สัมภาษณ์ "ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม" : โรงถลุงเหล็ก ความหวังของผู้บริโภค (เหล็กถูก) จริงหรือ ?

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย มุทิตา เชื้อชั่ง

 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ ความขัดแย้งในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบ ที่จะมีการสร้างโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยาได้ก่อให้เกิดความรุนแรงบานปลาย มีการปะทะกันจนเสียชีวิตเป็นข่าวอยู่พักใหญ่ โดยขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีทางออกอย่างไร

 

ในด้านหนึ่งชาวบ้านมีการรวมตัวอย่างเข้มแข็งเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการขนาดยักษ์นี้ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโรงรีดเหล็กร้อน-เย็นที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ ด้วยเกรงผลกระทบต่างๆ ซึ่งจะส่งผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต และการประกอบอาชีพดั้งเดิมของพวกเขา ขณะที่บางส่วนต้องการมันเพราะมีประโยชน์ในแง่การจ้างงาน การพัฒนา และในภาพใหญ่กว่านั้นก็ยังมีการตั้งคำถามว่าไทยอาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรในฐานะเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อลดการนำเข้า และเป็นฐานของการขยายอุตสาหกรรม

 

แม้ยังไม่มีข้อมูลการประเมินความจำเป็นของโรงถลุงเหล็กต้นน้ำอย่างชัดเจนให้เห็น แต่ข้อมูลของสหวิริยาเองก็ยืนยันถึงผลดีด้านการลดการนำเข้าเหล็ก และอ้างถึงแผนสำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ ตั้งแต่ปี 2538 ที่ระบุว่า พื้นที่ประจวบ-บางสะพาน-ชุมพร นั้นมีโอกาสพัฒนาเป็นอุสาหกรรมหลักชายฝั่ง และให้สหวิริยาเป็นหัวหอกในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหล็ก ด้วยความฝัน "เมืองหลวงเหล็กของไทย (อาเซียน)" ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ว่าโรงถลุงเหล็กเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ก่อมลพิษสูง และใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาลนั้นเป็นที่รับทราบกันดี

 

 

ปริมาณผู้ส่งออกและนำเข้าเหล็กรายใหญ่ของโลก

 

















ลำดับ


ผู้ส่งออกสุทธิ (Net Exporter)


ผู้นำเข้าสุทธิ (Net Importer)


ประเทศ


การส่งออก


ประเทศ


การนำเข้า


1


ญี่ปุ่น


26.8


สหรัฐอเมริกา


20.8


2


ยูเครน


26.3


ไทย


10.4


3


รัสเซีย


26.3


อิหร่าน


6.9


4


บราซิล


11.8


สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


5.4


5


สหภาพยุโรป (25)


10.7


สเปน


4.6


6


เบลเยี่ยม-ลักเซมเบิร์ก 2


7.8


เวียดนาม


4.5


7


เยอรมนี


5.6


อินโดนีเซีย


4.3


8


แอฟริกาใต้


4.1


แคนาดา


3.9


9


ออสเตรีย


3.0


ฮ่องกง


3.9


10


ฝรั่งเศส


2.6


อิตาลี


3.9

     ที่มา : International Iron and Steel Institute (2548)

 

 

เพื่อให้เห็นภาพของทิศทางอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นอยู่และจะเป็นไปมากขึ้น "ประชาไท" พูดคุยกับ รศ.ดร.ธรรมวิทย์ เทอดอุดมธรรม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีบทบาทเป็นกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนด้วย ทำให้ต้องเกี่ยวพันอย่างสำคัญกับอุตสาหกรรมเหล็ก

 

ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ หรือโรงถลุงเหล็ก มีเพียงขั้นกลางเป็นต้นมา ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมรีดเหล็กร้อน รีดเหล็กเย็น ซึ่งก็มีบริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่รายเท่านั้น ก่อนที่จะไปถึงคำถามที่ยากกว่าว่าด้วยการจัดการความขัดแย้ง คำถามที่ต้องการความกระจ่างจากนักเศรษฐศาสตร์ก็คือ ผู้บริโภคหรือสังคมโดยรวมจะได้ประโยชน์จากการมีอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นหรือไม่ เพียงไร

 

 

 

0000

 

ประชาไท - มีหลายบริษัททั้งในและนอกประเทศ ที่ขอ BOI เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ  อยากรู้ว่าประเทศไทยมีปัจจัยอะไรเป็นตัวดึงดูดบ้าง ?

