เสวนา: "จาก รสช.สู่ คมช. จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร" (2) ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ





อาจมีบางคนได้สรุปไปแล้วว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลเรื่องการบริหารประเทศ และการปฏิบัติตามเหตุผลในการรัฐประหารล้มเหลว ซึ่งดูคล้ายกับความคิดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ว่า รัฐประหารโดย รสช.เมื่อ 23 ก.พ.2534 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย และความคิดความเชื่อดังกล่าว ได้ทำให้คนในสังคมลืมเลือนเหตุการณ์การรัฐประหาร, ความรุนแรง, ผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรม ไปในเวลาอันรวดเร็ว และฝันร้ายซ้ำซากก็ได้กลับมาเยือนสังคมไทยอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า

กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 นสพ.ประชาทรรศน์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเวทีอภิปรายเรื่อง "จาก รสช.สู่ คมช. - จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ณ คณะศิลปศาสตร์ มธ. โดยมี นางประทีป อึ้งทรงธรรม (ฮาตะ) ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ร่วมเสวนา

"ประชาไท" จึงขอเรียบเรียงเนื้อหาโดยย่อในการอภิปรายดังต่อไปนี้

 

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ รายงาน

เมื่อเปรียบเทียบกับ "นักกิจกรรมทางสังคม" คนอื่นๆ แล้ว คนชั้นกลางทั้งหลายอาจจะไม่ชอบเธอมากนัก คำพูดของเธอก็ไม่ได้ถูกประดิดประดอยให้ดูแหลมคมเหมือนนักวิชาการ การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็อาจดูว่าไม่ได้จังหวะจะโคนเหมือนนักเคลื่อนไหวมืออาชีพ แต่สิ่งที่สังคมไทยไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือ เธอยืนยันว่าเธอเป็นคนสลัมคนหนึ่ง เธอต่อสู้เพื่อคนสลัมและคนด้อยโอกาสมาชั่วชีวิต และจากการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา เธอปฏิเสธอำนาจวาสนาที่ถูกหยิบยื่นให้จากผู้มีอำนาจ และแสดงจุดยืนชัดเจนทายท้าห่ากระสุนเผด็จการมาโดยตลอด

 

ถ้าเราไม่ฟังทัศนะทางการเมืองของเธอแล้วเราจะฟังของใคร ????

 

ถ้าเราไม่ศึกษาจิตใจที่กล้าหาญจากการต่อสู้ของเธอแล้วเราจะไปศึกษาที่ไหน ????

 

 

"เราต้องสร้างวัฒนธรรมไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ

อะไรก็ตามที่ไม่ได้เป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตย เราต้องปฏิเสธ"

 

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ประธานสมาพันธ์ประชาธิปไตย

 

เห็นหัวข้อเสวนาแล้วไม่ทราบว่าคณะผู้จัดงานรู้ระแคะระคายว่า อาจจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในระยะใกล้ๆ นี้หรือเปล่า เพราะว่ามีแบบอย่างที่ดีอยู่แล้วว่า หากใครทำรัฐประหารแล้วรวยอื้อซ่า ได้ตำแหน่งดีกว่า รุ่นน้องก็อยากทำตาม จะมานั่งรักชาติอยู่ทำไม ทำรัฐประหารแล้วรวย ไม่โดนลงโทษ ไม่มีการตรวจสอบด้วย

 

ดิฉันเองคิดว่ารัฐประหารไม่ว่าครั้งไหนผลประโยชน์ของผู้ทำรัฐประหารมีมากกว่า โดยการอ้างประเทศชาติ   รสช.อ้างเหตุผล 5 ข้อ ในการรัฐประหาร คมช.ก็เอามาใช้คล้ายๆ กัน แต่โดยเนื้อแท้แล้วคือ บุคคลที่มีอำนาจเกรงกลัวว่าอำนาจของประชาชนจะเข้มแข็งมากขึ้น รัฐบาลทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า ตัวเองจะถูกลดบทบาทลง

 

