนึ่ง มีการยื้อกันระหว่างคนที่เขาทำเก่ากับกลุ่มใกล้ชิดการเมือง เพียงแต่เวลาคุณทักษิณจะทำอะไรเขามีข้ออ่อน คือเครือข่ายเขาได้ประโยชน์เห็นชัดไปหน่อย ได้มากกว่าคนอื่นๆ มันเลยทำให้การเปลี่ยนทางหลักการไปไม่รอด ทำให้คนที่ต่อต้านมีเหตุผลว่า คุณก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน เราก็เห็นอย่างนั้นเหมือนกัน เราก็เห็นว่าเอามาให้กลุ่มเครือญาตินี่นา แต่อีกด้านหนึ่งเขาก็พยายามไปรื้อจากกลุ่มเดิม เขาอาจจะพยายามแปลงสภาพ พยายามจะไปแหย่ช่อง 5 เปลี่ยนจากระบบที่เป็นอยู่ แต่มองอีกด้านก็เหมือนไปแย่งเค้กเอามาให้ตัวเอง ก็แล้วแต่จะมอง แต่ถ้าถามว่ามันได้เปลี่ยนไหมในเชิงโครงสร้าง มันก็ถูกท้าทายมาตลอดนะ พอหลังรัฐประหารมันก็เข้าที่ แต่ตอนนี้รัฐบาลพลังประชาชนกลับมาใหม่ ถ้าถามว่าเขามีแนวคิดที่จะไปแหย่ช่อง 5 หรืออะไรไหม เขาก็อาจจะทำ เพียงแต่รูปแบบของเขาจะเป็นคำตอบที่นักปฏิรูปสื่ออยากจะเห็นหรือเปล่า แต่เขาทำแน่และแน่นอนคือเน้นเข้าสู่ระบบทุน


 


เราก็ต้องทบทวนเหมือนกันว่า สุดท้ายบางทีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งกระบวน อย่างที่เราคิดอาจจะไม่มีจริง เพียงแต่รูปแบบใดสังคมจะได้ประโยชน์โดยตรงหรือมากที่สุด ต้องมาขบคิดกันอีกที


 


 


- กรณีทีพีบีเอสล่ะ จะมีอะไรเป็นตัวชี้วัดประโยชน์ต่อสาธารณะ


การเป็นสื่อที่คนยอมรับร่วมกัน ถามว่าตอนนี้มีสถาบันสื่อที่คนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ยอมรับได้ไหม หายากนะ สื่อที่คนทุกกลุ่มจะยอมรับร่วมกัน ถึงจะไม่เห็นด้วยกับเขา ถามว่า "ประชาไท" ได้รับการยอมรับแบบนั้นไหม (หัวเราะ)


 


ทีวีสาธารณะ มันสามารถพิสูจน์ได้หรือเปล่าว่าเป็นสื่อที่คนเห็นต่างทางการเมืองยอมรับกันได้  ถ้ามันจะเติมเต็มความคาดหวังตรงนี้ได้ ก็ประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าทำได้แค่นี้


 


จริงๆ มันไม่ใช่แค่สถาบันสื่อหรอก เอ็นจีโอ และสถาบันทุกสถาบัน เหมือนที่ อ.ธงชัย วินิจจะกูล เคยวิจารณ์ คปส. และเอ็นจีโอหลายองค์กรว่า สังคมไทยไม่มีองค์กรที่ธำรง Higher Principle หรือมาตรฐานที่มันสูงไปกว่าความขัดแย้งทางการเมือง ก้าวพ้นอคติ แม้แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ควรธำรงตรงนี้ แต่ก็ยังถูกวิจารณ์หนักในรอบปีที่ผ่านมา พอเป๋แม้นิดเดียว ความน่าเชื่อถือมันก็เหวี่ยงไง


 


