Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


มีคนบางคนเชื่อว่าหากโลกนี้ไม่มีอิสลามแล้วไซร้ โลกเราจะไม่มีการก่อการร้าย โลกเราจะไม่มีความรุนแรง โลกเราจะไม่มีสงครามศาสนา ฯลฯ ซึ่งในความน่าจะเป็นตามความเชื่อดังกล่าว จะเป็นเช่นนั้นจริงๆล่ะหรือ


Graham E Fuller อดีตรองประธานสภาข่าวกรองแห่งชาติของซีไอเอ (CIA) ได้เขียนเรื่อง A World without Islam ตีพิมพ์ในวารสาร Foreign Policy ฉบับล่าสุด ( ม.ค.-ก.พ.2008) และ สฤณี อาชวานันทกุล ได้แปลเผยแพร่ในเว็บไซต์โอเพน ออนไลน์ (www.onopen.com) และเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org) :ซึ่งผมเห็นว่ามีเนื้อหาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อท่านผู้อ่านโดยย่อ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและมีมุมมองที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงต่อพี่น้องมุสลิม


บทความชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มุสลิมตกเป็นแพะรับบาป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการก่อการร้ายที่เป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุด ที่โลกตะวันตกมักผูกโยงเข้ากับอิสลามในปัจจุบัน หากจะกล่าวอย่างรวบรัดที่สุดว่า โศกนาฏกรรม 9/11 จะเกิดขึ้นหรือไม่ถ้าโลกไม่มีอิสลาม ถ้าความเจ็บแค้นของตะวันออกกลาง ซึ่งมีรากฐานมาจากความโกรธแค้นต่อนโยบายและพฤติกรรมของอเมริกาที่บ่มเพาะมานานหลายสิบปี ถูกห่อหุ้มด้วยธงที่ไม่ใช่อิสลาม เหตุการณ์จะออกมาเหมือนเดิมหรือไม่


กรณีนี้ก็เหมือนกับกรณีอื่นๆ คือ เราต้องระลึกให้ได้ว่าเป็นเรื่องง่ายเพียงใดที่จะยกศาสนาขึ้นมาบังหน้า ทั้งๆ ที่ต้นเหตุจริงๆ คือความเจ็บแค้นเรื่องอื่นที่มีมานานหลายสิบปี สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน 2001 ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของเรื่องสำหรับผู้ก่อการร้าย อัลกออิดะห์ที่จี้เครื่องบินในวันนั้น อิสลามเปรียบเสมือนแว่นขยายในแสงแดดจ้าที่รวบรวมความเจ็บแค้นร่วมหลายๆ ประการเข้าด้วยกัน แล้วนำความเจ็บแค้นเหล่านั้นมาขมวดเข้าด้วยกัน เป็นรังสีที่รุนแรง เป็นชั่วขณะแห่งความชัดเจนว่าจะต้องจัดการกับผู้บุกรุกชาวต่างชาติอย่างไร


ในมุมมองของโลกตะวันตกที่เน้นการก่อการร้ายว่าเป็น "ฝีมือ" ของอิสลามนั้นลืมไปว่าทหารกองโจรของอิสราเอลก็ใช้วิธีการก่อการร้ายกับชาวอังกฤษในปาเลสไตน์, ชาวทมิฬ "ไทเกอร์" ในศรีลังกาผู้นับถือศาสนาฮินดู เป็นผู้คิดค้นศิลปะแห่งการใช้เสื้อเกราะติดระเบิดพลีชีพ และทำสถิตินำหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ ในการใช้วิธีระเบิดพลีชีพมานานนับทศวรรษ รวมทั้งในการสังหารราจีฟ คานธี นายกรัฐมนตรีอินเดีย, ผู้ก่อการร้ายชาวกรีกสังหารเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันหลายครั้งในกรุงเอเธนส์, ขบวนการก่อการร้ายชาวซิกข์ที่ทำงานอย่างเป็นระบบสังหารนางอินทิรา คานธี และทำให้เครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์อินเดียตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก


ผู้ก่อการร้ายชาวมาซีโดเนีย (Macedonia ดินแดนตอนใต้ของกรีซ) เป็นที่หวาดผวาไปทั่วคาบสมุทรบัลข่านในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, การลอบสังหารผู้นำหลายสิบครั้งในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เป็นฝีมือของ "นักอนาธิปไตย" ชาวยุโรปและอเมริกัน ที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวไปทั่ว, กองทัพกู้ชาติไอริช (Irish Republican Army หรือ IRA) ใช้วิธีก่อการร้ายอันโหดเหี้ยมนานัปการในการต่อสู้กับอังกฤษต่อเนื่องนานหลายสิบปี เช่นเดียวกับที่กองโจรคอมมิวนิสต์และกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเวียดนามใช้ในการต่อสู้กับทหารอเมริกัน, คอมมิวนิสต์ในมลายูใช้ต่อสู้กับทหารอังกฤษในทศวรรษ 1950, ผู้ก่อการร้ายชาวเมาเมา (Mau Mau) ใช้ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อังกฤษในเคนยา, และกรณีอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายไม่จำเป็นต้องเป็นชาวมุสลิมเท่านั้น


ประวัติการก่อการร้ายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ให้ภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก สถิติของยูโรโปล (Europol หน่วยงานตำรวจของสหภาพยุโรป) ระบุว่า เกิดเหตุก่อการร้าย 498 ครั้งในสหภาพยุโรปในปี 2006 เพียงปีเดียว ในจำนวนนี้ 424 ครั้งเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่เหลืออีก 55 ครั้งเป็นฝีมือของฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง อีก 18 ครั้งเป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้นที่เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ได้บ่งบอกขอบเขตอันมหาศาลของอุดมการณ์ของกลุ่มคนที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย


แต่เมื่อเราหันมามองลัทธิมาร์กซ์จะเห็นได้ว่ามีอิทธิพลต่อกลุ่ม Basque ETA ในสเปน, FARC ในโคลัมเบีย, Shining Path ในเปรู และกองทัพแดงในยุโรป นี่เป็นตัวอย่างจำนวนหยิบมือเดียวเท่านั้นจากโลกตะวันตก. จอร์จ ฮาบาช (George Habash) ผู้ก่อตั้งองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Popular Front for the Liberation of Palestine) อันร้ายกาจ เป็นชาวคริสต์นิกายออร์โทดอกซ์และนับถือลัทธิมาร์กซ์ ผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงเบรุต ในยุคที่กระแสคลั่งชาติของชาวอาหรับหัวรุนแรงผนวกเข้ากับความคิดรุนแรงในลัทธิมาร์กซ์ ชาวปาเลสไตน์ที่นับถือคริสต์จำนวนมากสนับสนุนการกระทำของฮาบาช


ชนชาติที่ต่อต้านผู้บุกรุกจากต่างชาติมักจะหา "ธง" เพื่อเผยแพร่และสรรเสริญเป้าหมายของการต่อสู้ของพวกเขา "การต่อสู้ทางชนชั้นระดับโลกเพื่อแสวงหาความยุติธรรม" เป็น "ธง" ที่ปลุกระดมเสียงสนับสนุนได้ดีธงหนึ่ง กระแสชาตินิยมเป็นธงที่ได้ผลยิ่งกว่า แต่ศาสนาเป็นธงที่ได้ผลดีที่สุด เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเป็นธรรมจากระดับสูงสุดในการเคลื่อนไหว ทุกศาสนาในทุกประเทศยังสามารถใช้กระตุ้นจิตสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์และกระแสชาตินิยมได้ ในขณะเดียวกับที่มันไปไกลกว่าธงทั้งสอง โดยเฉพาะในกรณีที่ศัตรูนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน ในกรณีเหล่านี้ ศาสนาจะเลิกเป็น "ต้นเหตุ" ของการเผชิญหน้าและการปะทะกัน หากเป็น "เครื่องมือ" ของการกระทำดังกล่าว ธงของขบวนการอาจหายไป แต่ความเจ็บแค้นยังคงอยู่


โลกไร้อิสลามจะยังคงเต็มไปด้วยความขัดแย้งนองเลือดส่วนใหญ่ ที่ครอบงำสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์การเมืองด้วยสงครามและความเดือดร้อนแสนสาหัส ถ้าไม่ใช้ศาสนา กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะใช้ "ธง" อื่น ที่พวกเขาจะสามารถเผยแผ่กระแสชาตินิยมและเป้าหมายแห่งการปลดปล่อย แน่นอน ประวัติศาสตร์คงจะไม่เดินตามทางที่มันเดินจริงๆ แต่ในเบื้องลึกที่สุด ความขัดแย้งระหว่างตะวันออกและตะวันตกก็จะยังคงเป็นความขัดแย้งในประเด็นหลักๆ ทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์การเมืองที่สำคัญที่สุดตลอดมาในประวัติศาสตร์มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์, ชาตินิยม, ความโลภ, ทรัพยากร, ผู้นำท้องถิ่น, เขตอิทธิพล, ผลประโยชน์ทางการเงิน, อำนาจ, การแทรกแซง, ตลอดจนความเกลียดชังคนนอก, ผู้บุกรุก, และนักล่าอาณานิคม เมื่อคำนึงว่าคนต้องเผชิญกับประเด็นอมตะเหล่านี้ เป็นไปได้อย่างไรที่พลังของศาสนาจะไม่ถูกนำมาใช้


เราควรระลึกไว้ด้วยว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดในศตวรรษที่ 20 แทบทุกครั้งเป็นผลผลิตของระบอบการปกครองที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ Leopold II แห่งเบลเยียมในคองโก, ฮิตเลอร์, มุสโสลินี, เลนินและสตาลิน, เหมาเจ๋อตุง และพอล พต. ตลอดจนการที่ชาวยุโรปเป็นฝ่ายยุแยงให้เกิด "สงครามโลก"สองครั้ง ที่สะเทือนคนทั้งโลก ซึ่งทำความเสียหายอย่างมหาศาลในระดับที่ไม่มีเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์อิสลามจะเทียบเคียงได้


บทความชิ้นนี้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่าบางคนอาจฝันถึง "โลกที่ไร้อิสลาม" โดยคิดว่าปัญหาดังกล่าวข้างต้นจะไม่เกิดขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยกัน และวิกฤติที่เกิดขึ้นใน "โลกที่ไร้อิสลาม" ที่ว่านั้น อาจมีหน้าตา ที่ไม่แตกต่างกันมากนักจากโลกของเราทุกวันนี้.


 


-----------------------


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net