ดิฉันขอเสนอแนวทางที่เราจะก้าวไปข้างหน้าเพื่อป้องกันการรัฐประหารและอุปสรรคซัก 7 แนวทาง  เพื่อให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยพิจารณาว่าจะเลือกแนวทางไหนและจะหาทางในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้อย่างไร

 

แนวทางที่ 1 เป็นแนวทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญปี 40 ระบุไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ก็คือ ไม่ยอมรับการยึดอำนาจ มันผิด รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 68 ก็ระบุไว้เช่นเดียวกัน   หรือกฎหมาย ป.วิฯ อาญา มาตรา 113 ใครที่ใช้อาวุธหรือวิธีการใดเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต้องข้อหากบฏ แต่กฎหมายที่มีอยู่ทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่สามารถที่จะป้องกันการรัฐประหารไว้ได้

 

แนวทางที่ 2 บุคคลควรรวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง แต่ถ้าดูพรรคการเมืองหลายพรรค ประกาศว่า เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่พอเลือกตั้งไป รู้ว่าตัวเองจะแพ้แน่ๆ ก็เลยไปขอใช้มาตรา 7 เมื่อเกิดการรัฐประหาร ก็ประจบเอาใจคณะทหารทุกรูปแบบอย่างไม่มีศักดิ์ศรี แล้วจะให้ประชาชนอาศัยเป็นที่พึ่งได้อย่างไร พรรคการเมืองที่ดำเนินการภายใต้แนวทางประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไรในอนาคต

 

แนวทางที่ 3 นักวิชาการ นักวิชาการที่ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตยก็พอมี แต่เหลือน้อยเสียเหลือเกิน   แต่นักวิชาการที่พร้อมจะยืนอยู่ข้างผู้มีอำนาจ ตำแหน่งหน้าที่ และบนกระเป๋าสตางค์ของตัวเองก็มี  มีมากจนจารนัยไม่ไหว ที่ใกล้ๆ ก็อย่างเช่นอธิการบดีของธรรมศาสตร์นี่ไง!!!

 

แนวทางที่ 4 ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายๆ คน เช่น อดีตนายกฯ อานันท์ กล่าวว่า "ถ้าหากเสียงข้างมากเป็นเสียงเลวๆ ประเทศชาติจะไปรอดได้อย่างไร" ดิฉันอยากจะถามท่านว่า ท่านพูดไปได้อย่างไร แสดงว่า สิบๆ ล้านเสียงเป็นเสียงเลวๆ ทั้งนั้นใช่ไหม แล้วชี้คนอื่นหนึ่งนิ้ว แต่ชี้เข้าตัวเอง 3-4 นิ้ว คนเลวอยู่ตรงนี้ไง   เลยกลายเป็นผู้ใหญ่ที่แก่แล้วแก่เลยหรือเปล่า จะเป็นเสาหลัก หรือเป็นหัวหลักหัวตอกันแน่

 

แนวทางที่ 5 สื่อมวลชนส่วนใหญ่ ช่วงยึดอำนาจสื่อ 80-90 % สื่อทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมือง แต่ไม่ตรอจสอบผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ผ่านมาลงข่าวสนับสนุนการรัฐประหาร แต่ไม่ยอมลงข่าวของฝ่ายต้านรัฐประหาร หรือหากลงก็บิดเบือนกลายเป็นม็อบรับจ้างไปเสียหมด แล้วเราจะหวังพึ่งคุณธรรม/จริยธรรมของสื่อที่ร่ำเรียนมาด้วยภาษีของเราด้วยได้อย่างไร    

 

แนวทางที่ 6 NGO (องค์กรพัฒนาเอกชน) ปัจจุบัน ถ้าไม่สนับสนุนการรัฐประหารอย่างออกหน้าออกตาก็จะมีลักษณะลอยตามน้ำไป ที่ออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า เราไม่ยอมรับระบบเผด็จการ การยึดอำนาจ โค่นล้มประชาธิปไตย ก็มี 2 คนเท่านั้นแหละ (ครูประทีป และสมบัติ บุญงามอนงค์-ประชาไท) จน NGO คนอื่นเขาเหม็นขี้หน้ากันหมด และกล่าวหาเราสารพัดสารเพ

 

แนวทางที่ 7 การสร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ไม่ได้หมายความถึงกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่อ้างประชาธิปไตย แต่กลับสนับสนุนการรัฐประหาร ภาคประชาชนน่าจะเป็นแนวทางที่จะยั่งยืนที่สุด ถ้าเกิดรัฐประหารอีก แล้วประชาชนเรือนแสนออกไปยืนที่ท้องสนามหลวง ให้เขารู้ไปเลยว่าประชาชนจะสู้กับรถถังด้วย 2 มือว่างเปล่า เหมือนคุณฉลาด วรฉัตร ที่ตอนนี้ก็ยังสู้ ถ้าหาก คมช.ไม่โดนลงโทษก็จะขังตัวเองอยู่หน้ารัฐสภา อย่างนี้เป็นจิตใจที่น่ายกย่อง

 

อีกท่านที่เราจะลืมไม่ได้ คือ คุณลุงนวมทอง ไพรวัลย์ สามัญชนคนขับแท็กซี่ ไม่ได้เป็นวีรชนหรือวีรบุรุษ  แต่จิตใจของเธอสามารถพิสูจน์ว่า คนจนก็รักประเทศชาติ คนจนก็กล้าสู้อำนาจเผด็จการ นี่คือสิ่งที่เราต้องยกย่องเทิดทูน และหวังว่าจะได้เห็นอนุสาวรีย์เล็กๆ เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เห็นความเสียสละของคุณลุง

 

ทั้งสองท่านที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นดิฉันอยากขอให้เรายึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี ที่พึงเคารพ

 

สำหรับแนวทางของภาคประชาชนต่อไป ถ้าเกิดรัฐประหารขึ้นมาอีก เรามีรถเก่าๆ หรือรถอะไรก็แกล้งจอดหรือทำให้เสียกลางถนน รถถังจะได้เคลื่อนไม่ได้ หรือขาดงาน หรือถ้าเป็นข้าราชการก็ใส่เกียร์ว่าง ให้รู้ไปเลยว่าประชาชนไม่ยอมรับ เราต้องสร้างวัฒนธรรมไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ อะไรก็ตามที่ไม่ได้เป็นครรลองของระบอบประชาธิปไตย เราต้องปฏิเสธ เขาให้ตำแหน่ง, งาน, เงิน ก็ไม่ต้องรับ

 

สิ่งที่คณะรัฐประหารได้สร้างความเสียหายไว้แต่ละคณะนั้น มันใหญ่หลวง ที่ผ่านมาในปี 49 ประเทศชาติต้องเสียหายไปมากมายเหลือเกิน ซึ่งดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะใส่ใจหาข้อมูลและนำมาตีแผ่ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประเทศชาติ ทั้งในรูปของตัวเงิน, ความเชื่อถือ, การยอมรับทางสากลมันเสียหายอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะขณะนี้ เรากำลังได้รับผลที่ คมช.ออกไข่วางระเบิดเรียงรายเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย/รัฐธรรมนูญ ที่เราจะต้องช่วยกันรณรงค์เสนอขอแก้ไข

 

อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ วุฒิสมาชิก ที่กลายเป็นระบบที่แปลกแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมาจากประชาชน กับอีกกลุ่มมาจาก คมช.ซึ่งเป็นข้าราชการถึง 70 % คนเหล่านี้จะไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่มีอำนาจหน้าที่ล้นฟ้า ประชาชนหมื่นชื่อมีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งกฎหมายจะร่างมาสวยงามอย่างไร แต่ถ้า สว.หัวใจเป็นเผด็จการ ไม่ได้อยู่กับประชาชน เขาจะแก้จากหน้ามือเป็นหลังเท้าก็ได้ แล้วประชาชนจะสู้กันอย่างไร เป็นคำถามที่ขอฝากไว้ให้กับผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย

 

 

 ***โปรดติดตาม เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช." "จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(3)
 ด.ร.สุธาชัย   ยิ้มประเสริฐ
" การรัฐประหาร  19 กันยา เป็นการรัฐประหารที่เหลวไหลที่สุด"

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช.: จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร" (1)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท