Skip to main content
sharethis


 



 



 



 


 


เปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวแม่รำพึง ตำรวจระดมกำลังร่วม 300 คุมเข้มตรวจสถานการณ์ ส่วนตัวแทนชาวบ้านจวกโรงถลุงเหล็กสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม กลุ่ม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ โชว์ทลายบังเกอร์ข้ามเขตความกลัว มุ่งต้านภัยจากการพัฒนา ด้านเครือสหวิริยา อ้างไม่ได้รับการตอบรับเข้าร่วมงาน แถมหวั่นเหตุขัดแย้ง


 


สถาบันการศึกษาทางเลือก จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีโครงการโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยา ณ วัดนาผักขวง ต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมรับฟังความคิด นำโดย นายศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักวิชาการอาวุโส ทำหน้าที่ประธานการรับฟังความคิดเห็น นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายไพสิฐ พานิชกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย และนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส  ผู้ประสานการจัดงานครั้งนี้ขึ้น กล่าวว่า การจัดเวทีครั้งนี้ต้องการเปิดให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นภายใต้กติกาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยได้กำหนด
4 หัวข้อใหญ่ คือ 1.ผลกระทบด้านระบบนิเวศ 2.ผลกระทบด้านสังคม 3.ผลกระทบด้านมลภาวะ และ 4.ผลกระทบด้านผลประโยชน์ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยภายหลังจากจบเวทีครั้งนี้ จะจัดทำรายงานขึ้นมา 1 ฉบับ ชื่อ 'รายงานการประชุมรับฟังความคิดเห็นกรณีการสร้างโรงถลุงเหล็ก' ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาได้

ด้านนายไพสิฐ พานิชกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการลุกขึ้นมาใช้สิทธิของประชาชนที่ต้องการจะปกป้องบ้านเกิดและรักษาชะตาชีวิตของตนเอง โดยการสื่อสารกันเองของคนที่ได้รับผลกระทบของรัฐและทุน เป็นสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญที่ชุมชนลุกขึ้นมาเองไม่ใช่การจัดการของรัฐ


 


"เวทีวันนี้มันทำให้ข้อมูลถูกเปิดขึ้นมา เห็นได้จากรถโมบายมาทางจังหวัดก็เริ่มขยับ กระบวนการในการแก้ปัญหาของคนที่ไม่เห็นด้วยกับความไม่เป็นธรรม ทำให้การใช้อิทธิพลข่มขู่จะไม่เกิดขึ้นอย่างดาดๆ" นายไพสิฐกล่าวถึงความคิดเห็นต่อความความสำคัญของสื่อมวลชน


 


ทั้งนี้มีการถ่ายทอดสดการแสดงความคิดเห็นในเวทีฯ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ไทยพีบีเอส ช่วงเวลา 14.00 -15.00 น. โดยทางสถานีได้เข้ามาเกาะติดสถานการณ์เพื่อรายงานข่าวตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา


 


 


ตำรวจ 200 ตรวจอาวุธเข้มหวั่นใช้ความรุนแรง


ตั้งแต่เวลา 6.00 น. ก่อนมีการเปิดเวทีแสดงความคิดเห็น เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กว่า 300 นาย ได้กระจายตัวเพื่อรักษาความปลอดภัยที่ ต.กำเนิดนพคุณ และ ต.แม่รำพึง โดยเฉพาะบ้านแกนนำชาวบ้านของกลุ่มที่คัดค้าน และสนับสนุนการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก รวมทั้งในบริเวณเวทีรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งมีการตรวจค้นตัวผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียด


 


อย่างไรก็ตาม เวทีรับฟังความคิดเห็นได้เริ่มต้นเมื่อเวลา 8.30 น.ตามกำหนดการ โดยมีชาวบ้านทยอยมาเข้าร่วมประมาณ 400 คน และไม่พบผู้พกอาวุธ รวมทั้งการก่อความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น


 


ชาวบ้านฉะยับปัญหาผลกระทบ


นายสุพจน์ ส่งเสียง ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง กล่าวถึงผลกระทบด้านระบบนิเวศว่า ชาวบ้านไม่สนับสนุนโครงการโรงถลุงเหล็ก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการในเฟสที่ 1 มาแล้ว เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษทางอากาศที่กระทบกับวีถีชีวิตชาวประมง และภาวะความเจ็บป่วย ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางสะพาน ระบุว่า ขณะนี้ผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจถึงปีละ 17,000 คนซึ่งเกิดมาตลอดเกือบ 10 ปีของโครงการ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเงื่อนงำที่แพทย์ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคอะไร ภาวะที่เกิดขึ้น ประชาชนทุกคนจะต้องมีสิทธิเลือกและตรวจสอบ เพราะชาวบ้านต้องอยู่ที่นี่ตลอดชีวิต ขณะที่ผู้ที่จะตัดสินว่าจะเอาหรือไม่เอาโครงการเป็นเพียงราชการ และเจ้าของโรงงานที่มาอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว

นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2546 กลุ่มชาวประมงไปร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากกรมประมง เพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพน้ำที่อ่าวแม่รำพึงที่ทำให้ปลาตายจำนวนมาก แต่ไม่มีการตอบรับ และจนถึงขณะนี้โครงการเกิดมา 5 ปี แต่ศูนย์ร้องเรียนผลกระทบเพิ่งเปิดไม่ถึง 5 เดือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของกลุ่มทุน ทั้งนี้ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแทนที่จะเข้าแก้ปัญหากับชาวบ้าน แต่กลับวิ่งเข้าไปเคลียร์ปัญหา

ขณะที่ นายสมหวัง พิมพ์สอ ชาวบ้านที่ ต.แม่รำพึง กล่าวถึงผลกระทบในการใช้น้ำว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านสามารถบริโภคน้ำฝนได้ แต่หลังจากมีโครงการเกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านแม่รำพึงที่จำนวน 6,870 คนต้องซื้อน้ำมาบริโภคเฉลี่ยคนละ 13,650 ต่อคนต่อปี  หรือเฉพาะ ต.แม่รำพึงแห่งเดียวต้องซื้อน้ำดื่ม 39 ล้านบาทต่อปี ยังไม่มีใครรับผิดชอบกับรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ ดังนั้นถ้ามีปล่องโครงการโรงถลุงเหล็กแห่งใหม่อีก 29 ปล่องอยู่กลางชุมชน เชื่อว่าคน อ.บางสะพานทั้งหมดต้องซื้อน้ำกินเพราะอากาศเป็นพิษ

นายสมหวัง กล่าวถึงผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมว่า ในปี 2548 เกิดปัญหาน้ำท่วมที่ อ.บางสะพาน เนื่องจากมีการถมพื้นที่โครงการลงไปในหนองนกกะเรียนจำนวน 900 ไร่ ถมแก้มลิงธรรมชาติที่เคยรับน้ำท่วมเพื่อสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างโรงงานกับท่าเทียบเรือ และส่งผลให้เศรษฐกิจของบางสะพานและทรัพย์สินเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้

ส่วน น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล ตัวแทนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว กล่าวว่า ประจวบฯเป็นเมืองท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทำการเกษตร การท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงผูกติดกับวิถีของท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมีการเอาโครงการโรงถลุงเหล็กและโครงการโรงไฟฟ้า 3 แห่งในพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ จึงอยากให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่เลือกทำโครงการอุตสาหกรรมเหล็กมาลงที่นี่ ซึ่งจากแผนจะมีพื้นที่โครงการราว 20,000 ไร่ และต้องใช้ถ่านหินเฉลี่ย 32 ล้านตันต่อปี ซึ่งไม่ต้องห่วงว่าก๊าซพิษจะมีปริมาณมากแค่ไหน


 


ในช่วงบ่ายนางตุ๊ย วันงาม ชาวบ้าน ต.แม่รำพึ อายุ 72 ปี กล่าวว่า ตนไม่ได้มีความรู้อะไรมาก แต่เดินทางมาร่วมงานครั้งนี้ เพราะไม่อยากให้ใครเอาพื้นที่ไปทำให้สิ่งแวดล้อมเสียหาย จากการติดตามข่าวทราบเพียงแค่การเผาขยะ ก็ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนแล้ว แต่นี่เป็นการสร้างโรงถลุงเหล็ก หากจัดการไม่ดีจะทำให้เกิดปัญหาต่อโลกมากแค่ไหน ตนไม่รู้ แต่คิดว่าต้องมากแน่ๆ

"เวลานี้เราก็ได้แต่รอความเมตตาจากหน่วยเหนือ ให้ได้โปรดพิจารณาให้ยุติการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กด้วย ผู้หญิงแก่ๆ อย่างดิฉัน อายุเยอะแล้ว ไม่เสียดายชีวิต เพราะอยู่มานานแล้ว เป็นห่วงก็แต่ลูกหลาน ในวันข้างหน้าอาจจะพิการ พูดจาไม่รู้เรื่อง เพราะผลกระทบจากมลพิษที่เกิดขึ้น" นางตุ๊ย กล่าว

ด้านนางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวว่า เวลานี้ชาวบ้านได้หารือกันแล้วว่า จะขอทวงเอาที่ดินสาธารณะ และพื้นที่ป่าสงวนที่บริษัทสหวิริยาเอาไปใช้จำนวน 961 ไร่ คืนแก่ชุมชน และที่ดินใหม่ที่บริษัทกำลังจะเอาไปใช้ชาวบ้านก็จะไม่ให้

นายวิฑูรย์ บัวโรย แกนนำชาวบ้านบางสะพาน กล่าวว่า น่าแปลกใจว่า ขณะที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ยังไม่ผ่าน แต่มีการก่อสร้างในพื้นที่มากมาย โดยบริษัทบอกว่า ไม่จำเป็นต้องรออีไอเอ อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ มีนายทหารระดับนายพล ได้มาเปิดท่าเรือขนส่งของบริษัทสหวิริยาด้วย

ส่วนนายชัชวาล ปุญปัน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เวลานี้ สำนักงานประกันสังคม เป็น 1 ใน 10 ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทสหวิริยา อยากตั้งคำถามว่า หน่วยงานที่ถือเงินที่ประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของทำอย่างนี้ได้อย่างไร


 


ความขัดแย้งทางความคิดสร้างความแตกแยกในชุมชน


นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่บางสะพาน ที่บ้านกรูดเองก็ได้รับผลกระทบชัดเจน เหมือนกลับไปสู่สถานการณ์แบบเก่าที่เคยต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งชาวบ้านบ้านกรูดแยกไปเป็น 2 ฝ่าย ตอนนี้ก้กลับไปแตกแยกอีก มีชาวบ้านกรูด 10 คน มาสารภาพว่า ไปรับเงินค่าจ้างมาจากสหวิริยา แต่รู้สึกผิดเมื่อกลับเข้าพื้นที่เนื่องจากบ้านกรูดเป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้มานาน


 


อย่างไรก็ตาม เห็นมากับตาว่ามีความระแวงในชุมชนสูงขึ้น บางครอบครัวถึงขั้นต้องเลิกกัน เพราะสามีกับภรรยาอยู่คนละฝ่าย นำไปสู่ปัญหาสังคม ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐกลับคุ้มครองชาวบ้านไม่ได้เลย ความขัดแย้งเหล่านี้เริ่มต้นมาจากการคิดว่าพื้นที่นี้เหมาะแก่การทำอุตสาหกรรม ทั้งที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูง มีทั้งป่าชายเลนและทรัพยากรซึ่งมีกฎหมายคุ้มครอง แต่เมื่อมีการกำหนดให้จังหวัดประจวบฯ เป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทำให้สามารถไปก้าวล่วงกฎหมายอื่นได้ จึงกลายเป็นพื้นที่หอมหวาน


 


"เรียนว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะ และบริษัทก็ขาดธรรมาภิบาลในการลงทุน ต้องเอาเรื่องความขัดแย้งมาบวก ศพเดียวก็เพียงพอแล้ว อย่าให้เกิดศพที่สองอีก เราชัดเจนว่าให้มีโรงงานเพียงโรงเดียวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าจะสร้างโรงงานอื่นเพิ่มยอมไม่ได้ ต้องตระหนักถึงผลและความขัดแย้งที่จะบานปลายต่อไป" นางจินตนากล่าว


 


ด้านนายสุพจน์ ส่งเสียง เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่มีการปะทะและทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนให้กรรมการฟังว่า ในวันนั้นได้โทรหาเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 7 ครั้ง และนายอำเภออีก 4 ครั้ง เพื่อขอให้ลงมาดูแลสถานการณ์และเรียกร้องให้ตรวจอาวุธ ซึ่งมีการรับสายทุกครั้งแต่ไม่มีการตอบสนอง


 


"ชาวบ้านคิดว่าถูกปล่อยให้กระทำ ใช้เวลาเรียกร้องเจ้าหน้าที่ถึง 3 ชั่วโมง และมีความคับแค้นใจทำไมถึงถูกปล่อยให้มีการกระทำเช่นนี้" นายสุพจน์กล่าว


 


 


ทลายบังเกอร์ ปิดฉากศูนย์เฝ้าระวัง 2 บ้านดอนสำราญ


เมื่อเวลา 12.00 น. กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ร่วมกับกลุ่ม 5 พันธมิตรสิ่งแวดล้อม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก 2.กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด 3.กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก 4.กลุ่มรักษ์บ้านเกิด ต.อ่าวน้อย และ 5.กลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน ตระหนักถึงปัญหาที่จะบานปลายต่อจากบรรยากาศความขัดแย้ง จึงได้ร่วมกันทำลายบังเกอร์กันภัยที่ศูนย์เฝ้าระวัง 2 ป่าพรุแม่รำพึง ที่บริเวณศูนย์สาธารณชุมชน หมู่ 1 บ.ดอนสำราญ พร้อมปลดป้ายศูนย์เฝ้าระวังเปลี่ยนเป็น "ศูนย์ศึกษาผลกระทบจากโครงการอุตสาหกรรม"


 


นายสุพจน์ ส่งเสียง ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง แถลงว่า ภายหลังเกิดความรุนแรงเมื่อวันที่ 24 มกราคม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน ได้ทำให้พื้นที่ป่าพรุแม่รำพึง ได้รับความสนใจจากสังคม กรณีเกิดความขัดแย้งจากโครงการโรงถลุงหล็กของสหวิริยาในบางสะพานอย่างกว้างขวาง ชาวบ้านถือว่าภารกิจของศูนย์เฝ้าระวัง 2 บ้านดอนสำราญ ที่ต้องการให้สังคมร่วมกันตรวจสอบความไม่โปร่งใสและขาดธรรมาภิบาลของโครงการถลุงเหล็กได้บรรลุวัตถุประสงค์โดยพื้นฐานแล้ว


 


จากนี้เป็นต้นไป ชาวบ้านจะเริ่มต้นบทใหม่ของการต่อสู้ของชาวประจวบฯ โดยเปลี่ยนศูนย์เฝ้าระวังเป็น ศูนย์ศึกษาผลกระทบจากโครงการอุตสาหกรรม ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนศึกษาความรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะชน เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตตามเจตนารมณ์ของตนเองได้อย่างแท้จริง โดยยืนยันว่าการคัดค้านโรงถลุงเหล็ก นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งส่วนควบของโครงการเหล่านี้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าเป็นต้น จะกระทำไปตามหนทางสันติเท่านั้น


 


และจากการต่อสู้ของพี่น้องชาวประจวบฯ ในชุมชนต่างๆ กับโครงการพัฒนาทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เรียนรู้ว่าแนวคิดหลักในการพัฒนาของรัฐที่เอื้อเฟื้อต่อกลุ่มทุนใหญ่ มุ่งเน้นต่อการเติบโตของ GDP ไม่เคยเปลี่ยน และไม่นำพาต่อความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่ต้องสูญเสีย และวิถีชีวิตของชุมชนที่ต้องถูกทำลายไป ดังนั้นการต่อสู้ตามลำพังของชุมชนที่โครงการเหล่านี้ตั้งอยู่ไม่สามารถมีชัยชนะที่ยั่งยืนได้ จึงจำเป็นต้องรวมตัวเป็นพันธมิตรประชาชนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 5 พันธมิตรของพี่น้องชาวประจวบฯ จึงกำเนิดขึ้น เพื่อต่อสู้เปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐที่ผิดพลาดและกลุ่มทุนใหญ่ได้ โดยมีชะตากรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะชนะหรือพ่ายแพ้ในอนาคตก็จะไม่ทอดทิ้งกันอย่างเด็ดขาด


 


"จะเห็นว่าเราผลักบังเกอร์ออก เพื่อเดินออกนอกจากกำแพงความกลัว และจับมือรวมกันเพราะคนทั้งจังหวัดต้องร่วมกันต่อสู้ ถ้าให้เราทำคนเดียวคงไม่ได้" นายสุพจน์ กล่าวถึงการทำลายบังเกอร์ ที่เมื่อ 4 เดือนที่ผ่านมาใช้ป้องกันความรุนแรงจากภายนอก แต่กลับทำให้ถูกมองเป็นพวกใช้ความรุนแรง


 


 


เวทีไร้เงา... (คู่กรณี)


ทั้งนี้การจัดเวทีรับฟังไม่มีตัวแทนจากเครือสหวิริยเข้าร่วม แม้ว่าก่อนหน้านี้ (15 ก.พ.51) นายไพโรจน์ มกร์ดารา ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการพิเศษ เครือสหวิริยา ได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนว่า บริษัทฯ ได้ทำหนังสือติดต่อผู้จัดเพื่อขอเข้าร่วมรับฟังและชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจภายใต้พื้นฐานข้อมูลทั้งสองด้าน หลังนำคณะสื่อมวลชนส่วนกลางและท้องถิ่นลงดูพื้นโครงการเพื่อยืนยันว่า พื้นที่ก่อสร้างไม่ได้เป็นป่าพรุตามที่ฝ่ายคัดค้านโครงการกล่าวหา


 


นายธวัชชัย ดิษยนันท์ นายอำเภอบางสะพาน เปิดเผยต่อมาในวันเดียวกัน (15 ก.พ.51) ว่า ได้รับการยืนยันจากบริษัทเครือสหวิริยาที่จะไม่เข้าร่วมในเวทีดังกล่าว โดยทางบริษัทฯ ให้เหตุผลว่า เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและคัดค้านโครงการ ซึ่งก็จะทำให้การดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ทำได้ง่ายขึ้น


 


พร้อมกล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 16 ก.พ.51ยังไม่ถือเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่สมบูรณ์ เนื่องจากผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายคัดค้านโครงการ และเชื่อมั่นภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนที่จังหวัดจะเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาโดยอาจมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นสาธารณะที่มีความเป็นกลาง มีตัวแทนนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย เพื่อหาทางแก้ปัญหาในแนวทางสันติ


 


ด้านนางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ นักวิชาการประจำสถาบันการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า การจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ได้มีการปฏิบัติตามถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการลงประกาศเชิญชวนผู้สนใจผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์สองฉบับคือข่าวสดและมติชน ในวันที่ 13-15 ก.พ. ก่อนหน้าวันจัดงาน เชื่อว่าทางเครือสหวิริยาทราบว่าจะมีการจัดเวทีฯ


 


ส่วนกรณีที่บริษัทเครือสหวิริยาอ้างว่าได้ทำหนังสือขอเข้าร่วมเวทีแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบรับนั้นไม่ทราบเรื่อง แต่เวทีครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือขอเข้าร่วม เพราะทุกคนสามารถเดินเข้าร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นที่เวทีนี้ได้ทั้งหมด แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความเห็นที่ได้เป็นเพียงข้อมูลจากฝ่ายคัดค้านโครงการซึ่งสะท้อนถึงปัญหาผลกระทบด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผลสรุปความเห็นที่ได้จากเวทีฯ จะเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net