คือกรรมการสิทธิมนุษยชน ตอนมีเรื่อง นปก. คนก็คาดหวัง ตอนมีเรื่องพันธมิตร คนก็คาดหวัง เรื่องสิทธิทางการเมือง 111 คนที่เขาไปร้องกรรมการสิทธิฯ ที่เรามองธรรมดาๆ แล้ว เขาถูกยุบพรรค มันเป็นผลทางการเมืองแท้ๆ การที่ให้เขาไม่พูด ไม่ให้ออกซีดี ฯลฯ มันเป็นการกระทบสิทธิเขา ต่อให้คนที่ติดคุกแล้วยังมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้เลย นี่คือเสรีภาพทางการพูด แต่มันผิดกฎหมายเลือกตั้ง มันไม่มีใครลงหลักการเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิการเมืองตรงนี้ให้ชัดเจน


 


เมืองไทยเราขาดองค์กรที่ธำรงมาตรฐานที่สูงกว่าตรงนี้ มันไม่สามารถทำได้สม่ำเสมอ คปส. ก็ไม่สามารถธำรงได้เสมอต้นเสมอปลาย ยากเหมือนกัน ที่จะทำทุกมาตรฐานให้เท่ากัน มันเกิดเพราะอะไร ต้องไปสรุปจุดอ่อนตรงนี้


 


 


- ด้านหนึ่งคือความแตกต่างทางความเห็น แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา จะไม่เป็นบทเรียนในการทำงานต่อหรือ ว่าหลักการที่ยั่งยืนถาวรของการทำงานที่สูงไปกว่าความขัดแย้งทางการเมือง หรือการยึดตัวคุณธรรมบุคคลคืออะไร


หลักการสิทธิมนุษยชนไม่ได้คำนึงที่จะพิสูจน์ว่าใครดีหรือไม่ดีที่จะใช้สิทธิได้ ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐาน การเป็นพลเมืองไม่ได้เอาลักษณะที่บอกว่าเขาดีมีคุณธรรมมาชี้วัด แต่นี่แสดงว่าหลักการสิทธิมนุษยชนไม่ได้เป็นแนวที่คนยึด แต่ถ้าคุณเป็นคนดี พูดดี ทำดี มันก็ดี แต่หากใช้สิทธิแต่ดูแล้วเจตนาไม่ดี คนก็อาจจะไม่ว่าดี ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิทางการพูดเหมือนกัน


 


ถ้าคิดถึงงานข้างหน้า งานข้างหน้าเป็นผลพวงจากอดีต คปส. อาจจะมีต้นทุนไปต่อได้ แต่ที่ผ่านมา เลขาธิการ (สุภิญญา กลางณรงค์) และประธาน (รศ.ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์) ของ คปส. มีจุดยืนที่ค่อนข้างคล้ายกัน แต่กรรมการท่านอื่นอาจไม่ได้คิดตรงกันทั้งหมด เมื่อต้องฟันธงและแสดงจุดยืนมันก็ไม่เป็นเอกภาพ อย่างเรื่องทีวีสาธารณะ สมมติเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่จะยึดข้ามคืน ก็ออกแถลงการณ์ไม่ได้แล้ว เพราะส่วนใหญ่อาจเห็นด้วยกับเรื่องนี้ มีทั้งเห็นเหมือนและเห็นต่าง นั่นแหละต้องค่อยๆ คุยกัน ยอมรับ เคารพกัน


 


กรรมการส่วนหนึ่งมองเรื่องทีวีสาธารณะว่าเป็นเรื่องโอกาสที่เราต้องเข้าไปช่วงชิง ขณะที่คนเป็นเลขาฯอาจมองว่าเราควรระวังหน่อย แต่เราก็เคารพกรรมการ เพราะคนเหล่านั้นเป็นกรรมการ คปส. โดยอาสาสมัคร เขามีอาชีพหน้าที่อื่นๆ ในองค์กรต่างๆ เพียงแต่ขาหนึ่งเขามาเป็นกรรมการให้เรา เราก็ทำงานแบบกดดันบ้าง แต่ก็ไม่เครียดมากเพราะทุกคนก็ตั้งใจดี หลายครั้งเราก็ดื้อดึงกับกรรมการ โดนติงอยู่บ่อย ผิดพลาดไปก็มี ต้องทบทวนเสมอ ส่วนคนข้างนอกไม่ต้องพูดถึง โดนวิจารณ์จนฝ่อไปเลย รู้สึกเราทำหน้าที่ได้ไม่ดี ก็ได้เสนอตัวลาออกจากตำแหน่งเลขาฯ คปส. แล้ว ก็รอการประชุมสมัชชาอยู่ ไม่รู้ทิศทางองค์กรจะไปอย่างไรต่อ ใจก็ผูกพัน อยากให้ คปส. เติบโตต่อไป แต่คิดว่าเราดูแลไม่ได้ดี ตอนนี้ก็มีคนรุ่นใหม่มาแล้ว ก็ต้องให้กำลังใจกันต่อไป


 


การทำงานที่ผ่านมานั้นมีฉันทานุมัติจากกรรมการอยู่ เลขาธิการ ตัดสินใจแสดงจุดยืนได้เลย แต่นับจาก 19 กันยามา ฉันทานุมัติมันสั่นคลอนไปบ้าง ก็เป็นจุดเปลี่ยน เพราะกรรมการเห็นต่างกันมากเหมือนกัน และเราเองก็อาจถูกมองว่า ถ้าเรายังดื้อดึงอยู่อย่างนี้แล้วเมื่อไรจะปฏิรูปสื่อได้ มีโอกาสก็ไม่ทำสักที อะไรก็ไม่ดี อะไรก็วิจารณ์ ตั้งเงื่อนไข แล้วเมื่อไรจะปฏิรูปสื่อได้ มัวแต่เสนออะไรที่เป็นอุดมคติ อะไรก็ไม่ทำ แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ก็เครียดเหมือนกัน


 


เพราะฉะนั้นตอนนี้จึงถึงคราวต้องทบทวนองค์กร ที่จริงก็ถึงคราวมานานแล้วแต่ยังไม่มีโอกาสได้มาเจอกันพร้อมหน้าแล้วคุยกันนานๆ สักที  ฉะนั้นหลายเรื่องที่คนอาจจะตั้งคำถามว่า คปส.ไปไหน ทำไมไม่แสดงความคิดเห็นอะไร  คปส.ไม่ได้ Stand alone มันก็มาจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน เราก็ต้องฟังคนอื่น ตอนนี้ก็เป็นวิกฤต คปส. เหมือนกัน จากที่เราประชุมกันวงเล็กๆ ล่าสุด ก็มีคำถามว่า ถึงวาระที่เราจะต้องยุบองค์กรหรือเปล่า


 


หรือถ้าจะมีเลือกกรรมการกันใหม่ ต้องปรับอะไรกันบ้าง แล้วจะทำงานแบบเดิมต่อไปไหม ถ้าคนอื่นๆ มองว่าไม่อยากเห็น คปส.ทำงานการเมืองแบบนี้แล้ว อยากเห็น คปส.ทำงานเป็นองค์กรเอ็นจีโอองค์กรหนึ่ง ที่ถ้ามีโอกาสตรงไหนก็เข้าไปทำงานตรงนั้นตรงนี้ คือไม่ต้องพูดเรื่องหลักการมากนัก เพราะพูดไปก็ทำไม่ได้ หรือได้ไม่ดี แท้จริงเราก็เป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์หนึ่ง (Interest Group) ซึ่งเราก็เป็นอยู่ และอาจจะเปลี่ยนไม่ใช่องค์กรที่จะแถลงเรื่องเกี่ยวกับการเมือง แต่เน้นทำงานร่วมกับชุมชน ชาวบ้าน นั่นหมายถึงก็ต้องปรับโครงสร้าง มองหาคนอื่นมาทำ คปส.ก็คงต้องคุยว่า จะยุบหรือไม่ยุบองค์กร ถ้ายังมีต่อการทำงานจะมีจุดยืนอย่างไร ทบทวนอดีต และดูอนาคต ว่าทำงานอะไรดีจึงจะทำงานเหมาะกับสถานการณ์ และเป็นประโยชน์แบบที่ไม่ล้าสมัย แต่ถ้าไม่จำเป็นกับสังคมแล้ว ก็ไม่ควรยื้อต่อ


 


ถ้าเทียบกับ 10 ปีก่อน ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีคนพูดเรื่องปฏิรูปสื่อ แน่นอนที่สุด คปส.เป็นหนึ่งในองค์กรที่คอยพูดเรื่องนี้ให้สังคมติดตามเรื่องเหล่านี้ ตอนนี้ผ่านไป 10 ปี 1 ทศวรรษพอดี คนรู้เรื่องนี้กันมากมาย และเขาเลือกแนวทางแล้วว่าจะทำแนวไหน และหลายคนก็ล้ำหน้าไปกว่าเรามาก อาจต้องยกนิ้วให้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (ผอ.ฝ่ายวิจัย ทีดีอาร์ไอ) เราทำงานปฏิรูปสื่อมา 10 ปี ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากเท่ากับ อ.สมเกียรติทำมาสองปีเลย เขาสามารถผลักดันกฎหมายได้หลายฉบับ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแบบวันรุ่งขึ้นเห็นเลย ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่ชี้ให้เห็นว่ามันเทียบกันไม่ได้เลย ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถทำได้ขนาดนั้น


 


ถ้าจะให้ภูมิใจอยู่หนึ่งอย่างที่ทำสำเร็จ คือการผลักดัน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 กฎหมายลูกของมาตรา 40 รัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตรา 26 ของกฎหมายนี้รองรับให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงและเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ อย่างน้อย 20 % พวกเราผลักดันเรื่องอยู่หนึ่งปีกว่า ตอนพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และเราได้รับความช่วยเหลือจากพรรคความหวังใหม่ที่เป็นฝ่ายค้านให้โควตาเป็นกรรมาธิการเต็มที่ เลยสร้างพลังต่อรองในสภาได้ นึกถึงงานวันนั้นก็ยังรู้สึกดีจนวันนี้ เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจให้วิทยุชุมชนหลายแห่งเกิดขึ้นมา


 


 


- ถ้าถามความคิดส่วนตัว ในฐานะ สุภิญญา กลางณรงค์ ที่ไม่จำเป็นต้องพูดในนามเลขาธิการ คปส. คิดอย่างไรกับสิ่งที่คนบอกว่า ปีที่ผ่านมาคือปีทองของการปฏิรูปสื่อ และแนวคิดที่มองว่า หากยึดหลักการไม่ได้ ทำอะไรได้ก็ควรทำ


ที่ผ่านมาก็เป็นนักปฏิบัตินะ พยายามมอง 2 มุม ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น เวลามีคนมาชวนว่า เราไปยึดไอทีวีกันเถอะ ก็จะบอกว่า คงไม่ไป เพราะเราพยายามพูดเรื่องนี้มาตั้งแต่แรกในเชิงหลักการ เราอาจจะรักษาหลักการ ซึ่งได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือ เราค้านกระบวนการ คมช. และตั้งคำถามกับกระบวนการ สนช. ทั้งที่โดยหลักการ เราเห็นด้วยกับทีวีสาธารณะ แต่การยึดท่ามกลางสถานการณ์การเมืองแบบที่ผ่านมา มันเปราะบางมาก เลยไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม นอกจากเฝ้าดูอยู่ห่างๆ และให้กำลังใจเงียบๆ ถ้าเขาทำได้ดีก็ดีใจด้วย


 


อาจารย์ย่า (ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์) บอกว่า เจตนารมณ์ทีวีสาธารณะ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอยู่ในบริบททางสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีสิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่การเมืองแบบที่ผ่านมา พอเราไม่มีบริบทแบบนั้นมา back up (แบ็คอัพ - สนับสนุน) มันเปราะบาง ขนาดสิ่งที่มีเจตนารมณ์แบ็คอัพยังอยู่ได้ไม่นานเลย ไอทีวีมีเจตนารมณ์เรื่องการปฏิรูปสื่อพฤษภา 2535  วิทยุชุมชนมีเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2540 มันมีที่มา มันยังง่อนแง่นเลย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นจากจุดหักเหทางการเมือง ไม่มีเจตจำนงร่วมของสังคมสนับสนุนมากนัก มันจะรอดไหม เราก็ไม่อยากมองโลกในแง่ร้ายนะ เพราะถ้ามันทำได้แล้วดีขึ้นมาก็จะมีความสุขไปด้วย


