ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ประเด็นปัญหากระบวนการยุติธรรม กับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation

 



เผยแพร่วันที่ 18  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2551

           

 

ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่

ประเด็นปัญหากระบวนการยุติธรรม

กับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

ยุติทรมาน  เคร่งครัดกฎหมาย  ยึดหลักนิติธรรม

 

เสนอโดย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย

ศูนย์ทนายความมุสลิม

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

1. หลักการและปัญหา

 

1.1  บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ทนายความ และศาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎอัยการศึก จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม หลักนิติธรรม ซึ่งรวมถึงการยอมรับนับถือสิทธิมนุษยชนด้วย ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 4 กำหนดไว้

 

1.2  เป็นที่ยอมรับกัน ดังเช่นที่คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ได้สรุปว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น บุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมควรต้องมีความเชื่อมั่นว่า การอำนวยความยุติธรรมตามหลักนิติธรรมนั้น จะป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย ความรุนแรง และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้  หลักการดังกล่าวนอกจากเป็นหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า "ความยุติธรรมย่อมนำไปสู่สันติภาพและความสงบสุข" แล้ว ยังได้รับการตอกย้ำโดยสหประชาชาติ ที่เสนอแนวทางให้ประเทศสมาชิกยึดถือปฏิบัติว่า ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนั้น ทุกประเทศต้องยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม

 

การยอมรับนับถือสิทธิมนุษยชนนั้น ย่อมรวมถึงการที่รัฐ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่ ทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (ตามกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) และในฐานะที่เป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน 6 ฉบับด้วย

 

1.3  เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงยังมีความเชื่อว่าวิธีการใดๆ ก็ตามในการดำเนินการเพื่อ "ความมั่นคงของรัฐ" อยู่เหนือสิ่งอื่นใด โดยไม่คำนึงว่าวิธีการว่าในการปฏิบัติการเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น จะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หรือขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่ ดังนั้นจึงยังมีการทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่สงบ การทำให้ผู้ต้องสงสัยสูญหาย และการสังหารโดยไม่ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาล เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ และมีแนวโน้มมากขึ้นทุกที  นอกจากนี้ รัฐซึ่งมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิในชีวิต ร่างกาย และการดำรงชีวิตที่ปกติสุขของประชาชน ยังล้มเหลวในการทำหน้าที่ดังกล่าวด้วย

 

สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีแนวโน้มที่รุนแรงยิ่งขึ้น และประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวเยาวชน โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาระดับสูงที่หันหลังให้รัฐมากขึ้นทุกที  แสดงให้เห็นว่าสี่ปีที่ผ่านมา การที่เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ โดยละเลยสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมนั้น ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นแต่อย่างใด

 

1.4   กล่าวสำหรับมาตรการพิเศษนั้น หลายฝ่ายอาจเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสถานการณ์พิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กฎอัยการศึก การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งการที่จะใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว) แต่การใช้มาตรการดังกล่าวมิได้หมายถึงการที่ให้เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถละเลยสิทธิมนุษยชนและยกเว้นหลักนิติธรรมได้ ทั้งยังต้องใช้มาตรการเหล่านั้นบนพื้นฐานที่เคร่งครัด เนื่องจากเป็นมาตรการที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน

 

1.5   กล่าวได้ว่าประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความขัดแย้ง ได้เสื่อมศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารแล้ว แต่ยังมีความหวังต่อศาลว่าจะสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แต่ประชาชนได้ ทั้งนั้นศาลอาจจะต้องปรับทั้งกระบวนทัศน์ และการปฏิบัติอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องมีการปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุล การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม

 

1.6   เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ด้านอื่นๆที่ภายใต้กฎหมายพิเศษเช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ที่จะถูกดึงให้เข้าไปทำหน้าที่ในการรักษา "ความมั่นคงของรัฐ" มากขึ้น ยังคงถูกครอบงำโดยแนวคิดด้านความมั่นคงของรัฐแบบเก่า และประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิของตน หรือไม่กล้าที่จะท้วงติง คัดค้านเจ้าหน้าที่ โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้หันไปร่วมมือและสนับสนุนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ดังนั้นทนายความจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวแทนของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่จะหยิบยกปัญหา และกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้นศาล

 

2. การจับกุม/ควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และ พรก.บริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

 

จากการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2550 จนกระทั่งปัจจุบัน พบว่ามีการปฏิบัติงานเชิงยุทธการณ์ซึ่งมักจะเป็นลักษณะการปิดล้อมและจับกุมประชาชนผู้ต้องสงสัยครั้งละจำนวนมาก (ประมาณ 20-30 คนขึ้นไป) โดยใช้เจ้าหน้าที่สนธิกำลังจากหลายหน่วย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก

 

2.1)   ในระหว่างเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.2550  ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2551 พบว่ามีการปิดล้อมจับกุมและควบคุมตัวที่หน่วยทหารเฉพาะกิจในพื้นที่ใกล้สถานที่ที่ปิดล้อมจับกุม เป็นเวลานานสูงสุดถึง 7 วัน เช่น ค่ายวัดช้างไห้ ค่ายเขื่อนบางลาน ค่ายยีลาปัน เป็นต้น หรือบางกรณีถูกควบคุมตัวนานกว่าอำนาจกฎอัยการศึก เช่น ในกรณีถูกควบคุมตัวที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส     มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการซ้อมทรมานเพื่อให้สารภาพในค่ายทหารหรือหน่วยทหารเฉพาะกิจจำนวนสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งการปกปิดไม่ให้ญาติทราบสถานที่ควบคุมตัวและการห้ามเยี่ยมเป็นเวลา 7 วัน หรือมากกว่า และเมื่อมีการย้ายสถานที่ควบคุมตัวก็ได้มีการบังคับใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี พ.ศ.2548 ซึ่งระบุไว้ในระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 ว่าด้วย วิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 3.9.3 ที่ห้ามเยี่ยมสามวันแรก

 

2.2)   เนื่องจากสถานะของผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก ยังไม่เป็น "ผู้ต้องหา" ถูกเลี่ยงให้ใช้คำว่า "ผู้ถูกเชิญตัว ตาม พรก." ผู้ถูกควบคุมตัวและญาติอาจไม่ได้รับการแจ้งถึงสถานที่ควบคุมตัวกับญาติ หรือแม้แต่ญาติพยายามติดต่อเพื่อสอบถามก็มักไม่ได้ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐหรือข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ควบคุมตัวที่สับสนไม่แน่ชัด

 

2.3)   ผู้ถูกควบคุมตัวอาจไม่ได้รับการอนุญาตให้พบญาติอย่างน้อย 3 วันแรกของการควบคุมตัว ไม่ปรากฎว่าให้อำนาจนี้ในพ.ร.บ.กฎอัยการศึกฯ แต่ปรากฎในระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 ว่าด้วย วิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 3.9.3 และทนายความไม่ได้รับการอนุญาตให้พบ/เยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวตลอดระยะเวลาการควบคุมตัว 30 วันภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน         

 

2.4)   หลายกรณีที่ปรากฎว่าทางฝ่ายทหารหรือทางตำรวจปฏิเสธไม่ให้เยี่ยม พบว่าภายหลังที่ได้เยี่ยมมีรายงานเรื่องการถูกทำร้ายร่ายกายในระยะ 3 วัน หรือมากกว่า ในวันที่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมญาติมักพบว่าไม่มีบาดแผลเป็นร่องรอยแล้ว แม้ว่าญาติจะมีความกังวลเรื่องการซ้อมทรมานในการซักถามแต่หลายกรณีก็ไม่ได้รับรู้ จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวหรือถูกดำเนินคดี อย่างไรก็ตามมีรายงาน/เรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ว่ามีการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อซักถาม โดยเฉพาะช่วงเวลา 3 วันที่ห้ามเยี่ยม อีกทั้งมีรายงาน/เรื่องร้องเรียนจำนวนหนึ่งว่า มีบุคคลสูญหายในระหว่างการควบคุมตัว  

 

2.5)   กรณีไม่ดำเนินการแยกประเภทผู้ถูกควบคุมตัว เด็ก และสตรี มีกรณีที่เด็กถูกซ้อมทำร้ายร่างกาย เด็กถูกควคุมตัวในห้องขังเดียวกับผู้ใหญ่ เช่น ที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และในศูนย์พิทักษ์สันติ ศปกตร.ส่วนหน้า จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามมาตรฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

2.6)   กรณีสตรี ในค่ายอิงคยุทธฯ มีการแยกสถานที่ควบคุมตัวแต่สถานที่คับแคบและไม่เหมาะสม และพบว่าบางโอกาสมีการควบคุมตัวสตรีพร้อมลูกเล็กในค่ายอิงคยุทธฯ สำหรับในศูนย์พิทักษ์สันติ ศปกตร.ส่วนหน้า มีการแยกขังผู้ถูกควบคุมตัวสตรีในห้องเป็นสัดส่วน

 

2.7)        การที่เจ้าหน้าที่ไม่แสดงตน ไม่แจ้งเหตุในการจับกุมและควบคุมตัว ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัว ไม่ให้เยี่ยมตามสมควร น่าจะขัดต่อหลักนิติธรรมและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

 

2.8)        การควบคุมตัวและปฏิบัติต่อผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ (เด็ก) ในลักษณะเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก  และเป็นการปฏิบัติที่ต่ำกว่ามาตรฐานการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ข้อเสนอแนะ

·                รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจ/การดำเนินการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือญาติผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีการยื่นคำร้องตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 และ ร.ธ.น.มาตรา 32 โดยให้หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมรับคำร้องและดำเนินการไต่สวนโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ทันต่อสภาพปัญหาและเพื่อความยุติธรรม

 

3. การออกหมายจับ และการขยายเวลาการควบคุมตัวภายใต้ พระราชกำหนด การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548

 

สถานการณ์

 

3.1) สถานะของผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก และ พรก.ฉุกเฉิน ยังไม่เป็น "ผู้ต้องหา" หรือเป็นเพียง "ผู้ถูกเชิญตัว"  มาเพื่อซักถาม หรือเพื่อไม่ไห้ไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในลักษณะ Preventive Detention ซึ่งสามารถควบคุมตัวได้อีก 30 วัน ตาม พรก.ฉุกเฉิน หลังจากควบคุมตัวมาแล้ว 7 วันตามกฎอัยการศึก  ดยเจ้าหน้าที่สามารถขออนุญาตศาลเพื่อควบคุมตัวและขยายระยะเวลาในการควบคุมตัวได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน แม้ปัจจุบันศาลจะพยายามเข้มงวดมากขึ้นในการขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่จะไม่นำตัวผู้ถูกควบคุมไปแสดงต่อศาล (ปรากฎในระเบียบของ กอ.รมน. ภาค 4 ว่าด้วย วิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 11 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ ข้อ 3.7 วรรคสอง) ศาลจึงไม่สามารถสอบถามผู้ถูกควบคุมตัวได้  ทั้งญาติหรือบุคคลื่นใดก็ไม่ได้ยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวน เนื่องจากไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าวหรือเกรงกลัวเจ้าหน้าที่ โดยมีเพียงการเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปสอบถามเท่านั้น ดังนั้นศาลจึงมักอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ขยายเวลาควบคุมตัวทุกครั้ง

 

3.2)  การที่ศาลอนุญาตให้ขยายเวลาการควบคุมตัว โดยไม่มีโอกาสสอบถามผู้ถูกควบคุม ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวไม่สามารถโต้แย้ง คัดค้าน แสดงข้อเท็จจริงต่อศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ถูกควบคุมตัวถูกซ้อม-ทรมาน  ซึ่งเป็นทางปฏิบัติที่มีมาตรฐานที่ต่ำกว่ามาตรฐานการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยป.วิ.อาญา ได้กำหนดให้นำผู้ต้องหามาศาลกรณีที่ต้องขอขยายระยะเวลาการฝากขัง หรือการใช้ระบบ VDO Conference นอกจากนี้ อาจเป็นเงื่อนไขสนับสนุนการควบคุมตัวที่ไม่ชอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ทำให้สามารถซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวได้ต่อไป

