Skip to main content
sharethis


ชำนาญ จันทร์เรือง


 


เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับจากวันประกาศใช้ กฎหมายนี้มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินฝากในธนาคารเพราะไม่ว่าจะมีเงินฝากเป็นแสนล้านหรือหมื่นล้านก็จะได้คืนเพียงแค่ล้านเดียวเท่านั้น


 


เหตุผลของการออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ก็เพราะว่า จากหลักการเดิมที่มีการคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงินเต็มจำนวน เป็นผลให้เกิดภาระการคลังแก่รัฐมากเกินไปอีกทั้งยังไม่มีกลไกดำเนินการที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อลดภาระการคลังจึงมีการนำระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินมาใช้ พร้อมกำหนดกลไกต่างๆ ในการคุ้มครองเงินฝาก อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบ สถาบันการเงิน อันจะเป็นการสนับสนุนการออมเงินของประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพ


ของระบบสถาบันการเงินภาพรวม 


 


โครงสร้างของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 


กำหนดให้สถาบันมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยรัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สถาบันเป็นวงเงินไม่เกินหนึ่งพันล้านและมีคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากจำนวนอย่างน้อย 7 คน แต่ไม่เกิน 9 คน


 


การคุ้มครองเงินฝาก 


แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ กองทุนคุ้มครองเงินฝาก เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองและการจ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงิน 


 


ส่วนที่หนึ่ง กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ประกอบด้วย เงินที่สถาบันการเงินนำส่ง ดอกผลของกองทุน และเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการชำระบัญชี ทั้งนี้ สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินร้อยละหนึ่งต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง และเมื่อนำส่งเงินเข้ากองทุนแล้วสถาบันการเงินจะไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป หากสถาบันการเงินใดไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนเงินดังกล่าว และให้ถือว่าเงินที่ส่งเข้ากองทุนและเงินเพิ่มเป็นหนี้บุริมสิทธิลำดับต่อจากหนี้ภาษีอากรของสถาบันการเงิน 


           


ส่วนที่สอง เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ประกอบด้วย 


 


(1) เงินฝากทุกประเภทของสถาบันการเงินที่นำมาคำนวณยอดเงินฝาก ถัวเฉลี่ย และดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดจากเงินฝากนั้นจนถึงวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และ 


 


(2) เงินฝากดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องเป็นเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท ต้องเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากภายในประเทศ โดยต้องมิใช่เงินฝากในบัญชีประเภทบัญชีเงินฝากของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินและให้คณะกรรมการประกาศรายละเอียดประเภทเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองในราชกิจจานุเบกษา


 


ส่วนที่สาม การจ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว จึงเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ตลอดจนสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้


 


(1)  กำหนดให้สถาบันในฐานะผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินตลอดจนเอกสารทั้งปวงของสถาบันการเงินและกำหนดให้คณะกรรมการควบคุม หรือผู้แทนนิติบุคคลของสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินและทรัพย์สิน ตลอดจนเอกสารทั้งปวงให้แก่สถาบันในฐานะผู้ชำระบัญชีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สถาบันการเงินนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต 


 


(2)  กำหนดหน้าที่ของสถาบันที่จะต้องประกาศกำหนดให้ผู้ฝากเงินมายื่นคำขอรับเงินภายในสี่สิบวันนับแต่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต


 


(3) กำหนดให้ผู้ฝากเงินมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นคำขอรับเงินและแสดงพยานหลักฐานเพื่อขอรับเงินภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สถาบันประกาศกำหนดให้มายื่นคำขอรับเงิน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้ หากรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็น รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งขยายได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน 


 


(4)  กำหนดให้สถาบันต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินแต่ละรายผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีหรือทายาทภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฝากเงินยื่นขอรับเงินโดยสถาบันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามจำนวนเงินที่ฝากไว้สำหรับทุกบัญชีรวมกันในแต่ละสถาบันการเงิน แต่หากเงินฝากทุกบัญชีรวมกันดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าหนึ่งล้านบาท ให้จ่ายเงินเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาท (มาตรา 53) 


 


ในกรณีที่มีชื่อบุคคลหลายคนร่วมกันเป็นเจ้าของบัญชี ให้สถาบันจ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีแต่ละคนตามส่วนที่บุคคลนั้นมีสิทธิในบัญชีเงินฝาก หากไม่อาจทราบจำนวนเงินฝากที่แต่ละคนมีส่วนในบัญชี ให้ถือว่าผู้ฝากเงินดังกล่าวมีส่วนเท่ากัน 


 


(5) เมื่อสถาบันจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตาม (4) แล้ว ให้สถาบันเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ฝากเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปแล้ว และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินนั้นจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ชำระบัญชี โดยมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้สามัญของสถาบันการเงินนั้นทั้งหมด


           


อย่างไรก็ดีเพื่อมิให้เกิดความสับสนวุ่นวายในระยะเริ่มแรกกฎหมายก็กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่าเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นแล้ว ให้ยกเลิกการประกันผู้ฝากเงินของสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลที่มีอยู่ก่อนการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และใน  4 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย ให้จ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงินตามหลักเกณฑ์ โดยกำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองไม่เกินจำนวน ดังนี้ 


                       


ปีที่หนึ่ง เต็มตามจำนวนเงินที่ปรากฏในบัญชี ปีที่สอง หนึ่งร้อยล้าน ปีที่สาม ห้าสิบล้านบาท ปีที่สี่ สิบล้านบาท


 


ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย หากภาวะเศรษฐกิจ และระบบการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องกำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นจากที่กำหนด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


           


พอถึงปีที่ 5 เป็นต้นไปก็เข้าสู่ภาวะปกติ คือ คุ้มครองไม่เกินหนึ่งล้านบาท ใครที่มีเงินเกินกว่าหนึ่งล้านบาทก็ต้องวางแผนทางการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรกับเงินที่มีอยู่ จะแบ่งไปฝากหลายๆสถาบันการเงินหรือจะนำไปลงทุน ก็ต้องศึกษากันให้ดีล่ะครับ


 


 


 


 


-----------------------------------


หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net