 


แต่ในเชิงหลักการ เราเชื่อของเราแบบนี้ เราก็วางบทบาทแบบนี้ แต่ถ้าไม่ได้ทำงานนี้มา (คปส.) หรือถ้ามีเพื่อนมาถามว่าจะไปร่วมทำดีไหม ก็คงบอกว่า น่าจะไป ก็เป็นโอกาส เพราะว่าอาจไม่ง่ายนักถ้าเราจะทำให้เรื่องของชาวบ้านปากมูนได้ออกอากาศคู่กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรืออาจจะทำเรื่องของคนจนคนพิการ ถ้ามันออกได้นะ ถ้าคิดจะลองดู ก็เป็นโอกาส ก็ควรไปทำ มันเป็นโอกาสของชาวบ้าน ถ้ามีพื้นที่ได้จริงๆ


 


เหมือนปัญหาชาวบ้าน ปัญหาปากมูน ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ชาวบ้านก็ต้องไปร้องเรียน จะไปบอกว่าอย่าไปร้องเรียนเลย เขาเป็นรัฐบาลรัฐประหาร แต่เขาประสบปัญหา มันก็คงไม่ได้ คือในมุมขององค์กรชาวบ้าน ประชาชน หรือเอ็นจีโอ ถ้าเป็นองค์กรคนพิการ เด็กเยาวชน ผู้ติดเชื่อ หรือชาวบ้าน ที่เขารู้สึกว่าเสียงเขาถูกละเลยมานานและอยากช่วงชิงพื้นที่ในการพูด มันก็คือการเมือง ไม่ว่าใครก็ต้องช่วงชิงพื้นที่กัน ให้เสียงของตัวเองได้พูด ถ้ามันเป็นโอกาสก็ควรไป ก็เชียร์แล้วควรทำด้วย เพื่อที่จะลองดูว่าอย่างน้อยทีวีจะมีพื้นที่เหล่านี้ให้คนได้พูดมากขึ้นหรือเปล่า เพื่อให้เสียงที่ตกหล่นไปมีโอกาสมากขึ้น


 


สำหรับคนที่มีความเชื่อ ก็น่าจะลองดู แต่ก็ให้รู้ไว้บนพื้นฐานว่ามันก็ไม่แน่นอน แรงเหวี่ยงทางการเมืองมีอยู่ ต้องเผื่อใจ และถ้าอะไรที่มันมีความไม่ชอบธรรมค้างคาอยู่ วันหนึ่งมันอาจจะพลิกอีกมุมหนึ่งได้เสมอ เมื่อเรานิยมอำนาจในการเปลี่ยนแปลง อำนาจเปลี่ยนมันก็เปลี่ยน เท่านั้นเอง


 


การทำงานในบทบาท คปส. ก็ลำบากที่จะเข้าร่วมทำ อีกอย่างเราเป็นองค์กรที่มอนิเตอร์ด้วย คงเข้าไปร่วมทำยาก ส่วนใครที่เข้าไป เขาก็มีราคาที่ต้องจ่าย คุณเทพชัยก็มีราคาที่ต้องจ่าย เอ็นจีโอที่เข้าไปก็มีราคาที่ต้องจ่าย ก็คือการต้องยอมรับการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นและรับผิดรับชอบกับสังคม นั่นเอง


 


เราคงไม่อาจลอยตัวเหนือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเราเข้าทำงานสาธารณะ เหมือนเป็นนักการเมืองแล้ว ภาคประชาชน เอ็นจีโอ หรือใครจะเข้าไปทำงานในระบบอำนาจ ก็คงไม่เป็นไร ยังไงก็มีราคาที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ดีก็ดี ไม่ดีก็ยอมรับ หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป องค์กรภาคประชาชนที่ก่อนหน้านี้อาจไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง เข้าไปทำแล้วอาจมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น กลายเป็นเสียงชี้นำในสังคม แล้วมีคนอื่นที่เป็นเสียงด้อยกว่าหรือเสียงรองมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อ นี่ก็เป็นพลวัต เป็นเรื่องปกติ