 

3.3)  สถานที่ควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึกและ พรก.ฉุกเฉินฯ องค์การและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้รับการร้องเรียนจำนวนมาก เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่นำผู้ถูกควบคุมตัวย้ายไปซักถามตามสถานที่ต่างๆ และทุกครั้งที่มีการย้ายสถานที่ควบคุมตัว ระยะเวลาการควบคุมตัวจะไม่ถูกนับอย่างต่อเนื่องจากการควบคุมในสถานที่ก่อนหน้า แต่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง อาทิ หากมีการควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธฯ เป็นระยะเวลา 10 กว่าวันแล้ว แต่เมื่อต่อมาถูกย้ายมาควบคุมตัวที่ ศปก.ตร.สน. เจ้าหน้าที่ของศูนย์ซักถามดังกล่าวก็จะเริ่มนับเวลาการควบคุมตัววันแรกต่อไปจนครบ 30 วัน ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวจะไม่กล้าร้องเรียน เนื่องจากกลัวว่าหาร้องเรียนแล้ว เมื่อครบ 30 วัน จะไม่ได้รับการปล่อยตัว นอกจากนี้ ทุกครั้งที่เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว จะนำกฎ "ห้ามเยี่ยม 3 วันแรก" มาใช้ทุกครั้ง ทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวบางคนที่เจ้าหน้าที่ต้องการรีดข้อมูลไม่ได้รับการเยี่ยมจากญาติหรือทนายความ แม้จะถูกจับไปแล้วเกิน 3 วัน ก็ตาม

 

3.4)  สถานที่คุมขังตาม พรก.ฯ ซึ่งตามคำสั่งของ กอ.รมน.ภาค 4 ที่ 11/2550 เรื่อง กำหนดสถานที่ควบคุมบุคคลตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 วันที่ 24 มกราคม 2550 ลงนามโดยแม่ทัพภาคสี่ กำหนดให้ควบคุมได้ 2 แห่งเท่านั้นคือ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ปัตตานีและ ศปก.ตร.สน.ยะลา แต่ในทางปฏิบัติพบว่า ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกควบคุมตัวตามที่หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ (ฉก.) และหน่วยย่อยของค่ายทหาร รวมถึงค่ายปิเหล็ง  มีรายงาน/เรื่องร้องเรียนจำนวนมากว่าผู้ถูกควบคุมตัวถูกซ้อม-ทรมาน (คำร้องเรียนรับเรื่องโดยศูนย์ทนายความมุสลิม)  

 

3.5)  การควบคุมตัวซ้ำ/จับซ้ำ: ได้แก่กรณีที่บุคคลเคยถูกจับกุมและได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว แต่หากว่ามีสถานการณ์/เหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่/ภูมิลำเนาของบุคคลดังกล่าว บุคคลดังกล่าวจะเป็นเป้าหมายของการตั้งข้อสงสัยและถูกดำเนินการจับกุมอีกครั้งทันที ซึ่งการจับกุมในครั้งใหม่นี้ แม้จะอ้างว่ามีเหตุใหม่ แต่มีข้อสงสัยต่อสาเหตุการจับกุมเช่นว่านั้นมีน้ำหนักเพียงพอหรือไม่

           

3.6)  การออกหมายฉุกเฉิน (ฉฉ.) ตามพรก.ฉุกเฉิน มีข้อสังเกตต่อ "ระยะเวลา/ช่วงเวลาของความฉุกเฉิน" ว่าควรจะครอบคลุมระยะเวลานานเพียงใด ด้านหนึ่งผู้เป็นเป้าหมายของหมาย นั้นไม่ทราบได้อยู่แล้วว่ารายชื่อถูกออกหมาย และไม่มีการดำเนินการควบคุมตัวมาเพื่อซักถาม แต่อย่างใด หรือหากถูกเรียกตัวไปซักถามแล้ว ก็ไม่ปรากฎว่ารายชื่อจะถูกปลดออกจากหมายแต่อย่างใด บางกรณีทราบว่าชื่อของตนถูกออกหมายก็เมื่อตอนที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อประกอบพิธีแสวงบุญ

