Skip to main content
sharethis


 


เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2551 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านปางแดงนอก ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน 48 คน ซึ่งทั้งหมดตกเป็นจำเลยในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส.เข้าทำการจับกุมเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2547 ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้นัดจำเลยทั้ง 48 คนมาเจรจาเพื่อหาข้อยุติในคดีที่เกิดขึ้นโดยเสนอให้ชาวบ้านทั้งหมดรับสารภาพ ขณะที่ชาวบ้านทั้งหมดยืนยันความบริสุทธิ์


 


นางคำ นายนวล ตัวแทนชาวบ้านปางแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยคดีนี้ กล่าวว่า การมาตามหมายนัดของศาลของชาวบ้านปางแดงทั้งหมดในวันนี้เพราะตั้งใจมายืนยันความบริสุทธิ์ของชาวบ้าน ทั้งนี้เพราะพิจารณากระบวนการจับกุมรวมทั้งการตั้งข้อหาของเจ้าหน้าที่จะพบว่าไม่มีความชอบธรรม อย่างการจับกุมก็ไปจับตอนตี 5 ชาวบ้านยังไม่ตื่น ทั้งยังไม่มีหมายจับ และที่สำคัญการจับกุมชาวบ้านครั้งนี้เป็นการจับกุมครั้งที่ 3 แล้ว หลังจากที่การจับกุม 2 ครั้งก่อนหน้านี้คือในปี 2532 และในปี 2541 ก็มีการตั้งข้อหาเดียวกัน อีกทั้งชาวบ้านบางคนที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาในครั้งนี้ก็เคยถูกจับกุมในปี 2541 มาแล้วด้วย อย่างการตั้งข้อกล่าวหาว่าบุกรุกป่าสงวนนั้นชาวบ้านยืนยันได้ว่าไม่มีการบุกรุก ดังนั้นชาวบ้านจะยืนยันความบริสุทธิ์โดยจะไม่สารภาพผิดแน่นอน


 


อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาครั้งนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ข้อเสนอแนะในคดีดังกล่าวว่า การจับกุมชาวบ้านปางแดงนอกอย่างในปี 2532 และ 2541 นั้นศาลก็ได้ตัดสินว่าชาวบ้านบุกรุกป่าจริง เพราะพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบันเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว ยังไม่มีการกันพื้นที่ออกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้พื้นที่จะมีความเสื่อมโทรม หรือมีสิ่งปลูกสร้างอย่างวัด โรงเรียน แต่ยังคงมีสถานะเป็นพื้นที่ป่าอยู่ ดังนั้นชาวบ้านจะปฏิเสธว่ามิได้บุกรุกป่าไม่ได้


 


ขณะเดียวกัน กรณีที่เกิดขึ้นชาวบ้านยังมีการร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมทั้งยืนยันมาโดยตลอดว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่า แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านกลับไปเรียกร้องให้ทางป่าไม้นำพื้นที่เหล่านั้นมาจัดสรรให้ชาวบ้าน ซึ่งกรณีนี้มีความขัดแย้งกัน ดังนั้นศาลมีความเห็นว่าชาวบ้านน่าจะสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง แล้วหลังจากนั้นค่อยไปเรียกร้องให้ทางป่าไม้นำพื้นที่เหล่านั้นมาจัดสรรให้


 


"ชาวบ้านน่าจะสู้ทางเดียว เพราะพื้นที่ตรงนั้นแม้เสื่อมโทรม แต่ยังมีสภาพเป็นป่าสงวนตามกฎหมาย ดังนั้นชาวบ้านน่าจะสารภาพผิดว่าดำเนินการไปโดยไม่เจตนา แล้วไปเรียกร้องกับทางป่าไม้ให้นำพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเหล่านั้นมาจัดสรรให้ชาวบ้าน ซึ่งหากมีการสารภาพศาลก็อาจยังไม่พิพากษา เพราะสามารถเลื่อนไปได้ เพราะต้องรอการแก้ปัญหาของคณะกรรมการที่ทางจังหวัดแต่งตั้ง ซึ่งได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนในการพิจารณาคดีศาลก็ต้องดูว่าคุณมีความผิดอย่างไร มีเจตนาหรือไม่ และควรได้รับโทษมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง หลังจากนั้นก็ไปเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินเอากับทางฝ่ายป่าไม้ก็จบ แต่หากชาวบ้านยังยืนยันปฏิเสธอยู่ก็สามารถทำได้ แต่นัดครั้งต่อไปศาลจะตัดสินคดีเลย"


 


นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจากสภาทนายความ กล่าวว่า วันนี้เราได้ทราบแนวทางว่าคดีนี้จะเดินหน้าไปอย่างไร แต่ถึงที่สุดแล้วศาลได้ให้ข้อคิดเห็นในกระบวนการแก้ไขปัญหาของภาครัฐที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ด้วย ขณะเดียวกันคดีก็ยังดำเนินการอยู่ ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐดำเนินไปได้ และลักษณะคดีที่สืบมาศาลก็เห็นว่าคดีนี้จำเลยจะรับสารภาพหรือไม่ หากรับสารภาพก็จะเลื่อนการอ่านคำพิพากษาไป เพราะต้องการให้ชาวบ้านไปดำเนินการเรื่องที่ดินให้เสร็จสิ้น แล้วเสร็จเมื่อไรก็ค่อยมาอ่านคำพิพากษา ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน แต่ทั้งนี้ตนในฐานะทนายความจะตัดสินใจเองไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับชาวบ้านเป็นหลัก แต่ก็ต้องอธิบายกลไกกระบวนการทั้งหมดให้ชาวบ้านฟัง ส่วนจะเอาอย่างไรนั้นชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินใจ


 


นายทองใบ ทองเปาด์ นักกฎหมาย และอดีต ส.ว.มหาสารคาม กล่าวว่า กรณีพื้นที่หมู่บ้านซึ่งมีการอ้างว่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเชียงดาว ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมนั้นถือว่าเป็นความบกพร่องของรัฐที่ไม่มีการสำรวจพื้นที่ ซึ่งแม้ว่านโยบายหลักคือต้องการรักษาพื้นที่ป่า แต่ว่าเมื่อพื้นที่ป่าสิ้นสภาพเมื่อไรก็น่าจะปลดสภาพออกไป เพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านก็แย่ ซึ่งปัญหาลักษณะนี้นับวันจะยิ่งมากขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาหารือครั้งนี้ ชาวบ้านทั้งหมดยืนยันความบริสุทธิ์ โดยปฏิเสธการสารภาพผิด ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงนัดพิพากษาตัดสินคดีในวันที่ 26 มี.ค.2551 นี้


 


ทั้งนี้ คดีการจับกุมชาวบ้านปางแดงนอก จำนวน 48 คน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2547 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส.ได้สนธิกำลังกว่า 200 นาย กระจายกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านปางแดงจำนวน 48 คน เป็นชาย 36 ราย เป็นหญิง 12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง การจับกุมครั้งนั้นปรากฏว่าไม่มีหมายค้นหมายจับแต่อย่างใด และมีการตั้งข้อหาบุกรุกป่าสงวน


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจับกุมชาวเขาที่บ้านปางแดงครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งแรกในปี 2536 มีการจับกุมชาวบ้านปางแดงในจำนวน 29 คน ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ และครั้งที่ 2 เมื่อปี 2541 จับกุมชาวเขาที่บ้านปางแดงนอก อีกครั้งจำนวน 56 รายในข้อหาบุกรุกและแผ้วถางป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเช่นกัน


 


ทั้งนี้ การจับกุมชาวเขาในบริเวณดังกล่าวทั้ง 3 ครั้งมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือจับกุมแบบเหวี่ยงแหในเวลาเช้ามืดขณะที่ชาวบ้านกำลังหุงหาอาหาร บางรายยังไม่ตื่น บางรายเป็นคนป่วย คนท้อง เป็นต้น เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมโดยไม่มีหมายศาล เพียงแค่บอกกับชาวบ้านว่าจะพาไปพบผู้ใหญ่บ้าน หรือไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นว่าเป็นการจับกุมโดยมิชอบ ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ


 


ที่มา: สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net