Skip to main content
sharethis

 


Michael Fitzpatrick


27 กพ. 2551


พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์


ผู้แปล


 


โตเกียว: คณะกรรมการของรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้มีการกำกับควบคุม "เว็บไซต์ข่าวที่มีผู้อ่านจำนวนมากและทรงอิทธิพล เนื่องจากตอนนี้หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์มีการกำกับดูแลเรียบร้อยแล้ว"


รัฐบาลญี่ปุ่นยังพยายามที่จะจำกัดควบคุมด้านที่ไม่พึงประสงค์ของอินเตอร์เน็ตอีกด้วย ซึ่งนักวิจารณ์บอกว่าจะทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงด้วยการเซ็นเซอร์


รัฐบาลปีกอนุรักษ์นิยมที่นำโดย Liberal Democratic Party หรือ LDP พยายามออกกฎหมายในเรื่องนี้ให้ผ่านสภาให้ได้ในปี 2553


"อินเตอร์เน็ตกำลังมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในญี่ปุ่น ดังนั้นเป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องการควบคุมมัน" คาซูโอะ ฮิซูมิ อดีตนักหนังสือพิมพ์ที่กลายมาเป็นทนายเมืองโตเกียวกล่าว


ส่วนที่ว่าเหตุใดประเทศที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศถึงได้หันมาใช้หนทางนี้นั้น ต้องเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับสื่อตั้งแต่สมัยอเมริกาคืนอำนาจในช่วงทศวรรษ 1950 ฮิซูมิกล่าว


"ทันทีที่สงครามยุติ เราก็ดำเนินรอยตามสหรัฐฯ คือรัฐบาลออกใบอนุญาตผ่าน FCC(Federal Communications Commission)" ฮิซูมิกล่าว "พรรค LDP กลายมามีอำนาจครอบงำการเมือง พยายามควบคุมสื่อมากขึ้น FCC จึงถูกยุบทิ้งไป  ที่ญี่ปุ่นไม่มีผู้ตรวจการณ์รัฐสภา (ombudsman) ดังนั้นรัฐบาลก็เลยควบคุมสื่อโดยตรง  พรรค LDP จะใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำอย่างเดียวกันกับอินเตอร์เน็ต"


แน่นอนว่าโครงสร้างอย่างนี้เป็นประโยชน์ต่อพรรค LDP ซึ่งกุมอำนาจมาแทบไม่ขาดช่วงตั้งแต่ปี 1955 (2498) ตั้งแต่นั้นมาความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างรัฐบาลกับสื่อใหญ่ๆ ก็กลายเป็นตำนานเล่าขาน เช่นเดียวกับการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ ซึ่งฮิซูมิบอกว่ามีการจำกัดการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างมาก จนกระทั่งมีอินเตอร์เน็ตมาเปิดพื้นที่ให้กับความคิดเห็นต่างๆ ที่หลากหลาย


"อินเตอร์เน็ตเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาล แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจควบคุม โดยผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) จะอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลโดยตรง" ฮิซูมิกล่าว "นี่เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากที่เรากำลังเผชิญอยู่ในญี่ปุ่นในขณะนี้"


ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าเพียงแต่ต้องการทำให้อินเตอร์เน็ตในญี่ปุ่นสามารถตรวจสอบได้มากขึ้นเท่านั้น จากเดิมที่มักจะนอกลู่นอกทางและบางครั้งก็สร้างความเสื่อมเสีย


"ข้อวิจารณ์ที่ว่ารายงาน(ของคณะกรรมการ)นี้เสนอให้มีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ต่างๆ ของญี่ปุ่นนั้น ไม่มีมูลเลยแม้แต่น้อย" กระทรวงสื่อสารออกแถลงการณ์ "ยิ่งกว่านั้น รายงานนี้เสนอว่าญี่ปุ่นควรจะหลีกเลี่ยงการใช้กฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ ที่มุ่งไปสู่การเซ็นเซอร์ หรือจำกัดเนื้อหาในอินเตอร์เน็ต อย่างเช่น บล็อก เป็นต้น และเสนอให้มีการพิจารณาจัดทำกรอบการทำงานเพื่อส่งเสริมให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) และอื่นๆ กระทำการโดยสมัครใจในการจัดการกับเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตราย"


การ "กระทำการโดยสมัครใจ" นี้ปรากฏผลให้เห็นแล้วในเดือนนี้ (กพ. 2551) โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้รับการร้องขอให้ทำการกรองเนื้อหาบางอย่างที่ส่งกระจายให้มือถือของผู้ใช้ที่อายุต่ำกว่า 18  ก่อนหน้านี้ การกรองเนื้อหาแบบนี้จะมีสวิทช์ให้กดเลือกได้


บางคนอาจมองว่าก็ดีแล้วที่รัฐบาลกับผู้ให้บริการทำอย่างนี้เพื่อปกป้องเยาวชน  แต่บล็อกเกอร์ชาวญี่ปุ่นที่ระแวงว่าการควบคุมจะลามมาถึงอินเตอร์เน็ตด้วยในอนาคต ก็พากันชี้ว่าเนื้อหาที่ไม่ได้เข้าข่ายเสียทีเดียวก็พลอยถูกคัดกรองออกไปด้วยในอินเตอร์เน็ตมือถือ


เนื้อหาในหมวด "ศาสนา" และ "กิจกรรมการเมือง/พรรคการเมือง" พบว่าถูกกรองออกไปด้วยโดยซอฟต์แวร์กรองเนื้อหาที่ใช้โดยผู้ให้บริการชั้นนำของญี่ปุ่นอย่าง DoCoMo


"คงเป็นหนังตัวอย่างสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศนำซอฟต์แวร์แบบนี้ไปใช้" ฮิซูมิบอก


สิ่งที่ฮิซูมิและคนอื่นๆ สะอึกก็คือสาธารณะแทบไม่แสดงอาการต่อต้านคัดค้านหรือถกเถียงเกี่ยวร่างกฎหมายที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงฉบับนี้กันเลย


คริส ซาลส์เบิร์ก ที่คอยติดตาม แสดงความเห็นและแปลเนื้อหาบางส่วนจากบล็อกภาษาญี่ปุ่นให้กับ Global Voices ซึ่งเป็นแหล่งชุมนุมบล็อกระดับอินเตอร์ บอกว่า "ดูเหมือนว่าชุมชนอินเตอร์เน็ตในญี่ปุ่นยังไม่รู้เรื่องนี้ หรือไม่ก็ยังไม่อยากจะเชื่อ  มันเป็นสถานการณ์ที่พิลึก  บางทีอาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่อย่างน้อยคนก็น่าจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้สักหน่อยก็ยังดี"

"ผมกลัวว่าคนทั่วไปจะไม่ใส่ใจกับสิทธิที่ขาดหายไป ถ้าอย่างนั้น อินเตอร์เน็ตในญี่ปุ่นก็คงเข้าสู่ยุคมืด" ฮิซูมิบอก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net