ในระดับโลก ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าเหล็กรายใหญ่ ถ้าดูจากตัวเลขของสถาบันเหล็กและเหล็กหล้าระหว่างประเทศ ในปี 2548 ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ 10.4 ล้าน หรือเป็นอันดับสอง แสดงว่าภาคอุตสาหกรรมไทยมีความต้องการใช้เหล็กเป็นจำนวนมากพอสมควร

อันที่ 2 ก็คือว่าประเทศญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี ก็มีการนำเข้าสินแร่เหล่านี้จากประเทศออสเตรียและนำไปผลิตในประเทศ ด้วยแรงงานและพลังงานในประเทศ ถ้าเขาเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาผลิตในไทยอย่างน้อยแรงงานก็ถูก ค่าที่ดินก็ถูก เรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังมีช่องโหว่ที่ผลักภาระให้แก่คนไทยได้มากกว่าที่จะผลักภาระให้คนในประเทศของตัวเอง

 

พูดง่ายๆ โดยสรุปก็คือว่า มันน่าจะลดต้นทุนได้สำหรับผู้ประกอบการ

 

ถ้าเรานำเข้าเหล็กเยอะ ความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมมีสูง แล้วรัฐเสริมสร้างให้มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำเพื่อให้ครบวงจร ก็น่าจะทำให้อุสาหกรรมเหล็กต่อเนื่อง รวมไปถึงผู้บริโภคโดยรวมได้ใช้เหล็กในราคาที่ถูกลง

มันไม่มีหลักประกันว่า ถ้ามีโรงถลุงเหล็กแล้วผู้บริโภคจะได้ใช้เหล็กในราคาถูกลง มันเพียงแต่บอกได้ว่าผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโรงถลุงเหล็กจะได้กำไรถ้าบริหารดี เท่านั้นเอง

 

ผมคิดอย่างนี้เพราะการที่ผู้บริโภคจะได้ใช้สินค้าจากเหล็กที่ถูกลงหรือไม่ มันน่าจะขึ้นอยู่กับการที่ตลาดนั้นเปิดให้มีการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน

 

หลักๆ ต้องดูว่าเราเปิดให้มีการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นอย่างไร ถ้าสมมติว่า คุณมีโรงถลุงเหล็กแล้วไปใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเหมือนสมัยดั้งเดิม คือ ถ้ามีโรงงานเหล็กในประเทศก็จะเก็บภาษีนำเข้าเหล็กแพง เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศที่ต้องลงทุนสูง มันก็ไม่ช่วยอะไรในแง่ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์

 

สมัยก่อนเมื่อ BOI ให้การส่งเสริมผู้ผลิตหนึ่งรายก็จะมีการใช้มาตรการหลายๆ อย่างในการช่วยให้ผู้ผลิตเหล่านั้นได้กำไร เช่น การขึ้นภาษีนำเข้า ไม่ให้โรงงานอื่นตั้งเพื่อลดการแข่งขัน นั่นคือรูปแบบในสมัยก่อน

 

แต่ตอนนี้เป็นระบบที่ว่าเมื่อผู้ผลิตในประเทศที่ผูกขาดอยู่แสดงให้รัฐเห็นได้ว่าขาดทุน มีผู้ผลิตจากต่างประเทศนำเหล็กเข้ามาขาย dump ราคา รัฐบาลไทยก็จะใช้วิธีการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด

 

ในฐานะที่เป็นคณะกรรมกาพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุนมีหลายครั้งมากที่เราใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ไม่ว่าจะเป็นกรณีเหล็กแผ่นรีดร้อนจากรัสเซีย จากคาซัคสถาน เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น โดยเก็บอากรเขาด้วยเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก

 

 

 