 

3.7) เขตอำนาจในการดำเนินการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามหมาย พรก.(หมาย ฉฉ.)  เนื่องจากพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินได้แก่ พื้นที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานีและยะลา) ในทางปฏิบัติพบว่า มีการจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยตามหมายจับดังกล่าว นอกเขต 3 จังหวัดซึ่งเป็นเขตสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้งสร้างความสับสนต่อการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะหมายจับและหมายควบคุมตัวตาม พรก.ฉุกเฉิน แม้จะเป็นหมายศาล แต่ไม่ใช่หมายอาญาที่จะสามารถใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร เป็นหมายที่ออกตามกฎหมายพิเศษ คือ พรก.ฉุกเฉิน การปฏิบัติการตามอาจของ พรก.ฉุกเฉินนั้นควรปฏิบัติการได้เฉพาะในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น

 

3.8)  มาตรา 12 วรรคสองแห่งพรก.ฉุกเฉิน กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการจับกุมและควบคุมตัวเสนอต่อศาลที่มีอำนาจสั่งอนุญาตออกหมายควบคุมตัว (หมาย ฉฉ) และขยายระยะเวลา และให้จัดสำเนารายงานไว้ ณ ที่ทำการของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติสามารถขอดูรายงานได้ ประเด็นคือในทางปฏิบัติมีการปฏิบัติจริงหรือไม่ และจะสามารถตรวจดูได้ที่ใด และญาติไม่เคยสามารถตรวจดูรายงานดังกล่าวได้

 

3.9)        ข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อขอให้มีการตรวจสอบการจับกุม การควบคุมตัวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  แม้ญาติจะเห็นว่ามีบาดแผลว่าถูกซ้อม-ทรมาน ในทางปฏิบัติมักพบว่าญาติมักไม่ทราบถึงกลไกร้องเรียนต่อศาล ทำให้เกิดความล่าช้า อีกทั้งทนายความมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อสถานการณ์การจับ ควบคุมตัวรายวันเช่นในปัจจุบัน  หลายกรณีแม้จะมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ด้วยจำนวนเรื่องร้องเรียนเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรของคณะกรรมการฯ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนได้อย่างทันต่อสถานการณ์  อีกทั้งยังพบด้วยว่า หลายกรณี คณะกรรมการฯ ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในการดำเนินการตรวจสอบ

 

3.10)    ปรากฎว่ามีกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ขอออกหมาย ฉฉ.จากศาลไว้ เพื่อจับกุมผู้ต้องสงสัย แต่ไม่มีการจับกุมแต่อย่างใด ทั้งที่สามารถจับกุมได้ จนเวลาเนิ่นนานไป เมื่อผู้ต้องสงสัยจะเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ จึงมีการควบคุมตัว โดยผู้ต้องสงสัยไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีหมายจับอยู่ ทำให้เสียเงินทอง ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเดินทางไปนครเมกกะจำนวนมาก

 

ข้อเสนอแนะ

·         เพื่อการป้องกันเหตุการซ้อม-ทรมาน ใน 3 วันแรกของการควบคุมตัวโดยหมาย พรก. ฉุกเฉิน (หมาย ฉฉ.)   ดังนั้น ก่อนที่ศาลจะพิจารณาอนุมัติออกหมาย ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรก หรือครั้งต่อไป (กรณีขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัว) ศาลน่าจะใช้อำนาจเรียกผู้ถูกควบคุมตัวมาปรากฎต่อศาลทุกครั้ง โดยเฉพาะในครั้งแรก เพื่อป้องกันการซ้อม-ทรมาน 

·         การออกหมายควบคุมตัวฉุกเฉิน (ฉฉ.) ตามพรก. ฉุกเฉิน  ควรต้องมีการกำหนดระยะเวลา (เวลาหมดอายุ/อายุของหมาย) โดยคำนึงถึงความฉุกเฉินของสถานการณ์อย่างแท้จริง มิฉะนั้นอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล

 

4) ข้อเสนอแนะในเชิงภาพรวมเพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน

 

