Skip to main content
sharethis



วันที่ 20 ก.พ.51  กรณีน.พ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลชุดของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร(CL) กับยารักษามะเร็ง 4 รายการที่มีบริษัทจากยุโรปเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2551 ซึ่งล่าสุดรัฐบาลชุดใหม่ได้เตรียมทบทวนว่าจะยกเลิก หรือเดินหน้าต่อ โดยประเด็นข้อกังวลในเวลานี้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่า การทำซีแอลดังกล่าวไทยอาจเป็นประเด็นนำไปสู่การตอบโต้ทางการค้าจากสหภาพยุโรป(อียู)ได้

 


น.พ.วิชัย โชควิวัฒน อดีตประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(น.พ.มงคล ณ สงขลา) ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำซีแอลยาโรคมะเร็ง 4 รายการ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ประเทศไทยไม่ควรกังวลมากเกินไปว่าจะถูกอียูตอบโต้ทางการค้าภายหลังการประกาศทำซีแอล เนื่องด้วยเวลานี้อียูยังเฉยๆ ต่อกรณีดังกล่าว ขณะเดียวกันที่ผ่านมารัฐสภาของอียูก็ได้มีมติอย่างชัดเจนในการสนับสนุน และไม่แทรกแซงประเทศกำลังพัฒนาในการทำซีแอล


 


"อียูเขาเฉยๆ มติรัฐสภาเขาก็สนับสนุนเรื่องทำซีแอล ส่วนสหรัฐอเมริกาที่เรากลัวว่ากรณีที่เราทำซีแอลยาอีก 3 รายการจะทำให้เขาปรับสถานะเราเป็นประเทศคู่ค้าที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด(PFC) ข้อเท็จจริงเวลานี้รัฐบาลสหรัฐฯก็ยังเฉยๆไม่ได้เต้นตาม"


 


อนึ่ง จากการตรวจสอบเงื่อนไขการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ของอียูไม่ได้ระบุเงื่อนไขในการตัดสิทธิ์อันเนื่องมาจากการไม่ให้ความร่วมมือในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเหมือนสหรัฐฯ แต่เกณฑ์ในการตัดจีเอสพีของอียูจะมาจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งมีสัดส่วนเกินเพดานที่กำหนด รวมถึงใช้เกณฑ์ระดับรายได้ประชากรของคู่ค้าเป็นหลัก


 


น.พ.วิชัย กล่าวอีกว่า การทำซีแอลยาถือเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ มีเหตุผลหลักคือการช่วยให้ป่วยภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้ในราคาถูกและยามีคุณภาพดีทัดเทียมกับยาที่ติดสิทธิบัตรที่ขายในราคาแพงมาก อาทิ ยาโดซีแท็กเซล ที่ใช้รักษามะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม ซึ่งยาที่มีสิทธิบัตรมีราคาสูงถึง 25,000 บาทต่อเข็มขนาด 80 มิลลิกรัม ขณะที่ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพทัดเทียมกันในขนาดเดียวกันมีราคาเพียง 4,000 บาท หรือต่างกันกว่า 6 เท่า


 


ส่วนยาเลโทรโซล รักษามะเร็งเต้านม ยาที่มีสิทธิบัตรราคา 230 บาทต่อเม็ดขนาด 2.5 มิลลิกรัม ขณะที่ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพทัดเทียมกันมีราคาเพียงเม็ดละ 6-7 บาท ต่างกันถึงกว่า 30 เท่า ยาเออร์โลทินิบ รักษาโรคมะเร็งปอด ยาที่มีสิทธิบัตรราคา 2,750 บาทต่อเม็ดขนาด 150 มิลลิกรัม ขณะที่ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพทัดเทียมกันราคาเพียงเม็ดละ 735 บาทต่างกันเกือบ 4 เท่า และยาอิมาทินิบ รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งทางเดินอาหาร ราคา 917 บาทต่อเม็ดขนาด 100 มิลลิกรัม ขณะที่ยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพทัดเทียมกันราคาเม็ดละ 50-70 บาท หรือต่างกันเกือบ 20 เท่า


 


"หากทบทวนเรื่องการทำซีแอลยามะเร็งทั้ง 4 รายการข้างต้นของรัฐมนตรีทั้งสามกระทรวงมีมติให้ทำซีแอลต่อทางกระทรวงก็มีแผนที่จะนำเข้ายาตัวแรกคือ ยาโดซีแท็กเซลจากอินเดียเข้ามาทันที เพราะเวลานี้ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพและขึ้นทะเบียนยาตามขั้นตอนของ อย.เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำเข้าให้ใช้ได้อย่างน้อย 6 เดือน ส่วนอีก 2 ตัวคือเลโทรโซล และเออร์โลทินิบ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพเพื่อขึ้นทะเบียน ซึ่งทั้งหมดจะนำเข้าจากอินเดีย ส่วนอีก 1 ตัวคืออิมาทินิบจะยังไม่บังคับใช้สิทธิเพราะเจ้าของสิทธิบัตรมีโครงการช่วยเหลือให้ยาฟรีแก่ผู้ป่วย แต่หากเขาทำผิดข้อตกลงเราก็จะบังคับใช้สิทธิทันที"


 


แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีที่มีหลายฝ่ายชอบตั้งคำถามว่าไทยทำซีแอลแล้วจะประหยัดงบประมาณในการนำเข้ายาเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งล่าสุดเบื้องต้นมีการประเมินกันว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากการทำซีแอลยามะเร็ง 4 รายการประมาณ 774 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงอาจประหยัดได้เป็นพันล้านบาทต่อปี ขณะที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยมูลค่ามหาศาลหากถูกตอบโต้ทางการค้า ในเรื่องนี้ขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายไม่ควรประเมินชีวิตคนเป็นตัวเงิน แต่ควรคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ตัวอย่างในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อเอดส์เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 500,000 คน หากคนเหล่านี้สามารถเข้าถึงยาได้ คาดจะยังมีชีวิตอยู่ไม่ต่ำกว่า 80% ซึ่งสามารถสร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล


 


ผู้ป่วยฟ้องศาล หากล้ม"ซีแอล" สับเอื้อบริษัทยา


น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) กล่าวว่า การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรโดยรัฐ หรือซีแอล เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และเหมาะสมในการนำมาใช้กับ ผู้ป่วยเพื่อให้เข้าถึงยามากขึ้น  หากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  ไม่ดำเนินการใดๆ ตามที่ได้มีการประกาศไว้ เมื่อครบกำหนดเวลาทบทวนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ มูลนิธิผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนจะฟ้องศาลปกครองฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


 


"การทำซีแอลถูกต้อง ฉะนั้นไม่มีเหตุผลใดที่จะชะลอการดำเนินการต่อจากที่มีการประกาศ จึงควรที่จะหาทางนำเข้ายามาให้เร็วที่สุด" น.ส.สุภัทรา กล่าว


 


นพ.อำพน จินดาวัฒนะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อภิปรายนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่แถลงต่อรัฐสภาในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แถลง ต่อรัฐสภา เนื่องจากท่าทีการทำงานของนายไชยา สะสมทรัพย์  รมว.สาธารณสุข ไม่มีความชัดเจนว่าจะยกเลิกซีแอลหรือไม่ และรัฐบาลจะยืนเคียงข้างผู้ป่วยหรือ ผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจบริษัทยาข้ามชาติ


        


"การทำซีแอลไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่สหรัฐยังทำ แต่ปัจจุบันบริษัทยาข้ามชาติได้สร้างอิทธิพล สูงมาก ด้วยการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการล็อบบี้นักการเมือง ไม่ให้รัฐบาลทำซีแอล" นพ.อำพน กล่าว


 


สหรัฐขู่ฟ้องดับบลิวทีโอไทยทำซีแอลไม่โปร่งใส



นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง กรณีที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการทบทวนการประกาศบังคับใช้สิทธิผลิตหรือนำเข้ายาที่มีสิทธิบัตร (ซีแอล) ในยารักษาโรคมะเร็ง 4 ชนิดว่า ในการประชุมระดมความเห็นระดับปลัดกระทรวง 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องคือ สาธารณสุข พาณิชย์ และการต่างประเทศนั้นในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องหมดแล้วและจะไม่มีการประชุมระดับปลัดกระทรวงอีกแล้ว เหลือเพียงการประชุมระดับรัฐมนตรี 3 กระทรวงคาดว่าจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า



 


แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะถูกสหรัฐฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ให้ยกเลิกการบังคับใช้สิทธิซีแอล เนื่องจากสหรัฐเห็นว่าการประกาศซีแอลของไทยไม่โปร่งใส โดยไม่มีการหารือกับเจ้าของสิทธิบัตรก่อน อย่างไรก็ตามหากสหรัฐฟ้องไทยจริง ทางกระทรวงสาธารณสุขไทยจะต้องเป็นผู้ชี้แจงข้อกล่าวหา ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขไทยยืนยันตลอด ว่า ได้ดำเนินการประกาศซีแอลถูกต้องทุกขั้นตอน



 


นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่าจากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์)ได้เปิดให้เอกชนเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของประเทศคู่ค้าในเรื่องการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ล่าสุดได้ส่งความเห็นของเจ้าของสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ไปให้ยูเอสทีอาร์เรียบร้อยแล้ว โดยยังคงสถานะประเทศไทยไว้ที่กลุ่มประเทศที่จับตามองพิเศษหรือพีดับบลิวแอลเหมือนเดิม


 


ดร.วีรชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการทำซีแอลยาประเทศไทยมีสิทธิ์ทำได้ เท่าที่ได้รับทราบจากกระทรวงสาธารณสุขได้รับการยืนยันว่าทำอย่างถูกต้อง ซึ่งหากทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายคิดว่าประเทศคู่ค้าไม่สามารถดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าใดๆ อันเนื่องมาจากการทำซีแอลยาได้ นอกเสียจากว่าประเทศมหาอำนาจเขาจะรวมตัวกันขึ้นมาแล้วอ้างเหตุผลอื่นซึ่งเขามีสิทธิ์ตอบโต้ได้


 


ด้านนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จะมีการนัดหารือในเรื่องการทบทวนทำซีแอลร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหลังจากจบการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ส่วนตัวไม่รู้สึกกดดันเพราะทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ และขอย้ำไม่เคยระบุว่าจะยกเลิกทำซีแอลแต่เมื่อมีหนังสือจากอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์คนก่อน(เกริกไกร จีระแพทย์)ให้ทบทวนอย่างรอบคอบก็พร้อมดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่าผู้ป่วยจะต้องได้เข้าถึงยา ส่วนที่ถูกมองว่าการพิจารณาเป็นไปอย่างล่าช้านั้นเนื่องจากต้องทำงานเป็นคณะไม่ใช่ตัดสินใจเพียงเดียว


 


นายธีระ ฉกาจนโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์(PReMA) กล่าวว่า การทำซีแอลมองว่าไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาในการเข้าถึงยาที่ดีท่าสุด แต่รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพในภาพรวม โดยเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขให้มากขึ้น และที่สำคัญควรจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีความซับซ้อนในการรักษา เช่น โรงมะเร็ง โรคไต เป็นต้น ส่วนโรคทั่วไปและมีผู้ป่วยมากเช่น ปวดหัว เป็นไข้ ควรให้ประชาชนรับภาระค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณ และสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคที่ซับซ้อนสามารถเข้าถึงยาได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากการถูกตอบโต้ทางการค้าจากการทำซีแอลยาได้


 


ยืนยันประชุม 3 ปลัดยังไม่สรุป


ส่วนการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาซีแอล ระดับปลัดกระทรวงนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะมีการทบทวนหรือดำเนินการต่อการบังคับใช้สิทธิซีแอล เพราะข้อมูลที่นำมาหารือระหว่างกันยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง และจะต้องหารือกันต่อ


 



อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าสหรัฐจะไม่จัดอันดับไทยขึ้นบัญชีประเทศที่มีการละเมิดสูงสุด (พีเอฟซี) ตามมาตรา 301 กฎหมายการค้าพิเศษสหรัฐ ที่จะมีการประกาศทบทวนสถานะการละเมิดประเทศคู่ค้าประจำปี 2551 ในช่วงปลายเดือน เม.ย.นี้ เนื่องจากมาตรการตอบโต้ที่จะนำมาใช้กับประเทศที่ถูกจัดอันดับพีเอฟซี มีความยุ่งยาก หลายขั้นตอน เพราะต้องแถลงให้สภาสหรัฐเห็นชอบ ดังนั้นการจัดสถานะละเมิดในปีนี้ คาดว่าไทยจะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องติดตามเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล) เหมือนปี 2550


 



นางอัญชนา  วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์ของไทยภายใต้โครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหรัฐ และมูลค่าความเสียหายหากถูกตัดสหรัฐสิทธิ เพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ 3 กระทรวง ในการพิจารณากรณีของซีแอลยามะเร็ง 4 ชนิดแล้ว โดยในปี 2550 ไทยใช้สิทธิ์ประมาณ 20% ของมูลค่าการค้าไทย-สหรัฐ หรือประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ หากสหรัฐ ตัดสิทธิ์ จะทำให้ไทยต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐในอัตราปกติ ซึ่งสูงกว่าภาษีส่งออกภายใต้จีเอสพี และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้ส่งออกไทยอาจเสียศักยภาพในการแข่งขันและกระทบต่อมูลค่าการส่งออกได้


 



สำหรับโครงการจีเอสพีของสหรัฐในปัจจุบันจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธ.ค. 2551 แต่ขณะนี้สหรัฐยังไม่ได้ประกาศว่าจะทบทวนโครงการใหม่หรือไม่ จากปกติจะต้องประกาศในราวเดือน ก.พ. อาจเป็นเพราะสหรัฐอยู่ในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดี หากมีการประกาศทบทวนโครงการเมื่อไร กรมก็จะยื่นเรื่องขอคืนสิทธิ์ และยกเว้นการตัดสิทธิ์ทันที


 



3 แคนดิเดตปธน.สหรัฐหนุนซีแอล


น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่องค์การหมอไร้พรมแดน ไทย-เบลเยียม เปิดเผยว่า ภายหลังที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขสั่งให้มีการทบทวนมาตรการบังคับใช้สิทธิ์ ในยามะเร็ง 4 รายการ ปรากฎว่าทางเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกร่วม 80 องค์กร และองค์กรเครือขายผู้ป่วยต่างร่วมลงชื่อเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการทบทวนซีแอลพร้อมสนับสนุนเดินหน้ามาตรการซีแอลของไทยเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาต่อไป และพร้อมทั้งทำหนังสือถึงนายไชยา สะสมทรัพย์รมว.สาธารณสุข และรัฐบาลไทย โดยแบ่งเป็น 3 ฉบับได้แก่ 1.จดหมายเปิดผนึกเสนอผ่านทางสื่อ ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย 2.จดหมายของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และ 3.จดหมายของนักกฎหมายด้านสุขภาพและการสาธาณสุข โดย 2 ฉบับหลังนี้จะยื่นผ่านสถานทูตไทยเพื่อส่งถึง รมว.สาธารณสุขภายในสัปดาห์นี้


 


สำหรับเนื้อหาในจดหมายที่ทางกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในสหรัฐร่วมลงนามนั้น ถามถึงจุดยืนของนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลชุดใหม่ต่อปัญหาการเข้าถึงยาของประชาชน รวมทั้งขอทราบท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องซีแอล เนื่องจากเห็นว่าที่ผานมารัฐบาลชุดเดิมได้ดำเนินการประกาศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยซีแอลยังเป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีความสำคัญในการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยารักษาโรคเรื้อรังและโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น พร้อมทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อการเข้าถึงยาอย่างทั่วถึงในระยะยาว


 


ขณะที่หนังสือของนักกฎหมายด้านสุขภาพ และการสาธารณสุขได้สนับสนุนการประกาศซีแอลยามะเร็ง รวมทั้งยังระบุให้รัฐบาลไทยพึงตระหนักในการประเมินคำขู่ของสมาคมอุตสาหกรรมยาต้นแบบในสหรัฐ(ฟาร์ม่า) ที่ข่มขู่ว่าจะเสนอให้จัดประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองสูงสุด เนื่องจากขณะนี้อุตสาหกรรมยาได้รับความไว้วางใจจากสาธารณชนในสหรัฐต่ำมาก เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นล่าสุดพบว่า คนอเมริกันเพียงร้อยละ 11 เท่านั้นที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมยายังคงมีความสัตย์ซื่อและน่าไว้วางใจ ผนวกกับผู้สมัครหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐที่มีคะแนนนำสูงสุด 3. คน ต่างก็มีมุมมองที่วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมยามากกว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบัน


 


"โดยนางฮิลลารี คลินตัน ยืนยันว่าสนับสนุนคำประกาศโดฮาว่าด้วยข้อตกลงทริปส์และการสาธารณสุข และยังได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนนโยบายการค้าที่ปกป้องและขยายสิทธิของประเทศยากจนในการเข้าถึงยาชื่อสามัญราคาถูกและมีคุณภาพเพื่อความจำเป็นด้านสุขภาพ เช่นเดียวกันกับ นายบารัก โอบามา ที่ย้ำว่าสนับสนุนสิทธิของประเทศอธิปไตยในการเข้าถึงยาชื่อสามัญราคาถูกที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความจำเป็นด้านสาธารณสุข ขณะที่นายจอห์น แม็กเคน แม้จะไม่ได้ประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการในประเด็นนี้แต่เขาวิพากษ์อุตสาหกรรมยาต้นแบบอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้เขาพูดถึงบรรษัทยาเหล่านี้ว่าเป็นผู้ร้ายตัวเขื่อง ดังนั้นมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดต่อไปของสหรัฐจะไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาเท่ากับรัฐบาลปัจจุบัน" หนังสือดังกล่าวระบุ


 


 


 


 


 


 


 


---------------------------------


เรียบเรียงจาก : ฐานเศรษฐกิจ, โพสต์ทูเดย์,กรุงเทพธุรกิจ,ไทยโพสต์


 


 


        


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net