 

ตัวอย่างเช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนจากรัสเซีย เคยเก็บ 24% เป็น 35% คาซัคสถานเป็น 109% เริ่มใช้ 27 มิ..46 เป็นเวลา 5 ปี นี่เป็นตัวอย่างการคุ้มครองให้กับผู้ผลิตเหล็กภายใน ซึ่งผลที่ตามมาคือราคาเหล็กแพง เนื่องจากการนำเข้าต้องเสียอาการตอบโต้การทุ่มตลาดที่แพง

 

ช่วงหนึ่ง มีการใช้ surcharge กับเหล็กแทบทุกประเภท ตามกฎหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI สามารนำมาใช้ได้โดยทั่วไปใช้ในระยะเวลาประมาณครึ่งปีถึงหนึ่งปี แต่เราก็พยายามผลักดันให้คณะกรรมการตอบโต้การทุ่มตลาดของกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าระหว่างประเทศ ให้มีการใช้ อากรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD มาแทนเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาด

 

พอใช้มาตรการ surcharge แล้วพบว่ามันทำให้ราคาเหล็กในประเทศสูงขึ้น ผู้ผลิตเหล็กได้กำไร เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจไม่ดีก็จะมีใช้ surcharge นี้ ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมกราคม 2545 ใช้ประมาณ 6 เดือน

ตอนนั้นเรารู้ว่ามันผิดข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO)  ในการเก็บภาษีขาเข้าเพิ่มเป็นพิเศษแบบนี้

 

Surcharge ต่างจาก AD ตรงที่ AD เป็นมาตรการที่ WTO ยอมรับ และต้องมีการไต่สวนเป็นขั้นเป็นตอน มีระเบียบวิธีการพิจารณาที่ WTO ยอมรับและตกลงกันไว้ แต่ว่า surcharge ไม่มีใน WTO และการประกาศครั้งหนึ่งครอบคลุมสินค้าหลายตัว พูดง่ายๆ ว่าขึ้นภาษีกับเหล็กหลายๆ ประเภท หลายๆ ผลิตภัณฑ์ ของหลายๆ ประเทศในคราวเดียว แต่ถ้าเป็น AD มันจะพิจารณาเฉพาะกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

 

ในส่วนของมาตรการภาครัฐในการส่งเสริมการลงทุน ของไทยให้สิทธิพิเศษมากกว่าประเทศอื่นๆ ไหม ?

อันนี้เทียบกับประเทศอื่นนั้นยอมรับว่าไม่แน่ใจ แต่เทียบเคียงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ การปรับลดภาษีเป็นแบบเดียวกันในการส่งเสริมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เท่าที่เข้าใจBOI ก็ให้สิทธิประโยชน์เหมือนอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

แต่ว่าตอนนี้สถาบันเหล็กได้เรียกร้องอยากให้รัฐมาช่วยเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ผมเคยไปคุยกับโรงงาน จีสตีล เขาก็มีความคิดทำนองนี้ว่าให้รัฐทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นไม่ได้เรียกร้องในส่วนนี้เป็นพิเศษ คุณวิน วิริยะประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่สหวิริยาเองก็เข้าใจว่าพยายามให้รัฐช่วยเหลือเรื่องนี้

 

แต่รัฐโดยทั่วไปไม่ได้ทำโครงสร้างพื้นฐานให้โรงงานใดโรงงานหนึ่ง ส่วนมากก็ให้แค่สิทธิที่ BOI ให้และลดภาษีของบริษัทเท่านั้น  ดังนั้น ข้อเรียกร้องดังที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ถึงขนาดต้องการให้รัฐเปลี่ยนท่าทีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กโดยให้รัฐมาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำด้วย ผมคิดว่ามันมากเกินไป

 

เพราะอุตสาหกรรมนี้ ลงทุนสูงความเสี่ยงสูงหรือเปล่า จึงต้องการให้รัฐร่วมลงทุน

ความเสี่ยงสูงก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่จากที่ตั้งข้อสังเกตหากรัฐเข้าไปร่วมลงทุนโดยทั่วไปรัฐมักเสียผลประโยชน์  จากประสบสบการณ์เอกชนมักจะกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง

 

ถ้ามีรัฐร่วมหุ้น คิดว่าเงินภาษีส่วนนี้คงสูญเสียไปแบบไม่คุ้ม แม้แต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานก็ตาม เพราะรัฐต้องทำให้สำหรับสาธารณะ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง บริษัทไหนก็มาใช้ได้ แต่ถ้าไปพัฒนาท่าเรือบางสะพาน ที่ประจวบฯ มันก็เป็นของสหวิริยาอย่างเดียว รัฐบาลคงไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ เพราะมันกลายเป็นสิ่งที่สนองตอบต่อความต้องการของบริษัท

 

สรุปว่า การมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำทำให้ผู้ประกอบการมีธุรกิจครบวงจร แต่ว่าไม่ได้กระจายผลประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะใช้เหล็กราคาถูก

ไม่ มันอยู่ที่การจะเปิดการแข่งขันให้กับตลาด

 

สาเหตุสำคัญที่ราคามันจะไม่ลด เพราะเหล็กเป็นธุรกิจผูกขาดด้วยใช่ไหม ?

ไม่ได้เป็นผู้ผลิตรายเดียว แต่มีผู้ผลิตน้อยรายและมีอำนาจทางการตลาด แต่ละรายเป็นรายใหญ่ๆ

 

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ อุตสาหกรรมพวกนี้เป็นที่ทราบในระดับหนึ่งว่าเขาก็มีการเชื่อมโยงกับผู้ตัดสินใจในนโยบายต่างๆ พอสมควร เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมเหล็กในอดีตจึงได้รับการคุ้มครอง  ด้วยอัตราภาษีศุลกากร มาตรการทางการค้าต่างๆ พอสมควร

 

แล้วแง่การแข่งขันระหว่าประเทศ ถ้าทำครบวงจรอุตสาหกรรมเหล็กไทยจะมีอนาคตไหม

เรื่องแข่งขัน เท่าที่ฟังข้อมูลที่คุณวินมาพูดที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (วันที่ 12 พ.ย.2550) ก็ยังต้องแข่งขันกับทุนต่างชาติ แต่การแข่งขันของประเทศไทยมันมีหลายระดับ อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็ก อย่างรถยนต์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าไปถามเขาก็คงอยากใช้เหล็กที่นำเข้าจากญี่ปุ่นอ้างว่าคุณภาพของไทยยังไม่ถึง แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ในความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น หรือ JTEPA ประเทศไทยยอมให้นำเข้าเหล็กกรีดร้อนจากญี่ปุ่น สหวิริยาก็คงไม่ชอบหรอกเพราะทำให้ต้องมีการแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

 

อุตสาหกรรมเหล็กยังมีคำถามเยอะเรื่องต้นทุนที่มองไม่เห็น เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจารย์คิดยังไง

ต้นทุนในแง่สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ  แต่ผมเองยอมรับว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากโรงงานเหล็กกว่ามีมากน้อยแค้ไหน แต่มันเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ และอุตสาหกรรมเหล็กอย่างที่ได้ดูจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ผลิตเหล็กผลักภาระการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ให้แก่คนรอบข้าง แล้วโรงงานเหล็กจะทำอย่างไรที่จะการันตรีให้กับประชาชนรอบข้าง

 

ถ้าตัดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมออกไป แล้วมองเฉพาะมิติเศรษฐกิจ มันน่าจะทำให้เศรษฐกิจภาพรวมโตขึ้นมากไหม ?