4.1)  เสนอให้มีการหารือ ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างตุลาการ ฝ่ายกฎหมายของทหาร ตำรวจ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจถึงการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและพรก.ฯ ในเรื่องเขตอำนาจการใช้ พรก. (นอกเขตประกาศ พรก.) การกำหนดระยะเวลาควบคุมตัวพรก. กรณีการใช้อำนาจควบคุมตัว 30 วัน สองครั้ง (จับซ้ำ หรือออกหมายซ้ำ) ภายหลังเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวจาก ค่ายอิงคยุทธฯ (ฝ่ายทหาร) ไปที่ ศปก.ตร ส่วนหน้า (ฝ่ายตำรวจ) สิทธิในการให้ญาติเยี่ยมและรับทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว (การใช้อำนาจ ตามระเบียบ "ห้ามเยี่ยมสามวัน" ในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวตามพรก. และตามกฎอัยการศึก)

 

4.2)  เสนอให้มีกลไกหรือหน่วยงานกลางที่สามารถสื่อสาร/ส่งข้อมูล การจับกุม ควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างชาวบ้าน ทนายความ องค์กรสิทธิมนุษยชยน และศาลเพื่อให้ศาลมีข้อมูลสำหรับการพิจารณากรณีมีเรื่องเพื่อการพิจารณาของศาล

 

4.3)  เสนอให้มีกลไกของแพทย์/หน่วยแพทย์ที่เป็นกลาง ดำเนินการตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมที่ถูกซ้อม-ทรมาน หรือผู้ถูกควบคุมตัวในระหว่างการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับเพื่อเป็นหลักประกันว่าการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส

 

5. การควบคุมตัวตามอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

5.1)  เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการควบคุมตัวตามพรก.ฯ 30 วัน (รวมกับ 7 วันก่อนหน้าตามพรบ.กฎอัยการศึก รวม 37 วัน) หากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกควบคุมตัว/ผู้ถูกเชิญตัว ได้ก็จะต้องปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวให้เป็นอิสระ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัว "ผู้ต้องสงสัย" มาขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอควบคุมตัวต่อโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งสถานที่สอบสวนควรจะเป็นสถานีตำรวจ แต่ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่กลับนำตัวไปซักถามที่ ศูนย์พิทักษ์สันติ ศปก.ตร.สน. จ.ยะลา และ สภ.เขาตันหยง จ.นราธิวาส (สถานที่ที่เหตุการณ์ที่กรณีผู้ต้องสงสัยหลบหนีออกไป 6 คนตามที่ปรากฎเป็นข่าว) ซึ่งการควบคุมตัวดังกล่าวฯ นี้ ปรากฎว่าไม่มีการแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหา ไม่แจ้งสิทธิในการเข้าเยี่ยมเข้าพบแก่ญาติ ญาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม ตัดสิทธิของทนายความในการเข้าร่วมรับฟังการสอบสวน

 

5.2) เดือนกันยายน 2550 ครูที่บ้านป่าทุ่ง ต.บางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิต เป็นผลให้ศาลอนุมัติหมายจับตามปวิอ.ต่อชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวจำนวน 38 ราย ข้อกังวลคือ ศาลได้ใช้ดุลพินิจหรือได้กลั่นกรองข้อมูลก่อนหรือไม่อย่างไรก่อนออกหมายจับดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านขาดความเชื่อมั่นว่าศาลไม่ได้เป็นที่พึ่งจริงเพียงแต่รับลูกตามคำร้องขอพนักงานสอบสวน 

 

ข้อเสนอแนะ:

·                รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้การควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น ควรให้ควบคุมตัวมาเรือนจำ ซึ่งมีมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยดีว่า และมีความมั่นคงกว่า

·                เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกลับคืนมา  ศาลและหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมควรมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของ "ผู้ถูกควบคุมตัว/ผู้ถูกเชิญตัว" ตามพรบ.อัยการศึก, ตามพรกฯ ซึ่งยังไม่มีสถานะเป็น "ผู้ต้องหา"

 

6. การไต่สวนการตายตามมาตรา 150

 

6.1) คดีการไต่สวนการตาย (คดีช.) จำนวนมากที่มีความคืบหน้าไม่มาก ด้วยเพราะจำนวนพยานที่มีมาก การไม่พิจารณาตัดพยานที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากรายชื่อบัญชีพยาน

 

6.2) คำสั่งของศาลในหลายคดีไม่สะท้อนถึง "พฤติการณ์และสาเหตุการตาย" ทั้งๆ ที่กระบวนการไต่สวนใช้เวลามากว่า 1-2 ปี ตัวอย่างเช่นกรณีกรือเซะที่ศาลตัดสินแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2549 แต่อัยการไม่ดำเนินการนำคดีขึ้นสู่ศาล กรณีการไต่สวนการตายเหตุการณ์ตากใบ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2547 ขณะนี้การไต่สวนการตายยังไม่สิ้นสุด ซึ่งนับเป็นนานกว่า 3 ปี เป็นต้น

 

6.3) ในปี 2550 ที่ผ่านมา พบว่ามีกรณีจำนวนไม่น้อยที่ที่ประชาชนเสียชีวิตโดยเจ้าหน้าที่แต่ไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อาทิ เช่น กรณีการเสียชีวิตของนายอัสฮารี สามะแอ และการเสียชีวิตของนายยาการียา ปาโอะมานิ ที่เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

 

7. ข้อหารือและข้อห่วงใย

 

มาตรา 32 วรรคท้าย แห่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า  "......ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้" การกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550  ดังกล่าวมีขอบเขตหรือเนื้อหาอย่างไร  

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2550 ประเทศไทยได้มีมติโดยคณะรัฐมนตรีให้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) หรือโดยย่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2550 ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ต่อองค์การสหประชาชาแล้ว และได้ระบุว่า

 

"อนุสัญญาฉบับนี้ถือเป็นอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 6 ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคี ซึ่งจะมีผลให้บังคับกับไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 เป็นต้นไป และจะทำให้ไทยมีพันธกรณีในการจัดทำรายงานประเทศเสนอต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ตามที่ระบุอยู่ในข้อ 19 ของอนุสัญญาฯ ที่กำหนดให้รัฐภาคีจัดทำรายงานประเทศฉบับแรก เกี่ยวกับมาตรการทั้งปวงที่ตนได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ภายในเวลาหนึ่งปี หลังจากวันที่อนุสัญญาฯ นี้มีผลบังคับ"

 

มาตรการสากลตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ได้ระบุวิธีการและการเยียวยาบางประการไว้ว่า

 

·         รัฐภาคีต้องป้องกันไม่ให้มีการทรมานในอาณาเขตของรัฐตน  ทุกรัฐจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการทรมาน  ยกตัวอย่างเช่น ระบุไว้อย่างชัดเจนในกฎหมายภายในประเทศและบังคับไม่ให้มีการทรมานอย่างเด็ดขาด  รวมทั้งกฎหรือระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ป้องกันไม่ให้มีการทรมานให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

 

·         เมื่อมีการทรมานเกิดขึ้น  ต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเรื่องร้องเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ถูกทรมานจะได้รับโอกาสในการร้องเรียนขอความเป็นธรรมโดยไม่ถูกทำให้ตกเป็นเหยื่อซ้ำสอง

 

·         เมื่อมีการร้องเรียนเรื่องการทรมานนั้น  รัฐภาคีต้องสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ โดยพลัน เป็นอิสระและอย่างมีประสิทธิภาพ

 

·         เมื่อมีการสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานเกิดขึ้นแล้วนั้น  รัฐภาคีจะต้องมีส่วนรับผิดชอบทางกฎหมายในการนำคนผิดมาลงโทษอย่างเป็นธรรมตามกฎหมาย และให้เหยื่อสามารถได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเหมาะสม

 

·         ศาลและหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมควรมีบทบาทในการตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้มีการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน  โดยอย่างน้อยควรนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษญชน 6 ฉบับ และปฏิญญาสากลด้านสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้ ในการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักนิติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติเป็นต้น เพื่อให้สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชนและสิทธิมนุษยชน และอำนวยความยุติธรรมเชิงรุกได้มากยิ่งขึ้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท