Skip to main content
sharethis

กรณีคนไข้ฟ้องหมอ เป็นเรื่องที่เห็นจนชินตา แต่ใช่ว่าฟ้องร้องแล้วเรื่องจะจบง่ายๆ กว่ากระบวนพิจารณาจะเสร็จสิ้นก็กินความไปหลายปี นอกจากทุกข์จะไม่บรรเทาแล้ว ฝ่ายหมอก็ทำงานอย่างไม่สบายใจ หันมาใช้วิธีการรักษาเชิงป้องกัน คือ อาจจะรักษามากโดยไม่จำเป็น ซึ่งภาระการรักษาก็ตกอยู่ที่คนไข้ ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการสายสาธารณสุขจึงเตรียมดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข


 


เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 51 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดประชุมเรื่อง "กองทุนชดเชยผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข : เยียวยาหรือแค่ปิดปาก?" ณ ห้องประชุม สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันบำราศนราดูร


 


สืบเนื่องมาจากปัญหาในระบบบริการสาธารณสุขปัจจุบัน ซึ่งสถิติอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา ชี้ว่า แต่ละปีจะมีผู้ใช้บริการในระบบสาธารณสุขร้องเรียนและการฟ้องร้องแพทย์มากกว่า 1,200 ราย


 


อาทิ การร้องเรียนเรื่องการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน การฟ้องร้องแพทย์หลังจากผู้ป่วยได้รับความเสียหายจากการใช้บริการทั้งที่เป็นเหตุสุดวิสัยและเป็นกรณีที่ป้องกันได้ ซึ่งล้วนทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ ยิ่งกว่านั้น ผลกระทบที่สำคัญคือ ผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับการเยียวยาในเวลาอันควร เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการพิสูจน์ถูกผิดทางศาล


 


ดังนั้น ข้อเสนอที่จะให้มีกฎหมาย "คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" จึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายสุขภาพที่เครือข่ายนักวิชาการด้านสุขภาพต้องการเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ


 


นพ.พงษ์พิสุทธ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล ส่วนใหญ่ยังเป็นประเด็นกว้างที่มิได้ลงรายละเอียด ดังนั้น ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายสุขภาพน่าจะเป็นเรื่องหนึ่งที่พรรคการเมืองนำไปเสนอได้ โดยเฉพาะเรื่อง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข


 


ในส่วนของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข มีสาระสำคัญ ว่าด้วยการตั้ง "กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข" โดยก่อนหน้านี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวค้างอยู่ที่กฤษฎีกา ซึ่งเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เรื่องดังกล่าวจึงต้องรอการเสนอใหม่ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่อีกครั้ง


 


 


ทำไมต้องมีกองทุนชดเชย


นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าวที่มาที่ไปของปัญหาว่า เรื่องการฟ้องร้องแพทย์เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นมากขึ้นทุกวัน


และ ยิ่งระยะหลังที่มีการฟ้องร้องทางอาญาด้วยนั้น ซึ่งต้องบอกว่าระบบบริการสุขภาพตอนนี้มันพิกลพิการ คนไข้และหมอต่างก็ทุกข์กันคนละแบบ ด้วยความที่มีมุมมองที่ต่างกัน นำมาสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า


 


ความทุกข์ส่วนหนึ่งมาจากการใช้บริการแล้วเกิดความเสียหาย นำไปสู่กลไกกฎหมาย หากต้องการการชดเชย มีหลายระดับ เช่น หมอช่วยเหลือกันเป็นการภายใน สองคือ พ.ร.บ.การรับผิดในความเสียหายทางละเมิด ซึ่งใช้ได้เมื่อเป็นความเสียหายจากสถานพยาบาล และใช้หลักกฎหมายแพ่ง คือ ถ้าไม่ผิด ไม่ช่วย ซึ่งถ้ามีความเสียหายแล้วพิสูจน์ว่าไม่ผิดก็เป็นเรื่องตามบุญตามกรรม นั่นคือ จำกัดเฉพาะสถานพยาบาลของรัฐ และชดเชยเมื่อมีความผิดเท่านั้น และกระบวนการก็ไม่ได้เร็ว


 


"วิธีการและกลไกแบบนี้ ในที่สุดมันเพิ่มความทุกข์ให้สองฝ่าย หลายคดีกว่าจะจบใช้เวลาเป็นห้าปีสิบปี ชีวิตคนเปลี่ยนแปลงไปหมด ในช่วงที่เขามีความทุกข์ไม่มีกลไกบรรเทา หมอก็มีทุกข์ ถูกตีตราในช่วงที่คดียังไม่จบ" นพ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าว


 


"หมอเวลาโดนฟ้องมากๆ จะสั่งตรวจทุกอย่าง เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกฟ้องร้อง แล้วการตรวจเยอะๆ ภาระคนจ่ายก็คือเรา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเสรีนิยม เรากำลังจะหยุดวงจรตรงนี้" นพ.พงษ์พิสุทธิ์ กล่าว


 


นพ.พงษ์พิสุทธิ์ เสนอว่า อันดับแรก คนที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับลการเยียวยาโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เพราะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน นั่นคือ จะพิสูจน์ถูกผิดก็ทำไป แต่ไม่เกี่ยวกับการช่วยผู้เสียหาย โดยหลักนี้ ถ้าความทุกข์ของคนไข้ได้รับการบรรเทาแล้ว แรงกระตุ้นที่จะไปฟ้องร้องน่าจะน้อยลง


 


 


ชดเชยเพื่อปิดปาก? แล้วมาตรฐานการแพทย์จะลดลงไหม?


แต่คำถามที่มีมาก คือ พ.ร.บ.นี้ มีเพื่อปิดปากคนไข้ใช่หรือไม่ และคนร่างก็มาจากสายหมอ


 


อย่างไรก็ดี แนวคิดเกี่ยวกับกองทุนลักษณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่มีอยู่ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แต่นักวิชาการสายสาธารณสุขเห็นว่า ควรต้องแยกออกมา เพื่อให้การทำงานเห็นผลมากขึ้น


 


"การมีกองทุน คือ ไม่แยกฝ่าย ใครเดือดร้อนก็ช่วยกันไป แต่ไมได้หมายความว่าการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จะฟ้องไม่ได้ ยังฟ้องได้" นพ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าว


 


ทั้งนี้ แม้จะมีกองทุนชดเชยเช่นนี้ แต่กระบวนการที่ทำให้หมอต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพยังมีเหมือนเดิมทุกประการ เพียงแต่กระบวนการต่างๆ ไม่เอามาผูกกัน คือ การบรรเทาความเสียหายเกิดขึ้นโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด


 


ในอีกด้านหนึ่งนั้น มีแนวคิดที่พยายามผลักดัน มิให้ความผิดของแพทย์เป็นความผิดทางอาญาด้วย หรือพยายามไม่ให้ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล เพราะในกระบวนการรักษาย่อมมีความเสี่ยง (Medical Eror)


 


นพ.พงษ์พิสุทธิ์ เล่าถึงกระบวนการที่อาจจะเกิดขึ้นและความเห็นที่หลากหลาย ว่า หากมีกองทุน และกองทุนได้ชดเชยความเสียหายแล้ว ผู้เสียหายยังอยากฟ้องจะไปฟ้องได้ไหม มีผู้เสนอว่า ผู้เสียหายควรจะเลือกเพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ระหว่างกระบวนการพิจารณาของกองทุน หรือเข้าสู่กระบวนการศาล ทั้งนี้มีความกังวลว่า จะกลายเป็นกานนำเอาเงินที่ได้จากกองทุนชดเชยไปฟ้องศ่าล


 


ทั้งนี้ ต่อประเด็นดังกล่าว ในร่างแรกที่เคยเสนอกันนั้น ใช้ระบบที่ว่า ถ้ากองทุนจ่ายเงินชดเชยแล้วยังไปฟ้องศาล สมมติว่ากองทุนจ่ายชดเชยให้ 5 แสน จากนั้นผู้เสียหายไปฟ้องศาล ซึ่งศาลสั่งให้จ่ายเจ็ดแสน ต้องถือว่าเงินห้าแสนนั้นเป็นสินไหมทดแทนที่ศาลสั่งให้จ่ายให้ ดังนั้น รพ.จ่ายเพิ่มอีกสองแสน


 


แต่เรื่องนี้ เมื่อเสนอเข้าสู่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเสนอให้ใช้ระบบสัญญาประนีประนอมยอมความ ว่าเมื่อรับเงินช่วยเหลือไปแล้ว ให้ทำสัญญาว่าจะไม่ไปฟ้อง


 


 


ผู้เสียหาย ได้รับการชดเชยภายใน 5 เดือน โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด


โดยแนวคิดตั้งต้น คณะกรรมการกองทุน อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข มีประมาณ 10 ท่าน มีตัวแทนส่วนใหญ่ มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็มีตัวแทนด้านอื่นๆ เช่น ด้านผู้บริโภค และอดีตผู้ทีได้รับความเสียหาย


 


ปีแรกของการตั้งกองทุน ให้มีเงินตั้งต้นที่หนึ่งพันล้านบาท โดยให้สถานพยาบาลเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ และเนื่องจากสถานพยาบาลของรัฐได้เงินจากรัฐอยู่แล้ว แทนที่จะไปเก็บเงินรายร.พ. ก็ใช้วิธีเก็บเงินสมทบที่เจียดมาจากรัฐ โดยหักจากรพ. ตามจำนวนคนไข้


 


ทั้งนี้ เมื่อดูประสบการณ์จากต่างประเทศ เช่นประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย พบว่า เมื่อมีกองทุนไปได้ระยะหนึ่ง คนจะเข้าสู่ระบบมากขึ้น จะมีการร้องเรียนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะระบบป้องกันให้เอาเงินมาคุ้มครองในความเสียหายรุนแรง ส่วนความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ไม่นับรวมเข้ากองทุน เช่น เป็นผื่นคัน เราไม่ควรเอามานับรวม นอกจากนี้ ต้องมีกลไกที่ไม่เอาเงินส่วนรวมไปใช้เกินความจำเป็น อาทิ การผ่าตัดตาสองชั้น หรือการศัลยกรรมเพื่อความงาม


 


นอกจากนี้ จะมีสำนักงานที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลกองทุนดังกล่าว ในการร้องเรียนนั้น ภาระทั้งหมดจะต้องไม่มีต่อผู้ร้อง ซึ่งต่างจากการฟ้องศาล


 


ถ้ามีความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข สำนักงานจะต้องตั้งกรรมการขึ้นภายใน 7 วันแล้วเริ่มกระบวนการพิจารณา จากนั้น กรรมการจะคิดเงินชดเชยเป็นตัวเลข โดยกระบวนการทั้งหมด จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากมีอุทธรณ์จะต้องแล้วเสร็จภายใน 5 เดือน


 


ในเรื่องการคิดเงินชดเชยเป็นตัวเลขนั้น เช่น ดูความเสียหาย ว่าเกิดขึ้นอย่างไร มีภาระทางครอบครัวอย่างไร เช่น มีบุตรกี่คน โดยอาจเทียบเกณฑ์ชดเชยตามกม.แรงงานหรือกองทุนเงินทดแทน แต่คงไม่ชดเชยตามฐานานุรูป คือตีความรายได้ของทุกคนเท่ากันหมด เพราะอิงตามแนวคิดเบื้องต้น ว่าชีวิตทุกคนควรมีค่าเท่ากัน ไม่ควรคำนึงตามเศรษฐสถานะ


 


สาระของกฎหมายฉบับนี้ เคยถูกเสนอในรัฐบาลชุดที่แล้วและอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา จนวันนี้เปลี่ยนรัฐบาลใหม่แล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องเสนอเข้าสู่กระบวนการใหม่อีกครั้ง และอาจต้องเริ่มจากที่พรรคการเมืองนำไปใช้เป็นนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ


 


ซึ่งเจตนารมณ์ที่นักวิชาการสายสาธารณสุขร่วมกันผลักดันกฎหมายนี้ขึ้น จะเติบโตและถูกเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป


 

เอกสารประกอบ

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... (ฉบับต้นร่าง เสนอโดยสวรส.- ข้อมูลวันที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net