 


โจทย์ก็มีอยู่แค่นั้น คือเราพร้อมยืดอกรับผลที่ตามมาหรือไม่ ถ้าเราไม่พร้อม เราก็ไม่เข้าไป การที่ทุกคนก้าวเข้ามาทำงานตรงนี้ ไม่ได้มีใครบังคับ เป็นเรื่องทุกคนตัดสินใจเองอยู่แล้ว เรามีความเชื่ออย่างนี้เราก็ทำ ใครเขาไม่เห็นด้วยกับเรา ก็ถกเถียงวิจารณ์กัน สังคมก็ได้เรียนรู้ไปด้วย มันก็ดี


 


 


สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ที่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนจะเข้ามาจัดระบบสื่อ คิดอย่างไร


ก็อย่างที่บอกนะว่าไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เขาทำอยู่แล้ว ตอนนี้ อะไรที่รัฐบาลกับ สนช. ทำใส่พานมาแล้วดีกับรัฐบาลใหม่ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.สื่อฯ อื่นๆ เขาก็ใช้มันเลย ส่วนอะไรที่ไม่ดี หรือเขาไม่ถูกใจ รู้สึกเหมือนถูกแย่งมาเช่น พ.ร.บ.สื่อสาธารณะยึดไอทีวี เขาก็คงเข้ามาเปลี่ยนแปลง ทุกคนก็มองเกมนี้ออกอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทุกอย่างมันมีที่มาของมัน  เขามีเรื่องความชอบธรรมที่จะอ้าง จุดอ่อนของการรัฐประหารคือจุดแข็งของรัฐบาลนี้


 


ใครไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิคัดค้านกันไป แต่ก็คงเหนื่อยหน่อย และถ้าไม่ตั้งหลักกันให้ดี มันก็จะเข้าสู่วงจรเดิม ก็สู้รบกันเละ ใช้สื่อนี่แหละ ต้องทำใจว่าตอนนี้สื่อเป็นสื่อการเมืองกันไปหมดแล้ว แต่ละแห่งก็ทำหน้าที่ของตัวเองตามที่ตัวเองมีจุดยืน ยากเหมือนกัน


 


ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลเปิดใจกว้าง ตั้งหลักเริ่มต้นกันใหม่ เปิดเวที ตั้งโต๊ะเจรจาคุยกัน ใช้เวทีของการถกเถียงแลกเปลี่ยน เปลี่ยนแนวคิดที่จะ "จัดระเบียบสื่อ" มาเป็นการ "ปฏิรูปสื่อ" มันต้องมีใครสักคนเริ่มต้น ถ้าต้องสู้กันแบบสงครามบนพื้นฐานของอคติกันตลอดไปมันก็เหนื่อย เราเลยไม่ต้องไปไหนกัน มันก็ถอยหลังมามากแล้วก็อยากให้เดินไปกันข้างหน้า แต่ก็รู้ว่ามันยาก คปส. ตอนนี้ก็มึนงงเหมือนกัน ไม่รู้จะตั้งหลักอย่างไรดี ทำงานยากเหมือนกัน


 


ถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพ ตั้งโต๊ะคุยกัน ดูกันว่า Scenario หรือภาพรวมสื่อเมืองไทย โดยเฉพาะสื่อของรัฐจะไปทางไหน มี 6 ช่องพอหรือยัง ทำให้ดีหรือยัง หรือต้องเพิ่มช่องใหม่ ส่วนทีวีสาธารณะถ้าจะส่งเสริมให้เขาทำดีต่อไปได้ แล้วดูว่าจะช่วยเหลืออดีตพนักงานไอทีวีอย่างไร พบกันครึ่งทาง แล้วช่องอื่นๆ จะเอายังไง ส่วนเรื่องสิทธิเสรีภาพจะมีมาตรฐานยังไง รัฐมีอะไรอยากให้แบไต๋ออกมาแล้วคุยกัน เพราะถ้าผลีผลามทำ คนก็ต้องคัดค้าน ก็ต้องสู้กันอีก มันเหนื่อย


 


อยากหาทางที่มันกลางๆ พบกันครึ่งทาง สมัยรัฐบาลที่แล้วก็มีท่าทีเข็ดหลาบกับทุนนิยมเน้นอำนาจให้รัฐดูแล พอรัฐบาลนี้ก็เน้นแนวเอาเข้าระบบทุน เชื่อเถอะ เขาจะแปรรูป ช่อง 5 ช่อง 11 หรือ ไทยพีบีเอส อีกแน่นอน เราไม่อยาก ทีวีรัฐคุมทั้ง 6 ช่อง แต่ก็ไม่อยากเป็นทีวีทุนทั้ง 6 ช่องเหมือนกัน ผสมผสาน ให้มันเป็นสื่อสามเส้าได้ไหม มีรัฐบาลไหนจะกล้าและใจกว้างทำตรงนี้ได้ไหม อยากเสนอให้ คุณจักรภพ ให้รัฐบาลนี้ลอง ทำใจกว้างแล้วลองทำดูไหม รู้ว่ายาก แต่เราก็ต้องเรียกร้อง เพราะถ้าไม่เรียกร้องจากรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว จะให้ไปเรียกร้องกับรัฐบาลไหนอีก สังคมก็ต้องช่วยทำงาน รณรงค์กันอีกยก เราประท้วงกันมามากแล้ว มันเหนื่อย บั่นทอน มันจะมีโอกาสที่เราจะได้ตั้งโต๊ะเจรจา ต่อรองกันได้ไหม อยากเป็นภาพแบบนี้นะ แต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน คปส. เองก็ไม่รู้จะอยู่ทำงานไปอีกนานเท่าไรและอาจไม่มีปากเสียงอะไรมาก คงต้องฝากสังคมให้ช่วยดูแลกันด้วย


 


 


0 0 0


 


 


ข้อมูลเพิ่มเติม :


เว็บไซต์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) (www.media4democracy.com)


เกี่ยวกับองค์กร คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


บทความ : จุดจบทีวีเสรี สู่ปัญหาท้าทายของทีวีสาธารณะ, คมชัดลึก 18 ม.ค. 51


บทความพิเศษ-โทรทัศน์สาธารณะ ในยุค"พลังประชาชน" , คมชัดลึก 9 ก.พ. 51


 


 


 


หมายเหตุประชาไท


รายชื่อคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปี 2549-2550


 


ที่ปรึกษา


คุณพิภพ   ธงไชย


อาจารย์มณเฑียร   บุญตัน


นพ.นิรันดร์   พิทักษ์วัชระ


คุณพิทยา   ว่องกุล


คุณรสนา   โตสิตระกูล


คุณสมชาย   หอมละออ


คุณไพโรจน์   พลเพชร


 


ประธาน


รศ.ดร.อุบลรัตน์   ศิริยุวศักดิ์


 


รองประธาน


ผศ.ดร.เอื้อจิต   วิโรจน์ไตรรัตน์


ดร.จิรพร   วิทยศักดิ์พันธุ์


คุณบุญส่ง   จันทร์ส่องรัศมี


 


เลขาธิการ


คุณสุภิญญา   กลางณรงค์


 


รองเลขาธิการ


คุณฉัตรชัย   เชื้อรามัญ


คุณต่อพงศ์   เสลานนท์


คุณปัณณพร   ไพบูลย์วัฒนกิจ


 


กรรมการ


คุณสุริยะใส   กตะศิลา


คุณปนัดดา   ขวัญทอง


คุณวีรพล   เจริญธรรม


คุณนำใจ   อุทรักษ์


คุณมนตรี   อิ่มเอก


คุณสมยศ   ทำปวน


คุณอุดมศรี   ศิริลักษณาพร


คุณวิภาศศิ   ช้างทอง


คุณสุเทพ   วิไลเลิศ


 


กรรมการและเหรัญญิก


คุณกรรณิกา   ควรขจร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net