อันนี้ผมมองอย่างที่ไม่ได้ไปทำวิจัยเรื่องนี้โดยตรง พูดได้แต่ในแง่ส่วนตัวเพียงว่าการการมีโรงถลุงเหล็กไม่ได้เป็นปัจจัยว่าผู้ใช้เหล็กจะได้ใช้เหล็กที่ราคาถูกลง การมีโรงถลุงเหล็กจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเจ้าของโรงงานที่จะมีโอกาสได้กำไร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าประเทศไทยก็มีอุปสงค์มากพอสมควร ในขณะที่มีข้อดีในแง่ที่ผู้ประกอบการได้กำไรและจะมีการลงทุน มีการจ้างงาน แต่ก็มีข้อเสียเรื่องสิ่งแวดล้อมที่คนที่อยู่รอบข้างโรงงานจะได้รับผลกระทบ ที่นี้จะทำให้มันสมดุลได้อย่างไร นี่เป็นประเด็นที่ไม่ง่ายเลย

 

การมีอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรมันก็น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ แต่มากแค่ไหนไม่เคยคำนวณ ถ้าในกระบวนการผลิต มีโรงงานเพิ่ม GDP ก็เพิ่ม การจ้างงานเพิ่ม การส่งออกก็คงมี รวมทั้งการลงทุนโดยทั่วไป ถ้ามองในแง่นี้ แต่มากน้อยแค่ไหนไม่มั่นใจ

 

ที่นี้มันต้องตั้งคำถามว่าพูดประเด็นนี้เพื่ออะไร มันก็อยู่ที่การให้ความสำคัญ ถ้าขนาดของ GDP ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย ขนาดการส่งออกไม่ได้มากมาย มันคุ้มไหมถ้าเรามีปัญหาอื่นตามมา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ดี ปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนก็ดี

 

ผมเคยทำวิจัยอยู่ในวงการนี้มาก่อน แต่ละฝ่ายโดยทั่วไปก็จะพูดถึงจุดยืนของตัวเองว่าส่วนของตัวเองเป็นประโยชน์ จนบางทีก็มากจนไม่น่าจะเป็นไปได้

 

การพูดว่า GDP เพิ่ม การส่งออกเพิ่ม ก็ต้องไม่ลืมที่บอกว่าในกระบวนการผลิตก็มีการนำเข้าที่เพิ่มทั้งในส่วนถ่านโค้ก สินแร่ เงินที่ใช้ในการลงทุนไป ทรัพยากร หากไปขยายการผลิตในภาคอื่นมันก็เพิ่ม GDP ได้เหมือนกัน ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" การลงทุนโรงถลุงเหล็ก ทรัพยากรและแรงงานเหล่านั้น หากนำไปใช้เพิ่มการผลิตในภาคส่วนอื่น มันก็เพิ่ม GDP ได้เช่นกัน แต่ยังไม่มีการศึกษาค้นคว้ากันอย่างชัดเจน

 

จากประสบการณ์ที่อาจารย์ได้ทำงานด้านนี้มาบ้าง จริงๆ ทิศทางการพัฒนาด้านเหล็กในประเทศไทยควรเป็นอย่างไรเพื่อที่จะให้ได้ผลประโยชน์มากที่สุดแก่ประชาชนทั่วไป

สำหรับประชาชนทั่วไป ผมยังคิดไม่ออก เท่าที่ผมเข้าใจถ้าจะให้ผู้ใช้เหล็กหรือผู้บริโภคได้ใช้ของที่ราคาถูกลง เราก็คงต้องแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นกลุ่มๆ คนรอบข้างโรงงานเป็นกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าพูดถึงผู้บริโภคโดยทั่วไปการลดภาษีนำเข้าเหล็กก็เป็นผลดีต่อผู้บริโภคภายในประเทศ หรือผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

 

เรื่อง JTEPA เป็นตัวอย่าง ผู้ผลิตญี่ปุ่นสามารถกดดันให้รัฐบาลของเขามาต่อรองในเรื่องโควตาปลอดภาษีแก่เหล็กที่จะใช้ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์กว่า 2แสน 8 หมื่นตัน ในปีแรก ซึ่งต่อไปมันจะเพิ่มขึ้น

 

อุตสาหกรรมรถยนต์สามารถนำเข้าเหล็กตามคุณภาพที่ต้องการจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี จะสร้างความสามารถในการแข่งขัน ถ้าวัตถุดิบที่ใช้ในการนำมาประกอบรถยนต์ถูกลงเขาก็สามารถขายในราคาถูกลง หรือขายโดยได้กำไรมากขึ้นได้ อันนี้ก็เป็นทางเลือก

 

โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยในสิ่งที่รับบาลทำอยู่ คือสนับสนุนเฉพาะ BOI ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ต้องว่ากับไปตามระบบ เช่นการแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม ต้องพูดคุยกับประชาชนที่อยู่ที่นั่นว่าจะร่วมกันแก้ยังไง

 

แต่ที่แน่ๆ คือรัฐบาลไม่ควรจะเข้าไปร่วมลงทุน รัฐบาลไม่น่าจะเลือกเป้าหมายอุตสาหกรรม มันเคยมีแนวคิดเรื่องการเลือกอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมเป็นเป้าหมาย ผมคิดว่าไม่น่าจะทำอย่างความผิดพลาดในอดีต

 

ถ้ามองเรื่องอุตสาหกรรมเหล็ก เชื่อมโยงกับนโยบายอย่างการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย หรือการขยายนิคมอุตหสากรรมอย่าง เซาท์เทิร์นซีบอร์ด

ในความรู้สึกส่วนตัวดีทรอยต์เอเชีย คลายเป็นภาพกว้างที่มีแต่ภาพ ตั้งสโลแกนที่ทำให้มองภาพสวยงามเท่านั้น ความจริงการที่เรามีการผลิตรถยนต์มาก การส่งออกมาก ความสามารถมันมาจากผู้ผลิตรถยนต์ที่เป็นบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ เช่น โตโยตา อินซูซู ฟอร์ด ฯลฯ พวกนี้มากกว่า

 

ประเทศไทยมีฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เรียกได้ว่ามีการพัฒนามานาน มีอุตสาหกรรมสนับสนุน มีผู้ผลิตชิ้นส่วนเยอะ และคนไทยไทยก็มีการพัฒนาความสามารถด้านนี้ไปได้มากพอสมควร เข้าใจได้ว่าอุตสาหกรรมสนับสนุนเรื่องผู้ผลิตชิ้นส่วนมีเยอะ คนงานมีทักษะด้านนี้และค่าจ้างก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น นอกจากนี้เรามีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ในระดับหนึ่ง ผู้ผลิตรถยนต์อย่างโตโยต้า ขายในประเทศก็ได้กำไรในระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็ส่งไปขายในต่างประเทศได้

 

สังเกตว่าเราส่งออกรถยนต์มากหลังจากค่าเงินอ่อนตัวลงในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ก่อนหน้านั้นโตโยต้าไม่ส่งออกรถ เน้นขายภายในประเทศ เน้นหากำไรจากภายในระเทศ แต่เมือค่าเงินออกลงมากๆ การขายต่างประเทศได้กำไรจากค่าเงินที่ต่าง และค่าแรงงานผลิตในประเทศที่ถูก วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตของประเทศไทยก็ถูกเพราะค่าเงินอ่อน

 

คำว่า "ดีทรอยต์เอเชีย" เป็นสโลแกนแบบภาพกว้างที่หวือหวา ไม่เกิดจากนโยบายของรัฐอะไรมากมาย แล้วก็ไม่ได้ต่อเชื่อมกับอุตสาหกรรมเหล็ก ถ้าให้อุตสาหกรรมรถยนต์อย่างโตโยต้าเป็นคนตัดสิน เขาอยากจะซื้อเหล็กจากญี่ปุ่นเพราะราคาถูกกว่าซื้อจากสหวิริยาหรือผู้ผลิตภายในประเทศ เขาจึงกดดันเรื่องโควตานำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นโดยปลอดภาษี

 

ส่วนกรณีเซาท์เทิร์นซีบอร์ดเป็นเรื่องอีกไกลมากเลย ยังไม่เห็นภาพ มันคงอีกนาน และผมคิดว่ามันจะเป็นไปในแนวปิโตรเคมีคัลมากกว่า ไม่ใช่เรื่องเหล็ก เช่น โรงกลั่น โรงก๊าซธรรมชาติ แต่ทั้งหมดนี้ยังอีกไกล

 

มีการพูดกันว่าถ้าส่งเสริมเท่าที่ทำอยู่แต่มีการเปิดการค้าเสรีด้วย อุตสาหกรรมภายในประเทศอาจอยู่ไม่ได้ และถึงขั้นต้องปิดตัวไป ซึ่งจะส่งผลด้านเสถียรภาพความมั่นคงด้านเหล็กของประเทศ เหตุผลนี้เป็นจริงแค่ไหน

ผมไม่เคยทำวิจัยเรื่องนี้ต้องออกตัวก่อน แต่ผมคาดว่าจะมีผู้ผลิตเหล็กที่เป็นรายใหญ่ๆ ที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น

 

ผมมองว่าเมื่อมีผู้ผลิตหลายรามาขอรับการส่งเสริมเพื่อจะสร้างโรงงานถลุงเหล็ก รัฐน่าจะส่งเสริมเท่าที่ทำอยู่และให้เป็นไปตามระบบที่เป็นอยู่ เพราะถ้าไปส่งเสริมเหล็กมาก ซึ่งอาจจะตามมาด้วยการคุ้มครอง หรือไปให้ทรัพยากรแก่เค้ามาก หรือให้สิทธิประโยชน์อะไรก็ตาม มันจะมีอคติ คือคล้ายว่ามันจะไปเพิ่มภาระหรือต้นทุนให้แก่อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เช่น คุณคุ้มครองโดยมีมาตรการภาษี อาจทำให้ผู้ใช้เหล็กต้องใช้เหล็กที่แพงขึ้นก็ได้

 

มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่สามารยื่นขอคณะกรรมการปกป้องการทุ่มตลาดให้ดำเนินมาตรการ อุตสาหกรรมเหล็กมีสิทธิตรงนี้เป็นพิเศษเพียงอุตสาหกรรมเดียวหรือเปล่า

การตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ anti dumping ส่วนมากจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กหรืออุสาหกรรมที่มีผู้ผลิตน้อยราย เพราะว่ากฎเกณฑ์ของการตอบโต้การทุ่มตลาดคือ คุณต้องเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมนั้น มีการรวมกันเป็นจำนวนที่แน่นอน ไม่เช่นนั้นคุณไม่สามารถเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ ได้

 

เช่น ชาวนาที่เลี้ยงหมูจะรวมตัวกันเพื่อยื่นคำร้องตอบโต้การทุ่มตลาด สามารถทำได้ยากเพราะเป็นเพียงผู้ผลิตรายเล็กๆ การที่จะร้องเรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาด ต้องมีข้อมูลเรื่องตลาด การลงทุน การผลิต ข้อมูลด้านบัญชี เพื่อจะเปรียบเทียบว่าคนที่มาทุ่มตลาดซึ่งมีการคิดราคาสินค้าถูกลงมาก เกินกว่าที่จะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้ราคาสินค้าเป็นไปตามนั้นได้ นอกจากนั้นต้องรู้ข้อกฎหมายและอื่นๆ ด้วย มันเป็นภาระที่ทำให้สินค้าเกษตรกรหรือแม้แต่พวกเอสเอ็มอีก็ตามไม่เคยมีการขอในเรื่องนี้ ต้องลองนึกภาพที่ต้องมีข้อมูลทางบัญชีที่ดี มีการเก็บข้อมูลราคาขึ้นลง กำไร และคุณต้องเป็นตัวแทนอุตสาหกรรม โดยข้อกฎหมายเป็นอย่างนั้น

 

ดังนั้นที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กใช้สิทธิตรงนี้เยอะมาก พูดได้เลยว่าเหล็กเป็นส่วนใหญ่ เกินครึ่ง และในหลายๆ รายมีสหวิริยาเป็นผู้นำ และมาตรการในการตอบโต้ส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติ

 

อาจารย์มีข้อแนะนำหรือทางออกสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการและชาวบ้านไหม ?

สังเกต อ.นิธิ ที่ลงไปจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่เมื่อเร็วๆ นี้บอกว่าต้องมานั่งคุยกัน ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร ผมว่าน่าจะเป็นทางออก ถ้ามีการคุยและตกลงร่วมกันได้ระหว่างโรงงานและชาวบ้าน ถ้าหาข้อตกลงร่วมกันว่ามีการชดเชย หรือการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จนชาวบ้านยอมรับได้ น่าจะเป็นทางออกที่ดี

 

เพราะทิศทางนโยบายการพัฒนาถูกกำหนดจากบนลงล่างอย่างขาดการมีส่วนร่วมหรือเปล่า จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก

ถ้าเราฟังจากคำสัมภาษณ์ของอาจารย์วิกรม วัชระคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กฯ ท่านก็มองว่าอุตสาหกรรมเหล็กที่มาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเอกชนช่วยเหลือตัวเอง ส่วนผมคิดว่าเป็นเรื่องดีแล้วที่เอกชนต้องช่วยตัวเอง ระบบของประเทศไทยการใช้นโยบายรัฐไปส่งเสริมเหมือนในส่วนของเกาหลีดูจะไม่เหมาะเท่าไหร่

 

การที่สหวิริยาจะมีโรงงานถลุงเหล็กก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ถ้าเกิดขึ้นได้ก็ดี เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สุจริตเพียงแต่วาให้เป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ถ้ามีโรงงานถลุงเหล็กก็ต้องดูแลเรื่องสิงแวดล้อมเพราะเป็นปัญหาสำคัญที่จะผลักภาระให้ประชาชนรอบข้างก็ไม่ถูก ต้องมีกระบวนการแก้ปัญหาและการชดเชยหากมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เอาเป็นว่าให้ว่ากันไปตามกลไกอย่างถูกต้องเป็นธรรม

 

แต่แนวโน้มข้างหน้าผมว่าสังคมจะมีปัญหาอย่างนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และความขัดแย้งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจหรือธุรกิจอย่างเดียว มันต้องเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของประชาชน การเมืองก็เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ต่อให้เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ศึกษายาก ถ้าให้สหวิริยา หรือสถาบันเหล็กศึกษาก็คงเป็นในเชิงการเงินมากกว่า แต่ต้องมองภาพเศรษฐกิจของทั้งประเทศมันก็มีเรื่องดุลยพินิจเยอะ เช่น ในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณอาจจะได้สิ่งที่เรียกว่า GDPเพิ่ม การส่งออกเพิ่ม การจ้างงานเพิ่ม อะไรก็ตามที่นักเศรษฐศาสตร์พูด แต่พวกนี้จะเอามาถ่วงน้ำหนักอย่างไรกับสิ่งแวดล้อม มันไม่สามารถมารถนำมาวัดด้วยตัวชี้วัดตัวเดียวกัน เพราะเป็นคนละมิติ

 

บางคนอาจมีแง่คิดว่าถ้าคุณผลิตแล้วต้นทุนคุณสูงกว่าการนำเข้ามันก็ไม่น่าใช่ หรือถ้าต้นทุนถูกกว่านำเข้าก็ไม่ควรต้องมาคุ้มครอง เปิดโอกาสให้ไปซื้อจากข้างนอกได้ แต่อุตสาหกรรมเขาจะยอมไหม

 

เพราะฉะนั้น การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ฟันธงลงไปว่ามีผลดีสุทธิ หรือผลเสียสุทธิ มันวัดไม่ได้ ไม่มีทางเลย

 

ถ้าอย่างนั้นอาจารย์มีข้อเสนอเชิงโครงสร้างไหม เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงเฉพาะหน้าที่เกิดจากความขัดแย้งเรื่องทิศทางการพัฒนา ?

ผมเข้าใจว่ามันคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการมานั่งคุยกันประชุมกันแบบที่อาจารย์นิธิพยายามทำ ทางอื่นผมมองไม่ออก หรือรัฐบาลจะเอาตำรวจไปป้องกันแล้วสร้างๆ ผมว่าเละแน่ปัญหาบานปลาย

 

 

 

------------------------


หมายเหตุ - ข้อมูลประกอบจากการนำเสนอของ รศ.ดร.ธรรมวิทย์ ในการสัมมนาเรื่อง "เจาะลึกอุตสาหกรรมเหล็ก...ที่คนไทยไม่เคยรู้" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท