สั่งย้าย เด้งเลขาอย. ไชยาปัด ไม่เกี่ยวซีแอล

เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข 3 คน ได้แก่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 8, 9 นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ อย. และ นพ.เรวัต วิศรุตเวช ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 8, 9 ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์

 

นายไชยา กล่าวว่า การโยกย้ายครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการทำซีแอล เป็นเพียงการย้ายเพื่อความเหมาะสม ให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยดูที่ประวัติราชการที่เหมาะสมเป็นหลัก การย้าย นพ.ศิริวัฒน์ เหตุผลหลักเนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องเครื่องดื่มชูกำลังผสมสาร และได้สั่งการไปให้ อย.จัดการ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับรายงาน และยังมีการร้องเรียนเรื่องเครื่องในหมูจากเกษตรกรที่เลี้ยงหมู ซึ่งพบว่าเกิดขึ้นจริง แต่คำถามคือ อย.มีการดูแลตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่ ซึ่งว่ากันว่า อย.ไม่ได้ตรวจ แต่ไม่ได้ย้ายเพราะสาเหตุนี้ ดูตามความเหมาะสมมากกว่า หากเกิดขึ้นกับกรมอื่นก็จะย้ายเช่นกัน ถามว่า หากวันนี้มีไข้เลือดออกระบาดหนัก และกรมควบคุมโรคไม่ทำอะไร ก็ย้ายเช่นกัน

 

รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า เชื่อว่าการย้าย นพ.ศิริวัฒน์จะไม่กระทบการทำซีแอล ที่ผ่านมามีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร สามารถไปติดตามได้ว่ามีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ไม่มีอะไรที่ต้องกระทบ เพราะทุกคนต้องรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ ความมั่นคงของผู้ป่วย และการเข้าถึงยาเป็นหลัก จากการพูดคุยและเห็นประวัติการทำงานของ นพ.ชาตรี บานชื่น ก็เห็นว่ามีประสบการณ์ทำงานมาก ยังมีไฟที่จะทำงานเรื่องนี้ มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ ซึ่งการทำซีแอลต้องมีการดูแลเรื่องของคุณภาพยาให้มีประสิทธิภาพ เชื่อว่า นพ.ชาตรี จะสามารถทำงานได้

 

นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการทำซีแอลดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และหาก รมว.พาณิชย์ไม่ป่วยก็คงเสร็จไปแล้ว อย่าไปคิดว่าเรื่องซีแอลเป็นเรื่องร้อน เพราะเย็นไปแล้ว ไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะบริษัทยาจะรู้ได้ว่าเราคิดอะไร และอย่าคิดว่าเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง อย่างเช่นการย้าย นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ซึ่งเป็นสำนักงานใหม่ ที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับงานของ ป.ป.ช.ที่ค้างอยู่จำนวนมาก นายสุนัยมีประสบการณ์พร้อมจะสามารถทำงานได้ทันที ตนมองว่าไม่ใช่เรื่องการกลั่นแกล้ง แต่เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่า เช่นเดียวกับการย้าย นพ.ศิริวัฒน์ และ นพ.ชาตรี ก็เป็นไปเพื่อความเหมาะสม

 

นายไชยา กล่าวอีกว่า กรณี นพ.ชาตรีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนั้น เรื่องมันจบไปแล้ว มีการตัดเงินเดือน ลงโทษไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากการสอบสวนยังไม่จบกระบวนการ การย้าย นพ.ชาตรีออกมาก็เพื่อให้ยุติธรรม ให้เกิดความโปร่งใส ย้ายข้าราชการเป็นเรื่องใหญ่ หรือมาบอกว่านอกฤดูกาลโยกย้าย นี่ตนเพิ่งเข้ามาก็ต้องย้าย เพื่อให้ทำงานราบรื่น

 

 "ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร เพราะไม่ได้รู้จักหรือสนิทกับใครเป็นการส่วนตัว แต่ดูจากประวัติการทำงานที่ผ่านมา ผมไม่ได้แกล้งใคร หรือเกลียดใคร แล้วต้องโยกย้าย และหากยิ่งเกลียดก็ยิ่งต้องเอาไว้ใกล้ตัว จะได้ให้เข้าใจว่าผมกำลังทำอะไร แล้วจะได้รักเรา เพราะตำแหน่งที่โยกย้ายนั้น ผมก็ไม่ได้รู้จักกับท่าน และเห็นหน้าเพียงไม่กี่ครั้ง ไม่ได้ปรึกษาใคร แต่ปรับเพื่อให้สามารถทำงานต่อได้ การย้ายครั้งนี้ก็อยู่ในระนาบเดียวกัน ระดับ 10 ไประดับ 10 ไม่ได้ลดตำแหน่งลง จะเป็นอธิบดี หรือผู้ตรวจราชการ ก็เหมือนกัน ส่วนการย้าย นพ.ศิริวัฒน์ จากอธิบดีไปเป็นผู้ตรวจฯ และมองว่าศักดิ์ศรีน้อยกว่า ไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะข้าราชการอยู่ในตำแหน่งไหนก็ต้องทำงานได้เหมือนกัน" นายไชยา กล่าว

 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การโยกย้ายดังกล่าวเป็นการโยกย้ายนอกฤดูกาล และยังเป็นการย้ายลดไปตำแหน่งที่ต่ำกว่า แม้ว่าจะเป็นระดับ 10 เท่ากัน การลดตำแหน่งดังกล่าวต้องมีความผิดทางราชการ แต่ในกรณีของ นพ.ศิริวัฒน์ที่ทำเรื่องซีแอลมีความผิดอย่างไร ซีแอลเป็นกระบวนการที่มีความเป็นธรรม และไม่อยากเห็นทุกอย่างหยุดอยู่กับที่แทนที่จะเดินหน้า

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า คิดว่าการโยกย้ายนี้มาจากการไม่สนองนโยบายเรื่องซีแอล นายไชยาออกมาพูดว่าทบทวนคนทำงานทั้งหลายต่างต้องทบทวน แต่ นพ.ศิริวัฒน์ มีนิสัยตรงไปตรงมา อาจไม่สนองนโยบายก็เป็นได้ จึงถือว่าเป็นเรื่องเสียดายที่จะทำให้คนทำงานกระตือรือร้นไปแขวนไว้ การทำเช่นนี้เป็นพวกไม่รักองค์กร การย้ายในลักษณะนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยฉลาดที่นายไชยาย้ายข้าราชการประจำ เพราะเข้าข่ายรังแก และเป็นระเบิดเวลาให้ รมว.สาธารณสุขด้วย

 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ล้วนมีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เพราะการย้ายนอกฤดูกาลจะกระทำก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่าง เช่น มีตำแหน่งระดับสูงว่าง หรือเกิดเหตุการณ์ที่ข้าราชการระดับสูงบางคนทำผิดวินัยชัดแจ้ง เช่น ถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง จึงจำเป็นต้องปลดหรือย้ายข้าราชการท่านนั้นลง และย้ายหมุนคนอื่นขึ้นมาแทน

 

"งานนี้นอกจากหมอศิริวัฒน์ ไม่ได้ทำผิดอะไรแล้ว แต่กลับมีการย้ายคนที่เพิ่งถูกลงโทษทางวินัย ตัดเงินเดือนเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและได้รับอภัยโทษเมื่อ 5 ธันวาคม มาแทนในหน่วยงานที่ทุกคนทราบดีว่ามีแรงเสียดทานสูงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านยา และเพิ่งเกิดปัญหากับบริษัทยาต่างประเทศ กรณีซีแอลรัฐมนตรีอ้างว่าไม่มีข้อมูล ทั้งๆ ที่คุณหมอศิริวัฒน์ เป็นเลขาฯ อย. เรียกมาถามเมื่อใดก็ได้ แต่ได้สอบถามคุณหมอศิริวัฒน์แล้วพบว่ายังไม่เคยถูกเรียกมาพบแม้แต่ครั้งเดียว ครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า นพ.ศิริวัฒน์ โดนพิษซีแอลเด้งอย่างแน่นอน" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

ประธานชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่า ต่อไปนี้ขอให้เตรียมใช้ยาราคาแพง เพราะรัฐบาลส่งสัญญาณไม่ให้ทำซีแอลอย่างแน่นอน ข้าราชการอื่นๆ ที่ตั้งใจทำงานก็จะเกรงกลัวว่าจะโดนย้ายเหมือน นพ.ศิริวัฒน์ เชื่อว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สัปดาห์หน้า นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม อดีตประธานคณะอนุกรรมการสนับสนุนเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ และ นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม คงต้องถูกปลดแน่

 

"ต่อไปทั้งหมอวิชัย และหมอวิทิตคงถูกปลดไปตามๆ กัน ในข้อหาตั้งใจช่วยประเทศชาติให้เป็นเอกราชมากเกินไป ตั้งใจทำซีแอลและช่วยทำให้ราคายาภายในประเทศลดลงมากไป ล่าสุดทั้งสองท่าน ช่วยประหยัดงบก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนมากไป เช่น งบก่อสร้างโรงงานจากเดิมราคาประมาณ 950 ล้านบาท ปรากฏว่ายุค นพ.มงคล ที่มี นพ.วิชัย เป็นประธานบอร์ด และ นพ.วิทิต เป็นผู้อำนวยการ สามารถจัดจ้างได้เหลือประมาณ 500 ล้านบาทเศษ ประหยัดกว่าเดิมถึง 400-700 ล้านบาท" นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะคัดค้านเรื่องซีแอลทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เชื่อได้ว่าครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ผลักให้เอ็นจีโอและชาวบ้านที่ไม่พอใจเรื่องนี้ กลับไปอยู่ฟากพันธมิตรเร็วกว่าที่คิด คิดไม่ถึงว่ารัฐบาลที่เคยได้เครดิตได้มิตรจากการทำ 30 บาท มาถึงยุคนี้กลับต้องการเพื่อนน้อยลง และต้องการเพิ่มศัตรูโดยไม่จำเป็น

 

 

 

"นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล" ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ อย.แทน ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ ที่ลาออกไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในสมัยที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข จากเดิมที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และจัดว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร หรือซีแอล โดยได้รับการแต่งตั้งจาก นพ.มงคลให้เป็นประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร ซึ่ง นพ.ศิริวัฒน์จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับซีแอลมากคนหนึ่ง เนื่องจากเป็นประธานในการเจรจาต่อรองราคายากับบริษัทยามะเร็งถึง 12 ครั้ง ก่อนที่ นพ.มงคล จะประกาศซีแอลยามะเร็ง 4 รายการ จนกระทั่งสมัยนายไชยาได้สั่งทบทวนการทำซีแอลยามะเร็ง

 

"นพ.ชาตรี บานชื่น" ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการแพทย์เมื่อปี 2547 ในสมัยที่คุณหญิงสุดารัตน์เป็น รมว.สาธารณสุข และในสมัย นพ.มงคลเป็น รมว.สาธารณสุขนั้น นพ.ปราชญ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง นพ.ชาตรี จากกรณีการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์มูลค่า 900 ล้านบาท โดยมี นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้นเป็นประธาน ต่อมาเมื่อมีการแต่งตั้งโยกย้ายอีกครั้งในสมัย นพ.มงคล ซึ่ง นพ.วัลลภ ไทยเหนือ รมช.สาธารณสุข ได้เสนอให้ นพ.มงคล พิจารณาโยกย้าย นพ.ชาตรี ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง แต่ไม่เป็นผล และขณะนี้คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นพ.ชาตรี ชุดที่มี นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เนื่องจากคณะกรรมการชุดเก่าลาออกทั้งชุดนั้น ยังไม่ได้ผลสรุปการสอบสวน

 

 

 

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท