Skip to main content
sharethis


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ร่างพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ... " และการประชุมใหญ่วิสามัญ ของสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ว่า ภารกิจหลักในฐานะที่รัฐผิดชอบองค์กรสื่อทั้งกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท จะเข้ามาจัดระบบสื่อในเป็นรูปธรรม โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการเปิดพื้นที่สื่อให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มผู้เล่นคุณภาพเข้าสู่วงการ และเป็นทางเลือกให้ผู้ชมสื่อ



  


ภารกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการเข้าไปปรับปรุงคุณภาพรายการทางช่อง 11 ใหม่ ให้กลับสู่เจตนารมณ์เดิมคือการเป็นทีวีสาธารณะ ภายใต้แนวคิด "โมเดิร์น อีเลฟเว่น" ด้วยนำเสนอเนื้อสาระคุณภาพ ด้วยความเป็นกลาง และเป็นธรรม โดยจะเป็นโมเดลรายการเดียวกับ "ไทยพีบีเอส"



   


"ช่อง 11 จะอยู่สภาพนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะแม้จะได้ชื่อว่าเป็นสื่อกระแสหลัก เป็นฟรีทีวี ที่มีเครือข่ายแพร่ภาพและกระจายเสียงดีที่สุด แต่หากคอนเทนท์ไม่ดี ก็ไม่สามารถแข่งขันได้แม้กระทั่งพวกเพย์ทีวี ที่ผู้ชมต้องเสียเงินดู เมื่อเป็นเช่นนี้คงไม่สามารถพูดได้ว่าช่อง 11 เป็นสื่อกระแสหลัก" นายจักรภพกล่าว



  


แนวทางการแก้ไข และปรับปรุงช่อง 11 จะต้องทำให้เป็นทีวีที่ดีที่สุด มีคนดูจำนวนมาก สามารถสื่อสารกับประชาชนได้ โดยจะมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่มีความสามารถในการผลิตมากขึ้น ด้วยการหาคอนเทนท์คุณภาพมาเพิ่มเติม เช่น รายการที่ทำเกี่ยวกับหนังสั้น (Short Film) หนังอินดี้ ที่อยู่ในความสนใจของวัยรุ่น แต่ที่ผ่านมาไม่มีช่องทางเผยแพร่ หรือ รายการสำหรับกลุ่มคนสูงอายุ นำเสนอในช่วง ตี3 ถึง 6โมงเช้า เป็นต้น



  


นายจักรภพ กล่าวอีกว่า แนวทางการพัฒนาช่อง 11 จะศึกษาอย่างรอบด้าน แม้จะต้องมีการแก้กฎหมายช่อง 11 เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ก็ต้องมีการพิจารณาดำเนินการ ส่วนแนวทางการหารายได้จากโฆษณาก็จะมีการดูข้อกฎหมายเช่นกัน โดยต้องไม่คิดว่าโฆษณาเป็นของไม่ดี เพราะจริงๆ แล้วถือว่าโฆษณาเป็นประโยชน์ หากจัดสรรได้เหมาะสม



  


รูปแบบการโฆษณาในช่อง 11 ไม่จำเป็นต้องเหมือนฟรีทีวีช่องอื่นๆ คือไม่ต้องมีปริมาณ 12 นาทีต่อชั่วโมงตามมาตรฐานก็ได้ แต่มีเพื่อความเหมาะสม โดยทั้งหมดจะมีการศึกษาและวางกรอบการทำงานให้เสร็จภายใน 3 เดือน คือจะสรุปภายในเดือน พ.ค.นี้ หนังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ นอกจากการปรับปรุงช่อง 11 แล้ว จะทำงานแบบคู่ขนานในการพัฒนาช่องทีวีกีฬาไปพร้อมกัน โดยจะดำเนินการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา



 


เดินหน้าตั้ง กสทช.


นายจักรภพ กล่าวอีกว่าภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ จะเดินหน้าแก้ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาวงการสื่อ โดยจะผลักดันให้เกิดองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. ให้เร็วเพื่อเดินหน้าจัดสรรทรัพยากรสื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ



  


สำหรับการใช้บังคับ พ.ร.บ.วิทยุฯ จะทำให้กิจการเคเบิลทีวี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการคนไทยในต่างจังหวัด และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จะมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เกิดการพัฒนาในวงการสื่อท้องถิ่นอีกประเภท



  


นายเกษม อินแก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียมมีผู้ประกอบการกว่า 300 ราย มีผู้ชม 2.5 ล้านครัวเรือน คิดเป็นจำนวนผู้ชมทั่วประเทศ 12.5 ล้านคน หรือมีมาร์เก็ตแชร์ผู้ชมทีวี 13% เมื่อเทียบกับจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากในอนาคต ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายวิทยุฯ ที่คณะกรรมการชั่วคราว กทช.จะให้ใบอนุญาตชั่วคราว 1 ปีกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และเปิดโอกาสให้มีโฆษณาได้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น ปัจจุบันธุรกิจเคเบิลทีวี และผู้ผลิตคอนเทนท์ มีมูลค่าแล้วกว่า 1 หมื่นล้าน และเป็นตลาดที่ยังเติบโตได้



  


นายดิสทัต โหตระกิตย์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า หากพิจารณาตามบทเฉพาะกาลของกฎหมายวิทยุฯ ที่กำหนดให้ กทช.เป็นหน่วยงานที่มาดูแลออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับผู้ประกอบการเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมนั้น ส่วนใหญ่บทเฉพาะกาลจะคุ้มครองผู้ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตน่าจะเป็นรายเดิมเท่านั้น


 


 


............................... 


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net