Skip to main content
sharethis


สุรชาติ  บำรุงสุข


อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


 


การก่อการรัฐประหารประสบความสำเร็จอย่างง่ายดายในวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่หลังจากนั้น การเมืองไทยก็ประสบปัญหายุ่งยากนานัปการ ซึ่งก็เป็นบทพิสูจน์สัจธรรมประการหนึ่งที่ว่า "การยึดอำนาจรัฐไม่ใช่เรื่องยาก การรักษาอำนาจรัฐไว้ยากกว่า" เพราะผลพวงจากการรัฐประหารไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นว่า การยึดอำนาจไม่ใช่หนทางของการแก้ปัญหาการเมืองไทยเท่านั้น หากแต่กระทำดังกล่าวมีแต่จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และยังทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการพังทลายของเกียรติภูมิทางการเมืองของประเทศ ที่การรัฐประหารไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าสัญลักษณ์ของความ "ล้าหลังทางการเมือง" ของประเทศไทย


 


ในขณะเดียวกันก็พบว่า เสียงของการต่อต้านรัฐประหารค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย มีผู้คนหลายๆ ส่วน กล้าแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ดังจะเห็นได้ว่าระยะเวลาของการ "ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์" ของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้นสั้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐประหารในอดีต


 


ในสภาวะเช่นนี้ นักสังเกตการณ์ทางการเมืองตอบได้โดยไม่ยากนักว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การเมืองแบบการเลือกตั้งจะหวนกลับมาอีก เพราะคณะรัฐประหารพร้อมกับรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจไม่ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารประเทศแต่อย่างใด และสิ่งที่พวกเขาโฆษณาทางการเมืองไว้ ก็ไม่ได้มีอะไรปรากฏเป็นจริงมากไปกว่าการเข้าสู่การแสวงหาผลประโยชน์ของการเมืองของกลุ่มผู้นำทหารที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึง "ความมั่งคั่ง"  ในระบบการเมืองเปิดก่อน 19 กันยายน 2549


 


รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงกลายเป็น "ความล้มละลายทางการเมือง" ของกลุ่มทหาร และก็ส่งผลให้ผู้คนหลายๆ ส่วน รวมถึงผู้สนับสนุนรัฐประหารในช่วงต้นต้องหันกลับมายอมรับให้การเมืองในระบอบการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือตัดสินการเป็นผู้บริหารประเทศ แม้ระบบการเลือกตั้งจะมีปัญหาและข้อบกพร่องอยู่ก็ตามที แต่อย่างน้อยก็เป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้


 


ผู้นำทหารตระหนักดีกว่า ถ้าการเมืองแบบการเลือกตั้งกลับเข้าสู่การเป็นวิถีหลักของประเทศแล้ว กองทัพจะต้อง "ถอย" ออกไปจากการเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีรัฐบาลใดยอมให้กองทัพดำรงอยู่ในสถานะ "รัฐซ้อนรัฐ" จะมีก็แต่เพียงรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เท่านั้นเองที่ปล่อยให้สภาวะดังกล่าวดำรงอยู่ในลักษณะ "อำนาจซ้อนอำนาจ" จนมีคำถามทั้งในประเทศและนอกประเทศว่า ใครเป็นคนที่มีอำนาจจริงในการบริหารประเทศไทยระหว่างประธาน คมช. กับนายกรัฐมนตรี


 


ไม่ว่าจะตอบอย่างไรก็แล้วแต่ คำถามเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็น "ศูนย์อำนาจคู่" ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพนั่นเอง


 


แต่ในที่สุดแล้วทุกฝ่ายก็ยอมรับความเป็นจริงที่จะต้องถอยประเทศกลับเข้าสู่การเมืองในระบบเปิด เพราะไม่มีอำนาจคณะรัฐประหารใดในยุคร่วมสมัยดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในสังคมการเมืองไทย


 


ดังนั้น การเตรียมการของผู้นำทหารเพื่อรองรับต่อการกลับสู่ระบบการเลือกตั้งก็คือ การผลักดันให้รัฐสภาที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารออก "กฎหมายความมั่นคงในราชอาณาจักร" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "กฎหมายความมั่นคงภายใน"


 


กฎหมายเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดถึงกระบวนการสร้างอำนาจของทหารให้มีความเป็นสถาบันในการเมืองไทย เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็จะมีกฎหมายรองรับต่ออำนาจของทหารในการเมืองอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง และทั้งยังทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กลายเป็นองค์กรถาวรที่มีอำนาจอย่างเป็นจริง ฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายเช่นนี้ก็คือ "ไม้ค้ำยัน" อำนาจของกองทัพในการเมืองแบบการเลือกตั้งของไทย (ผู้สนใจกับความเห็นในประเด็นเรื่องกฎหมายความมั่นคงภายใน ดูเพิ่มเติมได้จากจุลสารของผู้เขียนเรื่อง กฎหมายความมั่นคงภายใน : รัฐมั่นคง ประชา (ไม่) มั่นคง, 2551)


 


แต่สิ่งที่ผู้นำกองทัพกังวลอย่างมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กองทัพในความหมายของหน่วยราชการในสังกัดของกระทรวงกลาโหมจะอยู่อย่างไร เมื่อการเลือกตั้งกลับเข้าเป็นหนทางหลักของประเทศ


 


พวกเขาตอบง่ายๆ ด้วยการยืมมือของสมาชิกสภาฯ ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมใหม่ โดยมีสาระสำคัญหนึ่งก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหารในกองทัพ แต่ในความเป็นจริงผู้นำทหารออกกฎหมายนี้เพื่อให้สถานะของกองทัพเป็นอิสระทางการเมืองจากรัฐบาลต่างหาก ในทางทฤษฎีความเป็นอิสระทางการเมืองเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทหารแทรกแซงทางการเมืองได้ง่าย และกฎหมายเช่นนี้จะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเสถียรภาพและการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


 


ผู้นำกองทัพดูจะถนัดในการใช้แนวคิดแบบ "รัฐซ้อนรัฐ" หรือไม่ก็แสดงออกในลักษณะแบบ "ปฏิเสธรัฐ" เพราะมักจะถือเอาว่า กองทัพเสมือนหนึ่งเป็นรัฐ และมีเสรีในการดำเนินการทางการเมืองของตนเอง แนวคิดแบบสุดโต่งเช่นนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร จนเชื่อเอาเองว่า กองทัพสามารถจัดการเรื่องราวภายในของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรัฐบาล


 


แนวคิดสุดโต่งเช่นนี้ละเลยหลักการสำคัญ 3 ประการ ก็คือ


 


            1)  กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาล กองทัพไม่ได้ดำรงฐานะเป็นเอกเทศจากรัฐบาล และรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชากองทัพ


            2)  รัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบประมาณให้แก่กองทัพในการดำเนินกิจกรรมทางทหารของประเทศ เพราะกองทัพเป็นองค์กรราชการหนึ่งของรัฐบาล


            3)  ในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม รัฐบาลมีฐานะเหนือกองทัพ เช่น หลักการของระบอบประชาธิปไตยคือ การควบคุมโดยพลเรือน หรือหลักการของระบอบคอมมิวนิสต์คือ พรรคคุมปืน (กองทัพ) หลักการของระบอบเผด็จการทหารคือ รัฐบาลควบคุมกองทัพ


 


ถ้าเรายอมรับในหลักการ 3 ประการข้างต้นแล้ว พ.ร.บ.กลาโหมใหม่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความพยายามในการสถาปนา "อำนาจรัฐซ้อน" ในระบอบการเมืองไทยหรืออาจจะเป็นเสมือน "การลองของ" รัฐบาลใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาบริหารประเทศ เพราะผู้นำทหารตระหนักดีว่า รัฐบาลผสมที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารมีแต่ความอ่อนแอ อันจะเปิดโอกาสให้กองทัพสามารถดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระในทางการเมืองได้


 


ดังนั้น พ.ร.บ. กลาโหมใหม่ จึงสะท้อนให้เห็นประเด็นปัญหาสำคัญหนึ่งในการเมืองไทยที่จะต้องคิดกันอย่างจริงจังในอนาคตก็คือ ถ้าจะต้องสร้างประเทศให้เป็นประชาธิปไตย จะสร้างกรอบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร


 


แต่คงไม่ใช่คำตอบที่บอกว่า การเมืองไทยจะเป็นประชาธิปไตย กองทัพจะต้องดำรงฐานะเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" โดยมีอำนาจของตนเองเป็นอิสระจากรัฐบาล!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net